บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

เอกสารปลอม – เอกสารเท็จ แตกต่างกันอย่างไร ? ฉบับเข้าใจง่าย

การทำงานของทนายความในคดีอาญา มักมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า เอกสารพิพาทเป็น ” เอกสารปลอม “หรือ “เอกสารเท็จ ” อยู่เสมอ หากทนายความวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวผิดพลาด ย่อมวางรูปคลาดเคลื่อนไปด้วย

เอกสารทั้งสองประเภทนี้มีความใกล้เคียงกัน บางอย่างก็เหมือนกัน บางอย่างก็แตกต่างกัน ดังนั้นเราต้องเข้าใจข้อกฎหมายเรื่องดังกล่าวอย่างแตกฉาน มิฉะนั้นเราอาจตั้งเรื่องฟ้องคดีหรือตั้งรูปสู้คดีผิดพลาด

วันนี้ผมจะมาอธิบายถึงข้อกฎหมายเรื่องนี้ แบบเข้าใจง่ายๆ พร้อมกับรวบรวมแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ เพื่อเป็นคู่มือในการทำงาน เมื่อต้องเจอปัญหาลักษณะดังกล่าวครับ

เอกสารปลอม คืออะไร

คำนิยามของเอกสารปลอม  หมายถึง

“เอกสารที่ปรากฎข้อมูลว่าใครเป็นผู้ทำ แต่บุคคลดังกล่าว ไม่ได้เป็นผู้ทำจริง หรือเอกสารที่ทำขึ้นโดยผู้ทำเอกสารไม่มีอำนาจทำ แต่แอบอ้างว่าตนเองมีอำนาจ” 

โดยท่านอาจารย์ จิตติ ติงศภัทิย์ กล่าวไว้ว่า จะเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ ต้อง “เพ่งเล็งผู้ทำเอกสาร “ 

และท่านอาจารย์ เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์ กล่าวไว้ว่า การปลอมเอกสารเป็นการ “หลอกในตัวผู้ทำเอกสาร”

สรุปแล้วเอกสารปลอม เป็นการลวงให้ผู้อื่น หลงเข้าใจผิดใน “ตัวบุคคลผู้ทำเอกสาร “ ดังนั้นเอกสารปลอม คือเอกสารที่ทำขึ้น เพื่อ

1.หลอกให้ผู้อื่นที่เห็นเอกสารหลงเชื่อว่า ผู้ที่ทำเอกสารคือใคร โดยที่ผู้นั้นไม่ได้จัดทำเอกสารขึ้นจริงๆ และไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้อื่นทำ

2.หรือหลอกว่าผู้จัดทำเอกสารนั้นมีอำนาจทำเอกสารดังกล่าว โดยที่ผู้นั้นไม่มีอำนาจจัดทำจริง

ถ้าเข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งข้างต้น  ถึงแม้เนื้อหานั้นจะถูกต้องกับความจริง ก็ถือเป็นเอกสารปลอม

เอกสารปลอม เนื้อหาจริง

ตัวอย่างเปรียบเทียบที่น่าสนใจ

ฎ.1269/2481 จำเลยเป็นครูใหญ่ มีอำนาจออกใบสุทธิ(ใบรับรองการศึกษา)ให้นักเรียนได้ แม้ออกใบสุทธิให้กับนักเรียนโดยผิดไปจากความจริง (นักเรียนจบ ป.2 แต่ไปออกใบสุทธิว่าจบ ป.3 ) ก็เป็นการทำเอกสารตามอำนาจหน้าที่ ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร เพราะจำเลยมีอำนาจจัดทำใบสุทธิ

ฎ.795/2518 จำเลยไม่ใช่ครูใหญ่ แม้อยู่ระหว่างยื่นเรื่องขออนุญาตบรรจุเป็นครูใหญ่ แต่ระหว่างที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยไปออกใบสุทธิ(ใบรับรองการศึกษา) ให้นักเรียน แม้เนื้อหาในใบสุทธิจะเป็นความจริง (นักเรียนเรียนจบจริง) ก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร เพราะจำเลยไม่มีอำนาจจัดทำใบสุทธิ 

เปรียบเทียบฎีกาสองอันนี้เข้าด้วยกัน จะเห็นภาพชัดเจนว่า 

ถ้าผู้ทำเอกสารนั้น ทำเอกสารดังกล่าวด้วยตนเองจริง และผู้ทำมีอำนาจทำเอกสารดังกล่าว แม้เนื้อหาในเอกสารนั้นเป็นเท็จ ก็ไม่ใช่เอกสารปลอม 

แต่ถ้าผู้ทำเอกสารนั้น ไม่ได้ทำหรือไม่มีอำนาจทำเอกสารดังกล่าว แม้เนื้อหาในเอกสารนั้นเป็นความจริง ก็ถือเป็นเอกสารปลอม

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเนื้อหาในเอกสารปลอมจะต้องเป็นจริงเสมอไป เนื้อหาในเอกสารปลอม อาจจะเป็นความจริงหรือความเท็จก็ได้ 

แต่ประเด็นก็คือ เนื้อหาของเอกสารไม่ใช่ข้อตัดสินว่า เอกสารดังกล่าวจะเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ เพราะต้องตัดสินที่ “ตัวผู้ทำเอกสาร” ถ้าบุคคลที่มีชื่อในเอกสาร เป็นผู้ทำเอกสารจริง และบุคคลผู้นั้นมีอำนาจทำเอกสารได้ เอกสารนั้นก็ไม่ใช่เอกสารปลอม แม้เนื้อหาในเอกสารจะเป็นความเท็จ

ไม่ได้ตัดสินกันที่เนื้อหาในเอกสาร

ดังนั้น เอกสารปลอมแบ่งเป็นสองแบบคือ  “เอกสารที่ทั้งปลอมทั้งเท็จ” กับ“เอกสารที่ปลอมแต่ไม่เท็จ” ยกตัวอย่างเช่น

เอกสารปลอมที่เนื้อหาตรงกับความจริง  (เอกสารปลอมแต่ไม่เท็จ) 

ฎ.795/2518 เรื่องครูใหญ่ที่ยกตัวอย่างข้างต้น แม้นักเรียนจบการศึกษาจริง แต่จำเลยไม่ใช่ครูใหญ่ ไม่มีอำนาจออกใบสุทธิ ก็เป็นเอกสารปลอม 

ฎ.1375/2522  แม้ข้อความที่ปรากฎในเอกสารจะเป็นความจริง แต่จำเลยไม่มีอำนาจกระทำเอกสาร ก็เป็นเอกสารปลอมได้

ฎ.617/2481 จำเลยไม่มีอำนาจจดข้อความลงในเอกสาร แม้จะจดไปตามความจริงก็เป็นเอกสารปลอม 

เอกสารปลอมที่เนื้อหาเป็นความเท็จ (เอกสารทั้งปลอมทั้งเท็จ)

ฎ.934/2519 จำเลยปลอมเอกสารว่าสอบปากคำนาย จ.และลงลายมือชื่อนาย จ.ในเอกสาร ทั้งที่ไม่เคยสอบปากคำเลย

ฎ.10385/2546 ปลอมใบถอนเงิน โดยที่เจ้าของบัญชีไม่เคยทำใบถอนเงินดังกล่าวเลย 

ฎ.1895/2546 อ้างตัวว่าเป็นเจ้าของรถ และหลอกขายรถให้ผู้เสียหาย จากนั้นทำสัญญาซื้อขายรถเป็นชื่อตนเอง

นอกจากนี้ยังมี เอกสารปลอมในรูปแบบอื่นๆ คือ เอกสารที่แท้จริง แต่ ไปแก้ไข เพิ่มเติม ตัดทอน เนื้อหาในเอกสารดังกล่าว โดยไม่มีอำนาจจะกระทำได้ แต่ไม่ใช่เป็นประเด็นที่จะมาพิจารณากันในหัวข้อนี้ ผมจึงขอไม่พูดถึง

การปลอมเอกสารจะมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264-265 และหากผู้ใดนำเอกสารปลอมไปใช้จะมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268  

เอกสารเท็จ คืออะไร

คำนิยามของเอกสารเท็จ คือ

“เอกสารที่ทำขึ้นโดยปรากฎข้อมูลว่าบุคคลใดเป็นผู้ทำ และบุคคลนั้นจัดทำเอกสารจริง และบุคคลดังกล่าวมีอำนาจจัดทำเอกสาร แต่เนื้อหาในเอกสารไม่ตรงกับความเป็นจริง” 

ลักษณะของเอกสารเท็จ จึงเป็นการลวงให้ผู้อื่นเข้าใจผิดในเนื้อหาที่ปรากฎในเอกสารนั้น แต่ไม่ได้ลวงให้ผู้อื่นเข้าใจผิดในตัวผู้ทำเอกสาร

หรือที่ อาจารย์หยุด แสงอุทัย นิยามเอกสารเท็จว่าเป็น “หนังสือโกหก”  หรืออีกนัยหนึ่ง เอกสารเท็จมีเจตนาในการ “หลอกในเนื้อหา” 

ดังนั้นถ้าผู้จัดทำเอกสารมีอำนาจในการจัดทำเอกสารดังกล่าว ถึงแม้เนื้อหาในเอกสารดังกล่าวจะเป็นความเท็จ ก็ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

ตัวอย่างเช่น 

ฎ.1411/2494  ถ้าผู้ทำเอกสารมีอำนาจทำเอกสารได้ ถึงเนื้อหาในเอกสารจะเป็นเท็จ ก็ไม่เป็นเอกสารปลอม มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ฎ.545/2494 , ฎ.7/2516 , 15248 – 15249/2557 , 1032/2558 วินิจฉัยไปทำนองเดียวกัน 

ฎ.2907/2506 จำเลยเป็นเลขานุการสภาเทศบาล ทำรายงานการประชุมอันเป็นเท็จ ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร แต่อาจผิดฐานทำเอกสารราชการอันเป็นเท็จ มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่  6509/2549 วินิจฉัยในทำนองเดียวกัน

 ฎ.34/2491 จำเลยมีหน้าที่ในการจัดทำบิลสินค้า ทำเอกสารอันเป็นเท็จว่าเอาสินค้าไปขายที่ร้านค้า แต่ไม่ได้เอาไปขายที่ร้านค้าดังกล่าวจริง แต่เอาไปขายร้านอื่น และแอบเอากำไรส่วนต่างไป การทำเอกสารดังกล่าวเป็นการทำขึ้นตามอำนาจหน้าที่ ตามตำแหน่งของจำเลย จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร  โดยมี ฎ.484/2503 วินิจฉัยไปในทำนองเดียวกัน 

ฎ.106/2497 จำเลยทั้งสอง ไม่ได้ทำสัญญาเช่ากันจริง แต่แกล้งทำสัญญาเช่าขึ้น เพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างส่งต่อศาล ไม่เป็นเอกสารปลอม เพราะทั้งสองฝ่ายมีสิทธิทำสัญญากันเองได้ โดยมี ฎ.1046-1047/2526 วินิจฉัยไปทำนองเดียวกัน 

ฎ.1751/2515 ผู้จัดการธนาคารลงลายมือชื่อรับรองตั๋วแลกเงินเกินอำนาจของตน เป็นการทำตามหน้าที่ แม้ผิดระเบียบของธนาคาร ก็ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร โดยมีฎีกา 368/2521 วินิจฉัยไปทำนองเดียวกัน 

