บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

ตัวอย่างการต่อสู้คดีอาญา ข้อหาฉ้อโกง ตอน แชร์ล้มไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง 

ตัวอย่างการต่อสู้คดีอาญาข้อหาฉ้อโกงในวันนี้ เป็นคดีที่เกิดขึ้นบ่อยมากในปัจจุบัน ก็คือคดีเกี่ยวกับการที่ลูกแชร์ฟ้องท้าวแชร์ เป็นคดีอาญาข้อหาฉ้อโกง 

ธรรมดาแล้ว นายวงแชร์ย่อมมีหน้าที่รับผิดชอบ ในการเก็บเงินจากลูกแชร์แต่ละคน มาส่งมอบให้กับลูกแชร์คนที่เปียแชร์ได้ตามกำหนดรอบ 

หากลูกแชร์เปียแชร์ได้ แล้วนายวงแชร์ไม่ยอมส่งมอบเงินให้กับลูกแชร์ ลูกแชร์จะต้องฟ้องเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา

เพราะการที่นายวงแชร์ไม่จ่ายเงินให้กับลูกแชร์อาจจะเป็นได้ทั้งความผิดอาญา หรือเป็นเรื่องทางแพ่งซึ่งจะต้องดูพฤติการณ์โดยรวมประกอบกัน 

 

ในกรณีที่เป็นคดีอาญา

หากนายวงแชร์ ไม่มีเจตนาเปิดวงแชร์ตั้งแต่แรก ตั้งใจหลอกลวงเอาเงินจากลูกแชร์แล้วเอาเงินไปใช้ผิดประเภท หรือนำมือผีมาเปิดรับเงิน โดยไม่มีการเปิดวงแชร์จริงๆ อันนี้ก็อาจจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงได้ 

โดยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2525

จำเลยหัวหน้าวงแชร์หลอกลวงโจทก์ร่วมว่า ฉ. ลูกวงจะขายแชร์ซึ่งความจริง ฉ. ไม่ได้ขายแชร์ให้ผู้ใด ทำให้โจทก์ร่วมรับซื้อแชร์ดังกล่าวและจำเลยได้เงินค่าแชร์ไปจากโจทก์ร่วม ดังนี้ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 856/2510

จำเลยเอาความเท็จไปหลอกลวงโจทก์ว่าเป็นหัวหน้าวงแชร์เปียหวยและมีแชร์อยู่ โจทก์หลงเชื่อจึงตกลงรับซื้อแชร์ไว้ โดยจ่ายเงินให้จำเลยไป 7,000 บาท ซึ่งความจริงจำเลยไม่ได้เปิดวงแชร์เปียหวยตามที่จำเลยอ้าง ดังนี้ จำเลยย่อมมีความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4139/2547

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์ จำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทั้ง 5 วง มี 35 คน ซึ่งครบองค์ประกอบความผิดแล้ว เพราะองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 6 (1) (2) ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่า 3 วง หรือมีจำนวนสมาชิกรวมกันทุกวงมากกว่า 30 คน ส่วนบัญชีรายชื่อผู้เสียหายจำนวน 28 คน นั้น เป็นรายชื่อของสมาชิกวงแชร์ที่ถูกจำเลยฉ้อโกงในการเล่นแชร์ทั้ง 5 วง มิใช่จำนวนสมาชิกวงแชร์ทั้ง 5 วง รวมกัน ฟ้องของโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 6 (1) (2) แล้ว

โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยว่าได้กระทำการเป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์ถึง 5 วง นับแต่วันที่ 25 มีนาคม 2541 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2542 โดยมีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่า 30 คน อันเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (1) (2) แล้ว และต่อมาจำเลยยังได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงผู้เสียหายทั้ง 28 คน ด้วยการหลอกลวงว่ามีสมาชิกวงแชร์รายอื่นประมูลเงินทุนกองกลางโดยให้ดอกเบี้ยตอบแทนสูงกว่าผู้เสียหายแต่ละคนที่เข้าร่วมประมูล จึงต้องรวบรวมเงินทุนกองกลางไปให้แก่สมาชิกผู้นั้น และบางงวดจำเลยก็แอบอ้างชื่อสมาชิกวงแชร์บางรายเข้าประมูลเงินทุนกองกลางโดยเสนอดอกเบี้ยตอบแทนสูงกว่าผู้เสียหายที่เข้าร่วมประมูล จนกระทั่งจำเลยได้เงินทุนกองกลางไปเสียเอง การกระทำของจำเลยในส่วนนี้แยกต่างหากจากการเป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ เป็นการหลอกลวงแอบอ้างสิทธิของสมาชิกวงแชร์คนอื่น เป็นการกระทำต่างฐานความผิดด้วยเจตนาที่ต่างกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันมิใช่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดแต่ละฐานแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขัดแย้งกัน

จำเลยยังได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงผู้เสียหายทั้ง 28 คน ด้วยการหลอกลวงว่ามีสมาชิกวงแชร์รายอื่นประมูลเงินทุนกองกลางโดยให้ดอกเบี้ยตอบแทนสูงกว่าผู้เสียหายแต่ละคนที่เข้าร่วมประมูล จึงต้องรวบรวมเงินทุนกองกลางไปให้แก่สมาชิกผู้นั้น และบางงวดจำเลยก็แอบอ้างชื่อสมาชิกวงแชร์บางรายเข้าประมูลเงินทุนกองกลางโดยเสนอดอกเบี้ยตอบแทนสูงกว่าผู้เสียหายที่เข้าร่วมประมูล จนกระทั่งจำเลยได้เงินทุนกองกลางไปเสียเอง การกระทำของจำเลยในส่วนนี้แยกต่างหากจากการเป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ เป็นการหลอกลวงแอบอ้างสิทธิของสมาชิกวงแชร์คนอื่น เป็นการกระทำต่างฐานความผิดด้วยเจตนาที่ต่างกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันมิใช่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดแต่ละฐานแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขัดแย้งกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5019/2563

จำเลยไม่ได้ตั้งวงแชร์ขึ้นมาจริง เป็นเพียงแต่อ้างการจัดให้มีการเล่นแชร์มาเป็นข้อหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินค่างวดแชร์จากผู้เสียหายทั้งเก้าหรือผู้อื่นเท่านั้น ดังนั้นจำเลยจึงไม่ได้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6


ในกรณีที่เป็นคดีแพ่ง 

แต่ถ้าหากนายวงแชร์มีเจตนาเปิดวงแชร์โดยชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น แต่ติดขัดปัญหา เช่นลูกแชร์คนอื่นเบี้ยวไม่ยอมจ่ายเงิน จึงไม่สามารถหาเงินมาหมุนจ่ายให้กับลูกแชร์ที่เปียแชร์ได้ เช่นนี้ย่อมเป็นเพียงเรื่องทางแพ่งเท่านั้น 

โดยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเช่น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2926/2544

เงินค่าแชร์แต่ละงวดที่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมส่งให้จำเลย เมื่อผู้ใดประมูลแชร์ได้ ก็จะตกได้แก่ผู้นั้น กรรมสิทธิ์ในเงินที่ส่งไปแล้วมิได้เป็นของผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมต่อไปอีกและหากผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมไม่สามารถประมูลแชร์ได้เพราะแชร์ล้มเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใด จำเลยในฐานะที่เป็นเจ้ามือแชร์ก็ต้องรับผิดแทน ซึ่งเป็นความผิดในทางแพ่งจำเลยไม่มีความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2444/2532

ความผิดฐานฉ้อโกงเป็นความผิดที่มีผลเกิดขึ้นต่างหากจากการกระทำ คือต้องเป็นการได้ไปซึ่งทรัพย์สินโดยการหลอกลวง ดังนี้ การที่จำเลยได้ทรัพย์สินจากผู้เสียหายโดยการเล่นแชร์ ซึ่งเล่นกันจำนวน 90 มือ มีการประมูลแชร์และเก็บเงินจากผู้เล่นให้แก่ผู้ประมูลได้ถึง 57มือแล้ว ต่อมาจำเลยซึ่งเป็นหัวหน้าวงผิดนัด ไม่เก็บเงินจากผู้เล่นแชร์และไม่ดำเนินการประมูลแชร์ต่อไปตามหน้าที่ จึงเป็นการผิดสัญญาเล่นแชร์ซึ่งเป็นความผูกพันทางแพ่ง การกระทำของจำเลยหาเป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3112/2523

พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงกับขอให้คืนเงินที่จำเลยได้ไปจากการฉ้อโกงแก่ผู้เสียหาย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่ามิใช่เป็นเรื่องฉ้อโกง แต่เป็นเรื่องผู้เสียหายและจำเลยสมัครใจเล่นแชร์ต่อกัน ซึ่งเป็นเรื่องความรับผิดทางแพ่งล้วน ๆ หาใช่เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาไม่ ดังนี้ เงินที่ผู้เสียหายชำระค่าแชร์ให้แก่จำเลยไป จึงมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิด พนักงานอัยการไม่มีสิทธิที่จะเรียกเงินเช่นนี้แทนผู้เสียหายได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43


 

อย่างไรก็ตามในการฟ้องร้องดำเนินคดี ลูกแชร์หลายคนอยากได้เงินคืนไวๆหรืออย่างแน่นอน ก็นิยมฟ้องเป็นคดีอาญา เพราะมีมาตรการในการบังคับคดีแรงกว่า 

แต่การฟ้องคดีอาญา โดยที่พยานหลักฐานไม่เพียงพอ ก็จะทำให้ศาลยกฟ้องดังเช่นที่ปรากฏในคดีนี้ แล้วจะทำให้ฝ่ายลูกแชร์จะต้องเสียเวลาหรืออาจจะต้องเสียเงินไปฟ้องคดีแพ่งต่างหาก และอาจจะต้องถูกฟ้องกลับได้อีกด้วย 


วันนี้ผมได้เอาตัวอย่างคดีเช่นนี้มาเป็นอุทาหรณ์และเป็นตัวอย่างในการต่อสู้คดีต่อไปครับ 

คดีนี้เป็นคดีข้อเท็จจริงง่ายๆไม่ซับซ้อน เรื่องมีอยู่ว่าท้าวแชร์ถูกลูกแชร์ฟ้องเป็นคดีฉ้อโกง เนื่องจากเมื่อถึงกำหนดที่จะต้องชำระเงินให้กับลูกแชร์ท้าวแชร์ไม่มีเงินจ่าย 

และสาเหตุที่ไม่มีเงินจ่าย เนื่องจากถูกลูกแชร์เจ้าอื่นเบี้ยวไม่จ่ายเงินมาเหมือนกัน  ท้าวแชร์พยายามไกล่เกลี่ยขอผ่อนชำระหนี้กับลูกแชร์แล้ว แต่ลูกแชร์ไม่ยินยอม และมาฟ้องเป็นคดีฉ้อโกง 

คดีนี้ผมมองว่าเป็นคดีที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนนัก จึงได้มอบหมายให้น้องทนายความประจำสำนักงานคือ ทนายเอเซีย บุณยวีย์ น้อยสุขขะ ขึ้นว่าความและถามค้านพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง พร้อมทั้งทำคำแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล ยื่นต่อศาลก่อนกำหนด 

ซึ่งสุดท้ายคดีนี้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเป็นเรื่องความผิดทางแพ่งเท่านั้น 

วันนี้ผมจึงได้นำตัวอย่างการต่อสู้คดีดังกล่าวมาเผยแพร่และหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆและผู้สนใจทุกคนครับ 

 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น