บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

มีปัญหาปรึกษาทนายความ ตอน มีหมายจับ แต่ทำไมผู้ต้องหาไม่ถูกจับสักที ?

ตามจับผู้ต้องหา

 มีปัญหาปรึกษาทนายความ ตอน มีหมายจับ แต่ทำไมผู้ต้องหาไม่ถูกจับสักที ?

เคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมผู้ต้องหาบางรายถูกออกหมายจับแล้ว กลับไม่เคยถูกจับตัวจนคดีขาดอายุความ หรือ ผู้ต้องหาบางรายถูกจับกุมเอาช่วงใกล้ๆคดีขาดอายุความ ?

ปัญหาของผู้เสียหายที่แจ้งความแล้วพนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยครั้งแต่ปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ไม่ยาก เพราะผู้เสียหายมีสิทธิว่าจ้างทนายความให้ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลได้โดยตรง โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจพนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 28 อนุมาตรา 2

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติบ่อยครั้งและแก้ไขค่อนข้างลำบาก ก็คือ เมื่อผู้เสียหายว่าจ้างทนายความฟ้องคดีต่อศาล จนสามารถออกหมายจับออกมาแล้ว กลับไม่มีเจ้าพนักงานตำรวจตามจับกุมผู้ต้องหาแต่อย่างใด และในกรณีนี้ ถึงแม้ผู้เสียหายจะมีหมายจับอยู่ในมือ และทราบดีว่าผู้ต้องหาพักอาศัยอยู่ที่ไหน หรือแม้กระทั่งผู้เสียหายพบเห็นผู้ต้องหาอยู่ต่อหน้า ก็ไม่มีอำนาจจับกุมผู้ต้องหา เพราะการจับตามหมายจับ จะต้องเริ่มกระทำโดยเจ้าพนักงานเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 79 ประกอบมาตรา 82

และเมื่อผู้เสียหายหรือทนายความผู้เสียหายคัดถ่ายหมายจับจากศาล และถือหมายจับไปให้เจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวน ซึ่งมีหน้าที่ตามจับกุมผู้ต้องหา ตำรวจชุดสิืบสวนก็จะรับหมายจับไว้ และรับปากว่าจะตามจับให้ แต่เรื่องก็จะเงียบหายไปพร้อมกับกาลเวลา เว้นแต่คดีของท่านจะเป็นคดีดังที่มีประชาชนหรือสื่อให้ความสนใจ

ถ้าผู้เสียหายโชคดี ผู้ต้องหาอาจจะถูกจับเอง เพราะไปติดต่อหน่วยงานราชการ หรือเจอด่านตรวจ และโดนตรวจเช็คเจอหมายจับในฐานข้อมูล หรือผู้ต้องหาอาจถูกจับในคดีอื่นๆ จึงถูกส่งตัวมาดำเนินคดีในคดีของท่านด้วย แต่ถ้าผู้เสียหายโชคไม่ดี ก็จะมาได้เรื่องอีกทีตอนคดีใกล้ขาดอายุความ เจ้าพนักงานตำรวจก็จะมีการไล่ตามจับผู้ต้องหาตามหมายจับค้างเก่าที่ใกล้ขาดอายุความกันที่หนึ่ง ผู้ต้องหาก็จะถูกจับได้ในช่วงคดีใกล้ขาดอายุความ แต่บางครั้ง ผู้ต้องหาก็จะลอยนวลจนขาดอายุความไป

ถ้าผู้เสียหายอยากให้เจ้าพนักงานตำรวจตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับโดยเร็ว เป็นที่ทราบดีว่าจะต้องมีค่าตอบแทน ให้กับเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและค่าตอบแทนในการทำการสืบสวนและจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ

ซึ่งบางแห่งก็จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดเงินค่าเสียหายในคดี เช่นในคดีความผิด พ.ร.บ.เช็ค ฉ้อโกง ยักยอก ตำรวจชุดสืบสวนก็เรียกจะเอา 10 เปอร์เซ็นต์ของความเสียหายในคดี เป็นค่าใช้จ่ายในการสืบสวนและจับกุมผู้ต้องหา ซึ่งบางแห่งก็เรียกเก็บทันทีที่เริ่มรับงานจับกุม หรือบางแห่งก็อาจจะเรียกค่าใช้จ่ายเบื้องต้น ประมาณ 10,000-20,000 บาท และถ้าจับกุมผู้ต้องหาได้แล้วจึงค่อยจ่ายส่วนที่เหลือ

บางครั้งจับกุมผู้ต้องหาได้ แต่ผู้ต้องหาไม่มีเงินใช้คืนผู้เสียหาย ผู้ต้องหายอมติดคุก ผู้เสียหายที่เดือดร้อนอยู่แล้วก็ยิ่งเสียหายขึ้นไปอีก เพราะนอกจากจะเสียค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างทนายความฟ้องคดี ยังต้องเสียค่าตามจับอีกเป็นจำนวนไม่น้อย

เว้นแต่ถ้าหากเป็นตำรวจที่ดีมีอุดมการณ์ หรือเป็นพรรคพวกกัน หรือมีผู้หลักผู้ใหญ่่ฝากให้ ก็จะไม่เรียกร้องเงินส่วนนี้ สุดแล้วแต่ผู้เสียหายจะมีน้ำใจให้ แต่จากประสบการณ์ของผู้เขียน ซึ่งเคยได้รับมอบหมายจากผู้เสียหายให้ประสานงานกับเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับ มาหลายครั้งในหลายพื้นที่ เกือบทุกครั้งเจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวน จะสอบถามถึงเรื่องค่าตอบแทนในการติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาก่อนเสมอ เว้นแต่บางครั้งจะมีผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่ฝากฝังเรื่องไว้ให้ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นมืออาชีพและตั้งใจทำงานจริงๆ ก็จะให้ความร่วมมือ และไม่เรียกร้องหรือพูดเรื่องเงินแต่อย่างใด

ถ้ามองในมุมของเจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวน ผู้เขียนเองก็มีความเข้าใจ เพราะการสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด นอกจากจะเสียเวลาเพราะบางครั้งต้องตามเฝ้าติดตามผู้ต้องหาเป็นเวลาหลายวัน ต้องควานหาตัวผู้ต้องหาในหลายพื้นที่ ล้วนแต่มีค่าใช้จ่ายในการสืบสวนไม่ใช่น้อย และเข้าใจว่างบประมาณที่ได้รับ ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายส่วนนี้

แต่บางครั้ง ผู้ต้องหาเองไม่ได้หลบหนีไปไกล สามารถสืบหาตัวได้ไม่ยาก ผู้เสียหายมีข้อมูลที่อยู่ของผู้ต้องหาอย่างชัดเจน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมก็ยังเรียกร้องเงินเป็นจำนวนมาก แลกกับการตามจับกุม ทำให้ผู้เสียหายที่ได้รับความเดือดร้อนอยู่แล้ว ยิ่งเดือดร้อนขึ้นไปอีก

ปัญหานี้เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกอย่างหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในบ้านเรา และสมควรที่จะมีการแก้ไขปฏิรูปกันอย่างจริงจัง เพราะหน้าที่หลักของตำรวจตามความเข้าใจของประชาชน คือการจับกุมผู้กระทำผิด แต่กลับกลายเป็นว่า การที่จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ ช่างยากเย็นแสนเข็ญ ต้องง้องอนกัน และยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก

ซึ่งขอเรียนว่า ข้อเขียนนี้ เกิดขึ้นจากประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติงาน ไม่ได้เกิดจากอคติหรือต้องการโจมตีหน่วยงานใดๆ แต่ต้องการแบ่งปันเรื่องจริงที่พบเจอในการทำงานและปัญหาที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น