คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

5เทคนิคทางปฏิบัติ การจัดทำ ” คำแถลงเปิดคดี ” เพื่อชี้แจงแนวข้อต่อสู้ก่อนสืบพยาน

คำแถลงเปิดคดี หรือ คำแถลงการณ์เปิดคดี มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงให้ศาลทราบว่าแนวทางข้อต่อสู้และนำสืบพยานของฝ่ายเรานั้นเป็นอย่างไร มีข้อกฎหมายที่ใช้อ้างอิงอย่างไร และมีพยานหลักฐานที่จะนำสืบอย่างไรบ้าง เพื่อศาลที่จะขึ้นนั่งพิจารณาและทำการสืบพยานจะได้เข้าใจรูปคดีเบื้องต้นและเข้าใจประเด็นข้อต่อสู้ของเรา

ซึ่งหากศาลเข้าใจรูปคดีเบื้องต้นและเข้าใจประเด็นข้อต่อสู้ของเราแล้ว ในชั้นสืบพยาน ตอนที่เรานำสืบซักถามพยานของเราก็ดี ตอนที่เราถามค้านพยานฝ่ายตรงข้ามก็ดี หรือถามติงก็ดี หรือตอนที่เราทำการอ้างส่งเอกสารหลักฐานต่างๆ ศาลก็จะได้เข้าใจได้ว่า พยานที่เรานำสืบ หรือคำถามของเราเกี่ยวข้องกับรูปคดีของเราอย่างไร และจะได้เปิดโอกาสให้เรานำสืบ หรือถามค้าน หรืออ้างส่งพยานหลักฐานได้อย่างเต็มที่

เพราะบางครั้งหากศาลไม่เข้าใจรูปคดีเบื้องต้นและไม่เข้าใจข้อต่อสู้ของเราแล้ว ศาลอาจจะไม่อนุญาตให้นำสืบพยานบางปาก หรือไม่ให้นำสืบพยานหลักฐานบางอย่าง เพราะเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับรูปคดี หรือตอนที่เราซักถาม ถามค้าน หรือถามติง ศาลอาจจะไม่อนุญาตให้เราใช้คำถามบางคำถาม หรือไม่ยอมจดบันทึกคำเบิกความของพยาน ดังนั้นการคำแถลงเปิดคดี จึงเป็นเทคนิคหนึ่งที่ทนายความควรรู้ และนำไปปรับใช้ในแต่ละคดี

ซึ่งตามความเห็นของผมนั้น การทำคำแถลงเปิดคดีในคดีแพ่งนั้น ไม่ค่อยจะมีความจำเป็นเท่าใดนัก เพราะในคดีแพ่ง จะปรากฎรูปคดีเบื้องต้นและแนวข้อต่อสู้ของแต่ละฝ่าย อยู่ในคำฟ้องและคำให้การอยู่แล้ว เพราะการจัดทำคำฟ้อง คำให้การ ในคดีแพ่งจะจัดแบบค่อนข้างละเอียด แต่ในคดีอาญานั้น การจัดทำคำฟ้องโดยเฉพาะคำฟ้องของพนักงานอัยการจะทำในลักษณะของการย่อความ โดยจะมีเนื้อหากระชับ แทบจะไม่ปรากฎรายละเอียดเชิงลึกใดๆ และในทำนองเดียวกัน การให้การปฏิเสธในคดีอาญาของจำเลย ก็มักจะให้การปฏิเสธแบบสั้นๆ ไม่ลงรายละเอียดเชิงลึกเช่นเดียวกัน

โดย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 174 วางหลักเกี่ยวกับการทำคำแถลงเปิดคดีไว้ว่า

ก่อนนำพยานเข้าสืบ โจทก์มีอำนาจเปิดคดีเพื่อให้ศาลทราบคดีโจทก์ คือแถลงถึงลักษณะของฟ้อง อีกทั้งพยานหลักฐานที่จะนำสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยเสร็จแล้วให้โจทก์นำพยานเข้าสืบ

เมื่อสืบพยานโจทก์แล้ว จำเลยมีอำนาจเปิดคดีเพื่อให้ศาลทราบคดีจำเลย โดยแถลงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายซึ่งตั้งใจอ้างอิง ทั้งแสดงพยานหลักฐานที่จะนำสืบ เสร็จแล้วให้จำเลยนำพยานเข้าสืบ

ดังนั้นในคดีอาญา โดยเฉพาะบางคดีที่มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ซับซ้อน การที่ทนายความจะทำคำแถลงเปิดคดี เพื่อชี้แจงให้ศาลที่่นั่งพิจารณาเข้าใจข้อเท็จจริงเบื้องต้นและประเด็นข้อต่อสู้ของตนเอง ก็จะเป็นประโยชน์ในการนำสืบพยานไม่มากก็น้อย

โดยทางปฏิบัติในการทำ คำแถลงเปิดคดี ไม่มีหลักการตายตัว แต่ผู้เขียนได้รวบรวมเทคนิคทางปฏิบัติจากประสบการณ์ได้ดังนี้

  1. สั้น กระชับ การทำคำแถลงเปิดคดี เป็นเพียงแค่การชี้แจงแนวทางและข้อเท็จจริงเบื้องต้น ไม่ใช่การเขียนเรียงความชี้แจง เพราะรายละเอียดต่างๆ จะต้องไปนำสืบในชั้นพิจารณาอยู่แล้ว ดังนั้นเนื้อหาการเขียนควรสั้น กระชับ จะดีที่สุดครับ เพราะเขียนยาวมาก ศาลอาจจะไม่อ่านไปเลย
  2. ตรงประเด็น เนื้อหาในคำแถลงเปิดคดี จะต้องใส่เฉพาะเนื้อหาสาระสำคัญ เช่นข้อเท็จจริงที่ต้องการให้ศาลทราบ และข้อกฎหมายที่จะใช้อ้างอิง ส่วนเรื่องรายละเอียดปลีกย่อย ไม่ควรใส่เข้าไป
  3. ระบุข้อกฎหมายที่ใช้ต่อสู้ พร้อมกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับแนบคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกันเลย
  4. ระบุข้อเท็จจริงที่เป็นข้ออ้าง พร้อมทั้งชี้แจงว่ามีพยานหลักฐานอะไรบ้างที่จะสนับสนุนข้อเท็จจริงดังกล่าว
  5. ทางปฏิบัติ ควรจะยื่นล่วงหน้าก่อนสืบพยานฝ่ายตนเองไม่น้อยกว่า 7-15 วันเพื่อให้ศาลมีเวลาอ่านเนื้อหาคำร้อง

ในวันนี้ผมได้นำตัวอย่างคำแถลงเปิดคดีของจำเลย ในคดีทำร้ายร่างกายมาให้ดูเป็นตัวอย่างด้วยครับ โดยในคดีดังกล่าว ศาลแจ้งกับผมว่า หลังจากศาลได้อ่านแนวทางการต่อสู้ของจำเลยที่ปรากฏในคำแถลงเปิดคดี ศาลก็เข้าใจแนวทางข้อต่อสู้ของจำเลยเป็นอย่างดี ระหว่างการสืบพยาน ศาลจึงเปิดโอกาสให้ผมถามค้านและนำสืบพยานตามประเด็นข้อต่อสู้ได้อย่างเต็มที่ และปัจจุบันศาลก็มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยแล้วครับ

อ่านตัวอย่าง คำแถลงเปิดคดี

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts