บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

กู้ยืม ร่วมลงทุน หรือฉ้อโกง แตกต่างกันอย่างไร ? เรื่องต้องรู้ก่อนฟ้องเรียกเงินทุนคืน

กู้ยืม ฉ้อโกง หรือ ร่วมลงทุน

ปัญหาที่ทนายความส่วนใหญ่รวมทั้งตัวผู้เขียน มักจะต้องให้คำปรึกษากับลูกความอยู่เป็นประจำก็คือ ลูกความได้นำเงินไปร่วมลงทุนทำธุรกิจกับบุคคลอื่น โดยมีข้อตกลงในการแบ่งเงินที่ได้จากธุรกิจกัน แต่ไม่ได้ทำการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกันขึ้นมา

ต่อมาเกิดปัญหาต่างๆในการบริหารงานขึ้นเช่น คู่กรณีไม่แสดงบัญชีรายรับรายจ่ายให้ชัดเจน ไม่ส่งมอบผลกำไรให้ตามกำหนด หรือมีพฤติการณ์ส่อว่าจะทุจริต ก็เลยอยากถอนเงินลงทุนคืน

แต่ปัญหาก็คือ หากคู่กรณีไม่ยอมคืนเงินให้ จะต้องทำอย่างไร ?

แน่นอนว่าหากผู้ลงทุนต้องการเงินลงทุนคืนและอีกฝ่ายไม่ยอมคืน ผู้ลงทุนย่อมต้องใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล แต่ก่อนที่จะดำเนินการทางกฎหมายใดๆเพื่อเรียกเงินคืน  ทนายความจะต้องสอบถามข้อเท็จจริงในคดีให้ละเอียดเพื่อวิเคราะห์ให้แน่ชัดเสียก่อนว่า นิติกรรมระหว่างผู้ลงทุนกับผู้ชักชวนให้ลงทุนเป็นนิติกรรมประเภทไหน

เพราะกรณีนำเงินไปลงทุนลักษณะเช่นนี้ อาจจะเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายได้หลายประการ และข้อกฎหมายแต่ละประการก็มีวิธีการและขั้นตอนในการฟ้องร้องเรียกเงินคืนแตกต่างกัน  ซึ่งถ้าทนายความตั้งเรื่องผิดพลาดก็อาจถึงขั้นแพ้คดีแบบไม่ต้องดูเนื้อหาคดีไปเลย

ทั้งนี้เมื่อเราได้นำเงินไปลงทุนกับบุคคลอื่นโดยตกลงจะแบ่งปันผลตอบแทนกันนั้น อาจจะเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายได้ 3 ประการ ดังนี้

 1.เป็นการร่วมลงทุนกันจริงๆ ซึ่งเข้าข้อกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้ง “ ห้างหุ้นส่วนสามัญ “

ถ้าหากเป็นการนำเงินทุนไปลงทุนร่วมกับบุคคลอื่น เพื่อประกอบกิจการใดๆ โดยตกลงกันว่าจะแบ่งปัน ผลกำไร” ที่ได้จากกิจการนั้น  ย่อมถือเป็นกรณีที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ตกลงร่วมกันจัดตั้งกิจการเพื่อหาผลกำไรด้วยกัน  ทั้งนี้ไม่ว่าหุ้นส่วนอีกคนหนึ่ง  จะได้ลงเงินทุนด้วย หรือเพียงแต่ลงแรงงานหรือลงทรัพย์สิน ก็ถือว่าเป็นหุ้นส่วนกันแล้วทั้งสิ้น  ซึ่งสาระสำคัญก็คือหากมีการเข้าหุ้นกันและมีการตกลง จะแบ่งปัน “ผลกำไร”  ที่เกิดจากกิจการนั้น ย่อมถือเป็นนิติกรรมการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญตามกฎหมาย  ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา มาตรา 1012

ซึ่งการฟ้องเรียกเงินคืนจากหุ้นส่วนตามนิติกรรมแบบนี้ หากปรากฎว่า กิจการทำท่าจะไม่ดี หรือหุ้นส่วนคนอื่นๆประกอบกิจการส่อไปในทางทุจริต แม้ผู้ลงทุนอยากจะเรียกเงินลงทุนคืน ก็ยังไปฟ้องเรียกเงินลงทุนคืนเลยไม่ได้ เพราะก่อนจะเรียกเงินลงุทนคืนจะต้องผ่านกระบวนการตามกฎหมายสองขั้นตอนเสียก่อน คือ

