คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

ทำพินัยกรรมอย่างไร ให้มั่นใจไร้ปัญหาในอนาคต ? 5 เทคนิคการถ่ายวีดีโอประกอบการทำพินัยกรรม โดยทนายความมืออาชีพ

ทําพินัยกรรม ถึงแม้จะทำโดยถูกต้องตามแบบของกฎหมายทุกประการ ก็ยังมีโอกาสถูกโต้แย้งและนำคดีขึ้นสู่ศาลได้จากฝ่ายผู้เสียประโยชน์หรือหรือฝ่ายที่ไม่ได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมได้ ตัวอย่างเช่น ฝ่ายตรงข้ามอาจจะอ้างว่าขณะทำพินัยกรรมนั้นผู้ทำพินัยกรรมไม่มีสติสัมปชัญญะ หรืออ้างว่าผู้ทำพินัยกรรมเป็นบุคคลวิกลจริต หรืออ้างว่าผู้ทำพินัยกรรมถูกข่มขู่ให้ทำพินัยกรรม หรือถูกหลอกลวงให้ทำพินัยกรรมโดยไม่รู้เนื้อหาที่แท้จริง หรืออ้างว่าเป็นลายมือชื่อปลอม เป็นต้น

ปัญหาข้อพิพาทลักษณะดังกล่าวก็มักเกิดขึ้นเป็นประจำ ในกรณีที่พินัยกรรมนั้นได้ตัดทายาทบางคนออกจากกองมรดก หรือแบ่งทรัพย์มรดกได้ทายาทแต่ละคนไม่เท่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้ทำพินัยกรรมมีอายุสูงมากแล้วขณะทำพินัยกรรม ก็ยิ่งมีโอกาสสูงที่ฝ่ายตรงข้ามจะหยิบยกมาเป็นข้ออ้างว่า ผู้ทำพินัยกรรม ได้กระทำพินัยกรรมไปขณะที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ ถูกข่มขู่ หรือถูกหลอกลวง

ในอดีตเกิดคดีความลักษณะดังกล่าวขึ้นเป็นประจำ เพราะในยุคก่อนการถ่ายทำวีดีโอขณะทำพินัยกรรม เป็นเรื่องยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูง จึงมักมีการกล่าวอ้างว่าผู้ทำพินัยกรรม ได้กระทำพินัยกรรมไปด้วยไม่มีสติสัมปชัญญะ ถูกข่มขู่ หรือถูกหลวงลวง

แต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน การแก้ปัญหาที่พินัยกรรมจะถูกโต้แย้งคัดค้านด้วยเหตุผลต่างๆดังกล่าวสามารถกระทำได้อย่างง่ายดาย ด้วยการถ่ายวีดีโอบันทึกภาพและเสียงขณะทำพินัยกรรมไว้ ซึ่งด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้น สามารถกระทำได้ง่าย และแทบทุกคนก็มีสมาร์ทโฟนสำหรับถ่ายวีดีโอได้อยู่แล้ว

พินัยกรรมนั้นสามารถกระทำได้หลายแบบ แต่สำหรับแบบที่ผู้เขียนจำแนะนำให้กระทำประกอบกับการถ่ายทำวีดีโอนั้น คือ พินัยกรรมแบบธรรมดาและมีพยานลงลายมือชื่อสองคน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1656

 มาตรา ๑๖๕๖  พินัยกรรมนั้น จะทำตามแบบดังนี้ก็ได้ กล่าวคือต้องทำเป็นหนังสือลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้น และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น

โดยผู้เขียนแนะนำว่า การจัดทำพินัยกรรมประกอบวีดีโอนั้น ควรให้ทนายความเป็นผู้จัดทำ เพราะทนายความรอบรู้เงื่อนแง่ของข้อกฎหมายต่างๆเป็นอย่างดี จะได้ช่วยแนะนำเรื่องเนื้อหาและกระบวนการในการทำพินัยกรรมด้วย

โดยเทคนิคของการถ่ายทำวีดีโอประกอบการจัดทำพินัยกรรมของทนายความ จากประสบการณ์ของผู้เขียน มีดังนี้

1.ปิดมือถือหรือเครื่องมือสื่อสารอื่นๆก่อนทำพินัยกรรม                                                                         

โดยก่อนทำวีดีโอประกอบพินัยกรรม ควรปิดเครื่องมือสื่อสารต่างๆ เพื่อป้องกันการถูกรบกวนขณะถ่ายทำวีดีโอ ซึ่งอาจจะมีสายเข้ามาตอนช่วงเวลาสำคัญ ทำให้เราอาจต้องเสียเวลาถ่ายทำคลิปใหม่หรือตัดต่อวีดีโอ

 2.ถ่ายวีดีโอในการทำพินัยกรรม ตั้งแต่ต้นจนจบให้เป็นคลิปเดียวกัน                                     

การถ่ายคลิปประกอบวีดีโอนั้นควรมีการหยุดหรือแบ่งหรือตัดต่อคลิปให้น้อยที่สุด  เพื่อป้องกันการโต้แย้งในชั้นศาลว่า เราตัดต่อแต่ช่วงที่เป็นประโยชน์ของเรามา และตัดส่วนที่ไม่เป็นประโยชน์ออกไป โดยมีคดีเรื่องพินัยกรรมบางเรื่องที่ผู้เขียนพบเจอมา ถึงแม้จะมีการถ่ายทำวีดีโอไว้ขณะทำพินัยกรรม แต่ปรากฎว่าตลอดคลิปมีการตัดต่อวีดีโอไว้เป็นช่วงๆ ตลอดเวลา โดยตัดตอนที่สำคัญๆออก ประกอบกับมีพยานหลักฐานอื่นๆที่ชี้ให้เห็นว่าผู้ทำพินัยกรรมไม่มีสติปัญชัญญะขณะทำพินัยกรรม ศาลก็ไม่เชื่อถือวีดีโอดังกล่าว ดัวนั้นการถ่ายทำคลิปวีดีโอ ควรจัดทำเป็นคลิปเดียวตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่มีการตัดต่อจะดีที่สุด 

3.ถ่ายวีดีโอให้เห็นพินัยกรรมทุกฉบับและทุกแผ่น                                                                              

การถ่ายทำวีดีโอและถ่ายให้เห็นเนื้อหาของพินัยกรรมทุกฉบับ และทุกแผ่น และควรเห็นบัตรประชาชนของผู้ทำพินัยกรรมและพยานทุกคน ทั้งตอนก่อนเริ่มลงชื่อพินัยกรรมและหลังจากลงลายมือชื่อเสร็จแล้ว นอกจากนี้ในการถ่ายวีดโอ ให้ถ่ายให้เห็นขณะตัวผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อในพินัยกรรม  ทั้งนี้เพื่อป้องกันข้อโต้แย้งของฝ่ายตรงข้ามในชั้นศาล และเป็นข้อพิสูจน์พินัยกรรมฉบับที้ปรากฎในศาลนั้น เป็นฉบับเดียวกับที่ปรากฎในคลิปวีดีโอ 

4.จะต้องมีการอ่านออกเสียงข้อความต่างๆในพินัยกรรมด้วย

โดยการอ่านนั้น อาจจะอ่านโดยให้ผู้ทำพินัยกรรมอ่านเองหรือให้ทนายความอ่านให้ก็ได้ ในกรณีที่ทนายความอ่านให้นั้น ควรจะมีการซักถาม หรือย้ำยืนยันกับผู้ทำพินัยกรรมไปประกอบด้วย เช่น ถามว่า “ใครเป็นผู้รับพินัยกรรมบ้างนะครับ” “ใครเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมฉบับนี้” “แบ่งทรัพย์มรดกกันแบบนี้นะครับ” เพื่อป้องการถูกโต้แย้งว่า ผู้ทำพินัยกรรมไม่เข้าใจเนื้อหาในพินัยกรรม

5.ผู้รับทรัพย์ในพินัยกรรม รวมทั้งคู่สมรส ควรออกไปอยู่ห้องอื่นหรือนอกบริเวณการถ่ายทำวีดีโอประกอบพินัยกรรม                     

โดยผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมรวมทั้งคูjสมรสไม่ควรปรากฎในขณะทำคลิปวีดีโอประกอบการทำพินัยกรรม ทั้งนี้เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1653  ผู้เขียน หรือพยานในพินัยกรรมจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นไม่ได้ รวมถึงตัวคู่สมรสของผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมด้วย ทั้งนี้เพราะกฎหมายไม่ต้องการให้ผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรม ข่มขู่ กดดัน หรือชักจูงให้ผู้ทำพินัยกรรม ทำพินัยกรรมให้เป็นประโยชน์แก่ตน จึงไม่ต้องการให้ผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม ดังนั้นในการถ่ายทำวีดีโอประกอบการทำพินัยกรรม เราจึงควรให้บุคคลดังกล่าวอยู่นอกห้องที่จัดทำพิพัยกรรมด้วย  เพื่อป้องกันข้อโต้แย้งของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งความจริงแล้วในคลิปวีดีโอนั้น ควรมีเฉพาะผู้ทำพินัยกรรม ทนายความ และพยานอยู่ด้วยเท่านั้น บุคคลอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องควรออกไปข้างนอกทั้งหมด  

 โดยหลังจากจัดทำวีดีโอเสร็จสิ้นแล้ว ให้เก็บคลิปวีดีโอดังกล่าวไว้ให้ดี โดยแนะนำเก็บผ่านระบบคลาวน์ต่างๆ เช่น googledrive onedrive หรือ dropbox เป็นต้น เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะได้ใช้มันวันไหน ซึ่งสำหรับตัวผมเองจะเก็บไว้ในระบบคลาวน์ของสำนักงาน ซึ่งจะอยู่ได้ตลอดไปโดยไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จึงจะได้นำมันมาใช้

อย่างไรก็ตามเทคนิคการถ่ายวีดีโอประกอบการทำพินัยกรรมนั้น สามารถนำไปปรับใช้กับพินัยกรรมประเภทเขียนเองทั้งฉบับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1657 หรือพินัยกรรมแบบลับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1660 ด้วยก็ได้

สำหรับผู้่เขียนเอง แนะนำให้ลูกความใช้วีธีการจัดทำพินัยกรรมโดยการถ่ายวีดีโอประกอบเป็นประจำ และก็ได้ผลดี เคยมีคดีอยู่คดีหนึ่งผู้เขียนเป็นคนทำพินัยกรรมไว้เมื่อ5-6 ปีก่อน ซึ่งปรากฏว่าภายหลังผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตายทายาทคนอื่นๆที่ไม่ได้รับทรัพย์พินัยกรรมก็มาฟ้องขอเพิกถอนพินัยกรรมฉบับดังกล่าวโดยอ้างว่าผู้ทำพินัยกรรม ทำพินัยกรรมไปโดยไม่มีสติสัมปชัญญะถูกหลอกลวงให้ทำ ปรากฏว่าฝ่ายตรงข้ามไม่รู้ว่ามีคลิปวีดีโออยู่ เมื่อไปเปิดคลิปวีดีโอในชั้นศาลฝ่ายตรงข้ามก็หมดข้อต่อสู้และยินยอมถอนคำร้องไปแต่โดยดี 

สรุปแล้วการถ่ายทำคลิปวีดีโอประกอบการทำพินัยกรรม ไม่มีกฎหมายระบุบังคับไว้ให้กระทำ ไม่มีหลักเกณฑ์ตามกฎหมายว่าจะต้องทำอย่างไร แต่จากประสบการณ์ของผู้เขียนบอกได้ว่าหากท่านจัดทำคลิปวีดีโอประกอบการทำพินัยกรรม ตาม 5 วิธีที่ผู้เขียนแนะนำแล้ว พินัยกรรมของท่านจะมีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และโอกาสที่จะถูกฝ่ายตรงข้ามโต้แย้งแทบไม่มีเลยครับ

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts