ฟ้องคดีอาญา เช่น คดียักยอก ฉ้อโกง หมิ่นประมาท ทำร้ายร่างกาย จะจ้างทนายความฟ้องร้อง มีขั้นตอนอย่างไร ต้องไปศาลกี่ครั้ง ใช้เวลาในการดำเนินคดีนานไหม ฟ้องแล้วจะชนะหรือเปล่า ชนะแล้วจะได้เงินคืนไหม ค่าทนายความประมาณเท่าไหร่ ฯลฯ
คำถามเหล่านี้ เป็นคำถามที่ผมจะต้องตอบลูกความอยู่เสมอ เมื่อมาปรึกษาเรื่องการว่าจ้างให้ฟ้องคดีอาญา ในวันนี้ ผมจึงได้รวบรวมคำตอบสำหรับคำถามที่พบบ่อย ของผู้ที่ต้องการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา มาให้ได้ทราบเป็นแนวทางกันครับ
ขั้นตอนแรก รวบรวมพยานหลักฐาน
ขั้นตอนแรกในการฟ้องคดีอาญา คุณควรต้องเก็บรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อส่งมอบให้กับทนายความ
โดยเริ่มตั้งแต่หลักฐานการสนทนาผ่านโปรแกรมไลน์ เฟซบุ๊ก โทรศัพท์มือถือ อีเมล์ รูปถ่าย เอกสารที่ทำขึ้นระหว่างกันทั้งหมด ข้อมูลของจำเลย เช่นชื่อนามสกุล เลขบัตรประชาชนของคู่กรณี เก็บหลักฐานการโอนเงิน และทุกๆอย่างที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างคุณและคู่กรณี
จำไว้ว่าเอกสารหลักฐานบางอย่าง ที่คุณคิดว่าไม่หรือไม่เกี่ยวข้องกับคดี แต่ในทางกฎหมายหรือในสายตาของทนายความมันอาจเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญในคดีก็ได้ ดังนั้นคุณจึงควรรวบรวมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องให้ทนายตรวจสอบจะดีกว่า เข้าหลักเผื่อเหลือไว้ดีกว่าเผื่อขาดครับ
โดยคุณควรจะต้องรีบเก็บหลักฐานต่างๆทันที เมื่อเริ่มรู้ว่ามีการกระทำผิด เพราะพยานหลักฐานบางอย่างเช่น รูปถ่ายในแชทไลน์ หลักฐานการสนทนา หากไม่รีบเก็บหลักฐานไว้แต่เนิ่นๆ อาจจะสูญหายยากแก่การกู้คืนหรือติดตามในภายหลังได้
เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จแล้ว ให้ปริ๊น หรือใส่ไว้ใน flashdrive หรือช่องทางเก็บหลักฐานออนไลน์ต่างๆ เช่น googledrive เพื่อสะดวกแก่การมอบให้ทนายความตรวจสอบ และใช้เป็นพยานหลักฐานในภายหลังครับ
ขั้นตอนที่สอง เรียบเรียงเรื่องราว
ทนายความจะดีใจมาก ถ้าคุณทำแบบนี้ คือ พิมพ์เล่ารายละเอียดเล่าเรื่องราวตั้งแต่เริ่มจนจบ เป็นภาษาง่ายๆหรือตามที่คุณเข้าใจ พร้อมกับแนบเอกสารหลักฐานต่างๆ เป็นขั้นเป็นตอน โดยจะพิมพ์ส่งทางไลน์ ส่งอีเมล์ หรือพิมพ์ใส่กระดาษไว้ก็ได้
ขั้นตอนนี้ความจริงแล้วจะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่ถ้าคุณทำ มันจะทำให้การสอบข้อเท็จจริงของทนายความเป็นไปได้รวดเร็ว และทำให้ทนายความสามารถเข้าใจเรื่องราวของคุณได้ง่ายและละเอียดยิ่งขึ้นครับ
แต่ถ้าตอนนั้นคุณกำลังตกใจ ไม่รู้จะเรียงเรียงเรื่องราวอย่างไร หรือไม่ถนัดพิมพ์เล่าเรื่อง ไม้ต้องห่วงครับ ทนายความมีวิธีสอบถามและไล่เรียงเรื่องราวจากคุณได้อยู่แล้ว ให้ข้ามไปขั้นตอนถัดไปเลยก็ได้ครับ
ขั้นตอนที่สาม ปรึกษาทนายความ
การสอบข้อเท็จจริงที่ดีที่สุดระหว่างทนายความกับลูกความ คือการมานั่งคุยกันต่อหน้า แบบ face to face
