คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

การทำคำฟ้องและคำให้การ แบบ 4 ขั้นตอนทางปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

คำฟ้อง และ คำให้การ นั้นเป็นคำคู่ความเปิดคดี กล่าวคือเป็นเอกสารฉบับแรกที่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดี และฝ่ายตรงข้ามนั้นจะได้เห็น และคำฟ้องและคำให้การนั้นจะอยู่ติดกับสำนวนคดีของท่านไปจนคดีสิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็นในชั้นอุทธรณ์ ฎีกา หรือการขอพิจารณาคดีใหม่

ซึ่งหาก คำฟ้อง หรือ คำให้การ ทำไว้อย่างรัดกุมถูกต้องครบถ้วนก็จะทำให้ผู้พิพากษาเข้าใจข้อเท็จจริงที่เราต้องการนำเสนอได้อย่างถูกต้องและมีโอกาสสูงที่ศาลจะคล้อยตามเราในการพิจารณาพิพากษาคดีหรือการไกล่เกลี่ยประนีประนอม และทำให้ฝ่ายตรงข้ามเห็นว่ารูปคดีของเราหนักแน่น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ในคดีแพ่ง คำฟ้อง หรือ คำให้การ เป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้โอกาสแพ้หรือชนะในคดี เพราะการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณานั้นจะต้องนำสืบตามที่ปรากฏในคำฟ้องหรือคำให้การไม่สามารถนำสืบพยานหลักฐานนอกฟ้องนอกคำให้การหรือขัดกับคำฟ้องหรือคำให้การได้ 

ดังนั้นแล้วการทำคำฟ้องหรือคำให้การจึงเป็นเรื่องที่สำคัญในการต่อสู้คดี การจัดทำคำฟ้องและคำให้การที่ดีตั้งแต่ต้นจะทำให้คดีมีโอกาสสูงที่ประสบความสำเร็จ ในทางกลับกันการจัดทำคำฟ้องและคำให้การที่ไม่ละเอียดรอบคอบไม่รัดกุมจนจะทำให้มีโอกาสสูงที่จะทำให้คดีของท่านเสียหายได้

สำหรับตัวผู้เขียนเองนั้นแนวปฏิบัติและวิธีการในการจัดทำคำฟ้องในแต่ละเรื่องมีขั้นตอนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีที่สุดตามนี้

1.รวบรวมข้อเท็จจริง 

การรวบรวมข้อเท็จจริงเป็นข้อสำคัญข้อแรกของการจัดทำคำฟ้องคดี  ทนายความหลายคนเมื่อได้รับคดีความมาแล้ว ถึงเวลาต้องการจัดทำคำฟ้องหรือคำให้การ ก็มักจะถามหาตัวอย่างคำฟ้องหรือคำให้การในคดีที่ใกล้เคียงกันเพื่อมาดูเป็นแบบอย่าง และจัดการร่างคำฟ้องหรือคำให้การตามตัวอย่างที่ตนเองได้มา  ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะขั้นตอนแรกที่สำคัญที่สุดของการเตรียมคดี คือการรวบรวมข้อเท็จจริงก่อนการร่างฟ้อง 

การยื่นฟ้องหรือยื่นคำให้การในแต่ละคดีนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีแบบอย่างตายตัวไม่มีสูตรสำเร็จและไม่สามารถลอกเลียนกันได้เพราะข้อเท็จจริง ในแต่ละคดีมีความแตกต่างกันอยู่ไม่มากก็น้อย จึงไม่ควรลอกเลียนคำฟ้องคดีอื่นโดยที่ยังไม่เข้าใจเนื้อหาในคดีตนเองอย่างถ่องแท้

ดังนั้นแล้วขั้นตอนที่สำคัญของการจัดทำคำฟ้องหรือคำให้การคือ การประมวลผลข้อเท็จจริงในคดีที่เกิดขึ้น เพื่อให้ทราบว่าเรื่องราวในคดีนั้นเป็นอย่างไร เราจึงจะตั้งเรื่องฟ้องคดีตามรูปเรื่องได้อย่างถูกต้อง

เราไม่ควรตั้งรูปเรื่องหรือคิดว่าจะฟ้องคดีอะไร ก่อนที่เราจะได้สอบข้อเท็จจริงและรูปคดีอย่างครบถ้วน 

ตัวอย่างเช่น ลูกความเราต้องการมาขอให้เราฟ้องคดีฉ้อโกง เมื่อเราตกลงรับคดีแล้ว สิ่งแรกที่เราต้องทำ ไม่ใช่การไปหาตัวอย่างคำฟ้องคดีฉ้อโกงมาดูและร่างฟ้องตามนั้น แต่สิ่งแรกที่ต้องทำคือต้องสอบข้อเท็จจริงในคดีก่อนว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอจะฟ้องความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ หรือเป็นเพียงเรื่องทางแพ่ง หรือเป็นความผิดข้อหาอื่น 

กระบวนการในการรวบรวมข้อเท็จจริง ขั้นตอนแรก ต้องเริ่มจากตัวลูกความเราเองก่อน โดยทนายความจะต้องสอบข้อเท็จจริงลูกความให้ชัดเจนและละเอียดตั้งแต่ประวัติความเป็นมาการศึกษา อาชีพของตัว ภูมิหลังของลูกความ เหตุการณ์ก่อนเกิดเหตุ เหตุการณ์ ขณะเกิดเหตุและเหตุการณ์หลังเกิดเหตุ  

หลังจากนั้นให้ทำการตรวจสอบพยานหลักฐานต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งพยานเอกสาร พยานวัตถุ รูปถ่าย หลักฐานการสนทนา กล้องวงจรปิด และลงตรวจสอบที่เกิดเหตุ 

หลังจากนั้นก็ต้องสอบข้อเท็จจริงจากพยานคนที่รู้เห็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องทุกคนที่สามารถสอบข้อเท็จจริงได้ 

จำไว้ว่าทนายความไม่ควรเชื่อทุกอย่างที่ลูกความเล่าให้ฟัง เพราะบางครั้งลูกความอาจจะจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้ทนายความช่วยเหลือ เพราะเกรงว่าหากเราทราบเรื่องจริงทั้งหมดแล้ว ทนายความอาจจะไม่ช่วยเหลือว่าความให้ หรือบางครั้งลูกความไม่ได้ ตั้งใจบิดเบือนข้อเท็จจริงแต่อาจจะจดจำข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือตกหล่นไป และบางครั้งลูกความอาจให้ข้อเท็จจริงผิดพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งเกิดจากอคติหรือการเข้าข้างตัวเองของลูกความ 

และโปรดจำไว้ว่าคนมีคดีความนั้นเขาจะมักคิดเข้าข้างตัวเองว่าตนเองเป็นฝ่ายถูกเสมอ เราเป็นทนายความมีหน้าที่กลั่นกรองข้อเท็จจริงที่จะนำเสนอต่อศาล เราไม่ควรเชื่อทุกอย่างที่ลูกความพูด แต่เราควรจะประมวลข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้วสรุปเอาแต่เรื่องจริงหรือความจริงเสนอศาลเท่านั้นมิฉะนั้นแล้วหากท่านเชื่อทุกอย่างที่ลูกความพูดโดยไม่กลั่นกรอง  และปรากฏว่าข้อมูลที่ท่านได้จากลูกความนั้นเป็นข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน เมื่อไปถึงชั้นพิจารณาท่านก็จะว่าความไปตามข้อเท็จจริงที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนนั้นซึ่งจะนำไปสู่ผลแพ้คดีของท่าน

ผู้เขียนเห็นทนายความหลายคนเชื่อข้อเท็จจริงที่ลูกความเล่าทุกอย่างอย่างหัวปักหัวปำโดยที่ไม่วิเคราะห์ถึงเหตุผลความน่าจะเป็นหรือพยานหลักฐานต่างๆที่ปรากฏ ถึงแม้พยานหลักฐานจะปรากฏชัดเจนอย่างไรลูกความก็ยืนยันว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกต้องทั้งๆที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในสำนวนทั้งหมด  ทนายความก็หลงเชื่อลูกความตัวเองอย่างหัวปักหัวปำ สุดท้ายก็นำไปสู่การแพ้คดี ก  

