บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

ตัวอย่างการฟ้องคดี ฉ้อโกงประชาชน – นำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ EP.6 ตอน “ รับสมัครแม่ทีม “ ศึกษาข้อกฎหมายและข้อคิดจากประการณ์จริง 

ตัวอย่างการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา ในตอนนี้จะเป็นคดีความผิดฐาน ฉ้อโกงประชาชน และ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ 

โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการหลอกลวงให้สั่งสินค้า เพื่อไปขายต่อ โดยอ้างว่าจะได้ผลกำไรเป็นจำนวนมาก หรือที่เรียกกันว่า ตัวแทน หรือ แม่ทีม ซึ่งปัจจุบันมีคดีหลอกลวงลักษณะนี้ เป็นจำนวนมาก 

รายละเอียดเป็นอย่างไรติดตามอ่านได้เลยครับ 

พฤติการณ์ในคดี 

จำเลยสร้างโปรไฟล์ว่าตนเองประกอบธุรกิจขายเครื่องสำอาง ประเภทสบู่ และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความงามต่างๆ โดยการสร้างความน่าเชื่อถือในสื่อออนไลน์ต่างๆเช่น line และ facebook

เช่นการโพสต์รูปกับรถหรู บ้านหรู หรือสลิปรายได้ต่างๆที่มีเข้ามาแต่ละวันเป็นจำนวนมาก เพื่อแสดงว่ากิจการของตนเองมีรายได้เป็นจำนวนมาก และสินค้าของจำเลยมีคนสนใจจะสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก  คนที่ร่วมธุรกิจกับจำเลยมีแต่คนประสบความสำเร็จ 

หลังจากนั้นจำเลยก็จะประกาศไว้ในสื่อออนไลน์ต่างๆว่า จำเลยมีความประสงค์จะเปิดรับแม่ทีม หรือตัวแทนการขาย

โดยมีเงื่อนไขว่าคนที่จะเป็นแม่ทีมหรือตัวแทนการขายให้กับจำเลยนั้น จะต้องจ่ายเงินชำระค่าสินค้าให้กับจำเลยก่อน หลังจากนั้นจะมีกำหนดระยะเวลาการผลิตสินค้า และเมื่อสินค้าผลิตเสร็จแล้วจะมีตลาดลูกค้าคอยรองรับอย่างแน่นอน 

ในการดังกล่าวแม่ทีมหรือตัวแทนขายสินค้าก็จะได้ผลกำไรเป็นส่วนต่างค่าสินค้า เป็นจำนวนสูงมาก 

ตัวอย่างข้อความโฆษณา

ตัวอย่างเช่น

จำเลยอ้างว่ามีลูกค้าต้องการซื้อครีมกันแดด ยี่ห้อหอยทาก จำนวน จำนวน 1000 กระปุก ราคาขายลูกค้าอยู่ที่กระปุกละ 500 บาท 

ถ้าหากผู้ใดต้องการลงทุน สั่งซื้อครีมหอยทากจากจำเลย จำเลยจะขายเพียงกระปุกละ 400 บาท แต่จะต้องจ่ายเงินก่อน รวมเป็นเงิน 400,000 บาท 

หลังจากนั้นเมื่อผลิตครีมเสร็จ ครีมดังกล่าวก็จะเอาไปขายให้กับลูกค้าได้ในกระปุกละ 500 บาท จำนวน 100 กระปุก เป็นเงิน 500,000 บาท แม่ทีมก็จะได้กำไร 100,000 บาท  

ปรากฏว่า โจทก์ไปพบเห็นโพสต์เรื่องการเปิดตัวแทนหรือแม่ทีมของจำเลย แล้วเกิดความสนใจ เพราะคิดว่าจะได้กำไรดี

จึงได้ตกลงเข้าเป็นแม่ทีมกับจำเลย โดยจ่ายเงินให้กับจำเลยไปทั้งสิ้นเป็นจำนวน 280,000 บาท เพื่อเปิดบิลสั่งซื้อสินค้าจากจำเลย หวังว่าจะเอาไปขายต่อแล้วได้ผลกำไร 

การกระทำที่ชี้ให้เห็นว่าหลอกลวง 

เมื่อถึงกำหนดส่งมอบสินค้า จำเลยกลับบอกว่า โจทก์ไม่จำเป็นจะต้องมารับสินค้าและไปส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้า แต่จำเลยจะเป็นคนดำเนินการเอาสินค้าไปส่งให้กับลูกค้าด้วยตนเอง แล้วจะเก็บเงินมาส่งมอบให้กับโจทก์ 