1. ต้องมีการเลิกห้างหุ้นส่วนเสียก่อน ซึ่งถ้าอีกฝ่ายไม่ยอมเลิกห้างหุ้นส่วน ก็ต้องร้องขอให้ศาลสั่งเลิก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1057

2.ทำการชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วน เพื่อให้ทราบว่ามีผลกำไร ขาดทุนเท่าไหร่ และมีหนี้สินอยู่กับคนภายนอกหรือไม่ มีเงินทดรองอื่นๆที่หุ้นส่วนคนอื่นได้ทอรองออกไปในการบริการกิจการหรือไม่

เพราะก่อนจะคืนเงินลงทุนได้ จะต้องมีการคิดคำนวณผลกำไรขาดทุน และชำระหนี้สินให้กับบุคคลภายนอก รวมทั้งต้องชดใช้เงินทดรองจ่ายให้หุ้นส่วนคนอื่นๆ เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน หุ้นส่วนที่ลงเงินจึงจะมีสิทธิได้รับเงินลงทุนคืน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1061 และ มาตรา 1062

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า การฟ้องเรียกเงินคืนลักษณะนี้มีข้อยุ่งยากที่สุด เพราะหากไม่ผ่านกระบวนการทางกฎหมายสองขั้นตอนนี้ และทนายความไปยื่นฟ้องเรียกเงินคืนเลย ศาลจะต้องพิพากษายกฟ้องเพราะไม่มีอำนาจฟ้อง ทั้งนี้ โปรดดูบทความเรื่อง “ความผิดพลาดในการตั้งเรื่องฟ้องคดีของทนายความ ในคดีฟ้องเรียกเงินลงทุนคืนจากผู้เป็นหุ้นส่วน” ซึ่งผู้เขียนได้อธิบายข้อกฎหมายเรื่องนี้ไว้โดยละเอียด

อย่างไรก็ดี ความหมายของการแบ่งปันผลกำไร หมายถึง แบ่งปันผล“กำไรสุทธิซึ่งหมายเงินรายได้ของกิจการส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่เกิดจากการประกอบกิจการแล้ว

ดังนั้นคำว่า “กำไรสุทธิ” ไม่ได้หมายความรวมถึงการแบ่งรายได้โดยยังไม่มีการหักค่าใช้จ่ายและต้นทุนแต่อย่างไร   ดังนั้นถ้ามิได้มีข้อตกลงในการแบ่งปัน “ผลกำไร” ที่ได้จากกิจการ  แต่มีการตกลงกันเป็นอย่างอื่นเช่น ตกลงว่าจะแบ่งค่าตอบแทนให้เป็นรายเดือนมีอัตราแน่นอน เช่น เดือนละ 2 เปอร์เซ็นต์หรือ 5 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุน

หรือ ตกลงกันว่าจะแบ่ง “รายได้” หรือ”ผลผลิต”  ที่ได้จากกิจการ โดยไม่ได้หักต้นทุน เช่นนี้จะไม่เข้าหลักกฎหมายว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วน แต่เข้าลักษณะนิติกรรมประเภทอื่น จึงจะต้องบังคับตามกฎหมายอื่นๆ ดังจะกล่าวในข้อต่อไป

2.เป็นนิติกรรมประเภทอื่นที่ไม่ใช่การจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งแบ่งออกเป็น “นิติกรรมไม่มีชื่อ” กับ “การกู้ยืมเงิน”

หากคู่กรณีได้ทำสัญญาหรือตกลงกันกันในทำนองว่า คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยินยอมมอบเงินลงทุนให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของกิจการ เพื่อให้ใช้ในการลงทุนหรือหมุนเวียนในทำกิจการ โดยเจ้าของกิจการ จะให้ค่าตอบแทนแก่ผู้ที่มอบเงินลงทุนให้ เป็นรายเดือน หรือรายปี ในอัตราแน่นอนซึ่งคำนวณจากเงินลงทุนที่ได้มอบให้

