คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

การหาหลักฐานประกอบการสู้คดี ด้วย Google Earth Pro พร้อม 10 เทคนิคการใช้ในชั้นศาล  

Google Earth Pro  คือโปรแกรมฟรีของทางบริษัท google ที่สามารถใช้งานได้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกระบบ ซึ่งโปรแกรมไม่ได้ใช้เสปคสูงมากมายอะไร คอมพิวเตอร์ออฟฟิศทั่วไปสามารถใช้ได้แทบทุกเครื่อง

ทั้งนี้แต่เดิมโปรมแกรมดังกล่าวเป็นโปรแกรมที่ไม่ฟรีนะครับ ถ้าอยากใช้งาน ต้องเสียค่าใช้ประมาณปีละประมาณ 400 ดอลล่าร์ หรือเป็นเงินไทยสูงถึงประมาณ ปีละ 12,000 บาท แต่โชคดีของเราที่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน กูเกิ้ลใจดีเปิดให้ดาวน์โหลดและใช้งานได้ฟรีครับ 

สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมดังกล่าวได้ฟรี กดดาวน์โหลดที่นี่ ซึ่งภายหลังจากดาวน์โหลดแล้วต้องลงทะเบียนด้วยนะครับ เพื่อให้ใช้ฟีเจอร์ต่างๆในการใช้งานได้เต็มที่

แล้วโปรแกรม Google Earth Pro คืออะไร ?

ถ้าให้อธิบายอย่างง่ายๆ ก็คือ บริษัทกูเกิ้ลนี้ เขามีดาวเทียมสำหรับถ่ายรูปมุมสูงจากอวกาศมาบนพื้นโลก โดยทุกๆกำหนดระยะเวลาประมาณ 1-3 ปี เขาจะมีการใช้ดาวเทียมถ่ายรูปทางอากาศทั่วโลก  ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย และเขาก็จะบันทึกรูปถ่ายดังกล่าวใส่โปรแกรมไว้  ซึ่งเราสามารถใช้บริการเข้าถึงรูปถ่ายทางอากาศของเขาได้ผ่านโปรแกรมดังกล่าว  และยังสามารถดูรูปถ่ายมุมสูงย้อนหลังได้ตลอดทุกช่วงเวลาที่มีการถ่ายรูปไว้เป็นเวลาย้อนหลังถึงประมาณ 20 ปี อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องวิธีการรูปจากดาวเทียมย้อนหลังตามช่วงเวลา

และหากระยะเวลา 20 ปียังไม่เพียงพอสำหรับคดีบางประเภท ก็ยังมีบริการ Google Earth Timelapse ที่สามารถดูรูปถ่ายทางดาวเทียมมุมสูงย้อนหลังเพิ่มได้อีกเป็น 35 ปี อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Google Earth Timelapse

ตัวจากรูปถ่ายจากดาวเทียม จากโปรแกรม Google Earth Pro

ตัวอย่างรูปถ่ายจากดาวเทียม จากโปรแกรม Google Earth Pro

นอกจากการถ่ายรูปผ่านทางดาวเทียมแล้ว บริษัทกูเกิ้ลเขายังมีการนำเอารถแบบพิเศษของกูเกิ้ลที่ติดกล้องรอบคัน มาวิ่งถ่ายรูปตามถนนทั่วโลก เพื่อเก็บภาพถนนและบรรยากาศสองข้างทางด้วย โดยเขาจะทำการวิ่งเก็บรูปถ่ายรูปทุกๆประมาณ 1-3 ปี โดยเราสามารถเข้าถึงภาพถ่ายดังกล่าวย้อนหลังได้ตลอดทุกช่วงเวลาที่มีการบันทึกรูปได้เช่นกัน  โดยเรียกว่า google street view  

รถยนต์สำหรับเก็บรูปถนนและสภาพแวดล้อม ของบริษัทกูเกิ้ล มีการติดกล้องไว้รอบทิศทาง

รถยนต์สำหรับเก็บรูปถนนและสภาพแวดล้อม ของบริษัทกูเกิ้ล มีการติดกล้องไว้รอบทิศทาง

ด้วยความสามารถของโปรแกรมดังกล่าว ทำให้ผู้ใช้โปรแกรมสามารถเข้าถึง และพิมพ์รูปถ่ายทางอากาศ และรูปถ่ายสถาพถนนและบรรยากาศรอบๆ ได้ทั่วประเทศไทย และทั่วโลก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาย้อนหลังถึงประมาณ 20 ปี ดังนั้น เราจึงสามารถใช้โปรแกรมดังกล่าว ในการตรวจสอบให้เห็นถึงสภาพของ ที่เกิดเหตุในคดี สภาพที่ดินพิพาทในคดี สภาพถนนพิพาท สภาพสิ่งแวดล้อม เช่นเสาไฟ ตึก สถานที่รอบข้าง สภาพการทำประโยชน์ในที่ดิน สภาพถนนที่เกิดเหตุในคดี รวมถึงเรายังสามารถตรวจสอบถึงความเปลี่ยนแปลงของสถานที่ดังกล่าวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ว่านับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่เกิดเหตุมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และเรายังสามารถพิมพ์รูปถ่ายออกจากโปรแกรมได้ด้วย ทั้งนี้ผู้ที่โหลดโปรแกรมมาแล้ว ยังใช้ไม่เป็น ผู้เขียนอยากให้ศึกษาจากคลิปวีดีโอนี้ครับ วีดีโอสอนการใช้งาน

 

ตัวอย่างรูปถ่าย google street view

ตัวอย่างรูปถ่าย google street view

รูปถ่ายจาก Google Earth Pro นำไปปรับใช้ในคดีอะไรได้บ้าง

ถ้าทนายความหริอผู้มีคดีความใช้โปรแกรมดังกล่าวเป็น ก็สามารถนำมาปรับใช้เพื่อประโยชน์ในการทำคดีได้หลากหลายประเภท  และหลายวิธี ไม่ว่าจะนำรูปถ่ายจากโปรแกรม มาเป็นเอกสารประกอบคำฟ้อง คำให้การ  การนำรูปถ่ายมานำสืบประกอบการนำสืบพยานของฝ่ายตัวเอง ให้มีความน่าเชื่อถือ หรือการนำรูปถ่ายมาประกอบการถามค้านพยานฝ่ายตรงข้าม เพื่อชี้ให้เห็นถึงข้อพิรุธขัดแย้ง หรือความไม่น่าเชื่อถือ โดยมี ตัวอย่างลักษณะและวิธีการนำไปใช้ในคดีต่างๆ เช่น

คดีทางภาระจำยอม

หากเราเป็นฝ่ายโจทก์ ก็สามารถใช้ภาพภ่ายทางอากาศประกอบกับภาพถ่ายถนน (street view ) จากโปรแกรม  มาประกอบการนำสืบเพื่อแสดงว่า ทางพิพาทมีลักษณะเป็นทางที่มีการใช้งานจริงต่อเนื่อง และใช้งานต่อเนื่องมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว เพราะหากมีการใช้ทางพิพาทจริง เมื่อดูจากภาพแผนที่ทางอากาศ จะแสดงให้เห็นว่ามีร่องรอยสภาพทางปรากฎตามรูปถ่าย และหากดูภาพถ่ายถนนก็จะเห็นสภาพเป็นทางหรือมีรถเข้าออก

ตัวอย่างเช่นคดีทางภาระจำยอมล่าสุดที่สำนักงานฟ้องคดี ก็ใช้โปรแกรมดังกล่าว พิมพ์รูปถ่ายจากดาวเทียมของทางพิพาทต่อศาล และชี้ให้เห็นว่า ทางมีสภาพการใช้งานมาเป็นเวลานานเกิน 10 ปี โดยนำรูปถ่ายจากดาวเทียมของทุกปีมาแสดงศาล ก็จะเห็นว่ามีร่องรอยการใช้ทางทุกปี จนศาลมีคำสั่งอนุญาตให้คุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน  ดูตัวอย่างคดี

หากเราเป็นฝ่ายจำเลย ในคดีทางภาระจำยอม ก็สามารถใช้ โปรแกรมดังกล่าว มาประกอบการต่อสู้คดีได้เช่นกัน เช่น เพื่อใช้แสดงให้เห็นว่าเพิ่งมีการใช้ทางพิพาทมาเป็นเวลาไม่ถึง 10 ปี หรือทางพิพาทมีขนาดความกว้างน้อยกว่าที่โจทก์ฟ้องมา เป็นต้น 

คดีทางจำเป็น

ฝ่ายโจทก์ก็สามารถใช้รูปแผนที่ทางอากาศนำสืบให้ศาลเห็นได้ว่า ที่ดินของฝ่ายโจทก์ไม่มีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะจริงๆ โดยไม่ปรากฎรูปทาง สภาพทาง หรือการใช้ทางบริเวณรอบที่ดินของโจทก์เลย หรือถ้าเป็นฝ่ายจำเลยก็สามารถใช้นำสืบว่า โจทก์มีทางที่ใช้เข้าออกสู่สาธารณะได้ โดยมีสภาพทางปรากฎตามรูปจากดาวเทียม 

คดีครอบครองปรปักษ์ 

หากเราเป็นฝ่ายโจทก์ ก็สามารถใช้รูปถ่ายจากดาวเทียมประกอบกับรูปถ่ายบนพื้นถนน (street view ) มาประกอบว่าเราได้มีการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจริง มาเป็นเวลาเกิน 10 ปีแล้ว ซึ่งมีปรากฎรูปสิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ บ่อน้ำ หรือการทำประโยชน์ต่างๆอย่างชัดเจน ในทำนองกลับกัน ถ้าเราเป็นฝ่ายจำเลย ก็สามารถนำไปใช้โต้แย้งฝ่ายโจทก์ได้ว่า ไม่มีการครอบครองทำประโยชน์จริงตามที่กล่าวอ้าง

โดยมีอยู่คดีหนึ่ง ผู้เขียนเป็นทนายความจำเลยในคดีครอบครองปรปักษ์ โจทก์อ้างว่าครองครองปรปักษ์ที่ดิน โดยการทำสวนมะม่วง สวนกล้วย สวนมะพร้าว และการเกษตร อยู่เต็มเนื้อที่ดินพิพาทประมาณ 20 ไร่ แต่ปรากฎว่าเมื่อผมนำรูปถ่ายพื้นที่พิพาทจากโปรแกรม Google Earth Pro  ย้อนหลังทุกปี ไปประกอบการถามค้าน แล้วปรากฎว่า พื้นที่พิพาทเป็นที่ดินว่างเปล่าตลอดมา ไม่เคยมีต้นไม้ หรือสวนเกษร อยู่เลย เมื่อถามว่าสวนเกษตรที่อ้างอยู่ที่ไหน ฝ่ายโจทก์ก็ตอบไม่ได้ ถึงกับขาสั่นในศาล ศาลก็เลยไม่เชื่อคำเบิกความของฝ่ายโจทก์ และพิพากษาให้ฝ่ายผมชนะคดีครับ 

คดีละเมิด อุบัติเหตุ รถชน

เราสามารถนำรูปถ่ายจากโปรแกรม เพื่อใช้ประกอบการนำสืบ หรือถามค้าน เพื่อสื่อให้เห็นว่า สภาพถนนที่เกิดเหตุเป็นอย่างไร เสาไฟจราจรมีลักษณะเป็นแบบไหน ความกว้างถนนมีเท่าไหร่ ถนนมีกี่เลน ลักษณะการจอดรถเป็นแบบไหน  เพื่อพิสูจน์ว่า ความจริงแล้วอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากความผิดของใคร และสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามพูดขัดแย้งกับสภาพที่เกิดเหตุหรือไม่  

คดีอาญา ฆาตกรรม หรือทำร้าย 

เราสามารถใช้รูปถ่ายจากโปรแกรม เพื่อใช้ประกอบในการถามค้านและนำสืบ ในคดีฆาตกรรมได้ โดยเฉพาะในคดีที่เกิดเหตุในตอนกลางคืน  และมีประเด็นเรื่องสภาพที่เกิดเหตุมีแสงสว่างเพียงพอหรือไม่ หรือผู้เสียหายหรือพยาน สามารถจดจำตัวจำเลยได้จริงหรือไม่ เราสามารถนำรูปถ่ายไปประกอบให้เห็นว่า มีแสงไฟหรือหลอดไฟสาธารณะบริเวณไหนบ้าง หลอดไฟอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุแค่ไหน หรือเอาไปประกอบการถามค้านว่า จุดเกิดเหตุนั้นอยู่บริเวณไหน ที่ผู้เสียหายหรือพยานอ้างว่าจดจำตัวจำเลยได้นั้น จุดเกิดเหตุจะมีแสงสว่างเพียงพอหรือไม่ หรือจุดที่ผู้เสียหานยืนอยู่นั้นไกลจากจำเลยแค่ไหน ผู้เสียหายหรือพยานจะสามารถจดจำจำเลยได้จริงหรือไม่ 

เทคนิคเบื้องต้นในการนำรูปจาก Google Earth Pro ไปใช้ในคดีความ

  1. การหาพิกัดสถานที่เกิดเหตุ อาจจะทำได้ด้วยการเซิร์ทหาสถานที่สำคัญๆ เช่นวัด โรงเรียน สถานที่ราชการ ที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ แล้วไล่ดูหาไปจนพื้นที่เกิดเหตุ หรือ หาพิกัดพื้นที่เกิดเหตุจาก google และนำค่าพิกัดมาใส่ในโปรแกรม ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ การหาพิกัดและใช้พิกัดในการค้นหา 
  2. การพิมพ์รูปออกจากโปรแกรม  ให้ใช้วิธีการนำไปให้ร้านรูปอัดออกมาจะได้ภาพที่ชัดเจนกว่าการพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ของเราเอง
  3. สามารถใช้เครื่องมือการวัด เพื่อวัดระยะทาง ความใกล้ไกล ความสูง และขนาดพื้น ประกอบการพิจารณาได้ด้วย ดูเพิ่มเติม การวัดระยะทางและขนาดพื้นที่ 
  4. ในบางกรณีอาจจะต้องทำการพิมพ์รูปเป็นภาพขนาดใหญ่เพื่อความชัดเจนในการพิจารณา หรือเพื่อให้เห็นภาพรวมของที่เกิดเหตุได้อย่างชัดเจน 
  5. ในกรณีใช้รูปถ่ายจาก google street view ควรนำรูปถ่ายไปเสนอศาลให้รอบด้าน ไม่ใช่แค่มุมใดมุมหนึ่ง ซึ่งอาจจะทำให้ศาลเห็นว่าเราปกปิดอะไรบางอย่างอยู่หรือไม่ 
  6. การพิมพ์รูปออกจากโปรแกรม อย่าตัดส่วนบริเวณที่ระบุวันที่ที่ทำการถ่ายภาพออก เพื่อใช้เป็นหลักฐานว่ารูปถ่ายดังกล่าวถ่ายเมื่อเวลาใด
  7. บางคดีเช่นคดีทางภาระจำยอม หรือครอบครองปรปักษ์ ที่มีประเด็นว่าเราใช้ทางพิพาท หรือครอบครองที่ดินพิพาทมาเป็นเวลา ไม่ควรใช้รูปถ่ายแค่ช่วงเกิดเหตุรูปเดียว แต่ควรใช้ภาพภ่ายจากทุกช่วงเวลาที่มีไปเสนอศาล เพื่อให้เห็นว่าเราใช้ทางพิพาท หรือ ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา 
  8. การพิมพ์รูปออกจากโปรแกรม จะต้องมีจุดหรือบริเวณที่สามารถยืนยันได้ว่า รูปถ่ายดังกล่าวเป็นรูปถ่ายจากบริเวณที่เกิดเหตุจริง เช่น มีการไล่ให้เห็นถึงสถานที่สำคัญๆ เช่น วัด โรงเรียน หรือบ้านคน เพื่อป้องกันการโต้แย้งว่าที่เกิดเหตุไม่ใช่ที่ดินพิพาท
  9. สามารถใช้โปรแกรมแก้ไขภาพต่างๆ ทำการมาร์คหรือวงจุดหรือบริเวณที่ต้องเน้นย้ำให้ศาลเห็นได้โดยสะดวก เช่น บ้านพิพาท ทางพิพาท เสาไฟฟ้า 
  10. วันสืบพยาน ให้เตรียมเอาโน๊ตบุ้ก ติดตัวไปด้วย เพราะหากฝ่ายตรงข้ามโต้แย้งว่า รูปถ่ายจากโปรแกรมไม่ถูกต้อง เช่น ไม่ใช่รูปจุดเกิดเหตุ หรือรูปมีการแก้ไขไม่ตรงกับที่เกิดเหตุ ก็สามารถเปิดโปรแกรมสาธิตให้ศาลชมได้เลย ซึ่งผมเคยเจอฝ่ายตรงข้ามโต้แย้งและสาธิตการทำงานของโปรแกรมให้ศาลระหว่างการพิจารณามาแล้วครับ

คดีต่างๆ ที่ผมยกตัวอย่างให้ดูนั้น เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการนำโปรแกรม Google Earth Pro ไปปรับใช้ในเท่านั้น ความจริงแล้วโปรแกรมดังกล่าวมีประโยชน์มากและสามารถนำไปปรับใช้ได้ในอีกหลากหลายคดี หลากหลายสถานการณ์ ขึ้นอยู่กับความสามารถและการเตรียมคดีของทนายความ  ส่วนตัวอย่างการนำไปใช้ในแต่ละคดี รอติดตามในตอนหน้านะครับ ผมจะเอาเคสตัวอย่างมาลงให้ดูในทุกกรณีครับ 

ผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนทนายความ และผู้มีคดีความทุกนะครับ ถ้าชอบ รบกวนแชร์หรือคอมเม้นท์เป็นกำลังใจให้ผมทำคอนเท้นต์สาระความรู้และเทคนิคในการดำเนินคดีอย่างนี้อีกนะครับ ขอบคุณครับ 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts