บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา, คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

วันตรวจพยานหลักฐาน ( ปวิอ.ม.173/1) คืออะไร รวมคำอธิบายข้อกฎหมาย และ 7 เทคนิคทางปฏิบัติในวันตรวจพยานหลักฐานที่คุณต้องรู้

วันตรวจพยานหลักฐาน คืออะไร มีข้อกฎหมาย เทคนิคและทางปฏิบัติอะไรบ้างที่ทนายความต้องรู้ ?

การกำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐานก่อนการสืบพยานนั้น เป็นกระบวนพิจารณาในคดีอาญาอย่างหนึ่ง ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2547 

แต่เดิมก่อนมีกฎหมายกำหนดให้มีการกำหนดวันตรวจพยานหลักฐานนั้น เราในฐานะทนายความ จะไม่มีโอกาสได้เห็นพยานวัตถุหรือพยานเอกสารของฝ่ายตรงข้ามก่อนวันนัดสืบพยานเลย อีกทั้งยังไม่ทราบแนวทางการนำสืบของอีกฝ่าย ว่าจะสืบพยานบุคคลปากไหน ในประเด็นใดบ้าง

โดยเราจะได้เห็นพยานหลักฐานของฝ่ายตรงข้ามในวันสืบพยานทีเดียว

ซึ่งการที่เราเห็นพยานฐานของฝ่ายตรงข้ามในวันสืบพยาน ย่อมทำให้เราไม่สามารถหาเอกสารหลักฐานเพื่อหักล้างหรือแก้ไขได้ทัน

ตัวอย่างเช่น

  • หากฝ่ายตรงข้าม อ้างบันทึกการชี้รูปผู้ต้องหามา เราก็จะไม่มีโอกาสไปหาระเบียบตำรวจเกี่ยวกับคดี หรือข้อมูลอื่นๆมาหักล้าง
  • ฝ่ายตรงข้ามอ้างผลตรวจพิสูจน์ของแพทย์มา เราก็ไม่มีเวลาไปศึกษาหาความรู้หรือตำราทางการแพทย์มาคัดค้าน
  • ฝ่ายตรงข้ามอ้างแผนที่ที่เกิดเหตุมา เราจะไม่มีโอกาสลงไปตรวจสถานที่เกิดเหตุว่าแผนที่ตรงกับที่เกิดเหตุหรือไม่ 

ผู้ร่างกฎหมายในช่วงปี พ.ศ 2547 นี้  เห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิของจำเลยในการต่อสู้คดีขึ้นมาหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการกำหนดให้มี  ” วันตรวจพยานหลักฐาน “ ก่อนการสืบพยาน ตามมาตราประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 173/1 และ 173/2  ด้วย 

โดยการกำหนดวันตรวจพยานหลักฐานนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้การพิจารณาและสืบพยานในชั้นศาลเป็นไปเพื่อการค้นหาความจริงว่าจำเลยกระทำผิดจริงหรือบริสุทธิ์ มากกว่าการแพ้ชนะกันด้วยเทคนิควิธีพิจารณาความ (อ้างอิง-ท่านอาจารย์ธานิศ เกศวพิทักษ์)

มาตรการที่ทุกฝ่ายต้องปฎิบัติใน วันตรวจพยานหลักฐาน คือ

1.ให้ทั้งสองฝ่ายยื่นบัญชีระบุพยานเพื่อแสดงว่า จะนำพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุใดมาสืบบ้าง ก่อนวันตรวจพยานหลักฐานไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อที่ศาลและคู่ความทุกฝ่ายจะได้รู้ว่า แต่ละฝ่ายจะสืบพยานบุคคลพยานเอกสารหรือพยานวัตถุอะไรบ้าง (ปวิอ. ม.173/1 วรรค 2) 

การจะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม จะต้องขออนุญาตต่อศาล และแสดงเหตุผลอันสมควร ว่าไม่ทราบถึงพยานหลักฐานนั้น หรือกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หรือเพื่อเปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ (ปวิอ. ม.173/1 วรรค 3) 

2.ให้ทั้งสองฝ่ายแถลงแนวทางการนำสืบ เพื่อที่ศาลจะกำหนดว่าแต่ละฝ่ายควรจะใช้พยานกี่ปาก ฟุ่มเฟือยเกินไปหรือไม่ และพยานที่จะนำสืบเกี่ยวข้องกับประเด็นหรือไม่ ถ้าพยานปากไหนดูแล้วนอกประเด็นหรือฟุ่มเฟือยเกินสมควร ศาลก็มีอำนาจตัดพยานปากดังกล่าวได้  (ปวิอ. ม.173/2 ) 

3.ให้ศาลถามทั้งสองฝ่ายว่า มีพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุไหน ที่ทั้งสองฝ่ายสามารถ รับข้อเท็จจริงกันได้หรือไม่ ถ้ารับได้ก็ไม่ต้องนำสืบ ซึ่งจะทำให้การสืบพยานเป็นไปโดยกระชับ เช่น คดีทำร้ายร่ายกาย ฝ่ายจำเลยเห็นว่า บาดแผลตามใบรับรองรองแพทย์นั้นถูกต้องจริง และต่อสู้ประเด็นว่าไม่ใช่คนทำร้าย ไม่มีประเด็นที่จะต้องนำสืบพยานปากแพทย์ ก็สามารถรับข้อเท็จจริงตามใบรับรองแพทย์ได้ โดยไม่ต้องทำการสืบพยานให้เสียเวลาทั้งสองฝ่ายและตัวพยานแพทย์ ก็ไม่ต้องเสียเวลามาศาล   (ปวิอ. ม.173/2 ) 

4.ให้ทั้งสองฝ่าย นำพยานวัตถุ พยานเอกสาร  ที่ต้องการนำสืบ ยื่นตัวจริงไว้ต่อศาล  เพื่อที่อีกฝ่ายหนึ่งได้ตรวจสอบพยานเอกสาร พยานวัตถุ ต่างๆของอีกฝ่าย ก่อนถึงกำหนดวันนัดพิจารณา เพื่อจะได้มีเวลาหาข้อมูลและพยานหลักฐานมาโต้แย้งคัดค้านก่อนถึงวันนัด  (ปวิอ. ม.173/2 ) และถ้าพยานวัตถุ พยานเอกสารใด อยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก หากฝ่ายใดต้องการอ้างอิงพยานวัตถุหรือพยานเอกสารดังกล่าว ก็จะต้องหมายเรียกพยานวัตถุ หรือพยานเอกสารดังกล่าว มาศาลก่อนกำหนดวันตรวจพยานหลักฐาน หรือวันที่ศาลกำหนด (ปวิอ. ม.173/1 วรรค 4 ) 

การกำหนดวันตรวจพยานหลักฐาน มีวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งก็คือ ให้แต่ละฝ่ายแสดงพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ ที่ประสงค์จะนำสืบต่อศาลก่อนวันสืบพยาน เพื่อให้อีกฝ่ายมาตรวจสอบ และหาแนวทางหักล้างหรือโต้แย้งก่อนถึงกำหนดนัดสืบพยาน

วันตรวจพยานหลักฐาน มีวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งก็คือ ให้แต่ละฝ่ายแสดงพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ ที่ประสงค์จะนำสืบต่อศาลก่อนวันสืบพยาน เพื่อให้อีกฝ่ายมาตรวจสอบ และหาแนวทางหักล้างหรือโต้แย้งก่อนถึงกำหนดนัดสืบพยาน

7 เทคนิคและทางปฏิบัติในวันตรวจพยานหลักฐาน

1.สอบข้อเท็จจริงจากลูกความและพยานให้ละเอียด พร้อมวางรูปคดี และยื่นบัญชีพยาน

ก่อนวันตรวจพยานหลักฐาน เรามีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีระบุพยานก่อนถึงวันตรวจพยานหลักฐานไม่น้อยกว่า 7 วัน 

ดังนั้นก่อนถึงวันนัด เราจะต้องวางรูปคดีก่อนแล้วว่าเราจะต้องสืบพยานกี่ปาก มีพยานหลักฐานอะไรบ้าง มีแนวข้อต่อสู้อย่างไร เช่นต่อสู้อ้างฐานที่อยู่ ต่อสู้ว่าไม่มีเจตนา ต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นตัวการร่วม เป็นต้น

เพราะในวันดังกล่าว นอกจากเราจะต้องยื่นบัญชีระบุพยานล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันแล้ว ศาลจะถามทนายความถึงเรื่อง แนวทางการต่อสู้คดี สอบถามว่า มีพยานที่จะนำสืบกี่ปาก และพยานแต่ละปากเกี่ยวข้องกับประเด็นข้อต่อสู้อย่างไร

อย่างไรก็ตามหากยื่นบัญชีพยานตกหล่นไป ก็สามารถขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ แต่จะต้องทำเป็นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติม พร้อมแสดงสาเหตุต่อศาลด้วย (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง การยื่นบัญชีระบุพยานคดีแพ่ง-อาญา ซึ่งผมได้เขียนอธิบายไว้อย่างละเอียด )

ซึ่งกรณีที่เราเป็นทนายความจำเลย ศาลมักจะอนุญาตให้เพิ่มเติมได้อยู่แล้ว เพราะศาลมักจะใช้อำนาจตาม ปวิอ มาตรา  173/1 วรรคท้าย ที่ให้โอกาสจำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

2.ส่งพยานเอกสารหรือพยานวัตถุที่เรามีต่อศาล

ส่งพยานวัตถุ พยานเอกสาร ที่มีอยู่ในมือของฝ่ายเรา คือหากเรามีพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ ที่ประสงค์จะใช้นำสืบ เราก็ต้องส่งตัวจริงต่อศาลในวันตรวจพยานหลักฐาน เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามได้ตรวจสอบก่อน

สำหรับ เรื่องนี้มีเคล็ดลับและเทคนิคทางปฏิบัติที่ออกจะเป็นลูกแทคติกอยู่สักหน่อย ก็คือ ในกรณีที่เราเป็นทนายความจำเลย ซึ่งมีหน้าที่สืบพยานภายหลังอยู่แล้ว ถ้าเรามีพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นพยานหลักฐานเด็ด ที่จะทำให้เราจับเท็จพยานได้อย่างแน่นอน

และหากเราส่งพยานวัตถุหรือพยานเอกสารล่วงหน้าไป พยานอาจจะรู้ทาง เบิกความบ่ายเบี่ยงหลบเลี่ยงไปเป็นอย่างอื่น  เราอาจจะใช้เทคนิคไม่ส่งเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าวในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน แต่เก็บไว้ใช้ถามค้านพยานโจทก์ก็ได้

เช่น เราทราบว่าพยานโจทก์ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่จะมาเบิกความว่าตนเองเห็นเหตุการณ์ และเรามีคลิปวีดีโอที่แสดงให้เห็นว่าพยานโจทก์ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุเลย เ

ช่นนี้ถ้าเราส่งเอกสารหลักฐานดังกล่าวไปก่อน พยานโจทก์อาจจะบ่ายเบี่ยงเบิกความหลบเลี่ยงเป็นอย่างอื่นไปได้

เช่นนี้เราอาจจะไม่ส่งคลิปวีดีโอดังกล่าวในวันตรวจพยานหลักฐาน และปล่อยให้พยานโจทก์เบิกความไปก่อนว่าตนเองอยู่ในเหตุการณ์ แล้วค่อยเอาคลิปวีดีโอถามค้านพยานโจทก์ปากนี้หรือพยานโจทก์ปากอื่น เพื่อทำลายน้ำหนักพยานโจทก์ก็ได้

เพราะถึงแม้เราจะไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานหรือเอกสารดังกล่าว และไม่ได้อ้างส่งในชั้นตรวจพยานหลักฐานก็ตาม

แต่หากเราใช้พยานเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าวถามค้าน และพยานโจทก์เบิกความยอมรับ ศาลก็สามารถรับพยานหลักฐานดังกล่าวเข้าสู่สำนวนและรับฟังประกอบการวินิจฉัยคดีได้ ในฐานะเอกสารประกอบคำถามค้าน ตามนัย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3470/2538 , 737/2528  เป็นต้น

แต่ถ้าเราเป็นฝ่ายโจทก์เราจะใช้เทคนิคดังกล่าวยากหน่อย เพราะถ้าเรามีพยานเอกสารหรือพยานวัตถุใด แล้วเราไม่ได้ยื่นไว้ในชั้นตรวจพยานหลักฐาน เราซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน ย่อมไม่มีสิทธินำสืบ

เว้นแต่เราจะนำเอกสารหรือพยานวัตถุนั้นมาถามค้านพยานจำเลยและพยานจำเลยยอมรับ ซึ่งก็จะเป็นการที่มีน้ำหนักน้อย และเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ เพราะทางฝ่ายเราไม่ได้นำสืบอธิบายหรืออ้างถึงมาก่อน

อย่างไรก็ตามหากพยานเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าว เป็นหลักฐานที่ชัดเจนหรือโต้แย้งไม่ได้อยู่แล้ว เราก็อาจจะส่งในชั้นตรวจพยานหลักฐานให้ศาลเห็นตั้งแต่ต้นเลยก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอุบไต๋ไว้แบบนั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปคดีแต่ละเรื่องไป

3.ตรวจสอบพยานบุคคลของฝ่ายตรงข้าม

เราต้องตรวจสอบว่าฝ่ายตรงข้ามต้องการสืบพยานบุคคลอะไรบ้าง เกี่ยวข้องกับประเด็นไหม ถ้าไม่เกี่ยวข้องหรือเป็นพยานที่ต้องห้ามรับฟังก็ขอให้ศาลตัดพยานปากนั้น

อย่างไรก็ตามกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ มักจะไม่ได้ขอนำสืบพยานบุคคลฟุ่มเฟือย หรือไม่เกี่ยวกับประเด็นอยู่แล้ว เพราะเป็นพยานที่ผ่านการสอบสวนกลั่นกรองมาแล้

ว แต่กรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์เอง บางครั้งทนายความโจทก์อาจจะขอพยานหลักฐานที่ฟุ่มเฟือย หรือไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นเข้ามา เราก็ต้องขอให้ศาลซักถามฝ่ายโจทก์ ว่าพยานบุคคลเกี่ยวข้องกับประเด็นจริงหรือไม่ ถ้าไม่เกี่ยวข้องก็ขอศาลตัดพยานปากดังกล่าว 

4.รับข้อเท็จจริงที่รับได้

ตรวจสอบว่าพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุใด ที่ฝ่ายตรงข้ามยื่นมาว่าเราสามารถรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุดังกล่าวได้หรือไม่

เช่นคดียาเสพติดเราสู้ว่ายาเสพติดดังกล่าวไม่ใช่ของเรา เช่นนี้ผลตรวจพิสูจน์ยาเสพติดว่า จึงไม่ใช่ประเด็นข้อต่อสู้ในคดี ไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องเอาผู้ตรวจยาเสพติดมาถามค้านหรือนำสืบ เราก็สามารถรับข้อเท็จจริงดังกล่าวได้เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาไปโดยรวดเร็ว

ทนายความจำเลยบางคนไม่รับข้อเท็จจริงใดๆไว้ก่อน โดยไม่มีเหตุผล เช่น

คดียาเสพติด สู้เพียงว่ายาเสพติดดังกล่าวไม่ใช่ของตัวเอง แต่ก็ไม่ยอมรับผลตรวจพิสูจน์ยาเสพติด ต้องการให้เอาผู้ตรวจพิสูจน์ยาเสพติดมาเบิกความ พอพยานมาถึงก็ไม่มีประเด็นถามค้านให้เห็นเป็นอย่างอื่นไปได้เลย 

คดีทำร้ายร่างกายผลตรวจก็ออกมาแล้วว่าไม่ใช่อันตรายสาหัส และสู้คดีประเด็นว่าไม่ได้เป็นคนลงมือทำร้าย ก็ไม่รับผลตรวจพิสูจน์แพทย์ ต้องให้เอาแพทย์มาเบิกความ พอพยานมาถึงก็ไม่มีประเด็นถามค้านให้เป็นประโยชน์แก่รูปคดี 

คดีฉ้อโกง มีหลักฐานการโอนเงินชัดเจน ก็ไม่ยอมรับหลักฐานการโอนเงิน ต้องให้เอาพนักงานธนาคารมาเบิกความ พอพยานมาถึง ก็ไม่มีประเด็นถามค้านให้เป็นประโยชน์กับลูกความ

ทั้งนี้ที่ไม่รับข้อเท็จจริง เพียงแค่อยากจะโชว์ให้ลูกความเห็นว่าได้ทำงานเต็มที่แล้ว ทั้งๆที่ไม่จำเป็นใดๆ และยิ่งทำให้คดีล่าช้า  ทนายความที่ทำเช่นนี้ย่อมเป็นที่รังเกียจของฝ่ายตรงข้ามและผู้พิพากษา รวมทั้งพยานที่ต้องเสียเวลามาศาลโดยไม่จำเป็น   

แต่ถ้าบางคดีมีความจำเป็นที่ทนายความไม่สามารถรับผลตรวจพิสูจน์หรือ ไม่สามารถรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ พยานบุคคล  พยานวัตถุ หรือพยานเอกสาร  เช่น

คดีฆาตกรรม เราต้องการถามแพทย์ถึงเรื่องวิถีกระสุนและบาดแผลของผู้เสียหายหรือผู้ตาย ว่าขัดกับคำเบิกความของพยานบุคคล 

คดีทำร้ายร่างกายสาหัส เราต้องการถามแพทย์ว่า ผลตรวจพิสูจน์ที่ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสนั้น อาจจะคลาดเคลื่อนไปจากความจริง ความจริงผู้เสียหายอาจจะไม่ได้รับอันตรายถึงขั้นสาหัส  

คดียาเสพติด ที่จำนวนยาเสพติดเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดเล็กน้อย และเราต้องการถามค้านให้เห็นว่า การคำนวณของเจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์ ก็อาจจะคลาดเคลื่อนได้ 

คดีที่จำเลยให้การปฏิเสธในชั้นจับกุม เราต้องการถามค้านพยานผู้จับกุมว่า จำเลยไม่ได้หลบหนีไปไหน และให้การปฏิเสธพร้อมให้เหตุผลทันทีในชั้นจับกุม 

เช่นนี้ ถ้าศาลหรือฝ่ายตรงข้ามต้องการให้เรารับข้อเท็จจริง เราก็ต้องยืนกรานที่จะไม่รับข้อเท็จจริง และต้องชี้แจงเหตุผลให้ผู้พิพากษาทราบ ซึ่งผู้พิพากษาส่วนใหญ่ถ้าเราชี้แจงเหตุผลที่รับฟังได้ ท่านก็ยินดีให้จำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่อยู่แล้ว แต่ทนายความบางคนพอศาลถามก็ตอบไม่ได้ว่าทำไมถึงไม่รับข้อเท็จจริง ก็ตอบไม่ได้ เพราะไม่มีเหตุผล แค่ไม่อยากรับ เพราะดูเหมือนเป็นทนายความที่ทำงานเต็มที่เท่านั้น 

5.คัดเอกสาร พยานวัตถุ และวีดีโอ ที่ฝ่ายตรงข้ามยื่นต่อศาล

เมื่อเราตรวจสอบว่าฝ่ายตรงข้ามยื่นเอกสารหลักฐานอะไรเข้ามาในสำนวนบ้าง เราก็จะต้องยื่นขอคัดถ่ายเอกสารหลักฐานดังกล่าวต่อศาลในวันนั้นเลย

ทั้งนี้ตามกฎหมายแล้ว กำหนดให้คู่ความทุกฝ่ายยื่นเอกสารและพยานวัตถุ “ตัวจริง” และไม่ได้กำหนดให้ต้องถ่ายสำเนาให้อีกฝ่ายแต่อย่างใด ดังนั้นเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องขอคัดถ่ายเอกสารที่ฝ่ายตรงข้ามยื่นต่อศาล

และถ้าพยานวัตถุดังกล่าวเป็นบันทึกวีดีโอ ก็สามารถขอคัดลอกได้โดยทำคำร้องขออนุญาตคัดลอกสำเนาวีดีโอ พร้อมนำเครื่องมือไปทำการคัดลอก หรือบางศาล เจ้าหน้าที่ศาลก็จะจัดทำการคัดลอกวีดีโอให้ โดยเราเพียงเตรียมแผ่นซีดีหรือแฟลตไดร์ไปเองเท่านั้น  

6. เตรียมหาข้อมูลหักล้างพยานหลักฐานฝ่ายตรงข้าม

เมื่อเราได้สำเนา พยานเอกสารหรือพยานวัตถุมาแล้ว เราต้องตรวจสอบหาข้อมูลและพยานหลักฐานว่าจะหักล้างพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์ได้อย่างไร

โดยเมื่อคัดถ่ายพยานเอกสาร พยานวัตถุ ของฝ่ายตรงข้ามจากศาลมาแล้ว เราก็ต้องมาตรวจสอบว่า จะสามารถหักล้างพยานเอกสารหรือพยานวัตถุของฝ่ายตรงข้ามได้อย่างไร เช่น

ฝ่ายตรงข้ามส่งแผนที่สังเขปที่เกิดเหตุมา เราก็ต้องดูว่า แผนที่สังเขปนั้น มีจุดบกพร่องไม่ตรงกับความจริง แผนที่สังเขปทำไม่ถูกต้องตามระเบียบตำรวจเกี่ยวกับคดีหรือไม่ ถ้ามีเราจะได้เตรียมหลักฐานและข้อมูลไว้ถามค้านทำลายน้ำหนักได้

ฝ่ายตรงข้ามส่งใบรับรองแพทย์มา เราก็ต้องตรวจสอบว่า ตามหลักวิชาทางการแพทย์นั้น สามารถโต้เถียงหรือหักล้างใบรับรองแพทย์ดังกล่าวได้หรือไม่ ถ้ามีเราจะได้เตรียมหลักฐานและข้อมูลไว้ถามค้านทำลายน้ำหนักพยานได้

ฝ่ายตรงข้ามส่งรูปถ่ายที่เกิดเหตุมา เราก็ต้องดูว่า ในรูปถ่ายนั้นมีจุดไหนที่จะเป็นประโยชน์กับเราหรือไม่ หรือรูปถ่ายนั้นคลาดเคลื่อนไปจากความจริงหรือไม่ เพื่อใช้ประกอบการถามค้านให้เป็นประโยชน์แก่รูปคดี

7. รับสำเนาบัญชีพยาน และคัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณา

ในวันตรวจพยานหลักฐาน เราต้องรับบัญชีพยานที่ฝ่ายตรงข้ามยื่นมา พร้อมขอคัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาในวันตรวจพยานหลักฐาน เก็บรวมเข้าสู่สำนวนไว้

ทั้งนี้เพราะในบัญชีพยานและ รายงานกระบวนพิจารณานั้น จะมีการระบุไว้ว่า แต่ละฝ่ายมีแนวทางการสืบพยานหรือต่อสู้คดีอย่างไร หรือมีพยานกี่ปาก มีการรับข้อเท็จจริงใดไว้แล้ว เพื่อเก็บรวบรวมใช้สำหรับการเตรียมคดีต่อไป

ผมหวังว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆทนายความและผู้สนใจทุกคน ในวันหน้าผมจะเอาตัวอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน มาเผยแพร่ให้เพื่อนๆศึกษาต่อไป หากถูกใจบทความเช่นนี้ รบกวนกดไลค์ กดแชร์ และคอมเม้นท์เป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ ขอบคุณทุกท่านครับ

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts