แนวทางการสอบข้อเท็จจริงและต่อสู้คดี ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ในกรณีที่ผู้ต้องหาถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นตัวการร่วม
ในคดีที่ฝ่ายผู้ต้องหา มีพรรคพวกอยู่ในที่เกิดเหตุหลายคน มักจะเกิดเหตุการณ์ที่ผู้ต้องหา ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ลงมือกระทำผิดด้วยตนเอง ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับผู้ลงมือกระทำผิดด้วย
ทั้งนี้สาเหตุมักจะเกิดเพราะผู้เสียหายสามารถจดจำได้ว่า ผู้ต้องหาซึ่งไม่ได้ลงมือกระทำผิดอยู่ร่วมกับผู้ลงมือกระทำผิด ในขณะเกิดเหตุ ซึ่งเป็นกรณีที่มักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ
โดยเฉพาะคดีความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่นความผิดฐานร่วมกันฆ่า ร่วมกันพยายามฆ่า ร่วมกันทำร้ายร่ายกาย เพราะมีโอกาสเกิดสถานการณ์แบบนี้ได้มากกว่าคดีประเภทอื่น และทนายความมักจะต้องรับว่าความต่อสู้คดีประเภทนี้อยู่เสมอ
ทั้งนี้ลำพังเพียงการที่ผู้ต้องหาอยู่ในที่เกิดเหตุร่วมกับผู้ลงมือกระทำผิดในขณะเกิดเหตุ ย่อมไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่า ผู้ต้องหาเป็นตัวการร่วมในการกระทำผิด แต่จะต้องพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจึงจะสามารถวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องว่า ผู้ต้องหาเป็นตัวการร่วมในการกระทำผิดหรือไม่
ซึ่งโดยหลักการวินิจฉัยเรื่องการเป็นตัวการร่วมในการกระทำผิดนั้น จะต้องพิจารณาทั้งในส่วนการกระทำและส่วนเจตนาของผู้ที่ร่วมกระทำ ถ้ามีการกระทำ แต่ไม่มีเจตนาร่วมกระทำ หรือมีเจตนาร่วมกระทำ แต่การกระทำร่วมกันไม่มี ก็ไม่เป็นตัวการ
ดังนั้นแล้ว ทนายความจะต้องสอบข้อเท็จจริง ให้เรื่องดังจะกล่าวต่อไปนี้ให้ละเอียด เพื่อวินิจฉัยว่าผู้ต้องหามีส่วนร่วมในการกระทำผิดหรือไม่
1.เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะหน้าหรือเป็นเหตุการณ์ที่ตระเตรียมมากระทำผิด
2. ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากการตระเตรียมไปกระทำผิด ผู้ต้องหาทราบหรือควรจะทราบหรือไม่ว่า ผู้ลงมือกระทำผิดตระเตรียมไปกระทำผิด และทราบเพียงใด
3. ถ้าเป็นการตระเตรียมไปกระทำผิด สาเหตุที่ตระเตรียมไปกระทำผิดนั้น เพราะสาเหตุใด มีความร้ายแรงสัมพันธ์สมกับการกระทำผิดหรือไม่
4. ขณะเกิดเหตุผู้ต้องหามีส่วนร่วมในการกระทำผิดเพียงใด
5. ใครเป็นเจ้าของสิ่งของหรืออาวุธที่ใช้ในการกระทำผิด และจำเลยทราบหรือควรจะทราบหรือไม่ ว่ามีการตระเตรียมสิ่งของหรืออาวุธเพื่อใช้ในการกระทำผิด
ในบรรดาหลักการดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่า หลักการข้อที่ 1 สำคัญมากเป็นอันดับแรก เพราะถ้าหากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะหน้าหรือโดยกระทันหัน ผู้กระทำผิดแต่ละคนไม่ได้มีการตระเตรียมการกระทำผิดร่วมกันมาก่อน ถึงขณะเกิดเหตุผู้ต้องหาจะมีการลงมือกระทำผิดร่วมกันกับผู้กระทำผิดคนอื่นๆ เช่นร่วมกันทำร้ายร่างกาย ก็อาจถือได้ว่าไม่มีเจตนาร่วมกันกระทำผิด เป็นแต่เพียงต่างคนต่างกระทำผิด และต่างคนต่างต้องรับผิดเฉพาะผลที่เกิดจากการกระทำของตนเอง เพราะถือว่า ไม่มีเจตนาร่วมกันกระทำผิด แต่ต่างคนต่างมีเจตนากระทำผิดแยกต่างหากจากกัน
โดยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยทำนองนี้ เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่,286/2515,321/2517, 1478/2510, 3913/2534 , 5578/2543, 1991/2537,3611/2550 , 8962/2555 ,1082/2555 เป็นต้น ซึ่งศาลฎีกาให้เหตุผลว่า ถึงแม้จำเลยแต่ละคนจะร่วมกันทำร้ายผู้เสียหาย แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุเฉพาะหน้า จำเลยแต่ละคนต่างตัดสินใจกระทำผิดด้วยตนเองในฉับพลันขณะนั้นเอง ไม่ได้มีเจตนาร่วมกันกระทำผิด จึงไม่ถือเป็นตัวการร่วม แต่ละคนจะต้องรับผิดเฉพาะผลของการกระทำของตนเอง
แต่ในทางกลับกัน ถ้าหากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีการเตรียมการกระทำผิดมาตั้งแต่แรก ถึงแม้ขณะเกิดเหตุ ผู้ต้องหาจะไม่ได้ลงมือกระทำผิดด้วยตนเอง เพียงแต่ช่วยอำนวยสะดวกให้ผู้ลงมือกระทำผิด หรืออยู่ในที่เกิดเหตุในลักษณะเพื่อที่ช่วยเหลือให้การกระทำผิดสำเร็จลุล่วงไปได้ ถ้ามีความจำเป็นจะต้องช่วย หรือพาผู้ลงมือกระทำผิดหลบหนี หรือหลบหนีไปกับผู้ลงมือกระทำผิด ก็ถือเป็นตัวการร่วมกันกระทำผิดได้ โดยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น
1730/2508,2426/2526,1715/2528,980/2529,6480/2548,451/2530,464/2523,1453/2522,9558/2542,6563/2554,15590/2553 เป็นต้น
อย่างไรก็ดี มิได้หมายความว่า ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ผู้ลงมือกระทำผิดไม่ได้ตระเตรียมการมาก่อน จะไม่ถือว่าเป็นตัวการร่วมเสมอไป เพราะถึงแม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า ผู้ลงมือกระทำผิดไม่ได้ตระเตรียมกระทำผิดมาก่อน แต่ถ้าพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น สามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า ขณะเกิดเหตุผู้ต้องหา ได้ตัดสินใจร่วมมือและร่วมใจกระทำผิดด้วยกัน และต่างยึดถือเอาการกระทำของผู้ลงมือกระทำผิดคนอื่นๆเป็นเหมือนการกระทำของตนเอง ไม่ใช่ลักษณะของต่างคนต่างกระทำผิด เช่นนี้ย่อมถือเป็นตัวการร่วมกัน โดยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 610/2466 ,3891/2530 เป็นต้น
ดังนั้นแล้วการวิเคราะห์ว่าเป็นตัวการร่วมกันกระทำผิดในความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายจึงจะต้องพิจารณาพฤติการณ์อื่นๆดังกล่าวโดยรวมประกอบด้วย
ซึ่งในการสอบข้อเท็จจริงในที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการร่วมในการกระทำผิดในความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย เพื่อวิเคราะห์รูปคดีและเตรียมต่อสู้คดี จึงมีประเด็นที่จะต้องสอบถามโดยสังเขป ดังนี้
1 ผู้ต้องหา รู้จักกับผู้ลงมือกระทำผิดคนอื่นๆมานานแค่ไหน รู้จักกันในฐานะอะไร มีความสนิทสนมกับผู้กระทำผิดคนอื่นๆ แค่ไหน
ทั้งนี้ถ้าหากผู้ต้องหามีความสนิทสนมกับผู้ลงมือกระทำผิดมาก ก็ย่อมเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ศาลจะนำมาพิจารณาประกอบการวินิจฉัยว่า ผู้ต้องหาน่าจะมีส่วนรู้เห็นหรือมีเจตนาร่วมในการกระทำผิดกับผู้ลงมือกระทำผิด
ในทางกลับกันหากผู้ต้องหาไม่รู้จักหรือไม่มีความสนิทสนมกับผู้ลงมือกระทำผิดคน ย่อมเป็นเหตุหนึ่งที่ศาลสามารถหยิบยกมาพิจารณาได้ว่า ผู้ต้องหาอาจจะไม่มีเจตนาร่วมกับผู้ลงมือกระทำผิด
2 ผู้ต้องหาเดินทางไปสถานที่ที่เกิดเหตุการกระทำผิดเพราะเหตุใด
ทั้งนี้สาเหตุในการเดินทางไปสถานที่เกิดเหตุ ย่อมเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะต้องนำมาวินิจฉัยว่า ผู้ต้องหามีเจตนาร่วมกระทำผิดกับผู้ลงมือกระทำผิดฃ หรือเป็นแต่เพียงเหตุบังเอิญที่เกิดขึ้นกระทันหัน
ถ้าผู้ต้องหาไปสถานที่เกิดเหตุด้วยกิจธุระตามปกติ หรือโดยมีเหตุผลอันสมควร ย่อมเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ศาลอาจนำมาวินิจฉัยว่าผู้ต้องหาไม่ได้มีเจตนากระทำผิดตั้งแต่ต้น
แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า แต่ถ้าหากผู้ต้องหาไม่มีสาเหตุใดๆในการไปสถานที่เกิดเหตุ หรือสาเหตุไม่สมเหตุสมผล อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ศาลนำมาวินิจฉัยว่า ผู้ต้องหาไปสถานที่เกิดเหตุเพื่อไปกระทำผิดโดยเฉพาะ
3. ผู้ต้องหาเดินทางไปสถานที่เกิดเหตุอย่างไร และเดินทางไปพร้อมกับผู้ลงมือกระทำผิดคนอื่นหรือไม่
ทั้งนี้หากเป็นการตระเตรียมไปกระทำผิด หากผู้ต้องหาเดินทางไปสถานที่เกิดเหตุพร้อมกับผู้ลงมือกระทำผิดศาลมักจะถือว่ามีเจตนาร่วมกันมาตั้งแต่ต้น โดยศาลให้เหตุผลว่า ตามปกติวิสัยคนร้ายที่จะไปกระทำผิดจะไม่นำบุคคลที่ไม่ได้เป็นพวกเดียวกันไปด้วยเพื่อที่จะรู้เห็นการกระทำผิดของตน ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาเช่น ฎ.1186/2542,1863/2543
อย่างไรก็ตามหลักดังกล่าวเป็นเพียงเหตุประกอบเท่านั้น ยังต้องดูพฤติการณ์อื่นๆประกอบด้วย
4 ผู้ต้องหา เคยรู้จักกับผู้เสียหายมาก่อนหรือไม่ เคยมีสาเหตุโกรธเคืองใดๆกับผู้เสียหายมาก่อนหรือไม่ ถ้าเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน เป็นเรื่องอะไร มีความร้ายแรงแค่ไหน
ทั้งนี้ถ้าหากผู้ต้องหาไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้เสียหายมาก่อน หรือสาเหตุที่โกรธเคืองกันเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่สมน้ำสมเนื้อกับการกระทำผิด ศาลอาจนำมาเป็นเหตุประกอบการพิจารณาว่า ผู้ต้องหาไม่มีได้มีเจตนาร่วมกับผู้ลงมือกระทำผิดก็ได้
ในทางกลับกัน ถ้าผู้ต้องหามีสาเหตุโกรธเคืองอย่างร้ายแรงกับผู้เสียหาย ก็อาจทำให้ศาลนำมาประกอบการวินิจฉัยว่า ผู้ต้องหาน่าจะมีเจตนาร่วมกระทำผิดก็ได้ โดยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น 1548/2531 2341/2532 1548/2531
5.สาเหตุที่ทำให้เกิดการกระทำผิด เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นเพราะ ฝ่ายผู้ต้องหาก่อให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นก่อน หรือเพราะฝ่ายผู้เสียหายก่อให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นก่อน หรือเป็นการกระทบกระทั่งกันซึ่งหน้า
ทั้งนี้ถ้าสาเหตุที่ทำให้เกิดการกระทำผิด เป็นสาเหตุที่ฝ่ายผู้เสียหายก่อให้เกิดขึ้น เช่นผู้เสียหายทำการเมาสุราอาละวาด ยิงอาวุธปืนกลางงานรื่นเริง หรือเป็นฝ่ายมาหาเรื่องฝ่ายผู้ต้องหาก่อน หรือเป็นการกระทบกระทั่งกันซึ่งหน้า เช่น ขับรถปาดหน้ากัน เหยียบเท้าหรือมองหน้ากัน ย่อมทำให้น่าเชื่อว่า สาเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า ไม่มีการตระเตรียมกระทำผิดมาก่อน
แต่ถ้าฝ่ายผู้ต้องหาเป็นฝ่ายเริ่มก่อให้เกิดเรื่องขึ้นก่อน ก็มีเหตุให้เชื่อได้ว่า ฝ่ายผู้ต้องหาน่าจะมีเจตนากระทำผิดมาตั้งแต่ต้น โดยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3913/2534 ,1991/2537,5578/2543 เป็นต้น
6.ขณะเกิดเหตุ มีรายละเอียดและลำดับเหตุการณ์อย่างไร ผู้ต้องหามีส่วนช่วยเหลือในการกระทำผิดอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้พฤติการณ์ในการกระทำผิดแต่ละคดีย่อมแตกต่างกันไป เป็นหน้าที่ของทนายความในการสอบถามพฤติการณ์และข้อเท็จจริงในคดีให้ละเอียด ว่า ลำดับเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ใช้เวลาเกิดเหตุนานเท่าใด มีผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิดคือใครบ้าง
และที่สำคัญก็คือจะต้องสอบข้อเท็จจริงให้ได้ความชัดเจนว่า ผู้ต้องหามีส่วนร่วม หรือมีส่วนสนับสนุน หรือช่วยเหลือ ในการกระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกระทำผิดเองโดยตรง หรือแบ่งหน้าที่กันทำ หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อช่วยเหลือผู้ลงมือกระทำผิด หรือไม่
โดยตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ลักษณะการกระทำที่ถือเป็นตัวการร่วมกระทำผิด มีตัวอย่างเช่น
-การร่วมกระทำผิดเองโดยตรง เช่นลงมือทำร้ายร่างกายด้วย หรือกระทำส่วนหนึ่งส่วนของการกระทำผิด เช่นจับตัวผู้เสียหายให้บุคคลอื่นๆทำร้าย
– ไมได้กระทำผิดเองโดยตรง แต่แบ่งหน้าที่กันทำกับผู้ลงมือกระทำผิด เช่นคอยดูต้นทาง คอยให้สัญญานและระมัดระวังให้ผู้กระทำผิดภัย คอยรอรับผู้ลงมือกระทำผิดให้หลบหนีไปด้วยกัน
-คอยคุมเชิงไม่ให้คนอื่นเข้ามาช่วยเหลือผู้เสียหาย หรือห้ามปรามไม่ให้คนอื่นช่วยผู้เสียหาย
-อยู่ในที่เกิดเหตุในลักษณะใกล้ชิดพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ลงมือกระทำผิดคนได้ทันที หากจะต้องช่วย
– ยุยง บอกกล่าว หรือชี้เป้าหมายให้ผู้กระทำผิดลงมือ
– ส่งอาวุธให้ผู้กระทำผิด
ซึ่งขณะเกิดเหตุถ้าหากผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์ใดๆ ในทำนองเดียวกับการกระทำดังกล่าว ย่อมถือว่าผู้ต้องหาไม่ได้ร่วมกระทำผิดกับผู้กระทำผิดคนอื่นๆ
7.ลักษณะอาวุธทีใช้ในการกระทำผิด และลักษณะการพกพาอาวุธที่ใช้ในการกระทำผิด
ทั้งนี้หากการกระทำผิดเกิดจากการใช้อาวุธ เช่น มีด ไม้ ปืน ถ้าหากผู้ต้องหาไม่ทราบว่าผู้ลงมือกระทำผิดมีอาวุธติดตัวไปด้วยขณะกระทำผิด หรืออาวุธดังกล่าวเป็นอาวุธที่ผู้ลงมือกระทำผิดหยิบฉวยมาจากที่เกิดเหตุขณะนั้นเอง ก็ถือเป็นสาเหตุที่ศาลอาจนำมาวินิจฉัยว่าผู้ต้องหาไม่มีเจตนาร่วมกับผู้ลงมือกระทำผิด
แต่หากจำเลยทราบว่า ผู้ลงมือกระทำผิดมีและพกพาอาวุธมาด้วย ในลักษณะที่พร้อมใช้ในการกระทำผิด ย่อมถือเป็นเหตุประกอบที่ศาลจะนำมาวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมในการกระทำผิดกับคนอื่นๆ ทั้งนี้ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ,2358/2530,4140/2530, 2207/2532 ,380/2517, 632/2511,4308/2530 ,1335/2545,1213/2555 เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ลำพังเพียงการที่ทราบว่าผู้ลงมือกระทำผิดมีอาวุธปืนติดตัวไปด้วย ไม่ได้หมายความว่า หากผู้ลงมือกระทำผิดนั้นใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ผู้ต้องหามีเจตนาร่วมกับผู้ลงมือกระทำผิดเสมอไป จะต้องพิเคราะห์ข้อเท็จจริงอื่นๆประกอบด้วย และแนวคำพิพากษาศาลฎีกายังแบ่งออกเป็นสองทาง เช่นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 131/2531 , 84/2521,1297/2541,2201/2532 ,1510/2548 เป็นต้น
8.หลังเกิดเหตุแล้วผู้ต้องหาได้หลบหนีไปพร้อมกับผู้กระทำผิดคนอื่นๆ หรือไม่
ทั้งนี้หากเมื่อเหตุการณ์จบลงแล้ว ผู้ต้องหาหลบหนีร่วมกับผู้ลงมือกระทำผิด หรือพาผู้ลงมือกระทำผิดหลบหนี ย่อมถือเป็นสาเหตุที่ศาลจะนำมาประกอบการวินิจฉัยว่าผู้ต้องหาน่าจะมีส่วนร่วมในการกระทำผิดกับผู้ลงมือกระทำผิด ,982/2514, 3368/2529 ,3236/2522 , 5381/2534
อย่างไรก็ตาม เหตุนี้เป็นเพียงเหตุประกอบเท่านั้น ถ้าขณะเกิดเหตุผู้ต้องหาไม่มีส่วนร่วมใดๆในการกระทำผิดเลย และไม่มีข้อเท็จจริงที่ชี้ให้เห็นว่า ตั้งใจร่วมมากระทำผิดตั้งแต่ต้น ศาลอาจจะเห็นว่าที่หนีเพราะตกใจก็ได้ ทั้งนี้ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1246/2526 ,1473/2526 ,3468/2527 ,28/2478 ,852/2534