บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

ตัวอย่างการต่อสู้คดีฉ้อโกง ตอน บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้เข้าข้อกฎหมาย

ตัวอย่างการต่อสู้คดีฉ้อโกง ในวันนี้เป็นอีกหนึ่งคดียอดนิยมที่มักจะเอามาฟ้องร้องดำเนินคดีกันบ่อยๆ ก็คือเรื่องคดีฉ้อโกง 

คดีนี้ทางสำนักงานรับเป็นทนายความให้กับฝ่ายจำเลย ซึ่งจำเลยถูกฟ้องเป็นข้อหาฉ้อโกง โดยผู้เสียหายแต่งตั้งทนายความเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีเองต่อศาล โดยไม่ได้ผ่านการแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน

รูปเรื่องที่ฝ่ายโจทก์ตั้งมานั้น ฝ่ายโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทำธุรกิจซื้อขายทอง จำเลยประกาศโพสต์ขายทองในราคาต่ำกว่าท้องตลาด และหลอกลวงให้โจทก์ซื้อทองดังกล่าว และอ้างว่าจำเลยจะประกาศขายต่อให้แล้วจะได้ผลกำไรประมาณ 10,000 บาท ต่อมาจำเลย ไม่คืนเงินผลกำไร จึงมาฟ้องเป็นคดีฉ้อโกง 

แต่ข้อเท็จจริงที่ผมได้จากฝ่ายจำเลยนั้นได้ความว่า โจทก์และจำเลยรู้จักกันมานานแล้ว และเงินที่โจทก์ให้แก่จำเลยไม่ใช่เงินค่าทองแต่อย่างใด แต่เป็นเงินที่โจทก์โอนให้กับจำเลยเพื่อให้จำเลยปล่อยกู้ต่อ และหลังจากนั้นจำเลยก็จะส่งดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับโจทก์ ซึ่งดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นดอกเบี้ยที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และโจทก์เองก็รู้ดีอยู่แล้ว 

โดยโจทก์และจำเลยทำนิติกรรมเช่นนี้เกิดมาหลายครั้ง โจทก์ปล่อยเงินให้กับจำเลยไปปล่อยกู้ จำเลยนำเงินที่ได้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยคืนให้กับโจทก์แต่เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งครั้งสุดท้ายที่เกิดปัญหา ไม่สามารถตามเก็บเงินจากลูกหนี้ที่ปล่อยเงินกู้ได้ จำเลยจึงไม่มีต้นเงินคืน 

ความจริงแล้วหากโจทก์ตั้งรูปเรื่องเป็นคดีแพ่ง ฝ่ายจำเลยก็คงยอมรับผิดชดใช้หนี้ไปตามกฎหมาย จากฝ่ายโจทก์ต้องการนำคดีอาญาเข้ามาบีบ เพื่อให้จำเลยยินยอมรับผิด จึงได้ตั้งรูปเรื่องมาเป็นคดีฉ้อโกง 

และเนื่องจากหากฝ่ายโจทก์ตั้งรูปเรื่องมาเป็นคดีฉ้อโกงและบรรยายฟ้องนำสืบไปตามความเป็นจริง ว่าเป็นเรื่องที่ฝ่ายโจทก์รู้อยู่แล้วว่าจำเลยจะนำเงินไปปล่อยกู้ เรียกดอกเบี้ยในอัตราที่เกินกฎหมายกำหนด โจทย์ก็จะถือว่าไม่ได้เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย แล้วไม่มีสิทธิ์ฟ้องร้องดำเนินคดี กับจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกง นอกจากนี้เรื่องดังกล่าวยังเป็นเพียงข้อพิพาททางแพ่งเท่านั้น 

โดยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ใกล้เคียงกันเช่น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12659/2553ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยซึ่งมีสิทธินำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การที่โจทก์มอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสองไปก็เพื่อประสงค์ให้จำเลยทั้งสองนำไปปล่อยกู้ผ่านจำเลยทั้งสองโดยเรียกดอกเบี้ยจากผู้ที่กู้เงินผ่านจำเลยทั้งสองในอัตราดอกเบี้ยสูงเกินกว่าอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ตามที่กฎหมายกำหนดก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองหลอกลวงโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่าจะนำเงินของโจทก์ไปปล่อยกู้ให้แก่พ่อค้าแม่ค้าในตลาดทั้งที่ความจริงจำเลยทั้งสองประสงค์จะนำเงินดังกล่าวของโจทก์ไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยทั้งสองโดยไม่มีเจตนานำไปปล่อยกู้ให้พ่อค้าแม่ค้าในตลาด เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องสูญเสียเงินดังกล่าวไป การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง และเนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่ได้มีเจตนาจะนำเงินของโจทก์ไปปล่อยกู้จริง การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราจากผู้กู้จึงไม่ได้เกิดขึ้นจริง ดังนั้น ความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราจึงไม่เกิดขึ้น จึงไม่อาจนำเหตุดังกล่าวมารับฟังเป็นโทษแก่โจทก์ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีในความผิดฐานฉ้อโกงเพราะโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์มาเป็นการไม่ชอบ เห็นว่า ข้อที่โจทก์อ้างว่าโจทก์หลงเชื่อคำหลอกลวงของจำเลยทั้งสองจึงมอบเงินกู้ให้แก่จำเลยทั้งสองไปปล่อยกู้ให้ด้วยการเรียกดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่าร้อยละสิบห้าต่อปีอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพุทธศักราช 2475 แสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าโจทก์รับข้อเสนอดังกล่าวโดยมีเจตนาร้ายมุ่งประสงค์ต่อผลประโยชน์อันเกิดจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้การกระทำที่ผิดกฎหมายนั้นไม่เกิดขึ้นเนื่องจากเป็นเพียงการหลอกลวงของจำเลยทั้งสองเพื่อฉ้อโกงโจทก์ดังที่โจทก์กล่าวอ้างมาหรือไม่ก็ตาม ถือว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะนำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานฉ้อโกง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ด้วยความที่โจทก์อยากจะฟ้องเป็นคดีฉ้อโกงเป็นคดีอาญา โจทก์จึงได้ตั้งรูปเรื่องขึ้นมาใหม่ทั้งหมดโดยเอาเรื่องราวอันเป็นเท็จทั้งสิ้นมาปั้นแต่งเพื่อให้เข้าเป็นดคีอาญา โดยกล่าวอ้างว่าจำเลย หลอกขายทองให้โจทก์

คดีนี้มีการเลื่อนการไต่สวนมูลฟ้องมาแล้วหลายครั้ง เนื่องจากเมื่อใกล้จะถึงเวลานัดไต่สวนมูลฟ้อง ฝ่ายโจทก์ก็เลื่อนคดีไปเรื่อยๆ เพราะตนเองไม่มีพยานหลักฐานจะนำสืบ

คดีนี้ผมตรวจสอบแล้วเป็นคดีที่ไม่ยากนัก เนื่องจากพยานหลักฐานในสำนวนและข้อเท็จจริงทั้งหมดชี้ให้เห็นว่า นิติกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างโจทก์และจำเลย ไม่ใช่เป็นการซื้อขายทอง ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานการแชทไลน์ หลักฐานสลิปการโอนเงินที่มีการระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นการปล่อยเงินกู้ 

คดีนี้ผมมอบหมายให้ทนายหวาย ทนายชวินทร์ ธวัชธาภรณ์ เป็นคนเข้าไปถามค้านและต่อสู้คดีในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง รวมทั้งคำแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล โดยพยายามชี้แจงให้ศาลเห็นว่าคดีนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องการซื้อขายทองตามที่ฝ่ายโจทก์กล่าวอ้าง แต่เป็นเรื่องการที่ทั้งสองฝ่ายทำการกู้ยืมเงินกัน 

ตัวอย่างคำแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล 

คดีนี้ ทนายหวายทำการถามค้านพยานโจทก์ ได้ตามเป้าหมาย ประกอบกับพยานโจทก์ไม่สามารถยืนยันและมีหลักฐานใดๆมาชี้แจงได้เลยว่าการโอนเงินจำนวน 100,000 บาทให้กับจำเลยเป็นการซื้อขายทอง แต่พยานหลักฐานทั้งหมดชี้ให้เห็นว่าเป็นการกู้ยืมเงินกัน ศาลจึงได้มีคำพิพากษายกฟ้อง 

ผมจึงได้นำตัวอย่างแนวทางการทำงาน ทั้งการวางรูปเรื่องคดี การทำคำแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย มาเพื่อเป็นประโยชน์แก่การทำงานกับเพื่อนและผู้สนใจทุกคนครับ หวังว่าคงจะได้ประโยชน์แก่ผู้อ่าน 

 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น