โดยผมจะแนะนำลูกความอยู่เสมอว่า การคุยกันทางโทรศัพท์ ทางไลน์ ทางอีเมล์ อย่างไรเสียก็สู้มานั่งคุยกันต่อหน้าไม่ได้ เพราะทำให้เข้าใจข้อเท็จจริงต่างๆได้ละเอียดกว่า และสามารถซักถาม ทำความเข้าใจและจับกิริยาอาการต่างๆได้ดีที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีอาญา หากมีความเข้าใจกันคลาดเคลื่อนระหว่างทนายความกับลูกความ แม้เป็นเรื่องเล็กน้อย ก็อาจทำให้รูปคดีเสียหายได้ ดังนั้นการมานั่งคุยกันต่อหน้า จะทำให้เข้าใจเรื่องราวได้ละเอียดและดีที่สุดครับ
โดยในการมาปรึกษาทนายความ ให้คุณเตรียมเอาเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เตรียมไว้ในข้อ 1 และหลักฐานการรวบรวมข้อเท็จจริง ตามข้อ 2 มาให้ทนายความด้วยครับ
ถ้าคดีมีรายละเอียดเยอะ นำมาส่งเอกสารหลักฐานให้ทนายความล่วงหน้าก่อนเข้ามาปรึกษาสักนิดก็จะดีครับ ทนายความจะได้มีเวลาอ่านก่อน เมื่อมานั่งคุยกันจะได้ประหยัดเวลาของทั้งสองฝ่ายครับ
จำไว้ว่าการให้ข้อเท็จจริงกับทนายความ คุณควรเล่าเรื่องจริงทุกอย่าง ไม่ควรโกหกหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อหวังให้ทนายความช่วยเหลือ เพราะหากคุณปิดบังข้อเท็จจริงอะไรกับทนายความ อาจทำให้ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อรูปคดี เมื่อความจริงมาปรากฎในภายหลัง
ทั้งนี้ทนายความมีหน้าที่รักษาความลับของลูกความ และไม่มีสิทธินำเรื่องที่คุณเล่ามาเปิดเผยให้ผู้อื่นทราบได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นควรบอกความจริงทั้งหมดแก่ทนายความ เพื่อจะได้หาทางแก้ไขหรือทางออกตั้งแต่เนิ่นๆครับ
ขั้นตอนที่สี่ วินิจฉัยว่าเป็นคดีอาญาจริงหรือไม่ ?
บางครั้งความผิดอาญากับการโต้แย้งสิทธิทางแพ่งมีความใกล้เคียงกัน ดังนั้นในการดำเนินคดี ทนายความจะต้องสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจนว่า จำเลยกระทำความผิดอาญาจริงๆ จึงค่อย ฟ้องคดีอาญา
หากเห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่ชัดเจน ทนายความก็ช่วยสืบหาข้อมูลรวมทั้งแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมต่อไป
ทั้งนี้ในการฟ้องคดีอาญาเราจะต้องมั่นใจว่าจำเลยกระทำผิดจริง และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะนำสืบในชั้นพิจารณา หากไม่มั่นใจในพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริง ก็ไม่ควรยื่นฟ้องเป็นคดีอาญา โดยหวังจะข่มขู่หรือบีบให้จำเลยกลัว หรือยอมตามที่เราเรียกร้อง
เพราะการกระทำเช่นนั้น หากจำเลยต่อสู้คดีและศาลพิพากษายกฟ้อง นอกจากจะทำให้ตัวความเสียเวลาและเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังมีความเสี่ยงที่ตัวทนายความและตัวโจทก์จะถูกฟ้องกลับอีกด้วย
ดังนั้นถ้าทนายความตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ไม่ได้เป็นคดีอาญา ทนายความก็จะแนะนำให้ดำเนินคดีแพ่งหรือใช้สิทธิในทางอื่นๆ ตามข้อกฎหมายต่อไปครับ
อนึ่งหากเข้ามาปรึกษาทนายความ รบกวนนัดล่วงหน้าก่อนทุกครั้งนะครับ เพราะธรรมดาแล้วทนายความมักจะมีงานต้องออกไปข้างนอก เช่นไปศาล ออกไปลงพื้นที่เกิดเหตุบ่อยครั้งครับ
