บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา, คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

ตัวอย่างการดำเนินคดียักยอกทรัพย์ Ep.3 ตอน โจมตีแก๊งรับจำนำรถยนต์ด้วยไฟแนนซ์ ศึกษาตัวอย่างและแนวปฏิบัติในการดำเนินคดีจากประสบการณ์จริง

คดียักยอก เป็นดคีที่เกิดขึ้นบ่อย และทางสำนักงานของเรา ก็มีโอกาสได้ฟ้องและต่อสู้คดีประเภทนี้เป็นจำนวนมาก

โดยเรื่องเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยก็คือ กรณีที่ลูกความได้นำรถยนต์ที่ยังผ่อนไม่หมดไปขายดาวน์หรือบางทีก็ไปจำนำกับนายทุนเงินกู้นอกระบบ

แต่ปรากฎว่าภายหลัง คนที่ซื้อหรือรับจำนำเกิดปัญหาไม่สามารถติดต่อได้ หรือนำรถไปแล้วไม่ยอมผ่อนต่อ เหมือนเช่นตัวอย่างที่นำมาให้ดูในวันนี้

ตัวอย่างการฟ้อง คดียักยอก ในวันนี้ เป็นเรื่องนำรถยนต์ที่ยังผ่อนไม่หมดไปจำในไว้กับนายทุน

ลูกความมาหาผมแล้วแจ้งให้ทราบว่า ตนเองเกิดปัญหาเงินช็อตหมุนเงินไม่ทัน จึงได้นำรถยนต์ไปจำนำไว้กับนายทุน

โดยรถคันที่ไปจำนำนั้นก็ยังเป็นรถที่ยังติดไฟแนนซ์ กล่าวคือยังเป็นกรรมสิทธิ์ของไฟแนนซ์อยู่ ตัวลูกความผมมีแต่เพียงสิทธิ์ครอบครองในฐานะผู้เช่าซื้อเท่านั้น

ซึ่งคดีเช่นนี้ถึงแม้ ผู้เช่าซื้อไม่ใช่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ และยังผ่อนชำระค่าเช่าซื้อไม่หมดและกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังเป็นของไฟแนนซ์อยู่

แต่ผู้เช่าซื้อในฐานะผู้ครอบครองและผู้มีสิทธิ์ตามสัญญาเช่าซื้อ มีหน้าที่และความรับผิดโดยตรงตามสัญญากับเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู่เช่าซื้อถือว่าเป็นผู้เสียหายซึ่งมีสิทธิ์แจ้งความร้องทุกข์หรือฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาเองได้โดยตรง

ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ไฟแนนซ์มอบอำนาจให้ หรือต้องให้ไฟแนนซ์เป็นคนแจ้งความหรือฟ้องร้องแต่เพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาเช่น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2551 แม้ บ. ผู้เช่าซื้อยังชำระราคาค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกดังกล่าวยังเป็นของ ว. ผู้ให้เช่าซื้อ แต่ บ. ก็มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อนั้นและมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยแก่ ว. ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องคืน เมื่อจำเลยทั้งสองยักยอกชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปจาก บ. บ. ย่อมได้รับความเสียหายจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้เช่นเดียวกับ ว. เจ้าของรถยนต์บรรทุกดังกล่าว คดีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อ บ. รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 แต่มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2542 ซึ่งเกินกว่าสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7960/2551   แม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะมีข้อสัญญาห้ามมิให้ผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจำหน่ายให้แก่บุคคลอื่นก็ตาม ก็เป็นเรื่องระหว่างผู้ให้เช่าซื้อกับผู้เสียหายซึ่งจะต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่ง ทั้งข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายแจ้งให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อทราบแล้วว่าจะทำสัญญาเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อเป็นจำเลย เมื่อจำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายให้ขายดาวน์รถยนต์แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายโดยตรง โดยผู้เสียหายไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงด้วย อีกทั้งขณะเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์จากรถยนต์คันดังกล่าวในฐานะผู้เช่าซื้อ จึงเป็นผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ผู้เสียหายจึงมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6007/2530 แม้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อยังอยู่กับผู้ให้เช่าซื้อ แต่ผู้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่าซื้อนั้นและมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อใน สภาพเรียบร้อยแก่ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องคืน เมื่อบุตรโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อถึงแก่กรรม สิทธิและหน้าที่ดังกล่าวย่อมตกทอดมายังโจทก์ในฐานะทายาทคนหนึ่ง เมื่อจำเลยได้ยักยอกทรัพย์นั้นไปจากโจทก์ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8980/2555  โจทก์ร่วมเป็นเพียงผู้เช่าซื้อรถ แต่ผู้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อและมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องส่งคืน เมื่อมีผู้ยักยอกรถนั้นไป โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหาย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์และขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้ให้เช่าซื้อ และการที่ผู้ให้เช่าซื้อมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ก็ถือได้ว่า โจทก์ร่วมร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหายด้วย ดังนั้น ไม่ว่าผู้ลงชื่อในฐานะผู้ให้เช่าซื้อในหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์จะเป็นผู้มีอำนาจลงชื่อหรือเป็นเจ้าของรถที่แท้จริงหรือไม่ และหนังสือมอบอำนาจมีข้อความถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่มีผลลบล้างการที่โจทก์ร่วมร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหาย แม้โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้นำบันทึกและหลักฐานการรับคำร้องทุกข์มานำสืบ แต่จำเลยก็เบิกความยอมรับว่าโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์จริง กรณีจึงถือได้ว่า โจทก์ร่วมร้องทุกข์โดยชอบ พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2841/2562 เมื่อ ว. เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์จากธนาคาร ธ. ผู้ให้เช่าซื้อ ว. ย่อมมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อและมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อ เมื่อมีผู้ลักรถที่เช่าซื้อไป ว. ย่อมได้รับความเสียหาย ว. จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้ให้เช่าซื้อ และการที่ผู้ให้เช่าซื้อมอบอำนาจให้ ว. ไปร้องทุกข์ก็ถือได้ว่า ว. ร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหายด้วย ไม่ว่าหนังสือมอบอำนาจ จะระบุให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2559 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2559 แต่พนักงานสอบสวนรับแจ้งความร้องทุกข์ในวันที่ 18 กันยายน 2559 ก็ไม่มีผลลบล้างการที่ ว. ร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหาย

ดังนั้นจำไว้ว่า

ถึงแม้เราจะยังผ่อนค่าเช่าซื้อรถยนต์ครบถ้วน และกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังเป็นของบริษัทไฟแนนซ์ หรือบริษัทที่ให้เช่าซื้ออยู่ก็ตาม

แต่ในเมื่อตามกฎหมายแล้ว ถือว่าเราจะต้องรับผิดกับบริษััทไฟแนนซ์ หรือบริษัทผู้ให้เช่าซื้อ จนกว่าจะครบจำนวนยอดหนี้

ดังนั้น ถ้าเกิดปัญหาใดๆขึ้นกับรถคันที่เราเช่าซื้อ เช่นรถยนต์หาย หรือถูกยักยอก เราย่อมมีสิทธิแจ้งความหรือฟ้องร้องดำเนินดคีได้ โดยไม่ต้องอาศัยไฟแนนซ์เป็นผู้แจ้งหรือผู้มอบอำนาจ

พฤติการณ์ของแก๊งรับจำนำรถ

ทั้งนี้จะมีแก๊งนายทุนที่รับจำนำรถยนต์ติดไฟแนนซ์  ที่จะคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และเก็บเงินค่าดอกเบี้ยทุกเดือน

หากผู้กู้ส่งดอกเบี้ยล่าช้า ไม่ส่งภายในกำหนด นายทุนก็จะนำรถเหล่านี้ไปขายตลาดมืดทันที

ซึ่งคดีนี้ หลังจากลูกความผมจำนำรถไว้แล้ว ก็ได้ส่งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือนทุกเดือนตลอดมาไม่เคยขาด

จนกระทั่งเมื่อลูกความผมรวบรวมเงินก้อนได้ ก็นัดหมายจะไปไถ่ถอนรถยนต์คันดังกล่าวโดยพร้อมจ่ายเงินทั้งหมด

แต่ปรากฏว่า จำเลยได้บ่ายเบี่ยงไม่ยอมให้ไถ่ถอนอ้างสาเหตุสารพัด

จนกระทั่งลูกความผมได้พบข่าวว่าแก๊งของจำเลย ได้ถูกตำรวจบุกเข้าจับกุมในกรณีข้อหารับของโจรและค้ารถเถื่อน

ผมจึงได้สืบทราบว่า ขบวนการของจำเลยได้นำรถยนต์ที่รับจำนำส่วนอื่นหลบหนีไปไว้ที่อื่นแล้ว รวมถึงรถยนต์พิพาทของลูกความผมด้วย

พฤติการณ์ของจำเลยที่บ่ายเบี่ยงไม่ยอมให้ลูกความผมไถ่ถอนรถยนต์พิพาทที่ได้วางไว้เป็นประกันการกู้ยืม อีกครั้งยังไม่ยอมให้เข้าตรวจสอบรถยนต์คันที่เป็นหลักประกัน

ประกอบกับพฤติกรรมของจำเลยที่มีข่าวปรากฏว่าค้าขายรถเถื่อน จึงทำให้ผมเชื่อว่า การกระทำของจำเลยเป็นการยักยอกรถคันดังกล่าวด้วยการเบียดบังเอารถคันดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลอื่น

อ่านเพิ่มเติมเรื่องนี้ได้ใน ข้อแตกต่างระหว่างคิดผิดฐานยักยอกทรัพย์กับการโต้แย้งสิทธิแพ่ง ในลิ๊งด่านล่างครับ

ข้อแตกต่างระหว่างการผิดสัญญาทางแพ่งกับการกระทำผิดฐานยักยอก พร้อมตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับสมบูรณ์

ผมจึงได้ยื่นฟ้องจำเลยในข้อหายักยอกทรัพย์

โดยบรรยายฟ้องไปตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้สอบสวนมา

หลังจากยื่นฟ้องไม่นาน ครอบครัวของจำเลยก็ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ซึ่งผมได้รับแจ้งว่าปัจจุบันจำเลยถูกคุมขังอยู่ในคดีอื่น

ญาติพี่น้องของจำเลย กลัวจำเลยจะต้องติดคุกเพิ่ม จึงได้ไปติดตามเอารถยนต์ที่จำเลย นำไปวางไว้กับนายทุนอีกทอดหนึ่ง มาคืนให้กับโจทก์

(โชคดีว่าช่วงนี้เป็นช่วงสถานการณ์โควิท ทำให้รถถูกนำออกไปขายต่างประเทศลำบากจึงยังมีรถอยู่ ยังไม่ถูกนำไปขายนอกประเทศ)

สรุป 

สุดท้ายลูกความผมจึงได้ไถ่ถอนรถยนต์คืนมา แบบหวุดหวิด หลังจากนั้นผมจึงได้ถอนฟ้องจำเลยไป

อุทาหรณ์เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การนำรถยนต์ไปจำนำกับนายทุนนอกระบบนั้น นอกจากจะต้องเสียดอกเบี้ยราคาแพงมากแล้ว ก็ยังมีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก เพราะถึงเวลาจะไถ่ถอน บางทีก็ไม่มีรถให้ไถ่ถอนแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยงครับ

ผมได้นำตัวอย่างคำฟ้องคดีนี้มาให้เพื่อนๆที่สนใจดูเป็นตัวอย่าง เพื่อใช้เป็นแนวทางการทำงานต่อไปครับ 

เคสยักยอก นายพงษ์ศักดิ์_page-0001 เคสยักยอก นายพงษ์ศักดิ์_page-0002 เคสยักยอก นายพงษ์ศักดิ์_page-0003 เคสยักยอก นายพงษ์ศักดิ์_page-0004

เคสยักยอก นายพงษ์ศักดิ์_page-0005เคสยักยอก นายพงษ์ศักดิ์_page-0006

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts