การซักถามพยาน เป็นงานที่ทนายความที่ขึ้นว่าความในชั้นศาลทุกคนจะต้องได้ทำ เพราะเป็นพื้นฐานของงานทนายความ
โดยวัตถุประสงค์ของการซักถามพยาน ก็เพื่อให้พยานเล่าข้อเท็จจริงที่ตนเองรู้เห็นรับทราบมา ให้กับศาลบันทึกไว้ในคำเบิกความ
ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่รูปคดีของตน หรือเพื่อหักล้างข้อต่อสู้ของฝ่ายตรงข้าม
การอ้างพยานบุคคลเพื่อนำสืบในชั้นศาล ผู้อ้างต้องยื่นบัญชีระบุพยานตามกฎหมาย และก่อนพยานเบิกความ พยานก็ต้องสาบานตัวตามศาสนา ปวิพ. ม.112
จากนั้นศาลก็จะถามพยาน ถึงชื่อนามสกุล ที่อยู่ อาชีพ ความเกี่ยวข้องกันคู่ความ ปวิพ. ม.116
หลังจากนั้น ธรรมดาแล้ว ศาลก็จะให้ทนายความผู้อ้างพยานซักถามพยานปากนั้น เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงตามที่ต้องการ
การซักถามพยานที่เราอ้างขึ้นมาเองนั้น ดูเผินๆหมือนจะเป็นงานที่ง่ายที่สุดในการซักถามพยานทั้ง 3 ประเภท คือ ซักถาม ถามค้าน ถามติง
แต่ความจริงแล้ว การซักถามพยาน ถือเป็นทั้งศาสตร์และศิลปขั้นสูง ที่ต้องอาศัยประสบการณ์ การศึกษาค้นคว้าทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ จึงจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ทนายความที่เก่งในการซักถามพยาน จะทำให้พยานสามารถเบิกความได้สิ้นกระบวนความ สอดคล้องเป็นเหตุเป็นผล มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ จูงใจให้ศาลเชื่อและคล้อยตามรูปคดีของตนเองได้ ฝ่ายตรงข้ามยากต่อการถามค้าน และหากเกิดปัญหาเฉพาะหน้าก็จะสามารถแก้ไขได้ทันที
ในทางกลับกัน ทนายความที่ไม่ได้ศึกษาด้านการถามความทั้งจากตำราและจากอาจารย์ผู้มีประสบการณ์ คิดว่าเมื่อสอบใบอนุญาตว่าความได้แล้ว ก็ขึ้นซักพยานเลย ส่วนมากมักจะถามพยานไม่เป็น ถามไม่ครบกระบวนความ ขาดความสอดคล้อง ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ฝ่ายตรงข้ามสามารถหาช่องในการถามค้านทำลายน้ำหนักได้โดยง่าย และเมื่อเกิดปัญหาเฉพาะหน้าก็แก้ไขไม่เป็น
ถึงแม้ปัจจุบันนี้ในการสืบพยานคดีแพ่งในหลายคดีจะนิยมใช้บันทึกคำเบิกความ แทนการซักถามพยานแบบสดๆเหมือนสมัยก่อน
แต่หลักพื้นฐานในการซักถามพยานก็ยังเป็นสิ่งสำคัญสามารถนำไปปรับใช้ได้กับการทำคำเบิกความได้
อีกทั้งหากเป็นคดีอาญาหรือคดีแพ่งที่ศาลไม่ให้ทำคำเบิกความ ทนายความก็จะต้องมีความสามารถพร้อมในการซักถามพยาน
วันนี้ผมจึงได้นำเทคนิคและข้อควรรู้ ที่ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์สำหรับเพื่อนๆทนายความในการซักถามพยานในชั้นศาลมาแบ่งปันกัน รวมทั้งสิ้น 13 ข้อครับ
ห้ามใช้คำถามนำ แต่ไม่ได้ห้ามเด็ดขาด
ธรรมดาแล้วในการซักถามพยานที่เราอ้างมานั้น กฎหมายห้ามไม่ให้ทนายความใช้ คำถามนำ ในการซักถามพยานของฝ่ายตนเอง
คำถามนำ หมายความว่าเป็นคำถามที่แนะนำคำตอบให้กับพยานอยู่ในตัว หรือเป็นคำถามที่ให้พยานเลือกตอบข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่ง ในลักษณะการชี้นำ ไม่ใช่เป็นคำถามเพื่อให้พยานเราได้เล่าข้อเท็จจริงแต่เป็นคำถามที่แนะนำคำตอบให้กับพยานอยู่ในตัว
ตัวอย่างเช่น
- วันเกิดเหตุพยานเห็นเหตุการณ์ใช่ไหม
- จำเลยเป็นคนใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายใช่หรือไม่
- จำเลยขี่มอเตอร์ไซค์หลบหนีไปใช่หรือไม่
สาเหตุที่กฎหมายห้ามไม่ให้ใช้คำถามนำ เพราะกฎหมายถือว่าต้องการให้พยานเล่าเรื่องข้อเท็จจริงที่พยานได้ประสบรู้เห็นมาโดยตรง ไม่ใช่ให้พยานตอบตามที่ทนายความต้องการนำทางไป
มิฉะนั้นคนที่ไม่รู้เห็นเรื่องราวใดๆเลยก็ยอมมาเบิกความเป็นพยานในชั้นศาลได้ เพียงแค่ตอบคำถามตามที่ทนายความนำไปว่าใช่ๆๆ อย่างเดียว
อย่างไรก็ตามกฎหมายในเรื่องการห้ามถามนำนั้น ไม่ใช่กฎหมายต้องห้ามเด็ดขาด
หากศาลอนุญาตให้ใช้คำถามนำหรือฝ่ายตรงข้ามไม่คัดค้านในการใช้คำถามนำ ทนายความฝ่ายผู้อ้างพยานก็สามารถใช้คำถามนำได้ ทั้งนี้ตาม ปวิพ ม.118
ในบางครั้งบางสถานการณ์ เราอาจจะเจอพยานที่ไม่เข้าใจคำถาม ไม่เข้าใจประเด็นที่เราต้องการจะซักถาม ถามกี่ครั้งพยานก็ยังไม่เข้าใจ อีกทั้งประเด็นที่เราจะถามก็ไม่ใช่ประเด็นข้อสำคัญในคดี
ตัวอย่างเช่น
เราจะถามถึงวันเวลาเกิดเหตุ วันเดือนปีเกิด อายุของพยาน สถานที่เกิดเหตุอยู่ตำบลอะไรจังหวัดอะไร ซึ่งไม่ได้เป็นประเด็นข้อสำคัญในคดีนั้นเพียงแต่ต้องการให้พยานเบิกความเพื่อความสมบูรณ์ในการซักถามเท่านั้น
เช่นนี้เราอาจจะขออนุญาตศาลถามนำก็ได้
- โดยการขออนุญาตศาลว่า ท่านครับคำถามนี้ผมขออนุญาตใช้คำถามนำว่า ….. เพราะพยานไม่เข้าใจคำถามและไม่ได้เป็นประเด็นข้อได้เปรียบเสียเปรียบในคดีครับ
ดังนั้นแล้วในการซักถามพยานนั้นโดยหลักแล้วเราห้ามใช้คำถามนำ เว้นแต่พยานไม่เข้าใจคำถามจริงๆและไม่ใช่ประเด็นข้อสำคัญในคดีเราอาจจะขออนุญาตศาลใช้คำถามนำได้ หากศาลอนุญาตเราก็สามารถถามนำได้
ในทำนองกลับกันหากเราเป็นทนายความฝั่งตรงข้าม หากทนายความฝ่ายตรงข้ามใช้คำถามนำในการซักถามพยานและเป็นประเด็นข้อสำคัญในคดีเราก็ควรลุกขึ้นคัดค้าน
แต่หากทนายฝ่ายตรงข้ามถามนำเพียงเล็กน้อยเพราะพยานไม่เข้าใจคำถาม แล้วไม่ใช่ประเด็นข้อสำคัญในคดีเราก็สามารถปล่อยผ่านไปก็ได้ครับ
ใช้คำถามที่สั้น กระชับ ถามทีละคำถาม
หลักการตั้งคำถามที่ถูกต้องในการซักถามพยาน ก็คือ การตั้งคำถามให้สั้น กระชับที่สุด คำถามยิ่งสั้นยิ่งดี
เพราะคำถามยิ่งยาวยิ่งทำให้พยานเข้าใจยากขึ้น ว่าเราต้องการสอบถามว่าอะไร แล้วจะทำให้ศาลไม่เข้าใจเช่นเดียวกันว่าเราต้องการถามพยานว่าอะไร
และการตั้งคำถามนั้นควรจะตั้งคำถามทีละคำถาม อย่าตั้งคำถามหลายคำถามในครั้งเดียว จะทำให้พยานมึนงงสับสน และตอบไม่ครบถ้วน
ตัวอย่างการตั้งคำถามหลายคำถามรวดเดียวเช่น
- บิดาพยานเสียชีวิตเมื่อไหร่ เพราะสาเหตุอะไร ด้วยโรคอะไร เสียที่ไหน ?
ซึ่งความจริงแล้วเราควรจะแยกคำถามดังกล่าวออกมาเป็นทีละข้อ จะทำให้พยานตอบได้ชัดเจนไม่ตกหล่นและไม่มึนงงกับคำถาม
ตัวอย่างเช่น
- บิดาพยานเสียชีวิตเมื่อไหร่
- เสียเพราะสาเหตุอะไร
- เสียที่ไหน
- ก่อนเสียมีภูมิลำเนาอยู่ที่ไหน
ดังนั้นจงจำไว้ว่าทนายความที่เก่งจะใช้คำถามในการถามพยานที่สั้นกระชับเข้าใจง่าย ทำให้ทั้งพยานและศาลสามารถเข้าใจได้ทันทีว่าเราต้องการให้พยานตอบว่าอะไร
ทนายคนไหนที่ใช้คำถามยาว คนฟังหรือศาลฟังแล้วไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่าคำถามนั้นหมายถึงอะไร คือทนายที่ไม่มีความสามารถในการตั้งคำถามครับ
ใช้น้ำเสียงที่สุภาพ นุ่มนวล คอยปลอบเมื่อพยานไม่เข้าใจคำถาม หรือตอบผิดพลาด
การใช้น้ำเสียงในการซักถามพยานนั้นเป็นหนึ่งในศิลปะที่ทนายความที่มีความสามารถห้ามมองข้ามโดยเด็ดขาด
ธรรมดาแล้วบุคคลที่จะมาเบิกความเป็นพยานในชั้นศาลนั้น ย่อมมีความประหม่า ตื่นเต้น และเกรงกลัวอยู่ไม่น้อย
แม้กระทั่งตัวผมเอง ถึงแม้จะเป็นทนายความและมีประสบการณ์ในการว่าความแต่เมื่อถึงคราวต้องเบิกความในชั้นศาลบางครั้งก็ตื่นเต้นเกิดความผิดพลาดได้
เมื่อเราเป็นทนายความฝั่งที่อ้างตัวเขามาเป็นพยาน เราก็ควรจะเข้าใจถึงความเป็นจริงข้อนี้ว่า คนที่จะมาเบิกความเป็นพยานในชั้นศาลเขาก็มีความตื่นเต้น ประหม่า และกลัวความผิดพลาดอยู่แล้ว
ดังนั้นเราจึงควรที่จะพูดจากับเขาด้วยความสุภาพ อ่อนโยน หากเขาเบิกความผิดพลาดหลงลืมหรือตกหล่นก็ควรค่อยๆบอกเขาด้วยน้ำเสียงเป็นมิตร และคอยปลอบโยนเขา ซึ่งจะทำให้เขาได้สติ
แต่หากเราอารมณ์เสีย ใส่อารมณ์หรือดุด่าว่ากล่าวพยานที่เบิกความผิดพลาดหรือไม่ตรงกับที่เราต้องการจะถาม ยิ่งจะทำให้พยานหวาดกลัวแตกตื่นจนอาจเบิกความเสียรูปคดีไปเลย
ดังนั้นการใช้น้ำเสียง และวิธีการถามของพยานในการซักถามพยาน จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากอย่างหนึ่งในการถามพยานครับ
ใช้ภาษาที่เหมาะสมกับพยาน
การใช้ภาษาที่เหมาะสมกับความรู้ สติปัญญา ของพยานก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ทนายความจะต้องรู้จักเลือกใช้ให้เหมาะสม
ถ้าหาพยานเป็นชาวบ้าน จบการศึกษาชั้นม.3 เช่นนี้การใช้คำถาม ก็ควรใช้คำถามง่ายๆ หลีกเลี่ยงการใช้คำทับศัพท์ ภาษาต่างประเทศ ภาษาราชการ ภาษากฎหมาย ภาษาเฉพาะทาง แต่ควรใช้ภาษาแบบง่ายๆที่ชาวบ้านทั่วไปฟังแล้วเข้าใจ
หากพยานเป็นคนภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือภาคใต้ ที่อาจจะไม่เข้าใจบริบทหรือภาษากลางอย่างชัดเจน หากถามแล้วไม่เข้าใจก็อาจจะขออนุญาตศาลถามเป็นภาษาท้องถิ่นหรืออธิบายคำถามให้พยานเข้าใจได้โดยง่าย
แต่หากพยานเป็นผู้มีการศึกษา เป็นนักวิชาการเฉพาะทาง ที่สามารถเข้าใจคำศัพท์เฉพาะ ภาษากฎหมาย ภาษาทางการ ได้เป็นอย่างดีทนายความก็สามารถใช้คำถามที่เป็นศัพท์เฉพาะ ภาษากฎหมาย หรือภาษาทางการได้เลย
การใช้ภาษาที่เหมาะสมกับระดับสติปัญญาของพยาน จะทำให้การสื่อสารระหว่างเราและพยานไม่คลาดเคลื่อน การซักถามพยานเป็นไปโดยราบรื่นไม่มีข้อผิดพลาดหรือตกหล่น
ซักถามเพื่อให้เหตุผลเชิงลึก
ในการซักถามพยานเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องหรือคำให้การ ไม่ใช่เพียงแต่การซักถามให้พยานเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงตามคำฟ้องหรือคำให้การเท่านั้น
แต่จะต้องซักถามข้อเท็จจริงเชิงลึกถึงเหตุผล ที่มา รายละเอียด และข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องมาประกอบเพื่อให้การเบิกความนั้นสมเหตุสมผลด้วย
ทนายความหลายคนเวลาทำคำเบิกความหรือเวลาจะซักถามพยาน ก็จะซักถามไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำฟ้องเท่านั้น
ถ้าพยานเบิกความแค่ว่า พบเห็นสิ่งนี้ รู้เห็นสิ่งนี้ อย่างเดียวอาจไม่มีน้ำหนัก หรือที่เรียกว่าเบิกความลอยๆ
เราต้องซักถามให้เห็นถึงเหตุผล และข้อเท็จจริงประกอบด้วย
ตัวอย่างเช่น
พยานเบิกความว่าให้จำเลยกู้ยืมเงิน ก็ต้องถามถึงเหตุผลว่าทำไมถึงให้จำเลยกู้รู้จักกันมานานแค่ไหน จำเลยบอกว่าเหตุผลอะไรในการกู้ยืมเงิน มอบเงินด้วยวิธีไหน ชำระเงินให้จำเลยอย่างไร เป็นต้น
หรือตัวอย่างเช่น
หากพยานเบิกความว่า ไปพบเห็นจำเลยวิ่งราวทรัพย์ เราก็ต้องถามให้ละเอียดว่า เหตุใดจึงไปพบจำเลย เหตุการณ์ขณะพบเป็นอย่างไร จำเลยแต่งตัวอย่างไร เหตุการณ์หลังเกิดเหตุเป็นอย่างไร
การซักถามถึงเหตุผลเชิงลึกและรายละเอียดในคำเบิกความ จะทำให้คำเบิกความของพยานของเรา มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ มีเหตุผลสอดคล้องกับความจริง มากกว่าให้พยานเบิกความลอยๆโดยไม่ให้รายละเอียด
ซักถามเพื่อปิดคำถามค้าน
เทคนิคนี้ผมได้มาจากหนังสือของ อ.ไพศาล พืชมงคล ที่ชื่อคู่มือการสืบพยาน
โดยเทคนิคนี้มีหัวใจอยู่ที่ว่า ให้เราคิดไว้ล่วงหน้าเลยว่าหากเราเป็นทนายความฝั่งตรงข้าม เราจะถามค้านพยานปากเหล่านี้อย่างไร
เมื่อคิดไว้แล้วว่า ฝ่ายตรงข้ามจะถามว่าอย่างไรเราไม่ต้องรอให้ฝ่ายตรงข้ามถาม แต่ให้เราซักถามพยานให้อธิบายในประเด็นนั้นให้ชัดเจนไปเลย
การที่ให้พยานอธิบายในประเด็นที่คิดว่าจะถูกถามค้าน อย่างสมเหตุสมผล ชัดเจน ตั้งแต่ตอนเบิกความเลยจะทำให้ ฝ่ายตรงข้ามจะถามค้านยาก
ตัวอย่างเช่นคดีอาญา สมมุติว่า เป็นคดีฆาตกรรม เรารู้อยู่แล้วว่าฝ่ายตรงข้ามจะต่อสู้ประเด็นว่าพยานจำตัวจำเลยไม่ได้ ก็ต้องถามให้ละเอียดเลยว่า
- แสงไฟที่เกิดเหตุเป็นอย่างไร
- มีเวลาพบเห็นจำเลยนานแค่ไหน
- รูปร่างหน้าตาของจำเลยเป็นอย่างไรมีจุดเด่นอย่างไร
- ทำไมจึงจดจำจำเลยได้
การซักถามเพื่อปิดคำถามค้านนี้ เป็นเทคนิคที่ผมนำไปลองใช้แล้วปรากฏว่า ได้ผลดีเป็นอย่างมาก เพราะทำให้พยานได้เบิกความอธิบายข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนกระบวนความ ฝ่ายตรงข้ามถามค้านให้เสียน้ำหนักยาก จึงแนะนำให้เพื่อนๆนำไปปรับใช้กันครับ
ซักถามเผื่อพยานปากหลัง
ในกรณีที่พยานบุคคลที่เรานำสืบนั้นเป็นพยานคู่ หรือมีพยานคนอื่นที่รับรู้เห็นข้อเท็จจริงเดียวกันนั้นด้วยและเราประสงค์จะนำสืบพยานอื่นในภายหลัง
เราก็ต้องถามพยานปากแรกไว้ด้วยว่า ขณะเกิดเหตุมีใครรู้เห็นเหตุการณ์อีกนอกจากตัวพยานเอง
เพื่อให้พยานยืนยันว่ายังมีพยานอื่นรู้เห็นเหตุการณ์เดียวกันอีก
ถ้าเราไม่ถามไว้ และเอาพยานปากอื่นมาเบิกความภายหลัง น้ำหนักความน่าเชื่อถือก็จะลดลงไป
ตัวอย่างเช่น ถามว่า ขณะเห็นเหตุการณ์มีใครอยู่ด้วย เพื่อให้พยานตอบว่า นาย ข. อยู่ในเหตุการณ์ด้วย
เวลาที่นำนาย ข. พยานปากต่อไปมาเบิกความก็จะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือขึ้น
การนำพยานเอกสาร พยานวัตถุ คลิปเสียง คลิปวีดีโอ มาประกอบการซักถาม
การให้พยานเบิกความแสดงข้อเท็จจริงต่อศาลนั้น นอกจากการจะให้พยานเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามที่ตนเองรู้เห็นแล้ว ยังสามารถให้พยานเบิกความยืนยันถึง พยานเอกสาร พยานวัตถุ
เช่น สัญญา ประกาศ หลักฐานการสนทนาผ่านโปรแกรม LINE หรือ facebook คลิปวีดีโอ หรือคลิปเสียงต่างๆ
เพื่อแสดงประกอบหรือยืนยันให้เห็นถึงข้อเท็จจริงตามที่ตนเองได้เบิกความหรือประสบรู้เห็นมา
ซึ่งในการที่จะนำพยานเอกสารพยานวัตถุให้พยานเบิกความรับรองนั้น ไม่ใช่เพียงแต่เอาเอกสารมาให้พยานรับรองเฉยๆ
แต่เราควรจะให้พยานเบิกความอธิบายถึงข้อเท็จจริงรายละเอียดโดยสังเขปที่ ปรากฏในคลิปเสียง คลิปวีดีโอ พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุนั้นด้วย
โดยการเบิกความอธิบายถึงรายละเอียด ไม่จำเป็นต้องเบิกความถึงเนื้อหาในพยานเอกสารหรือพยานวัตถุทั้งหมด แต่ให้เบิกความในประเด็นสำคัญ เพื่อให้ศาลสามารถเข้าใจเนื้อหาที่เราต้องการสื่อได้โดยง่าย
ตัวอย่างเช่น
หากเรานำสัญญาขึ้นสอบถามพยาน เราไม่จำเป็นต้องสอบถามถึงเนื้อหาในสัญญาทุกข้อ แต่อาจจะสอบถามเฉพาะเนื้อหาสัญญาโดยคร่าวๆ ว่าเป็นสัญญาระหว่างใครกับใคร เป็นสัญญาเรื่องอะไร และเน้นสอบถามในประเด็นข้อสัญญา ที่เป็นประเด็นข้อพิพาท
หรือตัวอย่างเช่น
หากเราต้องการนำคลิปวีดีโอมาใช้สอบถามพยาน เราก็ต้องสอบถามพยานว่าคลิปวิดีโอดังกล่าวใครเป็นคนถ่ายเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องอะไร มีใครอยู่ในเหตุการณ์บ้าง จากนั้นให้เราเน้นถามเฉพาะเหตุการณ์ที่เป็นประเด็นข้อสำคัญในคดีไม่จำเป็นต้องนั่งไล่ถามเนื้อหาทั้งคลิปวีดีโอ
ซักซ้อมพยานทำความเข้าใจกับพยานก่อน
การซักซ้อมทำความเข้าใจกับพยานก่อนถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับทนายความ ก่อนขึ้นซักความในชั้นศาล
ธรรมดาแล้วคนที่จะขึ้นเป็นพยานย่อมมีความประหม่าและอยากจะรู้ว่าตนเองจะต้องถูกถามเรื่องอะไรบ้าง และหากได้รู้ว่าตนเองจะต้องตอบคำถามเรื่องอะไรบ้าง พยานก็จะคลายความกังวลและผ่อนคลายมากขึ้น
ดังนั้นทนายความจึงควรจะซักซ้อมกับพยานก่อนว่าตนเองจะถามอะไรกับพยานบ้าง และควรแนะนำให้พยานเบิกความไปตามความจริงที่ตนเองรู้เห็น
หากพยานไม่เข้าใจคำถามหรือวิธีการตอบ ก็ควรซักซ้อมทำความเข้าใจให้ถูกต้อง
ทนายความไม่พึงควรแนะนำคำตอบให้กับพยานว่า หากทนายถามแบบนี้ให้ตอบแบบนี้หรือแนะนำให้พยานเบิกความเท็จ หรือบ่ายเบี่ยงไปจากความเป็นจริงเพราะเมื่อถูกฝ่ายตรงข้ามถามค้านก็จะมีโอกาส ความเท็จปรากฏในชั้นศาล
การซักซ้อมพยานคือการทำความเข้าใจว่าพยานจะถูกถามเรื่องอะไร และควรตอบอย่างไร การซ้อมพยานไม่ใช่การให้พยานท่องจำบท แต่เน้นให้พยานทำความเข้าใจ
การซักซ้อมพยานแบบให้พยานท่องจำบทคำถามคำตอบนั้นมีข้อเสียหลายประการ เพราะถ้าเกิดผิดหมดไปเล็กน้อยพยานก็จะตอบไม่ถูกหรือหากเกิดเหตุแทรกซ้อนอะไรขึ้นมาหรือศาลถามขึ้นมากลางจังหวะก็จะเสียรังวัดไปทั้งหมด
ดังนั้นจึงควรซักซ้อมพยานแบบให้พยายามทำความเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดโดยรวม จะเป็นประโยชน์มากที่สุด
และควรจะแนะนำซักซ้อมถึงการตอบคำถามค้านของทนายความฝ่ายตรงข้ามให้กับพยานทราบด้วย อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความด้านล่าง
เป็นพยานศาล ต้องอ่าน ! 4 เคล็ดลับในการตอบคำถามฝ่ายตรงข้ามในชั้นศาล
เตรียมคดีทำความเข้าใจรูปคดีให้ละเอียด
ก่อนขึ้นซักถามพยาน เราจะต้องทำความเข้าใจกับรูปคดีนั้นให้ละเอียด
หากเป็นคดีแพ่งก็ต้องอ่านคำฟ้องคำให้การและเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้องจนสามารถจับประเด็นข้อพิพาทในคดีทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้ได้ ต้องเข้าใจว่าคดีนี้จะแพ้ชนะกันด้วยข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงเรื่องใด
ถ้าเป็นคดีอาญาก็จะต้องตั้งประเด็นต่อสู้คดีให้ชัดเจนว่าคดีนี้ จำเลยตั้งประเด็นข้อต่อสู้ว่าอย่างไร คดีจะแพ้ชนะกันด้วยข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานส่วนไหน แล้วจะต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆในคดีให้ละเอียดก่อนเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้จะต้องสอบข้อเท็จจริงจากพยานที่จะขึ้นเบิกความให้ละเอียด เพื่อที่จะทราบว่าพยานที่เราจะขึ้นซักถามนั้นรู้เห็นข้อเท็จจริงในประเด็นไหนบ้าง
การเตรียมคดีให้ละเอียดจะทำให้เราถามพยานได้ดี ตรงประเด็น เพราะเข้าใจเรื่องทั้งหมด เข้าใจประเด็นข้อพิพาททั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ว่าควรจะต้องนำสืบพยานอย่างไรจึงจะชนะคดีได้ เข้าใจว่าพยานปากที่ขึ้นเบิกความ รู้เห็นข้อเท็จจริงอย่างไร
ถ้าพยานตอบเบาไปศาลไม่ได้ยิน คนอื่นๆไม่ได้ยิน
เนื่องจากในสถานการณ์ covid เช่นนี้ตอนที่พยานเบิกความก็จะต้องใส่แมสหน้ากากปิดหน้าไว้ด้วยตลอดเวลา แล้วบางครั้งในคอกพยานก็จะมีกระจกหรือพลาสติกกั้นอีกชั้นหนึ่ง
ซึ่งธรรมดาแล้วศาลที่นั่งพิจารณาก็จะอยู่ห่างไกลจากพยานมากกว่าตัวทนายความ หลายครั้งพยานเบิกความตอบคำถามของทนาย แล้วมักจะพบเจออยู่เสมอว่า พยานเบิกความแล้วศาลไม่ได้ยินหรือได้ยินไม่ชัดเจน
ศาลจึงจดบันทึกถ้อยคำผิดไปจากที่พยานเบิกความ หรือบางครั้งก็ไม่ได้บันทึกคำเบิกความของพยานเลย ทำให้เราได้รับความเสียหาย
ดังนั้นหากพยานตอบเบาหรือตอบค่อยไป ศาลไม่ได้ยินเราก็ต้องคอยกำชับและบอกพยานด้วยความสุภาพและใช้น้ำเสียงว่า รบกวนช่วยพูดให้ดังขึ้นนิดนึงครับศาลจะได้ยินได้ถนัด
โดยจะต้องพยายามกำชับแจ้งกับพยานว่าพยานมีหน้าที่เบิกความให้กับศาลฟังไม่ใช่เบิกความให้กับทนายความฟังคนเดียว
ถ้าพยานตอบนอกเรื่อง เกินกว่าที่ถามไปมาก ต้องดึงกลับและตัดตอน
ธรรมดาแล้วพยานที่จะมาเบิกความในชั้นศาลส่วนใหญ่ก็มักจะตอบคำถามเฉพาะเท่าที่เราถามไม่เบิกความขยายความมากไปกว่าที่เราถาม
แต่อย่างไรก็ตามมีพยานบางประเภทที่มักจะนิยมตอบคำถามแบบเรื่อยเปื่อย ตอบไปเรื่อย หรือบางครั้งพยานอาจจะไม่เข้าใจประเด็นที่เราถามจึงตอบผิดประเด็น นอกประเด็น
หากพบเจอเหตุการณ์ที่พยานตอบนอกคำถาม ตอบหลงประเด็น เบิกความนอกเรื่องหรือนอกสิ่งที่เราต้องการจะให้พยายามตอบเราจะต้องตัดบท แล้วแจ้งพยานว่าให้ช่วยตอบเฉพาะเท่าที่เราถาม
หากปล่อยให้พยานเบิกความเรื่อยเปื่อยไปเรื่อยๆ นอกจากทำให้คดีล่าช้าโดยไม่จำเป็นและอาจจะทำให้พยานเบิกความนอกประเด็นจนเสียรูปคดีก็ได้
ต้องเว้นวรรครอศาลบันทึกคำเบิกความ พร้อมทั้งคอยฟังด้วยว่าศาลบันทึกถูกต้องหรือไม่
สำหรับเทคนิคข้อนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่ทนายความใหม่ๆหลายคนยังไม่รู้ ก็คือเมื่อเราถามพยานแล้วเราจะต้อง เว้นวรรคให้ศาลจดบันทึกคำเบิกความด้วย
สมัยแต่ก่อนศาลจะจดบันทึกคำเบิกความด้วยการเขียน (ผมเองก็ไม่ทันสมัยนั้นเหมือนกัน) แต่ปัจจุบันนี้แทบทุกศาลใช้วิธีการบันทึกคำเบิกความด้วยเครื่องบันทึกเสียง แล้วให้เสมียนหน้าบัลลังก์เป็นคนพิมพ์หมดแล้ว
ดังนั้นเวลาเราถามพยานเสร็จแล้ว เราต้องคอยเว้นวรรคให้ศาลบันทึกคำเบิกความของพยานด้วย
นอกจากนี้ในจังหวะที่ศาลกำลังบันทึกคำเบิกความอยู่นั้น ศาลส่วนใหญ่ก็จะพูดเสียงดังเพียงพอที่จะทำให้เราได้ยินว่าศาลบันทึกคำเบิกความว่าอย่างไร
ถ้าหากศาลบันทึกคลาดเคลื่อนไปจากที่พยานเบิกความ เราก็สามารถขออนุญาตชี้แจงศาลและขอให้ศาลแก้ไขได้ทันทีเลย
ซึ่งการขอแก้ไขเสียทันทีตั้งแต่เนิ่นๆ จะป้องกันการโต้แย้งได้ดีกว่าการไปตรวจสอบคำเบิกความทีเดียวหลังจากที่พิมพ์คำเบิกความเสร็จแล้วครับ
สำหรับเทคนิค ทั้ง 13 ข้อ ในการซักถามพยานฝ่ายที่เราอ้างมานั้น เป็นสิ่งที่ผมได้นำไปลองปรับใช้แล้ว เห็นว่าได้ผลเป็นอย่างดี จึงได้รวบรวมนำมาเผยแพร่เป็นวิทยาทานให้กับเพื่อนๆผู้สนใจ และในตอนหน้าผมจะมาเขียนเกี่ยวกับเรื่อง “การถามค้าน” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของวิชาชีพทนายความ ยังไงรอติดตามรับชมกันครับ