บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

ตัวอย่าง การต่อสู้คดีทำร้ายร่างกาย ประเด็นป้องกันโดยชอบและไม่มีเจตนากระทำผิด ศึกษาแนวทางการต่อสู้คดีจากประสบการณ์คดีความจริง

ตัวอย่างการสู้ คดีทำร้ายร่างกาย  พร้อมเทคนิคตั้งประเด็นต่อสู้ วางแนวคำถามค้าน โดยเปรียบเทียบจากคำพิพากษาศาลฎีกา พร้อมตัวอย่างคำพิพากษา จากประสบการณ์จริง

คดีนี้จำเลยได้เลิกรากับผู้เสียหาย ซึ่งเป็นอดีตคนรักไปและได้ตกลงว่าจะชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูให้กับอดีตคนรักตามข้อตกลง หลังจากนั้นจำเลยก็ได้ชำระเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ผู้เสียหายตามข้อตกลงตลอดมา

แต่ปรากฎว่า วันเกิดเหตุผู้เสียหายได้เดินทางมาที่ทำงานของจำเลย และพูดจาหาเรื่องจำเลยและด่าทอจำเลยต่อหน้าคนอื่นๆในสำนักงาน จำเลยพยายามเชิญผู้เสียหายออกไปจากสำนักงาน แต่ผู้เสียหายไม่ยอมออกจากสำนักงาน จำเลยพยายามเชิญตำรวจมาที่สำนักงาน แต่ตำรวจไม่มา และผู้เสียหายได้พูดจาหมิ่นประมาทอย่างต่อเนื่อง

จำเลยจึงได้เชิญผู้เสียหายออกจากสำนักงาน โดยใช้มือค่อยๆดันจำเลยเพื่อให้ออกไปจากสำนักงาน โดยไม่ได้ใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด แต่ผู้เสียหายดิ้นรนฝ่าฝืน จนกระทั่งสะดุดล้มเอง จำเลยยังได้ช่วยเหลือดึงไม่ให้ผู้เสียหายล้มลง หลังจากนั้นจำเลยได้กึ่งประคองกึ่งดึงผู้เสียหายให้ออกไปจากสำนักงาน

 เมื่อผู้เสียหายออกไปจากสำนักงานแล้ว ผู้เสียหายได้แกล้งตะโกนร้องประจานจำเลยต่อหน้าประชาชนบริเวณดังกล่าวว่า จำเลยทำร้ายร่างกาย  โดยมีเจตนาให้จำเลยเสื่อมเสียชื่อเสียงและได้รับความอับอาย

เมื่อผู้เสียหายออกไปแล้วผู้เสียหายกลับพุ่งกระโจนเข้าสำนักงานอีก และพยายามดันประตูเข้ามาสำนักงาน  และจังหวะที่จำเลยกำลังพยายามดันประตูเพื่อไม่ให้ผู้เสียหายเข้ามานั้น ประตูเปิดออกและผู้เสียหายก็ล้มลงไปเอง

หลังจากนั้น ผู้เสียหายไปแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลย เป็น คดีทำร้ายร่างกาย โดยอ้างว่าการกระทำของจำเลยเป็นการเจตนาทำร้ายผู้เสียหาย 

คดีนี้มีคลิปเป็นพยานหลักฐานแสดงเหตุการณ์อย่างชัดเจน และจำเลยส่งหลักฐานดังกล่าวให้พนักงานอัยการพร้อมกับขอความเป็นธรรมแล้ว แต่พนักงานอัยการยื่นฟ้องสวนมาทันที 

คดีนี้ผมรับว่าความให้จำเลย ซึ่งเป็นเพื่อนทนายความที่รู้จักกัน

ผมจึงตั้งประเด็นข้อต่อสู้ไว้ดังนี้

ถึงแม้ที่เกิดเหตุ (สำนักงานทนายความ) จะเป็นสถานที่ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้บริการหรือขอคำปรึกษาได้ก็ตาม

ต่การที่ผู้เสียหายตั้งใจเข้ามาปั่นป่วนโดยไม่มีเจตนามาใช้บริการหรือมาปรึกษาคดีความอย่างคนทั่วไป และเมื่อจำเลยเชิญให้ผู้เสียหายออกไปจากสำนักงานหลายครั้งแล้ว แต่ผู้เสียหายกลับไม่ออกไป กลับพูดจาท้าท้ายทำนองว่าให้เรียกตำรวจมาเลย พร้อมจะเป็นคดีความอยู่แล้ว ทั้งยังพูดจาใส่ความหมิ่นประมาทจำเลยว่าหลอกลวงผู้เสียหาย ต่อหน้าคนอื่นๆอย่างไม่ยอมหยุด

การกระทำของผู้เสียหายจึงเป็นความผิดฐาน บุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 364 และเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และยังเป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 และมาตรา 423

การกระทำของผู้เสียหายจึงเป็นการละเมิดสิทธิของจำเลย  จำเลยย่อมมีสิทธิกระทำการเพื่อป้องกันสิทธิของตนเอง เพื่อให้พ้นจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง

ซึ่งจำเลยได้กระทำเพียงสมควรแก่เหตุ การที่จำเลยใช้มือดันและดึงผู้เสียหายเพื่อให้ออกไปจากสำนักงาน ไม่ได้มีเจตนาทำร้ายร่างกาย เพียงแต่ต้องการป้องกันสิทธิของตนเองเท่านั้น  จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 68

โดยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา คดีทำร้ายร่างกาย ที่ใกล้เคียงกัน คือ 

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2616/2553

ที่ศาลวินิจฉัยว่า ตอนที่จำเลยเข้าไปบอกให้ผู้เสียหายเบาเสียงวิทยานั้น ถือเป็นการเข้าไปโดยมีเหตุสมควร แต่เมื่อผู้เสียหายไล่แล้วจำเลยไม่ไป การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานบุกรุก ตาม ป.อ. ม. 364 

เทียบเคียงกับข้อเท็จจริงคดีนี้ คือ การที่ผู้เสียหายเข้ามาในสำนักงานทนายความของจำเลยในครั้งแรก อาจจะยังไม่เป็นความผิดอาญา เพราะสำนักงานทนายความเป็นสถานที่ที่คนทั่วไปเข้ามาใช้บริการได้ แต่เมื่อผู้เสียหายก่อความวุ่นวายและปั่นป่วน จำเลยเชิญออกไปแล้ว ผู้เสียหายไม่ยอมออก การกระทำของผู้เสียหายย่อมเป็นความผิดฐานบุกรุก  ตาม ป.อ. ม. 364  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  423/2477

ที่ศาลวินิจฉัยว่า การเข้าบ้านคนอื่นไปโดยมีกิจธุระ ย่อมไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก แต่เมื่อเจ้าของบ้านไล่แล้วไม่ไป ย่อมเป็นการกระทำผิดฐานบุกรุก เจ้าของบ้านใช้เท้าถีบ 1 ทีประกอบการขับไล่ ถือเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ ไม่เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย 

เทียบเคียงกับข้อเท็จจริงคคีนี้ คือ  เมื่อจำเลยไล่ผู้เสียหายไปแล้ว ผู้เสียหายไม่ออก การที่จำเลยดึงและดันผู้เสียหายออกไปจากสำนักงาน ย่อมเป็นการกระทำการเพื่อป้องกันสิทธิพอสมควรแก่เหตุ ไม่เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย

สู้คดีอาญา ต้องวางรูปคดี ก่อนการถามค้าน

เคล็ดลับในการต่อสู้คดีอาญา ก็คือ จะต้องมีการวางรูปคดีพร้อมหาคำพิพากษาประกอบการตั้งรูปสู้คดีด้วยเสมอ อย่าขึ้นว่าความหรือถามค้าน โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะสู้คดีไปในแนวถามใด และพยายามถามค้านพยานโจทก์ เห็นเป็นไปตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา

ในชั้นสืบพยาน ผมจึงได้ถามค้านไปตามรูปคดีและแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่วางไว้ โดยระหว่างการถามค้านผมได้ใช้คลิปวีดีโอเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญในการถามค้าน รวมถึงถามค้านถึงพฤติการณ์ต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่สมเหตุสมผล หรือความไม่น่าเชื่อของพยาน  เช่น

1.ผู้เสียหายอ้างว่ามาทวงเงินค่าเลี้ยงดูที่จำเลยไม่จ่าย แต่ปรากฎหลักฐานชัดเจนว่า จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวให้ผู้เสียหายแล้ว และตลอดเวลาการสนทนา ผู้เสียหายไม่เคยพูดเรื่องการทวงเงินเลย ดังนั้นเจตนาในการเข้ามาของผู้เสียหาย ไม่ใช่เข้ามาทวงเงิน แต่เข้ามาหาเรื่อง

2.ผู้เสียหายเริ่มพูดกับจำเลยคำแรก ก็เป็นการหาพูดเรื่องกับจำเลย โดยอ้างว่ามาปรึกษากฎหมาย แต่แกล้งพูดเสียดสีถึงตัวจำเลย ว่าจำเลยไปหลอกลวงผู้เสียหาย

3.ผู้เสียหายเคยส่งข้อความมาด่าทอจำเลยส่งข้อความ และโทรศัพท์ไปป่วนบุตรชายจำเลยของจำเลยขณะเรียนหนังสือหลายครั้ง

4.ผู้เสียหายเคยโพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นประมาทและประจานจำเลยก่อนเกิดเหตุหลายครั้ง

ตัวอย่างการถามค้านบางส่วน ด้านล่างนี้ครับ

ผู้เสียหายตอบถามค้าน ยอมรับว่า ไม่ได้เข้ามาพูดคุยเรื่องค่าอุปการะ และพูดจาเสียดสีจำเลย

ผู้เสียหายตอบถามค้าน ยอมรับว่า ไม่ได้เข้ามาพูดคุยเรื่องค่าอุปการะ และพูดจาเสียดสีจำเลย

ผู้เสียหายเบิกความยอมรับว่า จำเลยเชิญตัวผู้เสียหายออกไปหลายครั้ง แต่ผู้เสียหายไม่ไป และผู้เสียหายพูดทำนองว่าจำเลยหลอกลวงต่อหน้าบุตรจำเลย
ผู้เสียหายตอบคำถามค้านยอมรับว่า จำเลยเชิญตัวผู้เสียหายออกไปหลายครั้ง แต่ผู้เสียหายไม่ไป และผู้เสียหายพูดทำนองว่าจำเลยหลอกลวงต่อหน้าบุตรจำเลย

พฤติการณ์ทั้งหมดที่ได้จากการถามค้าน ย่อมชี้ให้เห็นว่า ผู้เสียหายตั้งใจเข้ามาก่อกวนและก่อความวุ่นวายในสำนักงานทนายความของจำเลย ไม่ได้ตั้งใจเข้ามาปรึกษาคดีความอย่างปกติ

โดยก่อนเริ่มดำเนินคดี ผมได้ยื่นคำแถลงเปิดคดี เพื่อชี้แจงแนวข้อต่อสู้ของจำเลย เพื่อให้ศาลเข้าใจรูปคดีได้โดยง่าย ซึ่งเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดีในชั้นสืบพยานเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อศาลเข้าใจรูปคดีและแนวข้อต่อสู้ของจำเลยแล้ว ย่อมทำให้ศาลเข้าใจแนวทางถามค้านและนำสืบของจำเลยได้โดยง่าย อ่าน คำแถลงเปิดคดี

นอกจากนี้ ผู้เสียหายยังได้ตั้งทนายความโจทก์ร่วมเข้ามาเพื่อช่วยพนักงานอัยการว่าความ และเรียกค่าเสียหายมาเป็นเงินประมาณ 1.4 ล้านบาท ส่วนผมให้การต่อสู้คดีส่วนแพ่งว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิด จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายและค่าเสียหายสูงเกินสมควร

สุดท้ายคดีนี้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์

โดยศาลให้เหตุผลว่า พฤติการณ์ของโจทก์ร่วม ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ที่ส่งข้อความแล้วโทรศัพท์มาปั่นป่วนจำเลยและบุตรชาย เมื่อเข้ามาที่สำนักงานทนายความก็พูดจาหาเรื่องจำเลย แล้วด่าทอจำเลยโดยไม่หยุด เมื่อจำเลยเชิญให้ออกไปจากสำนักงานหลายครั้ง ก็ไม่ยอมออก ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิของจำเลย

จำเลยย่อมสามารถกระทำการเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยลากโจทก์ร่วมออกจากสำนักงานทนายความไป ถือว่าไม่มีเจตนาทำร้ายร่างกาย จึงไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย และพิพากษายกฟ้องโจทก์ และพิพากษาว่าจำเลยไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ร่วม อ่านคำพิพากษาคดีนี้ ได้ด้านล่างครับ

คำพิพากษาคดีทำร้ายร่างกาย 1

คำพิพากษาคดีทำร้ายร่างกาย 2

คำพิพากษาคดีทำร้ายร่างกาย 3

คำพิพากษาคดีทำร้ายร่างกาย 4

คำพิพากษาคดีทำร้ายร่างกาย 5

คำพิพากษาคดีทำร้ายร่างกาย 6

คำพิพากษาคดีทำร้ายร่างกาย 7

คำพิพากษาคดีทำร้ายร่างกาย 8

สุคำพิพากษาคดีทำร้ายร่างกาย 9

คำพิพากษาคดีทำร้ายร่างกาย 9

คำพิพากษาคดีทำร้ายร่างกาย 11

คำพิพากษาคดีทำร้ายร่างกาย 12

คำพิพากษาคดีทำร้ายร่างกาย 13

 

จบ.

 

อนึ่งคดีนี้เป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามปวิอ ม.193 ทวิ แต่เชื่อว่าตัวผู้เสียหายเองคงไม่ยอมจบที่ชั้นนี้ น่าจะขออนุญาตอุทธรณ์ต่อไป ซึ่งท่านผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีนี้ก็บอกว่า ถ้าผู้เสียหายขอนุญาตอุทธรณ์ ท่านก็จะให้โอกาสต่อสู้คดีเจ็มที่ อย่างไรถ้าศาลสูงมีคำพิพากษาอย่างไรแล้วผมจะนำมาให้ศึกษาต่อไปครับ

สุดท้ายหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆผู้สนใจครับ

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts