ตัวอย่างการต่อสู้คดีแพ่ง เรื่องนี้สืบเนื่องจาก เคยเป็นคดีที่ออกข่าวครึกโครม ในเรื่องเมียหลวงหลอกเมียน้อยมาตบ ซึ่งความจริงแล้วเป็นเรื่องราวของการสร้างสถานการณ์มาออกข่าวอันเป็นเท็จ เพื่อหวังเรียกร้องเงิน
ต่อมาผมซึ่งเป็นทนายความของฝ่ายชาย ได้ยื่นฟ้องคดีเรื่องอำนาจปกครองบุตร กับโจทก์คดีนี้ไปโดยมีการบรรยายฟ้องไปตามข้อเท็จจริงที่ได้รับการแจ้งและมีพยานหลักฐานมาว่า
1.โจทก์เคยมีบุตรอยู่ 1 คนก็ไม่เลี้ยงด้วยตนเองนำไปให้แม่เลี้ยงและเรียกเงินจากฝ่ายชาย
2.โจทก์ประกอบอาชีพไม่สุจริตค้าขายรถเถื่อน
3.โจทก์มีอาการทางจิตเวชต้องกินยารักษาตัวอยู่เป็นประจำ
4.โจทก์สร้างเรื่องราวอันเป็นเท็จขึ้นมาเพื่อใส่ความจำเลยทางสื่อโทรทัศน์
ทั้งนี้เพื่อประกอบข้ออ้างว่าฝ่ายโจทก์ไม่มีความเหมาะสมที่จะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์และฝ่ายผมมีความเหมาะสมที่จะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์มากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาตามปกติในการทำงานของทนายความ
ปรากฏว่าในคดีเรื่องบุตรผู้เยาว์ดังกล่าวก็สามารถตกลงกันได้ โดยตกลงแบ่งกันเลี้ยงดูและฝ่ายชายก็ยินดี support เรื่องค่าใช้จ่ายให้กับบุตรผู้เยาว์ทุกอย่างเพราะฝ่ายชายรักลูกมาก
เหมือนจะจบด้วยดี แต่กลับมาฟ้องกันอีก
ต่อมาภายหลังเมื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความเสร็จสิ้นแล้ว ฝ่ายหญิงกลับได้มาเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีแพ่งเรื่องละเมิดเรียกค่าเสียหายกับฝ่ายชาย
โดยอ้างว่าฝ่ายชายได้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายด้วยการกล่าวหรือไขข่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความเป็นจริง ด้วยการฟ้องและบรรยายฟ้องในทำนองว่า
- ฝ่ายหญิงประกอบธุรกิจค้าขายรถผิดกฎหมายผ่านทางประเทศพม่าซึ่งอยู่ใกล้ภูมิลำเนาบ้านเกิดของฝ่ายหญิง
- ฝ่ายหญิงมีพฤติกรรมปอกลอกผู้ชายคนอื่นมาก่อนพบเจอฝ่ายชายคดีนี้ และฝ่ายหญิงมีพฤติกรรมสร้างระหว่างประเทศขึ้นมาเพื่อใส่ความฝ่ายชายและครอบครัวของฝ่ายชายผ่านสื่อโทรทัศน์
- ที่ผ่านมาฝ่ายหญิงมีบุตร 1 คนแต่ไม่เคยให้การส่งเสียเลี้ยงดูหรือให้ความสนใจเมื่อฝ่ายหญิงบอกรักผู้ชายคนอื่นจนกระทั่งไม่เหลือสิ่งใดแล้วก็จะทอดทิ้งลูกให้ผู้ชายคเลี้ยงดูลูกของตนเอง
- ฝ่ายหญิงไม่ได้รักหรือให้การดูแลบุตรอย่างจริงใจเพียงแต่อาศัยเป็นเครื่องมือในการหลอกลวงเอาเงินจากฝ่ายชายและครอบครัวเท่านั้น
ฝ่ายหญิงอ้างว่าการยื่นฟ้องโดยบรรยายข้อเท็จจริงดังกล่าวมาในคำฟ้อง เป็นการกระทำที่ไม่สุจริต เป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงเป็นที่เสียหายแก่ฝ่ายหญิง จึงฟ้องละเมิดเรียกค่าเสียหายมาเป็นจำนวน 2,000,000 บาท
คำฟ้องในคดีนี้
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 421 การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา 423 ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้
ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่
แนวคำพิพากษาศาลฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2994/2558 การฟ้องคดีต่อศาลตามปกติย่อมไม่เป็นการละเมิด เพราะเป็นการใช้สิทธิทางศาลที่กฎหมายให้กระทำได้ เว้นแต่เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตหรือกลั่นแกล้งฟ้องโดยมิได้หวังผลอันเป็นธรรมดาแห่งการใช้สิทธิทางศาล
การที่จำเลยฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยในคดีก่อนเรียกให้ชำระหนี้ฐานผิดสัญญาซื้อขายและจ้างทำของ โดยข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำฟ้องคดีนี้ไม่เพียงพอให้รับฟังว่า จำเลยฟ้องโจทก์โดยไม่สุจริตหรือกลั่นแกล้งฟ้องโดยมิได้หวังผลอันเป็นธรรมดาแห่งการใช้สิทธิทางศาล จึงถือไม่ได้ว่า โจทก์ถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
สรุปข้อกฎหมาย
การยื่นฟ้องของทนายความหรือคู่ความในคดี ย่อมจะต้องมีการบรรยายข้อเท็จจริงที่จะสนับสนุนคำคู่ความของตนเอง หากการบรรยายข้อเท็จจริงนั้นจะเป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันอาจจะทำให้เกิดความเสียหายกับตัวคู่ความฝ่ายตรงข้าม ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แล้วมันจะต้องเกิดขึ้นเป็นประจำ
แต่หากการบรรยายฟ้อง หรือคำคู่ความในคดีนั้นเป็นไปโดยสุจริต เป็นการใช้สิทธิ์ตามที่กฎหมายกำหนด ย่อมไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิด และถือไม่ได้ว่าฝ่ายโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ์ตามกฎหมายจึงไม่มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีเรื่องละเมิดกับจำเลย
คำให้การต่อสู้คดีของจำเลย
จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวผมจึงได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีไปดังนี้
ตัวอย่างคําให้การ จำเลยในคดีนี้
จำเลยขอให้การปฏิเสธตามฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น และจำเลยขอให้การดังต่อไปนี้
ข้อ1.เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 จำเลยได้ฟ้องโจทก์ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ยชพ…../2563 หมายเลขแดงที่ ยชพ…./2563 จริง ซึ่งในคดีดังกล่าว จำเลยนี้กับโจทก์ สามารถตกลงกันได้ และได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลแล้ว ซึ่งการที่จำเลยฟ้องโจทก์ ในคดีดังกล่าวเป็นการที่จำเลยใช้สิทธิทางศาลที่กฎหมายสามารถให้กระทำได้ และเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตตามกฎหมาย
การที่โจทก์อ้างว่าจำเลยได้กล่าวหาโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จและฝ่าฝืนต่อความจริง ว่า
1.1.“จำเลย(โจทก์ในคดีนี้) ประกอบธุรกิจค้าขายรถผิดกฎหมายโดยผ่านประเทศพม่าซึ่งอยู่ใกล้ภูมิลำเนาเกิดของจำเลย”
จากข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่จำเลยมิได้กล่าวอ้างขึ้นมาลอย ๆ จำเลยกล่าวอ้างขึ้นเพราะจำเลยซึ่งเคยเป็นคนรักเก่ากับโจทก์ ได้ทราบมาจากตัวโจทก์เอง รายละเอียดปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข1 และที่จำเลยกล่าวอ้างไปในคำฟ้องนั้น เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี
1.2.“จำเลย(โจทก์ในคดีนี้)มีพฤติกรรมปอกลอกผู้ชายคนอื่นมาก่อนจะพบเจอโจทก์(จำเลยในคดีนี้) และจำเลยมีพฤติการณ์สร้างเรื่องราวอันเป็นเท็จขึ้นมา เพื่อใส่ความโจทก์และครอบครัวของโจทก์ผ่านสื่อโทรทัศน์”
จากข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่จำเลย กล่าวอ้าง เป็นความจริง และจำเลยกล่าวอ้างโดยสุจริตเพื่อเป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลยเอง มิได้มีเจตนาจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด
1.3“ที่ผ่านมาจำเลย(โจทก์ในคดีนี้)มีบุตร 1 คน แต่จำเลยก็ไม่ให้การส่งเสียเลี้ยงดูหรือให้ความสนใจ เมื่อจำเลยปอกลอกผู้ชายคนอื่นจนกระทั่งไม่เหลือสิ่งใดแล้วจำเลยก็จะทอดทิ้งให้ผู้ชายคนนั้นเลี้ยงดูลูกของตนเอง และจำเลยไม่ได้รักหรือให้การดูแลบุตรอย่างจริงใจ เพียงแต่อาศัยเป็นเครื่องมือในการหลอกลวงเอาเงินจากโจทก์และครอบครัวโจทก์เท่านั้น และจำเลยมีอาการจิตเวชต้องกินยาบรรเทาโรคทางจิตเวช ไม่มีความสามารถและอดทนในการเลี้ยงดูบุตร”
จากข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่จำเลย กล่าวอ้าง ก็เป็นความจริง และเป็นการกล่าวอ้างโดยสุจริตเพื่อเป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลยเอง มิได้มีเจตนาจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด
ข้อ2.การกระทำของจำเลยที่กล่าวในข้อ 1.1-1.3 นั้น จำเลยแต่เพียงกล่าวอ้างไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับจำเลยตามจริง เป็นเหตุผลประกอบกับคำฟ้องในคดีก่อน เพื่อหวังผลอันเป็นธรรมดาแห่การใช้สิทธิทางศาลเท่านั้น และจำเลยก็กล่าวอ้างเพื่อเป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลย มิได้มีเจตนาจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด
ดังนั้นการที่จำเลยฟ้องโจทก์ในคดีก่อน จึงเป็นการใช้สิทธิทางศาลที่กฎหมายให้กระทำได้ และเป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยสุจริต มิได้เป็นการกลั่นแกล้งเพื่อหวังผลเกินกว่าธรรมดาแห่งการใช้สิทธิทางศาล แต่อย่างใดโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเป็นคดีนี้ ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่2994/2558
ข้อ 3.อีกทั้งในคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ในคดีนี้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ยชพ…./2563 หมายเลขแดงที่ ยชพ…./2563 จำเลยและโจทก์ ก็ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลกันแล้ว โดยทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใด ๆต่อกันอันเกิดจากมูลคดีดังกล่าวอีก ดังนั้นโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นคดีนี้
ข้อ4.ค่าเสียหายของโจทก์สูงเกินสมควรและไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง
ข้อ5.ด้วยเหตุดังจำเลยกราบเรียนต่อศาลที่เคารพข้างต้น ขอศาลที่เคารพได้โปรดยกฟ้องจำเลยเสียทั้งสิ้น และให้โจทก์ชดใช้ค่าธรรมเนียม และค่าทนายความในอัตราอย่างสูงแทนจำเลย ต่อไป
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อ ทนายความจำเลย
คำให้การฉบับนี้ข้าพเจ้า นายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์ ทนายความจำเลย เป็นผู้เรียงและพิมพ์
ลงชื่อ ผู้เรียงและพิมพ์
ผลสรุปคดี
คดีนี้เมื่อขึ้นสู่กระบวนการพิจารณาในนัดแรก เมื่อศาลตรวจคำฟ้องและคำให้การแล้ว เห็นว่าคดีพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยาน และเตรียมทำคำพิพากษาในวันนั้นเลย โดยศาลชี้ประเด็นว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นการกระทำละเมิด อีกทั้งได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลกันแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิ์ฟ้องคดีนี้
ระหว่างศาลเขียนคำพิพากษา ปรากฏว่าฝ่ายโจทก์ยินยอมถอนฟ้องคดีไป เพราะมิฉะนั้นก็จะเสียค่าธรรมเนียมศาลไปฟรีๆ ถึงฝ่ายผมเองก็ไม่คัดค้าน คดีจึงจบลงในวันขึ้นศาลนัดแรกนี่เอง
อุทาหรณ์ ที่ได้จาก ตัวอย่างการต่อสู้คดีแพ่ง เรื่องนี้
การบรรยายฟ้องหรือการบรรยายคำคู่ความในคดีของทนายความ ที่กระทำไปโดยสุจริต ทำไปตามข้อเท็จจริงที่ได้รับข้อมูลมา ย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420,421 ,422
ดังนั้นหากเราก็ทำหน้าที่ไปโดยสุจริต ก็ทำไปตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้รับข้อมูลและเป็นความจริง ถึงแม้ถ้อยคำในคำคู่ความอาจจะรุนแรง หรือเป็นการกล่าวกระทบฝ่ายตรงข้ามก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาของการทำงาน ไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดแต่อย่างใด