บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

ตัวอย่างการฟ้องคดีฉ้อโกง EP.2  ตอน “ หลอกร่วมลงทุน “ ยอดเงิน 2 ล้านบาท  ศึกษาตัวอย่างการต่อสู้คดีและข้อกฎหมายจากประสบการณ์จริง  

ตัวอย่างการ ฟ้องคดีฉ้อโกง เรื่องนี้ โจทก์และจำเลยเป็นอดีตคนรักกัน ตัวโจทก์เป็นผู้หญิงหน้าตาดี ทางบ้านพอมีฐานะ ส่วนจำเลยเป็นหนุ่มเจ้าเสน่ห์ คารมดี มาดดี

จำเลยประกอบธุรกิจ โรงงานรีไซเคิลพลาสติก โดยลักษณะของการประกอบธุรกิจของจำเลยก็คือ จะรับซื้อขวดพลาสติกจากบุคคลทั่วไป มาทำการแปรรูป ด้วยวิธีการอัดและบด

การอัดพลาสติก จะเป็นการนำขวดพลาสติกทั้งหมดที่รับซื้อมา อัดรวมเป็นก้อนสี่เหลี่ยม เพื่อความสะดวกในการขนส่ง และนำไปส่งโรงงานอื่นที่รับซื้อ (โรงงานอื่นจะรับซื้อไปบด) 

การบดพลาสติกเป็นก้อนๆ เพื่อจำหน่ายให้โรงงานไปทำการบด

การอัดพลาสติกเป็นก้อนๆ เพื่อจำหน่ายให้โรงงานอื่นไปทำการบดเอง จะขายได้กำไรน้อยกว่า

การบดพลาสติก คือ การรับซื้อขวดพลาสติกใช้แล้ว  มาทำการแยกประเภท เช่น แบ่งเป็น ขวดขุ่น ขวดใส ขวดสี จากนั้นก็ทำล้างและแกะฉลากออก จากนั้นจึงนำเข้าเครื่องบด ซึ่งก็จะได้สินค้ามาเป็น “เกล็ดพลาสติก”

เกล็ดพลาสติกหลังทำการบดแล้ว จะนำไปขายโรงงานที่รับซื้อ เพื่อนำไปอัดเม็ดหรือหลอมกลับมาใช้ใหม่ต่อไป โดยการขายเกล็ดพลาสติก จะได้ราคาดีกว่าการขายพลาสติกอัดมาก

เม็ดพลาสติกที่ได้จากการบด จะขายได้ราคาดีกว่า

ตัวอย่างเม็ดพลาสติกที่ได้จากการหลอมพลาสติกบด โดยการขายพลาสติกบดจะได้ราคาดีกว่า ขายพลาสติกอัด

จำเลยอ้างว่ามีลูกค้าต้องการขายขวดพลาสติกเป็นจำนวนมาก แต่เครื่องจักรที่ใช้ในการบดพลาสติก มีไม่เพียงพอจึงต้องขายเป็นพลาสติกอัด ซึ่งได้กำไรน้อยกว่า

จำเลยจึงชักชวนให้โจทก์มาร่วมลงทุน โดยแจ้งว่าจะต้องใช้เงินประมาณ 2 ล้านบาท โดยเงิน 1 ล้านบาทใช้ซื้อเครื่องจักรในการบดพลาสติกตัวใหม่ ที่จำเลยวางมัดจำไว้แล้ว ส่วนที่เหลืออีก 1 ล้านบาท ใช้เพื่อหมุนเวียนซื้อวัตถุดิบในกิจการ 

จำเลยแจ้งว่า หากได้เครื่องจักรตัวใหม่มา กำลังผลิตของโรงงานก็จะมากขึ้น ได้ผลกำไรมากขึ้น และยังอ้างว่าได้วางมัดจำซื้อเครื่องจักรที่ใช้ในการบดพลาสติกไว้แล้ว และต้องการเงินทุนไปชำระค่าเครื่องจักร อีกประมาณ 1  ล้านบาท

เมื่อได้เครื่องจักมาอีกเครื่อง จากเดิมที่โรงงานจำเลยมีอยู่แล้ว 1 เครื่อง ก็จะทำให้มีกำไรมากขึ้นอีก  โดยจำเลยนำบัญชีงบดุลมาแสดงให้โจทก์ดูว่าแต่ละเดือนจะมีกำไรไม่ต่ำกว่าเดือนละ 300,000 บาท  

โจทก์เห็นว่า จำเลยประกอบกิจการมีหน้าร้านชัดเจน และเชื่อว่ากิจการมีผลกำไรดีจริง จึงตกลงมอบเงินให้กับจำเลยเป็นจำนวน 2 ล้าน บาท เพื่อใช้เป็นค่าเครื่องจักรตัวใหม่ และเพื่อหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ

เครื่องบดพลาสติก ที่จำเลยอ้างว่าจะนำเงินไปซื้อ

ลักษณะของเครื่องบดพลาสติก ที่จำเลยอ้างว่าจะนำเงินของโจทก์ไปซื้อ

ปรากฏว่าหลังจากจำเลยได้รับเงินไปแล้ว โจทก์ได้รับส่วนแบ่งผลกำไรจากจำเลยเพียงไม่กี่เดือน

และในระหว่างที่ประกอบกิจการจำเลยจะมาขอยืมเงินของโจทก์เป็นประจำ โดยอ้างว่านำไปหมุนเวียนซื้อของหน้าร้าน เมื่อขายของได้แล้วจะให้คืน โดยจำเลยอ้างว่าเครื่องมีปัญหาไม่สามารถอัดสินค้าหรือบดสินค้าไปส่งให้โรงงานได้ทัน จึงไม่มีเงินหมุนเวียนในการรับซื้อสินค้า

ต่อมาจำเลยอ้างว่ากิจการขาดทุน เนื่องจากมีปัญหาเรื่องเสียงของเครื่องจักรในการทำการบดพลาสติกที่มีเสียงดังมากจนชาวบ้านบริเวณนั้นร้องเรียน ทำให้ถูกหน่วยงานท้องถิ่นตรวจสอบและไม่สามารถทำการบดพลาสติกได้ จึงได้แต่อัดพลาสติกขาย ทำให้กำไรลดลง 

และจำเลยก็แจ้งว่าจะขอปิดงานชั่วคราวเพื่อปรับปรุงโรงงานและแก้ไขปัญหาเรื่องเสียงของเครื่องจักร และขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

ต่อมา จำเลยอ้างว่าได้เปิดโรงงานอีกครั้งหนึ่ง แต่โจทก์เข้าไปตรวจสอบแล้วพบว่า โรงงานไม่ได้ปรับปรุงอะไรขึ้นมาและยังไม่เห็นเครื่องจักรตัวใหม่ที่จำเลยอ้างว่าจะนำเงินของโจทก์ซื้อ โจทก์มีความประสงค์จะถอนเงินลงทุนกับจำเลย จำเลยรับว่าจะให้ถอน แต่สุดท้ายก็บ่ายเบี่ยง

โจทก์ได้ทวงถามเรื่องเครื่องจักรกับจำเลย จำเลยแจ้งว่าจำเลยจ่ายเงินค่าเครื่องจักรให้แก่ช่างที่กาญจนบุรีไปหมดแล้ว 1 ล้านบาท  แต่ยังติดปัญหาเอามาไม่ได้ โจทก์ขอเบอร์ช่างที่ทำเครื่องจักรเพื่อสอบถามว่าติดปัญหาอะไร แต่จำเลยก็บ่ายเบี่ยง

สุดท้ายโจทก์มาทราบความจริง 

เนื่องจากโจทก์ได้ติดตามตัวช่างทำเครื่องจักรจนได้เจอตัว  ซึ่งช่างชื่อนายสุชาติแจ้งว่าจำเลยวางเงิน ค่ามัดจำเครื่องจักรให้ช่างเพียง 50,000 บาท และก็ทิ้งไปเลยไม่เคยมาชำระเงินส่วนที่เหลือ และราคาเครื่องจริงๆไม่ใช่ 1ล้านบาท แต่อยู่ที่ 200,000 บาทเท่านั้น 

 โจทก์จึงทราบว่าจำเลยโกหกเรื่องที่ว่าจะนำเงินลงทุนของโจทก์ไปซื้อเครื่องจักร และน่าเชื่อว่าจำเลยไม่ได้เอาเงินของโจทก์ไปลงทุนหมุนเวียนในกิจการจริงๆ แต่นำไปใช้ส่วนตัว 

การกระทำของจำเลยมีมูลเข้าความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 

เนื่องจากจำเลยมีเจตนาแสดงให้โจทก์เข้าใจว่า กิจการของจำเลยมีรายได้ดี มีกำไรไม่ต่ำกว่าเดือนละ 300,000บาท และจำเลยต้องการจะขยายงานโดยการซื้อเครื่องบดอีกตัวหนึ่ง ราคาประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งได้วางมัดจำไว้แล้วแต่ยังไม่มีเงินจะไปชำระ

ซึ่งความดังกล่าวเป็นความเท็จทั้งสิ้น เพราะ หลังจากโจทก์ลงทุนแล้ว ปรากฏว่ากิจการไม่เคยมีรายได้อย่างที่จำเลยอ้าง และปรากฏว่าหลังจากรับเงินจากโจทก์ไปแล้ว จำเลยอ้างว่าได้ชำระเงินค่าเครื่องจักรเรียบร้อย จำนวน 1 ล้านบาท

แต่โจทก์ตรวจสอบพบว่า เครื่องจักรที่จำเลยอ้างว่านำเงินไปชำระเรียบร้อยแล้วนั้น มีราคาเพียงสองแสนบาท และจำเลยก็ยังไม่ได้นำเงินไปชำระค่าเครื่องจักรแต่อย่างใด

การกระทำต่างๆของจำเลยเป็นเครื่องชี้เจตนาว่าจำเลย ขณะที่จำเลยรับเงินไปจากโจทก์ จำเลยมิได้ตั้งใจนำเงินของโจทก์ไปลงทุนในกิจการ หรือซื้อเครื่องจักรมาขยายกิจการแต่อย่างใด แต่จำเลยต้องการนำเงินของโจทก์ไปใช้ส่วนตัว

และการที่จำเลยแสดงข้อความทำนองว่า กิจการของจำเลยมีรายได้ดี และจะนำเงินไปลงทุนเพิ่มเติม ก็เป็นความเท็จทั้งสิ้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง

ผมจึงได้ทำการ ฟ้องคดีฉ้อโกง กับจำเลย 

ตัวอย่างคำฟ้อง คดีฉ้อโกง หน้าที่ 1

ตัวอย่างคำฟ้อง คดีฉ้อโกง หน้าที่ 1

ตัวอย่างคำฟ้อง คดีฉ้อโกง หน้าที่ 2

ตัวอย่างคำฟ้อง คดีฉ้อโกง หน้าที่ 2

ตัวอย่างคำฟ้อง คดีฉ้อโกง หน้าที่ 3

ตัวอย่างคำฟ้อง คดีฉ้อโกง หน้าที่ 3

ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยตั้งทนายความมาต่อสู้คดี และทนายความจำเลย ยังขู่โจทก์ว่า “ผมจะฟ้องกลับ” 

แต่ปรากฎว่าในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ฝ่ายจำเลยต้องจนมุมด้วยพยานหลักฐาน คือคลิปเสียงที่จำเลยเคยพูดกับโจทก์ทำนองว่า เอาเงินไปชำระค่าเครื่องจักรกับช่างหมดแล้ว

และผมได้ออกหมายเรียก นายสุชาติ ช่างประกอบเครื่องจักร มาเบิกความเป็นพยานที่ศาล

นายสุชาติ ยืนยันว่ เครื่องจักรที่จำเลยมาสั่งผลิต มีมูลค่าเพียงสองแสนบาทเศษ และจำเลยวางเงินไว้เพียง 50,000 บาท และไม่ยอมมารับเครื่องจักร จำเลยไม่เคยชำระเงิน 1 ล้านบาทให้กับช่างแต่อย่างใด 

ศาลจึงสั่งว่าคดีมีมูล และประทับรับฟ้อง ในข้อหาฉ้อโกง

ต่อมาในชั้นสอบคำให้การ จำเลยจึงได้ให้การรับสารภาพ และตกลงผ่อนชำระคืนเงินทั้งหมดให้กับโจทก์ ซึ่งสุดท้ายโจทก์ได้รับชำระเงินครบถ้วน จึงได้ถอนฟ้องให้กับจำเลย 

คำสั่งศาลที่ให้ประทับรับฟ้อง ในความผิดฐานฉ้อโกง

คำสั่งศาลที่ให้ประทับรับฟ้อง ในความผิดฐานฉ้อโกง

จำเลยรับสารภาพ และย่อมผ่อนชำระหนี้ให้กับโจทก์จนเสร็จสิ้น

จำเลยรับสารภาพ และย่อมผ่อนชำระหนี้ให้กับโจทก์จนเสร็จสิ้น

ผมจึงนำตัวอย่างการฟ้องร้องดำเนินคดีมาให้ผู้สนใจได้ดู เพื่อเป็นตัวอย่างในการทำงานครับ

อุทาหรณ์จากเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า 

1.การเอาเงินไปลงทุนกับใคร โดยเขาอ้างว่าจะได้ผลกำไรดีมากนั้น มีโอกาสจะเป็นเรื่องหลอกลวงได้สูงมาก เพราะถ้ากิจการดีจริง ได้กำไรแน่นอนจริง เขาคงไม่เปิดโอกาสให้เราเข้าไปร่วมลงทุนแบ่งปันผลกำไร แต่เขาย่อมหาเงินลงทุนอื่นๆ เช่นจากธนาคารได้โดยง่าย ดังนั้นพวกที่อ้างว่า ให้เอาเงินมาลงทุน แล้วจะให้ผลตอบแทนสูงๆ ส่วนใหญ่จะเป็นการฉ้อโกงเกือบทั้งสิ้นครับ 

2.ในการ ฟ้องคดีฉ้อโกง ไม่ใช่ว่าจำเลยมีหน้าร้านค้าขายหรือมีกิจการจริงแล้ว จะไม่เป็นความผิดเสมอไป หากมีพฤติการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่า จำเลยแสดงความเท็จต่อโจทก์ เพื่อหลอกลวงโจทก์นำเงินไปให้จำเลย และไม่ได้นำเงินไปใช้ในการลงทุนจริง ก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกงได้

อ่านเพิ่มเติม บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความเรื่อง ฉ้อโกง หรือ ร่วมลงทุน  วินิจฉัยอย่างไร

บทความเรื่อง  ฉ้อโกงและผิดสัญญาทางแพ่ง แตกต่างกันอย่างไร  

บทความเรื่อง ตัวอย่างการฟ้องคดีฉ้อโกง EP.1 หลอกเอาเงินไปสั่งผลิตสินค้า

ทั้งนี้ผมมีตัวอย่างการ ฟ้องคดีฉ้อโกง ที่น่าสนใจอีกหลายสิบคดี และจะได้คัดเอาตัวอย่างคดีมาเผยแพร่ เพื่อเป็นกรณีศึกษาต่อไปครับ

 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts