บทความกฎหมายแพ่งและวิธีพิจารณาความแพ่ง

ตัวอย่างคดี ครอบครองปรปักษ์ แบบมีผู้คัดค้าน – ศึกษาข้อกฎหมายและการทำงานจากประสบการณ์จริง

ตัวอย่างคดีในวันนี้เป็นเรื่อง ครอบครองปรปักษ์ ซึ่งเป็นการดำเนินคดีโดยอาศัยสิทธิ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 

เรื่องราวเป็นอย่างไรติดตามรับชมได้เลยครับ 


พฤติการณ์แห่งคดี 

คดีนี้ลูกความมาหาผมแจ้งว่า ได้ซื้อที่ดินมาจากบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันได้เสียชีวิตไปแล้ว

ทั้งนี้เป็นการซื้อที่ดิน 2 แปลงติดกัน แปลงแรกเจ้าของหาโฉนดที่ดินเจอ จึงได้มีการโอนซื้อขายกันถูกต้อง โดยมีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ 

แต่ที่ดินแปลงดังกล่าวซึ่งเป็นที่ดินแปลงข้างเคียงได้รับแจ้งว่าหาโฉนดที่ดินไม่เจอ จึงไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ 

โดยการซื้อเป็นการซื้อที่ดินบางส่วนและมีการแบ่งแนวเขตโดยการสร้างกำแพงกั้น และแบ่งเขตกันพักอาศัยตลอดมา

หลังจากซื้อมาแล้ว ลูกความผมก็ได้ทำการปลูกโรงเรือน เล้าไก่ ขุดบ่อเลี้ยงปลา และล้อมรั้วตามเนื้อที่ที่ตนเองซื้อ

ที่ดินส่วนที่ระบายด้วยสีเขียว คือส่วนที่ผู้ร้องครอบครอง

ทั้งนี้แต่เดิมที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นเขตท้องนามีมูลค่าไม่สูงมาก ประกอบกับทั้งสองฝ่ายก็เป็นชาวบ้านต่างเชื่อใจกันไม่ได้คิดว่าจะมีปัญหาอะไร

ที่ดินแปลงพิพาทจึงไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายหรือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ได้มีการส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทกันให้กับผู้ร้องแล้ว 

ทั้งสองฝ่ายต่างอยู่กันมาโดยไม่มีปัญหาอะไรจนกระทั่งเวลาผ่านมาเกือบ 30 ปี จนผู้ขายถึงแก่ความตายแล้ว

ต่อมาที่ดินแปลงดังกล่าวเกิดมีราคาขึ้นมาเพราะเกิดนิคมอุตสาหกรรมมาตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียง ที่อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ผู้ร้องจึงต้องการโอนโฉนดในที่ดินเป็นของตนเองเพื่อใช้ในการทำธุรกรรมต่อไป

แต่ติดปัญหาที่ว่าคนขายก็ตายไปแล้ว และติดต่อทายาทของคนขายไม่ได้เลย จึงไม่สามารถโอนเปลี่ยนแปลงชื่อในที่ดิน ผู้ร้องจึงมาหาผมเพื่อให้หาวิธีการแก้ไขปัญหาให้

ที่ดินพิพาทมีการล้อมรั้ว แบ่งแนวเขตกันแล้ว


ข้อกฎหมายเรื่อง ครอบครองปรปักษ์

ตัวบทกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 มาตรา456  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา 1373 ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง

คำอธิบาย ข้อกฎหมาย

การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้นย่อมถือว่าเป็นโมฆะ

การซื้อขายที่ดินพิพาทในคดีนี้ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งถือว่าสัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นโมฆะตามกฎหมาย 

อย่างไรก็ตามถึงแม้สัญญาซื้อขายจะเป็นโมฆะตามกฎหมาย แต่หากมีการส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่กัน และผู้ซื้อได้ครอบครองอย่างเจ้าของมาเป็นเวลา 10 ปี  ผู้ซื้อก็อาจจะได้สิทธิ์ด้วยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ได้ 

ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาเช่น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่5929/2552 การซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 แต่หากผู้ซื้อได้ครอบครองที่ดินที่ซื้อขายกันโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ก็ย่อมได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทและครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5432/2536 ผู้ร้องได้ซื้อที่ดินพิพาทจาก ส. เจ้าของโฉนดเดิมตามสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ผู้ร้องได้ชำระราคาครบถ้วนแล้วและผู้ขายได้มอบที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องครอบครองปลูกบ้านอยู่อาศัยตลอดมาเมื่อผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลากว่าสิบปีผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแล้ว การนับระยะเวลาครอบครองติดต่อกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ถือเอาระยะเวลาครอบครองของผู้ครอบครองเท่านั้น ไม่ต้องพิจารณาถึงตัวเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกครอบครองว่าจะได้โอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกครอบครองให้แก่ผู้ใดหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5874/2538 ในการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างถ.กับจำเลยจำเลยได้ชำระเงินแก่ถ.เป็นจำนวนมากแล้วตามข้อตกลงระหว่างถ.กับจำเลยนั้นไม่ปรากฎว่าจะชำระเงินค่าที่ดินที่เหลือและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทกันที่ไหนเมื่อใดหลังจากทำสัญญาซื้อขายแล้วถ.มอบที่ดินพิพาทให้จำเลยครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลานับสิบปีโดยไม่ปรากฎว่ามีฝ่ายใดได้ติดต่อหรือเรียกร้องให้มีการชำระหนี้และไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้เรียบร้อยการซื้อขายระหว่างถ.กับจำเลยเป็นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เสร็จเด็ดขาดเมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นโมฆะแต่การที่ถ.ตกลงขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยและยอมให้จำเลยเข้าครอบครองปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทเป็นการส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยถือได้ว่าถ.ได้สละการครอบครองให้แก่จำเลยเมื่อจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า10ปีแล้วจำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1382ฝ่ายโจทก์ได้สิทธิในที่ดินพิพาทโดยถ.จดทะเบียนยกให้ไม่เสียค่าตอบแทนจำเลยย่อมยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอันได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ยันโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3276/2548 สัญญาซื้อขายระบุว่า ผู้ร้องขอซื้อที่ดินพิพาทจาก ส. ทำถนนเข้าบ้านกว้าง 5 เมตร ยาวตลอดแนว ในราคา 35,000 บาท ไม่ได้ระบุว่าผู้ร้องกับ ส. จะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทประกอบกับผู้ร้องได้ชำระเงินค่าที่ดินให้แก่ ส. รับไปครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา หลังจากนั้น ส. วัดเนื้อที่ที่ดินพิพาทส่งมอบให้ผู้ร้องทำถนนใช้เป็นทางเข้าออกตลอดมา เป็นพฤติการณ์ที่เห็นได้ว่าทั้งฝ่ายผู้ร้องและ ส. ไม่มีเจตนาจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคแรก แต่การที่ผู้ร้องเข้าครอบครองใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ มิใช่เป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทน ส. ตามสัญญาจะซื้อจะขาย เมื่อครอบครองมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382

ทั้งนี้การครอบครองปรปักษ์นั้นจะต้องเข้าด้วย 3 หลักเกณฑ์ก็คือ

  1. เป็นการครอบครองโดยสงบ คือ เป็นการครอบครองโดยที่ไม่มีใครมาโต้แย้ง คัดค้าน ฟ้องร้อง หรือดำเนินคดี
  2. เป็นการครอบครองเปิดเผย หมายถึง เป็นการครอบครองอย่างชัดเจน แสดงออกให้บุคคลทั่วไปทราบว่าตนเองครอบครอง ไม่ใช่เพียงๆอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆ เป็นครั้งคราว
  3. เป็นการครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ หมายถึง เป็นการครอบครองโดยตนเองประสงค์จะเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ครอบในฐานะผู้เช่า ผู้อาศัย หรืออาศัยสิทธิของเจ้าของที่ดิน

ซึ่งหากเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิ์ของผู้อื่นหรือครอบครองแทนโดยได้รับอนุญาตเพียงชั่วคราวย่อมไม่ถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ ตัวอย่างเช่น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5352/2539 จำเลยปลูกบ้านในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์เพราะเข้าใจว่าเป็นที่ดินของบุตรสาวที่ยินยอมให้จำเลยอยู่อาศัยแสดงว่าจำเลยเข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทเป็นการชั่วคราวโดยไม่ได้เจตนาเป็นเจ้าของแม้ครอบครองติดต่อกันนานเกินกว่า10ปีก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์และเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ตลอดเวลาที่ยังอยู่ในที่ดินนั้นคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้รื้อถอนบ้านออกไปจึงไม่ขาดอายุความ


การดำเนินคดี และตัวอย่าง คำร้องขอครอบครองปรปักษ์

เมื่อปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายแล้ว จะเห็นได้ว่าถึงแม้การซื้อขายที่ดินพิพาทแปลงนี้จะไม่ได้ทำเป็นหนังสือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มันทำให้นิติกรรมซื้อขายเป็นโมฆะก็ตาม

แต่เมื่อผู้ขายได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินแปลงพิพาทให้กับผู้ร้องตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขายแล้ว ไม่เคยกลับเข้ามาเกี่ยวข้องหรือยุ่งเกี่ยวใดๆอีกต่อไปจนเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี 

ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ซื้อย่อมเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทด้วยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 

ผมจึงได้ยื่นคำร้องขอแสดงสิทธิ์ในที่ดินด้วยการครอบครองปรปักษ์ต่อศาล พร้อมกับได้ส่งสำเนาคำร้องให้กับทายาทของผู้ขายตามกฎหมาย

ตัวอย่าง คำร้องขอครอบครองปรปักษ์ คดีนี้ 

นางล. ผู้ร้องขอครอบครองปรปักษ์บางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 2627    ตำบลบ้านมอญ (บ้านเก่า) อำเภอท่าตะกูด(พานทอง) จังหวัดชลบุรี 

ศาลจังหวัดชลบุรี

ความแพ่ง

เนื้อหาคำร้อง

ข้อ 1.เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 2627 เลขที่ดิน 72 หน้าสำรวจ 23 ตำบลบ้านมอญ อำเภอท่าตะกูด  (ปัจจุบันคือ ตำบล บ้านเก่า อำเภอ พานทอง) จังหวัดชลบุรี มีชื่อ นางซ. และ เด็กหญิงส. (หรือนางส.)เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน รายละเอียดปรากฏตามสำเนาโฉนดที่ดินและรายการจดทะเบียนเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 1 

ข้อ 2. ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ.2533นางส. ได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ให้แก่ผู้ร้อง โดยในการซื้อขายกันนั้นไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่          

แต่นับจากผู้ร้องได้ทำการซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวแล้ว นาง ส.ได้ส่งมอบที่ดินให้ผู้ร้องเข้าครอบครองทำประโยชน์ที่ดินแปลงดังกล่าวเฉพาะส่วนที่ซื้อมาจากนาง ส. ทางทิศเหนือ คิดเป็นเนื้อที่ที่ผู้ร้องครอบครองทำประโยชน์ประมาณ 2 งาน 50 ตารางวา 

ทั้งนี้โดยผู้ร้องได้ทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวโดยทำการขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกสร้างโรงเรือนเพื่อทำการอยู่อาศัย และโรงเรือนสำหรับเลี้ยงเป็ดและเลี้ยงไก่ โดยมีรั้วรอบขอบชิด โดยความสงบ เปิดเผย และด้วยเจตนาเป็นเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวเฉพาะส่วนที่ซื้อมาจากนางส.ตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน โดยไม่เคยมีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด รายละเอียดปรากฏตามรูปถ่ายและแผนที่สังเขปเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 2-3

ข้อ3. ผู้ร้องเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวติดต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 24 ปี โดยสงบ เปิดเผย และด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ โดยไม่มีบุคคลใดมาโต้แย้งคัดค้าน ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมาย

ผู้ร้องมีความประสงค์จะจดทะเบียนลงชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้ โดยแจ้งว่าตามระเบียบของกรมที่ดินจะต้องมีคำสั่งของศาลว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องเสียก่อน เจ้าหน้าที่จึงจะดำเนินการให้ได้ กรณีมีเหตุที่ผู้ร้องจำต้องใช้สิทธิทางศาล

ผู้ร้องจึงขอศาลที่เคารพโปรดนัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2627 เลขที่ดิน 72 หน้าสำรวจ 23 ตำบลบ้านมอญ อำเภอท่าตะกูด  (ปัจจุบันคือ ตำบล บ้านเก่า อำเภอ พานทอง) จังหวัดชลบุรี  เฉพาะส่วนทางด้านทิศเหนือ เนื้อที่ 2งาน 50 ตารางวา ปรากฏตามแผนที่สังเขปท้ายคำร้องหรือตามแผนที่สังเขปที่พนักงานที่ดินจัดทำขึ้นเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมาย ขอศาลที่เคารพโปรดอนุญาต

ข้อ 4.ปัจจุบันนางซ. ได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว ที่ดินแปลงดังกล่าวในส่วนที่เป็นของนางซ.  จึงตกทอดได้แก่ นายส. ทายาทตามพินัยกรรม

ปัจจุบันเด็กหญิงส. หรือนางส. ได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว และ มีทายาทโดยชอบธรรมเท่าที่ผู้ร้องทราบเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายสองคนได้แก่ นายอ.และ นางสาวศ.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ลงชื่อ                                   ผู้ร้อง(แทนโดยทนายความ)

คำร้องฉบับนี้ข้าพเจ้านายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์ ทนายความผู้ร้องเป็นผู้เรียงและพิมพ์                                                   

ลงชื่อ                         ผู้เรียงและพิมพ์


รายละเอียดการดำเนินคดี 

หลังจากได้ส่งสำเนาคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ให้กับทายาทของผู้ตายแล้ว ปรากฏว่าทายาทของผู้ตายได้ยื่นคำคัดค้านเข้ามา  

ทำนองว่าที่ดินพิพาทยังเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้ตายไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้กับผู้ร้อง ผู้ตายเพียงแต่ให้ผู้ร้องอยู่ในที่ดินพิพาทชั่วคราว เป็นการอยู่โดนอาศัยสิทธิ์และเคารพสิทธิจึงไม่ได้สิทธิ์ด้วยการครอบครองปรปักษ์ 

ในชั้นพิจารณา ผู้คัดค้านพยายามเรียกร้องเอาเงินจากฝ่ายผู้ร้อง โดยเรียกร้องเอาเงินเป็นจำนวนมากโดยอ้างว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมีราคาสูง 

โดยตัวผู้ร้องเองก็เป็นทายาทชั้นหลานที่แทบไม่รู้เรื่องราวอะไรเลย ต้องการมาคัดค้านเพื่อหวังเรียกร้องเงินจากผู้ร้อง ทั้งๆที่ทราบดีว่าเจ้ามรดกได้ขายที่ดินให้กับผู้ร้องไปแล้ว

ทั้งนี้หากฝ่ายผู้คัดค้านขอเงินเล็กน้อยตามสมควร ผมก็จะแนะนำให้ลูกความชำระเงินให้เขาไป เพื่อตัดปัญหาตัดความเสี่ยงที่จะสู้คดี

 เพราะอย่างไรเสียฝ่ายผู้คัดค้านก็ได้รับข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่าเป็นเจ้าของที่ดินเพราะเป็นทายาทของผู้มีชื่อในโฉนด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ฝ่ายผู้ร้องมีหน้าที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมาย  (ฎ.5252/2550

แต่ในเมื่อฝ่ายผู้คัดค้านเรียกเงินมาเต็มสูบเช่นนี้ คงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องสู้คดีกัน 

ในชั้นพิจารณาผู้คัดค้านพยายามจะเบิกความกล่าวอ้างว่า ได้รับฟังมาจากคนเก่าคนแก่ว่า เพียงแต่ให้ผู้ร้องอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทไม่ได้ขาย และให้อยู่เพียงชั่วคราวไม่ให้ทำการปลูกบ้านหรือขุดดินต่างๆ ทำให้ที่ดินเสียหาย แต่ผู้คัดค้านไม่มีพยานปากอื่นมาสืบ

นอกจากนี้ที่ดินพิพาทยังมีการปลูกสร้างบ้านพักและสิ่งปลูกสร้างต่างๆในพื้นที่พิพาทแล้ว ขัดกับข้ออ้างของผู้คัดค้านที่อ้างว่าไม่ให้ผู้ร้องปลูกสร้างสิ่งต่างๆในที่ดิน

ที่ดินพิพาทมีการปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้าง

ส่วนตัวผมเองได้นำพยานบุคคลและพยานหลักฐานต่างๆเข้านำสืบ รวมถึงพยานบุคคลและผู้ใหญ่บ้านซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุ ต่างมาเบิกความสอดคล้องต้องกันว่าทราบดีว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้อง

และผู้ใหญ่บ้านและผู้นำท้องที่ทุกคน ต่างไม่เคยเห็นผู้คัดค้านหรือทายาทของผู้คัดค้านเข้ามายุ่งเกี่ยวในที่พิพาทมานานมากแล้ว 

และสาเหตุที่ผู้ร้องเข้ามาซื้อที่ดินพิพาทในคดีนี้ เนื่องจากผู้ร้องต้องการอยากจะได้ที่ดินแปลงพิพาทเพราะว่าอยู่ติดกับที่ดินแปลงของผู้ร้องเดิม 

และเนื่องจากผู้ร้องซื้อที่ดินแปลงพิพาทจึงได้ตกลงซื้อที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งอยู่ถัดไปจากที่ดินของผู้ร้อง ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินพิพาทคดีนี้ด้วย

ผู้ร้องไม่มีเหตุผลใดที่จะซื้อที่ดินแปลงที่อยู่ถัดจากที่ดินของตนเองแต่กลับไม่ซื้อที่ดินแปลงพิพาทซึ่งอยู่ติดที่ดินข้างเคียงของตนเอง 

ดังนั้นแล้วข้ออ้างของฝ่ายผู้คัดค้านจึงไม่สมเหตุสมผล

คดีนี้หลังจากสืบพยานฝ่ายผู้ร้องและผู้คัดค้านเสร็จสิ้นแล้วศาลนัดฟังคำพิพากษา 


ผลคำพิพากษา

คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้ร้องเป็นฝ่ายชนะคดี ได้สิทธิ์ในที่ดินพิพาทด้วยการครอบครองปรปักษ์ โดยศาลไม่เชื่อข้อต่อสู้ของฝ่ายผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านไม่ยื่นฎีกาคดีถึงที่สุดแล้ว 

โดยทั้งสองศาลให้เหตุผลดังต่อไปนี้ 

1.ที่ดินพิพาทส่วนที่ผู้คัดค้านครอบครอง มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดชัดเจนแล้ว โดยมีแล้วเขตรั้วแบ่งกันชัดเจน 

2.ผู้คัดค้านและบรรพบุรุษของผู้คัดค้านไม่เคยมาโต้แย้งแสดงสิทธิ์ใดๆในพื้นที่พิพาท และย้ายออกไปนอกพื้นที่มานานกว่า 50 ปีแล้ว 

3.ที่อ้างว่าให้ผู้ร้องครอบครองทำประโยชน์ชั่วคราว ห้ามสร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆลงบนที่ดินพิพาท แต่เมื่อผู้ร้องได้ทำการขุดบ่อปลาปลูกสร้างอาคารต่างๆ ผู้คัดค้านกับไม่โต้แย้งปล่อยให้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเรื่อยมา 

4.ผู้ร้องต้องการจะซื้อที่ดินพิพาท ไม่ต้องการจะซื้อที่ดินอีกแปลงหนึ่งที่อยู่ห่างออกไป แต่ที่ต้องซื้อที่ดินแปลงอื่นที่อยู่ห่างออกไปด้วยนั้น เป็นเพราะอยู่ติดใกล้เคียงที่ดินพิพาท ผู้ร้องคงไม่ตัดสินใจซื้อที่ดินแปลงที่อยู่ไกลออกไปหากไม่ตัดสินใจซื้อที่ดินพิพาทด้วย 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ 

คำพิพากษาศาลชั้นต้น 1

2

3

4

5

6

7

8

9

1

2

3

4

5

6

7


สรุป 

การยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ในกรณีที่มีผู้คัดค้าน หากสามารถเจรจากันได้ การพูดคุยตกลงกันย่อมเป็นทางออกที่ดีที่สุด

แต่หากไม่สามารถพูดคุยตกลงกันได้ฝ่ายผู้ร้องย่อมมีหน้าที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมาย 

และผู้ร้องจะต้องนำพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงนำสืบต่อศาลเพื่อให้เห็นได้ตามข้ออ้างของฝ่ายผู้ร้อง ทั้งจะต้องถามค้านทำลายน้ำหนักของพยานฝ่ายตรงข้าม  

ซึ่งหากเราสู้คดีไปตามความสุจริต ดำเนินคดีไปตามความจริงและเตรียมคดีอย่างละเอียดรอบคอบเราย่อมเป็นฝ่ายชนะคดีครับ 


 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น