คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

5 เคล็ดลับ การยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลา ตาม ปวิพ.ม.23 พร้อมเทคนิคทางปฏิบัติและตัวอย่างคำร้องฉบับสมบูรณ์

คำร้องขอขยายระยะเวลา   เป็นหนึ่งในคำร้องที่ทนายความจะต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น การขอขยายระยะเวลายื่นคําให้การ การขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์หรือฎีกา ขอขยายระยะเวลาแก้อุทธรณ์หรือฎีกา การขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาล การขยายระยะเวลาสืบหาภูมิลำเนาของจำเลย  เป็นต้น 

ซึ่งการขอขยายระยะเวลาต่างๆในคดีความนั้นเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 ที่วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า ระยะเวลาต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดหรือที่ศาลมีคำสั่ง ศาลมีอำนาจสั่งย่นหรือขยายได้

ซึ่งในการย่นระยะเวลาให้สั้นลงมานั้นเป็นสิ่งที่ทนายความไม่ค่อยจะได้ทำกันเท่าไร โดยมากแล้วเรามักจะได้ทำเรื่องการขอขยายระยะเวลากันมากกว่า 

อย่างไรก็ตามถึงกฎหมายจะระบุไว้ว่าการขยายระยะเวลาต่างๆนั้นสามารถจะทำได้แต่กฎหมายก็ระบุไว้ด้วยว่าการจะขยายระยะเวลาการตามนั้นจะต้องมีพฤติการณ์พิเศษ  

ซึ่งคำว่า “พฤติการณ์พิเศษ” หมายความว่ามีเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งที่เป็นเหตุแทรกแซง เหนี่ยวรั้ง หรือ ขัดขวาง ทำให้คู่ความไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ในกำหนดระยะเวลา

แต่ในทางปฏิบัติแล้วศาลฎีกาตีความขยายอำนาจของศาลว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจขยายระยะเวลาได้โดยใช้อำนาจทั่วไปซึ่งเป็นดุลพินิจเป็นเรื่องๆ ไป โดยไม่จำต้องมีพฤติการณ์พิเศษตาม มาตรา 23 (ฎ. 9213/2539 ฎ. 8735/2542 ฎ.  3045/2543 ฎ.9266/2546) 

แต่อย่างไรก็ตามในการทำคำร้องขอขยายระยะเวลา ทนายความก็ควรบรรยายถึงสาเหตุที่จะขยายระยะเวลาให้รัดกุมและเข้าพฤติการณ์พิเศษจะดีที่สุด 

การทำคำร้องขอขยายระยะเวลาต่างๆตามกฎหมาย ทนายความผู้จัดทำคำร้องควรจะเข้าใจหลักกฎหมายที่ชัดเจนในการทำคำร้อง ไม่ควรอาศัยการทำคำร้องโดยลอกตามกันมาโดยไม่เข้าใจข้อกฎหมาย เพราะดุลยพินิจของผู้พิพากษาแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน

และควรจะเข้าใจทางปฎิบัติต่างๆ ที่ไม่ค่อยมีเขียนอธิบายในตำราด้วย ซึ่งผู้เขียนจะนำมาแบ่งปันให้ผู้สนใจได้รับทราบกันในวันนี้  

หลักเบื้องต้นในการทำ คำร้องขอขยายระยะเวลา 

1. ควรระบุในคำร้องให้ชัดเจนว่าขอขยายถึงวันไหน

ในตัวคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การนั้นควรจะระบุระยะเวลาเดิมที่ครบกำหนดตามกฎหมาย และระยะเวลาที่จะขอขยายไปเลยเช่นขอขยายระยะเวลาถึง วันที่….. เดือน……. พศ….. เพื่อความชัดเจนว่าเราขอขยายถึงวันไหน เพราะบางครั้งศาลจะมีคำสั่งว่าอนุญาตตามขอ โดยไม่ได้กำหนดว่าอนุญาตถึงวันไหน ถ้าเราระบุไว้ชัดเจนเลยว่าเราขอถึงวันไหน หากศาลมีคำสั่งอนุญาตตามขอ ก็จะไม่มีประเด็นต้องมานั่งตีความว่าเราขยายไปถึงวันไหน เพราะเราได้ระบุไว้ชัดเจนแล้ว

2. ต้องรู้ว่าควรจะยื่นเมื่อไหร่

ธรรมดาแล้วการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาต่างๆตามกฎหมายนั้น ทนายความควรจะยื่นก่อนครบกำหนดระยะเวลาประมาณ 3-4วัน โดยการยื่นขอขยายระยะเวลานั้น จะต้องตอนที่ใกล้จะครบกำหนดระยะเวลานั้นๆ หากยื่นล่วงหน้าเผื่อเป็นเวลาเกินไปหลายวัน ศาลอาจจะไม่อนุญาตเพราะเห็นว่ายังเหลือเวลาอีกนานที่ทนายความมีเวลาการทำงาน เช่นไปยื่นขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การ แต่ยังเหลืออีก 8 วันกว่าจะครบกำหนดยื่นคำให้การ แบบนี้ศาลอาจจะไม่อนุญาต เพราะเห็นว่าทนายความยังมีเวลาเหลือในการทำคำให้การ

แต่อย่างไรก็ตามม่ควรจะยื่นขอขยายระยะเวลากระชั้นชิดเกินไป เช่น ยื่น 1 วันก่อนครบกำหนดระยะเวลา หรือ ไปยื่นในวันเดียวกับที่ครบกำหนดระยะเวลา เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาได้หลายประการ เช่น ถ้าศาลไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาตามคำร้อง ทนายความก็ไม่อาจจะดำเนินการทางกฎหมายได้ทันภายในกำหนดเวลาเดิม หรืออาจจะเกิดปัญหาว่าศาลยังไม่มีคำสั่งจนกระทั่งเลยกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายแล้ว

โดยหากระยะเวลาวันสุดท้ายนั้นเป็นวันหยุดราชการ ทนายความสามารถยื่นขอขยายในวันเปิดทำการวันถัดไปได้   (ฎ. 8735/2542)  แต่อย่างไรทนายความไม่ควรกระทำเช่นนั้น เพราะทนายความควรจะยื่นขอขยายก่อนวันหยุดราชการเป็นอย่างช้า มิใช่ไปยื่นขอขยายเอาในวันเปิดทำการซึ่งเป็นวันสุดท้าย

ทั้งนี้การขอขยายระยะเวลาต่างๆนั้น จะต้องยื่นก่อนหรืออย่างช้าในวันครบกำหนดระยะเวลานั้นๆเท่านั้นตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 วรรคท้าย หากยื่นภายหลังจากสิ้นสุดกำหนดระยะเวลานั้น จะต้องมีเหตุสุดวิสัยตามกฎหมาย ซึ่งคำว่าเหตุสุดวิสัยนั้นศาลฎีกาตีความแคบมาก และแทบจะไม่มีโอกาสสำเร็จเลยหากยื่นขอขยายระยะเวลาภายหลังครบกำหนดระยะเวลาแล้ว ดังนั้นจะต้องระมัดระวังการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาไม่ให้เกินกำหนดเดิม

3.ต้องให้เจ้าหน้าที่ประทับตราในสำเนาคู่ฉบับด้วย

การยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลา ทนายความและเสมียนทนายความโปรดจำไว้ว่า เราจะต้องทำสำเนากลับ 1 ชุดด้วย และเมื่อยื่นเสร็จแล้ว ต้องให้เจ้าหน้าที่ศาลประทับตราของศาลในตัวสำเนากลับด้วย เพื่อเป็นหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ได้รับสำเนาคำร้องขอขยายระยะเวลาของเราไว้แล้ว เพราะหากเกิดเหตุการณ์ว่า ตัวคำร้องเกิดตกหล่นไปจากสำนวน เราจะสามารถอ้างอิงได้ว่าเราได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาภายในกำหนดแล้ว ซึ่งผู้เขียนก็เคยเจอเหตุการณ์ดังกล่าวมาก่อนแล้ว อย่าคิดว่าเจ้าหน้าที่ศาลจะไม่มีโอกาสผิดพลาดเลย

4.ต้องรู้แนวปฎิบัติว่าขอขยายระยะเวลาได้กี่ครั้ง ครั้งละเท่าไหร่

ธรรมดาแล้วในการขอขยายระยะเวลาแต่ละครั้งนั้น เราจะขอเท่ากับระยะเวลาเดิมที่กฎหมายหรือศาลกำหนด เช่น การขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การ ถ้าเรารับหมายด้วยวิธีการปิดหมาย เราจะมีกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การ 30 วัน เวลาเราขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การ ศาลก็มักจะอนุญาตให้เท่ากับกำหนดเดิมคือ 30 วัน หรือการขอขยายระเวลายื่นอุทธรณ์ มีกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ 1 เดือน ธรรมดาแล้วศาลก็จะขยายให้ 1 เดือน เว้นแต่มีเหตุพิเศษ

ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การขอขยายระยะเวลาตามกฎหมาย ศาลมักจะอนุญาตให้เต็มคำขอในครั้งแรกเสมอ เว้นแต่มีเหตุพิเศษ เช่นคดีใกล้ถึงกำหนดวันนัด และโดยทั่วไปแล้วศาลจะขยายระยะเวลาให้ประมาณ 2 ครั้ง ส่วนครั้งที่4 ขึ้นไป จะต้องมีเหตุผลพิเศษจริงๆ ศาลถึงจะให้ครับ เช่นคดีที่มีความสลับซับซ้อนมากๆ อย่างคดีฆาตกรรมนายแพทย์สุพัฒน์ เลาหวัฒนะที่เป็นข่าวดัง ผู้เขียนเคยได้เคยไปร่วมทำงานในคดี ก็มีการขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ถึง 7 ครั้งด้วยกัน เพราะเป็นคดีที่มีความซับซ้อนและมีข้อเท็จจริงในคดีเยอะมาก

5.ต้องรีบติดตามตรวจสอบคำสั่งของศาล ภายหลังจากการยื่นคำร้อง

ภายหลังจากยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลามาแล้ว ทนายความจะต้องคอยติดตามคําสั่งของศาลด้วย ซึ่งธรรมดาแล้วศาลจะมีคำสั่งในวันที่ยื่นนั้นเลยหรืออย่างช้าไม่เกินวันรุ่งขึ้น  ซึ่งการติดตามคำสั่งคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การเป็นเรื่องสำคัญมาก และทนายความควรจะไปตรวจคำสั่งด้วยตนเอง หรือหากมอบหมายให้เสมียนทนายความเป็นคนตรวจคำสั่ง ก็ต้องให้เสมียนทนายความจดคำสั่งศาลมาอย่างละเอียดและควรจดชื่อผู้พิพากษาผู้ทำการสั่งมาด้วย เพื่อเป็นข้อมูลทราบว่าผู้พิพากษาแต่ละคนมีแนวทางการใช้ดุลพินิจเป็นอย่างไร ไม่ควรโทรสอบถามหรือจดคำสั่งมาตามที่เจ้าหน้าที่ศาลบอก โดยไม่ได้เห็นคำสั่งด้วยตนเอง 

เพราะบางครั้งเจ้าหน้าที่ศาลอาจจะแจ้งเราสั้นๆเพียงว่าศาลอนุญาต แต่ปรากฏว่าความจริงแล้ว ศาลไม่อนุญาตขยายระยะเวลาให้เต็มระยะเวลาที่เราขอ  ถ้าเราไม่ตรวจคำสั่งให้ชัดเจน เราอาจเข้าใจไปเองว่าศาลอนุญาตให้เต็มตามขอ ทั้งๆที่ศาลอาจจะอนุญาตเพียงบางส่วนเท่านั้น  ซึ่งกว่าเราจะทราบก็อาจจะเลยกำหนดระยะเวลาที่ศาลขยายให้แล้ว ผู้พิพากษาบางคนไม่นิยมอนุญาตให้เต็มตามขอ โดยเฉพาะในการขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การ บางครั้งศาลอยากจะเห็นคำให้การก่อนกำหนดวันนัดขึ้นศาล ก็มักจะสั่งให้ขยายถึงก่อนวันนัดขึ้นศาลเท่านั้น ไม่ได้ให้เต็มตามที่เราขอ

สาเหตุที่นิยมใช้เป็นข้ออ้าง ในการทำ คำร้องขอขยายระยะเวลา

  1. คดีดังกล่าวมีข้อเท็จจริงที่ซับซ้อน ทนายความต้องใช้เวลาในการศึกษาและสอบข้อเท็จจริงก่อนดำเนินการตามกฎหมาย 
  2. คดีดังกล่าวมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวนมากและมีความซับซ้อน ทนายความต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาข้อกฎหมายและแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง ก่อนดำเนินการทางกฎหมาย
  3. ทนายความผิดนัดว่าความต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด  
  4. ยังขาดเอกสารหลักฐานบางประการที่จะต้องสืบหาเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินการทางกฎหมาย 
  5. ทนายความพึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นทนายความในคดีดังกล่าว ในระยะเวลาที่กระชั้นชิด จึงไม่อาจจัดทำเอกสารได้ทันภายในกำหนด

ตัวอย่างการทำ คำร้องขอขยายระยะเวลา

ข้อ.1 บรรยายว่าคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินคดีชั้นไหนและมีกำหนดวันนัดวันที่เท่าไหร่ เช่น 

  • คดีนี้นัดไกล่เกลี่ยหรือชี้สองสถานในวันที่ 1 มกราคม 2564 และจะครบกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยในวันที่  1 ธันวาคม 2563
  • คดีนี้ศาลที่เคารพโปรดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และจะครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 1 มีนาคม 2564  
  • คดีนี้ศาลที่เคารพโปรดขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งแรกไปถึงวันที่ 1 เมษายน 2564

ข้อ2. บรรยายว่าเราจะขอขยายระยะเวลาอะไรด้วยสาเหตุอะไร  เช่น

  • เนื่องด้วยคดีนี้มีปัญหาข้อเท็จจริงที่ซับซ้อน  ทนายความจำเลยจะต้องทำการสอบข้อเท็จจริงจากพยานที่เกี่ยวข้องหลายปากรวมทั้งรวบรวมเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้สำหรับการดำเนินการทางกฎหมาย จึงไม่อาจดำเนินการทางกฎหมายได้ทันภายในกำหนด 
  • เนื่องด้วยคดีนี้มีปัญหาข้อกฎหมายที่ซับซ้อน ทนายความจำเลยจะต้องทำการศึกษาข้อกฎหมาย ค้นคว้าหาแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง  ก่อนดำเนินการทางกฎหมาย 
  • เนื่องด้วยทนายความจำเลยติดนัดสืบพยานต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน และต้องเดินทางไปสืบพยานที่ต่างจังหวัดติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน จึงไม่อาจดำเนินการทางกฎหมายได้ทันภายในกำหนด
  • เนื่องด้วยทนายความจำเลยซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นทนายความของจำเลย เช่น ทนายความจำเลย เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นทนายความในวันที่ 1 มกราคม 2563 ซึ่งคดีนี้ครบกำหนดยื่นคำให้การในวันที่ 3 มีนาคม 2564 ทนายความจำเลยจึงยังไม่มีเวลาทำการรวบรวมข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำคำให้การ

ทั้งนี้ในการบรรยายคำร้องขอขยายระยะเวลานั้น ควรระบุไปด้วยว่าสาเหตุดังกล่าว ถือว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษตามกฎหมาย เพราะการยื่นคำร้องต่างๆ ควรใส่และใช้ข้อความตามกฎหมายเป็นหลัก และหากมีเอกสารหลักฐานใดๆที่เกี่ยวข้อง ก็ควรแนบท้ายคำร้องไปด้วย 

ข้อ 3.ให้บรรยายว่าเราต้องการขยายระยะเวลากี่วันไปถึงวันไหน เช่น

  • ทนายความจำเลยจึงขอขยายระยะเวลายื่นคําให้การต่อสู้คดีไปอีก 30 วันนับจากกำหนดเดิมคือวันที่ 1 มกราคม 2564 ไปเป็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 
  • ทนายความโจทก์จึงขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ไปอีก 1 เดือน จากกำหนดเดิมวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ไปเป็นวันที่ 1 มีนาคม 2564

ส่วนคำลงท้ายเรามักใช้คำว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และเพื่อเปิดโอกาสให้โจทก์/จำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ จึงขอศาลที่เคารพโปรดอนุญาต 

ทั้งหมดนี้เป็นเคล็บลับและเทคนิคที่ผู้เขียนใช้เป็นประจำในการจัดทำคำร้องขอขยายระยะเวลาต่างๆตามกฎหมาย ซึ่งเพื่อนๆทนายความและน้องๆนักศึกษาที่อยู่ระหว่างการฝึกงาน สามารถนำไปปรับใช้ได้ในการทำงาน และหวังว่าข้อมูลในบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านครับ หาถูกใจช่วยกดแชร์และคอมเม้นท์ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้เขียนทำเนื้อหาสาระในตอนต่อๆไปด้วยครับ ขอบคุณครับ 

 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts