คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

รับฝากขายสินค้า แต่ขายสินค้าไปแล้ว ไม่ชำระเงินให้เจ้าของสินค้า เป็นความผิดฐานยักยอกหรือไม่ ?

วิเคราะห์จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๓๓๑/๒๕๖๒ 

คดีนี้โจทก์ร่วมนำอัญมณีคือทับทิมรูปแบบต่างๆ ไปฝากให้จำเลยขาย ซึ่งตอนที่โจทก์ร่วมมอบอัญมณีให้จำเลยเพื่อไปฝากขายนั้น โจทก์ร่วมให้จำเลยทำเอกสารไว้เป็น “ใบยืม”

โดยในใบยืมมีเนื้อหาทำนองว่าจำเลยจะยืมอัญมณีของโจทก์ร่วมไปขาย เสมือนหนึ่งว่าโจทก์ร่วมยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอัญมณีดังกล่าวอยู่ จำเลยเพียงแต่ยืมไปขายเท่านั้น

โดยตามใบยืมดังกล่าวจะมีการกำหนดราคาขั้นต่ำของอัญมณี ที่จำเลยจะสามารถทำการขายได้ เช่น ทับทิมไข่นุนต้องขายราคาขั้นต่ำ 250,000 ทับทิมไข่ยาวจะต้องขายราคา 550,000 บาท เป็นต้น

โดยหากขายในราคาตามที่กำหนดในใบยืม จำเลยสามารถตัดสินใจขายได้เลยไม่ต้องถามโจทก์ร่วม แต่หากขายราคาต่ำกว่าที่ระบุในใบยืม จำเลยจะต้องสอบถามโจทก์ร่วมก่อน 

และหากขายได้ราคาสูงกว่าที่กำหนดในใบยืม จำเลยก็จะได้รับส่วนที่เกินไปนอกจากนี้จำเลยยังมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนต่างหากอีก 3 เปอร์เซ็นต์ของราคาซื้อขายอีกด้วย

ปรากฏว่า ที่เกิดเหตุคดีนี้เนื่องจาก จำเลยได้เอาทับทิมไปขาย และส่งมอบเงินให้กับโจทก์ร่วมบางส่วน แต่ส่วนที่เหลือส่งมอบเป็นเช็คและต่อมาเช็คเด้ง เรียกเก็บเงินไม่ได้ 

โจทก์ร่วมจึงได้แจ้งความร้องทุกข์กับจำเลยในข้อหายักยอกทรัพย์ โดยอ้างว่าจำเลยเอาทับทิมของโจทก์ร่วมไปขาย ไม่ส่งมอบเงินให้กับโจทก์ร่วม จึงถือเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยทุจริต

 ปรากฏว่าศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 1 ปี แต่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลย

โดยมีสาเหตุที่ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด วิเคราะห์ได้ดังนี้

1.การที่จำเลยตัดสินใจขายทับทิมพิพาทไปนั้น จำเลยไม่ได้ทำเองโดยพละการ แต่จำเลยแจ้งให้โจทก์ร่วมทราบว่า ลูกค้าขอต่อรองราคาและโจทก์ร่วมยินยอมลดราคาให้จำเลยจึงค่อยจำหน่ายให้ลูกค้าไป

2.ที่ผ่านมาทางปฏิบัติระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย จำเลยจะนำอัญมณีไปขายให้แก่ผู้ใดในราคาเท่าใด โจทก์ร่วมไม่รับรู้ โดยจำเลยมีหน้าที่เพียงแต่ต้องนำเงินราคาตามที่กำหนดร่วมกำหนดมาให้โจทก์ร่วมเท่านั้น

3.หลังจากการขายทับทิมดังกล่าวไปแล้วโจทก์ร่วมก็ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์หรือดำเนินคดีกับจำเลยทันที แต่ยอมรับเงินบางส่วนจากจำเลยก่อน จนกระทั่งได้เงินส่วนที่เหลือไม่ครบจึงค่อยมาแจ้งความร้องทุกข์ข้อหายักยอกทรัพย์

พฤติการณ์ทั้งหมดศาลเห็นว่า จำเลยไม่มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ และเป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น เพราะจำเลยไม่ได้ขายทรัพย์สินในฐานะตัวแทนหรือในนามของโจทก์ร่วม แต่เป็นการขายทรัพย์สินในนามของตนเอง

ซึ่งกรณีเช่นนี้ หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปว่า 

1.จำเลยตัดสินใจขายทับทิมในราคาที่ต่ำกว่า ที่โจทก์ร่วมกำหนดไว้ โดยไม่ปรึกษาโจทก์ร่วมก่อน หรือ จำเลยเอาทับทิมเอาไปจำนำ หรือเอาไปขายในตลาดมืด

2.ทางปฏิบัติจำเลยไม่มีสิทธิขายทับทิมได้ด้วยตนเองลำพัง แต่จะต้องขออนุมัติโจทก์ร่วมหรือต้องแจ้งให้โจทก์ร่วมทราบก่อนทุกครั้ง

3.โจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ ทันทีที่รู้ว่าจำเลยนำทับทิมไปขายโดยพละการ โดยแสดงเจตนาหวงกันทรัพย์สินของตน และเอาผิดกับจำเลยทันทีที่รู้ว่าจำเลยเอาสินค้าไปจำหน่ายโดยแจ้งตนเองก่อน

เช่นนี้ผลแห่งคดีอาจจะเปลี่ยนแปลงไป และจำเลยอาจจะมีความผิดฐานยักยอกได้ เพราะจำเลยไม่มีสิทธิขายทรัพย์สินในนามของตนเอง แต่ทำการขายไปโดยพลการ

ดังนั้นข้อเท็จจริงตามฎีกาฉบับนี้ จึงไม่อาจถือเป็นหลักตายตัวได้ว่า หากเจ้าของสินค้านำสินค้าไปฝากร้านค้าขาย แล้วร้านค้านำสินค้าไปขายแล้วไม่นำเงินมาให้เจ้าของสินค้า จะไม่เป็นความผิดฐานยักยอก หรือเป็นเรื่องผิดสัญญาเสมอไป

ความจริงแล้วความผิดฐานยักยอกหรือเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งนั้น จะต้องดูจากข้อเท็จจริงเป็นรายคดี และพฤติการณ์ต่างๆในคดีแต่ละเรื่องประกอบกันไป หากข้อเท็จจริงในคดีเปลี่ยนแปลงไป จำเลยก็อาจจะมีความผิดก็ได้

ซึ่งผมเคยได้รวบรวมคำพิพากษาศาลฎีกาไว้อย่างละเอียดแล้ว ผู้สนใจสามารถศึกษาได้ในบทความเรื่อง ข้อแตกต่างระหว่างการผิดสัญญาทางแพ่งกับการกระทำผิดฐานยักยอก 

อ่านคำพิพากษา ทั้งฉบับย่อยาวและย่อสั้นได้ตามนี้เลยครับ 

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๓๓๑/๒๕๖๒ (ย่อสั้น)

โจทก์ร่วมมอบทับทิมให้แก่จําเลยเพื่อให้จําเลยนําไปขาย โดยโจทก์ร่วมกําหนดราคาขั้นต่ําไว้ จําเลยจะขายในราคาที่สูงกว่าก็ได้ จําเลยเพียงแต่มีหน้าที่ต้องนําเงินตามราคาที่โจทก์ร่วมกําหนดไว้มาชําระคืนให้แก่โจทก์ร่วมเท่านั้น ลักษณะเช่นนี้จําเลยย่อมมีสิทธิขายทับทิม อย่างเป็นของของตนเอง หาใช่เป็นตัวแทนไปขายในนามของโจทก์ร่วมไม่ แม้จะมีข้อตกลงให้ค่าตอบแทนแก่จําเลยในอัตราร้อยละ ๓ ของ เงินที่ขายทับทิมได้ ก็ไม่ทําให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ร่วมกับจําเลยเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับโจทก์ร่วมยอมรับชําระหนี้บางส่วนจากจําเลย ตามพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมแสดงให้เห็นว่า โจทก์ร่วมประสงค์จะได้รับเงินที่ได้จาก การขายทับทิมคืนเท่านั้น การที่จําเลยไม่ส่งมอบคืนเงินให้แก่โจทก์ร่วม จนครบถ้วนเช่นนี้ ถือได้ว่าจําเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาทางแพ่งต่อโจทก์ร่วมเท่านั้น การกระทําของจําเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์

ตามความใน ป.วิ.อ. มาตรา ๔๓ คดียักยอกถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทําผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายได้ ดังนั้นเมื่อพนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องจําเลยในความผิดฐาน ยักยอกเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ของโจทก์ร่วม และขอให้จําเลยคืนเงินจํานวนดังกล่าวให้โจทก์ร่วมด้วยแล้ว แม้จําเลยไม่ได้กระทําผิดฐานยักยอก แต่เมื่อจําเลยรับว่าต้องคืนเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ร่วมแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอํานาจพิพากษาให้จําเลยคืนเงินจํานวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม ตามที่พนักงานอัยการโจทก์ขอได้ หาจําต้องให้โจทก์ร่วมไปฟ้องเรียกเงิน จํานวนดังกล่าวจากจําเลยเป็นคดีแพ่งอีกไม่

คำพิพากษาฉบับย่อยาว 

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ และให้จําเลยคืนเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย

จําเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นางสาว ว. ผู้เสียหายยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ วรรคแรก จําคุก ๑ ปี และให้จําเลยคืนเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ร่วม

จําเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟัง เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๑ จําเลยทําบันทึกการยืมทับทิมไข่นุน ขนาด ๓๙ กะรัต ๑ เม็ด ราคา ๒๕๐,๐๐๐ บาท ทับทิมไข่ยาว ๒ เม็ด ราคา ๕๕๐,๐๐๐ บาท ทับทิมกินบ่เซี้ยงรูปสี่เหลี่ยม ๑ เม็ด ราคา ๑๘๐,๐๐๐ บาท จาก โจทก์ร่วมไปขายเป็นเงิน ๙๘๐,๐๐๐ บาท ตามบันทึกการยืมเอกสารหมาย จ.๑ และภาพถ่ายประกอบคดีหมาย จ.๒ 

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ จําเลย โอนเงินชําระราคาทับทิมให้แก่โจทก์ร่วม ๒๐๐,๐๐๐ บาท และวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ จําเลยโอนเงินชําระราคาทับทิมให้แก่โจทก์ร่วมอีก ๒๐๐,๐๐๐ บาท จากนั้นจําเลยนําเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน) สาขาประชานิเวศน์ ๑ จํานวน ๒ ฉบับ ฉบับแรก ลงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ สั่งจ่ายเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท และฉบับที่สอง ลงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ สั่งจ่ายเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งลูกค้าจําเลยนํามาชําระหนี้แก่จําเลย ส่งมอบให้แก่โจทก์ร่วมตามสําเนาเช็คเอกสารหมาย ล.๑ แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จากนั้นจําเลยจึงสั่งจ่ายเช็ค ธนาคารกสิกรไทย ๕ ฉบับ ฉบับละ 900,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วม ฉบับแรกสั่ง จ่ายวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๑ ฉบับที่สองวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๑ ฉบับที่สาม วันที่ 9 พฤษภาคม ๒๕๖๑ ฉบับที่สี่ วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๑ และฉบับที่ห้า วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ตามต้นตัวเช็คเอกสารหมาย ล.๒ แต่ธนาคารปฏิเสธ การจ่ายเงินทั้งห้าฉบับเช่นกัน

ต่อมาวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๑ โจทก์ร่วมเข้าร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรแม่สอดให้ดําเนินคดีแก่จําเลยในข้อหา ยักยอกทรัพย์ ตามบันทึกคําให้การของโจทก์ร่วมและบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้าย เอกสารหมาย จ.๓ และ จ.๔

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จําเลยกระทําความผิดฐานยักยอกตามคําพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โดยโจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาว่า จําเลยเป็นตัวแทนในการขายทับทิมให้แก่ลูกค้าแทนโจทก์ร่วม เมื่อจําเลยครอบครองทับทิมของโจทก์ร่วมแล้วนําไปขาย แต่ไม่ส่งมอบเงินให้แก่โจทก์ร่วมจนครบถ้วน จึงเป็นการเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยทุจริต จําเลยจึงมีความผิดตามฟ้องนั้น

โจทก์และโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วมเป็นพยานเบิกความว่า จําเลยยืมทับทิมรายการที่ ๑ ถึงที่ ๓ ของโจทก์ร่วมตามบันทึกการยืมเอกสาร หมาย จ.๑ ไปขาย มีเงื่อนไขให้โจทก์ร่วมเป็นผู้กําหนดราคา หากลูกค้าต่อรองราคาจําเลยต้องแจ้งโจทก์ร่วมก่อน ซึ่งต่อมาลูกค้าต่อรองราคาทับทิมดังกล่าวเหลือ ๔๕๐,๐๐๐ บาท โจทก์ร่วมจึงลดราคาให้และตกลงขายให้แก่ลูกค้าคนดังกล่าวไป จําเลยขอหักค่าใช้จ่ายจากการส่งทับทิมไปตรวจสอบและออกใบรับรอง กับค่าตอบแทนที่โจทก์ร่วมต้องจ่ายให้แก่จําเลยอีกในอัตราร้อยละ ๓ ของเงิน ที่ขายได้ รวมเป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท เหลือเงินที่จําเลยต้องจ่ายคืนโจทก์ร่วม ๙๐๐,๐๐๐ บาท

ต่อมาวันที่ ๒ และวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ จําเลยโอนเงินให้แก่โจทก์ร่วมรวมทั้งสิ้น ๔๐๐,๐๐๐ บาท คงค้างชําระ ๕๐๐,๐๐๐ บาท จากนั้นจําเลยส่งมอบเช็ค ๒ ฉบับ สั่งจ่ายเงินรวม ๕๐๐,๐๐๐ บาท ตามสําเนาเช็คเอกสาร หมาย ล.๑ ให้แก่โจทก์ร่วม แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน หลังจากนั้นจําเลย จึงสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์ร่วมอีก ๕ ฉบับ ตามต้นขั้วเช็คเอกสารหมาย ล.๒แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอีกเช่นกัน

เห็นว่า ตามบันทึกการยืมเอกสาร หมาย จ.๑ ซึ่งระบุว่าจําเลยยืมทับทิมไปจากโจทก์ร่วมนั้น มีการระบุราคาทับทิม แต่ละรายการไว้อย่างชัดเจน แม้โจทก์ร่วมจะเบิกความว่า การที่จําเลยนําทับทิม ดังกล่าวไปขายนั้น หากลูกค้าต่อรองราคาจําเลยต้องแจ้งโจทก์ร่วมก่อน แต่โจทก์ร่วมกลับเบิกความตอบทนายจําเลยถามค้านรับว่า จําเลยเคยรับพลอยจากโจทก์ร่วมไปขาย ซึ่งมีการทําบันทึกการยืมเช่นเดียวกับบันทึกการยืมเอกสารหมาย จ.๑ โดยโจทก์ร่วมมีความประสงค์จะได้รับเงินตามที่ระบุไว้ในบันทึกการยืมเอกสาร หมาย จ.๑ เท่านั้น จําเลยจะนําทับทิมดังกล่าวไปขายแก่ผู้ใดและขายในราคา เท่าใด โจทก์ร่วมไม่สนใจและไม่รับรู้

ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมมอบทับทิมให้แก่จําเลยเพื่อให้จําเลยนําไปขาย โดยโจทก์ร่วมกําหนดราคาขั้นต่ำไว้ จําเลยจะขายในราคาที่สูงกว่าก็ได้ จําเลยเพียงแต่มีหน้าที่ต้องนําเงินตามราคาที่โจทก์ร่วมกําหนดไว้มาชําระคืนให้แก่โจทก์ร่วมเท่านั้น ลักษณะเช่นนี้จําเลย ย่อมมีสิทธิขายทับทิมอย่างเป็นของของตนเอง หาใช่เป็นตัวแทนไปขายในนามของโจทก์ร่วมไม่

แม้จะมีข้อตกลงให้ค่าตอบแทนแก่จําเลยในอัตราร้อยละ ๓ ของเงินที่ขายทับทิมได้ ก็ไม่ทําให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ร่วมกับจําเลยเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ร่วมยอมรับชําระหนี้บางส่วนจากจําเลย ตามพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมแสดงให้เห็นว่า โจทก์ร่วมประสงค์จะได้รับเงินที่ได้จากการขายทับทิมคืนเท่านั้น

การที่จําเลยไม่ส่งมอบคืนเงินให้แก่โจทก์ร่วมจนครบถ้วนเช่นนี้ ถือได้ว่าจําเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาทางแพ่ง ต่อโจทก์ร่วมเท่านั้น การกระทําของจําเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามฟ้องโจทก์ จึงไม่จําต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานจําเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า การกระทําของจําเลยไม่เป็นความผิดฐานยักยอกนั้นชอบแล้ว ฎีกา ของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น

สําหรับคําขอให้จําเลยคืนเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่โจทก์ร่วมนั้น เห็นว่า ตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๓ คดียักยอกถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่สูญเสียไป เนื่องจากการกระทําผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือแทนผู้เสียหายได้ ดังนั้น คดีนี้เมื่อพนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องจําเลย ในความผิดฐานยักยอกเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ของโจทก์ร่วม และขอให้จําเลย คืนเงินจํานวนดังกล่าวให้โจทก์ร่วมด้วยแล้ว แม้จําเลยไม่ได้กระทําผิดฐานยักยอก แต่เมื่อจําเลยรับว่าต้องคืนเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ร่วมแล้ว ศาลฎีกา ย่อมมีอํานาจพิพากษาให้จําเลยคืนเงินจํานวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมตามที่ พนักงานอัยการโจทก์ขอได้ หาจําต้องให้โจทก์ร่วมไปฟ้องเรียกเงินจํานวนดังกล่าว จากจําเลยเป็นคดีแพ่งอีกไม่

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จําเลยคืนเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคําพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

(ปกรณ์ วงศาโรจน์ – ประทีป อ่าววิจิตรกุล – เอกศักดิ์ ยันตรปกรณ์)

ประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์ – ย่อ/ตรวจ

 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts