ตัวอย่างการฟ้องคดีฉ้อโกง ในวันนี้นี้ ผู้เสียหายมาเล่าให้ผมฟังว่า รู้จักกับจำเลยผ่านแอพพลิเคชั่นหาคู่ออนไลน์
และได้พูดคุยกันจีบกัน จนตกลงคบหากันอย่างคนรัก และนัดเจอกับจำเลยประมาณ 1-2 ครั้งก่อนเกิดเหตุ โดยเป็นการนัดเจอที่ร้านอาหารต่างๆ
หลังจากนั้นจำเลยได้บอกว่า ตนเองเพิ่งเลิกรากับแฟนเก่ามา และได้เคยซื้อบ้านร่วมกับแฟนเก่าแล้วแฟนเก่าไม่ผ่อนชำระหนี้ ทำให้ตนเองติด blacklist ไม่สามารถออกรถยนต์ได้
จำเลยได้แจ้งว่าตนเองทำงานเป็นพนักงานบริษัท ทุกวันนี้ลำบากมาก เนื่องจากจะต้องนั่ง มอเตอร์ไซค์รับจ้างไปทำงาน ทั้งขาไปขากลับ เสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก อยากจะออกรถยนต์มาเพื่อใช้ขับไปทำงาน
แต่ก็ติดว่าตนเองติดแบล็คลิสกับทางธนาคารไม่สามารถออกรถด้วยตนเอง
จำเลยจึงบอกกับผู้เสียหายว่า ถ้าอยากจะคบหากันอย่างคนรัก ผู้เสียหายก็ต้องช่วยเหลือจำเลยด้วยการใช้ชื่อผู้เสียหายออกรถยนต์ให้กับจำเลย
โดยในการเช่าซื้อรถยนต์นี้จำเลยจะเป็นคนออกเงินดาวน์ และค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการออกรถทั้งหมด
รวมทั้งรับปากว่า หลังจากออกรถมาแล้วจำเลยจะรับผิดชอบชำระเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ขออาศัยเพียงชื่อของผู้เสียหายในการออกรถเท่านั้น
ทั้งยังรับปากอย่างดี ว่าหากออกรถยนต์เสร็จแล้ว จะย้ายไปพักอาศัยอยู่ร่วมกันกับผู้เสียหายอย่างคนรัก
เมื่อผู้เสียหาย บอกว่าขอคิดดูก่อนหรือขอตัดสินก่อนใจไม่ให้จำเลยก็จะพูดทำนองว่าไม่รักกันจริง จึงไม่ยอม
สุดท้ายผู้เสียหายยินยอมตกลงจะออกรถให้ในชื่อของตนเอง โดยเซ็นต์เอกสารคำขอเช่าซื้อรถยนต์ คำขอสินเชื่อ และเอกสารประกอบต่างๆ
ปรากฏว่าเมื่อธนาคารอนุมัติสินเชื่อแล้ว จำเลยได้ปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหาย ในหนังสือรับรถยนต์ และจำเลยได้รับรถยนต์คันดังกล่าวไปจากบริษัทให้เช่าซื้อ โดยที่ผู้เสียหายไม่ทราบ
หลังจากนั้นผู้เสียหายก็เริ่มติดต่อจำเลยยากขึ้น จนแทบติดต่อไม่ได้ ทำให้ผู้เสียหายเริ่มเกิดความกังวลจึงเป็นปรึกษาเรื่องนี้กับเพื่อนๆ
เพื่อนๆจึงช่วยกันหาข้อมูลจนทราบว่าบุคคลที่หลอกลวงผู้เสียหาย คือ “น้องหมวย” ซึ่งเคยออกข่าวโด่งดังว่าหลอกลวงผู้เสียหายในทำนองนี้มาแล้วหลายครั้ง
ทั้งนี้พฤติการณ์การกระทำผิดของจำเลยนั้น
จำเลยจะหาเหยื่อผ่านแอพพลิเคชั่นหาคู่ออนไลน์ต่างๆ เช่น tinder ,b-talk เป็นต้นเงิน โดยจะเลือกเหยื่อที่เป็นหนุ่มโรงงาน แถวอมตะนครชลบุรี ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก
สาเหตุที่เลือกเหยื่อเป็นหนุ่มโรงงาน เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วคนเหล่านี้มีรายได้ประจำที่แน่นอนสามารถออกรถยนต์ได้โดยง่าย
จำเลยจะทำการตีสนิทกับเหยื่อ หลอกว่าจะคบหากันอย่างคนรัก แล้วจากนั้นก็จะให้หนุ่มโรงงานเหล่านี้ออกรถยนต์ให้กับตนเอง โดย จำเลยจะยินยอมออกเงินดาวน์ และรับปากว่าจะผ่อนชำระค่างวดให้
หลังจากนั้น เมื่อจำเลยได้รับรถยนต์จากเหยื่อแล้วก็จะนำรถยนต์ไปขายในตลาดมืด และปล่อยให้เหยื่อ รับผิดชอบผ่อนชำระค่าเช่าซื้อกับไฟแนนซ์แต่เพียงผู้เดียว
เหยื่อหลายรายอายไม่กล้าฟ้องร้องดำเนินคดี
เหยื่อบางคนเมื่อไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนแล้ว ก็โดนปัดไม่รับแจ้งความโดยอ้างว่าเป็นคดีแพ่ง และอ้างว่าผู้เสียหายไปตกลงยอมให้ใช้ชื่อในการออกรถเอง ไม่เป็นความผิดอาญา
เหยื่อบางคนไปว่าจ้างทนายความฟ้องร้องดำเนินคดี แต่ทนายความตั้งรูปคดีผิดพลาด ทำให้ศาลยกฟ้องในคดีอาญาก็มี
จำเลยจึงลอยนวล หลอกลวงบุคคลอื่นได้อีกต่อไป
สาเหตุที่ตำรวจมองว่าเป็นคดีแพ่ง และสาเหตุที่ทนายความบางคนยื่นฟ้องแล้วศาลยกฟ้อง เนื่องจากไปเข้าใจว่า การฉ้อโกงนั้นมีเฉพาะการหลอกลวงให้ผู้อื่นส่งมอบทรัพย์สินให้เท่านั้น
แต่ความจริงแล้วความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 นั้น นอกจากหลอกลวงให้ส่งมอบทรัพย์สินแล้ว ยังมีกรณีการหลอกลวงให้ ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ด้วย
ในคดีอื่นๆที่ผ่านมาตำรวจไม่รับแจ้งความ และบางครั้งศาลพิพากษายกฟ้องในข้อหาฉ้อโกง เนื่องจากฝ่ายผู้เสียหายพยายามตั้งประเด็นว่าเป็นการหลอกลวงเพื่อให้ส่งมอบทรัพย์สิน
ซึ่งในคดีประเภทนี้ฝ่ายจำเลยไม่ได้หลอกลวงให้ผู้เสียหายส่งมอบทรัพย์สินแต่อย่างใดอีกทั้งรถยนต์ ก็ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของผู้เสียหาย
แต่ฝ่ายจำเลยได้หลอกลวงให้ ผู้เสียหายทำ”สัญญาเช่าซื้อ” ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารสิทธิ โดยหลอกลวงผู้เสียหายว่า ตนเองมีเจตนาผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเองแต่เพียงผู้เดียวจนเสร็จสิ้น แต่ความจริงแล้วจำเลยไม่มีเจตนาผ่อนชำระค่าเช่าซื้อดังกล่าวแต่อย่างใด
ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง โดยการหลอกลวงให้ผู้เสียหายทำเอกสารสิทธิ์คือสัญญาเช่าซื้อ
นอกจากนี้จำเลยยังมีความผิดฐานปลอมเอกสาร คือหนังสือรับรถยนต์อีกด้วย
ตัวบทกฎหมาย
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (9) “เอกสารสิทธิ” หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ
ประมวกฎหมายอาญามาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ใกล้เคียง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6512/2539 จำเลยรู้อยู่แล้วว่ายังคงเป็นหนี้โจทก์ร่วมอยู่ แล้วมีเจตนาทุจริตถือโอกาสจากการที่พนักงานของโจทก์ร่วมปฎิบัติหน้าที่ล่าช้าและบกพร่อง หลอกลวงพนักงานของโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าได้ชำระหนี้แก่โจทก์ร่วมครบถ้วนแล้วและขอไถ่ถอนจำนอง โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าจำเลยชำระหนี้ครบถ้วนจริงจึงทำหนังสือสลักหลังปลอดจำนองอันเป็นเอกสารสิทธิ โดยเป็นหลักฐานระงับซึ่งสิทธิตามสัญญาจำนองมอบให้จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงและแม้โจทก์ร่วมจะสามารถดำเนินการเพิกถอนการไถ่ถอนจำนองได้ ก็หาทำให้การกระทำผิดฐานฉ้อโกงของจำเลยซึ่งสำเร็จแล้ว กลับไม่มีความผิดไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 863/2513 คำว่า ‘โดยทุจริต’ หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองและผู้อื่น การที่จำเลยทั้งสองสมคบหลอกลวงโจทก์โดยจำเลยที่ 2 แสดงตนต่อโจทก์ว่าเป็นนายแก้วเจ้าของที่ดินตาม น.ส.3. จนโจทก์หลงเชื่อทำหนังสือรับรองทรัพย์ยื่นขอประกันตัวนายมะนาวต่อศาลนั้น แม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับประโยชน์เป็นทรัพย์สินแต่อย่างใดก็ตาม ก็ทำให้นายมะนาวได้รับประโยชน์จากการใช้หนังสือรับรองทรัพย์นั้นอ้างต่อศาลจนได้รับประกันตัวไป ซึ่งย่อมถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์สำหรับผู้อื่นอันเป็นการกระทำโดยทุจริตเช่นกัน
คำว่า ‘เอกสารสิทธิ’ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1(9) นั้นมุ่งหมายถึงเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อตั้งซึ่งสิทธิหรือหนี้สินและเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการเปลี่ยนแปลง โอนหรือระงับซึ่งสิทธิหรือหนี้สินทุกอย่าง หนังสือรับรองทรัพย์ที่ยื่นขอประกันตัวจำเลยต่อศาลซึ่งผู้ยื่นหนังสือดังกล่าวรับรองต่อศาลว่า หลักทรัพย์ตามบัญชีคำร้องขอประกันเป็นของผู้ขอประกัน หากบังคับแก่ทรัพย์ตามสัญญาประกันไม่ได้หรือได้ไม่ครบ ผู้ทำหนังสือรับรองทรัพย์ยอมรับผิดใช้เงินจนครบ ซึ่งเท่ากับเป็น หนังสือค้ำประกันผู้ขอประกันตัวอีกชั้นหนึ่งนั้นเป็นเอกสารสิทธิตามความหมายแห่งบทบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 948/2518 เดิมผู้เสียหายได้รับซื้อฝากที่ดินไว้จากจำเลย ครบกำหนดไถ่ จำเลยไม่ไถ่ ปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวเป็นคนละแปลงกับที่จำเลยนำชี้ ผู้เสียหายจึงร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลย จำเลยขอผัดว่าจะไถ่ภายใน 1 เดือน แล้วบอกผู้เสียหายว่า จำเลยทำสัญญาจะซื้อที่ดินไว้แปลงหนึ่ง ได้วางมัดจำไว้ด้วย แล้วพาผู้เสียหายไปดู โดยนำชี้ว่าที่ดินอยู่ติดโรงเรียนความจริงที่ดินตามโฉนดนั้นอยู่ห่างจากที่จำเลยชี้ถึง 6 กิโลเมตร และมีราคาต่ำ ต่อจากนั้นจำเลยได้นำผู้เสียหายไปสอบถามผู้รับจำนองที่ดินตามโฉนดนั้น ผู้รับจำนองก็รับสมอ้างว่าเคยเห็นที่ดินอยู่หลังโรงเรียนและมีราคาสูง พฤติการณ์ของจำเลยเป็นการวางแผนหลอกลวงผู้เสียหายเป็นขั้น ๆ เพื่อให้หลงเชื่อว่าที่ดินที่จะซื้อมีราคาสูง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายทำสัญญาซื้อขายอันเป็นเอกสารสิทธิกับเจ้าของที่ดิน โดยจำเลยได้เงินส่วนที่เกินกว่าราคาที่แท้จริงไป การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการกระทำโดยทุจริต เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3986/2535 จำเลยกับพวกใช้หลักฐานปลอมหลอกลวงโจทก์ร่วม โดยอ้างว่า ว.ขอเอาประกันชีวิตต่อบริษัทโจทก์ร่วม ซึ่งความจริง ว. ตัวจริงได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว โจทก์ร่วมหลงเชื่อจึงออกกรมธรรม์ประกันชีวิตอันเป็นเอกสารสิทธิให้ การกระทำของจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงเสร็จเด็ดขาดกรรมหนึ่งแล้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1962/2531 จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายให้หลงเชื่อลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์เอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับสัญญาจำนองที่ดินและหนังสือเรื่องราวจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม แม้จะยังไม่ได้กรอกข้อความลงในเอกสารนั้น การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการหลอกลวงให้ผู้เสียหายทำเอกสารสิทธิแล้ว เพราะจำเลยอาจนำไปกรอกข้อความให้ครบถ้วนบริบูรณ์ว่าผู้เสียหายเจตนาทำสัญญาจำนองที่ดินได้จำเลยจึงมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
ผมจึงได้ยื่นฟ้องจำเลยปรากฎตาม ตัวอย่างคำฟ้องคำฟ้องคดีฉ้อโกง นี้
สุดท้ายเมื่อถึงชั้นศาลจำเลยได้ให้การรับสารภาพตามฟ้อง และตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อแทนผู้เสียหายจนเสร็จสิ้น (ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่ยอมชำระ อยู่ระหว่างการขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาครับ)
ผมจึงได้นำตัวอย่างคำฟ้องและการตั้งรูปคดีมาให้ดูเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจครับ
สรุป
อุทาหรณ์ที่ได้จาก ตัวอย่างการฟ้องคดีฉ้อโกง ในวันนี้ก็คือ ก่อนจะทำนิติกรรมอะไรให้กับใคร ควรจะคิดให้รอบคอบเสียก่อน
หากไม่ใช่ญาติ พ่อ แม่ พี่น้อง หรือลูก ก็ไม่ควรไปออกรถแทนใคร โดยเฉพาะผู้หญิงที่เพิ่งรู้จักกัน
เพราะะนิติกรรมประเภทก่อหนี้สิน หรือค้ำประกัน เพราะเมื่อทำไปแล้ว มีโอกาสจะเกิดปัญหาภายหลังตามมาได้สูงมากครับ