สำหรับลูกความขอให้ท่านพูดความจริงทุกอย่างกับทนายความเพราะข้อเท็จจริงที่ท่านเล่ากับทนายความนั้นเป็นความลับของท่านอยู่แล้วทนายความไม่อาจเปิดเผยข้อเท็จจริงในคดีของท่านได้เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากท่าน ถึงแม้ท่านเล่าข้อเท็จจริงให้ทนายความฟังและภายหลังไม่ได้ตกลงว่าจ้างทนายความ ทนายความก็ไม่มีสิทธิไปเผยแพร่ความลับของท่าน 

ในการทำงานของทนายความนั้น ทนายความต้องการทราบความจริงที่เกิดขึ้นในคดีทุกเรื่อง และในทุกแง่มุม หลังจากนั้นทนายความจะปรับข้อกฎหมายและวางรูปคดีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับท่านเอง ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไร หากทนายความตกลงปลงใจรับว่าความให้ท่านแล้วเขาจะต้องช่วยท่านอย่างสุดความสามารถ และทุกวิถีทางภายใต้กรอบของกฎหมายอยู่แล้ว   เพราะฉะนั้นแล้วขอให้พูดความจริงทุกอย่างและพูดความจริงทั้งหมดกับทนายความเพื่อประโยชน์สูงสุดของท่านเอง 

สำหรับหลักการเบื้องต้นในการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าสิ่งที่ลูกความพูดนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ให้ทนายความใช้หลักการเดียวกันกับการจับพิรุธหรือจับเท็จพยานที่ท่านใช้ในชั้นศาล คือข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องจริงนั้นจะต้องไม่ขัดแย้งกันเอง ไม่ขัดแย้งกับเหตุผลความน่าจะเป็น ไม่ขัดแย้งกับพยานบุคคลอื่นไม่ขัดแย้งกับพยานวัตถุหรือพยานเอกสารที่เกิดขึ้นในคดี กล่าวคือให้ถามลูกความของเรา เหมือนกับเราเป็นทนายความของฝ่ายตรงข้าม ที่ซักถามเพื่อหาความจริงในชั้นศาล จำไว้ว่าถ้าเราไม่ซักถามลูกความหรือพยานของเราให้ละเอียดในชั้นนี้หากเขาไปขึ้นสู่ชั้นสืบพยานและถูกฝ่ายตรงข้ามซักค้านแล้วเพิ่งปรากฏข้อพิรุธในภายหลังรูปคดีของท่านก็จะเสียหาย 

หลังจากที่ท่านสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆครบถ้วนแล้วสิ่งที่สำคัญก็คือท่านจะต้องจดบันทึกข้อเท็จจริงต่างๆสรุปรวมไว้ในสำนวนเพื่อป้องกันการหลงลืม หากท่านไม่จดบันทึกไว้มีโอกาสสูงที่ท่านจะลืมหรือตกหล่น เมื่อต้องใช้

จำไว้ว่าการสอบข้อเท็จจริงและการแสวงหาข้อเท็จจริงจะต้องทำตั้งแต่ก่อนเริ่มร่างฟ้องคดี ไม่ใช่ยื่นฟ้องไปก่อนแล้วค่อยไปสอบถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติม หรือยื่นฟ้องไปก่อนแล้วไปหาพยานหลักฐานเอาภายหลังเพราะข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏขึ้นภายหลังอาจจะขัดกับคำฟ้องหรือคำให้การที่ท่านยื่นไปตั้งแต่แรกก็ได้ 

2.ค้นคว้าข้อกฎหมาย

หลังจากท่านสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียดจนได้ความจริงที่เกิดขึ้นในคดีแล้วขั้นตอนต่อมาคือท่านจะต้องรวบรวมข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆทั้งหมด

ถ้าเป็นคดีแพ่งต้องตรวจสอบว่าเรื่องราวดังกล่าว จะต้องนำไปปรับใช้กับข้อกฎหมายเรื่องใดมาตราอะไร ถ้าเป็นคดีอาญาก็ต้องดูว่าข้อหาหรือฐานความผิดที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นเป็นมาตราอะไรมีกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไรบ้าง

เมื่อตรวจสอบได้แล้วว่าข้อเท็จจริงในคดีนั้นสามารถปรับใช้ได้กับข้อกฎหมายมาตราอะไรเรื่องอะไร ท่านจะต้องทำการค้นคว้าและทำความเข้าใจข้อกฎหมายในเรื่องนั้นๆให้ครบถ้วนกระจ่างแจ้งเหมือนท่านกำลัง จะไปสอนข้อกฎหมายเรื่องนั้นให้กับบุคคลอื่น

กล่าวคือท่านจะต้องสามารถเข้าใจข้อกฎหมายในเรื่องนั้นได้อย่างแตกฉาน และอธิบายข้อกฎหมายในเรื่องนั้นๆได้อย่างจัดเจน  เพราะในการทำคำฟ้องคำให้การ การไปไกล่เกลี่ยในชั้นศาล หรือในการสืบพยานก็ดี ท่านต้องใช้ข้อกฎหมายดังกล่าวในการทำงานทั้งสิ้น

ถ้าท่านเข้าใจข้อกฎหมายเรื่องนั้นชัดเจน ในการร่างฟ้องหรือการทำคำให้การของท่าน จะร่างได้อย่างรัดกุมถูกต้องตามหลักข้อกฎหมาย และก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการพิจารณา

ถ้าท่านเข้าใจกฎหมายเรื่องนั้นชัดเจน ในการไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความ ท่านจะสามารถโต้เถียง ชี้แจง และโต้แย้งข้อกฎหมายในเรื่องนั้นได้อย่างจัดเจน ฉะฉาน และถูกต้อง ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตัวลูกความ

ถ้าท่านเข้าใจข้อกฎหมายเรื่องนั้นชัดเจน ในชั้นสืบพยาน ท่านจะสามารถซักถามพยานของท่านเองเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รูปคดี และท่านสามารถซักค้านพยานฝ่ายตรงข้ามได้อย่างตรงประเด็น และหากพยานของฝ่ายท่านเคยตอบคำถามค้านที่อาจจะส่งผลให้ลูกคดีเสียหายอย่างไรท่านเองก็จะสามารถทราบได้ว่าควรจะถามติง อย่างไรเพื่อให้พยานกลับมามีน้ำหนัก

โดยในการค้นคว้าข้อกฎหมายในแต่ละเรื่องนั้น ท่านจะต้องอ่านตำราคำอธิบายกฎหมายในเรื่องนั้นๆในตำราของอาจารย์ทุกท่านที่สามารถหาได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องไปอ่านตำราทั้งเล่มแต่ให้อ่านเฉพาะเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับมาตรานั้นๆ ตัวอย่างเช่นหากท่านทำคดีครอบครัวท่านก็ควรอ่านตำราคำอธิบายกฎหมายครอบครัวของอาจารย์ทุกเล่ม เช่นของอาจารย์ประสพสุข บุญเดช อาจารย์ชาติชาย อัครวิบูลย์

ทั้งนี้เพราะอาจารย์แต่ละท่านอาจจะมีแง่มุมและความเห็นทางกฎหมายในข้อกฎหมายแต่ละมาตราไม่เหมือนกัน อาจารย์แต่ละท่านอาจจะมีแง่มุมข้อกฎหมายให้ความเห็นในมาตราเดียวกันแตกต่างกันได้  ท่านจะต้องศึกษาและค้นคว้าอย่างละเอียดเพื่อให้ทราบทุกแง่มุมของข้อกฎหมายในเรื่องนั้น

หลังจากที่ท่านอ่านตำราข้อกฎหมายดังกล่าวครบถ้วนแล้วท่านก็จะต้องค้นคว้าหาคําพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องหรือใกล้เคียงกับคดีของท่าน โดยขณะที่ท่านอ่านคำบรรยายตำรากฎหมายนั้นๆ ก็มักจะมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่อาจารย์หยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างในคำบรรยายนั้นอยู่แล้วซึ่งท่านก็จะต้องไปหาคำพิพากษาตัวเต็มมาอ่าน และนอกจากนี้ท่านสามารถหาคำพิพากษาอื่นๆเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในตำราโดยในปัจจุบันสามารถค้นหาได้โดยง่ายผ่านทางเว็บไซต์ของศาลฎีกา

นอกจากนี้ ท่านยังอาจค้นหาข้อกฎหมายเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญหรือนักกฎหมายคนอื่นๆที่ได้เสนอความเห็นหรือไงมุมทางกฎหมายผ่านสื่อออนไลน์ทางเว็บไซต์ต่างๆได้อีกด้วย

ทั้งนี้เคล็ดลับในการค้นหาและรวบรวมคำพิพากษาศาลฎีกาเพื่อมาประกอบในการทำคดีนั้นจำไว้ว่าให้หาทั้งคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งที่ศาลตัดสินเป็นประโยชน์กับรูปคดีของท่าน และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ศาลตัดสินไม่เป็นประโยชน์กับรูปคดีของท่าน มิใช่หาแต่เพียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่สนับสนุนข้อต่อสู้ของท่านแต่เพียงอย่างเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ตัดสินให้คดีที่ข้อเท็จจริงใกล้เคียงกับคดีของท่านชนะคดี ท่านสามารถนำมาศึกษาเพื่อวางรูปคดีและนำสืบพยานหลักฐานให้สอดคล้องกับคำพิพากษาศาลฎีกาคดีกล่าวได้

ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ตัดสินให้ข้อเท็จจริงใกล้เคียงกันกับคดีของท่านแพ้คดี ท่านก็สามารถนำมาศึกษาเพื่อปรับปรุงแก้ไขและหาจุดอ่อนของรูปคดีท่าน และทำการปิดช่องว่างของรูปคดีนั้นได้

นอกจากนี้บางคดีที่มีข้อกฎหมายที่ซับซ้อนมากท่านอาจจะต้องค้นคว้าวิทยานิพนธ์ หรือแหล่งความรู้อื่นๆมาประกอบคดีต่อไป

ประโยชน์จากการที่ท่านค้นคว้าข้อกฎหมายดังกล่าวจนเชี่ยวชาญนั้นนอกจากจะเกิดผลประโยชน์ในคดีที่ท่านทำแล้วยังจะเกิดประโยชน์ในอนาคตที่ทำให้ท่านเป็นทนายความที่มีความสามารถมากขึ้น ท่านผู้เชี่ยวชาญข้อกฎหมายในเรื่องนั้นไปเองเมื่อมีคดีลักษณะใกล้เคียงกันเมื่อลูกความมาปรึกษาหรือเกิดปัญหาขึ้นท่านก็จะสามารถให้คำแนะนำได้ทันทีโดยที่ไม่จำเป็นต้องไปนั่งค้นคว้าหาข้อกฎหมายในเรื่องนั้นอีก

เมื่อท่านรวบรวมข้อกฎหมายและคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องรวมทั้งความเห็นทางกฎหมายของอาจารย์ต่างๆได้แล้วท่านก็ต้องทำเป็นสรุปรวบรวมไว้ในสำนวนเพื่อใช้อ้างอิงหรือยกขึ้นประกอบในการทำงานทั้งในชั้นร่างฟ้อง ไกล่เกลี่ยและสืบพยาน

3.ปรับข้อกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริงและลงมือทำ คำฟ้อง คำให้การ 

เมื่อท่านได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน และได้ค้นคว้าและเข้าใจข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงในคดีนั้นเป็นอย่างดีแล้วขั้นตอนต่อมาคือการนำข้อกฎหมายที่ได้มาปรับเข้ากับข้อเท็จจริง และหาคำตอบว่า ในคดีนั้นท่านควรตั้งรูปเรื่องฟ้องเป็นเรื่องอะไร โดยอาศัยข้อกฎหมายอะไร มีแนวคำพิพากษา หรือหลักกฎหมายอ้างอิงอย่างไร หรือคดีนั้นท่านควรให้การต่อสู้ประเด็นอะไร โดยอาศัยข้อกฎหมายอะไร มีหลักกฎหมายหรือคำพิพากษาฎีกาอ้างอิงอย่างไร

ทั้งนี้เหมือนกับตอนที่ท่านเรียนกฎหมายทั้งในชั้นปริญญาตรี เนติบัณฑิตหรือการสอบใบอนุญาตว่าความ ตอนที่ท่านเรียนกฎหมายไม่ว่าในชั้นไหน ผู้สอนจะทำการตั้งโจทย์ปัญหาข้อเท็จจริงมาให้และท่านมีหน้าที่นำข้อเท็จจริงปรับเข้ากับข้อกฎหมาย 

แต่ในการทำงานจริงท่านจะต้องเป็นผู้รวบรวมข้อเท็จจริงเอง ปรับข้อกฎหมายเองและไม่มีผู้ใดเป็นผู้เฉลยคำตอบให้กับท่านแต่ท่านจะต้องหาคำตอบด้วยตนเองจากการค้นคว้าข้อกฎหมาย

การร่างฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญามีหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งนักกฎหมายได้เรียนมาแล้วชั้นในชั้นปริญญาตรี ชั้นเนติบัณฑิต และการสอบใบอนุญาตว่าความ  ซึ่งหลักเกณฑ์ในการร่างฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญาเป็นอย่างไรจะยังไม่นำมากล่าวในที่นี้เพราะจะทำให้

โดยจะกล่าวเฉพาะหลักเบื้องต้นของการร่างคำฟ้องว่า  การร่างฟ้องและร่างคำให้การนั้นอาจจะบอกได้ว่า เป็นการเรียบเรียงข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบข้อเท็จจริงตามข้อ 1 เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ข้อกฎหมายตามข้อ 2 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รูปคดี

การทำความฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญานั้น มีหลักเกณฑ์โดยสังเขปในความเห็นของผู้เขียนก็คือ การร่างฟ้องจะต้องใช้ถ้อยคำที่กระชับ ไม่เยิ่นเย้อ วกไปวนมา  บรรยายข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามลำดับเหตุการณ์  พยายามใช้ถ้อยคำตามตัวบทกฎหมาย สามารถจูงใจให้ผู้อ่านคำฟ้องหรือคำให้การคล้อยตามได้

นอกจากนี้ในการร่างคำฟ้องหรือคำให้การจะต้องคำนึงอยู่เสมอว่าสิ่งที่ปรากฏในคำฟ้องหรือคำให้การของเรานั้นพยานแล้ว เราจะต้องสามารถสืบพยานไปตามคำฟ้องหรือคำให้การของเราได้ คำฟ้องหรือคำให้การส่วนไหนอ้างถึงข้อเท็จจริงส่วนไหนเราต้องเตรียมพร้อมหรือมีพยานหลักฐานที่จะนำสืบข้อเท็จจริงในส่วนนั้นมิใช่ร่างไปตามจินตนาการของเราเอง

4.ตรวจสอบคำฟ้อง 

เมื่อท่านจัดทำคำฟ้องเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงการตรวจสอบคำถูกคำผิดในคำฟ้องของ โดยทนายความอาจจะตรวจสอบเองก่อน และมอบหมายให้เสมียนทนายความช่วยตรวจสอบได้ 

หลังจากนั้นให้ท่านทำการการตรวจสอบเนื้อหาในคำฟ้องว่าครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดหรือไม่มีสิ่งใดต้องแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่

นอกจากนี้ก่อนยื่นฟ้องคดีต่อศาลท่านจะต้องมอบสำเนาคำฟ้องให้ลูกความทำการตรวจสอบก่อนอีกด้วย เพราะสุดท้ายแล้ว ถึงท่านเป็นผู้ทำการสอบข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานมาอย่างละเอียดแต่เพียงใดท่านก็เป็นแต่เพียงผู้ที่รับฟังข้อเท็จจริงต่อมาอีกทอดหนึ่งเท่านั้น ท่านไม่อาจรู้ข้อเท็จจริงในคดีได้เท่ากับลูกความผู้ประสบเหตุการณ์เอง  ดังนั้นการนำคำฟ้องและคำให้การให้ลูกความตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาก่อนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนไปจากความจริงไปสู่ศาล

นอกจากนี้ ควรหาตัวอย่างคดีที่ใกล้เคียงกันแบบตัวอย่างคำฟ้อง ทั้งที่ปรากฏในตำราตัวอย่างคำฟ้องต่างๆ รู้จักเพื่อนทนายความหรืออาจารย์ที่สำนักงานที่มีตัวอย่างคำฟ้องในคดีที่ใกล้เคียงกัน หรือจากในอินเทอร์เน็ตหรือสื่อออนไลน์ต่างๆ มาตรวจสอบเปรียบเทียบกับคำฟ้องของท่านด้วย

โดยในการตรวจสอบคำฟ้องของท่านกับตัวอย่างคดีที่ใกล้เคียงกันนั้น ท่านควรจะตรวจสอบว่าส่วนไหนของคำฟ้องที่เป็นตัวอย่างเป็นส่วนที่ดีท่านก็ควรนำมาเพิ่มเติมในคำฟ้องของท่าน ส่วนไหนที่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีในคำฟ้องท่านก็พยายามปรับปรุงแก้ไขไม่ให้เป็นไปตามนั้น

เทคนิคเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับการตรวจสอบคำฟ้องก็คือเมื่อท่านทำคำฟ้องและตรวจสอบเสร็จเรียบร้อยแล้วขอให้ท่านทิ้งระยะเวลาไว้สัก 1-2 วันแล้วค่อยกลับมาตรวจสอบใหม่ อาจจะทำให้ท่านมีมุมมองหรือความเห็นในการแก้ไขคำฟ้องได้ดีขึ้น

ขั้นตอนดังที่กล่าวข้างต้นทั้ง 4 ข้อนี้เป็นกระบวนการที่หากท่านทำตามลำดับขั้นตอนดังกล่าวแล้วจะทำให้คำฟ้องและคำให้การของท่านมีความรัดกุม และมีประสิทธิภาพในการต่อสู้คดีในชั้นศาล 

มีทนายความหลายคนเมื่อได้รับงานว่าความหรือหัวหน้าสำนักงานมอบหมายให้ทำการร่างฟ้องคดี ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ข้างต้น แต่มักใช้วิธีลัดขั้นตอน โดยการหาขอดูตัวอย่างคำฟ้องหรือคำให้การในคดีที่ใกล้เคียงกันแล้วมาลอก หรือเลียนแบบตัวอย่างคำฟ้องคดีนั้นๆ

บางคนยิ่งหนักกว่านั้นอาศัยตัวอย่างคำฟ้องหรือคำให้การคดีเดิมมาก๊อปปี้และปรับรายละเอียดเล็กๆน้อยๆให้เข้ากับคดีของตัวเองแล้วนำไปยื่นฟ้องเลย

ซึ่งการร คำฟ้อง คำให้การ คดีลักษณะนี้ถือว่าไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และจะทำให้เกิดปัญหาได้หลายอย่าง  เช่น

1.การที่ท่านลัดขั้นตอนที่ 1 ไม่สอบข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน ท่านจะพบว่าในชั้นไกล่เกลี่ยหรือชั้นสืบพยานจะปรากฏข้อเท็จจริงใหม่ๆขึ้นมาที่ท่านไม่เคยทราบมาก่อนซึ่งจะเป็นผลเสียกับรูปคดีของท่าน หรือท่านอาจจะพบว่าท่านตั้งรูปคดีผิดไปเพราะเข้าใจข้อเท็จจริงผิด

2.การที่ท่านไม่ค้นคว้าหาข้อกฎหมายให้จัดเจนก่อนฟ้องคดีเมื่อไปถึงชั้นไกล่เกลี่ยหรือชั้นสืบพยานท่านจะไม่สามารถเถียงข้อกฎหมายแทนลูกความได้และไม่สามารถทำการถามพยานหรือสืบพยานให้มีประสิทธิภาพ

3.หากท่านจะไปทำการค้นคว้า ข้อกฎหมายภายหลังจากที่ยื่นฟ้องไปแล้วก็อาจจะปรากฏว่าท่านตั้งรูปเรื่องคดีผิดไปไม่ทันการกับการแก้ไข

ดังนั้นแล้วสำหรับความเห็นของผู้เขียนเองกระบวนการขั้นตอน 4 ข้อ ในการจัดทำคำฟ้องและคำให้การนี้จะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการ ทำงานของทนายความ การร่างฟ้องไม่ควรรีบร้อนหรือลัดขั้นตอน ไม่ควรคิดว่าฟ้องไปก่อนแล้วค่อยไปหาข้อมูลที่หลัง คำนึงไว้อยู่เสมอว่า การที่เราร่างคำฟ้อง คำให้การได้อย่างรัดกุมเตรียมข้อกฎหมายได้อย่างหนักแน่นจะทำให้การไกล่เกลี่ยเจรจาเป็นไปโดยได้เปรียบของฝ่ายเรา และหากคดีไม่สามารถตกลงกันได้คดีขึ้นสู่ชั้นศาลก็จะทำให้การสืบพยานของเรามีประสิทธิภาพ

บทความทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนหากผิดพลาดประการใดขออภัยมา ณที่นี้หากเพื่อนๆทนายความท่านไหนมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมหรือเสนอแนะสามารถ comment แจ้งมาได้เลยครับขอบคุณครับ 

 

 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts