บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

ตัวอย่างการฟ้องคดีฉ้อโกง-ปลอมเอกสาร Ep.3 ตอน หลอกนักลงทุนซื้อ-ขายรถยนต์ ศึกษาตัวอย่างคดีความและเรื่องกฎหมายจากประสบการณ์จริง

การฟ้องคดีฉ้อโกง คดีนี้ โจทก์มาหาผมเล่าให้ฟังว่า จำเลยได้ชักชวนให้โจทก์มาร่วมลงทุนซื้อขายรถยนต์บรรทุกสิบล้อมือสองกับจำเลย

 โดยโจทก์รู้จักจำเลยมาพักหนึ่งแล้ว เห็นว่าเป็นคนที่มีความสามารถค้าขายเก่ง จำเลยแจ้งว่า หากโจทก์นำเงินมาลงทุน จำเลยจะนำเงินของโจทก์ไปซื้อรถบรรทุกสิบล้อมือสองเพื่อทำการตบแต่งและขายต่อไป

ซึ่งจำเลยรับรองว่า กิจการนี้จะได้ผลกำไรเป็นจำนวนมาก เพราะมีตลาดลูกค้ารองรับชัดเจน และจำเลยมีความชำนาญในการหาซื้อและตกแต่งซ่อมบำรุงรถบรรทุก  โดยโจทก์และจำเลยจะทำการแบ่งผลกำไรที่ได้กัน

โจทก์จึงโอนเงินให้แก่จำเลยทั้งสิ้น 6 ครั้ง รวมเป็นเงินจำนวน 570,000 บาท เพื่อใช้สำหรับซื้อรถบรรทุกมาทำการตกแต่งและขายต่อไป 

หลังจากโจทก์โอนเงินให้แก่จำเลยไปแล้ว ปรากฎว่าจำเลยไม่ได้โอนผลกำไรกลับมาให้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันเลย แม้สักครั้งเดียว

โจทก์ได้พยายามติดตามทวงถาม และขอให้จำเลยแสดงหลักฐานการซื้อรถยนต์บรรทุก ที่จำเลยกล่าวอ้างว่านำเงินของโจทก์ไปซื้อรถจริง  แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงเรื่อยมา เช่นอ้างว่ามีปัญหาไปรับรถบรรทุกมาไม่ได้ คนขายยังไม่เอารถมาให้ 

หลังจากที่โจทก์พยายามติดตามให้จำเลยส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการซื้อขายรถบรรทุก บ่อยครั้งเข้า จำเลยจึงได้ส่งเอกสาร สัญญาซื้อขายรถยนต์ มีเนื้อหาว่า 

“เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2559 บริษัท สามัคคี วสันต์กรุ๊ป จำกัด ได้ตกลงขายรถบรรทุกสิบล้อ จำนวน 2 คัน หมายเลขทะเบียน 82-8910 ปราณบุรี หมายเลขทะเบียน 82-6442 ปราณบุรี จำเลย ได้มัดจำไว้เป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท

ในขณะนี้ตกลงว่า รถใหม่ทางบริษัทยังไม่เสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ จึงขอเลื่อนการรับรถไปอีก 7 วัน ถ้าบริษัทผิดสัญญา ทางบริษัทยินดีคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ย ค่าปรับ แก่จำเลยทันที “ 

ซึ่งหนังสือดังกล่าว มีการลงลายมือชื่อผู้ซื้อและผู้ขาย 

หลังจากโจทก์ได้รับเอกสารสัญญาซื้อขายดังกล่าวแล้ว ก็พยายามรอรถอยู่นานก็ยังไม่ได้รถมา  โจทก์จึงได้นำเรื่องนี้มาปรึกษาผม

ผมตรวจสอบรายชื่อบริษัทดังกล่าว จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปรากฏว่าไม่มีชื่อ บริษัท สามัคคี วสันต์กรุ๊ป จำกัด ดังกล่าวอยู่จริง นอกจากนี้ผมยังขอความร่วมมือไปยังสำนักงานขนส่งจังหวัด ก็ไม่มีทะเบียนรถทั้ง 2 คันดังกล่าวอยู่จริง 

โจทก์จึงทราบแน่ชัดว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม  และทราบว่าจำเลยได้หลอกลวงโจทก์และไม่ได้นำเงินของโจทก์ไปลงทุนซื้อรถบรรทุกแต่อย่างใด   

การกระทำของจำเลย เป็นการหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้ง และด้วยการหลอกลวงเช่นว่านั้นทำให้ได้ทรัพย์สินไปจากโจทก์ อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341

และนอกจากนี้ ยังเป็นการปลอมเอกสารขึ้นทั้งฉบับ และลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และได้ทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง  อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264  และเป็นการใช้หรืออ้างเอกสารปลอมในประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 267

ผมจึงได้ยื่นฟ้องจำเลยในข้อหาฉ้อโกงและปลอมเอกสาร ดูตัวอย่างคำฟ้องด้านล่างเลยครับ

คำฟ้อง หน้าแรก

คำฟ้อง หน้าแรก

คำฟ้องหน้าที่สอง

คำฟ้องหน้าที่สอง

คำฟ้องหน้าที่สาม

คำฟ้องหน้าที่สาม

คำฟ้องหน้าสุดท้าย

คำฟ้องหน้าสุดท้าย

ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ผมนำตัวโจทก์เข้าสืบ ประกอบกับหนังสือยืนยันจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า ไม่มีบริษัทที่ชื่อว่า บริษัท สามัคคี วสันต์กรุ๊ป จำกัด ตามที่ปรากฎในเอกสารจริง 

และหนังสือยืนยันจากสำนักงานขนส่งว่า ไม่มีรถบรรทุกทะเบียน หมายเลขทะเบียน 82-8910 ปราณบุรี หมายเลขทะเบียน 82-6442 ปราณบุรี ตามที่ปรากฎอยู่จริง

ในชั้นไต่สวนศาลสั่งว่าคดีมีมูลทั้งสองข้อหา และเมื่อถึงกำหนดวันนัดพร้อมสอบคำให้การ จำเลยหลบหนีไม่มาศาลภายในกำหนด

ผมจึงได้นำกำลังตำรวจไปติดตามจับกุมตัวจำเลยมาศาล เมื่อจับกุมตัวจำเลยมาได้แล้วจำเลยได้ขอประกันตัวออกไปและตกลงว่าจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ และได้ชำระหนี้มาเป็นเงินประมาณ 100,000 บาท หลังจากนั้นก็ไม่ยอมชำระ

ผมผัดผ่อนระยะเวลาให้จำเลยชำระหนี้มาถึง 3-4 ครั้ง แต่จำเลยก็ไม่ยอมชำระหนี้สุดท้ายจำเลยหลบหนีการประกันตัวไปอีกครั้งจนทำให้นายประกันจะต้องถูกปรับเป็นเงินประมาณ 1 แสนบาท 

สุดท้ายศาลอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยไปให้ลงโทษจำคุกจำเลยรวม 2 ปี รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งหรือ 1 ปี และจับกุมตัวจำเลยได้หลังจากนั้นประมาณ 8 เดือน 

ตัวอย่างคำพิพากษา

คดีใช้เอกสารปลอม นายอิสรพงษ์_006 คดีใช้เอกสารปลอม นายอิสรพงษ์_007 คดีใช้เอกสารปลอม นายอิสรพงษ์_008 คดีใช้เอกสารปลอม นายอิสรพงษ์_009 คดีใช้เอกสารปลอม นายอิสรพงษ์_010

อุทาหรณ์จากเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

1.การนำเงินไปลงทุนกับคนอื่นจะต้องศึกษาข้อมูลให้ดี จำไว้ว่าหากมีกิจการที่สามารถหากำไรได้โดยง่ายจริง เจ้าของกิจการย่อมไม่ชักชวนท่านมาลงทุนง่ายๆอย่างแน่นอน เพราะเขาย่อมอยากจะเก็บผลกำไรไว้แต่เพียงผู้เดียว และเขาย่อมสามารถหาเงินทุนจากแหล่งอื่นเช่นธนาคาร หรือคนใกล้ตัว มาลงทุนได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินท่าน

คดีลักษณะนี้ผมทำมาเป็นจำนวนมากและมีลักษณะใกล้เคียงกัน ก็คือจำเลยจะเอาผลประโยชน์หรือผลกำไรมาล่อลวงให้ผู้เสียหายนำเงินมาลงทุน

ส่วนผู้เสียหายเองก็คิดว่าจะได้ผลกำไรหรือผลตอบแทนเป็นจำนวนมากแบบง่ายๆ จึงกล้านำเงินลงให้กับจำเลย

ทั้งที่ความจริงแล้ว การที่จะได้เงินผลตอบแทนง่ายๆโดยที่ตนเองไม่ต้องทำอะไรเลยหรือไม่มีความเสี่ยงในโลกของธุรกิจนั้นเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ ดังเช่นคดีนี้ 

2.คนที่คิดจะหลอกลวงคนอื่น จำไว้ว่าอย่าคิดว่าจะหลุดพ้นไม่ต้องรับโทษใดๆ หากฝ่ายผู้เสียหายทราบความจริงทีหลังท่านก็ต้องติดคุกเหมือนเช่นคดีนี้ 

ผมจึงได้เอาตัวอย่างการฟ้องร้องดำเนินคดีนี้ มาให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆใช้ในการทำงานหรือการศึกษาครับผม

อ่านเพิ่มเติม บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความเรื่อง ฉ้อโกง หรือ ร่วมลงทุน  วินิจฉัยอย่างไร

บทความเรื่อง  ฉ้อโกงและผิดสัญญาทางแพ่ง แตกต่างกันอย่างไร  

บทความเรื่อง ตัวอย่างการฟ้องคดีฉ้อโกง EP.1 หลอกเอาเงินไปสั่งผลิตสินค้า

บทความเรื่อง ตัวอย่างการฟ้องคดีฉ้อโกง EP.2  ตอน “ หลอกร่วมลงทุน “ ยอดเงิน 2 ล้านบาท  

ทั้งนี้ผมมีตัวอย่างการ ฟ้องคดีฉ้อโกง ที่น่าสนใจอีกหลายสิบคดี และจะได้คัดเอาตัวอย่างคดีมาเผยแพร่ เพื่อเป็นกรณีศึกษาต่อไปครับ

 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts