บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

ตัวอย่างการสู้คดีอาญา ข้อหา นำข้อมูลลามกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ( พ.ร.บ.คอม ฯ มาตรา 14 (4 )) ศึกษาข้อกฎหมาย และตัวอย่างจากประสบการณ์จริง

ตัวอย่างการสู้คดีอาญา ตอนนี้เป็นคดีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 หรือที่มักจะเรียกกกันสั้นๆว่า ” พ.ร.บ.คอม “

โดยคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในวันนี้เป็นเรื่อง นำข้อมูลอันลามกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ตาม พ.ร.บ.คอม ฯ มาตรา 14 อนุมาตรา 4

เรื่องราวในคดี เป็นอย่างไรติดตามได้เลยครับ 


พฤติการณ์ตามคำฟ้องของโจทก์ 

คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้อง จำเลยในข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันลามกอันประชาชนสามารถเข้าถึงได้ตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 อนุมาตรา 4 

โดยเนื้อหาการกระทำความผิดมีที่มาจาก แต่เดิมตัวโจทก์ได้ส่งข้อความในทำนองลามกชู้สาวมาให้กับจำเลย ประมาณว่า

อยากดูดนมพี่จังอยากดูดจิ๋มพี่ด้วย – จริงป่ะ 69 ด้วยนะในห้องน้ำด้วยนะตอนอาบน้ำกัน 

โดยเป็นแค่ข้อความที่สนทนากันเท่านั้น ไม่มีรูปถ่ายใดๆประกอบ

ปรากฏว่า ภายหลังโจทก์กับจำเลยทะเลาะมีปัญหากัน ตัวจำเลยได้ส่งแคปหน้าจอไลน์ที่โจทก์ส่งข้อความหาจำเลยเข้าไปในกลุ่มงานที่มีสมาชิกกลุ่ม Line จำนวน 4 คน ซึ่งมีภริยาของโจทก์อยู่ในกลุ่มด้วย

โจทก์จึงได้มายื่นฟ้องจำเลยโดยกล่าวหาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานนำข้อมูลอันลามกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันประชาชนสามารถเข้าถึงได้ เพราะเป็นการกระทำที่ทำให้โจทก์ได้รับความอับอายเสียชื่อเสียงถูกเกลียดชังถูกดูหมิ่น เป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่ควรนำมาเผยแพร่ 


ข้อกฎหมาย ในคดี พ.ร.บ.คอม 

ตัวบทกฎหมาย

พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560

มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

คำอธิบาย  

การกระทำความผิดตามตาม พ.ร.บ. คอมฯ มาตรา 14 อนุมาตรา 5 นั้น กฎหมายมีเจตนามุ่งป้องกันการเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร โดยอาศัยคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการแพร่กระจ่าย ไปยังบุคคลเป็นจำนวนมาก

เช่น การโพสต์รูปโป๊เปลือยในอินตอร์เน็ต onlyfans เว็บโป๊ ต่างๆ เป็นต้น

ส่วนอย่างไรถือว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันลามก กฎหมายไม่ได้นิยามศัพท์ไว้ ประกอบกับเป็นกฎหมายใหม่ ที่อาจจะจะยังไม่ได้มีการบังคับใช้จริงจังมากนัก จึงยังไม่ค่อยมีคำพิพากษาศาลฎีกามาอธิบาย

 แต่สำหรับความเห็นของผม คำว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันมีลักษณะลามกนั้น น่าจะหมายถึง

ภาพถ่าย วีดีโอ ภาพเขียน การ์ตูน เรื่องแต่ง นิยาย  ที่มีลักษณะโป๊เปลือย อนาจาร สื่อสารไปทางยั่วยุทางเพศ มากกว่า การแสดงออกให้เห็นถึงศิลปะ

อ่านบทความเรื่องศิลปะกับลามก ตามกฎหมายแตกต่างกันอย่างไร 

ตามความเห็นของผม เห็นว่าลำพังเพียงการกล่าวคำไม่สุภาพ เช่น “ไอ้หน้าหี” หรือด่าว่า “ควยอะไรล่ะ” หรือการพูดจาโต้ตอบกันในทางเพศระหว่างบุคคล อย่างเช่นในกรณีนี้ น่าจะไม่ถือว่าเป็นข้อมูลลามกแต่อย่างใด 

เพราะมิฉะนั้นเพียงแค่พูดจาหยาบคายเพียงเล็กน้อยในสื่อออนไลน์ ก็จะถือว่าเป็นความผิดตามมาตรานี้แล้ว ซึ่งน่าจะขัดต่อเจตนาของกฎหมาย

นอกจากนี้ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันมีลักษณะลามกที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้นั้น จะต้องประกอบด้วยลักษณะคือ  “ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้”

จะเห็นได้ว่ากฎหมายใช้คำว่า “ประชาชนทั่วไป” ซึ่งน่าจะหมายถึง ใครก็ได้จะต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลอันลามกดังกล่าวได้ เช่น เว็บโป๊ที่เปิดให้ดูฟรี

ถ้าเป็นกลุ่มลับ หรือ เว็บไซต์ส่วนตัวอย่าง onlyfans ที่จะต้องสมัครสมาชิกเข้าไปดู คนทั่วไปไม่สามารถเข้าดูข้อมูลได้ สำหรับผู้เขียนเห็นว่า “ไม่ผิด” 

เพราะหลักการตีความกฎหมายอาญา จะต้องตีความตามตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด จะขยายความเพื่อลงโทษจำเลยมิได้

ซึ่งผมเห็นว่า ลำพังเพียงการส่งข้อความเข้าไปในกลุ่มไลน์ที่มีพนักงานเพียง 4 คน ประชาชนทั่วไปไม่สามารถดูหรือเห็นข้อความได้เลย ย่อมไม่ถือว่าประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ 

ประเด็นนี้มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา ที่จะหยิบยกมาเทียบเคียงได้  คือ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1188/2561

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า คำฟ้องของโจทก์สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (4) ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องข้อหานี้ในตอนต้นว่า จำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลประเภทภาพเคลื่อนไหว (วิดีโอ) ที่มีลักษณะอันลามกซึ่งปรากฏโจทก์ร่วมหลับนอนกับชายอื่นอยู่ในวิดีโอดังกล่าว โดยที่จำเลยเป็นผู้กำกับและดำเนินการถ่ายทำวิดีโอนั้นลงในระบบคอมพิวเตอร์เว็บไซต์ เวิลด์ไวล์เว็บดอทจีเมลดอทคอม ซึ่งทำให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ เนื่องจากเว็บไซด์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นสังคมออนไลน์ที่โยงกับเว็บไซต์อื่น เช่น พลัสดิทกูเกิ้ลดอทคอม เป็นต้น ก็ตาม แต่ตอนท้ายโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ใช้ที่อยู่อิเลคทรอนิกส์ ชื่อ [email protected] ซึ่งเป็นที่อยู่อิเล็กทรอนิกส์ของจำเลย และมีเพียงจำเลยเท่านั้นที่รู้รหัสผ่านเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ดังกล่าวส่งไปยังบุตรสาวของโจทก์เพื่อประจานการกระทำของโจทก์ที่ร่วมหลับนอนกับชายอื่น ซึ่งจากคำบรรยายฟ้องดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าการที่จำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะอันลามกดังกล่าวนั้น ประชาชนทั่วไปไม่อาจเข้าถึงได้หากไม่รู้รหัสผ่านของจำเลยเพื่อเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์นั้น ทั้งการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะอันลามกนี้ ก็เป็นการส่งในลักษณะเฉพาะเจาะจงไปยังบุตรสาวของโจทก์เท่านั้น มิได้เป็นการเผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไป ดังนี้ การกระทำของจำเลยตามคำฟ้องของโจทก์ จึงไม่อาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (4) ได้ ฟ้องของโจทก์สำหรับข้อหานี้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (4) มาด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (4) 

ดังนั้นคดีนี้ ผมตั้งประเด็นข้อต่อสู้ไว้ 2 ประเด็นหลัก ก็คือ 

  1. ลำพังเพียงคำพูดดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นข้อมูลอันลามกอันอาจจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์
  2. ลักษณะการส่งข้อมูลในกลุ่มไลน์ดังกล่าว ไม่ถือว่าประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้เพราะมีบุคคลในกลุ่มเพียงแค่ 4 คนเท่านั้นจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.คอม ฯ

การพิจารณาคดี 

ในคดีนี้ผมตรวจสอบรูปคดีแล้วเห็นว่าไม่ยาก เพราะฟ้องของโจทก์ขาดทั้งองค์ประกอบความผิด และพยานหลักฐานก็ไม่ชัดเจน

ผมจึงมอบหมายให้ทนายความที่สำนักงานคือ ทนายศิริโชค เจริญวัฒนะ เป็นคนไปดำเนินการถามค้านไต่สวนมูลฟ้องตามแนวทางที่วางไว้

พร้อมกับได้ให้ทำ คำแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายประกอบเข้าไปด้วย

เนื้อหาคำแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล

ข้อ 1. ข้อความดังกล่าว โจทก์ได้พูดคุยกับจำเลย และจำเลยบันทึกลงในหน้าจอโพสต์ลงในกลุ่มไลน์นั้นมีลักษณะเป็นข้อมูลอันลามกตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 อนุมาตรา 4 หรือไม่ 

ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันถือเป็นข้อมูลลามกตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 อนุมาตรา 4 นั้น จะต้องมีลักษณะที่ชัดเจน เช่น เป็นรูปถ่ายอันมีลักษณะลามกอนาจาร เป็นคลิปวีดีโอที่มีลักษณะลามกอนาจาร  หรือเป็นข้อความหรือเรื่องราวในลักษณะนิยายที่มีลักษณะลามกอนาจาร

ไม่ใช่เป็นเพียงแต่การ พูดจาหยาบโลน หรือข้อความอันไม่สมควร ไม่สุภาพเท่านั้น มิฉะนั้นแล้วหากผู้ใดโพสต์หรือพิมพ์ข้อความมันมีลักษณะหยาบโลน ไม่สุภาพ ลงในสื่ออินเทอร์เน็ตต่างๆ ก็จะถือว่ามีความผิดทุกกรณี

ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว  ที่ต้องการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดที่มีลักษณะเป็นการเผยแพร่สื่อลามก ไม่ใช่แค่เพียงว่าผู้ใดพิมพ์หรือเผยแพร่ข้อความอันหยาบโลนไม่สุภาพก็จะต้องเป็นความผิดตามกฎหมายนี้ 

 ข้อความต่างๆที่โจทก์อ้างว่ามีลักษณะเป็นข้อมูลอันลามก  เช่น อยากดูดนมพี่จัง อยากดูดจิ๋มพี่ด้วย จริงปะ 69 ด้วยนะ ในห้องน้ำด้วยนะต้องอาบน้ำด้วยกัน มีลักษณะเป็นเพียงการพูดจาหยาบโลน ไม่สุภาพเท่านั้น ไไม่ใช่เป็นข้อมูลลามกตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 อนุมาตรา 4 แต่อย่างใด  

ข้อ 2. ข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวมีลักษณะที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้หรือไม่ 

ในความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 อนุมาตรา 4 ประกอบอนุมาตรา 5 การนำเข้าหรือการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันมีลักษณะลามกตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์มาตรา 14 อนุมาตรา 4 ประกอบอนุมาตรา 5 นั้น

 ข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวประชาชนทั่วไปจะต้องสามารถเข้าถึงได้ แต่ปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องเข้ามาเองว่าข้อความดังกล่าวได้อยู่ใน LINE กลุ่มที่ชื่อว่ากลุ่มธุรการ ซึ่งมีสมาชิกอยู่เพียง 4 คนเท่านั้น  ซึ่งข้อความในกลุ่มไลน์ดังกล่าวประชาชนคนอื่นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในกลุ่ม Line ย่อมไม่สามารถเข้าถึงหรือดูข้อมูลดังกล่าวได้ 

ดังนั้นข้อความในกลุ่มไลน์ดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ตามนัย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1188/2561 ดังนั้นจำเลยจึงไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด 

ด้วยเหตุดังจำเลยประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพจึงขอศาลที่เคารพโปรดยกฟ้องโจทก์เสียทั้งสิ้น 


ผลคดี และ คำพิพากษา 

ปรากฏว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองศาลโดยเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องนั้นให้เหตุผลว่า 

ตัวโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย เนื่องจากตัวโจทก์เป็นผู้ส่งข้อมูลอันลามก อันแสดงถึงวิธีการยั่วยุและกระตุ้นอารมณ์ทางเพศกับจำเลย เพื่อให้จำเลยยอมมีเพศสัมพันธ์กับโจทก์ก่อน

การที่จำเลยนำข้อความที่โจทก์อยากมีเพศสัมพันธ์กับจำเลยไปลงใน Application LINE กลุ่มซึ่งมีบุคคลอื่นและภรรยาโจทก์เป็นสมาชิกอยู่ด้วย แม้จะทำให้โจทก์ได้รับความอับอาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง

แต่เหตุก็สืบเนื่องมาจากการส่งข้อความอันเป็นการลามกอนาจารของโจทก์นั้นเองโจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะใช้กระบวนการยุติธรรมของรัฐ ปกป้องเกียรติยศ ชื่อเสียงของโจทก์ได้

โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามมาตรา 2 อนุมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่มีสิทธิฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามฟ้องได้ 

รายละเอียดปรากฏตามคำพิพากษา 


สรุป – อุทาหรณ์

สรุปข้อคิดที่ได้จากคดีความเรื่องนี้ ก็คือ ในการต่อสู้คดีอาญาแทบทุกคดีนี้นั้น จะมีประเด็นที่เราจะต้องหยิบยกขึ้นมาสู้อยู่เสมอ ก็คือประเด็นเรื่องโจทก์เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่

ในการต่อสู้คดีนี้ ผมมุ่งเน้นไปที่เรื่องข้อกฎหมายความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เพราะมองว่า อย่างไรเสีย ก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์อยู่แล้ว เพราะไม่ถึงขั้นเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันลามก และไม่เป็นการเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไป

แต่สุดท้ายศาลก็ได้หยิบยกประเด็นเรื่องผู้เสียหายโดยนิตินัยมาวินิจฉัย เพราะเป็นประเด็นแรกที่ศาลจะต้องหยิบยกมาวินิจฉัย เพราะหากวินิจฉัยประเด็นนี้แล้ว ก็จะไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีก 

ดังนั้นๆเพื่อนๆควรจดจำบทเรียนและข้อคิดจากคดีนี้ไว้ เพื่อใช้ในการพัฒนาการทำงานต่อไปครับ

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น