คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

” ถามค้าน 101 ” – รวมพื้นฐาน 12 เทคนิคการถามค้าน ที่ทนายความต้องรู้ก่อนขึ้นว่าความ

ในตอนที่แล้วผมได้เขียนถึงเรื่องการ การซักถามพยาน ในกรณีที่เราเป็นทนายความที่อ้างพยานขึ้นมาจะมีวิธีการซักถามพยานอย่างไรไปแล้ว

วันนี้ผมจะมาเขียนถึงเรื่องการถามค้าน เมื่อเราจะต้องขึ้นซักค้านพยานที่ฝ่ายตรงข้ามห้างมา จะมีเทคนิคและวิธีการอย่างไร ติดตามอ่านกันได้เลยครับ 

การถามค้าน คืออะไร  ? 

ธรรมดาแล้วเมื่อมีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีประเภทใดก็ตาม คู่ความทั้งสองฝ่ายย่อมมีหน้าที่นำสืบแสดงพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงต่อศาลเพื่อให้ศาลเชื่อตามข้อต่อสู้ของตนเอง

หนึ่งในพยานหลักฐานที่สำคัญที่สุด ในการนำสืบหรือแสดงต่อศาล ตั้งแต่สมัยโบราณเป็นต้นมา ก็คือ ”พยานบุคคล”

ซึ่งฝ่ายโจทก์หรือจำเลย ก็จะอ้างพยานบุคคลผู้รู้เห็นเหตุการณ์มาเล่าข้อเท็จจริงกับศาลเพื่อให้เกิดประโยชน์กับรูปคดีของตน 

ธรรมดาแล้วพยานก็มักจะเบิกความหรือพูดข้อเท็จจริงในทำนองที่เป็นประโยชน์กับคู่ความฝ่ายที่อ้างพยานมา ตัวอย่างเช่นพยานฝ่ายโจทก์ ก็มักจะเบิกความหรือเล่าให้ศาลฟังเฉพาะในข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายโจทก์เอง ส่วนพยานฝ่ายจำเลยก็จะเบิกความในส่วนที่ประโยชน์กับจำเลย

หากปล่อยให้พยานแต่ละฝ่ายเบิกความเฉพาะข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายตัวเองแต่เพียงอย่างเดียว ย่อมเป็นการยากที่จะหาความจริง เพราะพยานแต่ละฝ่ายก็ต่างจะพูดแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์ของฝ่ายตนเอง

ดังนั้นในระบบศาลยุติธรรมแทบจะทุกประเทศทั่วโลก จึงมักจะเปิดโอกาสให้ทนายความของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ได้ทำการแสวงหาความจริงจากพยานที่ฝ่ายตรงข้ามอ้างมาด้วยการ “ ถามค้าน “

ดังนั้นแล้ว การถามค้าน ก็คือการซักถามพยานที่ฝ่ายตรงข้ามอ้างมา เพื่อพิสูจน์ว่าพยานที่ฝ่ายตรงข้ามอ้างมา พูดเรื่องจริงหรือไม่ และยังมีข้อเท็จจริงใดที่เล่าไม่หมดหรือเปล่า 

การถามค้านคือวิธีการแสวงหาความจริง และจับโกหกพยาน ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ตั้งแต่มนุษย์เคยค้นหาวิธีการมา ซึ่งแต่เดิมเราเคยมีวิธีพิสูจน์ความจริงหลายอย่าง ด้วยการบุกน้ำ ลุยไฟ สาบาน ต่อสู้กัน ฯลฯ

แต่กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่าวิธีการถามค้าน โดยใช้เหตุผลเข้าว่ากล่าวกันกัน คือวิธีพิสูจน์ความจริงได้ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์สามารถทำได้ในปัจจุบันนี้ 

การถามค้าน มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร ?

วัตถุประสงค์ของการถามค้าน มีด้วยกัน 2 ประการคือ 

1.เพื่อจับเท็จหรือจับโกหกพยาน เพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าตัวพยานไม่น่าเชื่อถือ หรือสิ่งที่พยานเล่าไม่น่าเชื่อถือ 

2.เพื่อให้พยานเบิกความถึงข้อเท็จจริง  ที่เป็นประโยชน์แก่รูปคดีของเรา 

การถามเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ 2 ข้อดังกล่าว มีวิธีหลายประการเช่น 

  1. ถามถึงประวัติที่ไม่ดีหรือประวัติในทางที่ไม่น่าเชื่อถือของพยาน 
  2. ถามให้เห็นว่า พยานได้รับผลประโยชน์ที่มาเบิกความ 
  3. ถามให้เห็นว่า พยานเป็นคนใกล้ชิดหรือเป็นญาติของฝ่ายตรงข้าม จะต้องเบิกความเข้าข้างฝ่ายตรงข้ามอยู่แล้ว
  4. ถามให้เห็นว่าพยานมีอคติ หรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับฝ่ายเรา 
  5. ถามไม่เห็นว่า ความรู้ความชำนาญของพยานมีข้อบกพร่องไม่น่าเชื่อถือ 
  6. ถามให้เห็นว่า พยานเบิกความขัดแย้งกับเหตุผลความน่าจะเป็น 
  7. ถามให้เห็นว่า พยานเบิกความขัดแย้งกับพยานปากอื่น 
  8. ถามให้เห็นว่า พยานเบิกความขัดแย้งกับพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ 
  9. ถามให้เห็นว่า พยานเบิกความหรือให้การในแต่ละครั้งไม่เหมือนกันมีลักษณะกลับไปกลับมา 
  10. ถามให้เห็นว่า พยานเบิกความขัดแย้งกับหลักวิชาการหรือเหตุผลทางวิทยาศาสตร์อันน่าเชื่อถือ 
  11. ถามให้เห็นว่า พยานไม่น่าจะมีโอกาสจดจำหรือพบเห็นเหตุการณ์ที่กล่าวอ้างได้อย่างชัดเจน 
  12. ถามให้เห็นว่า พยานอาจจะเข้าใจผิดไปเอง หรือเบิกความเอาข้อเท็จจริงมาระคนกับความคิดของตัวเอง 
  13. ถามให้เห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่พยานเบิกความยังมีโอกาสเป็นไปได้อย่างอื่นนอกเหนือจากที่พยานเบิกความ 
  14. ถามให้เห็นว่า ยังมีข้อเท็จจริงส่วนอื่นที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายเราแต่พยานยังไม่ได้เบิกความถึง
  15. ถามให้เห็นว่า ยังมีพยานบุคคลอื่นที่ยังรู้เห็นในเหตุการณ์แต่ยังเอามาเบิกความไม่หมด 

และยังมีอีกหลายวิธีการถามค้าน เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของพยาน หรือเพื่อให้พยานเบิกความข้อเท็จจริงในส่วนที่เป็นประโยชน์กับเรา ขึ้นอยู่กับการปรับใช้และข้อเท็จจริงในแต่ละคดี สุดแล้วแต่ความสามารถของทนายความแต่ละคนที่จะพลิกแพลงใช้ในแต่ละสถานการณ์ 

การทราบวัตถุประสงค์ในการถามค้านเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ก่อนเริ่มทำการถามค้าน ทนายความผู้ทำการถาม จะต้องตั้งประเด็นไว้อยู่ในใจ และรู้เป้าหมายในการถาม ว่าที่ขึ้นถามพยานปากนั้น เราต้องการผลประโยชน์อย่างไรจากพยาบาลปากนั้น 

การถามค้านไปโดยไม่มีวัตถุประสงค์ ถามค้านเพื่อโชว์ให้เห็นว่าลูกความทำงาน ถามค้านไปโดยไม่ได้ตั้งประเด็น นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แก่รูปคดีแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายและผลเสียแก่รูปคดีมากกว่าผลดี 

เพราะแทนที่จะได้ประโยชน์จากการถามค้าน กลายเป็นว่าเป็นการถามเพื่อให้พยานฝ่ายตรงข้ามเบิกความหนักแน่นและน่าเชื่อถือมากขึ้นไปอีก หรือฝ่ายตรงข้ามเบิกความในส่วนที่เป็นผลร้ายแก่ฝ่ายเรามากขึ้นไปอีก 

แต่การถามค้านโดยรู้วัตถุประสงค์ในการถาม มีการตั้งประเด็นในการถามไว้อย่างชัดเจน จะทำให้เราทราบว่าควรจะตั้งคำถามแบบไหน และใช้วิธีถามพยานแบบไหน แล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการถามพยานปากนั้นอย่างแท้จริง 

ดังนั้นก่อนที่จะขึ้นถามค้านพยานปากไหนก็ตาม เราจะต้องถามตัวเองก่อนว่า เราจะถามค้านพยานปากนี้ เพื่ออะไร  ?

การหาวัตถุประสงค์หรือประเด็นที่ใช้ในการถามค้าน 

อย่างที่บอกในข้อข้างต้นว่า การถามค้านนั้นจะต้องมีการตั้งประเด็นก่อน ว่าเรามีวัตถุประสงค์อย่างไรในการถามค้าน 

แล้วเราจะหาวัตถุประสงค์ในการถามค้านหรือประเด็นในการถามค้านได้อย่างไร ?

คำตอบก็คือจะต้องทำดังต่อไปนี้ครับ

1.เราจะต้องสอบข้อเท็จจริงจากลูกความและพยานที่เกี่ยวข้องโดยละเอียดเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดโดยรวมในเรื่องนั้น 

2.เราต้องตรวจสอบพยานเอกสารและพยานวัตถุ ที่เกี่ยวข้องโดยละเอียด เพื่อให้ทราบเรื่องราวในคดีนั้นและข้อเท็จจริงในคดีให้มากที่สุด 

3.เราจะต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานของฝ่ายตรงข้าม  คำฟ้อง คำให้การ คำร้อง คำเบิกความพยานเคยให้การไว้ เพื่อให้ทราบประเด็นข้อต่อสู้หรือข้อเท็จจริงของฝ่ายตรงข้าม 

4.หลังจากได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนแล้วเราจะต้องตรวจสอบข้อกฎหมาย ทั้งจากคำอธิบายข้อกฎหมายจากอาจารย์ทางกฎหมายในเรื่องนั้นๆ คำพิพากษาศาลฎีกา ความเห็นของนักวิชาการ บทความที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเกี่ยวกับรูปคดีนั้นๆ 

เมื่อเราเข้าใจข้อเท็จจริงในคดีอย่างรอบด้าน รวมถึงเข้าใจและรู้ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีนั้นทั้งหมดอย่างชัดแจ้งแล้ว เราจะรู้ได้เองว่าในคดีดังกล่าวจะแพ้ชนะกันในประเด็นไหน 

ตัวอย่างเช่นในคดีกู้ยืม ท่านเป็นทนายความจำเลย  เมื่อได้ศึกษาข้อเท็จจริงจากคำฟ้องคำให้การและพยานบุคคลพยานเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตรวจสอบข้อกฎหมายแล้ว ประเด็นข้อพิจารณาคดีมีอยู่ประเด็นเดียวว่า จำเลยได้รับเงินที่กู้ไปจากโจทก์หรือไม่ 

เช่นนี้ท่านก็จะทราบได้ทันทีว่าในการถามค้านพยานโจทก์แต่ละปาก ย่อมจะต้องมีวัตถุประสงค์หรือประเด็นในการถามค้านเพื่อให้พยานแต่ละปากเบิกความไปในทำนองว่าไม่น่าเชื่อว่ามีการส่งมอบเงินที่กู้ยืมจริง 

ขั้นตอนการถามค้านโดยสังเขป 

ธรรมดาแล้วทนายความฝั่งที่อ้างพยาน จะถามพยานของฝ่ายตนเองก่อน จนเมื่อทนายความฝั่งที่อ้างพยาน ถามพยานของฝ่ายตนเองจนสิ้นคำถามแล้ว ก็จะบอกกับศาลว่า  “หมดคำถามครับ-ค่ะ” 

หลังจากนั้น ทนายความฝ่ายตรงข้าม ก็จะมีสิทธิ์ลุกขึ้นถามค้าน  และเมื่อเราทำการถามค้านเสร็จแล้ว ทนายความฝ่ายตรงข้ามก็มีสิทธิ์ถามติง

การถามค้าน พยานฝ่ายตรงข้าม ทนายความสามารถตั้งคำถามได้หลายรูปแบบ ไม่ได้อยู่ในข้อจำกัดห้ามใช้คำถามนำเหมือนการซักถามพยานที่ฝ่ายตนเองตั้งมา เว้นแต่คำถามที่เป็นการหมิ่นประมาทพยาน เว้นแต่คำถามนั้นจะเป็นข้อสาระสำคัญในอันที่จะชี้ขาดข้อพิพาท

.ห้ามมิให้ถามคำถามที่ทำให้พยานได้รับโทษอาญา เว้นแต่คำถามนั้นจะเป็นข้อสาระสำคัญในอันที่จะชี้ขาดข้อพิพาท (ในคดีอาญาห้ามเด็ดขาดโดยไม่มีข้อยกเว้นเหมือนคดีแพ่ง ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 234)

รวม 12 เทคนิคการถามค้าน ที่ทนายความต้องรู้

ผมได้รวบรวมเทคนิคการถามค้านเบื้องต้น ทั้งจากประสบการณ์ในการทำงานของผมเอง และจากในตำราที่น่าสนใจหลายเล่มมาสรุปได้ดังนี้ 

1.คิดคำถามค้าน โดยเริ่มจากการคิดคำตอบที่อยากได้ 

หมายความว่าในการคิดคำถามค้านหรือการตั้งคำถามค้านนั้น เราจะต้องคิดก่อนว่า เราต้องการให้พยานตอบคำถามเราว่าอย่างไร 

แล้วเราค่อยคิดคำถามป้อนถามพยานเพื่อให้ตอบให้ได้ใกล้เคียงกับคำตอบที่เราต้องการ 

การคิดคำตอบที่ต้องการให้พยายามตอบก่อนตั้งคำถามเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้เราตั้งคำถามได้อย่างถูกต้อง มีวัตถุประสงค์ในการถาม 

ตัวอย่างเช่น คดีผิดสัญญากู้ เราต้องการให้พยานตอบว่า พยานไม่อยู่และไม่รู้เห็นในขณะทำสัญญากู้ เราก็ต้องตั้งคำถามว่า 

  • พยานทำงานอยู่ที่บริษัท เอกชนที่ชื่อว่า ….ใช่หรือไม่ 
  • วันเกิดเหตุเป็นวันทำงานตามปกติใช่หรือไม่ 
  • วันนั้นพยานก็ไปทำงานไม่ได้ลางานนะครับ 
  • ที่ทำงานของพยานไปจนถึงสถานที่ที่ทำสัญญาใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงนะครับ 
  • วันทำสัญญาพยานก็ทำงานอยู่ใช่ไหมครับ 
  • สรุปแล้วตอนขณะทำสัญญาและส่งมอบเงินกู้พยานก็ไม่ได้อยู่พยานมาเซ็นหลังเลิกงานใช่หรือไม่ 

จะเห็นได้ว่าการที่เราตั้งเป้าประสงค์มาตั้งแต่แรกว่าเราต้องการให้พยานตอบว่าอย่างไร จะทำให้เรารู้ว่าควรจะตั้งคำถามแบบไหนและอย่างไร 

ดังนั้นจำไว้ว่า ในการคิดคำถามค้าน จะต้องคิดถึงคำตอบที่อยากให้พยายามตอบก่อนการตั้งคำถาม หลักง่ายๆมีอยู่ว่า  “คำตอบจะต้องมาก่อนคำถาม ไม่ใช่ถามไปโดยไม่รู้ว่าอยากได้คำตอบอย่างไร “


2.ถามจากเหตุไปหาผล ใช้คำถามที่ห่างประเด็นก่อนไม่ให้พยานรู้ตัว 

การถามค้านเพื่อทำลายน้ำหนักของพยาน หรือเพื่อให้พยานเบิกความในเรื่องที่เป็นประโยชน์กับเรานั้น  ด้วยความที่พยานที่เราถามค้านเป็นพยานของฝ่ายตรงข้าม เขาก็มักจะคิดแต่จะเบิกความในเรื่องที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายตรงข้าม 

หากเขารู้ว่าคำตอบที่เขาจะตอบ จะเป็นประโยชน์กับฝ่ายเรา พยานส่วนใหญ่ก็จะพยายามหาวิธีการหลีกเลี่ยง เบิกความไปในทำนองอื่น เพื่อไม่ให้เกิดประโยชน์กับฝ่ายเรา 

ดังนั้นในการถามค้าน ให้พยานยอมเบิกความในเรื่องที่เป็นประโยชน์กับเรา ทนายความที่มีประสบการณ์ จะรู้ว่าเราจะไม่ใช้คำถามตรงๆก่อน  เราจะต้องใช้วิธีถามค้านจากเหตุไปหาผล ใช้คำถามที่ห่างประเด็นก่อน 

เมื่อเราใช้คำถามที่ห่างประเด็น พยานจะยังไม่รู้ว่าจะมีผลดีผลเสียกับรูปคดีอย่างไร ดังนั้นพยานส่วนใหญ่ก็จึงมักจะตอบไปตามความเป็นจริง 

นอกจากนี้หากเรามีข้อเท็จจริงใด ที่พยายามจะต้องเบิกความยอมรับโดยไม่อาจปฏิเสธได้อยู่แล้ว เช่นข้อเท็จจริงที่พยานเคยยอมรับไว้ในเรื่องอื่น ข้อเท็จจริงที่มีเอกสารหลักฐานของราชการยืนยันชัดเจน ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับเอกสารหลักฐานที่พยานเป็นคนทำขึ้นเอง เราก็ควรถามค้านให้พยานเบิกความรับรองก่อน 

เมื่อพยานเบิกความยอมรับในเรื่องที่ห่างจากประเด็น หรือเบิกความรับข้อเท็จจริงในเรื่องอื่นที่ไม่อาจปฏิเสธได้ หลายๆอย่างรวมกันหลายคำตอบแล้ว คำตอบดังกล่าวของพยานจะเป็นการผูกมัดพยานให้ตอบคำถามค้าน ในประเด็นข้อสำคัญในคดีตามที่เราต้องการ ไม่สามารถตอบเป็นอย่างอื่นได้

หรือหากพยานตอบคำถามค้าน เป็นอย่างอื่น ซึ่งขัดกับเหตุผลหรือคำตอบที่ตนเองตอบมาก่อนหน้านี้ ก็จะทำให้คำตอบของพยานไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ 

ตัวอย่างเช่น  เราเป็นทนายความจำเลย ต้องการค้านให้พยานโจทก์ตอบคำถามว่า วันเกิดเหตุพบเห็นจำเลยแปบเดียว จึงน่าจะไม่มีโอกาสจดจำตัวจำเลยได้

หากอยู่ๆเราไปตั้งคำถามตรงๆเลยว่า วันเกิดเหตุพยานเห็นจำเลยแป๊บเดียวจำเลยไม่ถนัดใช่หรือไม่ พยานก็อาจจะตอบคำถามว่า มีเวลาเห็นเป็นเวลานานเพียงพอทำให้จดจำได้ 

แต่หากเราถามด้วยการใช้เหตุไปหาผลดังต่อไปนี้ เช่น

  • ก่อนเริ่มเกิดเหตุพยานนั่งเล่นมือถืออยู ใช่หรือไม่ 
  • ขณะเหตุเริ่มไปแล้วพยานก็ยังเล่นเกมส์อยู่  ใช่หรือไม่ 
  • พยานมาเห็นจำเลยเมื่อมีคนตะโกนเสียงดังใช่หรือไม่ 
  • พยานหันไปเห็นจำเลยแว๊บเดียวแล้วก็รีบวิ่งหลบหนีใช่หรือไม่ 
  • รวมระยะเวลาแล้วพยานเห็นจำเลยแค่แป๊บเดียวประมาณ 1-2 วินาทีนะครับ 

จะเห็นได้ว่าเป็นการถามค้านจากเหตุไปหาผลให้พยานยอมรับในข้อสุดท้ายว่าพยานเห็นจำเลยแค่แป๊บเดียว ซึ่งจะเป็นประโยชน์กว่าการถามพยานตรงๆตั้งแต่ทีแรกว่าเห็นจำเลยแค่แป๊บเดียวใช่หรือไม่ 

หรือสุดท้ายถึงพยานจะเบิกความตอบว่าเห็นจำเลยเป็นเวลานานก็ไม่น่าเชื่อถือแล้วเพราะจากเหตุการณ์ทั้งหมดชี้ให้เห็นว่าพยานน่าจะเห็นจำเลยแค่แป๊บเดียว 

เทคนิคนี้เป็นเทคนิคสุดคลาสสิค ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างหลากหลาย และเป็นเทคนิคพื้นฐานในการถามค้านที่ทนายความจะต้องรู้ครับ 


3.ใช้คำถามนำเป็นหลัก

เนื่องจากพยานที่เราถามค้านนั้น  จะเป็นพยานของฝ่ายตรงข้าม หากเราถามเป็นคำถามปลายเปิดให้พยานอธิบาย พยานก็มักจะอธิบายข้อความที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตัวเอง

ดังนั้นการถามค้านจึงนิยมใช้คำถามนำ หรือคำถามที่ให้เลือกตอบ โดยจะต้องใช้คำถามให้สั้นกระชับได้ใจความ และไม่ปล่อยให้พยานอธิบายข้อเท็จจริงตามความพอใจของพยาน เช่น

  • ใช่/ไม่ใช่ 
  • ถูกต้อง-ไม่ถูกต้อง 
  • จริง-ไม่จริง 

เพื่อผูกมัดไม่ให้พยานตอบคำถามเป็นอย่างอื่นได้ 

ตัวอย่างเช่น 

  • พยานไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบลายมือชื่อใช่หรือไม่ 
  • พยานสายตาสั้นกว่าคนปกติใช่หรือไม่ 
  • วันเกิดเหตุพยานเห็นจำเลยแป๊บเดียวใช่หรือไม่ 
  • พยานไม่เคยเห็นจำเลยมาก่อนใช่หรือไม่ 
  • พยานอ่านข้อความในเอกสารก่อนเซ็นชื่อใช่หรือไม่ 
  • พยายามเข้าใจข้อความในเอกสารก่อนเซ็นชื่อใช่หรือไม่ 
  • พยานเป็นผู้จัดทำเอกสารดังกล่าวใช่หรือไม
  • พยานเคยเห็นคลิปวีดีโอดังกล่าวใช่หรือไม่
  • พยานอยู่ในคลิปวีดีโอดังกล่าวด้วยใช่หรือไม่ 

ทั้งนี้ในเวลาที่ท่านถามนำ แล้วเจอพยานตอบไม่ตรงคำถาม เช่น ในคดีปลอมเอกสารเราถามค้านพยานที่ยืนยันว่าเอกสารเป็นเอกสารปลอม 

เราถามว่า “ พยานไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบลายมือชื่อใช่หรือไม่ “

พยานตอบว่า “แต่ลายมือชื่อในคดีนี้ดูแล้วมันปลอมมันไม่เหมือนแน่ๆ”

หรือตอบว่า “ผมคุ้นเคยกับลายมือชื่อนี้ ผมบอกได้ยืนยันได้ว่าปลอม”  

เช่นนี้เขาเรียกว่าการตอบไม่ตรงคำถาม เราจะต้องบอกพยานอย่างสุภาพว่า พยานช่วยตอบคำถามที่ผมถามด้วยครับ /ค่ะ 

หากพยานยังไม่ยอมตอบตอบบ่ายเบี่ยงไปอีกเราก็ต้องขอให้ศาลสั่งให้พยานตอบให้ตรงคำถาม ซึ่งเท่าที่ผมทำมาการที่เราต้องแย้งด้วยความสุภาพเช่นนี้ศาลก็มักจะสั่งบังคับให้พยานตอบให้ตรงคำถามเสมอ 

หากเราปล่อยให้พยานตอบไม่ตรงคำถามไปเรื่อยๆ นอกจากจะไม่ได้เกิดประโยชน์จากการถามค้านแล้วยังจะทำให้การถามค้านเสียเวลายืดยาวไปโดยใช่เหตุ 

ทั้งนี้ไม่ใช่หลักเกณฑ์ตายตัวว่าการถามค้านจะต้องใช้คำถามนำตลอดไป เพียงแต่ส่วนใหญ่แล้ว การถามค้านการใช้คำถามนำ จะเป็นประโยชน์มากกว่า กระชับกว่า ได้คำตอบที่ต้องการได้ง่ายกว่า 

แต่หากมีเหตุผลพิเศษที่ต้องการถามเพื่อให้พยานอธิบายในเรื่องรายละเอียดอื่นๆ อันอาจจะเกิดประโยชน์แก่ฝ่ายเรา เช่นต้องการถามค้านให้พยานอธิบายรายละเอียดในเรื่องที่พยานอาจจะรู้ไม่จริง เพื่อจับเท็จพยานก็สามารถถามได้ หรือต้องการให้พยานอธิบายถึงข้อเท็จจริงที่จะเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายเราแต่เพียงอย่างเดียวก็สามารถใช้คำถามปลายเปิดให้พยานอธิบายได้

ดังนั้นจำหลักไว้ว่า โดยหลักแล้วควรต้องใช้คำถามนำ จะได้ประโยชน์มากกว่า แต่ไม่ใช่หลักตายตัวหรือเด็ดขาดหามีเหตุผลพิเศษก็สามารถใช้คำถามปลายเปิดได้เช่นเดียวกัน 

อย่างไรก็ตามท่านอาจารย์มารุต บุนนาค เคยสอนไว้ว่าในการถามค้าน ไม่ควรจะใช้คำถามว่า  “ทำไม” เพราะคำถามว่าทำไม เป็นคำถามปลายเปิดประเภทให้พยานอธิบายเหตุผลเข้าข้างตนเอง 

ตัวอย่างเช่น 

  • คดีพยายามฆ่าเราเป็นทนายความจำเลย ถามพยานฝั่งโจทก์ จนกระทั่งข้อเท็จจริง ฟังได้ว่าพยานไม่น่าจะจดจำตัวจำเลยได้จริง และเราไปถามเพิ่มเติมว่า 
  • พยานเห็นหน้าจำเลยแป๊บเดียว ทั้งจำเลยก็ใส่หมวกแก๊ปใส่แว่นตาดำ ทำไมถึงจำเลยได้ 
  • พยานก็จะตอบว่า ผมรู้จักจำเลยมานานมากแล้ว จำเลยมีลักษณะพิเศษคือ เจาะหูระเบิดหูเป็นขนาดใหญ่ ข้าพเจ้าจึงจำเลยได้ชัดเจนแน่นอน 

จะเห็นได้ว่าคำถามว่า ทำไม จะเป็นคำถามเพื่อให้พยานอธิบายข้อเท็จจริงในส่วนที่เป็นประโยชน์ของตนเองแต่เพียงฝ่ายเดียว บางครั้งอาจจะเป็นความจริงหรือไม่เป็นความจริงก็ได้ จึงไม่ควรถามค้านพยานด้วยคำว่า “ทำไม”


4.ใช้ถ้อยคำที่สุภาพ และใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวลไม่แสดงความเป็นปฏิปักษ์ 

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก และทนายความหลายคนก็มักจะผิดพลาด เข้าใจผิด และปฏิบัติจนอย่างผิดๆ ทำให้ส่งผลเสียทั้งกับตนเอง และภาพรวมของวิชาชีพทนายความ รวมทั้งทำให้ไม่เกิดประโยชน์ในการดำเนินคดี 

คนธรรมดาที่ไม่ใช่นักกฎหมาย และทนายความหลายคนมักเข้าใจผิดว่า ทนายความที่สามารถถามค้านพยานด้วยเสียงอันดัง  ดูถูกดูหมิ่นพยาน การขู่ตะคอกพยาน คือทนายความที่เก่ง มีความสามารถในการถามค้าน 

แต่ความจริงแล้ว ทนายความที่ถามพยานในลักษณะดังกล่าวข้างต้น คือทนายความที่ไม่ได้ความ และการถามในลักษณะดังกล่าว มักไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แห่งคดีอันใด นอกจากความสะใจหรือความคิดว่าตนเองเก่งแบบหลอกตนเองเท่านั้น 

เพราะหากคุณถามด้วยท่าทีอันเป็นปฏิปักษ์ ด้วยถ้อยคำเสียดสี การขู่ตะคอก พยานก็มักจะมีความรู้สึกต่อต้าน ไม่ตอบข้อความมันเป็นประโยชน์กับคุณ และพยายามหาทางตอบเป็นผลร้ายกับคุณอยู่เสมอ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ตามธรรมชาติ

 แต่ในทางกลับกัน หากคุณถามพยานด้วยความสุภาพ นุ่มนวล ด้วยถ้อยคำน้ำเสียงที่เป็นเป็นมิตร  ใช้กิริยาท่าทางแบบปกติเหมือนคำถามที่ไม่ได้มีอะไร โอกาสที่พยานจะเบิกความเป็นประโยชน์กับคุณ หรือเบิกความคล้อยตามไปตามคำถามของคุณ ก็จะมีโอกาสสูงมาก เพราะเขาคิดว่าคำตอบที่ตอบไปไม่ได้เป็นโทษอะไรกับตัวเขาเอง หรือคู่ความฝ่ายของเขา 

คำถามแบบเดียวกัน หากถามด้วยน้ำเสียงที่แข็งกร้าว กิริยาท่าทางที่ดุดัน อาจจะได้คำตอบแบบนึง แต่หากถามด้วยท่าทีสบายๆ น้ำเสียงสุภาพ ก็อาจจะได้คำตอบอีกแบบหนึ่ง ซึ่งธรรมดาแล้วการถามแบบสุภาพจะได้รับคำตอบที่ดีกว่าเสมอ เพราะพยานจะไม่มีความรู้สึกต่อต้าน และมักจะไม่รู้ว่าคำตอบที่จะตอบนั้นอาจส่งผลกระทบหรือผลเสียต่อรูปคดีของตนเอง 

ดังนั้นจำไว้ว่า การถามพยานด้วยน้ำเสียงดังๆ ข่มขู่พยาน หรือตะคอกใส่พยาน ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับรูปคดีเลย แต่กลับจะทำให้ศาลตำหนิติติงท่านและเห็นใจพยานมากกว่า การถามพยานด้วยถ้อยคำสุภาพ กิริยาท่าทางแบบมีมารยาทจะเกิดประโยชน์ในการทำงานมากที่สุดครับ 


5.และไม่แสดงอาการยินดียินร้ายบนใบหน้า

ในการถามพยานนั้น ทนายความจะต้องจำไว้ว่า ต้องรักษากิริยาอาการให้นิ่งสุขุม ไม่แสดงอาการยินดียินร้ายให้ปรากฏในใบหน้าและท่าทาง ตลอดระยะเวลาการถามค้าน 

ทั้งนี้เพราะถ้าหากท่านแสดงความดีใจอย่างออกนอกหน้า หรือแสดงการเยาะเย้ยพยานฝ่ายตรงข้าม เมื่อพยานฝ่ายตรงข้ามเบิกความเป็นที่เสียหายแก่รูปคดี ก็เท่ากับท่านได้บอกให้พยานและทนายฝ่ายตรงข้าม รู้ว่าตนเองเบิกความผิดพลาดในช่วงตอนไหน ซึ่งพยานฝ่ายตรงข้ามก็จะพยายามหาทางอธิบายแก้ หรือทนายความฝ่ายตรงข้ามก็จะพยายามถามติง เพื่อแก้ไขในประเด็นดังกล่าวให้หนักหน่วง 

ในทางกลับกันหากท่านไม่แสดงความดีใจ วางท่าทีเฉยๆเสีย บางทีพยานอาจจะไม่ได้รู้ตัวว่าตนเองต่อผิดพลาดไปแล้ว หรือทนายความฝ่ายตรงข้ามอาจจะไม่รู้ว่าพยานตอบผิดพลาดในประเด็นนี้และไม่ได้ถามติงในประเด็นนี้ 

หรือถ้าหากท่านแสดงความใจเสียหรือตกใจให้เป็นที่ปรากฏชัดเจน  ในขณะที่ถามค้านพยานและพยานตอบคำถามค้านในส่วนที่เป็นผลร้ายกับรูปคดี ก็เท่ากับท่านบอกพยานและทนายความฝั่งตรงข้ามว่า จุดอ่อนของท่านคือตรงนี้ ซึ่งพยานก็จะพยานก็จะพยายามเบิกความย้ำในประเด็นเรื่องนี้ รวมทั้งฝ่ายตรงข้ามก็พยายามถามติงให้พยานเบิกความเพิ่มเติมในประเด็นนี้ 

ในทางกลับกันหากท่านแสดงท่าทีวางเฉย ไม่แสดงอาการยินดียินร้าย ในขณะที่พยานเบิกความเป็นที่เสียหายแก่รูปคดีของท่าน พยานก็อาจจะไม่ได้เบิกความขยายความต่อในประเด็นนี้ ให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติมขึ้นมาอีก 

ดังนั้นแล้ววิธีการที่ถูกต้องในการวางตัวขณะถามค้านพยาน ท่านจะต้องทำตัวเหมือนคนเล่น ไพ่ poker ไพ่เผ หรือเก้าเก ที่จะต้องอุบไต๋ รักษาอาการไม่แสดงอาการยินดียินร้าย ไม่ว่าสถานการณ์หรือไพ่ในมือจะเป็นอย่างไร 

และจำไว้ว่าในการถามค้านพยาน วัตถุประสงค์ของเราเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่รูปคดี และเพื่อให้เกิดผลสุดท้ายคือเราชนะคดี เราไม่ได้ถามค้านพยานเพื่อโชว์หรือแสดงความสามารถให้ลูกความหรือบุคคลอื่นเห็นแต่อย่างใด 


6.เทคนิคเฉพาะในการถามค้านให้พยานเบิกความขัดแย้งกับพยานวัตถุและพยานเอกสาร 

ในการถามค้านพยานเพื่อให้พยานเบิกความขัดแย้งกับพยานวัตถุ หรือพยานเอกสาร เช่นคำเบิกความที่พยานเคยเบิกความในคดีอื่น หรือคำให้การที่พยานเคยให้ไว้ในคดีอื่น เอกสารที่เคยจัดทำกันไว้ หรือเอกสารที่พยานเคยเป็นคนทำ คลิปเสียง คลิปวีดีโอ หรือหลักฐานอื่นที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ 

หากเรามีเจตนาที่จะถามค้านพยาน เพื่อให้พยานเบิกความขัดแย้งไม่ตรงกันกับเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าว เราจะต้องห้ามไม่ให้พยานเห็นเอกสารหลักฐานนั้นก่อนเด็ดขาด หรือถ้าจะให้ดีต้องอย่าให้พยานรู้ว่า เราจะเอาเอกสารหลักฐานนั้นมาใช้ในการถามค้าน

เพราะหากเรานำเอกสารหลักฐานนั้นไปใช้จ่ายการถามค้านก่อน และพยานเห็นเอกสารหลักฐานดังกล่าวแล้ว ในการตอบคำถามค้านคำต่อๆไป พยานจะเบิกความให้สอดคล้องไปกับเอกสารหลักฐานนั้น ซึ่งก็จะไม่เกิดประโยชน์อันใด 

ดังนั้นวิธีการที่ถูกต้องในการถามค้านพยานเพื่อให้เบิกความขัดแย้งกับพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ ท่านจะต้องถามถึงเนื้อหาต่างๆให้พยานเบิกความไปก่อน โดยจะต้องพยายามใช้คำถามนำ ให้พยานเบิกความขัดแย้งกับข้อความหรือเนื้อหาในพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ 

แล้วหลังจากนั้นท่านจึงค่อยเอาพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ มาถามค้านปิดท้ายเพื่อให้พยานเบิกความรับรอง ด้วยวิธีนี้จะทำให้ศาลเห็นอย่างชัดเจนว่า  พยานปากนี้เป็นพยานเบิกความเท็จขัดแย้งกับพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ 

ตัวอย่างเช่น เรามีคลิปวีดีโออยู่ 1 ตัว ที่แสดงให้เห็นว่าขณะเกิดเหตุพยานไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุเลย เช่นนี้ ในการถามค้านเราควรจะใช้วิธีถามค้านพยานดังนี้

  • พยานอยู่ในที่เกิดเหตุนะครับ 
  • พยานนั่งอยู่บริเวณเก้าอี้ข้างนาย ก. นะครับ 
  • พยานนั่งอยู่ตรงนั้นตลอดเวลาไม่ได้เดินไปไหนเลยนะคับ
  • ตรงบริเวณดังกล่าวเห็นเหตุการณ์ชัดเจนนะครับ 

ซึ่งถ้าหากพยานตอบว่าใช่ในทุกคำถาม หลังจากนั้นเราจึงค่อยนำคลิปวีดีโอมาเปิดให้พยายามดูให้เบิกความรับรองว่า เป็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ แต่ไม่ปรากฏว่าพยานนั่งอยู่ข้างๆ นาย ก. เลย และบริเวณที่นายก.นั่งอยู่ก็จะไม่เห็นเหตุการณ์ชัดเจน 

ถ้าหากเรานำคลิปวีดีโอไปเปิดให้พยานดูก่อน พยานก็อาจจะเบิกความบ่ายเบี่ยงว่าตนเองอยู่ในมุมอื่นที่ไม่ปรากฏในกล้อง หรือเบิกความบ่ายเบี่ยงไปเป็นอย่างอื่นได้โดยง่าย 

ดังนั้นจำไว้ว่าในการถามค้านพยานเพื่อให้พยานเบิกความขัดแย้งกับพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ เราจะต้องถามรายละเอียดของพยานให้ชัดเจนครบทุกด้านก่อนแล้วจึงค่อยนำเอกสารหรือพยานวัตถุนั้นให้พยานดู 


7.เทคนิคเฉพาะในการถามค้านพยานคู่ 

ในกรณีที่เราต้องการถามค้านพยานคู่ คือพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์เดียวกัน แล้วได้มาเบิกความในคราวเดียวกัน มีเทคนิคที่เราจะต้องรู้หลายอย่างดังนี้ 

อย่างแรก เราจะต้องถามค้านพยานปากแรกไว้ให้ละเอียด ตั้งแต่เรื่องก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ หลังเกิดเหตุ รวมทั้งบุคคล วัตถุ สิ่งของ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทั้งหมดเพื่อให้พยานปากแรกเบิกความไว้อย่างละเอียด 

หลังจากนั้นเมื่อพยานปากที่ 2 หรือพยานปากอื่นๆที่อ้างว่ารู้เห็นเหตุการณ์ในคราวเดียวกันมาเบิกความ เราก็จะใช้วิธีการถามรายละเอียดแบบเดิมโดยใช้คำถามชุดเดิม 

หาพยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ด้วยกันจริง อยู่ในเหตุการณ์และพบเห็นเหตุการณ์ด้วยกันก็จะเบิกความในสาระสำคัญสอดคล้องต้องกัน 

แต่ในทางกลับกัน หาพยานคู่เป็นพยานเท็จหรือไม่ได้รู้เห็นเหตุการณ์เดียวกันทั้งหมด แต่มารับสมอ้างอ้างว่ารู้เห็นเหตุการณ์ เช่นนี้พยานก็จะเบิกความขัดแย้งกันในข้อสาระสำคัญเกือบทั้งหมด 

โดยท่านอาจารย์หลวงสัตยุทธชำนาญ ได้กล่าวไว้ในหนังสือวิชาข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นตำราอันทรงคุณค่าสำหรับทนายความในการถามค้านว่า 

การที่บุคคลใดจะอ้างว่ารู้เห็นเหตุการณ์ใดเป็นเรื่องง่าย แต่การที่จะให้เหตุผลสอดคล้องต้องกันเหมือนกันทั้งหมดเป็นเรื่องยาก 

ตัวอย่างเช่น 

การที่นายตำรวจ 2 คนจะมาเบิกความว่า ได้จับกุมจำเลยซึ่งเป็นคนร้ายพร้อมกับยาเสพติดได้นั้น หากนายตำรวจ 2 คนนี้ได้จับกุมจำเลย พร้อมยาเสพติดได้จริงเมื่อมาเบิกความที่ศาล ทั้งสองคนย่อมจะเบิกความถึงรายละเอียดต่างๆในสาระสำคัญได้สอดคล้องต้องกัน 

เช่น สาเหตุที่เข้าไปจับกุม เหตุการณ์ขณะจับกุม เหตุการณ์หลังจับกุม บุคคล วัตถุ และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมทั้งหมด 

แต่ถ้าหากตำรวจ 2 คนนี้ไม่ได้เข้าไปจับกุมคนร้ายจริง เพียงแต่ลงชื่อในบันทึกจับกุม หรือเป็นการยัดยาเสพติดให้กับคนร้ายและเตี๊ยมกันมาเบิกความ 

เช่นนี้หากทนายความรู้จักใช้คำถามสอบถามรายละเอียดพยาน 2 ปากนี้อย่างถูกต้อง พยานทั้งสองฝ่ายจะต้องเบิกความขัดแย้งกันในสาระสำคัญอย่างแน่นอน 

ทั้งนี้การขัดแย้งกันของพยานคู่ที่จะทำให้ศาลไม่รับฟังหรือพยานคู่ไม่น่าเชื่อถือนั้น จะต้องเป็นการขัดแย้งกันในข้อสาระสำคัญ ไม่ใช่แต่เพียงพลความ

ซึ่งในประเด็นนี้ผมเคยได้เขียนบทความเลยแล้วสามารถติดตามอ่านได้ใน บทความเรีื่อง “หลักการรับฟังพยานบุคคลเมื่อพยานคู่เบิกความขัดแย้งกัน”


8.รู้จักหยุดเมื่อควรจะต้องหยุด 

การถามค้าน เมื่อพยานเบิกความตอบคำถามค้านจนได้ประโยชน์จากพยานแล้ว เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งควรจะหยุดไม่ควรถามต่อไป เพราะหากท่านป้อน ต่อเนื่องไปเรื่อยๆจากที่ได้ประโยชน์อาจจะกลายเป็นเสียประโยชน์ก็ได้

เพราะการถามค้านพยานให้ได้ประโยชน์นั้น จะต้องไม่ให้พยานรู้ว่าคำตอบที่ตนเองตอบนั้น เป็นผลเสียกับรูปคดีของฝ่ายตนเอง เพราะว่าธรรมดาพยานฝั่งใดก็มักจะเบิกความเพื่อให้เกิดประโยชน์กับคู่ความฝั่งของตนเอง

ธรรมดาแล้วการที่เราซึ่งเป็นทนายความฝั่งตรงข้ามจะถามค้านเขานั้น จะถามพยานได้คำตอบที่เป็นประโยชน์กับรูปคดีของเรา ก็จะต้องระวังไม่ให้เขารู้ว่าคำตอบที่เขาจะตอบนั้นจะเกิดผลเสียกับฝ่ายของเขาหรือเป็นผลดีกับฝ่ายเรา

คำถามที่พยานจะสะดวกใจที่จะตอบมากที่สุด ให้คำตอบได้ง่ายที่สุด ก็คือคำถามที่พยานไม่รู้ว่าจะเป็นโทษแก่ฝ่ายเขาเอง หรือคำถามที่จะเป็นประโยชน์กับฝ่ายเรา 

ดังนั้นแล้วเมื่อเราถามค้านพยานไปจนได้ประโยชน์จากพยาน เพราะพยานตอบโดยที่ไม่รู้ว่าคำถามนั้นเป็นโทษกับฝ่ายตัวเองหรือเป็นประโยชน์กับฝ่ายเราแล้ว เราจะต้องคอยชั่งใจอยู่เสมอว่าควรจะหยุดเมื่อไหร่ 

เพราะหากเราไม่หยุดและถามในประเด็นนั้นต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสุดท้ายพยานรู้ตัวว่าคำตอบที่ตนเองต่อไปทั้งหมดนั้นเป็นโทษกับฝ่ายตัวเอง หรือเป็นคุณกับฝ่ายตรงข้าม พยานก็มักจะเบิกความอธิบายหรือเบิกความเอาเสียใหม่ เพื่อให้เป็นโทษกับฝ่ายเราหรือเป็นคุณกับฝ่ายตัวเอง 

ตัวอย่างเช่น คดีฆาตกรรม เรากำลังถามประจักษ์พยานโจทก์ปากเอกเพื่อให้เห็นว่าไม่สามารถจดจำตัวจำเลยได้ 

เราถามว่า 

  • พยานไม่เคยพบจำเลยมาก่อนใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ 
  • ขณะเกิดเหตุพยานมีอาการมึนเมาใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ 
  • เหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วมากเลยใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ 
  • แสงไฟในที่เกิดเหตุค่อนข้างจะสลัวสลัวใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ 
  • จำเลยใส่แว่นดำปิดบังหน้าอยู่ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ 

เท่านี้จะถือว่าพยานเบิกความเป็นประโยชน์กับเรามากอยู่แล้ว หากเรายังไม่พอยังถามครั้งต่อไปในคำถามที่ว่า 

“สรุปแล้ววันเกิดเหตุพยานก็จำตัวจำเลยไม่ได้ใช่หรือไม่” 

เช่นนี้พยานอาจจะเบิกความอธิบายไปเลยว่า ” จำได้ครับ เพราะก่อนเกิดเหตุถึงแม้ว่าจะไม่ได้พบกับจำเลยมาก่อน แต่ในวันเกิดเหตุก็นั่งดื่มเหล้าอยู่ด้วยกัน ตั้งหลายชั่วโมง ตั้งแต่แสงไฟยังสว่าง และขณะนั้นจำเลยก็ถอดแว่นมองเห็นหน้าถนัดชัดเจน” 

เช่นนี้ก็จะเห็นได้ว่าคำเบิกความตอบคำถามค้านที่ท่านพยายามถามมาทั้งหมดเป็นอันหมดประโยชน์ ใช้อะไรไม่ได้เลย แล้วจะเป็นโทษแก่รูปคดีของท่านด้วย 

ดังนั้นจงจำไว้ว่า ในการถามค้านพยาน จะต้องระมัดระวังไม่ให้พยานรู้เจตนาของคำถามของเราว่าเจตนาที่เราต้องการถามนั้นเพื่ออะไร แล้วเมื่อได้คำตอบที่เป็นประโยชน์กับรูปคดีแล้ว จะต้องรู้จักพอรู้จักหยุดเมื่อถึงจังหวะควรจะต้องหยุด 


9.การถามค้าน เพื่อประโยชน์ในการใช้สิทธินำสืบต่อไป 

ในกรณีที่เราเป็นฝ่ายที่จะต้องสืบพยานทีหลัง มีเทคนิคที่เราจะต้องรู้ไว้ก็คือ เราจะต้องถามค้านพยานฝ่ายตรงข้าม ถึงข้อเท็จจริงที่เราต้องการนำสืบ และอยู่ในความรู้เห็นของพยานฝ่ายนั้น เพื่อให้พยานได้เบิกความอธิบายก่อนที่เราจะนำสืบ 

หากเราไม่ถามค้านพยานฝ่ายตรงข้ามถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ แต่เรากลับมานำสืบเองในภายหลังโดยไม่ให้โอกาสพยานฝ่ายตรงข้ามได้อธิบายในประเด็นดังกล่าว การนำสืบของเราจะไม่มีน้ำหนักน่ารับฟัง เพราะเท่ากับว่าเราจะเป็นการเล่าความดังกล่าวแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่เปิดโอกาสให้พยานฝ่ายตรงข้ามได้อธิบาย 

ตัวอย่างเช่น คดีเกี่ยวกับเรื่องลักทรัพย์นายจ้าง 

โจทก์ได้นำพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาเบิกความเป็นพยาน 

ซึ่งทนายความจำเลย เมื่อซักถามพยานโจทก์ปากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ไม่ได้ซักค้านในประเด็นว่า ตามระเบียบข้อบังคับและแนวทางปฏิบัติ หลัง 20:00 น ประตูทั้งหมดจะล็อค พนักงานคนอื่นจะไม่สามารถเข้าออกที่บริษัทได้ 

ต่อมาทนายความจำเลย ได้นำพยานของตนเองเข้านำสืบถึงระเบียบข้อบังคับดังกล่าว เช่นนี้น้ำหนักในการรับฟังพยานหลักฐานย่อมลดลง เพราะทนายความจำเลยไม่ได้ถามค้านเพื่อให้พยานฝั่งโจทก์อธิบายถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย 

แต่ในทางกลับกัน หากทนายความจำเลยได้ถามพยานโจทก์ปากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ว่าในขณะเกิดเหตุ เป็นเวลาหลัง 2 ทุ่มแล้วประตูทั้งหมดจะล็อคพนักงานคนอื่นไม่สามารถเข้าออกที่บริษัทได้ใช่หรือไม่ 

หากพยานตอบว่าใช่ ก็จะเป็นประโยชน์แก่รูปคดีของฝั่งจำเลยและข้อนำสืบของจำเลยในภายหลัง 

แต่ถึงพยายามจะตอบว่าไม่ใช่และอธิบายเป็นอย่างอื่น  ก็ถือว่าทนายความจำเลยได้เปิดโอกาสให้พยานฝั่งโจทก์ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงจากฝั่งของเขาแล้ว เป็นหน้าที่ของศาลที่จะชั่งน้ำหนักว่าจะเชื่อพยานฝั่งไหน 

แต่หากทนายความจำเลยไม่ถามค้านในประเด็นดังกล่าวเพื่อให้พยานได้อธิบายไว้และนำสืบเองคนเดียวภายหลัง ก็จะเป็นการไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ 

นอกจากนี้ หากในเหตุการณ์ใดเราจะนำพยานบุคคลซึ่งอยู่ในเหตุการณ์เดียวกับพยานโจทก์นำสืบ เราก็ต้องถามให้พยานโจทก์ยอมรับด้วยว่า วันเกิดเหตุพยานที่เราจะนำมาสืบมันอยู่ในเหตุการณ์ด้วย 


10.ใช้คำถามตามลักษณะของพยาน

การถามค้าน เราควรจะเลือกใช้คำถามที่เหมาะสมกับลักษณะของพยานแต่ละประเภท เพื่อที่จะเลือกใช้คำถามและวิธีการถามได้อย่างถูกต้อง 

การที่จะรู้ว่าพยานคนไหนเป็นพยานประเภทไหนนั้น ขึ้นอยู่กับการเตรียมคดีมาตั้งแต่ต้น ส่วนหนึ่ง และการนั่งฟังคำเบิกความของพยานในตอนที่พยานถูกซักถามโดยทนายความฝั่งที่อ้างมา อีกส่วนหนึ่ง 

หากเราเตรียมคดีมาดี และตั้งใจฟังคำถามคำตอบของพยานฝ่ายตรงข้าม เราจะรู้ทันทีว่าพยานดังกล่าวเป็นพยานประเภทไหน เช่น พยานเท็จ พยานที่ยังเบิกความไม่หมด พยานที่เบิกความเข้าใจผิด เป็นต้น

ซึ่งเมื่อเรารู้แล้วว่าเป็นพยานแบบไหน เราก็จะต้องเลือกใช้คำถามให้ถูกต้องกับพยานประเภทนั้น 

พยานที่เป็นพยานเท็จ เราก็ต้องใช้วิธีเบิกความถามค้านเพื่อจับเท็จพยาน เพื่อให้พยานเบิกความขัดแย้งกับ พยานบุคคล พยานวัตถุ พยานเอกสาร 

พยานที่เป็นพยานเบิกความจริง เพียงแต่ยังเบิกความไม่หมด เราก็ต้องใช้วิธีถามค้านเพื่อให้พยานเบิกความเล่าข้อเท็จจริงส่วนที่เป็นประโยชน์กับเราเพิ่มเติมขึ้นมา 

พยานที่ไม่ได้ตั้งใจเป็นพยานเท็จ แต่เบิกความไปด้วยความเข้าใจผิด เราก็ต้องใช้วิธีถามค้าน เพื่อให้เห็นว่ายังมีความเป็นไปได้อย่างอื่นนอกเหนือจากที่พยานเข้าใจ หรือมีปัจจัยอื่นที่ทำให้เห็นว่าพยานน่าจะเข้าใจผิด 

พยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม พวกนี้เป็นพยานอาชีพที่มีความจัดเจนในการตอบคำถามค้าน การถามค้านให้แตก หรือเบิกความขัดแย้งกันไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องใช้ความพยายามในการจับเท็จมากกว่าพยานปกติ ต้องซักถามให้ละเอียด 

พยานที่เป็นชาวบ้านไม่มีความรู้ มีความตื่นกลัวศาล เราต้องค่อยๆถาม ใช้คำถามแบบสั้นๆง่ายๆ คอยปลอบให้พยานให้การไปตามความจริง 

พยานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ก็ต้องถามค้านถึงความรู้ความสามารถ เหตุผลทางวิชาการ ตำราที่อ้างอิงและความเป็นไปได้อย่างอื่น 


11.ทดสอบความรู้เห็นของพยานด้วยการตั้งคำถามแบบไม่เรียงลำดับ 

ธรรมดาแล้วในเวลาที่เราซักถามพยานฝ่ายของเราเอง เราควรจะตั้งคำถามให้เป็นไปตามลำดับเหตุการณ์เพื่อให้พยานสามารถเรียบเรียงข้อเท็จจริงและเล่าเรื่องราวได้โดยสะดวก 

ในการถามค้านพยาน ธรรมดาแล้วเราก็จะไล่ซักไปตามประเด็นข้อเท็จจริงในแต่ละเรื่องตามที่เราตั้งรูปคดีเข้ามา แต่เราไม่จำเป็นต้องถามค้านตามลำดับแต่อย่างใด

เราอาจจะสำคัญสลับลำดับกัน เพื่อจับเท็จ หรือเพื่อดูว่าพยานเบิกความไปตามความเป็นจริงหรือไม่ก็ได้ 

ทั้งนี้เพราะพยานที่เป็นพยานเท็จนั้น มักจะถูกซักซ้อมมาให้เบิกความตามลำดับเหตุการณ์ โดยที่ตนเองไม่ได้รู้เห็นเหตุการณ์นั้นจริงๆ เมื่อตนเองได้ถูกถามค้านโดยไม่ได้ไล่เรียงตามลำดับเหตุการณ์ ก็มักจะเบิกความผิดพลาดหรือสับสน เพราะตนเองไม่ได้รู้เห็นเหตุการณ์จริง 

ตัวอย่างเช่น  เราอาจจะถามถึงเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุก่อน แล้วค่อยไปถามถึงเหตุการณ์ก่อนเกิดเหตุ  หรือเราอาจจะถามถึงเหตุการณ์ภายหลังเกิดเหตุก่อน  แล้วค่อยไปถามถึงเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ 

เช่นนี้หากพยานที่เบิกความไปตามความเป็นจริง ไม่ว่าเราจะสลับคำถามอย่างไร พยานก็จะเบิกความตอบคำถามได้อย่างถูกต้อง เพราะตนเองรู้เห็นเหตุการณ์นั้นจริง แต่หากพยาน ไม่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวจริง พยานก็มักจะตอบผิดพลาดหรือขัดแย้ง 

อย่างไรก็ตามในขณะที่เราใช้เทคนิคนี้ เราเองก็ต้องห้ามสับสนหรือหลงลืมประเด็น เพราะหากเราใช้เทคนิคนี้แล้วปรากฏว่าเราลืมกลับมาถามเหตุการณ์ในตอนต้น ก็จะทำให้เราตกหล่นประเด็นในตอนต้นไป สำหรับเทคนิคนี้ไม่ได้เป็นเทคนิคที่ผมได้ใช้บ่อยนะเพราะผมไม่ค่อยถนัดถามค้านด้วยวิธีนี้ครับ  


12.สุขุมเยือกเย็น รู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อเมื่อผู้พิพากษาไม่เป็นใจ หรือเจอพยานยียวน

สำหรับเทคนิคข้อสุดท้าย ที่ผมจะฝากไว้ก็คือ ระหว่างถามค้าน ท่านจะต้องสุขุมเยือกเย็น ไม่มีอารมณ์โกรธเข้ามาเกี่ยวข้อง 

เพราะธรรมดาแล้วเวลาเราถามค้านพยาน หลายครั้งเราจะเห็นอยู่ชัดเจนว่าพยานโกหก หรือพูดเท็จจนน่าโมโห หรือพยานพยายามยียวน ตอบไม่ตรงคำถามของเรา แกล้งย้อนถามเรากลับ หรือตอบแบบหาเรื่องเรา 

จำไว้ว่าเราไม่ควรไปมีอารมณ์โต้ตอบกับพยาน เพราะการที่เราไปใส่อารมณ์โมโห หรือมีอารมณ์โกรธขึ้นจะทำให้การทำงานเกิดโอกาสผิดพลาดได้มาก แล้วทำให้ถูกศาลมองในภาพที่ไม่ดี 

หากเราเจอพยานที่ยียวน หรือตอบไม่ตรงคำถาม เราจะต้องบอกกับพยานด้วยความสุภาพว่า ขอให้พยายามช่วยตอบให้ตรงคำถามด้วยครับ และหาพยานยังไม่ยอมตอบอีก ก็ขอให้ศาลกำชับพยาน 

การที่พยานแสดงอาการพยศเช่นนี้บ่อยๆ จะทำให้ศาลมองพยานในแง่ที่ไม่ดี และหากเราไม่ไปทะเลาะโต้เถียงกับพยาน แก้ปัญหาอย่างสุภาพชนด้วยวิธีการตามกฎหมายก็จะทำให้ศาลมองเราในแง่ที่ดี 

และหากเราจะต้องเจอกับผู้พิพากษาที่ไม่เป็นใจ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดๆ เช่น

ผู้พิพากษาที่ไม่ยอมจดบันทึกคำตอบพยานเมื่อเราถามค้าน 

ผู้พิพากษาที่คอยขัดหรือคอยห้าม เมื่อเราถามพยานโดยอ้างว่าไม่เกี่ยวกับประเด็นในคดี ทั้งๆที่เป็นคำถามที่เกี่ยวข้องในประเด็นหรือเป็นคำถามนำที่จะใช้ต้อนพยาน 

หากเราจะต้องเจอกับสถานการณ์ที่ผู้พิพากษาไม่เป็นใจในการถามค้านพยานเช่นนี้ เราก็ไม่ควรมีอารมณ์โกรธหรือไปโต้เถียงกับศาล แต่ควรจะพูดคุยกับท่านผู้พิพากษาด้วยความเคารพ และพยายามชี้แจงประเด็นให้ท่านทราบ เช่น

ขออนุญาตอธิบายท่านด้วยความสุภาพว่าคำถาม-คำตอบ ที่ท่านไม่จด นั้นมีความสำคัญหรือมีประเด็นเกี่ยวเนื่องในคดีอย่างไร และขออนุญาตให้ท่านช่วยบันทึกคำถามหรือคำตอบนั้นไว้ โดยขอยืนยันว่าทนายความเป็นคนขอให้บันทึกไว้เอง 

ทั้งนี้สาเหตุที่ผู้พิพากษาไม่จดคำตอบ หรือไม่อนุญาตให้เราใช้คำถาม มักจะมีสาเหตุเนื่องจากท่านผู้พิพากษานั้น ไม่ทราบว่าคำถามหรือคำตอบของเรามีความสำคัญหรือเกี่ยวเนื่องกับคดีอย่างไร เนื่องจากผู้พิพากษานั้นไม่ได้ลงมาสอบข้อเท็จจริงหรือตรวจสอบพยานหลักฐานตั้งแต่ต้นเหมือนกับทนายความ จึงยังอาจไม่เข้าใจเรื่องราวข้อเท็จจริงในคดีทั้งหมด 

ซึ่งถ้าหากท่านทำตามข้อแนะนำของผมตั้งแต่ต้น ด้วยการตั้งประเด็นในการถามค้านอย่างมีวัตถุประสงค์ตั้งแต่แรก และรู้ดีว่าคำถามค้านแต่ละคำถามของตนเองนั้นมีวัตถุประสงค์อย่างไรมีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับคดีอย่างไร ท่านย่อมสามารถอธิบายศาลได้โดยชัดเจน 

และจากประสบการณ์ผม ก็เห็นว่าส่วนใหญ่แล้วผู้พิพากษาแทบจะทุกคน ก็มักจะรับฟังคำอธิบายของทนายความ หากท่านอธิบายด้วยเหตุผลที่หนักแน่น มีข้อมูลอ้างอิง และชี้แจงด้วยความสุภาพให้เกียรติและเคารพศาล 

โดยจะต้องระมัดระวังอยู่อย่างนึงว่าการอธิบายดังกล่าวควรจะต้องขออธิบายส่วนตัวกับศาลไม่ให้พยานได้ยิน เพราะหากเราอธิบายให้พยานได้ยินว่าสาเหตุที่เราถามพยานนั้นเป็นเพราะอะไร  พยานก็จะรู้เจตนาในการถามและเบิกความบ่ายเบี่ยงไป ทำให้เราเสียประโยชน์ 

อย่างไรก็ตามหากท่านจะต้องเจอกับผู้พิพากษาที่ไม่รับฟังคำอธิบาย เอาความเห็นของตนเองเป็นใหญ่แต่เพียงฝ่ายเดียว ท่านจะต้องทำใจให้เย็นไว้ อย่ามีอารมณ์โกรธเด็ดขาด แต่ให้ท่านใช้วิธีการแก้ไขปัญหาด้วยการยื่นคำร้องขอโต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณา หรือเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามกฎหมายต่อไป 


ผมหวังว่าบทความและเทคนิคในการทำงานจากประสบการณ์จริงเช่นนี้ จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆและผู้สนใจทุกคน สำหรับในตอนหน้าผมจะมาเขียนถึงเรื่องการถามติง และการขออนุญาตถาม ขอให้ทุกท่านรอติดตามชมในตอนหน้านะครับ 

 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น