คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

อ้างพยานเอกสารเพิ่มเติมภายหลังจากสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว ทำได้หรือไม่ ? 

ธรรมดาแล้ว การอ้างอิงพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุ ต่อศาล คู่ความจะต้องยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาล ก่อนวันสืบพยานครั้งแรกไม่น้อยกว่า 7 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88

และหากคู่ความฝ่ายใดต้องการที่จะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ก็สามารถยื่นได้ภายในกำหนดไม่เกิน 15 วันนับแต่วันเริ่มสืบพยานครั้งแรก ซึ่งเป็นสิทธิที่คู่ความสามารถทำได้ โดยไม่ต้องอาศัยดุลยพินิจของศาล ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88 วรรค 2

แต่ถ้าเราเพิ่งได้พยานเอกสารที่สำคัญมา ภายหลังจากศาลสืบพยานจนเสร็จสิ้นไปแล้ว และเป็นเวลาเกินกว่ากำหนด 15 วันนับแต่วันสืบพยานครั้งแรก เราจะสามารถยื่นบัญชีระบุพยานและอ้างเอกสารเพิ่มเติมได้หรือไม่ ?

ปัญหาข้อนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88 วรรค 3 วางหลักไว้ว่า ถ้าปรากฏว่ามีเหตุอันสมควรแสดงได้ว่า เราไม่ทราบว่าต้องนำพยานหลักฐานบางอย่างมาสืบ หรือไม่ทราบว่าพยานหลักฐานบางอย่างได้มีอยู่ หรือมีเหตุสมควรอื่นใด เรามีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานที่ได้มาในภายหลังต่อศาล

ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาล ว่าพยานเอกสารหลักฐานดังกล่าวนั้นเป็นประโยชน์ในการชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นไปโดยเที่ยงธรรมหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควรก็อาจอนุญาตให้เราเอาเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมได้ ถึงแม้จะสืบพยานเสร็จสิ้นไปแล้ว

ดังนั้นแล้วหากปรากฏว่า เราพึ่งได้รับพยานเอกสารที่สำคัญมาภายหลังการสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว เราก็ยังมีสิทธิที่จะขออ้างเอกสารหลักฐานดังกล่าวต่อศาล โดยมีวิธีปฏิบัติดังนี้ 

1.เราห้ามยื่นเอกสารหลักฐานดังกล่าวไปลอยๆเด็ดขาด แต่จะต้องทำคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88 วรรค 3 และทำบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ประกอบเข้าไปด้วย

2.ในเนื้อหาคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม จะต้องระบุสาเหตุตามกฎหมาย ว่ามีเหตุสมควรที่ทำให้เราไม่ทราบว่าต้องนำพยานหลักฐานดังกล่าวมาสืบ หรือเราไม่ทราบว่าพยานหลักฐานบางอย่างได้มีอยู่ หรือมีเหตุสมควรอย่างอื่น 

ตัวอย่างสาเหตุอันสมควรตามกฎหมาย เช่น

  • หลังจากทำการสืบพยานไปแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงใหม่ที่ทำให้เราเพิ่งทราบว่า มีความจำเป็นจะต้องอ้างพยานหลักฐานดังกล่าว
  • พยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานที่เพิ่งเกิดภายหลังจากทำการสืบพยานเสร็จสิ้นไปแล้ว
  • พยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานสำคัญ ที่จะทำให้การชี้ขาดประเด็นข้อสำคัญในคดีเป็นไปอย่างยุติธรรม และเป็นเอกสารราชการที่มีความน่าเชื่อถือ

3.นอกจากยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม พร้อมบัญชีระบุพยานต่อศาลแล้ว เราจะต้องทำสำเนาคำร้องและสำเนาบัญชีพยานส่งให้คู่ความฝ่ายตรงข้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 วรรค 2 ด้วย

4.ในส่วนของตัวเอกสาร ผมแนะนำให้ยื่นฉบับจริงหรือสำเนาที่เจ้าหน้าที่รับรองความถูกต้องต่อศาลไปพร้อมกับตัวคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเลย และจะต้องมีสำเนาเอกสารให้กับฝ่ายตรงข้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 90 วรรค 2 ด้วย 

ในวันนี้ผมได้นำตัวอย่างการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมภายหลังจากการที่ศาลสืบพยานเสร็จสิ้นไปแล้วมาให้ดูเป็นตัวอย่างครับ 

ตัวอย่างคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมภายหลังสืบพยานเสร็จสิ้น 

คดีนี้ผมเป็นทนายความของจำเลย โดยเป็นคดีแบ่งสินสมรสมูลค่าหลายสิบล้านบาท ฝ่ายโจทก์ได้ทำการฟ้องร้องทั้งคดีแพ่งเรื่องแบ่งสินสมรสและคดีอาญาข้อหายักยอกกับตัวจำเลย

แต่เนื่องจากคดีแพ่งนั้นไม่ใช่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา (สิทธิในการเรียกร้องสินสมรส ไม่ได้เกิดจากการกระทำผิดฐานยักยอก) แต่มีเนื้อหาคดีเกี่ยวข้องกันอยู่จึงได้ทำการสืบพยานคดีแพ่งและอาญาแยกจากกัน 

ปรากฎว่าหลังจากทำการสืบพยานคดีแพ่งเสร็จสิ้นไปแล้ว ในคดีอาญาศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลย ผมจึงได้ยื่นบัญชีระบุพยานและข้ออ้างเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมคือ คำพิพากษาในคดีอาญาซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากการสืบพยานคดีแพ่งเสร็จสิ้นไปแล้ว ซึ่งศาลก็มีคำสั่งอนุญาต

และในคดีดังกล่าวศาลพิพากษาให้ผมชนะคดีแพ่ง และได้สินสมรสคืนมามูลค่าหลายสิบล้านซึ่งเนื้อหาคดีนี้ผมจะนำมาเผยแพร่ ให้ศึกษากันต่อไปครับ 

ซึ่งเทคนิคดังกล่าว เพื่อนๆสามารถนำไปปรับใช้ในคดีของตนเองได้ และหวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการทำงานครับ

ตัวอย่างคำพิพากษาและคำสั่งของศาลฎีกา

คำสั่งคำร้องที่ 402/2513
ศาลฎีกาอาจอนุญาตให้คู่ความอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาในสำนวนคดีอื่นเป็นพยานหลักฐานได้ เมื่อคู่ความนั้นอ้างว่าไม่สามารถอ้างก่อนศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาเพราะตนเพิ่งได้ทราบคำพิพากษาฎีกานั้น
คำพิพากษาฎีกาที่ 770/2520
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240(2) ประกอบด้วยมาตรา 88 วรรคสาม ศาลอุทธรณ์มีอำนาจอนุญาตให้คู่ความอ้างพยานเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  587/2509

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88วรรค 3นั้น ถ้าคู่ความที่มิได้ระบุอ้างพยานก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า3 วัน ขออนุญาตระบุพยานก่อนศาลพิพากษาคดีศาลอาจอนุญาตตามคำขอได้เมื่อมีเหตุอันสมควรและศาลเห็นว่าเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จำเป็นจะต้องสืบพยานเช่นว่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6006/2548

การที่ผู้ร้องอ้างเอกสารเพิ่มเติมโดยอ้างว่าเพิ่งค้นพบภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วจะต้องทำเป็นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้นต่อศาลพร้อมกับบัญชีระบุพยานและสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคสาม ศาลจึงจะวินิจฉัยได้ว่าสมควรอนุญาตตามคำร้องหรือไม่ แต่คดีนี้ผู้ร้องเพียงอ้างระบุในอุทธรณ์ว่ามีสำเนาสูติบัตร ขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเอกสารดังกล่าวและมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานดังกล่าวและมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานพร้อมสำเนา ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจอนุญาตให้ผู้ร้องอ้างพยานเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์ได้ ทำให้คดีไม่มีพยานหลักฐานใหม่ ไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 240 (2)

 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts