บทความกฎหมายแพ่งและวิธีพิจารณาความแพ่ง, คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

การขอปรับเพิ่ม-ลด ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ภายหลังศาลมีคำพิพากษา (ป.พ.พ.ม.1598/39) พร้อมตัวอย่างการดำเนินคดี

ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว ภายหลังจะสามารถขอปรับแก้ไข หรือเพิ่มเติมหรือลดได้หรือไม่ ?

การกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้น ศาลพึงกำหนดให้ตามสมควรแก่พฤติการณ์ หรือหากทุกฝ่ายสามารถตกลงกันได้ ก็สามารถกำหนดจำนวนตัวเลขค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย 

ทั้งนี้ตามกฎหมายคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/38 ที่วางหลักไว้ว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยา หรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้นย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี

ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เป็นเรื่องที่สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ตลอดเวลาตามแต่สถานการณ์

ถึงแม้ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคู่กรณีได้ตกลงกันไว้เกี่ยวกับเรื่องค่าเลี้ยงดูบุตรอย่างไรก็ตาม แต่หากภายหลังพฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลก็มีอำนาจปรับเพิ่มหรือปรับลดจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามคำพิพากษาหรือตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ตลอด 

ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1598/39 ที่วางหลักไว้ว่า 

มาตรา 1598/39 เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกก็ได้

ในกรณีที่ศาลไม่พิพากษาให้ค่าอุปการะเลี้ยงดู เพราะเหตุแต่เพียงอีกฝ่ายหนึ่งไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ในขณะนั้น หากพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของอีกฝ่ายหนึ่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป และพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของผู้เรียกร้องอยู่ในสภาพที่ควรได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู ผู้เรียกร้องอาจร้องขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งในคดีนั้นใหม่ได้

สาเหตุที่กฎหมายวางหลักให้ ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นสามารถปรับเพิ่มหรือปรับลดได้ตลอดระยะเวลานั้น ก็เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย และเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง

เพราะถ้าหากกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ต่ำ และต่อมามีพฤติการณ์ที่บุตรมีความจำเป็นจะต้องใช้เงินมากขึ้น และบิดาหรือมารดาอยู่ในฐานะที่สามารถที่จะให้เงินเพิ่มเติมขึ้นได้

หรือหากกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้สูง และภายหลังปรากฏว่าบุตรไม่จำเป็นต้องใช้เงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแล้วเพราะทำงานจนมีรายได้ หรือตัวบิดามารดาผู้ส่งเสียเกิดประสบปัญหาทางการเงินไม่สามารถส่งเงินได้จำนวนเท่าเดิม 

หากไม่มีข้อกฎหมายที่จะให้ปรับเพิ่มหรือลดเงินค่าเลี้ยงดูบุตรก็จะเกิดความไม่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย 

ดังนั้นกฎหมายจึงได้วางหลักว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นสามารถปรับเพิ่มหรือลดได้ตลอดแล้วแต่พฤติการณ์แห่งคดี 

ตัวอย่างพฤติการณ์ที่ทำให้สามารถปรับเพิ่ม ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร 

  1. บิดาหรือมารดาผู้มีหน้าที่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร มีการปรับเปลี่ยนหน้าที่การงานหรือธุรกิจรายได้ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง
  2. บิดาหรือมารดาผู้มีหน้าที่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรประสบอุบัติเหตุ ทำให้ไม่สามารถทำงานหารายได้ได้หรือมีความจำเป็นต้องใช้เงินในการรักษาตัว
  3. บุตรหรือบิดามารดาอีกฝ่ายหนึ่งที่เลี้ยงดูบุตรพอมีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงดูตนเองได้หรือช่วยเหลือตนเองได้ตามสมควร 
  4. มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จำเป็น มีการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามแต่สถานการณ์ 

ซึ่งการที่ศาลจะมีคำสั่งปรับเพิ่มหรือลดจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้น หากผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่ง เช่น ตัวโจทก์ จำเลย หรือตัวบุตรผู้เยาว์ ได้แจ้งให้ศาลทราบถึงพฤติการณ์แห่งคดีที่เปลี่ยนแปลงไป ศาลก็สามารถปรับเพิ่ม หรือ ปรับลด ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้ตลอด

วันนี้ผมได้ นำข้อกฎหมายเรื่องนี้และตัวอย่างการดำเนินคดีมาให้เพื่อนๆได้ดูเป็นตัวอย่างครับ 

สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าจำเลยถูกฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ซึ่งจำเลยเป็นนายทหารมีเงินเดือนประมาณ 40,000 บาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จะต้องถูกหักในแต่ละเดือน 

ในวันไปไกล่เกลี่ยทำสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยซึ่งเคยประสบอุบัติเหตุและมีอาการทางสมองที่ค่อนข้างช้ากว่าปกติ

ไปตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความขอชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรถึงเดือนละ 14,000 บาท ต่อบุตรผู้เยาว์ 1 คน รวมเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรถึงเดือนละ 28,000 บาททำ ให้จำเลยแทบไม่เหลือเงินใช้ในแต่ละเดือน 

ซึ่งทนายความคนเดิมเพียงแต่อยากจะทำคดีให้จบๆไปได้แนะนำว่าให้ตกลงตามข้อเสนอดังกล่าวไปโดยไม่ได้ต่อรองอะไรเลย จำเลยได้ตกลงตามข้อเสนอนั้นไปแล้วปรากฏว่าไม่สามารถปฏิบัติตามได้ 

จำเลยจึงได้มาหาผมเลยแจ้งว่าแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายต่างๆเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการรักษาตัวและค่าใช้จ่ายทั่วไปการจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรถึงเดือนละ 28,000 บาท สูงเกินไป และไม่สามารถทำได้ 

ผมจึงได้จัดการดำเนินการยื่นคำร้องขอลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรโดยอ้างสาเหตุต่างๆตามคำร้องนี้ 

ตัวอย่างคำร้องขอลดจำนวนเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามคำพิพากษา 

ข้อ 1. คดีนี้ศาลที่เคารพโปรดมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่โจทก์เป็นรายเดือนคนละ 14,000 บาทต่อเดือน รวมแล้วจำเลยต้องชำระค่าบริการและเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 28,000 บาทต่อเดือน จนกว่าบุตรผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ 

ข้อ 2. จำเลยขอประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพว่าจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรดังกล่าวสูงเกินสมควรและไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง แล้วปัจจุบันจำเลยไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะสามารถจะจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวได้ เนื่องจากจำเลยรับราชการมีเงินเดือนเพียง ประมาณ 40,000 เศษ รายละเอียดจำเลยจะนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไป

ปัจจุบันจำเลยมีอาการป่วยเนื่องจากอุบัติเหตุ จะต้องรักษาตัวต่อเนื่อง มีค่ารักษาพยาบาลตกเดือนละ 3,000 บาท มีค่ากินใช้และค่ายานพาหนะที่จะต้องใช้ในชีวิตประจำวันประมาณเดือนละ 23,000 บาท แล้วยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกเป็นจำนวนมากอีกทั้งต้องเก็บไว้รักษาตัวเมื่อยามชรา และเก็บไว้เพื่อเป็นทุนการศึกษาในอนาคตระดับมหาลัยของบุตรทั้งสอง 

จำเลยมีความตั้งใจจะให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองมิใช่เพียงแต่จนถึงขั้นบรรลุนิติภาวะตามกฎหมายหรืออายุ 20 ปีเท่านั้น แต่จำเลยมีความตั้งใจจะให้การศึกษาบุตรผู้เยาว์ทั้งสองในขั้นต่ำคือระดับปริญญาตรี 

ข้อ 3.แต่จำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เดือนละ 14,000 บาท ต่อบุตรผู้เยาว์ 1 คน โดยที่บุตรผู้เยาว์เพิ่งจะศึกษาอยู่ระดับ ม.1 และ ม.4 เท่านั้นถือว่าสูงเกินสมควรไปมาก ประกอบกับค่าการศึกษาต่างๆสามารถเบิกจ่ายได้อยู่แล้วเนื่องจากจำเลยรับราชการทหาร นอกจากนี้เรื่องที่พักอาศัยจำเลยก็เป็นผู้ออกเงินจำนวนหนึ่งล้านสองแสนบาทซื้อให้ฝ่ายโจทก์ใช้พักอาศัยอยู่กับบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง ซึ่งบ้านหลังดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของจำเลยและได้มอบให้ฝ่ายโจทก์พักอาศัยอยู่ในปัจจุบัน รายละเอียดจำเลยนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้โจทก์เองในฐานะมารดา ของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองก็มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องให้ความช่วยเหลือครอบครัวทำงาน และหารายได้มาจุนเจือครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย มิใช่เพียงแต่จะรอหวังเงินจากจำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว

ข้อ 4.ด้วยเหตุดังจำเลยประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพ ถือว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1598/39  ดังนั้นเพื่อความเหมาะสมและผลประโยชน์สูงสุดของผู้เยาว์จึงขอศาลที่เคารพโปรดมีคำสั่งให้ลดจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เหลือเดือนละ 5,000 บาท ต่อบุตรผู้เยาว์ 1 คน

และให้มีการเพิ่มจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ไปตามลำดับขั้นตอนระยะเวลาในอนาคตต่อไปโดยในการนี้จำเลยขอยืนยันว่าต้องการส่งเสียให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์จนถึงกันจบการศึกษาชั้นปริญญาตรี มิใช่แต่เพียงจะให้การอุปการะจนบรรลุนิติภาวะเท่านั้น 

ด้วยเหตุดังจำเลยประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพ จึงขอศาลที่เคารพโปรดมีคำสั่งไต่สวนคำร้องฉบับนี้และมีคำสั่งให้ลดจำนวนเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองต่อไป 

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ผลคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

คดีนี้ศาลชั้นต้นปรับลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรให้จ่ายเดือนละ 14,000 บาทต่อคน เป็นเดือนละ 9000 บาทต่อคน ซึ่งผมเห็นว่าเป็นอัตราที่เหมาะสม และพอรับได้ แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องดูว่าฝ่ายตรงข้ามจะอุทธรณ์ฎีกาต่อไปหรือไม่ต้องรอฟังผลในชั้นอุทธรณ์ฎีกาอีกครั้งครับ

 

ข้อกฎหมายนี้เป็นข้อกฎหมายที่มีประโยชน์มากทั้งกับฝ่ายโจทก์และจำเลยในคดีเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร แต่ยังไม่ค่อยมีการปรับใช้กันอย่างแพร่หลายแต่อย่างใด ผมเห็นว่าแนวทางการดำเนินคดีนี้น่าจะเป็นประโยชน์ และสามารถนำไปปรับใช้กับการปรับเพิ่มค่าเลี้ยงดูบุตรได้ด้วย จึงนำมาเผยแพร่และหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆครับ

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น