บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

ข้อแตกต่างระหว่างการผิดสัญญาทางแพ่งกับการกระทำผิดฐานยักยอก พร้อมตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับสมบูรณ์

คดียักยอก ทนายคดียักยอก

 ยักยอกหรือโต้แย้งสิทธิทางแพ่ง ?

บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น หากเจ้าของกรรมสิทธิ์เรียกร้องให้ส่งมอบทรัพย์สินคืนให้แก่ตนเอง แต่บุคคลผู้นั้นปฏิเสธไม่ส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์ กรณีลักษณะเช่นนี้ ไม่ได้ความผิดฐานยักยอกเสมอไปเพราะกรณีดังกล่าวอาจเป็นเพียงการโต้แย้งกรรมสิทธิทางแพ่งเท่านั้น

ทั้งนี้เพราะการกระทำผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 นั้น ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนเองหรือบุคคลที่สาม ซึ่งการเบียดบังนั้นจะต้องเป็นการกระทำในลักษณะที่เป็นการตัดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ครอบครองนั้นออกจากตัวเจ้าของกรรมสิทธิ์ มิใช่เป็นเพียงการยึดถือไว้ชั่วคราวเท่านั้น

และนอกจากนี้การกระทำความผิดฐานยักยอกผู้กระทำความผิดจะต้องมีองค์ประกอบภายใน 2 ประการ ได้แก่

1.มีเจตนาธรรมดาซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้กระทำรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ดังนั้นถ้าหากผู้กระทำสำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่าทรัพย์สินที่ตนเองครอบครองนั้นเป็นของตนเองหรือสำคัญผิดว่าตนเองมีสิทธิ์ยึดถือทรัพย์สินดังกล่าวไว้ย่อมถือว่าผู้กระทำขาดเจตนากระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 62

2. นอกจากนั้นผู้กระทำผิดยังต้องมีเจตนาพิเศษคือ “เจตนาทุจริต” คือการแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย หากผู้กระทำมิได้กระทำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ก็ดีหรือกระทำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์แต่มีสิทธิจะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี ย่อมไม่เป็นความผิดฐานยักยอกตามกฎหมาย

ซึ่งตัวอย่างคำพิพากษา กรณีที่ถือว่าผู้ครอบครองไม่มีเจตนาเบียดบังทรัพย์ที่ครอบครองในลักษณะที่เป็นการตัดกรรมสิทธิ์ หรือผู้ครอบครองขาดเจตนากระทำผิด นั้นมีตัวอย่างเช่น

 1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 235/ 2516 , 233/2504

ผู้เสียหายฝากเงินไว้กับจำเลยเมื่อผู้เสียหายทวงถามจำเลยแจ้งว่านำเงินไปใช้หมดแล้วแล้วจะผ่อนชำระให้ เช่นนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 672 วางหลักว่าผู้รับฝากไม่ต้องคืนเงินตราอันเดียวกับที่ฝาก ดังนั้นผู้รับฝากจึงมีสิทธิเอาเงินที่รับฝากออกไปใช้ได้เพียงแต่จะต้องใช้คืนให้ครบจำนวนเมื่อผู้ฝากทวงถามเท่านั้น เมื่อผู้รับฝากไม่คืนเงินที่ฝากจึงเป็นเพียงเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง

แต่ถ้าหากปรากฎว่าเมื่อผู้ฝากทวงถาม ผู้รับฝากปฏิเสธว่าไม่ได้รับฝากเงินไว้เลย เช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้รับฝากมีเจตนาเอาเงินไปในลักษณะที่เป็นการตัดกรรมสิทธิ์ของผู้ฝาก ย่อมเป็นความผิดฐานยักยอก ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 833/2535 ,273/2486

 2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 872/2547

จำเลยประกอบอาชีพรับเลี่ยมพระ จำเลยทำพระเขาเสียหาย จึงตกลงจะเลี่ยมพระให้ผู้เสียหายเป็นการหักหนี้จำนวน 2 องค์ ต่อมาจำเลยได้เลี่ยมไปแล้วองค์ 1และส่งมอบให้ผู้เสียหายแล้ว ต่อมาจำเลยเห็นว่าค่าเสียหายสูงเกินไปจึงยึดหน่วงตลับพระทองคำพิพาทไว้เพื่อหักหนี้กับค่าเลี่ยมพระองค์ที่ 2 ดังนี้จำเลยมีเพียงเจตนายึดหน่วงตลับพระทองคำไว้เพื่อเจรจาต่อรองกันใหม่เกี่ยวกับค่าเสียหาย ไม่ได้มีเจตนาเบียดบังเอาตลับพระทองคำดังกล่าวเป็นของตนเอง ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1376/2482

นำทรัพย์สินของผู้อื่นที่อยู่ในความครอบครองของตนเอง ไปจำนำโดยมีเจตนาที่จะไถ่ถอนทรัพย์สินนั้นคืนภายหลังไม่เป็นการเบียดบังทรัพย์สินในลักษณะที่เป็นการตัดกรรมสิทธิ์ของเจ้าของจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

แต่ถ้าหากข้อเท็จจริงปรากฏว่าเป็นการจำนำในลักษณะที่ไม่มีเจตนาจะไถ่ถอนคืนหรือไม่มีความสามารถในการไถ่ถอนคืนเลยก็เป็นความผิดฐานยักยอกได้ ตัวอย่างเช่นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1125/2507, 1165/2468

4.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 416/2550 , 619/2504

เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้วไม่คืนทรัพย์สินที่เช่า แต่มิได้ปรากฏพฤติการณ์ว่าจำเลยยักย้ายหรือเบียดบังทรัพย์สินที่เช่าเป็นของตนเอง เช่นนี้เป็นเพียงข้อพิพาทในทางแพ่งเท่านั้น แต่ทั้งนี้หากปรากฏพฤติการณ์ว่าจำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้เช่าทรัพย์สินไปย่อมถือได้ว่ามีเจตนาเบสบังทรัพย์สินนั้นเป็นของตนเอง

 5.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2715/2501, 979/2501

ผู้เสียหายนำทรัพย์สินไปจำนำไว้กับจำเลย เมื่อผู้ที่หายไปไถ่ถอนจำเลยไม่ให้ไถ่ถอนโดยอ้างว่าพ้นกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนแล้ว จำเลยมีสิทธินำทรัพย์สินนั้นไปขายแก่บุคคลอื่น เช่นนี้ย่อมเป็นเพียงการโต้แย้งสิทธิทางแพ่ง จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดอาญา

6.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 253/2488

ฝ่ายผู้เสียหายอ้างว่าให้จำเลยเช่าเรือ ถึงเวลาแล้วจำเลยไม่คืนเรือให้ แต่ฝ่ายจำเลยอ้างว่าผู้เสียหายขายเรือให้จำเลยแล้วมิใช่เป็นเพียงแค่การเช่า เช่นนี้เป็นเพียงการโต้แย้งกันในทางแพ่งเท่านั้น

7.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 234/ 2537

จำเลยไม่คืนทรัพย์พิพาทให้โจทก์ร่วมก็เพราะมีหลักฐานเชื่อได้ว่าอุปกรณ์บางส่วนเป็นของบุคคลอื่นและจะคืนให้ต่อเมื่อโจทก์ร่วมชำระค่าบริการเรียบร้อยแล้วจึงเป็นการใช้สิทธิยึดหน่วงอย่างหนึ่งไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

8.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8290/2543

โจทก์ว่าจ้างจำเลยหล่อฝาสูบ และได้มอบตัวอย่างฝาสูบให้จำเลย เพื่อใช้เป็นตัวอย่างในการหล่อฝาสูบ ต่อมาจำเลยทำงานเสร็จไม่ทันภายในกำหนดโจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและเรียกเอาตัวอย่างฝาสูบคืน แต่จำเลยไม่คืนให้โดยอ้างว่าโจทก์จะต้องชำระค่าการงานในส่วนที่จำเลยทำเสร็จแล้วมาให้ก่อน เช่นนี้เป็นการใช้สิทธิครอบครองไว้เพื่อเรียกร้องทางแพ่งไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

9. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 886-887/2470

การต่อสู้ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ครอบครองเป็นของตนเองหากต่อสู้โดยสุจริตยอมเป็นเพียงเรื่องทางแพ่งไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าลำพังเพียงการที่บุคคลใดซึ่งครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย และเมื่อถึงเวลาแล้วเจ้าของกรรมสิทธิ์เรียกร้องให้คืนทรัพย์สินแล้วบุคคลนั้นไม่คืนให้ จะถือว่าบุคคลนั้นมีความผิดยักยอกเสียทีเดียวหาได้ไม่

แต่จะต้องพิจารณาว่าบุคคลนั้นได้กระทำการเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนเองหรือเพียงแต่ยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้ชั่วคราว ทั้งยังต้องพิจารณาว่าบุคคลนั้นมีเจตนาธรรมดาหรือมีเจตนาทุจริตในการกระทำความผิดหรือไม่ หากผู้ครอบครองทรัพย์สินไม่ได้กระทำการเบียดบังทรัพย์สินก็ดี หรือไม่มีเจตนากระทำความผิดก็ดี ย่อมไม่เป็นความผิดอาญาฐานยักยอกแต่เป็นเพียงเรื่องทางแพ่งเท่านั้น

ซึ่งหลักเกณฑ์ในการพิจารณาดังกล่าวย่อมต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 ที่ว่า  “เมื่อมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดหรือไม่ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย”  ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3889/2548

 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น