ซึ่งทีแรกโจทก์ก็นึกว่าดีเหมือนกัน ตัวเองจะได้ไม่ต้องเหนื่อยอะไรเลยแค่ลงเงินไปอย่างเดียว แล้วรอรับผลกำไรส่วนต่าง 

แต่ปรากฏว่ารอแล้วรอเล่า จำเลยก็ไม่ยอมโอนเงินค่าผลกำไรค่าตอบแทน มาให้ตามที่ตกลงกันจนโจทก์เริ่มชักจะเอะใจ และได้ทวงถามบ่อยครั้งจำเลยก็ผัดผ่อนไปเรื่อยๆ 

หลังจากนั้นโจทก์ได้ติดตามสืบหาข้อมูลจนกระทั่งทราบว่าจำเลยเป็นมิจฉาชีพที่หลอกลวงคนอื่นมาเป็นจำนวนมาก และมีผู้เสียหายอีกหลายคนที่ได้รวมตัวกันอยู่ในกลุ่มไลน์ 

โจทก์ได้เข้าไปหาข้อมูลในกลุ่ม Line จึงทราบว่าจำเลยไม่ได้มีโรงงานผลิตสินค้าจริง และไม่ได้มีตลาดลูกค้ารองรับจริง ทั้งหมดเป็นเพียงกลอุบายที่จะหลอกเอาเงินจากตัวแทนหรือผู้ลงทุนเท่านั้น 

หลังจากทราบเรื่องแล้วโจทก์ สามารถติดตามทวงถามมาได้ 130,000 บาท จึงยังคงเหลือค่าเสียหายอีก 150,000 บาทที่โจทก์ยังไม่ได้คืน 

ผู้เสียหายบางส่วนได้ไปออกสื่อและแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน

ข้อกฎหมาย ความผิดฐาน ฉ้อโกงประชาชน และ ความผิดตาม พ.รบ.คอมพิวเตอร์ 

การกระทำของจำเลย ที่แสดงโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ เช่นโพสต์ใน Facebook หรือ LINE ว่าตนเองเปิดรับสมัครแม่ทีม โดยคนที่เข้าสมัครนั้นจะต้องลงทุนออกค่าผลิตสินค้าไปก่อน 

และหลังจากนั้นจำเลยจะทำการการผลิตสินค้าและส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้า โดยคนที่ลงทุนเป็นแม่ทีมจะได้รับกำไรส่วนต่าง จากราคาสินค้า

แต่เมื่อปรากฏความจริงว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาจะผลิตสินค้า ไม่ได้มีโรงงานผลิตสินค้า ไม่ได้มีฐานลูกค้ารองรับ ทั้งหมดเป็นเพียงกลอุบายที่จะหลอกลวงเอาเงินจากโจทก์เท่านั้น 

การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา 

 ประมวลกฎหมาย มาตรา 341  ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ความผิดฐานฉ้อโกงกับการผิดสัญญาทางแพ่งนั้นมีข้อแตกต่างกัน ลำพังเพียงการที่โจทก์ซื้อของจากจำเลยไปแล้วไม่ได้รับสินค้านั้นจะถือว่าเป็นความผิดฐานฉ้อโกงเสียทีเดียวย่อมไม่ถูกต้อง 

ลำพังเพียงการซื้อสินค้าหรือจ่ายเงินไปแล้วไม่ได้สินค้า อาจจะเป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่ง มาตรา 456 ประกอบมาตรา 461 เท่านั้น 

ซึ่งหากเป็นคดีข้อพิพาททางแพ่ง หากจำเลยไม่ส่งมอบสินค้าภายในเวลาที่กำหนด โจทก์ก็สามารถใช้สิทธิ์ฟ้องให้จำเลยส่งมอบทรัพย์สิน หรือใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเพื่อเรียกเงินคืนได้อยู่แล้ว 

ดังนั้นการที่จะฟ้องเป็นคดีอาญาได้นั้น จะต้องมีความชัดเจนว่า จำเลยตั้งใจที่จะไม่ส่งมอบสินค้าให้กับโจทก์ตั้งแต่ต้น โดยมีเจตนาหลอกลวง ให้โจทก์ส่งมอบเงินให้เท่านั้นไม่ได้มีเจตนาจะทำสัญญาซื้อขายมาตั้งแต่ต้น 

ซึ่งในคดีนี้ประกอบด้วยพฤติการณ์ต่างๆชัดเจน เช่น ปรากฏว่าจำเลยไม่มีโรงงานสำหรับผลิตสินค้าจริงๆ ไม่มีฐานลูกค้าตามที่กล่าวอ้างว่ามีคนรอซื้อสินค้าอยู่ ประกอบกับจำเลยมีพฤติการณ์หลอกลวงคนอื่นไปในทำนองเดียวกันนี้ อีกหลายคดี 

คดีจึงชี้ให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงโจทก์มาตั้งแต่ต้น และไม่ได้มีเจตนาปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายมาแต่แรก  การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามกฎหมาย 

ทั้งนี้ มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 102/2533 จำเลยมิได้ประกอบธุรกิจค้าขายทองคำ แต่หลอกลวงโจทก์ โดยการพูดจาชักชวนให้โจทก์ร่วมลงทุนเข้าหุ้นค้าทองคำกับจำเลยโจทก์หลงเชื่อมอบเงินให้แก่จำเลยไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง.

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4005/2551 การที่จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมโดยกล่าวเท็จชักชวนโจทก์ร่วมให้นำเงินไปซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารล่วงหน้ารายละ 2,000 บาท จากยอดเบี้ยเลี้ยงทหารที่สามารถเบิกจ่ายได้จริงรายละ 2,600 บาท ซึ่งความจริงจำเลยไม่สามารถนำเงินไปซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารและมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงแต่อย่างใด เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อตกลงซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารรวม 118 ราย และมอบเงินรวม 236,000 บาท ให้แก่จำเลยไป การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341

ประเด็นเรื่องผิดสัญญากับฉ้อโกงแตกต่างกันอย่างไร สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ บทความด้านล่างนี้ 

กู้ยืม ร่วมลงทุน หรือฉ้อโกง แตกต่างกันอย่างไร ? เรื่องต้องรู้ก่อนฟ้องเรียกเงินทุนคืน

 

นอกจากนี้พฤติการณ์ของจำเลย ที่เป็นการประกาศเรื่องราวหลอกลวงอันเป็นเท็จดังกล่าวเข้าสู่ระบบออนไลน์ ที่บุคคลทั่วไปสามารถพบเห็นได้เป็นจำนวนมากและมีการหลอกลวงบุคคลอื่นและอีกหลายคน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนอีกด้วย 

ประมวลกฎหมายอาญา    มาตรา ๓๔๓  ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๔๑ ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และข้อมูลต่างๆที่จำเลยโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ LINE ยังถือว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ดังนั้นการที่จำเลยนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ ตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำความผิดคอมพิวเตอร์  อีกด้วย 

พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำความผิดคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (แก้ไขล่าสุด 2560) 

มาตรา 3 “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูล ข้อความ คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้ และให้หมายความรวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์พ.ศ. 2554 

“ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ข้อความที่ได้สร้าง ส่ง รับ เก็บรักษา หรือประมวลผลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โทรเลข โทรพิมพ์ หรือโทรสาร

มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ 

(๑) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

ตัวอย่างคำฟ้อง คดีฉ้อโกงประชาชน และ ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ผมจึงได้ยื่นฟ้องจำเลยและบริษัทที่จำเลยตั้งขึ้นมาเพื่อหลอกลวงร่วมกันเป็นจำเลยต่อศาล ในความผิดฐาน ฉ้อโกงประชาชน และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ 

ตัวอย่างการบรรยายคำฟ้อง

ศาลจังหวัดชลบุรี

คดีอาญา

ข้อหา ฉ้อโกงประชาชน , ความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ (มาตรา 14 อนุมาตรา 1)

โจทก์ นางสาวป.

จำเลยที่ 1 นางสาวก.

จำเลยที่ 2 บริษัท อ.

ข้อ 1. ในการฟ้องร้องและดำเนินคดีนี้โจทก์มอบอำนาจให้นายเอกสิทธิ์ศรีสังข์กับพวกรวม 6 คนเป็นผู้มีอำนาจฟ้องร้องและดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองแทนโจทก์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด โดยผู้รับมอบอำนาจแต่ละคนต้องลงลายมือชื่อร่วมกัน รายละเอียดปรากฏตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1

จำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 2 มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 รายละเอียดปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองบริษัทเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2.

ข้อ 2. จำเลยทั้งสองได้บังอาจกระทำความผิดอาญา กล่าวคือ

ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน จำเลยทั้งสอง โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงได้นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนและแก่โจทก์ โดยข้อความดังกล่าวเป็นข้อความเท็จ และเป็นการปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้ง และเป็นข้อมูลที่ประชาชนทั่วไปสามารถพบเห็นและเข้าถึงได้

โดย จำเลยทั้งสอง อ้างว่าตนเองประกอบธุรกิจขายเครื่องสำอางสบู่และสินค้าเกี่ยวข้องกับสุขภาพและความงามต่างๆและจำเลยทั้งสองได้เปิดรับสมัครตัวแทน หรือแม่ทีมในการจำหน่ายสินค้าดังกล่าวโดยที่จะมีลูกค้ารองรับสินค้าจากตัวแทนหรือแม่ทีมที่ได้ซื้อสินค้าไปจากจำเลยทั้งสอง หากตัวแทนหรือแม่ทีมตกลงส่งมอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสองก็จะได้รับสินค้าที่สามารถนำไปขายต่อให้กับตัวแทนได้กำไรเป็นจำนวนมาก

โจทก์พบเห็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและเป็นการหลอกลวงของจำเลยทั้งสอง จึงได้เริ่มพูดคุยกับจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2563  เวลากลางวัน ซึ่งจำเลยทั้งสองหลอกลวงโจทก์ว่า หากโจทก์ส่งมอบเงินให้กับจำเลยทั้งสองเป็นค่าสินค้า จำเลยทั้งสองจะผลิตสินค้าและส่งมอบให้กับโจทก์ หรือส่งมอบให้กับลูกค้าโดยตรง ซึ่งมีฐานลูกค้าพร้อมรับสินค้าอยู่แล้ว ซึ่งในการนี้โจทก์จะได้รับผลกำไรหรือผลตอบแทนเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้รายละเอียดปรากฏประกาศทางข้อมูลคอมพิวเตอร์ ของจำเลยทั้งสอง เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3

ด้วยการหลอกลวงและข้อมูลเท็จดังกล่าวของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์หลงเชื่อส่งมอบเงินให้แก่จำเลยเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 280,000 บาท รายละเอียดปรากฎตามหลักฐานการชำระเงินและใบเสร็จรับเงิน เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4

ทั้งนี้สาเหตุที่โจทก์ส่งมอบเงินให้กับจำเลยทั้งสองเนื่องจากหลงเชื่อตามข้อมูลคอมพิวเตอร์เท็จและตามคำหลอกลวงอันเป็นความเท็จของจำเลยทั้งสองว่า หากส่งมอบเงินดังกล่าวเป็นค่าสินค้าให้กับจำเลยทั้งสองแล้วจำเลยทั้งสองจะส่งมอบสินค้าให้กับโจทก์ เพื่อนำไปส่งมอบหรือขายต่อให้กับลูกค้า หรือนำสินค้าดังกล่าวไปส่งมอบให้กับลูกค้าของโจทก์ซึ่งจะทำให้โจทก์ได้ผลกำไรและเงินตอบแทนตามที่จำเลยกล่าวอ้าง

ข้อ 3. ต่อมาปรากฏว่าเมื่อถึงกำหนดที่จำเลยทั้งสองจะต้องนำสินค้ามามอบให้กับโจทก์ จำเลยทั้งสองแจ้งว่าจำเลยทั้งสองจะเป็นผู้นำสินค้าไปส่งให้กับลูกค้าของโจทก์ด้วยตนเองแล้วจะเป็นคนเก็บเงินค่าสินค้าและผลกำไรมาให้กับโจทก์ แต่ปรากฏว่า จำเลยทั้งสองก็บ่ายเบี่ยง และไม่ส่งมอบเงินและผลกำไรและไม่ส่งมอบสินค้าให้กับโจทก์แต่อย่างใด

โจทก์พยายามติดตามทวงถามหลายครั้งแต่จำเลยก็บ่ายเบี่ยงจนกระทั่ง โจทย์ได้มาทราบความจริงเมื่อประมาณ วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เนื่องจากได้เข้าร่วมกลุ่มผู้เสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสองที่ได้ถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวงเช่นเดียวกันนี้จึงได้ทราบว่าจำเลยทั้งสองเป็นขบวนการมิจฉาชีพ ไม่ได้ทำการผลิตสินค้าเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้า และไม่ได้มีลูกค้าที่พร้อมจะรับสินค้าตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างจริง เรื่องราวทั้งหมดเป็นเพียงข้อความเท็จที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นเพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สินจากโจทก์เท่านั้นซึ่งมีบุคคลอื่นเป็นผู้เสียหายอีกเป็นจำนวนมากและปัจจุบันจำเลยทั้งสองก็ยังหลอกลวงบุคคลอื่นอยู่

การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดอาญาฐาน ฉ้อโกงประชาชน และความผิดฐานนำเข้าสู่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนและโจทก์

ทั้งนี้ภายหลังเกิดเหตุโจทก์ได้ติดตามทวงถามเงินคืนจากจำเลยทั้งสองได้รับเงินคืนมาแล้วเป็นเงินจำนวน 130,000 บาท คงเหลือยอดเงินความเสียหายทั้งสิ้นเป็นจำนวน150,000 บาท

โจทก์ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์คดีนี้เพราะมีความประสงค์จะดำเนินคดีด้วยตนเอง

อนึ่งการพูดคุยชักชวนของจำเลยทั้งสอง และการส่งมอบเงินให้กับจำเลยทั้งสอง รวมทั้งการพบเห็นข้อมูลอันเป็นเท็จของจำเลย ได้เกิดที่ ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลนี้ 

โจทก์ไม่มีทางไหนจะบังคับจำเลยได้จึงต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง 

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

คำขอท้ายฟ้อง

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ,343 , ,83

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 อนุมาตรา 1

 

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง  การฟ้องคดีอาญาได้ที่ 

ฟ้องคดีอาญา มีขั้นตอนอย่างไร? รวมทุกเรื่องที่คุณจะต้องรู้ ก่อนฟ้องคดีอาญา พร้อมอธิบายขั้นตอนการดำเนินคดีแบบละเอียดทุกประเด็น

ผลคำพิพากษา 

คดีนี้หลังจากไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ปรากฎว่าคดีมีมูลและศาลรับไว้พิจารณา 

ครั้งแรกเมื่อจำเลยมาศาล จำเลยตั้งใจจะต่อสู้คดี แต่ภายหลังเมื่อเห็นพยานหลักฐานแล้ว จำเลยจึงให้การรับสารภาพ

ผมพยายามให้โอกาสจำเลยหาเงินมาชำระหนี้ เพราะเห็นว่ายอดหนี้ที่เหลือมีจำนวนไม่มากนัก คือประมาณ 150,000 บาท หากจำเลยชำระเงินคืน พร้อมค่าทนายความให้กับโจทก์ โจทก์ก็ยินดีถอนฟ้องให้

 แต่ปรากฎแต่จำเลยก็หาเงินมาชำระให้กับโจทก์ไม่ได้ และขอผัดผ่อนไปเรื่อยๆ  สุดท้ายผมจึงต้องปล่อยให้ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไป

โดยศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสิ้นเป็นเวลา 3 ปี และจำเลยรับสารภาพ ศาลจึงได้ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือ 1 ปี 6 เดือน และจำเลยก็ถูกคุมขังทันที โดยไม่ได้ประกันตัว หรือยื่นอุทธรณ์ต่อครับ

คำพิพากษา หน้า 1

คำพิพากษาหน้าที่ 2

คำพิพากษา หน้าที่ 3

สรุป

เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์สอนว่า การลงทุนง่ายๆได้ผลตอบแทนดีนั้นไม่มีอยู่จริง หากกิจการไหนมีตลาดรองรับสินค้าอยู่แล้ว ไม่มีทางที่เขาจะเปิดรับตัวแทนให้ตัวแทนมาแบ่งปันผลกำไรของเขาไปง่ายๆหรอกครับ

ถ้าธุรกิจเขาดีจริง สินค้าเขามีความต้องการของตลาดจริง เขาย่อมสามารถหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ สำหรับหรับการขยายกิจการหรือผลิตสินค้าได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินลงทุนของตัวแทนแต่อย่างใด

ธุรกิจประเภทเปิดรับตัวแทน ให้ตัวแทนออกเงินสั่งค่าสินค้าไปก่อน โดยอ้างว่ามีตลาดรองรับเป็นจำนวนมาก จึงเป็นธุรกิจที่จะต้องระมัดระวังให้ดีก่อนลงทุนครับ

ตัวอย่างการฟ้องคดีฉ้อโกง ตอนอื่นๆ 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น