คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

การตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม DNA คำอธิบายข้อกฎหมาย ทางปฏิบัติ และหลักการทำ “คำร้องขอตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ ” ฉบับสมบูรณ์

การตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม DNA เป็นพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถใช้พิสูจน์ความจริงในคดีได้  อีกทั้งมีความน่าเชื่อถือเพราะโอกาสคลาดเคลื่อนน้อยกว่าพยานหลักฐานประเภทอื่นๆ

ธรรมดาแล้วการตรวจพิสูจน์ DNA มักจะได้ใช้กันมากในคดีครอบครัว หรือคดีมรดก เพื่อพิสูจน์ในประเด็นว่าคู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีเป็นพ่อแม่ลูก หรือเป็นญาติกันจริงหรือไม่

สำหรับตัวผมเอง ในกรณีที่ฝ่ายตรงข้ามเสนอให้ตรวจดีเอ็นเอในคดี ผมไม่เคยแนะนำให้ลูกความปฏิเสธเลยสักครั้ง เพราะการตรวจดีเอ็นเอ มันเป็นการพิสูจน์ความจริง ที่น่าเชื่อถือและมีผลแน่นอน ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ยินยอมให้ลูกความตรวจดีเอ็นเอ

แต่ถ้าทำยังไง คู่กรณีก็ไม่ยอมตรวจดีเอ็นเอ  เราจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างไร ?

ยกตัวอย่างของตัวผู้เขียน มีคดีเรื่องมรดกอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งผู้เขียนรับว่าความเป็นทนายความให้ฝ่ายภรรยาของผู้ตาย ซึ่งมีฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ปรากฏว่ามี นาย ก. มาอ้างตัวว่าเป็นบุตรของผู้ตาย โดยอ้างสูติบัตรที่ทำไว้เมื่อเกือบสี่สิบปี ที่ระบุว่าตนเองเป็นบุตรของผู้ตายกับภรรยา มายื่นคำร้องขอถอนภรรยาผู้ตายออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก โดยอ้างว่าผู้จัดการมรดกไม่ได้แบ่งปันทรัพย์สินให้เขาซึ่งเป็นทายาท

ฝ่ายภริยาของผู้ตายแจ้งว่า นาย ก. ไม่ใช่เป็นบุตรของตนเองที่เกิดกับผู้ตาย และแจ้งว่าลายมือชื่อที่ปรากฏในสูติบัตรของนาย ก. ไม่ใช่ของตนเอง แต่มีบุคคลอื่นซึ่งน่าจะเป็นพี่สาวของผู้ตายเป็นผู้จัดทำ

โดยพี่สาวของผู้ตายเป็นหญิงโสดไม่มีสามีและบุตรไปรับ นาย ก.เลี้ยงดูเหมือนลูก ตั้งแต่ยังเป็นทารก  แต่เนื่องด้วยตนเองเป็นหญิงโสดไม่มีสามีและบุตร จึงอาศัยชื่อผู้ตายกับภรรยาซึ่งเป็นพี่น้องกันระบุว่าเป็นบุตร และปลอมลงลายมือชื่อผู้แจ้งในสูติบัตร ซึ่งอำเภอเมื่อสามสี่สิบปีที่แล้วมันมีช่องว่างทำกันได้  พี่สาวผู้ตายก็เป็นคนเลี้ยงดูเขามาตลอด ไม่เคยมาอยู่กินอะไรกันกับฝ่ายผู้ตายและภริยา

ซึ่งคดีดังกล่าว สามารถพิสูจน์ความจริงกันได้ง่ายๆด้วยการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ ดังนั้นในชั้นพิจารณา ผมจึงเสนอกับทนายความฝ่ายตรงข้ามว่า หากฝ่ายตรงข้ามยอมตรวจดีเอ็นเอแล้วปรากฏว่าเป็นบุตรของผู้ตายที่เกิดจากภริยา ฝ่ายผมจะยินยอมแพ้คดีและถอนตัวออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกทันที และจะให้ฝ่ายตรงข้ามให้เป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงผู้เดียว

แต่ฝ่ายตรงข้ามก็ไม่ยอมตรวจ ผู้เขียนจึงเสนอไปอีกว่า นอกจากยอมแพ้คดีแล้ว ถ้าตรวจแล้วปรากฎว่านาย ก. เป็นบุตรจริง ฝ่ายผมนอกจากยอมแพ้คดีแล้ว ยังพร้อมจะมอบเงินสดให้นาย ก. ต่างหากอีก 10 ล้าน และจะให้ทนายความพิเศษอีก 1 ล้าน เป็นค่าเหนื่อย

ปรากฏว่าฝ่ายตรงข้ามก็ยังไม่ยอมตรวจพิสูจน์ DNA รวมทั้งทนายความฝ่ายตรงข้ามก็พยายามอย่างเต็มที่ ที่จะไม่ให้ลูกความของตัวเองตรวจพิสูจน์ DNA

ซึ่งถ้าเจอเหตุการณ์ที่ฝ่ายตรงข้ามไม่ยอมตรวจ DNA แบบนี้ท่านจะต้องทำยังไง ?