ขั้นตอนที่ห้า ดำเนินการยื่นฟ้อง
เมื่อทนายความรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานแล้ว เห็นว่าจำเลยกระทำผิดอาญาจริง และคุณมีอำนาจฟ้องคดี ทนายความก็จะจัดการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลให้ โดยใช้เวลาในการจัดทำคำฟ้องประมาณ 3-10 วัน แล้วแต่กรณี
ในคดีอาญาส่วนใหญ่แล้ว เราสามารถยื่นฟ้องต่อศาลเองโดยตรง หรือแจ้งความดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวน เพื่อให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องก็ได้
ยกเว้นคดีความผิดบางประเภทที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย เราไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงหรือผู้เสียหายพิเศษ จึงไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีเองได้ ซึ่งประเด็นนี้ทนายความจะเป็นผู้ตรวจสอบให้
แต่ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อเราไปแจ้งความ พนักงานสอบสวนมักจะบอกปัดไม่รับเป็นคดีความ โดยอ้างว่าเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง โดยเฉพาะคดีประเภทฉ้อโกง ยักยอก หมิ่นประมาท ฯลฯ หรือถ้าพนักงานสอบสวนรับการดำเนินคดีก็มักจะค่อนข้างล่าช้า
ผมจึงนิยมแนะนำให้ลูกความเลือกใช้วิธีมอบหมายให้ทนายความการฟ้องร้องดำเนินคดีเองโดยตรงต่อศาล เพราะจะรวดเร็วกว่าครับ
ซึ่งเมื่อคุณตัดสินใจยื่นฟ้องคดีอาญาเองโดยตรงแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวน ให้เกิดความซ้ำซ้อนแต่อย่างใดครับ
รอขึ้นศาลนัดแรกนานไหม
หลังจากยื่นฟ้องแล้ว ศาลจะนัดไต่สวนมูลฟ้องภายหลังจากยื่นฟ้องประมาณ 2-3 เดือน นับจากวันที่ยื่นฟ้อง
โดยในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ฝ่ายเราจะต้องเตรียมพยานหลักฐานไปให้พร้อมไต่สวน โดยทนายความจะแจ้งกับท่านว่า จะต้องเตรียมเอกสารหลักฐานอะไรบ้าง และทนายความจะนัดหมายเข้ามาเพื่อซักซ้อมการถามตอบและแนวทางการดำเนินคดีกันก่อนขึ้นศาลอีกครั้งครับ
ทั้งนี้ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง หากมีความจำเป็นต้องใช้พยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุใดๆที่ท่าน ไม่สามารถนำมาศาลด้วยตนเองได้ ทนายความก็จะขอหมายเรียกจากศาล เพื่อให้มีพยานหลักฐานครบพร้อมในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง
ขั้นตอนที่หก ขึ้นศาลนัดแรก
ในวันขึ้นศาลนัดแรก ตัวคุณที่เป็นโจทก์ควรจะต้องไปศาลพร้อมกับทนายความด้วย เพื่อเล่าเรื่องราวและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้กับศาลฟัง รวมทั้งแสดงพยานหลักฐานต่างๆให้ศาลเห็น ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่า การไต่สวนมูลฟ้อง
โดยทนายความของคุณจะสอบถามเรื่องราวที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ โดยคุณมีหน้าที่จะต้องเบิกความอธิบายต่อศาลว่าที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดนั้นมีพฤติการณ์อย่างไร เช่น เริ่มรู้จักจำเลยได้อย่างไร จำเลยเขามาทำอะไรให้เราเสียหาย หลังเกิดเหตุเป็นอย่างไร แน่ใจได้อย่างไรว่าเขาทำผิดอาญา
นอกจากนี้หากมีพยานบุคคล หรือเอกสารหลักฐานอื่นๆที่คุณนำมาศาลเองไม่ได้ ทนายความก็จะออกอำนาจศาลออกหมายเรียกพยานบุคคลและเอกสารหลักฐานต่างๆมาใช้เป็นพยานหลักฐาน ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง
หลังจากนั้นหากฝ่ายตรงข้ามตั้งทนายความมา ทนายความฝั่งตรงข้ามก็มีสิทธิถามค้านเพื่อแสดงให้เห็นว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิด ซึ่งคุณก็มีหน้าที่ตอบไปตามจริง อ่าน เคล็ดลับในการตอบคำถามค้านฝ่ายตรงข้ามเมื่อต้องเป็นพยานศาล
ขั้นตอนที่เจ็ด นัดสอบคำให้การ-สืบพยาน
เมื่อศาลได้เห็นพยานหลักฐานและฟังคำเบิกความของเราแล้วเห็นว่า คดีที่เราฟ้องมีเหตุมีผลมีน้ำหนักน่าเชื่อถือศาลก็จะสั่งว่า คดีของเรามีมูล และหลังจากนั้นศาลก็จะออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาล เพื่อทำการสอบคำให้การว่าจำเลยจะปฏิเสธหรือรับสารภาพ
ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพ ก็จะเจรจากันเรื่องการคืนเงินชดใช้ค่าเสียหายให้กับเรา เช่นขอผ่อนชำระค่าเสียหาย 1 ล้านบาท และขอผ่อน 10 เดือนในอัตราเดือนละ 100,000 บาท เป็นต้น
โดยหากสามารถตกลงกันได้ศาลก็จะบันทึกข้อตกลงไว้ในรายงานกระบวนพิจารณของศาล และศาลก็จะเลื่อนการนัดฟังคำพิพากษาออกไปก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยผ่อนชำระหนี้ตามข้อตกลง และเมื่อจำเลยชำระหนี้จนครบข้อตกลงแล้วเราก็สามารถถอนฟ้องคดีต่อศาลได้ คดีก็จะจบกันไป
แต่หากจำเลยไม่ชำระหนี้ตามข้อตกลง ทนายความก็แจ้งศาลว่าจำเลยไม่ชำระหนี้ตามข้อตกลง และขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย จากนั้นศาลก็นัดหมายจำเลยมาฟังคำพิพากษาและลงโทษจำคุกจำเลยต่อไป
แต่ส่วนใหญ่แล้วจำเลยก็ไม่อยากติดคุกกันอยู่แล้ว จำเลยก็มักจะขวนขวายหาเงินมาให้ชำระหนี้ตรงกำหนดกันครับ
แต่ถ้าจำเลยให้การต่อสู้คดี ศาลก็จะนัดสืบพยานอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคุณก็ต้องไปเบิกความอธิบายเรื่องราวที่ศาลอีกรอบครับ และหลังจากนั้นศาลก็จะพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตามอัตราโทษต่อไป
สรุป ใช้เวลาประมาณเท่าไหร่
ถ้าพยานหลักฐานของเราชัดเจนจนจำเลยไม่อาจปฏิเสธได้ และจำเลยยินยอมรับสารภาพในชั้นศาล กระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จคดี (จำเลยรับสารภาพ) อยู่ที่ประมาณ 4-6 เดือน
แต่ถ้าจำเลยต่อสู้คดี ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนศาลชั้นตัดสิน ประมาณ 6 – 9 เดือนครับ และถ้าศาลชั้นต้นตัดสินแล้ว มีการอุทธรณ์-ฎีกาต่อไป ก็ใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 ปีครับ
เรียกเงินไปพร้อมกันเลยได้หรือไม่
ในคดีอาญาส่วนใหญ่ เราสามารถยื่นคำฟ้องส่วนแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายส่วนแพ่งติดไปพร้อมกับฟ้องอาญาได้เลย โดยอาศัยสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 40 โดยทนายความจะบรรยายเรื่องความเสียหายและคำขอทางแพ่งไว้ในคำฟ้องและส่วนของคำขอท้ายฟ้อง
การที่จะเรียกร้องส่วนแพ่งเข้าไปด้วยนั้น ต้องดูรูปคดีเป็นหลัก ถ้าจำเลยดูแล้วไม่มีทรัพย์สินใดๆ เรียกร้องส่วนแพ่งไปอาจจะไม่มีประโยชน์ และเสียค่าธรรมเนียมไปเปล่าครับ
ค่าใช้จ่าย ประมาณเท่าไหร่
ฟ้องคดีอาญา มีค่าใช้จ่ายแบ่งออกเป็น
ค่าทนายความ
โดยค่าวิชาีพวิชาชีพทนายความในการฟ้องคดีอาญานั้น จะอยู่ที่ประมาณ 30,000 – 100,000 บาท ขึ้นอยู่กับรูปคดีและความยากง่ายของคดีนั้นๆ รวมถึงระยะเวลาการทำงานและความใกล้ไกลของศาลด้วยครับ
โดยเมื่อตกลงค่าทนายความกันได้แล้ว ก็จะทำสัญญาว่าจ้างและชำระเงิน โดยส่วนทางสำนักงาน มักเก็บค่าทนายความเป็นสองงวด งวดแรกคือวันที่ทำสัญญาว่าจ้าง และงวดที่สองเมื่อศาลประทับรับฟ้องครับ
ค่าส่งหมาย
อยู่ที่ประมาณ 500-1,000 บาท ต่อจำเลย 1 คน โดยจะต้องมีการส่งหมายในคดีประมาณ 2 ครั้ง คือตอนเริ่มฟ้อง กับตอนส่งหมายนัดพร้อมสอบคำให้การ
นอกจากนี้จะมีค่าธรรมเนียมในการส่งหมายเรียกพยานบุคคล พยานเอกสารต่างๆ ประมาณ 500-1,000 บาท ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องส่งหมายเรียกทางเจ้าหน้าที่ศาล เช่น หมายเรียกเจ้าพนักงานธนาคารมาเบิกความเป็นต้น
ค่าพยาน
ในกรณีที่อ้างบุคคลภายนอกมาเป็นพยาน ศาลจะสั่งให้จ่ายค่าป่วยการและค่าเดินทางให้กับพยาน ครั้งและประมาณ 500-1,000 บาท
ค่าธรรมเนียมศาล (กรณีเรียกร้องส่วนแพ่งไปด้วย)
อยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินที่เรียกร้อง เช่น 1 ล้านบาท ก็จะเสียค่าธรรมเนียมศาล 20,000 บาท ยกเว้นแต่ยอดเงินไม่เกิน 300,000 บาท ค่าธรรมเนียมจะอยู่ที่ 1,000 บาทครับ แต่ถ้าไม่ได้เรียกร้องส่วนแพ่งเข้าไปด้วย ก็จะไม่เสียส่วนนี้ครับ
ตัวอย่างการฟ้องร้องดำเนินคดีที่น่าสนใจ
วันนี้ผมนำตัวอย่างบางส่วน ในการทำงานฟ้องคดีอาญาที่น่าสนใจของทาง สำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ที่ฟ้องร้องจนประสบความสำเร็จ เช่น ผู้เสียหายได้รับเงินคืน หรือจำเลยถูกจำคุกมาให้ศึกษากันครับ
- ตัวอย่างการฟ้องคดียักยอก EP.1 – ตอนขายดาวน์รถไม่เปลี่ยนไฟแนนซ์
- ตัวอย่างการฟ้องคดียักยอก EP 2. – ตอนเช่ารถไปจำนำบ่อน
- ตัวอย่างการฟ้องคดียักยอก EP3. – ตอน แก๊งจำนำรถติดไฟแนนซ์
- ตัวอย่างการฟ้องคดียักยอก EP4. – ตอน ผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์
- ตัวอย่างการฟ้องคดีฉ้อโกง EP 1 -ตอน หลอกขายของสั่งผลิตสินค้า
- ตัวอย่างการฟ้องฉ้อโกง EP 2 – ตอน หลอกร่วมลงทุนทำกิจการค้าของเก่า
- ตัวอย่างการฟ้องคดีฉ้อโกง EP3. – หลอกลงทุนซื้อขายรถ
- ตัวอย่างการฟ้องคดีฉ้อโกง EP4. – หลอกให้เช่าซื้อรถแทน
- ตัวอย่างการฟ้องดคีฉ้อโกง EP.5 – หลอกลงทุนค้าข้าว-น้ำตาล
- ตัวอย่างการฟ้องคดี ฉ้อโกงประชาชน – นำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ EP.6 ตอน “ รับสมัครแม่ทีม
- ตัวอย่างการฟ้องคดีอาญา ข้อหาหมิ่นประมาท และนำเข้าสู่ข้อมูลลามกเข้าระบบคอมพิวเตอร์