เป็นพยานศาล ไม่ว่าจะเต็มใจมาหรือถูกหมายเรียกมาก็ตาม ตอนจะตอบคำถามทนายความฝ่ายที่เรียกตัวเองมา ย่อมทำได้ไม่ยาก เพราะพยานย่อมพอเข้าใจเรื่องราวเบื้องต้นที่ถูกเชิญมาเป็นพยาน และสามารถทำการซักซ้อมกับทนายความที่อ้างตนเองมาก่อนขึ้นศาลได้
แต่ตอนที่จะตอบคำถามฝ่ายตรงข้าม เป็นเรื่องที่พยานต้องคาดเดาเอาว่าฝ่ายตรงข้ามจะถามอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าทุกคนที่จะต้องเป็นพยานศาล ต้องมีความรู้สึกตื่นเต้น กลัวตัวเองจะตอบผิดและส่งผลกระทบต่อรูปคดี (ตอนผมต้องไปเป็นพยานที่ศาลเองยังประหม่าเลย แม้ตัวเองจะเป็นทนายความมานานแล้ว )
บางครั้งไปเจอกับทนายความฝ่ายตรงข้ามที่ถามเก่งๆ มีเทคนิคสูง ถ้าเตรียมตัวไม่ดี บางครั้งพยานก็ตอบผิดตอบถูก ซึ่งอาจทำให้รูปคดีเสียหายได้ หรือตอบผิดไปบางครั้งอาจจะต้องโดนฟ้องข้อหาเบิกความเท็จได้
ดังนั้น ทนายความจึงที่มีหน้าที่ซักซ้อมทำความเข้าใจกับฝ่ายตัวเอง ถึงวิธีการตอบคำถามของทนายความฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้เขาคลายความกังวล และเข้าใจถึงวิธีการตอบที่ถูกต้อง
วันนี้ผมจะมาแบ่งปันให้เพื่อนๆทราบ ถึงแนวทางทำความเข้าใจกับพยาน ในการตอบคำถามทนายความฝ่ายตรงข้าม ซึ่งผมใช้กับพยานอยู่เป็นประจำ ดังนี้
4 วิธีตอบคำถามค้านทนายความฝ่ายตรงข้าม
1.ไม่รู้
คำว่า ไม่รู้ ไม่ได้หมายว่าให้ไปสั่งสอนให้พยานโกหกศาล หรือ ฝ่ายตรงข้ามถามอะไรก็ให้ตอบไม่รู้ไปเสียหมด
แต่เป็นการอธิบายให้พยานที่จะขึ้นเบิกความต่อศาลเข้าใจบทบาทของตนว่า พยานมีหน้าที่เบิกความให้ข้อเท็จจริงต่อศาลตามความรู้เห็นของพยานเท่านั้น อะไรที่พยานไม่รู้ ไม่เห็น ถึงทนายฝั่งตรงข้ามถามมา พยานก็ไม่จำเป็นที่จะต้องตอบหรือพยายามหาคำตอบให้
เพราะพยานไม่ได้จำเป็นต้องรู้ หรือต้องตอบคำถามของทนายความฝ่ายตรงข้ามได้ทุกเรื่อง พยานมีหน้าที่เพียงให้คำตอบในเรื่องที่ตนเองรู้เท่านั้น เรื่องไหนที่ไม่รู้ ไม่เห็น ก็ตอบไปง่ายๆตามตรงว่า “ไม่รู้”
เพราะถ้าหากพยานไปตอบคำถามบางอย่าง ตามที่ทนายความฝ่ายตรงข้ามถามด้วยการคาดเดา เพราะเข้าใจว่าตนเองต้องตอบ หรืออยากแสดงให้เห็นว่าตนเองมีความรู้มาก หรือเข้าใจว่าตอบไปแล้วจะเป็นประโยชน์แก่รูปคดีของฝ่ายตน ทั้งที่พยานไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวจริงๆ ก็อาจจะทำให้คำตอบดังกล่าวขัดแย้งกับความจริง และส่งผลกระทบต่อรูปคดี หรือทำให้พยานเสียความน่าเชื่อถือไป
ตัวอย่างเช่น
คดีเงินกู้ พยานโจทก์รู้เห็นตอนโจทก์กับจำเลยลงชื่อในสัญญากู้ยืม แต่ไม่เห็นตอนจ่ายเงินกัน เพราะความจริงทั้งสองฝ่ายส่งมอบเงินกันมาก่อนแล้ว แต่มาเซ็นสัญญากันต่อหน้าพยานภายหลัง
ทนายความจำเลยแกล้งหลอกถามพยานว่า ” วันทำสัญญา พยานอยู่ด้วย และเห็นโจทก์มอบเงินให้กับจำเลยวันนั้นเลยใช่หรือไม่ ? “
ด้วยความที่พยานอยากจะเบิกความช่วยคดีของโจทก์ หรืออาจเข้าใจไปเองว่าทำสัญญาวันนั้นก็ส่งมอบเงินกันวันนั้น ก็เลยตอบคำถามทนายฝ่ายตรงข้ามว่า “ใช่ครับ มอบเงินกันวันนั้น”
ทนายความจำเลยฝังพยานซ้ำอีกครั้งด้วยการถามว่า ” อ๋อ เขาจ่ายเป็นเงินสดนั่งนับเงินกันตรงนั้นเลยนะ”
พยานก็ตอบว่า “ใช่ครับ”
พยานปากนี้นอกจากจะเสียความน่าเชื่อถือไปแล้ว ก็ยังไปขัดกับรูปคดีของโจทก์เองอีกด้วย เพราะความที่ไปตอบในเรื่องที่ตนเองไม่รู้
ดังนั้น ให้ย้ำเตือนพยานเสมอว่า ให้ตอบถามทนายความฝ่ายตรงข้ามเฉพาะเรื่องที่ตนเองรู้เห็น ถ้าทนายความฝ่ายตรงข้ามถามเรื่องอะไรที่พยานไม่รู้ไม่เห็น ห้ามพยายามตอบ หรือเดาเด็ดขาด ให้ตอบไปสั้นๆว่า “ไม่รู้”
2.ไม่แน่ใจ
เรื่องราวบางเรื่องพยานรู้เห็น แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนานมาแล้ว หรือเป็นเรื่องที่พยานไม่ค่อยได้สนใจเพราะไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง หรือพยานจดจำรายละเอียดไม่ได้ เพราะขณะเกิดเหตุนั้นตกใจ หรือเหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วมาก
กรณีเช่นนี้ เราก็ควรแนะนำกับพยานว่า หากทนายความฝ่ายตรงข้ามถามถึงเรื่องลักษณะดังกล่าว พยานต้องเบิกความกับศาลตามตรงว่า “ไม่แน่ใจ” และควรบอกด้วยว่าทำไมถึงไม่แน่ใจ
ตัวอย่างเช่น
ในการถามค้านพยานในคดีฆาตกรรม ทนายความจำเลย ถามค้านประจักษ์พยานโจทก์ผู้รู้เห็นเหตุการณ์ โดยประสงค์จะให้ประจักษ์พยานโจทก์เบิกความขัดแย้งกันในรายละเอียด เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของพยาน
ทนายความจำเลยจึงยิงคำถามเป็นชุดว่า
“จำเลยใส่เสื้อสีเหลืองหรือสีเขียว”
“จำเลยใส่หมวกกันน๊อคหรือไม่ใส่”
“จำเลยถือปืนมือซ้ายหรือมือขวา”
“เป็นปืนลูกโม่หรือปืนแมกกาซีน”
“จำเลยยิงปืน 3 หรือ 4 นัด”
“จำเลยวิ่งหลบหนีขึ้นมอเตอร์ไซค์หรือวิ่งหนีไป”
“มอเตอร์ไซต์ของจำเลยสีดำ หรือน้ำตาล”
เช่นนี้ ถ้าเรื่องไหนที่พยานจำได้ พยานก็ตอบไปตามตรง แต่เรื่องไหนที่พยานไม่แน่ใจ พยานก็ควรตอบว่า
“ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าเป็นอาวุธปืนแบบไหน เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วมาก ไม่ทันสังเกตุ “
“ข้าพเจ้าจำไม่ได้แน่ชัดว่า 3-4 นัด แต่จำได้ว่าหลายนัด “
“ข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่า จำเลยวิ่งไปขึ้นรถมอเตอร์ไซค์หรือไม่ เพราะหลังเกิดเหตุก็รีบวิ่งไปช่วยเหลือผู้เสียหาย “
แต่ถ้าพยานเกิดมึนกับคำถาม หรือตอบแบบส่งๆ เช่นไปตอบว่า ปืนลูกโม่ ตอบว่ายิงสามนัด ตอบว่าจำเลยขึ้นมอเตอร์ไซค์หนีไป ทั้งๆที่ตนเองก็ไม่แน่ใจ เช่นนี้หากคำตอบดังกล่าวขัดกับความจริง ย่อมทำให้พยานเสียความน่าเชื่อถือ และอาจส่งผลกระทบต่อรูปคดี
ดังนั้นจงย้ำเตือนพยานอยู่เสมอว่า คำถามไหน ที่พยานไม่แน่ใจกับคำตอบ ก็ควรแจ้งกับศาลไปตามตรงว่า “ไม่แน่ใจ” เพราะพยานไม่จำเป็นต้องจำรายละเอียดในเรื่องปลีกย่อยได้ทุกเรื่อง
3.จำไม่ได้
หากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เคยอยู่ในความรู้เห็นของพยาน แต่เหตุการณ์เกิดขึ้นนานมาแล้ว หรือพยานไม่ได้ใส่ใจเรื่องดังกล่าว พยานจึงจำไม่ได้แน่ชัดว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร
เช่นพยานห้ามไปตอบว่าไม่รู้ เพราะคำว่าไม่รู้ หมายความว่าพยานไม่เคยรู้เห็นเช่นนั้นเลย แต่พยานควรจะตอบไปตามตรงว่า จำไม่ได้ว่าเรื่องราวหรือรายละเอียดเป็นอย่างไร และควรต้องอธิบายว่าเพราะอะไรจึงจำไม่ได้
ตัวอย่างเช่น
พยานโจทก์เป็นพยานในสัญญากู้ แต่เรื่องราวเกิดมานาน 8 ปีแล้ว โจทก์ค่อยมาฟ้องร้องดำเนินคดีกับจำเลย วันขึ้นศาลทนายความจำเลยถามค้านพยานโจทก์ว่า
“โจทก์เป็นคนกรอกสัญญาเองใช่ไหม”
“ทำสัญญากันที่โต๊ะในบ้าน หรือโต๊ะไม้นอกบ้าน”
“วันนั้นภริยาจำเลยก็อยู่ด้วยใช่หรือไม่”
เช่นนี้ถ้าพยานตอบว่า “ไม่รู้” ย่อมขัดกับเหตุผล เพราะตนเองอ้างว่าอยู่ในเหตุการณ์ตลอดมา ดังนั้น พยานย่อมต้องรู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าว แต่เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นมากว่า 8 ปี แล้ว ไม่ใช่เหตุการณ์สลักสำคัญอะไรกับพยาน พยานแค่นั่งเล่นอยู่แถวนั้น โจทก์เลยขอมาให้ช่วยเป็นพยาน พยานไม่ได้ใส่ใจจึงจำรายละเอียดไม่ได้
เช่นนี้พยานก็ควรตอบคำถามตรงๆไปว่า “จำไม่ได้” เพราะเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นนานแล้ว
ไม่ควรอย่างยิ่งที่พยานจะไปเดาคำตอบเอาเอง หรือตอบคำถามแบบส่งๆขอไปทีว่า ใช่ๆๆ ตามที่ทนายถามนำไป
ตัวอย่างเช่น ถ้าพยานไปตอบว่า “ใช่ครับโจทก์เป็นคนกรอกสัญญา” “ทำสัญญากันในบ้านครับ” “ภรรยาจำเลยอยู่ด้วยครับ”
แต่ปรากฎว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ ที่ตัวโจทก์เบิกความยืนยัน ก็คือ จำเลยเป็นคนกรอกสัญญา ทำสัญญากันที่โต๊ะไม้นอกบ้าน และวันเกิดเหตุภริยาจำเลยไม่ได้อยู่ด้วย เช่นนี้ ความน่าเชื่อถือของพยานปากนี้ย่อมเสียไป และอาจส่งผลกระทบต่อรูปคดีโดยรวม
ดังนั้นต้องย้ำเตือนกับพยานว่า เรื่องไหนที่เคยรู้เห็น แต่จำไม่ได้ก็ให้ตอบไปตรงๆว่าจำไม่ได้ อย่าไปบอกว่าไม่รู้ และอย่าไปเดาเอาเอง หรือตอบคำถามนำแบบส่งๆ ให้บอกไปเลยว่า “จำไม่ได้”
4.ขออธิบาย
ในการถามค้านพยาน ทนายความฝ่ายตรงข้ามมีสิทธิใช้คำถามนำกับพยานได้ และทนายความที่มีฝีมือส่วนมากก็นิยมใช้คำถามนำในการถามค้าน
คำถามนำ คือคำถามที่แนะนำคำตอบ หรือให้พยานเลือกตอบ เช่น ใช่หรือไม่ ซ้ายหรือขวา ขาวหรือดำ ซึ่งบางครั้ง ทนายบางคนก็จะใช้คำถามนำ แบบให้ทางเลือกที่มีแต่คำตอบที่ผิดหรือเสียประโยชน์ทั้งคู่
บางครั้งพยานถูกซักถามมาเป็นเวลานานๆ 3-4 ชั่วโมง เมื่อถูกฝ่ายตรงข้ามถามนำบ่อยๆเข้า บางทีก็เบลอ หรือรำคาญก็ตอบแบบส่งๆไป ทำให้ส่งผลกระทบต่อรูปคดีและความน่าเชื่อถือของพยาน
ตัวอย่างการถามนำแบบเป็นผลเสียทั้งสองทาง เช่น
” วันเกิดเหตุนั้น เหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วมากพยานจึงจำหน้าคนร้ายไม่ชัดใช่หรือไม่ “
ถ้าพยานตอบแค่ว่าจำได้ชัด ก็ยังแสดงว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วมาก ซึ่งก็เป็นผลเสียกับความน่าเชื่อถือของพยานอยู่ดี เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วมาก พยานอาจจะเห็นหน้าคนร้ายไม่ชัดก็ได้
หรืออีกตัวอย่าง
“ขณะทำสัญญากู้ พยานไม่เห็นจำเลยลงชื่อในสัญญาใช่หรือไม่”
ถ้าพยานตอบแค่ว่า ใช่ ก็แสดงว่าพยานไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำสัญญากู้ ถ้าตอบว่าไม่ใช่ ก็อาจจะขัดความจริง เพราะตอนนั้นพยานไม่อยู่จริงๆ
ดังนั้นในการตอบคำถาม ควรจะแนะนำพยานว่า หากเจอคำถามแบบนี้ พยานควรขออธิบายคำตอบให้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น
” ใช่ครับเหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วมาก แต่ผมจำได้ว่าเป็นจำเลย เพราะเคยเห็นจำเลยมาก่อน หน้าจำเลยมีแผลเป็น เห็นแปบเดียวก็จำได้ ”
” ตอนเซ็นสัญญาผมไม่เห็นจำเลยลงลายมือชื่อ เพราะผมไปเข้าห้องน้ำ แต่ผมกลับมาก็เห็นจำเลยถือและสัญญาและกำลังเจรจากับโจทก์อยู่ ผมจึงแน่ใจว่าจำเลยเป็นคนลงชื่อในสัญญา ”
อย่างไรก็ตามถึงพยานไม่ได้ตอบอธิบายเหตุผล ก็เป็นหน้าที่ของทนายความฝ่ายที่อ้างพยานมาจะต้องถามติงให้ปรากฎชัดเจน แต่การที่พยานตอบอธิบายตั้งแต่ต้นเลย ย่อมมีความน่าเชื่อถือและเป็นประโยชน์กับรูปคดีมากกว่า และบางครั้งทนายความก็อาจหลงลืมถามติงประเด็นดังกล่าวไปก็ได้
ซึ่งประเด็นนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้พิพากษาที่น่าพิจารณาแต่ละคนด้วย บางคนก็เปิดโอกาสให้พยายามอธิบายได้เลย บางคนก็จะให้พยานตอบแค่เท่าที่ถูกถาม แล้วให้ทนายความฝ่ายตนเองเป็นคนถามติงเอง
นอกจากนี้เราควรแนะนำกับพยานว่า บางครั้งทนายความอาจใช้คำถามที่กำกวม พยานไม่เข้าใจ พยานก็สามารถขอให้ศาลอธิบายคำถามให้เข้าใจได้ง่ายๆได้
สรุปแล้วเมื่อต้อง เป็นพยานศาล จำไว้ว่า
หลักในการตอบคำถามค้านมีอยู่ 4 คำจำง่ายๆว่า ไม่รู้ ไม่แน่ใจ จำไม่ได้ และขออธิบาย
ที่สำคัญที่สุดก็คือต้องย้ำพยานว่า ห้ามตอบถามนำแบบส่งๆ ต้องคิดก่อนตอบ ไม่ต้องรีบตอบ ถ้าไม่เข้าใจคำถามก็ขอให้ศาลอธิบายคำถามได้ครับ
สุดท้ายนี้ผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ในการปรับใช้ในการทำงาน และเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่จะต้องไปเป็นพยานที่ศาลครับ หากเพื่อนๆมีตัวอย่างการถามค้านหรือการตอบคำถามของพยานที่น่าสนใจ comment มาบอกกันบ้างนะครับ