คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

การรวบรวมหลักฐานจากกล้องวงจรปิด เพื่อใช้ประกอบการฟ้องหรือต่อสู้คดี มีขั้นตอนอย่างไร ?

การรวบรวมหลักฐานจากกล้องวงจรปิด

ปัจจุบันนี้พยานหลักฐานที่ใช้นำเสนอต่อศาล ผู้เขียนเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานประเภทไหนดีกว่าพยานหลักฐานประเภทวีดีโอซึ่งบันทึกภาพและเสียงเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งสามารถอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนกว่าการใช้พยานหลักฐานประเภทอื่นๆ 

ตัวอย่างเช่น พยานบุคคล ซึ่งมีปัจจัยต่างๆที่อาจทำให้ให้การคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงได้หลายประการ เช่น ความทรงจำ อคติ ลำเอียง สินบน การสื่อสาร หรือพยานวัตถุอื่นๆเช่นรูปภาพ แผนที่  ที่อาจสามารถตัดต่อ แก้ไข หรือตีความต่างๆกันไปได้ แต่พยานหลักฐานประเภทวีดีโอบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ โดยสภาพแล้วมีความชัดเจนอยู่ในตัว แทบจะไม่มีโอกาสโต้แย้งหรือตีความให้เห็นเป็นอย่างอื่นได้ โดยเฉพาะถ้าหลักฐานจากบันทึกวีดีโอ มีเนื้อหาชัดเจนและตรงกับประเด็นในคดี

ปัญหาที่เราจะมาพูดถึงกันในวันนี้ก็คือ ทำอย่างไรเราถึงจะได้วีดีโอมาใช้ประกอบคดี เมื่อวีดีโอนั้นได้ถูกบันทึกไว้ในกล้องวงจรปิด ซึ่งไม่ใช่กล้องวงจรปิดที่เป็นกรรมสิทธิ์หรืออยู่ในความครองของท่าน

ก่อนอื่นต้องชี้แจงว่าสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการรวบรวมพยานหลักฐานประเภทนี้ ก็คือ “เวลา”

เพราะพยานหลักฐานประเภทบันทึกวีดีโอจากกล้องวงจรปิดนั้นจะคงอยู่ไม่นาน เนื่องจากระบบบันทึกข้อมูลของกล้องวงจรปิดจะลบข้อมูลเก่าและบันทึกข้อมูลใหม่ทับซ้อนกันไปเรื่อยๆ การที่ข้อมูลจะจัดเก็บไว้ได้กี่วันนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น หน่วยความจำของอุปกรณ์ และเหตุการณ์บริเวณกล้องจรปิดนั้น เปลี่ยนแปลงบ่อยหรือไม่ เช่นถ้าค่อยมีคนผ่านมาบริเวณนั้นภาพก็จะนิ่งอยู่ตลอด การเก็บข้อมูลก็จะไม่ได้ใช้พื้นที่มากก็จะเก็บได้นาน แต่หากมีคนเข้าออกบ่อยๆ ก็จะมีการบันทึกเหตุการณ์ตลอด เวลาบันทึกก็ได้น้อยลง จากประสบการณ์ของผู้เขียน เท่าที่พบมา มีทั้งที่เก็บไว้ได้ตั้งแต่ 24 ชั่วโมง 3 วัน 7 วัน 15 วัน หรือ 1 เดือน ดังนั้นการรวบรวมพยานหลักฐานประเภทนี้จะต้องรีบทำโดยด่วน ยิ่งเร็ว ยิ่งดี

ซึ่งข้อกฎหมายในการรวบรวมพยานหลักฐานประเภทวีดีโอจากกล้องวงจรปิดมาเพื่อใช้ประกอบคดีนั้น ต้องแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

1.การรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อใช้ดำเนินคดีอาญาหรือเพื่อสู้คดีอาญา ซึ่งโดยมากแล้ว มักจะเป็นคดีเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกาย คดีฆ่า คดีอุบัติเหตุ คดีบุกรุก คดีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

2.การรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อใช้ดำเนินคดีแพ่ง ซึ่งโดยมากแล้ว มักเป็นคดีเกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัว คดีฟ้องชู้ ติดตามเรื่องชู้สาว คดีละเมิดอุบัติเหตุต่างๆ

 ในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อใช้ดำเนินคดีอาญาหรือเพื่อต่อสู้คดีอาญานั้น หากยังไม่มีการฟ้องคดีต่อศาล ผู้ที่มีอำนาจรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อใช้พิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาในคดี ก็คือ “พนักงานสอบสวน” หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าของคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 131 โดยพนักงานสอบสวนมีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 132 อนุมาตรา 3 ที่จะออกหมายเรียกบุคคลซึ่งครอบครองสิ่งของซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานนำหลักฐานมาส่งให้กับพนักงานสอบสวนได้ หากผู้ครอบครองพยานหลักฐานขัดขืนหมายเรียกของพนักงานสอบสวน ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 168

          ดังนั้นในคดีอาญาไม่ว่าท่านจะเป็นผู้เสียหายที่ไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเป็นฝ่ายผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหา หากท่านทราบว่ามีกล้องวงจรปิดในสถานที่ใด ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์แก่รูปคดีของท่าน ท่านก็สามารถขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกบันทึกวีดีโอจากผู้ครองครองหรือเจ้าของสถานที่ได้

        แต่ในทางปฏิบัติ พนักงานสอบสวนส่วนใหญ่มีงานรัดตัว บางคนก็ขี้เกียจทำงาน และไม่ใส่ใจทำงาน กว่าจะลงมือทำงานรวบรวมพยานหลักฐาน พยานหลักฐานก็อาจหายไปหมดแล้ว ดังนั้นส่วนใหญ่แล้ว หากอยากให้คดีคืบหน้า ตัวผู้เสียหายหรือทนายความของผู้เสียหาย จะต้องเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานเอง

ซึ่งขั้นตอนที่ท่านจะใช้ในการรวบรวมพยานหลักฐานประเภทกล้องวงจรปิดในคดีอาญา คือ จะต้องมีการแจ้งความดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายเสียก่อน

จากนั้นให้ท่านนำบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีไปดำเนินการ ตามลำดับขั้นตอนต่อไปนี้

1.ขอความร่วมจากเจ้าของสถานที่หรือเจ้าของกล้องวงจรปิด โดยอธิบายเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ทราบว่า มีความจำเป็นอย่างไรจึงจะต้องขอดูและเก็บหลักฐานกล้องวงจรปิด พร้อมทั้งแสดงหลักฐานบันทึกประจำวันให้เขาดู ซึ่งตามนิสัยของคนไทยส่วนใหญ่ใจดีอยู่แล้ว ส่วนใหญ่มักจะให้ความร่วมมือกับท่านแต่โดยดี

2.หากเจ้าของสถานที่หรือเจ้าของกล้องวงจรปิด ไม้ให้ความร่วมมือ ไม่ให้ตรวจสอบ หรือให้ตรวจสอบ แต่ไม่ให้ท่านเก็บหลักฐาน ให้ท่านแจ้งพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกให้เจ้าของสถานที่หรือผู้ครองครองกล้องวงจรปิด ส่งบันทึกกล้องวงจรปิดให้พนักงานสอบสวน จากนั้นให้ท่านถือคำสั่งของพนักสอบสวนหรือให้พนักงานสอบสวนถือคำสั่งไปให้ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ครอบครอง เจอแบบนี้ส่วนใหญ่จะยินยอมแต่โดยดีครับ

3.หากพนักงานสอบสวนไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ยอมออกหมายเรียกหลักฐานให้ เช่นอ้างว่า หมายเรียกไปก็ไม่เจอ หมายเรียกไปก็ไม่มีประโยชน์แก่คดี ไม่ใช่หน้าที่ของตนเอง แบบนี้ ท่านมีทางเลือกสองทางคือ ต้องร้องเรียนพนักงานสอบสวนหรือฟ้องคดีอาญากับพนักงานสอบสวน หรือ ท่านต้องฟ้องผู้กระทำผิดเองต่อศาล และขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานหลักฐานให้

ส่วนการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อใช้ประกอบการฟ้องร้องคดีแพ่งนั้นแตกต่างออกไป เพราะตราบใดที่ยังไม่มีการฟ้องคดีต่อศาล ผู้เกี่ยวข้องไม่มีอำนาจใดๆไปบังคับให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองกล้องจรปิด เปิดคลิปวีดีโอหรือส่งบันทึกวีดีโอดังกล่าวให้ตนเองได้

ดังนั้นในคดีแพ่ง ท่านควรใช้วิธีขอความร่วมมือจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองกล้องวงจรปิด เพื่อขอตรวจและบันทึกกล้องวีดีโอ แต่เจ้าของกล้องวงจรปิดบางแห่ง มีรูปแบบเป็นธุรกิจ เช่น โรงแรม คอนโด หมู่บ้านจัดสรร สถานบันเทิงต่างๆ หรือมีรูปแบบเป็นหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ที่มีนโยบายรักษาข้อมูลและความลับของลูกค้า ย่อมไม่ให้ท่านตรวจสอบกล้องวงจรปิดหรือมอบสำเนาข้อมูลจากกล้องวงจรปิดให้กับท่าน

ช่นนี้มีวิธีการเดียวที่ท่านจะได้พยานหลักฐานมาเพื่อประกอบคดี คือ ท่านต้องให้ทนายความยื่นฟ้องคดีต่อศาลทันที พร้อมทั้งให้ทนายความขอหมายเรียกพยานวัตถุไปพร้อมคำฟ้อง ซึ่งในคำร้องขอหมายเรียกพยานวัตถุของทนายความ จะต้องอธิบายถึงเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องขอสำเนาบันทึกวีโอจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองกล้องจรปิด ซึ่งทางปฏิบัติแล้ว หากคำร้องมีเหตุผลครบถ้วน ศาลก็จะเซ็นอนุมัติหมายให้ในวันเดียวกันหรือในวันรุ่นขึ้น จากนั้นก็นำหมายไปให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองกล้องวงจรปิด ซึ่งส่วนใหญ่พอได้รับหมายศาลก็จะยอมโดยดี

 เมื่อท่านมีโอกาสได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดและได้เก็บสำเนาไว้เป็นหลักฐานแล้ว มีเทคนิคที่เบื้องต้นที่ท่านควรดำเนินการ เพื่อให้สามารถนำวีดีโอดังกล่าวไปใช้ในศาลได้โดยสมบูรณ์ ดังนี้

1.ควรขอบันทึกสำเนากล้องวงจรปิดเป็นไฟล์ละเอียดสูงสุด ไม่ควรตัดต่อ หรือลดทอนคุณภาพลง และไม่ควรถ่ายคลิปจากมือถือโดยตรง ควรใช้แฟลชไดร์หรือทรัมไดร์ในการเก็บข้อมูลจะดีกว่า และควรสำรองข้อมูลไว้ป้องกันการสูญหาย

2.ควรปรากฎวันเวลาเกิดเหตุในสำเนาบันทึกวีดีโอจากกล้องวงจรปิด

3.หากคลิปมีความยาวหรือความซับซ้อน ควร Capture เหตุการณ์เป็นตอนๆ ลงใส่กระดาษ พร้อมอธิบายเหตุการณ์โดยสังเขป เพื่อให้ศาลเข้าใจได้โดยง่าย

4.ควรขอพยานหลักฐานหรือรายชื่อพยานบุคคล ผู้เป็นควบคุมหรือเป็นเจ้าของกล้องไว้ เพื่อใช้ยืนยันว่าเป็นวีดีโอที่มาจากกล้องดังกล่าวจริง

ทั้งหมดนี้เป็นเทคนิคและข้อกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการรวบรวมพยานหลักฐานจากกล้องวงจรปิด ซึ่งผู้เขียนเคยได้รวบรวมมาจากประสบการณ์ที่ได้มาจากการทำงาน หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจและเพื่อนทนายความครับ

 

ดูบทความเพิ่มเติมเรื่อง

“หลักฐานจากกล้องวงจรปิด” โดย  ดร.ธีร์รัฐ ไชยอัคราวัชร์

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น