ทั้งนี้ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจ dna นั้น มีอยู่ด้วยกันสามมาตรา คือ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 128/1  ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดที่เป็นประเด็นสำคัญแห่งคดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ศาลมีอำนาจสั่งให้ทำการตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุหรือเอกสารใด ๆ โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้

ในกรณีที่พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จะสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ทำให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานอื่นอีก เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ศาลอาจสั่งให้ทำการตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งโดยไม่ต้องรอให้ถึงวันสืบพยานตามปกติก็ได้

ในกรณีที่การตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองจำเป็นต้องเก็บตัวอย่าง เลือด เนื้อเยื่อ ผิวหนัง เส้นผมหรือขน ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำลายหรือสารคัดหลั่งอื่น สารพันธุกรรม หรือส่วนประกอบอื่นของร่างกาย หรือสิ่งที่อยู่ในร่างกายจากคู่ความหรือบุคคลใด ศาลอาจให้คู่ความหรือบุคคลใดรับการตรวจพิสูจน์จากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญอื่นได้ แต่ต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นและสมควร  ทั้งนี้ ถือเป็นสิทธิของคู่ความหรือบุคคลนั้นที่จะยินยอมหรือไม่ก็ได้

ในกรณีที่คู่ความฝ่ายใดไม่ยินยอมหรือไม่ให้ความร่วมมือต่อการตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หรือไม่ให้ความยินยอมหรือกระทำการขัดขวางมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องให้ความยินยอมต่อการตรวจเก็บตัวอย่างส่วนประกอบของร่างกายตามวรรคสาม ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่คู่ความฝ่ายตรงข้ามกล่าวอ้าง

ค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์ตามมาตรานี้ ให้คู่ความฝ่ายที่ร้องขอให้ตรวจพิสูจน์เป็นผู้รับผิดชอบโดยให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าฤชาธรรมเนียม แต่ถ้าผู้ร้องขอไม่สามารถเสียค่าใช้จ่ายได้หรือเป็นกรณีที่ศาลเป็นผู้สั่งให้ตรวจพิสูจน์ ให้ศาลสั่งจ่ายตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด ส่วนความรับผิดในค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรา 158 หรือมาตรา 161

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 244/1  ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุก หากมีความจำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดที่เป็นประเด็นสำคัญแห่งคดี ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ทำการตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุ หรือเอกสารใด โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้

ในกรณีที่การตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่ง จำเป็นต้องตรวจเก็บตัวอย่างเลือด เนื้อเยื่อ ผิวหนัง เส้นผมหรือขน น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรมหรือส่วนประกอบของร่างกายจากคู่ความหรือบุคคลใด ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญดำเนินการตรวจดังกล่าวได้ แต่ต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นและสมควรโดยใช้วิธีการที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดน้อยที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ทั้งจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรืออนามัยของบุคคลนั้น และคู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องให้ความยินยอม หากคู่ความฝ่ายใดไม่ยินยอมหรือกระทำการป้องปัดขัดขวางมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องให้ความยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่คู่ความฝ่ายตรงข้ามกล่าวอ้าง

ในกรณีที่พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่อาจทำให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานอื่นอีก หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากมีการเนิ่นช้ากว่าจะนำพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อันสำคัญมาสืบในภายหน้าพยานหลักฐานนั้นจะสูญเสียไปหรือยากแก่การตรวจพิสูจน์ เมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอหรือเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลอาจสั่งให้ทำการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ตามความในวรรคหนึ่งและวรรคสองได้ทันทีโดยไม่จำต้องรอให้ถึงกำหนดวันสืบพยานตามปกติ  ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติในมาตรา 237 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์ตามมาตรานี้ให้สั่งจ่ายจากงบประมาณตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553มาตรา 160 เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในระหว่างการพิจารณาคดีเมื่อคู่ความฝ่ายใดร้องขอหรือศาลเห็นสมควร ศาลมีอํานาจสั่งให้คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องไปให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลเห็นสมควร ตรวจร่างกาย เก็บตัวอย่างเลือด สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรม หรือดําเนินการอื่นใดเพื่อตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่สําคัญแห่งคดี ทั้งนี้ต้องกระทําเพียงเท่าที่จําเป็นและสมควรโดยใช้วิธีการที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดน้อยที่สุดเท่าที่จะกระทําได้และจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจของบุคคลนั้น ทั้งนี้ถือเป็นสิทธิของคู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นที่จะยินยอมหรือไม่ก็ได้  ในกรณีผู้เยาว์อายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ก่อนที่แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะเก็บตัวอย่างเลือดสารคัดหลั่ง หรือสารพันธุกรรมของผู้เยาว์เพื่อใช้ในการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์นั้นด้วย

ซึ่งการจะนำข้อกฎหมายไหนไปใช้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นคดีอะไร คดีแพ่ง คดีอาญา หรือ คดีครอบครัว

แต่โปรดสังเกตว่า กฎหมายทั้งสามตัวนี้ วางหลักการไว้คล้ายคลึงกันก็คือ  “หากศาลเห็นเองหรือคู่ความร้องขอ ว่าการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม DNAของคู่ความหรือบุคคลอื่น จะทำให้ชี้ขาดประเด็นข้อสำคัญในคดีเป็นไปอย่างชัดเจน ศาลก็มีอำนาจสั่งให้คู่ความหรือบุคคลอื่นไปทำการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอได้ “

แต่ทั้งนี้การตรวจพิสูจน์ DNA นั้น ตามกฎหมายแล้ว ศาลไม่สามารถไปใช้กำลังหรือใช้อำนาจบังคับให้ฝ่ายตรงข้ามไปตรวจพิสูจน์ได้หากฝ่ายตรงข้ามไม่ยินยอม ศาลเพียงแต่มีอำนาจสั่งให้คู่ความฝ่ายตรงข้ามไปตรวจพิสูจน์เท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตามถ้าฝ่ายตรงข้ามไม่ยอมไปตรวจตามคำสั่งศาล กฎหมายก็จะถือว่าข้อเท็จจริงในคดีเป็นไปตามที่เรากล่าวอ้างเช่นถ้าเรากล่าวหาว่าฝ่ายตรงข้ามไม่ใช่บุตรของเรา ในคดีนั้นก็จะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่เราบอกเพราะฝ่ายตรงข้ามไม่ยอมไปตรวจ

เพราะกฎหมายถือว่า ถ้าคุณบริสุทธิ์ใจก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ตรวจ ดังนั้นการที่คุณไม่ตรวจกฎหมายจึงสันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นไปตามที่ฝ่ายตรงข้ามเขากล่าวอ้างจริงซึ่งการที่เขาจะเอาพยานบุคคลหรือพยานเอกสารมาหักล้างขอสันนิษฐานนี้ ผมมองว่าเป็นไปไม่ได้เลยครับ

  ดังนั้นหากท่านคุยเบื้องต้นแล้วฝ่ายตรงข้ามไม่ยอมตรวจดีเอ็นเอ วิธีการแก้เกมส์ก็คือ ท่านจะต้องจัดทำคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ฝ่ายตรงข้ามไปตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ

 ซึ่งเนื้อหาสาระสำคัญของการทำคำร้องขอตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ นั้น มีดังนี้ 

  1. ท่านต้องระบุและชี้แจงให้ชัดเจนว่าว่าคดีดังกล่าวมีประเด็นข้อพิพาทที่โต้เถียงกันว่าอะไร เช่นโต้เถียงกันว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของผู้คัดค้านจริงหรือไม่ ? หรือโต้เถียงกันว่าเป็นบิดามารดากับบุตรจริงหรือไม่ ?

  2. ต้องชี้ให้เห็นว่าถ้ามีการตรวจดีเอ็นเอแล้ว จะทำให้ชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทที่เถียงกันในคดีนั้นได้อย่างชัดเจน โดยไม่ต้องนำสืบพยานหลักฐานอื่นอีก เช่นแจ้งว่า การตรวจดีเอ็นเอจะทำให้คดีนั้นรู้ผลแพ้ชนะกันเลย ไม่ต้องสืบพยานอีก

  3. ต้องบอกให้ชัดเจนว่า จะให้ใครตรวจกับใคร เช่น ขอตรวจระหว่างโจทก์กับจำเลย หรือระหว่างจำเลยกับบุตรผู้เยาว์

  4.  ต้องบอกให้ชัดเจนว่าขอตรวจโรงพบาบาลอะไรก็ระบุไป ซึ่งส่วนมากนิยมกันคือ โรงพยาบาลของรัฐ สถานบันนิติวิทยาศาสตร์ โรงพบาบาลตำรวจ โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นต้น 

ตัวอย่างคำร้องขอตรวจดีเอ็นเอ ปรากฎตามตัวอย่างข้างล่างนี้

คำร้องขอตรวจ dna 1

คำร้องขอตรวจ dna 1

ตัวอย่างคำร้องขอตรวจ dna 2

ตัวอย่างคำร้องขอตรวจ dna 2

ตัวอย่างคำร้องขอตรวจ dna 3

ตัวอย่างคำร้องขอตรวจ dna 3

หลังยื่นคำร้อง จำไว้ว่าศาลมักไม่สั่งคำร้องฉบับนี้เลย  เพราะมันไม่ใช่คำร้องฝ่ายเดียว

แต่ศาลจะต้องส่งสำเนาให้ฝ่ายตรงข้าม และศาลก็จะสอบถามฝ่ายตรงข้ามก่อนเสมอว่ายินยอมสมัครใจไปตรวจหรือไม่ ดังนั้นในตัวคำร้องศาลมักจะสั่งประมาณว่า ” รวม สำเนาให้ฝ่ายตรงข้าม สั่งต่อในรายงานกระบวนพิจารณา ”

ดังนั้นในวันพิจารณา เราต้องขอให้ศาลมีคำสั่งในในรายงานกระบวนพิจารณาให้ชัดเจนว่า ศาลได้สั่งคู่ความฝ่ายตรงข้ามให้ตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ แล้วแต่เขาไม่ยอมตรวจซึ่งตรงนี้จะเป็นประโยชน์กับเราเมื่อคดีถึงชั้นพิจารณา เพราะจะมีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมายว่าให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ฝ่ายเราอ้าง

บางครั้ง ถ้าเราไม่ได้ขอให้ศาลตรวจพิสูจน์ DNA โดยการทำเป็นคำร้องให้ชัดเจน เพียงแต่แถลงด้วยวาจาและฝ่ายตรงข้ามไม่ยอมไปตรวจซึ่งศาลเพียงแต่จดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่ามีการขอตรวจ แต่ไม่ได้มีคำสั่งให้ชัดเจนให้ฝ่ายตรงข้ามไปตรวจ หรือบางครั้งทำคำร้องไปแล้วศาลไม่ได้มีคำสั่งให้ชัดเจนให้ฝ่ายตรงข้ามไปตรวจ หรือไม่มีการระบุให้ชัดเจนว่าฝ่ายตรงข้ามไม่ไปตรวจตามคำสั่งศาล จะถือว่าศาลยังไม่ได้มีคำสั่งให้ตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งกรณีนี้เราจะไม่ได้ประโยชน์ของตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายอย่างใด

ทั้งนี้มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาคือ 

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 13689/2555

   ในระหว่างการพิจารณาคดี ผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องขอให้ตรวจสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอของผู้ร้อง เพื่อพิสูจน์ว่าผู้ร้องเป็นบุตรของผู้ตายหรือไม่ ผู้ร้องได้คัดค้านและไม่ยินยอมให้ตรวจ ศาลเห็นว่าเมื่อผู้ร้องไม่สมัครใจให้ตรวจจึงให้ยกคำร้อง คำสั่งศาลดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้ตรวจสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ ตามคำร้องของผู้คัดค้านซึ่งเป็นดุลยพินิจของศาล กรณีมิใช่ศาลเห็นสมควรให้มีการตรวจสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 128/1 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แล้วผู้ร้องไม่ยินยอมหรือไม่ให้ความร่วมมือต่อการตรวจพิสูจน์อันจะให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 682/2558

   ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอให้มีการตรวจสารพันธุกรรมเพื่อพิสูจน์ว่า เด็กชาย ธ. เป็นบุตรของโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพียงให้ส่งสำเนาให้จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยทั้งสองยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพียงว่า “รับเป็นคำคัดค้านของจำเลยทั้งสอง สำเนาให้โจทก์” การที่เมื่อถึงวันตรวจ จำเลยที่ 1 ไม่ยินยอมไปตรวจโดยไม่มีเหตุอันสมควร แล้วศาลล่างทั้งสองนำบทข้อสันนิษฐานที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสองมาบังคับใช้นั้นไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160 วรรคสาม เนื่องจากการจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงที่ต้องการตรวจเป็นผลร้ายแก่คู่ความฝ่ายนั้นได้ ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งให้ไปตรวจเสียก่อน เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพียงรับคำร้อง รับคำคัดค้านและสำเนาให้อีกฝ่าย ยังมิได้มีคำสั่งเลยว่าให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง คือโจทก์ จำเลยที่ 1 และเด็กชาย ธ. ไปดำเนินการตรวจสารพันธุกรรม กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 160 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำบทข้อสันนิษฐานเป็นผลร้ายตามมาตรา 160 วรรคสาม มาใช้บังคับในคดีได้

ดังนั้นแล้วหากท่านเจอเหตุการณ์ที่ฝ่ายตรงข้ามไม่ยอมตรวจพิสูจน์ DNA ท่านจะต้องใช้กระบวนการดังกล่าว คือ

  1. ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ฝ่ายตรงข้ามไปทำการตรวจพิสูจน์ dna

  2. ขอให้ศาลสั่งในรายงานให้ชัดเจนว่าศาลมีคำสั่งให้คู่ความฝ่ายตรงข้ามหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องไปตรวจ

  3. ให้ศาลบันทึกไว้ในรายงานว่า คู่ความฝ่ายตรงข้ามหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ทราบคำสั่งของศาลแล้สไม่ยินยอมไปตรวจ

ซึ่งหากท่านทำถูกวิธีจะทำให้เกิดข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ท่านกล่าวอ้าง โดยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา คือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10767/2558 

 การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาตามคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ตรวจพิสูจน์หาสารประกอบทางพันธุกรรมแล้วเห็นว่า กรณีจำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นสำคัญแห่งคดีว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของ จ. หรือไม่ จึงได้มีคำสั่งให้ตรวจพิสูจน์บุคคลโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160 แม้การตรวจพิสูจน์บุคคลตามที่ศาลมีคำสั่ง บุคคลที่ถูกศาลสั่งจะไม่ยินยอมหรือไม่ให้ความร่วมมือต่อการตรวจพิสูจน์ก็ได้ แต่ตามมาตรา 160 วรรคสาม บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงที่ต้องการให้ตรวจพิสูจน์เป็นผลร้ายแก่คู่ความฝ่ายนั้น ดังนั้น เมื่อผู้คัดค้านทั้งสี่ไม่ยินยอมและไม่ให้ความร่วมมือต่อการตรวจพิสูจน์มาโดยตลอด จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ข้ออ้างตามทางไต่สวนของผู้คัดค้านทั้งสี่ที่กล่าวมาจึงไม่อาจรับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่ผู้ร้องได้รับประโยชน์ได้ ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของ จ.

ทั้งนี้ตัวอย่างรายงานกระบวนพิจารณาที่ถูกต้องครบถ้วน มีดังนี้ 

ตัวอย่างรายงานกระบวนพิจารณากรณีคู่ความฝ่ายตรงข้ามไม่ตรวจ dna 1

ตัวอย่างรายงานกระบวนพิจารณากรณีคู่ความฝ่ายตรงข้ามไม่ตรวจ dna 1

ตัวอย่างรายงานกระบวนพิจารณากรณีคู่ความฝ่ายตรงข้ามไม่ตรวจ dna 2

ตัวอย่างรายงานกระบวนพิจารณากรณีคู่ความฝ่ายตรงข้ามไม่ตรวจ dna 2

 

สุดท้ายแล้วผู้เขียนขอฝากว่าเราเป็นทนายความ มีหน้าที่นำเสนอความจริงให้ปรากฏต่อศาล ไม่ได้มีหน้าที่เอาชนะคะคาน หรือใช้เทคนิคการหลบเลี่ยงความจริงเพื่อผลแพ้ชนะคดีหรือเพื่อหวังผลประโยชน์

การตรวจพิสูจน์ DNA เป็นสิ่งที่ทำให้ศาลทราบความจริงที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะต้องหลบเลี่ยงการพิสูจน์การตรวจ DNA หากท่านเชื่อมั่นว่าลูกความของท่านพูดเรื่องจริง 

เหมือนกับว่าหากมีคดีเรื่องฆาตกรรมเกิดขึ้น และมีกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุบันทึกภาพและเสียงได้อย่างชัดเจน เช่นนี้การดูภาพในกล้องวงจรปิด ย่อมชัดเจนกว่ามานั่งนำสืบพยานบุคคล 

ดังนั้นหากมีการขอตรวจพิสูจน์ DNA จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่ทนายความจะแนะนำให้ลูกความหลบเลี่ยงการตรวจพิสูจน์ DNA หากเชื่อมั่นว่าลูกความของท่านพูดความจริง 

 

รับชมแบบวีดีโอ

 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts