บทความกฎหมายแพ่งและวิธีพิจารณาความแพ่ง

ตัวอย่างการต่อสู้คดีแพ่ง เรื่อง แบ่งสินสมรส ตอน ” แบ่งสินสมรสด้วยวาจา ” ศึกษาข้อกฎหมายและอุทาหรณ์จากคดีความจริง

ตัวอย่างการต่อสู้คดีแพ่งในวันนี้ เป็นคดีครอบครัว เกี่ยวกับการ ” แบ่งสินสมรส ” ระหว่างสามีภรรยา 

โดยอดีตสามีภรรยาคู่นี้ ได้จดทะเบียนสมรสอยู่ด้วยกันมานานและมีบุตรด้วยกันสองคน 

ระหว่างสมรสกัน ทั้งคู่มีกิจการที่ทำร่วมกัน 2 อย่าง คือ

1.กิจการร้านอาหาร

ซึ่งมีเพียงสิทธิการเช่า และสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายเท่านั้น โดยกิจการร้านอาหารนี้ ไม่มีโฉนดที่ดินแต่อย่างใดเพราะเป็นร้านอาหารที่อยู่ติดชายทะเล เป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ มีแต่เพียงสิ่งปลูกสร้างและทะเบียนบ้านเท่านั้น 

โดยสัญญาเช่าและสัญญาจะซื้อจะขายร้านอาหารดังกล่าว มีชื่อสามีเป็นผู้ทำสัญญา ขณะหย่าขาดจากกัน ยังชำระเงินค่าร้านอาหารให้กับผู้ขายไม่ครบถ้วน 

2.กิจการร้านวงกบ

ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินมีโฉนด และมีมูลค่าสูงกว่ากิจการอย่างแรก โดยโฉนดที่ดินที่เป็นที่ตั้งกิจการดังกล่าว พร้อมทะเบียนบ้านที่เป็นสิ่งปลูกสร้าง มีชื่อภรรยา เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว


 ต่อมาสามีภรรยาคู่นี้มีปัญหาทะเลาะกันบ่อยครั้ง เนื่องจากมีความเห็นไม่ตรงกัน

ทั้งนี้เกิดมาจากกิจการร้านวงกบ ที่ฝ่ายภรรยาเห็นว่าที่ดินใกล้เคียงกับกิจการร้านวงกบนั้นกำลังประกาศขาย จึงต้องการให้สามีนำที่ดินสินสมรสไปกู้เพื่อซื้อที่ดินแปลงข้างเคียงเพื่อขยายกิจการ ซึ่งจะทำให้กิจการร้านวงกบใหญ่โตขึ้นมาก 

แต่สามีบอกว่าเรายังไม่มีความพร้อมจะทำเช่นนั้น  เพราะจะแบกรับการผ่อนชำระหนี้ให้กับธนาคารไม่ไหว อีกทั้งยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขยายกิจการตอนนี้ 

ฝ่ายภรรยาไม่พอใจเป็นอย่างมากทำให้เกิดปัญหาระหองระแหงกันตลอดมา จนกระทั่งทั้งสองฝ่ายตัดสินใจหย่าขาดจากกัน 


ปัญหาเกิดขึ้นเพราะ ตอนที่จดทะเบียนหย่าขาดจากกันนั้น ไม่ได้บันทึกเรื่องการแบ่งสินสมรสไว้ท้ายทะเบียนการหย่า 

ทั้งนี้เพราะขณะที่ไปจดทะเบียนหย่าขาดจากกันนั้น ทั้งสองฝ่ายต่างไปด้วยอารมณ์รีบร้อน และต่างคนต่างไม่รู้กฎหมาย และไม่ได้ปรึกษาทนายความก่อนไป

ทั้งสองฝ่ายจึงไม่ได้บันทึกเรื่องการแบ่งสินสมรสกันไว้ท้ายทะเบียนหย่า

แต่ถึงแม้จะไม่ได้มีการบันทึกไว้ท้ายทะเบียนสมรสถึงเรื่องการแบ่งสินสมรส แต่ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาตกลงกันแล้วก่อนที่จะไปจดทะเบียนหย่า 

โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันว่า ทรัพย์สินเป็นชื่อของฝ่ายไหนก็ให้ฝ่ายนั้นเป็นคนได้ไป 

กล่าวคือกิจการร้านอาหารริมทะเลนั้น ฝ่ายชายเป็นคนได้ไป

ส่วนกิจการร้านวงกบซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินมีโฉนดภรรยาเป็นคนได้ไป 

ตกลงกันว่าต่างคนต่างบริหารต่างคนต่างได้ทรัพย์สินและรายได้ของตัวเอง ไม่ยุ่งเกี่ยวซึ่งกันและกันอีกต่อไป 

ข้อตกลงนี้เป็นที่พอใจของภรรยา

เพราะมูลค่าทรัพย์สินของร้านวงกบที่ฝ่ายภรรยาได้ไป มีมูลค่าสูงกว่ากิจการร้านอาหารของสามีเป็นอย่างมาก 

เนื่องจากร้านอาหารนั้น นอกจากจะเป็นเพียงสิ่งปลูกสร้างซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินไม่มีโฉนดแล้ว ในขณะนั้นเองก็ยังชำระราคาให้กับผู้ขายไม่หมด ยังเหลือยอดเงินที่ต้องชำระให้ผู้ขายอีกหลายล้านบาท 

แตกต่างจากกิจการร้านวงกบซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินมีโฉนด อีกทั้งมีสิ่งปลูกสร้างมีมูลค่าเกือบ 20 ล้านบาท ตามที่ธนาคารประเมิน โดยมีหนี้จำนองเหลือเพียง ประมาณ 2 ล้านบาทเท่านั้น 

ทางฝ่ายภรรยาลืมไปว่า ที่กิจการทั้งสองอย่าง สามารถสร้างรากฐานมั่นคงมีรายได้มานั้นก็เพราะสามี

โดยเฉพาะกิจการร้านวงกบ ซึ่งเริ่มต้นจากสามีที่เป็นอดีตนายช่างมีความรู้ความชำนาญเรื่องดังกล่าว มีพรรคพวกเครือข่ายในวงการจำนวนมาก จึงสามารถบริหารกิจการจนเจริญก้าวหน้า 

เมื่อปรากฏว่าภรรยามาเป็นคนบริหารกิจการร้านวงกบแต่เพียงผู้เดียว  นอกจากจะขาดความรู้ความชำนาญในเรื่องทางเทคนิคและการบริหารกิจการแล้ว 

ยังได้นำที่ดินร้านวงกบไปจำนอง เพื่อกู้ยืมเงินจากธนาคารมาซื้อที่ดินแปลงข้างเคียง เป็นเงินประมาณ 16 ล้านบาท  

เมื่อกู้เงินจากธนาคารได้แล้วก็นำเงินไปซื้อที่ดินและใส่ชื่อตนเองแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ 

เมื่อบริหารกิจการไม่เป็นประกอบกับมีหนี้เงินกู้ที่จะต้องผ่อนกับธนาคารเป็นจำนวนมาก สุดท้าย เวลาผ่านไป 5 ปี กิจการร้านวงกบจึงเจ๊ง 

ต่างจากกิจการร้านอาหารซึ่งฝ่ายชายเป็นคนบริหาร เมื่อผ่านไป 5 ปีปรากฏว่ากิจการติดตลาดเป็นที่นิยมของลูกค้า ทำให้มีรายได้จำนวนมากและมีมูลค่าสูงขึ้นมาก 

เมื่อกิจการร้านวงกบเจ๊งแล้ว ภรรยาไม่มีเงินจะผ่อนรถยนต์เบนซ์ ซึ่งจะต้องใช้รับส่งลูกไปโรงเรียน จึงได้ใช้ให้ลูกมาขอเงินสำหรับใช้ผ่อนรถยนต์เบนซ์เดือนละ 40,000 บาทจนกว่าจะผ่อนรถยนต์หมด 

สามีเห็นแก่ลูกจึงได้ยอมจ่ายเงินค่างวดรถยนต์ ให้กับอดีตภรรยาไป เพราะเห็นว่าภรรยาเป็นคนไปรับไปส่งลูกไปโรงเรียน และจะต้องใช้รถดังกล่าวไปรับไปส่ง 


หลังจากหย่าไปแล้วเกือบ 10 ปี

หลังจากได้หย่าขาดกันมานานแล้วประมาณ 10 ปี สามีต้องการที่จะขายกิจการร้านอาหารให้บุคคลอื่น เพราะเบื่อการบริหารกิจการ และต้องการพักผ่อนเกษียณตัวเอง 

จึงได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายร้านอาหารดังกล่าวให้กับจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก เป็นเงินประมาณ 25 ล้านบาท 

ปรากฏว่าอดีตภรรยาได้มาฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการทำสัญญาจะซื้อจะขายร้านอาหารดังกล่าว โดยอ้างว่ากิจการร้านอาหารดังกล่าวเป็นสินสมรส 

ทั้งนี้อดีตภรรยาแจ้งว่า ในเมื่อท้ายทะเบียนสมรสไม่ได้ตกลงกันเรื่องสินสมรสไว้ จึงถือได้ว่าร้านอาหารดังกล่าวเป็นสินสมรสที่ยังไม่ได้แบ่งกัน อดีตภรรยาต้องมีส่วนด้วยครึ่งหนึ่ง 

การที่อดีตสามี นำทรัพย์สินซึ่งเป็นสินสมรสที่ภรรยามีส่วนอยู่กึ่งหนึ่ง ไปทำการขายให้กับบุคคลภายนอกจึงเป็นการไม่ชอบ

ขอให้ศาลเพิกถอนการทำสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าว และให้อดีตสามีโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินให้กึ่งหนึ่ง พร้อมกับเรียกผลกำไรในการประกอบกิจการตั้งแต่เริ่มหย่าขาดจากกันจนถึงปัจจุบัน 


คดีนี้ผมรับเป็นทนายความให้กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นอดีตสามี 

ซึ่งในคดีนี้ผมให้การต่อสู้ในประเด็นที่สำคัญประเด็นหนึ่งก็คือ โจทก์และจำเลยได้มีการตกลงแบ่งสินสมรสกันด้วยวาจาแล้ว และได้มีการปฏิบัติตามข้อตกลงมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี 

ถึงแม้จะไม่ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงเป็นหนังสือ ข้อตกลงดังกล่าวก็สามารถใช้บังคับได้  แต่ข้อตกลงด้วยวาจาดังกล่าว ซึ่งมีการรับรองและปฏิบัติกันตลอดมาก็ถือใช้บังคับได้

โดยผมยกเหตุผลขึ้นกล่าวอ้างหลายประการ เช่น

1.คดีนี้ได้มีการตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจา และโดยพฤตินัยกัน และตกลงยึดถือปฏิบัติกันมาเวลากว่า 10 ปีแล้ว

 การตกลงแบ่งสินสมรสกันนั้น กฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องทำเป็นหนังสือแต่อย่างใด ดังนั้นการแบ่งสินสมรสด้วยวาจา จึงสามารถทำได้ 

2.ฝ่ายโจทก์ ที่ได้ทรัพย์สินสมรสอีกส่วนหนึ่งไป ก็นำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้หาประโยชน์ นำไปจำนองนำเงินไปใช้เองแต่เพียงผู้เดียว โดยไม่เคยแบ่งปันให้กับฝ่ายจำเลย

ฝ่ายโจทก์นำสินสมรสส่วนที่ตนเองได้ไป ไปล้างผลาญหาประโยชน์ใช้เองแต่ผู้เดียว 

จนกระทั่งทรัพย์สินส่วนของตนเองหมด จึงกลับจะมาเรียกร้องเอาทรัพย์สินส่วนที่จำเลยได้ไป เป็นการกระทำที่ไม่สุจริตอย่างยิ่ง 

3.ฝ่ายโจทก์ไม่เคยมายุ่งเกี่ยว หรือบริหารงาน หรือเรียกเก็บเงินผลกำไร อันเกิดจากกิจการร้านอาหารมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว

4.เงินที่จำเลยให้โจทก์แต่ละเดือน เป็นการให้เพราะต้องการช่วยเหลือเงินค่าผ่อนรถเบนซ์ แต่ฝ่ายโจทก์กลับอ้างเป็นเงินแบ่งปันผลกำไรของกิจการที่จำเลยให้กับโจทก์ เพื่อที่จะพยายามทำให้ศาลเห็นว่า ฝ่ายโจทก์ยังมีส่วนในทรัพย์สินอยู่ 

ซึ่งประเด็นนี้ผมหักล้างด้วยการนำบุตรผู้เยาว์มาเบิกความอธิบาย พร้อมกับหลักฐานที่แสดงว่าเงินที่จำเลยมอบให้แต่ละเดือน ตรงกับยอดค่าผ่อนรถ และจำเลยก็หยุดให้ทันที ที่การผ่อนรถเสร็จแล้ว


ผลคำพิพากษา

คดีนี้ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต่างมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยให้เหตุผลในทำนองเดียวกันก็คือ

1.ข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา อาจจะทำในขณะจดทะเบียนหย่าโดยให้นายทะเบียนบันทึกไว้หรือไม่ก็ได้ 

ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดๆกำหนดให้ความตกลงในการแบ่งสินสมรสจะต้องกระทำต่อนายทะเบียนหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ 

2.มีการแบ่งปันรายได้ และแบ่งกันบริหารกิจการกันตั้งแต่จดทะเบียนหย่า โดยแยกขาดจากกันชัดเจน เป็นเวลากว่า 10 ปี  ชี้ให้เห็นเจตนาว่ามีการแบ่งทรัพย์สินกันแล้ว

3.ฝ่ายจำเลยมีพยานคนกลาง โดยเฉพาะบุตรผู้เยาว์ให้การยืนยันว่า เงินที่จำเลยจ่ายให้กับโจทก์แต่ละเดือน ไม่ใช่ส่วนแบ่งรายได้ แต่เป็นเงินช่วยเหลือค่าผ่อนรถ ตามที่บุตรร้องขอ

4.ฝ่ายโจทก์หลังจากหย่าขาดแล้ว ก็ได้ถือเอาประโยชน์จากทรัพย์สินที่อยู่ในความครองครองของตนเองแต่ผู้เดียว ไม่เคยต้องแบ่งปัน หรือปรึกษาฝ่ายจำเลยในการกระทำการใดๆ 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทางศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงได้คำพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยเห็นว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้มีการแบ่งสินสมรสกันแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิใดๆในทรัพย์สินพิพาทอีก 

ทั้งนี้คดีนี้สิ้นสุดลงในชั้นศาลอุทธรณ์แผนกคดีชํานัญพิเศษ เนื่องจากฝ่ายโจทก์ยื่นฎีกาแต่ศาลฎีกาไม่รับไว้พิจารณาเนื่องจากไม่ได้วางค่าธรรมเนียมศาลภายในกำหนด 

ทั้งนี้สามารถอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีชำนัญพิเศษได้ท้ายบทความครับ


สรุปข้อกฎหมายจากคดี

ธรรมดาแล้วการแบ่งสินสมรสนั้น คู่สมรสสามารถทำเป็นบันทึกไว้ท้ายทะเบียนสมรสไว้ว่า จะแบ่งสินสมรสกันอย่างไร 

โดยอาจจะทำเป็นบันทึกกันไปเอง และให้นายทะเบียนแนบบันทึกดังกล่าวไว้ท้ายทะเบียนสมรส ในขณะที่จดทะเบียนหย่าได้เลย

หรือหากไม่ได้จัดทำบันทึกไป ก็สามารถให้นายทะเบียนบันทึกเรื่องการแบ่งสินสมรสตามที่ตกลงกัน ไว้ในท้ายทะเบียนสมรสก็ได้

หากได้ทำบันทึกข้อตกลงเรื่องการแบ่งสินสมรสกันไว้ หรือนายทะเบียนได้บันทึกเรื่องการแบ่งสินสมรสกันไว้ ย่อมสามารถใช้บังคับกันได้ 

ทั้งนี้โดยมีข้อกฎหมาย คือ 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532 เมื่อหย่ากันแล้วให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา

        แต่ในระหว่างสามีภริยา

        (ก) ถ้าเป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า

และตามคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6388/2550 บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนการหย่าให้แล้ว ถือว่าได้มีการแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นนับตั้งแต่วันที่มีการทำบันทึกแบ่งแยกทรัพย์สินท้ายทะเบียนการหย่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์จึงตกเป็นสิทธิของ ร. ตั้งแต่เวลานั้น ไม่ใช่สินสมรสระหว่าง ร. และโจทก์ที่โจทก์จะมาขอแบ่งแยกได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่14884/2558 ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 หย่ากันโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ก) บัญญัติให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า ข้อตกลงตามสำเนาบันทึกด้านหลังทะเบียนการหย่าระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยินยอมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32498 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 6/82 ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามบทมาตราดังกล่าว มิใช่สัญญาให้ทรัพย์สินอันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะสมบูรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 525 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้ว ถือว่าทั้งสองฝ่ายได้จัดการแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7860/2559 เมื่อมีการหย่ากันโดยจดทะเบียนหย่าย่อมมีผลนับแต่จดทะเบียนและให้จัดการแบ่งทรัพย์สินตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1531 และ 1532 (ก) ซึ่งมาตรา 1532 (ก) มีจุดมุ่งหมายให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่คู่หย่าจะแยกจากกัน หากมีการตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินแล้ว ถือว่าเป็นการตกลงแบ่งทรัพย์สินตามมาตราดังกล่าว เป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 ส่วนบทบัญญัติมาตรา 1533 ที่บัญญัติว่า เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน ก็ไม่ใช่บทบัญญัติเด็ดขาดโดยคู่หย่าสามารถตกลงให้แบ่งสินสมรสเป็นอย่างอื่นได้และในส่วนสินส่วนตัวก็ตกลงแบ่งกันอย่างใดก็ได้

เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันในขณะจดทะเบียนหย่าแล้วว่าให้จำเลยอุปการะเลี้ยงดูบุตร ให้บ้านและที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์จำเลย ให้โจทก์ออกจากบ้านดังกล่าว ให้รถยนต์ 2 คัน เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โดยจำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์รวม 3,500,000 บาท โดยโจทก์ไม่ต้องชำระหนี้อีก ก็ต้องเป็นไปตามนั้น

ดังนั้นแล้ว หากมีการจดทะเบียนหย่า และได้มีการบันทึกไว้ท้ายทะเบียนหย่าว่าจะแบ่งสินสมรสกันอย่างไร และนายทะเบียนได้บันทึกข้อตกลงดังกล่าวไว้ท้ายทะเบียนการหย่าแล้ว ย่อมถือว่าเป็นการตกลงแบ่งสินสมรสกันตามกฎหมายแล้ว แต่ละฝ่ายก็จะได้สิทธิตามที่ระบุไว้ท้ายทะเบียนการหย่า และไม่มีสิทธิเรียกร้องสินสมรสในส่วนอื่นๆอีก

อย่างไรก็ตามข้อตกลงเรื่อง ” แบ่งสินสมรส ” กฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องทำเป็นหนังสือแต่อย่างใด

ดังนั้น ถึงแม้จะไม่มีบันทึกข้อตกลงเป็นหนังสือ หรือบันทึกไว้ท้ายทะเบียนสมรส คู่กรณีก็อาจนำสืบ ได้ว่า มีข้อตกลงเรื่องการแบ่งสินสมรสกันโดยพฤตินัย หรือด้วยวาจาแล้ว และหากศาลเชื่อว่ามีข้อตกลงดังกล่าวจริง แต่ละฝ่ายก็ย่อมได้สิทธิและหน้าที่ตามที่ได้ตกลงกันไว้

ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2556 ข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาอาจกระทำในขณะจดทะเบียนหย่า โดยให้นายทะเบียนบันทึกไว้หรือไม่ก็ได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติใด ๆ กำหนดให้ความตกลงในการแบ่งสินสมรสต้องกระทำต่อหน้านายทะเบียนหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การจะฟังว่ามีข้อตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจาหรือไม่ ย่อมต้องพิจารณาจากพยานทั้งสองฝ่ายประกอบกับพฤติการณ์ของแต่ละคดีไป พฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยต่างครอบครองสินสมรสแต่ละรายการต่างหากจากกัน และมีภาระการผ่อนชำระหนี้ในทรัพย์สินที่ตนถือครองกรรมสิทธิ์อยู่ภายหลังการหย่าจนถึงเวลาที่โจทก์ฟ้องคดีเป็นเวลาเกือบ 5 ปี แม้ไม่มีหลักฐานข้อตกลงแบ่งสินสมรสในขณะจดทะเบียนหย่าแต่ฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจาโดยให้สินสมรสทั้งสองรายการรวมทั้งหนี้สินตกแก่จำเลย การที่โจทก์และจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสระหว่างกัน มีผลให้แต่ละฝ่ายได้รับทรัพย์สินและมีภาระหนี้ต้องชำระหนี้สินซึ่งเป็นหนี้ร่วมมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งผิดแผกแตกต่างจาก ป.พ.พ. มาตรา 1533 และมาตรา 1535 บัญญัติไว้ แต่มิใช่บทบัญญัติอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 151 ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลบังคับและไม่ตกเป็นโมฆะ


สรุปข้อคิดที่ได้จากความคดีความเรื่องนี้

ถึงแม้การแบ่งสินสมรสนั้น กฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องทำเป็นหนังสือ หรือจะต้องจดทะเบียนต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม 

แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็ควรจะตกลงกันให้ชัดเจนและบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อไปบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า 

โดยการระบุให้ชัดเจนไปเลยว่า คู่สมรสฝ่ายไหนจะได้ทรัพย์สินในส่วนไหน และเมื่อทำบันทึกกันแล้วก็ควรไปจัดการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนตามบันทึกนั้นให้เรียบร้อย 

ซึ่งจะเป็นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งป้องกันข้อโต้เถียงที่จะเกิดขึ้นอย่างเช่นในคดีนี้

เพราะการแบ่งสินสมรสด้วยวาจาหรือโดยพฤตินัยนั้น ถึงแม้ตามกฎหมายจะสามารถทำและสามารถบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย 

แต่ก็มักจะมีปัญหาข้อยุ่งยากและข้อโต้เถียงเกี่ยวกับการที่ว่าฝ่ายไหนได้รับทรัพย์สินส่วนไหนเป็นจำนวนเท่าไหร่ ดังที่ปรากฎในคดีนี้

และการทำบันทึกท้ายทะเบียนสมรสเรื่องการแบ่งสินสมรสนั้น ผมแนะนำว่าควรให้ทนายความเป็นคนร่างและตรวจสอบเพื่อความรัดกุมและเกิดประโยชน์ของทุกฝ่ายครับ 


คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับเต็ม 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น