ฎ.1343/2508 จำเลยทำบัญชีรับจ่ายอันเป็นเท็จ แต่เป็นการทำในนามตนเอง ไม่เป็นเอกสารปลอม

ฎ.2245/2515 นายทะเบียนออกใบมรณะบัตร ว่าคนตาย ทั้งๆที่คนนั้นตาย ไม่ผิดปลอมเอกสาร โดยมีฎีกา ฎ.2302/2523 วินิจฉัยไปทำนองเดียวกัน 

สุรปแล้ว ถ้าผู้ทำเอกสารมีอำนาจจัดทำเอกสารและไม่ได้แอบอ้างชื่อคนอื่นในการทำเอกสาร แม้เนื้อหาในเอกสารไม่ถูกต้อง ก็ไม่เป็นเอกสารปลอม แต่ถือเป็นเอกสารเท็จ

 คนธรรมดาจัดทำเอกสารเท็จ ไม่มีความผิดอาญาตามกฎหมายแต่อย่างใด

แต่ถ้าผู้จัดทำเอกสารเป็นเจ้าพนักงานอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมาย มาตรา 162 และหากเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทำเอกสารเท็จก็อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายมาตรา269

และหากคนธรรมดาไม่ได้จัดทำเอกสารเอง แต่แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการ ก็อาจเป็นความผิดฐานแจ้งเจ้าพนักงานให้จดข้อความอันเป็นเท็จตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 267

สรุปข้อแตกต่าง เอกสารปลอม เอกสารเท็จ

สรุปข้อแตกต่าง ระหว่างเอกสารปลอมกับเอกสารเท็จ

1.เรื่องเนื้อหา

เนื้อหาในเอกสารปลอม อาจจะเป็นความจริงหรืออาจจะเป็นความเท็จก็ได้ 

เนื้อหาในเอกสารเท็จ จะต้องเป็นความเท็จเท่านั้น 

2.เรื่องอำนาจในการทำเอกสาร 

เอกสารปลอมจะต้องจัดทำโดย บุคคลอื่นที่ไม่ได้ปรากฎในเอกสาร หรือผู้จัดทำไม่มีอำนาจทำเอกสารดังกล่าว 

เอกสารเท็จจะต้องจัดทำโดย บุคคลซึ่งมีอำนาจในการทำเอกสารดังกล่าว 

3.ประเด็นที่หลอก

เอกสารปลอม จะต้องจัดทำขึ้นเพื่อให้เชื่อว่าบุคคลใดเป็นคนทำเอกสาร หรือเพื่อให้เชื่อว่าผู้จัดทำเอกสารมีอำนาจทำเอกสารดังกล่าวได้ 

เอกสารเท็จ จัดทำขึ้นเพื่อให้เชื่อว่าเนื้อหาในเอกสารดังกล่าวเป็นความจริง

4. เรื่องการปรับบทกฎหมาย

เอกสารปลอม ปรับใช้กับ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 มาตรา 265 และมาตรา 267 

เอกสารเอกสารเท็จ ปรับใช้กับ ประมวลกฎหมายอาญา 267 มาตรา 269 และมาตรา 162

ตำราที่ใช้ค้นคว้าและอ้างอิงประกอบการเขียนบทความ

กฎหมายอาญา ภาค 2 ตอน 1 จิตติ ติงศภัทิย์ 

กฎหมายอาญา ภาคความผิด เล่ม 2  ดร.เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์

คำอธิบาย ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลงตามประมวลกฎหมายอาญา ศ.ด.ร. สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล

กฎหมายอาญา ภาค 2-3 ศ.ดร.หยุด แสงอุทัย 

สุดท้ายหวังว่าบทความนี้ จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆและผู้สนใจทุกคนนะครับ ถ้ามีคำถามหรือข้อสงสัยตรงไหน คอมเม้นท์สอบถามได้เลย ผมยินดีตอบให้ทุกคำถามครับ

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts