บทความกฎหมายแพ่งและวิธีพิจารณาความแพ่ง

คนวิกลจริต และการทำนิติกรรมของคนวิกลจริต คำอธิบายข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ฉบับสมบูรณ์-เข้าใจง่าย

คนวิกลจริต คือ บุคคลประเภทหนึ่งที่กฎหมายจำกัดสิทธิเรื่องการทำนิติกรรมไว้ และการเป็นบุคคลวิกลจริต ก่อให้เกิดผลทางกฎหมายหลายประการที่ต่างจากคนทั่วไป 

การทำงานของทนายความ มักจะต้องวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องบุคคลวิกลจริตอยู่เสมอ เช่น การทำนิติกรรมของบุคคลวิกลจริต การร้องขอให้ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ การคัดค้านหรือเพิกถอน นิติกรรมหรือพินัยกรรมที่ทำโดยคนวิกลจริต เป็นต้น

ในวันนี้ ผมจะมาอธิบายทุกเรื่อง เกี่ยวกับบุคคลวิกลจริต เพื่อใช้เป็นคู่มือในการศึกษาและค้นคว้าประกอบการทำงาน แบบครบถ้วนและเข้าใจง่ายครับ  

คนวิกลจริต คือ 

คนวิกลจริต คือ

คำว่า บุคคลวิกลจริต หรือ คนวิกลจริต (unsound mind person / insane person )   ไม่มีนิยามระบุไว้ในกฎหมายไทย ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร ดังนั้นจึงต้องพิจารณาถึง ถ้อยคำในกฎหมาย ความเห็นของนักกฎหมาย และ คำพิพากษาศาลฎีกาประกอบกัน 

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 

คำว่า “วิกลจริต” มีความหมายว่า มีความประพฤติหรือกิริยาผิดปกติเนื่องจากเป็นบ้า สติวิปลาส 

คำว่า “สติวิปลาส” มีความหมายว่า มีความรู้สึกผิดชอบผิดเพี้ยนไปจากปกติธรรมดา

คำว่า “บ้า” หมายความว่า วิกลจริต เสียสติ สติฟั่นเฟือน หลงมัวเมาในสิ่งใดจนไม่ปกติ 

นักกฎหมายผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ความหมายของบุคคลวิกลจริตไว้ว่า

ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ให้ความหมายว่า

บุคคลที่จิตใจไม่ปกติ ไม่เพียงแค่จิตฟั่นเฟือน ไม่ว่าจะเกิดจากโรคหรือโดยกำเนิดก็ตาม แต่ต้องถึงขนาดไม่สามารถใช้สติตัดสินได้ว่าอะไรถูกหรือผิด ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินหรือฐานะของเขา บุคคลวิกลจริตนี้จึงต้องมีอาการอย่างหนักจนไม่สามารถจัดการงานเก่าของเขาไปได้ในทางที่ควร 

ศาสตราจารย์ ด.ร. สมทบ สุวรรณสุทธิ เห็นว่า

บุคคลวิกลจริต คือคนบ้า บุคคลที่สมองพิการ จิตไม่ปกติ ไม่รู้สึกผิดชอบในการแสดงเจตนา ไม่สามารถใช้ความคิดเพื่อเข้าใจความหมายและเล็งเห็นผลการกระทำของตนได้ดี 

ศาสตราจารย์พิเศษประสิทธิ์ โฆวิไลกูล เห็นว่า

บุคคลวิกลจริตจะต้องมีอาการบ้าโดยมีลักษณะคือ

1.เป็นอย่างมาก มีอาการไม่ปกติสติไม่สมบูรณ์โรคทางจิต หรือจริตวิกลอย่างมากไม่มีความรู้สึกผิดชอบว่าตนได้พูดหรือทำอะไร แต่ก็ไม่จำเป็นต้องมีอาการร้ายแรงถึงขั้นทำอะไรต่อบุคคลอื่น 

2.เป็นประจำ คือต้องมีลักษณะติดตัวหรือมีอาการประจำแต่ไม่ต้องถึงขนาดที่ต้องมีอาการบ้า  ต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา อาจจะมีบางเวลาที่หายจากอาการบ้าและมีอาการปกติก็ได้ 

รศ.ดร. กิตติศักดิ์ ปกติ เห็นว่า

บุคคลวิกลจริต หมายถึง บุคคลซึ่งมีอาการทางจิตผิดปกติถึงขนาดขาดความสามารถโดยสิ้นเชิงในการกำหนดเจตนาของตนเองได้อย่างอิสระ กล่าวคือผู้ที่ขาดสติสัมปชัญญะขาดความลึกขาดความรู้สำนึก หรือผู้ที่แม้รู้สำนึก แต่การแสดงเจตนาของบุคคลนั้นก็เป็นไปโดยปราศจากความสามารถไตร่ตรอง ด้วยเหตุผล 

คือเจตนาเป็นไปภายใต้บังคับแห่งอำนาจที่ไม่อาจควบคุมด้วยเหตุผลเช่นคนปกติได้ ไม่ว่าจะเป็นบังคับแห่งแรงผลักดันภายในร่างกายหรือภาวะซึ่งเกิดขึ้นในจิตใจ หรือที่เรียกว่าเป็นไปโดยไม่รู้ผิดชอบ 

ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเพราะความเจ็บป่วยหรือจะเป็นโดยกำเนิดก็ตาม และความบกพร่องทางสภาพจิตที่จะถือว่าวิกลจริตได้นั้นจะต้องเกิดขึ้นเป็นประจำโดยสภาพไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงครั้งคราว  แต่ไม่ถึงขนาดจำเป็นต้องเป็นอยู่ตลอดเวลา แล้วไม่ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่าอาจเยียวยารักษาให้กลับคืนดีได้อีกหรือไม่ 

ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่อง คนวิกลจริต ดังนี้

ฎ.490/2509 (ประชุมใหญ่)

คำว่า บุคคลวิกลจริต มิได้หมายเฉพาะถึงบุคคลผู้มีจิตผิดปกติหรือตามที่เข้าใจกันทั่ว ๆ ไปว่าเป็นบ้าเท่านั้นไม่ แต่หมายรวมถึงบุคคลที่มีกิริยาอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาส คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรู้สึกผิดชอบด้วย เพราะบุคคลดังกล่าวนี้ไม่สามารถประกอบกิจการงานของตนหรือประกอบกิจการส่วนตัวของตนได้

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเนื้องอกในสมอง ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา มีอาการพูดไม่ได้ หูไม่ได้ยิน ตาทั้งสองข้างมองไม่เห็น มีอาการอย่างคนไม่มีสติสัมปชัญญะใด ๆ ไร้ความสามารถที่จะดำเนินกิจการทุกสิ่งทุกอย่าง ถือว่าเป็นบุคคลวิกลจริต แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  74/2527

มีอาการไม่รู้สึกตัวเอง ไม่รู้จักสถานที่และเวลาพูดจารู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้างซึ่งนายแพทย์เรียกอาการเช่นนี้ว่า สมองเสื่อมหรือวิกลจริตและไม่มีโอกาสที่จะรักษาให้หายได้ ทั้งเดินทางไปไหนไม่ได้อีกด้วย แสดงให้เห็นว่ามารดาผู้ร้องเป็นคนไม่มีสติสัมปชัญญะ ไร้ความสามารถที่จะดำเนินการทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเองได้ พอถือได้ว่าเป็นบุคคลวิกลจริตแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5466/2537

คำว่าบุคคลวิกลจริตนั้น มิได้หมายเฉพาะถึงบุคคลผู้มีจิตผิดปกติ หรือตามที่เข้าใจกันทั่ว ๆ ไปว่าเป็นบ้าเท่านั้นไม่ แต่หมายรวมถึงบุคคลผู้มีกิริยาอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาส คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรับผิดชอบด้วย  ผู้ร้องพูดจารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ซึ่งแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองฝ่อหรือสมองเสื่อมขั้นรุนแรงไม่สามารถรักษาให้หายได้ตลอดจนไม่อาจปฏิบัติภารกิจส่วนตัวได้ พอถือได้ว่าเป็นบุคคลวิกลจริตตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2556

ทุพพลภาพพิการตลอดชีวิต ความรู้สึกตัวและความจำไม่ปกติ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ถือว่าเป็นบุคคลวิกลจริต 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1645/2520

 ส. มีลักษณะปัญญาอ่อน หูไม่ดี ได้ยินไม่ชัด ไม่มีอาการทางจิตไม่สามารถดูแลรับผิดชอบตนเองตามลำพังได้ ม.สติไม่ค่อยดี ฟั่นเฟือนเป็นครั้งคราว บางครั้งพูดรู้เรื่อง บางครั้งไม่รู้เรื่อง ดังนี้ เป็นแต่จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ไม่ถึงวิกลจริต

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2319/2542

ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีอาการป่วยทางสมองอย่างชัดแจ้งถึงขนาดเป็นคนวิปลาส ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรับผิดชอบ เนื่องจากโจทก์ยังคงช่วยเหลือตนเองได้ในระดับกิจวัตรประจำวัน มีการตัดสินใจพอใช้ มีสติสัมปชัญญะรู้ได้ในระดับทั่วไป และสามารถพูดจาโต้ตอบได้ อีกทั้งยังปรากฏว่าโจทก์ทำนิติกรรมขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทหลังจากโจทก์ไปทำงานตามปกติประมาณ 1 เดือน ซึ่งโจทก์ระบุว่าเหตุที่ไปทำงานเพื่อที่จะได้วันเวลาราชการโดยไม่ต้องลาป่วยหรือขาดราชการ ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า โจทก์มีความรำลึก มีความรู้สึก และมีความรับผิดชอบเช่นบุคคลที่มีสติสัมปชัญญะทั่วๆ ไป อาการป่วยของโจทก์จึงไม่ใช่เป็นบุคคลวิกลจริตตามที่บัญญัติไว้ใน ม. 30 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 256/2466

จำเลยเป็นผู้ป่วยโรคมันสมองเสื่อม เนื่องจากโรคอัมพาต เพราะเส้นเลือดในสมองแตกทำให้เลือดซึมมาขังที่เนื้อสมอง สมองจึงเปื่อย รู้สึกผิดถูกได้เป็นบางคราว ไม่ได้บ้าคลั่งจนเสียสติ แต่แพทย์ลงความเห็นว่าฐานะแห่งมันสมองอันเป็นเกิดแห่งสติและความรู้และความคิดของจำเลย ห่างจากความเป็นปกติมาก ทำให้จำเลยมีจิตผิดปกติจนให้เหตุผลไม่ได้ แยกแยะว่าเงิน 5 บาท กับ 50 บาทต่างกันอย่างไร และจะโดนหลอกได้ง่าย ถือเป็นบุคคลวิกลจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 516/2551 

ประสบอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บสาหัส กายพิการ สมองกระทบกระเทือน จนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่สามารถประกอบการงานได้อย่างสิ้นเชิง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต จนต้องลาออกจากราชการ ถือเป็นบุคคลวิกลจริต ที่ศาลจะสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ

สรุป บุคคลวิกลจริต มี 2 ประเภท

สรุปว่า บุคคลวิกลจริต คือ

จากทั้งถ้อยคำตามกฎหมาย ความเห็นของนักกฎหมาย และคำพิพากษาศาลฎีกา  ผมสามารถให้นิยาม ความหมายของบุคคลวิกลจริต คือ

1.บุคคลที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ และมีอาการร้ายแรงถึงขั้น ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจแยกถูกผิดโดยใช้เหตุผลได้ดังคนปกติ หลงลืม พูดเป็นคำไร้ความหมาย  ไม่สามารถรักษาผลประโยชน์ของตนเองได้ตามความสมควร และมีอาการดังกล่าวแบบติดตัวหรือเป็นประจำ 

2.บุคคลที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ ขาดความรำลึกของความรู้สึกเนื่องจากอาการป่วยหนัก เช่นนอนป่วยติดเตียง เป็นผักถาวร ด้วยโรคสมองฝ่อ หรือสมองเสื่อมขั้นรุนแรง โรคพาร์กินสัน ความจำเสื่อม อัลไซเมอร์ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง พูดจาสื่อสารไม่ได้  ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่สามารถดูแลหรือจัดการทรัพย์สินของตนเองได้เลย เนื่องจากและมีอาการดังกล่าวแบบติดตัว หรือเป็นประจำ

บุคคลวิกลจริต ทำนิติกรรม ได้หรือไม่ 

สำเนาของ สรุป การทำนิติกรรมของ คนวิกลจริต

คนวิกลจริต สามารถทำนิติกรรม เช่น ขายที่ดิน ยกที่ดินให้ผู้อื่นโดยสเน่หา ซื้อทรัพย์สินต่างๆ  เหมือนกับบุคคลทั่วไปทุกประการ

เว้นแต่จะปรากฎข้อเท็จจริงว่า ขณะทำนิติกรรมดังกล่าว บุคคลดังกล่าวมีอาการวิกลจริต และคู่กรณีอีกฝ่ายได้รู้ถึงความเป็นคนวิกลจริตของผู้ทำนิติกรรมด้วย จะถือว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆียะ (ปพพ ม.30) 

ทั้งนี้ยกเว้นแต่คนวิกลจริตประเภทที่ไม่รู้สึกตัวเอง ไม่สามารถกระทำการต่างๆด้วยตนเองได้ เช่นผู้ป่วยติดเตียง ไม่มีสติสัมปชัญญะ ย่อมไม่สามารถกระทำนิติกรรมได้โดยสภาพ 

การที่จะพิสูจน์ว่าขณะทำนิติกรรม บุคคลดังกล่าววิกลจริต และคู่กรณีรู้ถึงความวิกลจริตหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ที่จะต้องวินิจฉัยจากพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องๆไป 

นิติกรรม โมฆียะ บุคคลวิกลจริต

หลักการวินิจฉัยว่า นิติกรรมของบุคคลวิกลจริต เป็นโมฆียะ หรือไม่ 

การจะวินิจฉัยว่า นิติกรรมของบุคคลวิกลจริต เป็นโมฆียะหรือไม่ ต้องพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงในแต่ละคดีไป แต่อย่างไรก็ตาม มีหลักโดยสังเขป ที่ใช้พิจารณาได้ ดังนี้

1.ความสมเหตุสมผลของนิติกรรม

ถ้านิติกรรมนั้นเป็นการทำด้วยความสมเหตุสมผล เช่น แม่ยกที่ดินให้ลูกชายคนเดียว หรือทำการซื้อขายทรัพย์สินในราคาปกติ ย่อมเป็นเหตุที่นำมาพิจารณาได้ว่า ขณะทำนิติกรรม บุคคลดังกล่าวอาจจะไม่วิกลจริต

แต่ถ้านิติกรรมดังกล่าว ทำขึ้นด้วยความไม่สมเหตุผล เช่น มีลูกอยู่หลายคน แต่แม่กลับไปโอนที่ดินให้ลูกคนที่ไม่เคยเลี้ยงดู หรือซื้อทรัพย์สินในราคาแพงกว่าท้องตลาดมาก หรือขายทรัพย์สินในราคาถูกกว่าท้องตลาดมาก ย่อมเป็นเหตุที่นำมาพิจารณาได้ว่า ขณะทำนิติกรรม บุคคลดังกล่าวอาจจะวิกลจริต 

2.คู่กรณีรู้จักบุคคลวิกลจริตมาก่อนหรือไม่ 

ถ้าคู่กรณี รู้จักบุคคลวิกลจริตมาก่อน ย่อมเชื่อได้ว่า คู่กรณีน่าจะรู้หรือควรรู้ว่า ขณะทำนิติกรรม บุคคลดังกล่าวมีอาการวิกลจริต 

แต่ถ้าคู่กรณี ไม่เคยรู้จักบุคคลวิกลจริตมาก่อน อาจจะเป็นเหตุให้เชื่อได้ว่า ขณะทำนิติกรรม คู่กรณีไม่รู้ว่า บุคคลดังกล่าวมีอาการวิกลจริต

3.อาการโดยทั่วไปของคนวิกลจริตเป็นอย่างไร 

ถ้าอาการทั่วไปของคนวิกลจริต เป็นที่สังเกตุเห็นได้ชัด เช่นแต่งตัวเหมือนคนบ้า พูดจาไม่รู้เรื่องอยู่เป็นอาจิณ นอนป่วยไม่สามารถลุกขึ้นได้เอง ไม่สามารถสื่อสารด้วยตนเอง หรือไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุที่เชื่อได้ว่า คู่กรณีย่อมรู้อยู่แล้วว่า ขณะทำนิติกรรม บุคคลดังกล่าวมีอาการวิกลจริต

แต่ถ้าอาการทั่วไปของคนวิกลจริต สังเกตุออกจากลักษณะภายนอกแทบไม่ได้เลย ย่อมเป็นเหตุที่เชื่อได้ว่า คู่กรณีอาจไม่รู้ว่า ขณะทำนิติกรรม บุคคลดังกล่าวมีอาการวิกลจริต

ทั้งนี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมจากคำพิพากษาศาลฎีกาดังต่อไปนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1835/2534

แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในช่วงเวลาที่มีการโอนขายรถยนต์พิพาทส.ป่วยมากทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่ก็ปรากฏในคำขอโอนทะเบียนรถยนต์ว่า ส.ลงชื่อในช่องผู้โอนในเอกสารดังกล่าวโดยวิธีลงลายมือชื่อ แสดงว่าขณะที่ ส.โอนขายรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองนั้น ส.มิได้ขาดเจตนาในการทำนิติกรรมเสียเลย แต่การกระทำโดยมีเจตนาบกพร่อง เนื่องจากขณะนั้น ส.มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ซึ่งจำเลยทั้งสองในฐานะที่เป็นญาติสนิทย่อมต้องทราบดี นิติกรรมโอนขายรถยนต์พิพาท จึงตกเป็นโมฆียะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ฎ.8368/2538

แพทย์ที่รักษาจำเลยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2533 ยืนยันว่าจำเลยมีความผิดปกติทางความคิดและอารมณ์ จัดว่าเป็นผู้ป่วยประเภทโรคจิตทางอารมณ์ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ มีความผิดปกติในความคิดเป็นบางครั้ง คิดในลักษณะมีเหตุมีผลดังเช่นคนปกติไม่ได้ การตัดสินใจบกพร่อง ทำงานอย่างคนปกติไม่ได้ คนไข้ประเภทนี้เกิน 80 เปอร์เซ็นต์ จะรักษาไม่หายจึงเชื่อว่าในขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญา จำเลยกระทำไปโดยมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์กับจำเลยรู้จักสนิทสนมกัน จึงเชื่อว่าโจทก์รู้ดีว่าจำเลยป่วยมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์แม้อาการป่วยของจำเลยจะไม่ถึงขนาดไม่สามารถรู้สำนึกผิดชอบอันเป็นการแสดงเจตนาในการทำนิติกรรมก็ตาม แต่เมื่อจำเลยกระทำในขณะที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์และโจทก์รู้อยู่แล้วดังได้วินิจฉัยมา สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทที่จำเลยกระทำไปก็ตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ฎ.2522/2560

นางสาว ด. มีอาการป่วยทางจิตเวช แสดงตนเป็นเทพเจ้า ส่งเสียงเอะอะโวยวายโดยไม่รู้สึกตัว จึงเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศรีธัญญาและโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี ที่จำเลยอ้างว่า นางสาว ด. มีสติสัมปชัญญะดี ประพฤติและประกอบกิจการงานเหมือนคนปกติทั่วไป จำเลยไม่เคยทราบว่านางสาว ด. สติไม่ดีและไม่เคยเห็นนางสาว ด. ไปพบแพทย์หรือรับประทานยาแต่อย่างใด ขัดกับพยานหลักฐานฟังไม่ขึ้น นิติกรรมที่ทำขึ้นไม่มีความสมเหตุผล เชื่อว่านางสาว ด.ทำขึ้นขณะจริตวิกลและจำเลยทราบดีอยู่แล้ว เป็นนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ

และดู  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2319/2542 ที่ได้อ้างถึงแล้ว

คนวิกลจริต ทำพินัยกรรม ได้หรือไม่ 

การทำพินัยกรรมนั้นบุคคลวิกลจริตก็สามารถกระทำได้ เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่า ขณะทำพินัยกรรม บุคคลดังกล่าวมีอาการวิกลจริต พินัยกรรมก็จะเป็นอันเสียเปล่าไป ตาม ปพพ ม. 1704 วรรคสอง แต่ถ้าปรากฎว่าขณะทำพินัยกรรม บุคคลดังกล่าวไม่มีอาการวิกลจริต พินัยกรรมก็ใช้บังคับได้ 

คนวิกลจริต ทำการสมรส ได้หรือไม่ 

คนวิกลจริต ไม่สามารถทำการสมรสได้ ตาม ปพพ ม.1449  นอกจากนี้หากสามีหรือภริยา มีอาการวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตนั้นถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งยังสามารถเอามาเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ ตาม ปพพ ม. 1516 

คนวิกลจริต รับมรดก ได้หรือไม่ 

บุคคลวิกลจริต ย่อมมีสิทธิในการรับมรดกได้ดังเช่นบุคคลทั่วไป ตาม ปพพ ม. 1610  แต่บุคคลวิกลจริต จะไม่สามารถสละมรดกหรือรับมรดกอันมีค่าติดพันได้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากศาล  ตาม ปพพ ม. 1611 

สรุป

หวังว่าบทความเรื่องนี้ จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆและผู้สนใจ ในการศึกษาและค้นคว้า เกี่ยวกับเรื่อง คนวิกลจริต ในตอนต่อไปผมจะเขียนถึงเรื่อง คนไร้ความสามารถและการตั้งผู้อนุบาล ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกัน รอติดตามชมนะครับ

หนังสืออ้างอิงประกอบการเขียนบทความ 

หลักกฎหมายบุคคล กิตติศักดิ์ ปกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตาร์

คำอธิบาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วย บุคคล ศาสตราจารย์พิเศษ ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล

คำอธิบาย กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วย บุคคล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อังคณาวดี ปิ่นแก้ว คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

คนวิกลจริตประทีป อ่าววิจิตรกุล

คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะบุคคล สมภพพิสิษฐ์ สุขพิสิษฐ์

คำอธิบาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยบุคคลธรรมดา ผศ.ดร. เจษฎา ทองขาว

ผู้สนใจต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม สามารถสั่งหนังสือดังกล่าวได้ตามลิ๊งในข้อความเลยครับ 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts