บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

ตัวอย่างการฟ้อง คดียักยอกทรัพย์ Ep2. ” เช่ารถไปจำนำหนี้พนัน ” ศึกษาตัวอย่างการต่อสู้คดีและข้อกฎหมายจากประสบการณ์จริง

คดียักยอกทรัพย์ เรื่องนี้ โจทก์ประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์ ให้กับบุคคลทั่วไป

โดยการประกอบธุรกิจของโจทก์นั้น จะเช่ารถยนต์จากบริษัทไฟแนนซ์ มาเพื่อทำการปล่อยให้บุคคลอื่นเช่าเป็นรายวันต่อไป รวมทั้งรถยนต์คันพิพาทนี้ด้วย

ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 1 มาติดต่อขอเช่ารถจากโจทก์ โจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีความน่าเชื่อถือ ประกอบกับจำเลยที่ 1 เคยใช้บริการเช่ารถโจทก์มาก่อนหน้านี้แล้ว เป็นเวลา 2 เดือนก็ไม่มีปัญหาอะไร

โจทก์จึงคิดค่าเช่าและค่ามัดจำไม่แพง โดยจำเลยที่ 1 แจ้งว่า จะเช่ารถยนต์พิพาทเป็นเวลาประมาณเพียง 3 วัน และจ่ายค่าเช่าล่วงหน้าทั้งหมดให้โจทก์

แต่เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่าแล้ว จำเลยที่ 1 กลับไม่เอารถมาคืน

โดยจำเลยที่ 1 โทรมาแจ้งว่าจะขอเช่าต่ออีกสามวัน แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่โอนเงินให้กับโจทก์

โจทก์ไม่สามารถติดต่อตัวจำเลยที่ 1 ได้ จึงได้ไปติดตามที่โรงพักที่จำเลยที่ 1 ทำงาน ซึ่งหัวหน้างานของจำเลยที่ 1 ได้เรียกจำเลยที่ 1 มาสอบถาม

จำเลยที่ 1 แจ้งว่า ได้ให้ภรรยาคือจำเลยที่ 2 เอารถไปใช้ และต่อมาภรรยาได้เข้าไปเล่นการพนันในบ่อน แล้วปรากฏว่าภริยาเล่นการพนันเสีย ถึงได้เอารถไปจำนำไว้กับเจ้าของบ่อน

โดยเมืองชลบุรีในช่วงนั้น เต็มไปด้วยบ่อนที่เปิดขึ้นกลางเมือง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจต่างรู้เห็นเป็นใจและได้รับผลประโยชน์ จึงทำให้ธุรกิจรับจำนำรถเถื่อนของนายบ่อนทั้งหลาย รุ่งเรืองตามขึ้นมาด้วย

โจทก์พยายามติดตามขอไถ่คืนรถกับเจ้าของบ่อนแต่ไม่สามารถติดตามได้ อีกทั้งยังไม่ทราบชื่อนามสกุลจริงหรือข้อมูลของเจ้าของบ่อน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่มีใครช่วยหา หรือช่วยติดตาม

นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ การแจ้งความดำเนินคดีจึงทำได้ยากและมีปัญหาในทางปฏิบัติหลายประการ

โจทก์จึงได้มาหาผม เพื่อให้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสอง

ซึ่งลักษณะการฟ้องร้องดำเนินคดีแบบนี้ ถึงแม้โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ โดยเป็นเพียงผู้เช่ารถยนต์จากบริษัทไฟแนนซ์

แต่โจทก์ในฐานะผู้เช่าย่อมมีสิทธิครอบครอง และมีสิทธิใช้ประโยชน์จากรถยนต์คันดังกล่าว อีกทั้งยังมีหน้าที่จะต้องส่งคืนรถยนต์คันดังกล่าวในสภาพเรียบร้อยให้กับบริษัทไฟแนนซ์หากมีกรณีจะต้องคืน

ดังนั้นแล้วโจทก์จึงมีฐานะเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 4 อนุมาตรา 2

โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีอาญากับจำเลยได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้บริษัทไฟแนนซ์เป็นผู้มอบอำนาจหรือฟ้องคดีแทน ซึ่งมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยยืนยันไว้แล้วหลายฉบับ เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5097/2531

ผู้ครอบครองทรัพย์ แม้มิใช่เป็นเจ้าของ ก็เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ได้ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7832/2556

จำเลยกับพวกร่วมกันยักยอกรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ ขณะอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ เมื่อในขณะกระทำความผิดผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อดังกล่าว การกระทำของจำเลยกับพวกย่อมทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายโดยตรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2551

แม้ บ. ผู้เช่าซื้อยังไม่ชำระราคาค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกดังกล่าวยังเป็นของ ว. ผู้ให้เช่าซื้อ แต่ บ. ก็มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อนั้นและมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยแก่ ว. ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องคืน เมื่อจำเลยทั้งสองยักยอกชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปจา ก . บ.ย่อมได้รับความเสียหายจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4801/2555

โจทก์บรรยายฟ้องว่า รถจักรยานยนต์ เป็นของ ส. ขณะอยู่ในความครอบครองของ ช. ถูกจำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันทุบตีทำลายรถจักรยานยนต์ดังกล่าวได้รับความเสียหาย ดังนั้น ผู้เสียหายย่อมหมายถึง ช. ซึ่งเป็นผู้ร้องทุกข์ภายในอายุความชอบด้วยกฎหมาย

พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ที่นำเอารถไปจำนำกับนายบ่อน และไม่ยอมไถ่ถอนคืนภายในกำหนด ถือว่าเป็นความผิดฐานยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352

โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ใกล้เคียงกัน คือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1125/2507 

การที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าแล้วนำจักรไปจำนำเสียนั้น เป็นผิดสัญญาทางแพ่งก็จริงอยู่ แต่มิใช่ว่าการผิดสัญญาทางแพ่งเช่นนี้ไม่อาจจะเป็นผิดในทางอาญาเสียเลยทีเดียวก็หาไม่ หากว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนเสีย ก็ย่อมเป็นความผิดทางอาญาฐานยักยอกอีกด้วย ตามนัยฎีกาที่ 1165/2468

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8644/2561

พฤติการณ์ที่จำเลยขอยืมรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปจาก ช. ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามสัญญาเช่าซื้อนั้นการที่ ช. อนุญาตให้จำเลยขับรถจักรยานยนต์ไปส่ง ส. จึงเป็นการส่งมอบการครอบครองรถจักรยานยนต์ให้จำเลยชั่วคราว ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องนำรถจักรยานยนต์ที่ขอยืมไป มาคืน ช. เมื่อจำเลยนำรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปจำนำแก่บุคคลภายนอก จึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้เสียหายเป็นของบุคคลอื่นโดยทุจริตขณะที่จำเลยครอบครองทรัพย์นั้นอันเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก การกระของจำเลยไม่ใช่ความผิดฐานลักทรัพย์ ที่โจทก์ฎีกาว่าได้ความจาก ส. ว่า จำเลยบอกว่า หลังจากจำเลยได้รถจักรยานยนต์แล้วนำไปขายทันที การขอยืมรถจึงเป็นอุบายที่จะได้รถจักรยานยนต์ไปนั้นก็เป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์ถึงเจตนารมณ์ของจำเลยซึ่งไม่อาจนำมารับฟังเป็นผลร้ายว่าจำเลยมีเจตนาเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่ต้น

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ข้อแตกต่างระหว่างความผิดฐานยักยอกกับการโต้แย้งสิทธิทางแพ่ง

ข้อแตกต่างระหว่างการผิดสัญญาทางแพ่งกับการกระทำผิดฐานยักยอก พร้อมตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับสมบูรณ์

นอกจากนี้ผมเห็นว่า จำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดอย่างแน่นอน

เพราะการที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 2 ภรรยาเอารถไปจำนำโดยตนเองที่ไม่รู้เรื่องนั้นไม่น่าเชื่อถือ เพราะจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์แจ้งขอขยายระยะเวลาการเช่า รวมทั้งหลบหน้าไม่ยอมคุยเป็นเวลาหลายวัน

ทั้งๆที่หากจำเลยที่ 1 แจ้งโจทก์ตั้งแต่ต้น โจทก์ยังสามารถเจรจาติดต่อกับนายบ่อนเพื่อขอไถ่รถยนต์คืนหรือดำเนินคดีกับนายบ่อนได้

จึงชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 น่าจะมีพฤติการณ์รู้เห็นกับจำเลยที่ 2 ในการเอารถไปจำนำด้วย ผมจึงได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นจำเลยร่วมกัน

ตัวอย่างคำฟ้อง หน้าที่ 1

ตัวอย่างคำฟ้อง หน้าที่ 1

ตัวอย่างคำฟ้อง หน้าที่ 2

ตัวอย่างคำฟ้อง หน้าที่ 2

ตัวอย่างคำฟ้อง หน้าที่ 3

ตัวอย่างคำฟ้อง หน้าที่ 3

ตัวอย่างคำฟ้อง หน้าสุดท้าย

ตัวอย่างคำฟ้อง หน้าสุดท้าย

คดีนี้ ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจำเลยทั้งสองไม่มาศาลภายในกำหนด

ผมจึงนำพยานเข้าไต่สวน 2 ปาก คือบุคคลที่ปล่อยเช่ารถให้กับตัวจำเลยที่ 1 และพนักงานที่ติดตามรถยนต์กับจำเลยทั้งสอง และทราบข้อมูลจากจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 2 นำรถไปจำนำที่บ่อนพนันจริง

ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลจึงได้ประทับรับฟ้อง และเรียกตัวจำเลยทั้งสองมาศาล ซึ่งเมื่อถึงกำหนดนัดจำเลยทั้งสองก็ยอมมาศาลแต่โดยดี

คดียักยอด หจก เอพลัส_005 คดียักยอด หจก เอพลัส_006 คดียักยอด หจก เอพลัส_007 คดียักยอด หจก เอพลัส_008

คดีนี้ ผมไม่ได้ตั้งใจจะเอาจำเลยทั้งสองติดคุก เพียงแต่ต้องการบรรเทาความเสียหายให้กับตัวโจทก์เท่านั้น จึงได้เจรจากันโดยจำเลยทั้งสองยินยอมให้การรับสารภาพ

จำเลยทั้งสองตกลงว่า จะผ่อนชำระค่าเสียหายให้กับโจทก์ รวมเป็นเงิน 800,000 บาท ให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 2 ปี หากผ่อนตรงตามกำหนดผมก็จะถอนฟ้องคดีต่อไป

แต่หากภายในกำหนดไม่ชำระให้เสร็จสิ้น ผมก็จะขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองต่อไป คดีจึงจบลง

ทั้งนี้ในคดีอาญา ฝ่ายโจทก์ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า ไม่ใช่ว่าเราจะขอให้ศาลลงโทษจำคุกจำเลยอย่างเดียว

เพราะถ้าจำเลยถูกลงโทษจำคุก จำเลยที่ 1 ก็จะต้องออกจากงาน สุดท้ายแล้วฝ่ายจำเลยก็จะไม่สามารถหาเงินมาใช้คืนเราได้

ดังนั้นการเปิดโอกาสให้จำเลยหาเงินมาชำระหนี้ให้กับเรา ภายในระยะเวลาอันสมควร จึงเป็นทางออกที่ดีเมื่อเราเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญาครับ

ผมจึงเอาตัวอย่างการฟ้องร้องดำเนินคดีนี้ มาเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจทั่วไป โดยผมยังมีตัวอย่างการฟ้องคดียักยอกอีกหลายสิบคดี และจะคัดเลือกคดีที่น่าสนใจมาลงเป็นตอนๆต่อไปครับ

ตัวอย่างการฟ้องคดียักยอก EP.1 ขายดาวน์รถแต่ไม่เปลี่ยนสัญญา 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts