วันนี้ผมจึงได้รวบรวมข้อกฎหมาย คำอธิบาย พร้อมตัวอย่างและเทคนิคทางปฏิบัติ เกี่ยวกับ การยื่นบัญชีระบุพยาน ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา
เพื่อประโยชน์ในการทำความเข้าใจ และเป็นคู่มือการทำงาน โดยจะเน้นการอธิบายแบบเข้าใจง่าย และสามารถนำไปใช้จริงได้ครับ
อนึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่อ้างอิงในบทความนี้ หากท่านสนใจอ่านตัวเต็ม สามารถกดคลิกเพื่ออ่านที่ตัวเลขฎีกาได้เลยครับ
การยื่นบัญชีระบุพยาน คืออะไร
การยื่นบัญชีระบุพยาน คือการทำเอกสารเพื่อแจ้งต่อศาลและคู่ความฝ่ายตรงข้ามว่า ในการพิจารณาคดี ฝ่ายเราจะนำพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุ อะไร มานำสืบประกอบข้ออ้างข้อเถียงของตนบ้าง
วัตถุประสงค์ของการยื่นบัญชีระบุพยาน ก็เพื่อป้องกันการจู่โจมกันทางพยาน โดยการที่ฝ่ายใดจะเอาพยานหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งมานำสืบนั้น ฝ่ายนั้นก็ต้องแจ้งให้ฝ่ายตรงข้ามทราบถึงการมีอยู่ของพยานหลักฐานดังกล่าวก่อนการสืบพยาน
เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามมีเวลาเตรียมตัวและหาข้อมูลมาโต้แย้งพยานหลักฐานดังกล่าวได้ ภายในระยะเวลาอันเหมาะสม (ฎ.1034/2503 )
หากปล่อยให้มีการสืบพยานกัน โดยไม่มีการยื่นบัญชีระบุพยาน ก็คงจะเกิดความไม่เป็นธรรมกับคู่ความทั้งสองฝ่าย เพราะในวันสืบพยาน อีกฝ่ายจะไม่รู้เลยว่าฝ่ายตรงข้ามจะมีพยานหลักฐานอะไรมาสืบบ้าง
และหากพบพยานหลักฐานที่ไม่คาดคิดมาก่อน ก็อาจจะไม่มีเวลาที่จะหาข้อมูลหรือพยานหลักฐานมาโต้แย้งได้ทัน ทำให้ศาลได้รับข้อเท็จจริงอย่างไม่ครบถ้วนรอบด้าน
นอกจากนี้การยื่นบัญชีระบุพยาน ยังมีประโยชน์ในการพิจารณาคดีของศาล ที่จะทำให้ศาลสามารถกำหนดแนวทางการสืบพยาน ว่าแต่ละฝ่ายมีพยานบุคคล พยานเอกสาร และพยานวัตถุเป็นจำนวนเท่าใด เพื่อที่ศาลจะบริหารจัดการการสืบพยาน และกำหนดจำนวนวันนัดที่จะสืบพยานได้อย่างถูกต้อง
เนื้อหาในบัญชีระบุพยาน
อย่างที่บอกไปแล้วในตอนต้นว่า วัตถุประสงค์ของการยื่นบัญชีระบุพยานก็คือ การให้คู่ความฝ่ายตรงข้ามและศาลที่จะขึ้นนั่งพิจารณาคดีทราบว่า ฝ่ายเราจะนำพยานบุคคล พยานเอกสารหรือ พยานวัตถุใดมานำเสนอประกอบข้ออ้าง ข้อเถียงของตนเองบ้าง
ดังนั้นเนื้อหาในบัญชีพยาน ก็จะต้องระบุให้ชัดเจนว่า พยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุ ที่เราจะนำมาแสดงต่อศาลนั้น มีรายละเอียดอย่างไร ให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ว่า เราจะเอาอะไรมาสืบ ไม่ใช่เป็นการระบุพยานอย่างคลุมเคลือ อ่านแล้วก็ไม่รู้ว่า จะเอาใครเบิกความ
ตัวอย่างบัญชีพยานที่คลุมเครือ เช่น ระบุว่า
- นายแดง ไม่ทราบนามสกุล ไม่ทราบที่อยู่
- รูปถ่ายมีด , หลักฐานการสนทนาผ่าน โปรแกรมไลน์ , สัญญากู้ยืมบันทึกเสียงสนทนา , ผลตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมดีเอ็นเอ
การยื่นบัญชีระบุพยานเช่นนี้ ผู้อ่านย่อมไม่ทราบและไม่เข้าใจว่า พยานหลักฐานที่เราจะมานำสืบคืออะไรบ้าง ถือเป็นการยื่นบัญชีระบุพยานโดยไม่ชอบ และมีผลเสมือนหนึ่งว่าไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้ (ฎ.385/2543)
การยื่นบัญชีระบุพยานนั้น จะต้องมีความชัดเจนว่า พยานหลักฐานที่จะเอามานำสืบในชั้นพิจารณาคืออะไร ตัวอย่างเช่น
การระบุพยานบุคคล
ก็ต้องมีการระบุ คำนำหน้านาม ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ให้รู้ตัวตนชัดเจนว่า พยานที่จะมานำสืบคือใคร ทั้งนี้ ศาลฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยว่า การยื่นบัญชีพยานโดยไม่ระบุที่อยู่ของพยาน ถือเป็นบัญชีพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ( ฎ.1590/2542 )
ตัวอย่างเช่น
- นายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์ ทนายความหัวหน้าสำนักงานพิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ อยู่บ้านเลขที่ 51/29 หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
หากเป็นพยานบุคคลที่อ้างโดยตำแหน่ง ก็ต้องระบุตำแหน่งให้ชัดเจน เช่น
- ผู้อำนวยการโรงเรียนชลราษฎรอำรุง ตั้งอยู่ที่เลขที่ 1 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
- พ.ต.ต.สมรวย มากมี ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี ตั้งอยู่เลขที่ 2 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
ทั้งนี้การยื่นบัญชีระบุพยาน โดยไม่ระบุชื่อนามกุล ระบุเพียงตำแหน่ง ก็สามารถกระทำได้ ตามนัย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 167/2528
แต่อย่างไรก็ตามหากรู้ชื่อนามสกุลที่แน่นอน ก็ควรระบุไปด้วย ยกเว้นแต่กรณีที่อาจจะอยู่ช่วงใกล้โยกย้ายตำแหน่ง ซึ่งหากระบุไปก่อน ในตอนสืบพยานอาจมีการเปลี่ยนตัวผู้ดำรงตำแหน่ง เช่นนี้จะระบุแต่ตำแหน่งอย่างเดียวก็ได้
การระบุพยานเอกสาร
ถ้าเป็นการอ้างอิงเอกสาร ก็จะต้องระบุให้ชัดเจนว่า เป็นเอกสารที่ทำขึ้นระหว่างใครกับใคร ทำขึ้นเมื่อไหร่ เป็นเอกสารประเภทอะไร เป็นต้นฉบับหรือสำเนา ตัวอย่างเช่น
- ต้นฉบับ / สำเนา สัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์และจำเลย ฉบับลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561
- ต้นฉบับ / สำเนา รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ที่โจทก์ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อ ร.ต.อ. สมคิด ศรีทอง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองชลบุรี ให้ดำเนินดคีกับจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกง ลงวันที่ 1 มกราคม 2563
- ต้นฉบับ/สำเนา เช็ค ใบคืนเช็ค ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เลขที่บัญชี 123456789 ชื่อบัญชีจำเลย ลงวันที่ 1 มกราคม 2563 และ 1 กุมภาพันธ์ 2563 จำนวนเงินตามเช็ค 100,000 บาท
ทั้งนี้หากระบุในเอกสารว่าเป็นสำเนาอย่างเดียวไม่ได้ระบุว่าจะทำการนำต้นฉบับมาสืบด้วย ย่อมไม่มีสิทธิ์นำต้นฉบับมาสืบ
การระบุพยานวัตถุ
ถ้าเป็นการอ้างอิงพยานวัตถุ ก็จะต้องระบุให้ชัดเจนว่า พยานวัตถุดังกล่าวเป็นอะไร ตัวอย่างเช่น
- มีดขนาดยาว 5 เซนติเมตร กว้าง 4 เซนติเมตร ที่จำเลยใช้แทงผู้ตาย
- สำเนาสิ่งพิมพ์ข้อมูลแสดงการสนทนาผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ ที่โจทก์และจำเลยสนทนากัน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2563
- รูปถ่ายภาพเหตุการณ์การคบชู้กันระหว่างจำเลยและสามีโจทก์ ซึ่งแสดงตนอย่างเปิดเผยว่าคบหากันอย่างชู้สาวในสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่ประมาณวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2563
- แผ่นซีดีบันทึกภาพและเสียงขณะเกิดเหตุการณ์ปล้นทรัพย์ ที่ร้านทองเยาวราช ในวันเกิดเหตุ คือวันที่ 1 มกราคม 2565 เวลาประมาณ 12.00 นาฬิกา พร้อมถอดเทปบรรทึกเสียงและคำบรรยายเหตุการณ์
การขอให้ศาลมีคำสั่ง
เช่นการขอให้ศาลแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ หรือตรวจสถานที่ หรือทำการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ หรือทำแผนที่พิพาทก็ต้องระบุให้ชัดเจน เช่น
ตัวอย่างเช่น
- แผนที่พิพาท ที่แสดงให้เห็นถึงแนวเขตที่ดินของโจกท์และจำเลย และแนวเขตที่ดินพิพาท โดยให้ปรากฎบ้าน ต้นไม้ รั้ว และสิ่งอื่นๆที่ปรากฏอยู่ในที่ดินพิพาทตามสมควร (ขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดทำแผนที่พิพาท)
- ผลการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม DNA ระหว่างโจทก์และจำเลย ที่พิสูจน์ว่าโจทก์และจำเลยเป็นบิดากับบุตรกันจริงหรือไม่ ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม หรือโรงพยาบาลตำรวจ หรือโรงพยาบาลรัฐอื่นตามที่ศาลเห็นสมควร (คำสั่งศาล)
- เดินเผชิญสืบ อาคารพาณิชย์เลขที่ 51/29 หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์พิพาทคดีนี้ (เดินเผชิญสืบ)
กำหนดระยะเวลา ยื่นบัญชีระบุพยานคดีแพ่ง
1.การยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรก คดีแพ่ง
คู่ความจะต้องยื่นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน (ป.วิ.พ. ม.88 ว.1)
คำว่า “วันสืบพยาน” นั้นหมายความว่า วันที่ศาลได้ทำการสืบพยานจริงๆ ไม่ใช่แต่เพียงวันที่ศาลกำหนดไว้ว่าเป็นวันนัดสืบพยาน แล้วเลื่อนไปไม่มีการสืบ
ซึ่งทางปฏิบัติในคดีแพ่งสามัญ คดีผู้บริโภค คดีแรงงาน คดีมโนสาเร่ คดีไม่มีข้อยุ่งยาก ในวันนัดศาลครั้งแรก ศาลมักจะกำหนดนัดในหมายเรียก ให้จำเลยมาศาล เพื่อทำการ ไกล่เกลี่ย/ให้การ/สืบพยาน หรือ ไกล่เกลี่ย/สืบพยาน ไปในวันเดียวกัน
แต่ทางปฏิบัติแล้ว หากจำเลยมาศาลในนัดแรก ศาลก็จะทำการไกล่เกลี่ยกันก่อน หากไกล่เกลี่ยกันไม่ได้ ก็จะเลื่อนไปนัดพร้อม หรือนัดชี้สองสถาน และกำหนดวัดนัดสืบพยานต่อไปภายหลัง
โดยจะไม่ได้ทำการสืบพยานกันจริงในวันนัดแรก เช่นนี้ กำหนดระยะเวลา 7 วัน ก็ยังไม่เริ่มนับ โดยจะนับในวันที่มีการสืบพยานกันจริงๆเท่านั้นโดยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น ฎ.959/2493 ,ฎ.450/2521 ,ฎ.637/2520
ทั้งนี้ในการปฏิบัติงานจริงๆของทนายความนั้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายโจทก์หรือจำเลย เราก็มักจะยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกไปพร้อมกับคำฟ้องและคำให้การ เพื่อป้องกันการหลงลืมยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกส่วนบัญชีพยานเพิ่มเติมนั้น ก็จะยื่นเพิ่มเติมตามมาในภายหลัง
หากคู่ความฝ่ายใดไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด จะไม่มีสิทธิยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติม และหากคู่ความฝ่ายนั้นจะขอยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกเมื่อพ้นกำหนด ก็จะต้องมีเหตุสมควร (อ่านในข้อ 2.2)
2.การยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม คดีแพ่ง
คือเป็นการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม แบบที่กฎหมายให้สิทธิกระทำได้อยู่แล้ว คือการที่คู่ความที่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกภายในกำหนดระยะไว้แล้ว หากประสงค์จะยื่นเพิ่มเติม ก็สามารถยื่นได้ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันสืบพยานครั้งแรก (ป.วิ.พ.ม.88 ว.2)
ซึ่งวันสืบพยาน ก็หมายถึงวันที่ได้มีการสืบพยานจริงๆเท่านั้น ตามที่ได้อธิบายข้างต้น
การยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมแบบธรรมดานั้น เป็นสิทธิของคู่ความ จะยื่นเพิ่มเติมกี่ครั้งก็ได้ ภายในกำหนดระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันที่สืบพยานครั้งแรก ไม่จำเป็นต้องมีสาเหตุอ้างอิงใดๆก็ได้
โดยธรรมดาแล้วการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมกรณีนี้จะทำเป็น “คำแถลง” โดยใช้ชื่อว่า “ คำแถลงขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ …. “ โดยไม่จำต้องต้องบรรยายเหตุผลที่จะขอเพิ่มเติมก็ได้ เพียงแค่แจ้งให้ศาลทราบว่าต้องการยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมเท่านั้น
ตัวอย่างเนื้อหา คําแถลงขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม กรณียื่นภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย
คำแถลงขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ครั้งที่ 1
ข้อ 1.คดีนี้ศาลที่เคารพโปรดนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ 1-2 มีนาคม 2565
ข้อ 2.ทนายความโจทก์มีความประสงค์ขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมจำนวน 5 อันดับ ตามบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมที่ได้แนบมาพร้อมกันนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลที่เคารพโปรดอนุญาต
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
3.การยื่นบัญชีระบุพยานเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายแล้ว
กรณีนี้ เป็นการที่คู่ความต้องการยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรก หรือยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ภายหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายแล้ว ซึ่งตามธรรมดาแล้วไม่สามารถกระทำได้ เว้นแต่เข้าหลักข้อยกเว้นตามกฎหมาย (ป.วิ.พ.ม. 88 ว.3)
โดยการยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรก หรือบัญชีระบุเพิ่มเติมในกรณีนี้จะต้องทำเป็น “คำร้อง” โดยใช้ชื่อว่า “ คำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยาน”
โดยการบรรยายคำร้องดังกล่าว จะต้องอธิบายให้ชัดเจนถึงข้อยกเว้น และเหตุอันสมควรที่ศาลจะอนุญาตให้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ซึ่งเป็นดุลยพินิจของศาลที่นั่งพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่
เหตุสมควรในการยื่นบัญชีระบุพยานเภายหลังเวลาที่กฎหมายกำหนดก็คือ
เหตุแรก ไม่สามารถทราบได้ว่าจะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบ
ตัวอย่างเช่น
คู่ความทราบว่ามีพยานหลักฐานดังกล่าวอยู่แล้ว แต่มีเหตุที่ทำให้คู่ความเข้าใจได้ว่า พยานหลักฐานดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นในคดีนี้เลย และพึ่งปรากฎเหตุในภายหลังว่า พยานหลักฐานดังกล่าวเกี่ยวข้องกับประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้
ซึ่งอาจเป็นเพราะฝ่ายตรงข้ามพึ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ หรืออ้างเอกสารหลักฐานขึ้นใหม่ เป็นต้น ( ฎ.470/2518 ,ฎ.251-252/2508 ,ฎ.660/2545 )
เหตุที่สอง ไม่ทราบว่าพยานหลักฐานดังกล่าวได้มีอยู่
ตัวอย่างเช่น
คู่ความไม่เคยทราบเลยว่า มีพยานหลักฐานชิ้นดังกล่าวอยู่ จนกระทั่งผ่านไปภายหลัง ได้เริ่มทำการสืบพยานไป หรือเกิดเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น จึงทราบว่ามีพยานหลักฐานชิ้นดังกล่าวอยู่ และเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดี ( ฎ.7362/2544 , ฎ.914/2527 , ฎ.402/2513)
เหตุที่สาม มีสาเหตุสมควรอื่นใด
ตัวอย่างเช่น
พยานหลักฐานดังกล่าวเป็นเอกสารราชการที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบได้โดยง่าย เป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปในวงกว้าง การรับฟังเอกสารหลักฐานดังกล่าว ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่คู่ความฝ่ายตรงข้าม
หรือ
พยานหลักฐานดังกล่าว เป็นพยานที่สำคัญในคดีเป็นอย่างมาก และเป็นพยานหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือเป็นอย่างสูง ประกอบกับคดีดังกล่าวเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์สูงหลายร้อยล้านบาท หรือเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัว หรือสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ อันเป็นคดีสำคัญ
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น (ฎ.53/2552 , ฎ.1034/2503 ฎ.578/2508 , ฎ.587/2509 ,ฎ.1465/2515 ,ฎ.1024/2524 ,ฎ.2098/2520 )
ถ้ามีสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง 3 ประการดังกล่าว และศาลเห็นว่า เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อสำคัญในคดีเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จำเป็นที่จะต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าว ศาลก็จะอนุญาตให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมภายหลังจากระยะเวลา 15 วันนับแต่วันสืบพยานก็ได้
ทั้งนี้หากคู่ความฝ่ายใดยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ภายหลังเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยไม่บรรยายเหตุสมควรดังกล่าว ศาลชอบที่จะไม่รับบัญชีระบุพยานดังกล่าวได้ทันที ( ฎ.2591/2520 ,ฎ.1471/2529 , ฎ.943/2512 )
ตัวอย่าง คําร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม กรณียื่นภายหลังระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด
คำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ครั้งที่ 2
ข้อ 1.คดีนี้ศาลที่เคารพโปรดนัดสืบพยานโจทก์ไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และมีนัดสืบพยานจำเลยอีกครั้งในวันนี้ คือ วันที่ 1 มีนาคม 2564
ข้อ 2.เนื่องจากภายหลังจากการสืบพยานโจทก์ไปแล้ว จำเลยเพิ่งทราบว่า มีความจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติม เนื่องจากโจทก์ได้กล่าวอ้างในการสืบพยานว่า โจทก์ได้ซื้อที่ดินจากจำเลย และได้ชำระเงินค่าที่ดินที่ซื้อ โดยถอนเงินจากบัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขาโลตัสชลบุรี ชื่อบัญชีโจทก์ โดยถอนเงินมาเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2563
ซึ่งจำเลยได้ต่อสู้คดีตลอดมาว่าไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้กับจำเลย และไม่เคยได้รับเงินค่าที่ดินจากโจทก์ ดังนั้นจำเลยจึงมีความประสงค์ขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมคือ คําขอเปิดบัญชีและตัวอย่างการเดินบัญชีธนาคารของโจทก์ที่ธนาคารกสิกรไทย สาขาโลตัส ชลบุรี มาเพื่อใช้ในการสืบพยาน และหักล้างคำเบิกความของโจทก์ที่ว่าได้ถอนเงินมาให้กับจำเลย
ข้อ 3.ซึ่งคดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทที่เถียงกันเพียงประเด็นเดียวว่า จำเลยได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ และโจทก์ชำระเงินค่าที่ดินพิพาทให้กับจำเลยหรือไม่ ซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญที่จะใช้สำหรับการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อสำคัญในคดี
ด้วยเหตุดังจำเลยประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพ เพื่อให้ศาลได้รับทราบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอย่างครบถ้วนรอบด้าน ก่อนพิพากษาตัดสินคดี จึงขอศาลที่เคารพโปรดอนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม จำนวน 1 อันดับ ตามบัญชีพยานเพิ่มเติมที่ได้แนบมาพร้อมกันนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลที่เคารพโปรดอนุญาต
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ทั้งนี้ไม่ว่าศาลจะสั่งอนุญาตหรือไม่ ย่อมถือเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน คู่ความที่ไม่พอใจคำสั่งดังกล่าว จะอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งนั้นเลยไม่ได้ แต่จะต้องโต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาดังกล่าวไว้ และใช้สิทธิในการอุทธรณ์ภายหลังเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว ( ป.วิ.พ.ม.226) และ ฎ.1532/2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจอื่นๆ ที่วินิจฉัยประเด็นเรื่องการขอยื่นบัญชีระบุพยาน ภายหลังจากเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว เช่น ฎ.5321/2531 , ฎ.4540/2536 , , ฎ.770/2520 , ฎ.3502/2532 ,ฎ.3132/2530 ,ฎ.2119/2518 ,ฎ.1763-1764/2523 ,ฎ,1379/2546
นอกจากนี้ ยังสามารถศึกษาเรื่องการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมภายหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย ได้จากบทความเรื่อง
การอ้างพยานเพิ่มเติม ภายหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย
ซึ่งผมเคยเขียนไว้อย่างละเอียด พร้อมยกตัวอย่างการทำงานจากประสบการณ์จริงมาเป็นตัวอย่างครับ
กำหนดระยะเวลา ยื่นบัญชีระบุพยานคดีอาญา
กำหนดระยะเวลาในการยื่นบัญชีระบุพยานในคดีอาญานั้น มีความแตกต่างกันไปตามแต่รูปคดี ไม่เหมือนกับคดีแพ่งที่ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันในทุกคดี
กำหนดระยะเวลาในการยื่นบัญชีระบุพยานในคดีอาญานั้น อาจแบ่งออกเป็น 3 กรณีด้วยกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะการดำเนินคดีนั้นๆ
โดยอธิบายได้ดังนี้
กรณีแรก กำหนดระยะเวลายื่นบัญชีระบุพยาน ในคดีอาญา ที่ศาลกำหนดให้มีวัดนัดตรวจพยานหลักฐาน ก่อนการสืบพยาน
ธรรมดาแล้วในปัจจุบันนี้ ในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องแทบทุกคดี ศาลจะมีการกำหนดให้มีวันนัดตรวจพยานหลักฐานก่อนการสืบพยานอยู่เสมอ
ดังนั้นแล้วการยื่นบัญชีระบุพยานในลักษณะนี้จึงเป็นเรื่องที่จะต้องพบเจอบ่อย
1.การยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรก กรณีศาลกำหนดวันตรวจพยานหลักฐาน
ในกรณีที่ศาลกำหนดให้มีวันนัดตรวจพยานหลักฐาน ก่อนทำการสืบพยาน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 173/1 คู่ความทุกฝ่ายจะต้องยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรก ก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐานไม่น้อยกว่า 7 วัน
อ่านเพิ่มเติมเรื่อง วันนัดตรวจพยานหลักฐานได้ในบทความเรื่อง “สรุปข้อกฎหมายและเทคนิคทางปฏิบัติ ในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน”
หากคู่ความฝ่ายใดไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ย่อมไม่มีสิทธิขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม และหากประสงค์จะยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกเมื่อพ้นกำหนดแล้ว จะต้องมีเหตุอันสมควร (
2. การยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม
คู่ความที่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันตรวจพยานหลักฐานไม่น้อยกว่า 7 วัน ย่อมสามารถยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ ก่อนทำการตรวจพยานหลักฐานเสร็จสิ้น (ป.วิ.อ.ม.173/1 วรรคสอง)
ด้วยการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าวให้ทำเป็น “คำร้อง” โดยไม่ต้องบรรยายสาเหตุที่ต้องการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมแต่อย่างใด เพราะเป็นสิทธิตามกฎหมายอยู่แล้ว
ตัวอย่างเช่น
คําร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานจำเลยเพิ่มเติม ครั้งที่ 1
ข้อ 1.คดีนี้ศาลที่เคารพโปรดมีนัดตรวจพยานหลักฐานในวันนี้ จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกตามกฎหมายไว้แล้ว
ข้อ 2.จำเลยมีความประสงค์จะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 จำนวน 5 อันดับ รายละเอียดปรากฏตามบัญชีระบุพยานที่ได้แนบมาพร้อมกันนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมขอศาลที่เคารพโปรดอนุญาต
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
3. การยื่นบัญชีระบุพยานหลังจากเกินกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย
หากคู่ความได้มีการยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกไปแล้ว หรือคู่ความฝ่ายใด ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย
หากคู่ความฝ่ายนั้นมีความประสงค์จะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม หรือขอยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกหลังพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย จะต้องขออนุญาตจากศาล และจะต้องแสดงเหตุอันสมควรในการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม
เหตุสมควร ได้แก่
1.ไม่สามารถทราบถึงพยานหลักฐานดังกล่าวมาก่อนได้
ตัวอย่างเช่น ภายหลังกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานไปแล้ว เพิ่งปรากฏพยานหลักฐานใหม่ หรือจำเลยเพิ่งทราบว่ามีพยานหลักฐานใหม่ดังกล่าว
2.กรณีมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ตัวอย่างเช่น พยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญที่จะบ่งชี้ว่าจำเลยมีความผิดหรือบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ เช่นเป็นเอกสารราชการ การนำสืบพยานหลักฐานดังกล่าว จะทำให้ศาลวินิจฉัยคดีได้อย่างเที่ยงธรรม
3.เพื่อเปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
ตัวอย่างเช่น คดีดังกล่าวเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดีตลอดมา อีกทั้งจำเลยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ เป็นการยากที่จำเลยจะเสาะแสวงหาหรือทราบว่ามีพยานหลักฐานใดอยู่ ดังนั้นจึงสมควรเปิดโอกาสให้จำเลยยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมเพื่อต่อสู้คดีกันเต็มที่
หากศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อ 1-3 ศาลก็อาจจะอนุญาตให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ (ป.วิ.อ.ม.173/1 วรรคสาม )
ทางปฏิบัติแล้วการยื่นบัญชีระบุพยานหรือการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมในคดีอาญานั้น ศาลจะไม่ค่อยเคร่งครัดมาก โดยเฉพาะกับฝ่ายจำเลย ที่ศาลมักจะเปิดโอกาสให้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่อยู่แล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม การบรรยายคำร้องเราควรจะบรรยายสาเหตุให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
เพราะหากฝ่ายตรงข้ามคัดค้านการขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม หรือเจอศาลที่เคร่งครัดในตัวบทกฎหมาย และคำร้องของเราไม่ได้บรรยายสาเหตุตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ศาลก็อาจจะไม่อนุญาตให้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม
ดังนั้น การทำคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมภายหลังระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จะต้องทำเป็นคำร้องและอธิบายสาเหตุดังกล่าวให้ครบถ้วน ตัวอย่างเช่น
ตัวอย่างเช่น
คำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานจำเลยเพิ่มเติม ครั้งที่ 2
ข้อ 1.คดีนี้ศาลที่เคารพโปรดนัดสืบพยานจำเลยในวันนี้
ข้อ 2.เนื่องจากในคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยข้อหาพยายามฆ่า โดยอ้างว่ามีประจักษ์พยาน 2 ปาก เป็นคนพบเห็นจำเลยในวันเกิดเหตุ
แต่ปรากฏว่า ภายหลังจากการสืบพยานโจทก์ไปแล้ว จำเลยได้ข้อมูลมาจากเพื่อนของโจทก์ได้ส่งข้อความและรูปถ่ายมาบอกว่า วันเกิดเหตุประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองปาก เดินทางออกไปทำงานนอกประเทศ และไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุในวันเกิดเหตุ รายละเอียดเบื้องต้นปรากฏตามสำเนาหนังสือเดินทางของประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองปากที่ได้แนบมาพร้อมกันนี้
ข้อ 3.กรณีจึงถือว่าจำเลยไม่เคยทราบว่ามีพยานหลักฐานดังกล่าวมาก่อน และพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะใช้พิสูจน์ความจริงในคดี กรณีมีเหตุสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและเพื่อให้จำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
จำเลยจึงประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพ ขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 จำนวน 3 อันดับ ตามบัญชีพยานเพิ่มเติมที่แนบมาพร้อมกันนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมขอศาลที่เคารพโปรดอนุญาต
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
กรณีที่ 2.การยื่นบัญชีระบุพยาน ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง หรือในชั้นพิจารณาในคดีที่ศาลไม่ได้กำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐาน ก่อนการสืบพยาน
ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีด้วยตนเอง ศาลจะต้องกำหนดวันนัดไต่สวนมูลฟ้องก่อนเสมอ
(อ่านเพิ่มเติมเรื่องการไต่สวนมูลฟ้องได้ในบทความเรื่อง การไต่สวนมูลฟ้องตามกฎหมายใหม่ ซึ่งผมเขียนอธิบายไว้อย่างละเอียด)
หรือในคดีบางคดีที่ในชั้นพิจารณาศาลกำหนดให้มีการสืบพยานไปเลย โดยไม่ได้กำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานก่อน (ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีแล้ว)
ในคดีทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลายื่นบัญชีระบุพยาน ดังนี้
1.กำหนดระยะเวลายื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรก
สำหรับฝ่ายโจทก์ จะต้องยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันนัดไต่สวนมูลฟ้องหรือวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 15 วัน
ซึ่งคำว่าวันไต่สวนมูลฟ้องหรือวันสืบพยานนั้น หมายความถึงวันที่มีการไต่สวนมูลฟ้องหรือสืบพยานจริงๆ
หากศาลมีกำหนดวันนัดไต่สวนมูลฟ้องหรือสืบพยานไว้ แต่มีการเลื่อนนัดโดยไม่ได้มีการไต่สวนมูลฟ้องหรือสืบพยานจริงๆ กำหนดระยะเวลานี้ก็ยังไม่นับ
ซึ่งในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง หากโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้ว ย่อมถือว่าเป็นการยื่นบัญชีระบุพยานในทั้งคดี ซึ่งรวมถึงชั้นพิจารณาด้วย ( ฎ.2409/2523 ,ฎ.1512/2530 )
แต่สำหรับฝ่ายจำเลย กฎหมายให้สิทธิ์ในการต่อสู้คดีไว้อย่างกว้างขวางมากกว่าฝ่ายโจทก์ โดยฝ่ายจำเลยอาจจะยื่นบัญชีระบุพยานได้ก่อนวันนัดสืบพยานจำเลย ซึ่งคำว่า “วันสืบพยานจำเลย” ก็หมายถึงวันที่มีการสืบพยานจำเลยจริงๆ เช่นเดียวกัน ไม่ใช่วันที่เพียงนัดไว้แล้วเลื่อนไป ( ปวิอ.ม. 229/1 )
หากคู่ความฝ่ายใดไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ย่อมไม่มีสิทธิยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมภายหลัง และหากต้องการยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรก ภายหลังเวลาที่กฎหมายกำหนด จะต้องมีเหตุสมควรตามกฎหมาย (ดูข้อ 2.2)
2.การยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม
หากฝ่ายโจทก์หรือจำเลยต้องการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ต้องยื่นภายในกำหนดเดียวกันกับการยื่นบัญชีพยานครั้งแรก คือ ฝ่ายโจทก์ ไม่น้อยกว่า 15 วัน นับจากวันไต่สวนมูลฟ้องหรือสืบพยาน สำหรับฝ่ายจำเลยคือก่อนวันสืบพยานจำเลย (บัญชีพยานครั้งแรกกับบัญชีพยานเพิ่มเติม ใช้กำหนดเดียวกัน)
โดยการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมในกรณีดังกล่าว ต้องทำเป็นคำร้อง โดยไม่ต้องอธิบายสาเหตุในการขอยื่นบัญชีระบุพยานแต่อย่างใด (ป.วิ.อ.ม.229/1 วรรคหนึ่ง)
ตัวอย่างเช่น
คำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ครั้งที่ 1
ข้อ 1.คดีนี้ศาลที่เคารพโปรดนัดสืบพยานจำเลยในวันพรุ่งนี้
ข้อ 2. ทนายความจำเลยยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้ว แต่ยังไม่ครบถ้วน ทนายความจำเลยมีความประสงค์ขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 จำนวน 5 อันดับ ตามบัญชีพยานเพิ่มเติมที่แนบมาพร้อมกันนี้ขอศาลที่เคารพโปรดอนุญาต
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
3.การยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อพ้นกำหนด
หากฝ่ายโจทก์หรือจำเลย ต้องการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม หรือยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรก ภายหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลา ตามกฎหมายแล้ว คู่ความจะต้องทำเป็นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ต่อศาล พร้อมแสดงให้ศาลเห็นว่า
1.ตนเองไม่ทราบว่าจะต้องนำพยานหลักฐานบางอย่างมาสืบ
2.ไม่ทราบว่าพยานหลักฐานดังกล่าวได้มีอยู่
3.มีเหตุสมควรอื่นใด
ถ้าศาลเห็นว่าจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าวเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรมศาลก็มีอำนาจให้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและนำสืบพยานหลักฐานดังกล่าวได้ (ป.วิ.อ.ม.229/1 วรรคสาม )
ตัวอย่าง
คําร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ครั้งที่ 2
ข้อ 1 คดีนี้ศาลที่เคารพโปรดนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 30 มกราคม 2564
โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกไว้แล้วในวันที่ยื่นฟ้องคดี รายละเอียดปรากฏตามบัญชีพยานที่อยู่ในสำนวนของศาลแล้วนั้น
ข้อ 2.แต่เนื่องจากโจทก์เพิ่งทราบว่ามีพยานหลักฐานที่จะต้องนำสืบเพิ่มเติม เนื่องจากเพิ่งได้คุยกับพยานคนใหม่ที่มาแจ้งเหตุการณ์ให้ทราบ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 และพยานเพิ่งเล่าข้อเท็จจริงเพิ่มเติมให้โจทก์ทราบ
ข้อ 3. โจทก์จึงมีความประสงค์จะขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม จำนวน 2 อันดับ ตามบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมที่ได้แนบมาพร้อมกันนี้ ซึ่งพยานดังกล่าว เป็นพยานสำคัญในคดีนี้ที่สามารถชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทในคดีให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม
เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงขอศาลที่เคารพโปรดอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ตามบัญชีพยานเพิ่มเติมที่แนบมาพร้อมกันนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมขอศาลที่เคารพอนุญาต
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
กรณีที่ 3. การยื่นบัญชีระบุพยาน ในการไต่สวนเรื่องขอคืนหรือขอริบทรัพย์ของกลาง
ในการไต่สวนคำร้อง เรื่องขอคืนทรัพย์สินของกลาง หรือ ในคดีที่พนักงานอัยการขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินของกลาง จะมีกำหนดระยะเวลาในการยื่นบัญชีพยานที่เป็นเอกเทศ แตกต่างจากการพิจารณาคดีทั่วไป
กล่าวคือ คู่ความทั้งสองฝ่ายจะต้องยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันทำการไต่สวนคำร้องไม่น้อยกว่า 7 วัน ส่วนการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมหลังจากกำหนดดังกล่าว ใช้หลักการเดียวกันกับกรณีที่ 2 ทุกประการ (ป.วิ.อ.ม.229/1 วรรคสอง )
ข้อยกเว้นไม่ต้องยื่นบัญชีระบุพยาน
มีอยู่หลายกรณี ที่คู่ความได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ไม่ต้องยื่นบัญชีระบุพยาน ได้แก่
1.การอ้างเอกสารประกอบการถามค้าน หรือการพิสูจน์ต่อพยาน
ในการถามค้านฝ่ายตรงข้ามนั้น ทนายความย่อมมีสิทธินำพยานเอกสาร เช่น สัญญา สมุดบัญชี หลักฐานการสนทนาผ่านโปรแกรมไลน์หรือเฟซบุ๊ก หรือพยานวัตถุ เช่น รูปถ่าย คลิปวีดีโอกล้องวงจรปิด มาใช้ถามค้านเพื่อทำลายน้ำหนักพยานฝ่ายตรงข้าม
หากในการถามค้านนั้น พยานฝ่ายตรงข้ามได้เบิกความรับรองว่า เอกสารหรือวัตถุดังกล่าวมีอยู่จริง ฝ่ายผู้ถามค้าน ย่อมสามารถอ้างพยานเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าว ประกอบการพิจารณาได้ โดยไม่ต้องยื่นบัญชีระบุพยาน
โดยศาลฎีกาให้เหตุผลว่า พยานเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าว ไม่ถือเป็นเอกสารประกอบข้ออ้าง ข้อเถียง แต่เป็นเอกสารประกอบการถามค้านที่พยานฝ่ายตรงข้ามรับรองแล้ว
โดยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น ฎ.798-799/2499 ,ฎ.850/2534 , ฎ2251/2536 ,759/2508, 1461/2498 ,3470/2538 ,7812/2547 ,3770/2549
2.การไต่สวนคำร้องขอต่างๆ
การยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันนัดสืบพยานนั้น หมายถึงวันนัดสืบพยานในประเด็นข้อพิพาทหลักแห่งคดี แต่หากเป็นการนัดไต่สวนคำร้องขอต่างๆ เป็นเป็นประเด็นสาขาของคดี เช่น คำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ คำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ คำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ เช่นนี้ไม่อยู่ในบังคับจะต้องยื่นบัญชีพยานล่วงหน้าก่อนการไต่สวนแต่อย่างใด
โดยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น ฎ.192/2517 , ฎ.4278/2532 ,ฎ.421/2532 , ฎ.6143/2531 ,ฎ.910/2523
อย่างไรก็ตามถึงกฎหมายไม่ได้กำหนดว่า จะต้องยื่นบัญชีระบุพยานในการไต่สวนคำร้องสาขาคดีต่างๆ แต่การยื่นไว้ก็ไม่ผิดอะไร และจะมีผลดีเสียอีกด้วย เพราะหากยื่นบัญชีไว้พยานไว้แล้ว ย่อมใช่ได้ทั้งในชั้นพิจารณาประเด็นหลักของคดีด้วย (ฎ.583/2532 , ฎ.536-537/2536)
3.สำเนาเอกสารที่คู่ความแนบมาพร้อมคำฟ้อง คำให้การ
เอกสารที่คู่ความแนบมาท้ายคำฟ้องหรือคำให้การนั้น ถึงแม้ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้ แต่คู่ความฝ่ายตรงข้ามก็มีโอกาสตรวจสอบเอกสารดังกล่าวได้ล่วงหน้าเป็นเวลานาน ไม่ทำให้คู่ความฝ่ายตรงข้ามเสียเปรียบ
ศาลฎีกาจึงตีความว่า เอกสารที่แนบท้ายคำฟ้องคำให้การนั้น เป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง คำให้การ ดังกล่าวจึงนำสืบได้โดยไม่ต้องยื่นบัญชีระบุพยาน ( ฎ.9501/2542)
แต่ทางปฏิบัติ เราก็ควรจะยื่นระบุเอกสารที่แนบไปท้ายคำฟ้อง และคำให้การ ไปในบัญชีระบุพยานให้เรียบร้อยนะครับ ไม่ควรถือเอาว่า แนบไปท้ายฟ้องหรือคำให้การแล้ว ไม่ระบุในบัญชีพยานก็ได้ เพราะจะได้ตัดปัญหาข้อโต้แย้งอันไม่จำเป็น
4.สิ่งที่ไม่ใช่เป็นพยานหลักฐานโดยตรง
การยื่นบัญชีระบุพยานนั้นกฎหมายบังคับให้จะต้องยื่น เฉพาะพยานบุคคล พยานวัตถุ หรือพยานเอกสารที่จะใช้นำสืบประกอบข้ออ้างข้อเถียงของตนเท่านั้น
ในกรณีที่สิ่งใดไม่ใช่เป็นพยานหลักฐานตามกฎหมายจึงไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีระบุพยานแต่อย่างใด
ตัวอย่างเช่นคำแปลภาษาต่างประเทศ ไม่ใช่พยานหลักฐานโดยตรงเพราะพยานหลักฐานโดยตรงคือตัวต้นฉบับเอกสารไม่ใช่ตัวคำแปล ดังนั้นคำแปลภาษาประเทศต่างประเทศจึงไม่ใช่พยานหลักฐานที่จะต้องยื่นบัญชีระบุพยาน (ฎ.1349/2521)
แต่ทางปฏิบัติในการอ้างเอกสารต่างประเทศเป็นพยาน ในบัญชีพยานก็ควรระบุถึงคำแปลด้วยครับ เพื่อไม่ต้องเป็นปัญหาถกเถียงกัน
5.พยานหลักฐานที่ศาลเรียกมาสืบเอง
กฎเกณฑ์เรื่องการยื่นบัญชีระบุพยานนั้น ใช้บังคับกับคู่ความเท่านั้น ดังนั้นถ้าศาลใช้อำนาจเรียกพยานหลักฐานใดมาสืบในฐานะเป็นพยานหลักฐานของศาลเอง ก็ไม่จำเป็นต้องระบุพยานหลักฐานเหล่านั้นไว้ในบัญชีพยาน โดยมีตัวอย่างเช่น ฎ.2301/2545 ,ฎ.1565/2550
กล่าวโดยสรุปแล้ว ถึงแม้จะได้รับยกเว้นไม่ต้องยื่นบัญชีระบุพยานตามกฎหมาย แต่หากมีโอกาส หรือไม่หลงลืมก็ควรจะยื่นไว้เป็นดีที่สุด
ผลของการนำสืบพยานหลักฐาน โดยไม่ยื่นบัญชีระบุพยาน
หากคู่ความนำสืบพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ โดยไม่ได้ทำการยื่นบัญชีระบุพยาน ภายในกำหนดระยะเวลาและวิธีการตามที่กฎหมายกำหนด
ศาลย่อมไม่อนุญาตให้นำพยานหลักฐานดังกล่าวเข้าสืบ หรือหากศาลเผลอปล่อยให้มีการนำสืบพยานหลักฐานเช่นว่าเข้าสู่สำนวนแล้ว ศาลก็จะไม่สามารถรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวได้ (ฎ.566/2540)
ทั้งนี้ในชั้นพิจารณาหากคู่ความฝ่ายใด อ้างพยานหลักฐานที่ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลไว้ ก็เป็นหน้าที่คู่ความฝ่ายตรงข้ามที่จะต้องโต้แย้ง ไม่ให้นำพยานหลักฐานดังกล่าวเข้าสืบ
หากศาลยังทำการสืบพยานหลักฐานดังกล่าวต่อไป ย่อมถือเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ที่คู่ความฝ่ายตรงข้ามสามารถยื่นขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบได้ (ปวิพ.ม.27 และ ฎ.288/2513)
แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นในคดีแพ่งหรือคดีอาญา หากศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมมีความจำเป็นจะต้องรับฟังหรือสืบพยานหลักฐานดังกล่าวซึ่งเป็นประเด็นข้อสำคัญในคดี หรือเพื่อให้การวจินฉัยชี้ขาดประเด็นในคดีเป็นไปโดยเที่ยงธรรม หรือให้โอกาสจำเลยในคดีอาญาต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ศาลก็อาจจะใช้ดุลพินิจให้นำสืบและรับฟังพยานหลักฐาน ที่ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยาน ทั้งนี้ตาม ปวิพ.ม.87(2) ,ปวิอ.ม.173/1,ปวิอ.ม.229/1
กล่าวโดยสรุปก็คือ พยานหลักฐานที่ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานนั้นต้องห้ามไม่รับฟัง แต่ก็ไม่ได้ต้องห้ามเด็ดขาด มีข้อยกเว้นในการให้ศาลใช้ดุลพินิจได้ค่อนข้างกว้างขวาง
ส่วนการใช้ดุลพินิจดังกล่าวนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้พิพากษาแต่ละคน แต่หากเราเป็นฝ่ายนำสืบพยานหลักฐาน ก็ไม่ควรบกพร่องหรือหลงลืมไม่ยื่นบัญชีระบุพยานโดยหวังเอาว่าศาลจะใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐาน แต่ควรจะยื่นบัญชีระบุพยานให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดในทุกคดี
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง เช่น ฎ.210/2504 , ฎ.288/2513 , ฎ.6108/2531, ฎ.2043/2540 ,9501/2542 , ฎ.539/2545 , ฎ.5412/2552 , ฎ.6624/2550
ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่ศาลจะนำมาวินิจฉัยว่าควรรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานหรือไม่ ก็คือฝ่ายตรงข้ามได้โต้แย้งคัดค้านหรือไม่ และสาเหตุที่ไม่ได้ยื่นเป็นเพราะอะไร เป็นการจงใจจู่โจมทางพยานหรือไม่
เพราะวัตถุประสงค์ของการยื่นบัญชีระบุพยานก็เพื่อการป้องกันการเอาเปรียบฝ่ายตรงข้ามด้วยการจู่โจมทำพยานหลักฐานเป็นสำคัญ
หากฝ่ายตรงข้ามไม่ติดใจโต้แย้งคัดค้านเรื่องการนำสืบพยานหลักฐานโดยไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยาน และเหตุที่ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานไม่ได้เป็นไปเพราะความจงใจหรือต้องการจู่โจมเอาเปรียบกันในเชิงคดี ก็มีโอกาสสูงที่ศาลอาจจะรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวได้
เทคนิคทางปฏิบัติ – การยื่นบัญชีระบุพยาน
สำหรับเทคนิคทางปฏิบัติในการทำงานจริง เท่าที่ผมรวบรวมได้มีดังนี้
1.การจัดทำบัญชีระบุพยานนั้น จะต้องทำสำเนาให้กับฝ่ายตรงข้ามเสมอ
หากเป็นคดีที่มีฝ่ายตรงข้ามหลายคน ก็จะต้องจัดทำสำเนาบัญชีระบุพยานในจำนวนที่เท่ากับ คู่ความฝ่ายตรงข้ามเช่นคดีที่เราเป็นโจทก์มีจำเลย 7 คน ตอนทำบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมก็ต้องทำสำเนาให้ฝ่ายตรงข้ามจำนวน 7 ฉบับ
รวมทั้งการทำคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นครั้งไหนก็จะต้องมีสำเนาคำร้องให้กับฝ่ายตรงข้ามครบตามจำนวนด้วย
2.การระบุพยานเอกสาร ควรระบุทั้ง ต้นฉบับและสำเนา เช่น ต้นฉบับ/สำเนา สัญญากู้ยืมระหว่างโจทก์และจำเลย ลงวันที่ 15 มกราคม 2563
3.ระบุพยานบุคคลก่อน แล้วค่อยระบุพยานเอกสารเพื่อความสะดวกในการหาและอ้างอิง
4.ทางปฏิบัติ เมื่อเราจะนำพยานบุคคลหรือพยานเอกสารได้เข้านำสืบจะต้องเตรียมเช็คล่วงหน้าอีกครั้งว่า พยานบุคคลหรือพยานเอกสารที่จะนำสืบ เป็นบัญชีระบุพยานครั้งที่เท่าไหร่ลำดับที่เท่าไหร่ เผื่อศาลถามจะสามารถตอบได้เลย
5.ธรรมดาแล้วการยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา ทนายความจะยื่นไปพร้อมคำฟ้องหรือคำให้การเลย เพื่อป้องกันการหลงลืมยื่นบัญชีระบุพยานภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
6.ถึงแม้การยื่นบัญชีระบุพยานภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย จะสามารถทำกี่ครั้งก็ได้ แต่ทางปฏิบัติ ไม่ควรจะยื่นบัญชีระบุพยานหลายครั้งเกินไป เพราะจะทำให้ไม่เรียบร้อย และเปิดหาลำบากเมื่อจะอ้างอิง
7.การนับระยะเวลา 7 วัน หรือ 15 วัน ตามกฎหมายนั้น จะต้องนับเป็นวันเต็ม วันแรกที่ยื่นบัญชีระบุพยานไม่นับเป็น 1 วัน และ วันที่เริ่มสืบพยาน หรือวันตรวจพยานหลักฐาน ก็ไม่นับเป็น 1 วัน ทั้งนี้โดยนับรวมวันหยุดราชการด้วย (ฎ.1066/2516 , ฎ.2519/2520)
8.คดีที่เราเป็นทนายความโจทก์ร่วม โดยขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ บัญชีพยานของพนักงานอัยการย่อมถือเป็นบัญชีพยานของโจทก์ร่วมด้วย เราไม่ต้องยื่นบัญชีระบุพยานซ้ำกับของพนักงานอัยการอีก ( ฎ.568/2513 )
แต่หากเราต้องการอ้างอิงพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุ นอกเหนือจากของพนักงานอัยการ เราจึงค่อยยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมเข้าไป
9.หากคู่ความฝ่ายตรงข้ามยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมภายหลังระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือนำสืบพยานโดยไม่ได้ยื่นบัญชีพยาน โดยมีลักษณะเห็นว่าเป็นการจู่โจมกันทางพยานหรือเอาเปรียบกันในเชิงคดี เราก็ต้องคัดค้านในตอนนั้นเลย โดยควรทำคำร้องคัดค้านเป็นหนังสือยื่นต่อศาล หากไม่โต้แย้งคัดค้านไว้ อาจจะเป็นเหตุที่ทำให้ศาลอนุญาตหรือยอมรับฟังพยานดังกล่าวได้
10.หากเรามีความจำเป็นต้องยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ภายหลังระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ต้องอย่าลืมอ้างเหตุสมควร ที่ศาลควรจะให้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมด้วย อย่าระบุเพียงเหตุธรรมดาเช่น บัญชีพยานยังไม่สมบูรณ์ หรือหลงลืมยื่นไม่ครบถ้วน เพราะหากเจอศาลที่เคร่งครัด จะสามารถอนุญาตได้
คำต่อท้ายบัญชีระบุพยาน
ด้านท้ายของบัญชีระบุพยานจะมีช่องให้เขียนว่า พยานดังกล่าวเราจะนำมาสืบต่อศาลอย่างไร เพื่อให้ศาลและฝ่ายตรงข้ามเตรียมตัวได้ถูกต้อง
ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่ได้มีกฎหมาย หรือระเบียบกำหนดไว้อย่างชัดเจนแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงทางปฏิบัติที่ทำต่อๆกันมา
โดยปกตินิยมใช้คำดังนี้
- คำว่า “นำ” หมายถึง เราจะนำพยานดังกล่าวมาศาลด้วยตนเอง ไม่ต้องใช้อำนาจศาลออกหมายเรียก
- คำว่า “หมาย” หมายถึง เราไม่สามารถนำพยานดังกล่าวมาศาลได้ด้วยตนเอง แต่จะต้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานบุคคลหรือพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ ดังกล่าวมาใช้เป็นพยานที่ 3
- คำว่า “นำ/หมาย” หมายถึง เรายังไม่แน่ใจว่าจะสามารถนำพยานดังกล่าว มาเบิกความที่ศาลได้ด้วยตนเองหรือจะต้องขอหมายเรียกพยาน
- คำว่า “คำสั่งศาล” หมายถึง พยานหลักฐานดังกล่าวเราต้องการขอให้ศาลเป็นผู้ใช้อำนาจในการสั่งให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐาน เช่น การขอให้ศาลสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดทำแผนที่พิพาท การขอตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม DNA การขอเรียกสำนวนผูกติด เป็นต้น
- คำว่า “ประเด็น” หมายถึงพยานบุคคลดังกล่าว เราต้องการขอให้ศาลส่งประเด็นไปสืบที่ศาลอื่น
- คำว่า “เดินเผชิญสืบ” หมายถึงพยานวัตถุดังกล่าว เราต้องการขอให้ศาลไปเดินเผชิญสืบ เช่น การขอให้ศาลไปตรวจอาคารพาณิชย์พิพาท ในคดีก่อสร้าง เป็นต้น
- คำว่า “พยานเด็ก” หมายถึง พยานที่เป็นเด็กในคดีอาญาที่จะต้องใช้วิธีการนำสืบที่ต่างจากพยานทั่วไป
ตัวอย่างการระบุพยานรูปแบบต่างๆ
ตำราอ้างอิงประกอบการเขียนบทความ – สำหรับค้นคว้าเพิ่มเติม
บทความฉบับนี้จะเกิดขึ้นมิได้เลย หากปราศจากตำราอันทรงคุณค่าของอาจารย์หลายท่าน ดังต่อไปนี้
- กฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน จรัญ ภักดีธนากุล
- คำอธิบาย พยาน โสภน รัตนากร
- คำอธิบาย พยานหลักฐานคดีแพ่งและคดีอาญา ธานี สิงหนาท
- คำอธิบาย กฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน พรเพชร วิชิตชลชัย
- คำอธิบาย กฎหมายลักษณะพยาน เข็มชัย ชุติวงษ์
- กฎหมายลักษณะพยาน รศ. มรกต ศรีจรุณรัตน์
- กฎหมายลักษณะพยาน ภาคปฏิบัติ สุโรจน์ จันทรพิทักษ์
ผู้สนใจสามารถศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้ในหนังสือต่างๆที่กล่าวถึงข้างต้น