เช่น ตกลงจะให้ค่าตอบแทน เดือนละ 2  เปอร์เซ็นต์ 5 เปอร์เซ็นต์ นิติกรรมประเภทนี้ ไม่ใช่นิติกรรมประเภทการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ ดังเช่น ข้อ 1. เพราะไม่ได้มีการตกลงแบ่งปันกำไรและขาดทุนกัน ถึงกิจการจะมีกำไรเท่าไหร่หรือจะขาดทุนเพียงใด ผู้ลงทุนก็ได้ผลตอบแทนที่แน่นอน

ปัญหาก็คือ นิติกรรมเช่นนี้เป็นนิติกรรมประเภทอะไร ? มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่พอเทียบเคียงได้ ก็คือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7148/2542 วางหลักไว้ว่า “ ผู้เป็นหุ้นส่วนมีสิทธิได้รับส่วนกำไรอันเกิดจากกิจการที่ทำนั้น หากไม่ได้รับส่วนแบ่งในผลกำไรแต่ได้รับเป็นอย่างอื่น ไม่ถือว่าเป็นหุ้นส่วน ปรากฏว่าระหว่างโจทก์กับจำเลยมีการแบ่งผลประโยชน์ให้กันทุกเดือน เดือนละ 2 เปอร์เซ็นต์ ของเงินลงทุน โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกำไรหรือขาดทุน แสดงว่าโจทก์ได้รับผลประโยชน์จากเงินที่ลงทุนทุกเดือนโดย ไม่ได้รอผลกำไรจากกิจการแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยเพื่อ ทำกิจการซื้อขายทองรูปพรรณ แต่เป็นกรณีที่จำเลยให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์จากการที่โจทก์ให้เงินจำเลยไปลงทุนทำกิจการ”

และมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่พอเทียบเคียงกันได้ เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 650/2505

เท่ากับศาลฎีกาเห็นว่า นิติกรรมลักษณะนี้ ไม่ใช่นิติกรรมประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญ แต่เป็น”นิติกรรมไม่มีชื่อ”ประเภทหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับได้ตามกฎหมาย (นิติกรรมไม่มีชื่อ หมายถึงนิติกรรมที่กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะ เหมือนนิติกรรมหลักสำคัญๆที่เกิดขึ้นบ่อยในชีวิตประจำวัน เช่น การกู้ยืม เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ ซึ่งคู่กรณีสามารถทำนิติกรรมแบบไม่มีชื่อกันได้ทุกอย่าง หากเนื้อหาและวัตถุประสงค์ของนิติกรรมไม่มีชื่อนั้นไม่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 149-151 )

เมื่อศาลตีความว่านิติกรรมประเภทนี้สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย หากคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา ไม่ส่งมอบเงินค่าตอบแทนให้ตามข้อตกลง ผู้ลงทุนย่อมมีสิทธิสองประการคือ สิทธิที่จะฟ้องบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งส่งมอบเงินค่าตอบแทนตามข้อตกลง และสิทธิที่บอกเลิกสัญญาและเรียกเงินลงทุนคืน ซึ่งจะต้องเลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง

ถ้าเลือกใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าตอบแทน ย่อมถือเป็นการฟ้องบังคับตามสัญญา ดังนั้นจะเรียกเงินลงทุนคืนยังไม่ได้ และหากใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาไปแล้ว จะเรียกค่าตอบแทนตามสัญญาอีกไม่ได้ มีสิทธิเพียงเรียกเงินลงทุนคืนพร้อมค่าตอบแทนค้างชำระ และดอกเบี้ยตามกฎหมายเท่านั้น

ที่สำคัญการฟ้องคดีลักษณะนี้ไม่ต้องผ่านกระบวนการในการเลิกห้างหรือชำระบัญชีก่อนเหมือนดัง ข้อ 1 แต่อย่างใด เพราะไม่ได้มีสภาพเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี กรณีที่ผู้ลงทุนได้เงินค่าตอบแน่นอนจากเงินที่มอบให้ลงทุนเช่นนี้ มีความใกล้เคียงกับการให้กู้ยืมเงินมาก  เพราะเมื่อผู้ลงทุนมอบเงินก้อนหนึ่งให้เจ้าของกิจการไปแล้ว ผู้ลงทุนก็ไม่ต้องรับผลเสี่ยงอะไรเลย ไม่ว่ากิจการจะเป็นอย่างไร ผู้ลงทุนก็จะได้ค่าตอบแทนที่แน่ชัดเป็นรายเดือนหรือรายปี ซึ่งหากทำสัญญากันในลักษณะเช่นนี้ จะต้องวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่า ความจริงแล้ว เป็นเรื่องนิติกรรมไม่มีชื่อ หรือ เป็นเรื่องรทำนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินที่มีการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา 

ทั้งนี้ยังมีแนวคำพิพากษาพอจะนำมาพิจารณาเทียบเคียงได้ คือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14839/2556 ซึ่งเป็นเรื่องการทำสัญญาเช่าซื้อเพื่ออำพรางสัญญาเงินกู้ยืม ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับการทำสัญญาร่วมลงทุน เพื่ออำพรางสัญญากู้ยืมเงินได้เช่นเดียวกัน

ดังนั้นในคดีลักษณะนี้ ทนายความจะต้องวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่า ความจริงแล้วเป็นการตกลงให้ค่าตอบแทนจากการลงทุน หรือ เป็นการกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดกันแต่ทำนิติกรรมอำพรางกันว่าเป็นการให้เงินไปลงทุน ซึ่งจะต้องวิเคราะห์จากข้อเท็จจริงเป็นเรื่องไปโดยละเอียด เช่น

1.ใครเป็นผู้ชักชวนหรือเสนอให้ร่วมลงทุน และมีสาเหตุอะไรที่มีการชักชวนให้ร่วมลงทุน เช่นถ้าหากกิจการกำลังย่ำแย่อยู่ จึงต้องใช้เงินทุนจากบุคคลอื่นเพื่อพยุงกิจการ ให้พออยู่รอด กิจการแบบนี้ผู้ลงทุนที่ไหนคงไม่อยากร่วมลงทุน เพราะมีแต่จะเสี่ยงขาดทุน จึงอาจฟังได้ว่าเป็นการกู้ยืม แต่ถ้ากิจการกำลังไปได้ดี ขาดเงินทุนในการขยายกิจการ จึงต้องนำเงินจากบุคคลอื่นมาเพื่อขยายกิจการ ก็อาจจะฟังได้ว่าเป็นการขอเงินมาลงทุนโดยจะให้ผลตอบแทน

 2. ค่าตอบแทนเท่าไหร่ ใครเป็นคนกำหนดเรื่องค่าตอบแทนและมีที่มาของการกำหนดค่าตอบแทนนั้นจากอะไร เช่นกำหนดค่าตอบแทน จากการคาดการณ์ว่าจะมีรายได้ต่อเดือนเท่าไหร่ แต่ถ้าค่าตอบถ้าสูงมากๆ โดยไม่มีเหตุผล เช่น ร้อยละ 20 ต่อเดือน แบบนี้จะฟังว่าเป็นค่าตอบแทนน่าจะลำบาก เพราะไม่มีทางที่กิจการจะทำรายได้ต่อเดือนได้ขนาดนั้น

3.มีการทำสัญญาเป็นหนังสือไว้หรือไม่ เนื้อหาในสัญญาเป็นอย่างไร

 4. วิเคราะห์ข้อเท็จจริงอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้หากฟังได้ว่าเป็นการกู้ยืมเงิน แต่ได้ทำสัญญาเนื้อหาทำนองว่าเป็นการร่วมลงทุนโดยจะให้ค่าตอบแทนที่มีกำหนดแน่นอนเป็นรายเดือนแล้ว ก็ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการกู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพราง และเงินค่าตอบแทนที่ตกลงจะให้กันหากมีจำนวนสูงกว่าดอกเบี้ยตามกฎหมาย คือ ร้อยละ 15 ต่อปี ย่อมถือว่าเป็นการเรียกดอกเบี้ยที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ดังนั้นผู้ลงทุนย่อมไม่สามารถฟ้องร้องเอาเงินค่าตอบแทนได้ และหากเจ้าของกิจการมีการชำระค่าตอบแทนดังกล่าวให้ผู้ลงทุนแล้ว ก็ถือเป็นการชำระดอกเบี้ยที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และผู้ลงทุนไม่มีสิทธิรับเงินค่าตอบแทนดังกล่าวไว้ ซึ่งต้องนำมาหักกับต้นเงินลงทุน ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาแนวใหม่ เช่น  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2560 ป็นต้น

3. เป็นการฉ้อโกง หลอกลวงมาตั้งแต่ต้น

ที่กล่าวมาแล้วทั้งสองข้อแรก เป็นกรณีที่ทั้งสองฝ่ายมีเจตนาจะปฏิบัติตามสัญญากันมาตั้งแต่ต้น แต่ถ้าปรากฎว่าคู่กรณีฝ่ายที่เป็นผู้ที่รับเงินลงทุนไปนั้น ไม่มีเจตนาจะปฏิบัติตามสัญญาตั้งแต่แรก และไม่มีเจตนาจะประกอบธุรกิจ และไม่มีกิจการที่จะสร้างรายได้จริงๆ   มีเพียงเจตนาจะหลอกลวงเอาเงินจากคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไปเป็นประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น

แบบนี้คู่กรณีฝ่ายที่เป็นผู้รับเงินลงทุนไป ย่อมมีความผิดอาญาญาฐานฉ้อโกง ซึ่ง ความผิดฐานฉ้อโกงหรือการผิดสัญญาทางแพ่งแตกต่างกันอย่างไร โปรดอ่านบทความของผู้เขียนเรื่อง “ฉ้อโกงหรือผิดสัญญาแตกต่างกันอย่างไร” ซึ่งได้อธิบายเรื่องดังกล่าวไว้โดยละเอียด

ซึ่งการฉ้อโกงในกรณีแบบนี้นั้นยังแบ่งออกเป็นประเภทย่อยได้เป็น

3.1 ฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 กรณีนี้ เป็นกรณีที่มีผู้ถูกหลอกให้ลงทุนเพียงไม่กี่คน และไม่มีการโฆษณาหรือประกาศให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาร่วมลงทุน

3.2  การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตาม พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 เป็นกรณีที่ผู้กระทำผิดได้ทำการประกาศหรือโฆษณาให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมลงทุน หรือมีผู้ร่วมลงทุนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป

ซึ่งหากเป็นกรณีฉ้อโกงนั้น ผู้ลงทุนควรใช้วิธีการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิด ไม่ว่าจะด้วยการแจ้งความหรือให้ทนายความฟ้องคดีอาญาต่อศาลเองโดยตรง จะเสียค่าใช้จ่ายน้อย ได้ผลรวดเร็วและมีมาตรการบังคับที่ดีกว่าการฟ้องคดีแพ่ง และหากเป็นการฉ้อโกงธรรมดาตามข้อ 3.1 จะต้องร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือฟ้องคดีต่อศาลภายในสามเดือนด้วย

ดังนั้นแล้ว จึงสรุปได้ว่า 

ในกรณีที่นำเงินไปลงทุนกับบุคคลอื่นและต้องการเรียกเงินลงทุนคืนจะต้องมีการวิเคราะห์ให้ชัดเจนเสียก่อนว่าความจริงแล้วเป็นนิติกรรมประเภทไหน เพื่อทนายความที่จะได้ตั้งเรื่องฟ้องร้องเรียกเงินคืนได้ถูกต้อง

และที่สำคัญ ก่อนจะนำเงินที่ท่านหาได้มาอย่างยากลำบากไปลงทุนที่ไหนก็ตาม ควรพิจารณาให้รอบคอบ และศึกษาข้อมูลในทุกๆด้าน อย่าตัดสินใจเพียงเพราะว่าผู้ชักชวนมีความสนิทสนมกันหรือมีความน่าเชื่อถือ หรือตัดสินใจลงทุนเพราะเห็นว่าจะได้ค่าตอบแทนเป็นจำนวนมาก จงจำไว้เสมอว่าอะไรที่ได้มาง่ายๆโดยไม่ต้องลงแรงและไม่มีความเสี่ยงนั้นไม่มีอยู่จริงในโลกของธุรกิจครับ

 

อ่านบทความอื่นๆของสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ

บทความเกี่ยวกับกฎหมายแพ่งและวิธีพิจารณาความแพ่ง คลิก

บทความเกี่ยวกับกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา คลิก

บทความน่ารู้เกี่ยวกับการว่าจ้างทนายความ คลิก

 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts