บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

การแบ่งยากันเสพ ถือเป็นการจำหน่ายยาเสพติด ตามกฎหมายหรือไม่ ?

ครอบครองเพื่อเสพ กับครอบครองเพื่อจำหน่าย

แบ่งยากันเสพ เป็นการจำหน่าย หรือไม่ ?

เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2560) มีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ซึ่งการแก้ไขข้อที่สำคัญข้อหนึ่งก็คือ การแก้ไขเกี่ยวกับข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการครอบครองยาเสพติด ในกรณีที่ครอบครองยาเสพติดเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด เช่น กรณีมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 ไว้ในครอบครองเกิน 15 หน่วยการใช้ หรือมีสารบริสุทธิ์เกิน 0.375 กรัม จากเดิมถือเป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาดว่าครอบครองครองเพื่อจำหน่ายโดยกฎหมาย(เดิม)ใช้คำว่า ”ให้ถือว่า… มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย” แต่กฎหมาย (ใหม่) ใช้เป็นข้อสันนิษฐานไม่เด็ดขาด โดยใช้คำว่า “ให้สันนิษฐานว่า…มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย”

หมายความว่า ถ้าผู้ต้องหามียาเสพติดไว้ในครอบครองเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด เช่นมีไว้เกิน 15 หน่วยการใช้ หรือมีสารบริสุทธิ์เกิน 0.375 กรัม ในกรณียาเสพติดให้โทษประเภท 1 เช่นยาบ้า ยาไอซ์ จะไม่ถือเด็ดขาดว่าผู้ต้องหามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยที่ผู้ต้องหาไม่มีสิทธิสู้คดีแบบกฎหมายเดิม แต่อย่างไรก็ดี กรณีแบบนี้ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและเป็นหน้าที่ของฝ่ายผู้ต้องหาที่จะต้องแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่า ตนเองไม่ได้มียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

ดังนั้นต่อจากนี้ไป คงมีการต่อสู้คดีในลักษณะที่ว่า ไม่มีเจตนาครอบครองเพื่อจำหน่ายมากขึ้น

ซึ่งในกรณีที่พบเจอยาเสพติดจำนวนมาก เช่น มีจำนวน เกิน 100 หน่วยการใช้ หรือมีสารบริสุทธิ์เป็นจำนวนมาก คงเป็นการยากที่จะสู้คดีในลักษณะนี้ แต่ในกรณีที่พบเจอยาเสพติดไม่มาก เช่น เจอแค่ 3-4 หน่วยการใช้ แต่บังเอิญมีสารบริสุทธิ์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงต้องสันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เช่นนี้ย่อมถือว่ามีแนวทางต่อสู้คดีอยู่ว่า มีไว้เพื่อเสพเองหรือมีไว้เพื่อแบ่งกันเสพกับบุคคลอื่น

ซึ่งคดีลักษณะนี้มีข้อกฎหมายที่น่าสนใจอยู่ เพราะคำว่า “จำหน่าย” ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2552 มาตรา 4 มิได้หมายความแต่เพียง การขายตามที่คนทั่วไปเข้าใจ แต่หมายความรวมทั้ง การขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน หรือให้

ซึ่งในกรณีที่ผู้ต้องหาครอบครองยาเสพติดไว้เพื่อแบ่งกันเสพกับบุคคลอื่นๆ หรือร่วมกันซื้อยาเสพติดมาแล้วแบ่งกันเสพกับบุคคลอื่นๆนั้น จะถือว่าเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่

ประเด็นนี้มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาสองแนวด้วยกัน คือ

1.กรณีที่ผู้กระทำผิดซื้อยาเสพติดมาเพื่อเสพร่วมกันกับบุคคลอื่นๆ หรือซื้อยาเสพติดมาให้บุคคลอื่นเสพร่วมกัน ถือเป็นการกระทำให้ยาเสพติดให้โทษแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นๆด้วยการ จ่าย แจก แลกเปลี่ยน อันเป็นการจำหน่ายตาม บทนิยามของคำว่า จำหน่าย ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ มาตรา 2522 มาตรา 4 ดังนั้นการร่วมกันซื้อยาเสพติดมาแบ่งกันเสพจึงถือเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยมีแนวคำพิพากษาฎีกาที่วินิจฉัยทำนองนี้ เช่น 3741/2553 ,2316/2544 ,2947/2543

2.ในกรณีที่ผู้กระทำผิดซื้อยาเสพติดมาเพื่อแบ่งกันเสพกับบุคคลอื่นๆ ซึ่งบุคคลอื่นนั้นมีเจตนาจะเสพยาเสพติดกับผู้กระทำผิดมาตั้งแต่ต้น หรือแบ่งกันเสพกับบุคคลที่ร่วมกันออกเงินเพื่อซื้อยาเสพติดมาเสพด้วยกัน ถือเป็นการมอบยาเสพติดให้ผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน มิได้มีเจตนาแจก จ่าย ขาย จำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้ ให้แก่บุคคลภายนอก จึงไม่มีความผิดฐานครอบครองเพื่อจำหน่าย เพราะคำว่าจำหน่าย จะต้องหมายถึงการจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่ผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน โดยมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยเช่นนี้ เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3635/2559 , 13605/2555 ,3578/2553 ,7471/2551 ,5288/2549 ,224/2549 ,4776/2545

ทั้งนี้ตามหลักการตีความกฎหมายอาญานั้น นอกจากจะต้องตีความตามตัวอักษรแล้ว ยังต้องตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอีกด้วย ดังจะเห็นได้ว่า แต่เดิมศาลฎีกาเคยตีความคำว่า “ผลิต” ตาม พ.ร.บ ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งตามมาตรา 4 คำว่า “ผลิต” ให้หมายความรวมตลอดถึงการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุด้วย

ซึ่งแต่เดิมศาลฎีกาเคยตีความเคร่งครัดตามลายลักษ์อักษรว่า การแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุ ถือเป็นการผลิตเสมอ ถึงแม้จะมียาเสพติดจำนวนน้อยเท่าใด หรือถึงแม้ทำไว้เพื่อความสะดวกในการเสพยาเสพติดของตนเอง ไม่ได้มีเจตนาเพื่อการจำหน่ายก็ถือว่าเป็นการผลิต เช่น ถ้าผู้กระทำผิดมียาเสพติดอยู่ 2 เม็ด ทำการแบ่งบรรจุใส่หลอดกาแฟไว้ เพื่อติดตัวเอาไปเสพเอง ก็ถือเป็นการผลิต ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึงตลอดชีวิต โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยทำนองนี้ เช่นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 30/2532 , 1798/2540 4183/2540 ซึ่งการตีความเช่นนี้ก่อให้เกิดผลประหลาดเป็นอย่างมาก

แต่ต่อมาศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ ได้ตีความคำว่า “แบ่งบรรจุและรวมบรรจุ ” โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมาประกอบด้วย โดย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9167/2544 วินิจฉัยว่า “ การแบ่งบรรจุยาเสพติดให้โทษเพื่อความสะดวกในการใช้หรือเสพของผู้แบ่งบรรจุเอง มิใช่เพื่อจำหน่ายจ่ายแจกแก่บุคคลทั่วไป ไม่ใช่การแบ่งบรรจุซึ่งมีลักษณะเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมในทำนองเดียวกับการเพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป และสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ไม่อยู่ในความหมายของคำว่า “ผลิต” ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันผลิตหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 8/2544) ,และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9239/2544 (โปรดดูหมายเหตุท้ายฎีกา โดยท่านศิริชัย วัฒนโยธิน)

ดังนั้นแล้ว ตามความเห็นของผู้เขียน จึงมีความเห็นพ้องด้วยกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกาแนวที่สองว่า โดยเห็นว่า การตีความคำว่า “จำหน่าย” ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ มาตรา ย่อมจะต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมาประกอบด้วย โดยผู้เขียนเห็นว่า การ จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ ยาเสพติด ตามมาตราดังกล่าว จะต้องมีลักษณะเป็นการกระทำในลักษณะที่ทำให้ให้ยาเสพติดแพร่กระจายไปยังบุคคลภายนอก มิใช่เป็นการ จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ ระหว่างผู้ที่มีเจตนาร่วมกระทำผิดด้วยกันมาตั้งแต่ต้น

ตัวอย่างเช่น นาย ก.ร่วมกันออกเงินกับเพื่อนเพื่อไปซื้อยาเสพติดมาเพื่อแบ่งกันเสพ เมื่อนาย ก.ได้ยาเสพติดมาแล้ว ก็มอบให้กับเพื่อนเพื่อแบ่งกันเสพด้วยกัน เช่นนี้ย่อมไม่ถือว่าการกระทำของ นาย ก. เป็นการจำหน่าย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ เพราะเป็นการส่งมอบยาเสพติดให้ผู้ที่ีมีเจตนาร่วมกันกระทำผิดด้วยกันมาตั้งแต่ต้น แต่หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปว่า เพื่อนของ นาย ก. ไม่ได้มีเจตนาเสพยาเสพติดมาตั้งแต่ต้น หรือไม่ได้ร่วมกันออกเงินซื้อยาเสพติด แต่นาย ก.นำยาเสพติดมา จำหน่าย จ่าย แจก เพื่อให้เพื่อนเพื่อเสพร่วมกัน ถึงแม้จะไม่ได้คิดเงิน เป็นการให้ฟรีๆ ก็ย่อมถือเป็นการจำหน่าย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น