ตัวอย่างการต่อสู้ คดียาเสพติด ตอนนี้เป็นคดีข้อหาครอบครองเพื่อจําหน่ายเหตุเกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว สมัยผมเป็นทนายใหม่ๆ
จำเลย 2 คนในคดีนี้ถูกจับกุมข้อหาครอบครองยาเสพติดเพื่อจําหน่าย โดยจำเลยทั้งสองคนนี้มีประวัติใสสะอาดเป็นคนดีของสังคมมาตลอด โดยทั้งสองเรียนมีอายุเพียง 19 ปี และกำลังศึกษาอยู่ชั้น ปวส.ปีที่ 1
โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 นั้นเป็นเด็กดี ตั้งใจเรียน ได้เกรดเฉลี่ยสูงถึงประมาณ 3.5 และที่บ้านฐานะยากจน จำเลยที่ 1 ได้ ตั้งใจช่วยพ่อแม่ทำงานตลอดมา
ความผิดอย่างเดียวของเด็กทั้งสองคนนี้ ก็คือทั้งสองคนชอบเล่นกีฬาสนุ๊กเกอร์
และวันเกิดเหตุก็ได้เดินทางไปเล่นสนุ๊กกันอยู่ที่โต๊ะสนุกเกอร์บริเวณใกล้บ้าน โดยโต๊ะสนุ๊กดังกล่าวเป็นโต๊ะสนุ๊กตามบ้านนอก มีร้านขายของชำอยู่ข้างเคียง และมีเก้าอี้นั่งเล่นอยู่รอบๆโต๊ะสนุ๊กเกอร์
โดยโต๊ะสนุ๊กเกอร์นี้ มีลักษณะเป็นโต๊ะสนุกเกอร์แบบหยอดเหรียญคือเมื่อมีการหยอดเหรียญแล้วไฟที่โต๊ะสนุกเกอร์ก็จะสว่างขึ้นพร้อมให้คนเล่นตามกำหนด
ระหว่างการเล่นเกมส์สนุกเกอร์ของจำเลยทั้งสองนั้น ปรากฏว่ามีตำรวจบุกเข้าตรวจค้นโต๊ะสนุ๊กดังกล่าว นัยว่าได้รับแจ้งว่ามีคนในโต๊ะสนุกเกอร์ดังกล่าวเป็นผู้ค้ายาเสพติด
โดยตำรวจบุกเข้ามาอย่างเอิกเกริก จึงปรากฏว่าคนอื่นๆที่อยู่ แถวโต๊ะสนุ๊กหลังจากเห็นตำรวจก็ได้วิ่งหลบหนีออกไปทางป่าด้านหลังโต๊ะสนุ๊กเกอร์ไปหมด
ตำรวจพยายามไล่จับกุมบุคคลต่างๆที่วิ่งหลบหนี แต่ก็จับไม่ได้สักคนหนึ่ง จึงได้วกกลับมาที่โต๊ะสนุกเกอร์อีกครั้ง
ส่วนตัวจำเลยทั้งสองคนไม่ได้รู้เห็นอะไรเลย และคิดว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิดอะไร จึงไม่ได้วิ่งหลบหนีและยังคงแทงสนุ๊กต่อไป เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ทั้งนี้เพราะทั้งสองคนนี้ไม่ได้รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องอะไรกับยาเสพติดเลย จึงไม่เห็นความจำเป็นอะไรที่จะต้องหลบหนี
หลังจากตำรวจไม่สามารถจับกุมตัวบุคคลอื่นที่วิ่งหลบหนีได้แล้ว จึงได้ทำการตรวจค้นบริเวณโต๊ะสนุกเกอร์ ซึ่งปรากฏว่าพบยาเสพติดจำนวนหนึ่ง วางไว้อยู่บริเวณใกล้เคียง กับโต๊ะสนุกเกอร์ที่จำเลยเล่น
ตำรวจจึงได้จับกุมตัวจำเลยทั้งสองส่งพนักงานสอบสวน และกล่าวหาว่ามียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
ผลคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองปฏิเสธตั้งแต่ในชั้นจับกุม สอบสวน และพิจาณรณาและต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
แต่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเป็นเวลาคนละ 1 ปี โดยไม่รอการลงโทษ เพราะเชื่อว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดจริง โดยศาลชั้นต้นให้เหตุผลทำนองว่า
เมื่อพบจำเลยอยู่ใกล้เคียงกับยาเสพติด โดยจับบุคคลอื่นไม่ได้ ก็ต้องถือว่ายาเสพติดเป็นของจำเลย การที่จำเลยไม่หลบหนีไม่ถือว่าจำเลยไม่ผิด จำเลยอาจจะตกใจหลบหนีไม่ทันก็ได้ และจำเลยไม่ได้นำสืบให้ชัดเจนว่ายาเสพติดเป็นของใคร
ซึ่งความจริงแล้ว การที่ตำรวจตรวจพบยาเสพติดอยู่บริเวณโต๊ะสนุกเกอร์ซึ่งเป็นที่สาธารณะ ไม่มีพฤติการณ์ใดบ่งบอกเลยว่าจำเลยเป็นเจ้าของยาเสพติดดังกล่าว
และยาเสพติดเพียง 4 เม็ดหากเป็นของจำเลยจริง จำเลยก็คงจะเก็บไว้กับตัว ไม่วางไว้แถวโต๊ะสนุ๊กที่มีคนพลุกพล่านโดยเปิดเผยแต่อย่างใด
ประกอบกับจำเลยเองก็ไม่ได้วิ่งหลบหนีตำรวจ ชี้ให้เห็นอยู่แล้วว่าจำเลยไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพราะหากจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือรู้ว่ามียาเสพติดอยู่บริเวณดังกล่าวก็คงต้องวิ่งหลบหนีหรือพยายามทำลายหลักฐานแล้ว
ผมเห็นว่าคำตัดสินของศาลชั้นต้นยังให้เหตุผลได้ไม่ดีนัก หากยื่นอุทธรณ์ ย่อมมีโอกาสสูงที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผมจึงได้จัดการยื่น อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้กับจำเลยทั้ง 2 คดีนี้
ส่วนหนึ่งจากคำอุทธรณ์ โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ผมได้คัดเลือกเนื้อหาส่วนหนึ่งจากอุทธรณ์ ที่น่าสนใจในดคีนี้ ให้ดูเป็นตัวอย่าง เพื่อทำความเข้าใจการต่อสู้คดี และเพื่อเป็นแนวทางในการทำงานและศึกษาของเพื่อนๆและผู้สนใจครับ
1.ประเด็นเรื่องสถานที่เกิดเหตุเป็นสถานที่เปิด ใครก็เข้าออกได้
ประเด็นนี้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า
ขณะที่จำเลยทั้งสองถูกจับกุมนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจพบจำเลยทั้งสองกำลังเล่นสนุกเกอร์กันอยู่เพียงสองคน และเจ้าหน้าที่ตำรวจพบเมทเอมเฟตามีนบริเวณโต๊ะสนุ๊กเกอร์ที่จำเลยทั้งสองกำลังเล่นอยู่พร้อมอุปกรณ์การเสพเมทเอมเฟนตามีน ย่อมส่อแสดงถึงลักษณะและพฤติการณ์ในร่วมกันครอบครองเมทแอมเฟตามีนและอุปกรณ์การเสพเมทแอมเฟนตามีนอย่างตัวการ
ประเด็นนี้ผมโต้แย้งว่า ข้อวินิจฉัยนี้ยังผิดไปจากความเป็นจริงอยู่หลายประการ เนื่องด้วยโต๊ะสนุ๊กเกอร์ที่เกิดเหตุนั้น ขณะเกิดเหตุยังเปิดให้บริการอยู่ตามปกติ รายละเอียดปรากฏตามบันทึกจับกุมของตำรวจแล้วนั้น
ซึ่งธรรมดาโต๊ะสนุกเกอร์ที่เปิดให้บริการนั้น ย่อมมีลักษณะเป็นที่สาธารณะ กล่าวคือมีบุคคลเข้านอกออกในโดยพลุ่กพล่านอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโต๊ะสนุกเกอร์ที่เกิดเหตุนั้น เข้าออกได้สองทาง และบริเวณทางเข้าออกแต่ละทางนั้นไม่มีบานประตูเปิดปิด
ประกอบกับเป็นโต๊ะสนุกเกอร์ระบบหยอดเหรียญ กล่าวคือ เมื่อหยอดเหรียญ10บาทแล้ว ไฟที่โต๊ะสนุกเกอร์จะติดขึ้นมา 15 นาที ผู้เล่นจึงค่อยเล่นได้ บุคคลทั่วไปจึงสามารถเข้าออกโต๊ะสนุ๊กเกอร์เดังกล่าวได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของหรือ ผู้ที่กำลังเล่นสนุ๊กเกอร์ที่โต๊ะ
และโต๊ะสนุ๊กเกอร์ดังกล่าวมีการเปิดให้บริการตลอด 24ชั่วโมง โดยไม่ต้องมีคนคอยดูแลหรือคอยเก็บค่าบริการรายชั่วโมง ลักษณะของโต๊ะสนุ๊กเกอร์ที่เกิดเหตุ จึงมีลักษณะเป็นที่เปิดอย่างที่สาธารณะ
และย่อมมีผู้คนเข้าออกเพื่อมาตรวจสอบว่ามีผู้เล่นเกมส์สนุกเกอร์อยู่ก่อนหรือไม่ และผู้มานั่งรอเพื่อจะเล่นสนุ๊กเกอร์ต่อจากจำเลยทั้งสอง หรือนั่งชมการเล่นสนุ๊กเกอร์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
ซึ่งในข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นนี้พยานโจทก์ปาก ร้อยตำรวจเอกส. ก็เบิกความเจือสมในข้อนี้ โดยการตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสองว่า ” วันเกิดเหตุไม่ได้สอบถามเจ้าของบ้านที่เป็นเจ้าของโต๊ะสนุ๊กเกอร์ว่ามีใครเล่นสนุ๊กเกอร์อยู่บ้าง โดยทราบจากเจ้าของบ้านว่ามีคนเข้าออกเล่นสนุกเกอร์เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว”
เมื่อสภาพที่เกิดเหตุเป็นสถานที่เปิดอย่างที่สาธารณะและมีคนเข้าออกตลอดเวลา ก็เป็นการไม่แน่นอนลงไปว่า เมทเอมเฟตามีนที่พบนั้นจะเป็นของจำเลยทั้งสอง
ประกอบบริเวณไม้ค่าวฝาหรือระแนงไม้ ที่พบเมทเอมเฟตามีนทั้ง 4เม็ดนั้น ก็เป็นบริเวณใกล้กับม้านั่งสำหรับให้ผู้ที่เข้าชมเกมส์การเล่นนั่ง อีกทั้งยาเสพติดดังกล่าวก็ตั้งไว้โดยเปิดเผยไม่มีสิ่งใดปกปิด
การที่บุคคลอื่นจะนำยาเสพติดมาไว้บริเวณดังกล่าวนั้นย่อมเป็นไปได้ ยาเสพติดดังกล่าวอาจเป็นของ ผู้ที่เล่นเกมส์สนุ๊กเกอร์ก่อนหน้าจำเลยแล้วลืมทิ้งไว้ หรือของผู้อื่นที่นั่งชมเกมส์การเล่นหรือรอเล่นเกมส์ ซึ่งวิ่งหนีไปก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะเข้ามาพบ ย่อมเป็นไปได้ทั้งสิ้น
2.ประเด็นเรื่องยาเสพติดพบในสถานที่เปิดไม่อาจถือว่าจำเลยมีเจตนาครอบครอง
ประเด็นนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า
ตำรวจพบจำเลยทั้งสองอยู่ในโต๊ะสนุ๊กเกอร์ดังกล่าวเพียงสองคน และพบอุปกรณ์การเสพอยู่ในโต๊ะสนุ๊กเกอร์ ย่อมถือว่ายาเสพติดอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสอง
ประเด็นนี้ผมได้โต้แย้งว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ยังผิดไปจากข้อเท็จจริง ซึ่งอาจเทียบได้จากข้อเท็จจริงอันใกล้เคียงอย่างยิ่งในคำพิพากษาฎีกาที่ (ฎ.384/2534), (ฎ.196/2540), (ฎ.1373/2541), (ฎ.3027/2540),(ฎ.1369/2533),(ฎ102/2542),(ฎ.375/2542) (ฎ.2328/2542),(ฎ.915/2548),(ฎ.7370/2543),(ฎ.900/2536)
เมื่อศึกษาถึงข้อเท็จจริงในคำพิพากษาฎีกาเหล่านี้ ศาลฎีกาล้วนตีความหมาย คำว่า”ครองครอง”อย่างระมัดระวังยิ่ง เพราะความผิดเกี่ยวกับการมีสิ่งผิดกฎหมายไว้ในครอบครองนั้น การจะฟังเพียงจำเลยอยู่ในบริเวณที่พบสิ่งผิดกฎหมาย ไม่เป็นเหตุที่จะให้ฟังเป็นที่ยุติ หรือเป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยเป็นมีเจตนาครอบครองสิ่งผิดกฎหมาย
แต่จะต้องพิจารณาพฤติการณ์อื่นๆประกอบว่าจำเลยมี ”เจตนา” ครอบครองยาเสพติดที่พบนั้นหรือไม่ เช่น
- จำเลยหลบหนีหรือแสดงอาการตกใจมีพิรุธเมื่อพบตำรวจ
- พบสารเสพติดในปัสสาวะของจำเลย
- มีการสืบสวนทราบมาก่อนว่าจำเลยมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยปรากฏมีรายงานการสืบสวนเป็นขั้นตอนอย่างน่าเชื่อถือ
- จำเลยมีประวัติเป็นผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมาก่อน
- จำเลยอาศัยอยู่ที่สถานที่ที่พบยาเสพติดนั้นเป็นเวลานานและเป็นการถาวร
- จำเลยอาศัยรายได้จากค้าขายยาเสพติดของเจ้าของยาเสพติดโดยไม่ปรากฏว่าผู้นั้นทำอาชีพอื่นอันเป็นหลักแหล่ง
- สถานที่พบยาเสพติดเป็นสถานที่ปิด ผู้อื่นไม่สามารถเข้าออกได้โดยง่าย
- ยาเสพติดถูกซ่อนอย่างมิดชิดและจำเลยเป็นเจ้าของสถานที่นั้น
- ยาเสพติดที่พบมีจำนวนมากจนผู้อาศัยอยู่น่าจะรู้หรือสังเกตได้
เพียงการตรวจพบยาเสพติดในที่เกิดเหตุ และจำเลยอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุนั้นย่อมไม่ฟังเป็นที่ยุติว่าจำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองยาเสพติดนั้น ศาลจะต้องวินิจฉัยพฤติการณ์ต่างๆดังยกขึ้นกล่าวข้างต้นนั้นหรือพฤติการณ์อื่นๆของจำเลยประกอบด้วย
โดยเฉพาะในกรณีที่พบยาเสพติดในที่ ”สาธารณะ” หรือสถานที่เปิดอันพลุกพล่าน มิใช่ค้นพบในสถานที่รโหฐานที่บุคคลอื่นไม่สามารถเข้าออกได้โดยง่าย ดังเช่นคดีนี้
จำเป็นที่ศาลต้องชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานและพฤติการณ์อื่นๆประกอบในคดีอย่างระมัดระวัง จึงจะ ”เชื่อได้ปราศจากข้อสงสัย” ว่าจำเลยทั้งสองเป็ นเจ้าของหรือผู้ครอบครองยาเสพติดนั้น
เพราะเป็นการง่ายที่ผู้ใดจะนำของกลางไปวางไว้ก็ได้ ประกอบกับโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานเห็นว่าจำเลยเป็นผู้นำยาเสพติดไปวางไว้
และจำเลยไม่มีพฤติการณ์อื่นอันเชื่อมโยงกับการครอบครองยาเสพติดที่พบดังจำเลยทั้งสองกล่าวข้างต้นเลยแม้สักข้อ กรณีจึงยังไม่อาจรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองยาเสพติดที่พบนั้นโดยเจตนา
เพราะการพบยาเสพติดในโต๊ะสนุ๊กเกอร์ อันเป็นสถานที่สาธารณะ และจำเลยทั้งสองกำลังเล่นสนุ๊กเกอร์อยู่บริเวณนั้น ไม่ใช่ข้อบ่งชี้เป็นที่ยุติว่าจำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองยาเสพติดนั้น ข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงยังไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริง
ข้อ 3. ประเด็นถ้าเป็นของจำเลยจริง จำเลยคงเก็บไว้กับตัว
ประเด็นนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า
ยาเสพติดดังกล่าว ตั้งอยู่บริเวณไม้ค่าวฝา (ระแนงไม้) ที่อยู่ห่างจากบริเวณที่จำเลยเล่นสนุกเกอร์กันอยู่เพียง 2 เมตร มีลักษณะอยู่ในความครอบครองจึงถือว่าอยู่ในเงื้อมือที่จำเลยทั้งสองอาจหยิบฉวยมาใช้นั้น
ประเด็นนี้ผมโต้แย้งว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวยังคลาดเคลื่อนจากความจริงอยู่มาก เพราะธรรมดาการเล่นสนุกเกอร์นั้น ผู้เล่นย่อมเดินวนเวียนไปมารอบโต๊ะสนุ๊กเกอร์ มิได้ยืนนิ่งๆนั่งเฝ้าบริเวณที่พบยาเสพติดแต่อย่างใด และธรรมดาการเล่นกีฬานั้นกีฬาไม่ว่าประเภทใดๆก็ตาม ผู้เล่นย่อมใจจดจ่ออยู่กับเกมส์การเล่นของตนเองนั้น
ซึ่งหากเมทเอมเฟตามันดังกล่าวเป็นของจำเลยทั้งสองจริง ตามปกติวิสัยของคนตัวทั่วไปนั้นย่อมต้องเก็บสิ่งของมีค่าไว้ใกล้ตัว เมื่อจำเลยทั้งสองเดินเข้ามาเริ่มเล่นสนุ๊กเกอร์ ที่โต๊ะสนุ๊กเกอร์อันมีคนเข้าออกพลุกพล่าน จำเลยทั้งสองย่อมต้องนำเมทเอมเฟตามีนไปซุกซ่อนไว้ในสถานที่มิดชิด หรือต้องเก็บไว้ที่ตัวของจำเลยทั้งสองเองเพื่อป้องกันการสูญหายจากผู้อื่น
ซึ่งเมทแอมเฟตามีนจำนวนเพียง 4 เม็ดไม่ใช่ภาระอะไรที่จำเลยจะไม่สามารถพกพาไว้กับตัว จนทำให้จำเลยทั้งสองจะต้องนำไปวางไว้บริเวณไม้ค่าวฝานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมทแอมเฟตามีนเป็นของผิดกฎหมาย ผู้ครอบครองย่อมปกปิดการครอบครองของตน
จำเลยทั้งสองคงไม่วางไว้ในที่โดยเปิดเผยไม่มีสิ่งใดปกปิดเช่นนั้น หากเมทแอมเฟนตามีนเป็นของจำเลยทั้งสองจริงจำเลยทั้งสองก็คงเก็บซ่อนไว้กับตัว หรือนำไปเก็บซ่อนรวมไว้ที่ตู้เก็บไม้สนุกเกอร์อันเป็นจุดที่ตำรวจพบอุปกรณ์การเสพ ไม่มีเหตุผลอันใดที่ต้องแยกเก็บให้ยุ่งยากและล่อแหลมเช่นนั้น
และหากว่าเมทแอมเฟตามีนทั้ง 4 เม็ดนั้นอยู่ในเงื้อมือที่จำเลยทั้งสองอาจหยิบฉวยมาใช้ได้จริง ข้างๆจุดที่พบยาเสพติดนั้นเป็นคูคลอง ระหว่างเวลาที่ตำรวจกำลังจะเดินเข้ามาตรวจค้น จำเลยจะโยนเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวลงคลองย่อมทำได้โดยง่าย คงไม่ยืนเล่นสนุ๊กเกอร์ต่อไปแน่นอน
ข้อ 4.ประเด็นว่าจำเลยไม่ได้หลบหนี
ประเด็นนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า
การที่จำเลยทั้งสองไม่หลบหนี หรือการตรวจไม่พบสารเสพติดในปัสสาวะของจำเลยทั้งสองไม่พบนั้น ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าเมทแอมเฟตามีนที่พบไม่ใช่ของจำเลยทั้งสอง
ประเด็นนี้ผมโต้แย้งว่า ตามบรรทัดฐานของศาลฏีกาและตามธรรมดาความรู้สึกของปถุชนคนธรรมดาทั่วๆไป เมื่อมีตำรวจไปตรวจพบว่ามียาเสพติดอยู่ในที่เกิดเหตุ ถ้าหากผู้ใดหลบหนีจากที่เกิดเหตุหรือแสดงอาการตกใจ ก็ถือเป็นข้อพิรุธสงสัยอย่างหนึ่งว่าผู้นั้นน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่พบนั้น
(ถ้อยคำจากคำพิพากษาฎีกาที่ ฎ.184/2539 , ฎ.1359/2543 , ฎ.3615/2548 โดยคำพิพากษาฎีกาเหล่านี้ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า หากจำเลยหลบหนีย่อมเป็นข้อพิรุธว่าจำเลยน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่พบในที่เกิดเหตุ)
การที่จำเลยทั้งสองไม่หลบหนีหรือไม่แสดงอาการตกใจ กลับเล่นสนุกเกอร์ต่อไปโดยไม่ใยดี ย่อมให้ผลในทางตรงข้ามมิใช่หรือ หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นข้อคิดให้ศาลพิจารณาชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน อย่างรอบคอบว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่พบหรือไม่
ซึ่งเทียบข้อเท็จจริงอันใกล้เคียงอย่างยิ่ง โดยศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ในกรณีที่จำเลยไม่วิ่งหลบหนีใน (ฎ.93/2543) , (ฎ.3021/2544) , (ฎ.1373/2541)
ซึ่งศาลฏีกาล้วนตีความตรงกันว่า หากจำเลยไม่หลบหนี ย่อมสันนิษฐานไว้ก่อน ว่าจำเลยย่อมไม่รู้ว่ามียาเสพติดไว้ในครอบครองของตน เพราะตามสัญชาติญานของผู้กระทำผิดนั้นย่อมหลบหนีเมื่อพบเห็นตำรวจ
ข้อ 5.ประเด็นอ้างว่าจำเลยไม่นำสืบว่าเจ้าของยาเสพติดคือใคร
ประเด็นนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยศาลชั้นต้นที่ว่า
จำเลยทั้งสองไม่นำพยานบุคคลหรือพยานอื่นใดมานำสืบหักล้างหรือแย้งพยานหลักฐานโจทก์ให้เห็นได้ว่าเมทแอมเฟตามีนทั้งสี่เม็ด พร้อมอุปกรณ์การเสพนั้นเป็นของบุคคลใด ข้อต่อสู้ของจำเลยเป็นการเลื่อนลอยนั้น จำเลยขอโต้แย้งดังนี้
ประเด็นนี้ผมโต้แย้งว่า จำเลยที่ 4ไม่ทราบว่าเมทแอมเฟตามีนทั้ง 4 เม็ดเป็นของบุคคลใด การสืบหาเจ้าของเมทแอมเฟตามีนนั้นเป็นการพ้นวิสัยของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองไม่สามารถสืบหาตัวเจ้าของเมทแอมเฟตามีนติดมาเค้นให้รับสารภาพว่าเมทแอมเฟตามีนนั้นเป็นของเขา
เนื่องจากจำเลยทั้งสองมิใช่พนักงานตำรวจ ไม่ใช่เจ้าของโต๊ะสนุ๊กเกอร์ที่เกิดเหตุ และมิใช่ผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการยาเสพติด
การวินิจฉัยคดีอาญานั้น ไม่เหมือนกับการวินิจฉัยคดีแพ่งที่คู่ความทั้งสองมีหน้าที่จะต้องนำพยานหลักฐานมานำสืบแสดงต่อศาล ฝ่ายใดพยานหลักฐานมีน้ำหนักมากกว่ากัน ศาลก็ต้องตัดสินให้ผู้นั้นเป็นผู้ชนะคดี แต่ในคดีอาญา กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้กระทำความผิด โดยในรัฐธรรมนูญมาตรา 39 วรรคสอง ก็บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า ”ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหรือจำเลยไม่ได้กระทำความผิด”
ดังนั้นในเมื่อโจทก์เป็นผู้กล่าวหาว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้กระจ่างชัด โดยปราศจากข้อสงสัยตามสมควร ว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นและจำเลยเป็นผู้กระทำผิดนั้น
จำเลยมีสิทธิจะให้การต่อสู้คดีอย่างไรก็ได้ หรือจะไม่ให้การต่อสู้คดีก็ได้ เพราะกฏหมายสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ทั้งจำเลยให้การปฎิเสธในทันทีที่จับกุม ชั้นสอบสวน และชั้นพิจารณา จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะพิสูจน์ให้สิ้นข้อสงสัยอันสมควรว่า จำเลยเจตนาครอบครองยาเสพติดนั้น
หากโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ ก็ต้องประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 มิใช่ผลักหน้าที่ให้จำเลยนำสืบว่าเมทแอมเฟตามีนที่พบเป็นของใคร ถ้าจำเลยนำสืบไม่ได้ ก็ต้องฟังลงโทษจำเลยเช่นนั้นหรือ
ข้อวินิจฉัยและดุลยพินิจในส่วนนี้ของศาลชั้นต้นที่อ้างว่าจำเลยไม่นำสืบว่าเมทแอมเฟตามีนเป็นของใคร ข้อต่อสู้ของจำเลยเลื่อนลอย แล้วนำมารับฟังประกอบลงโทษจำเลยจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 39 วรรคสอง และประมวลกฏหมายวีพิจารณาความอาญามาตรา 227
ผลคำพิพากษา ของศาลอุทธรณ์แผนก คดียาเสพติด
สุดท้ายแล้วศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสองโดยให้เหตุผลทำนองว่า
ขณะที่พยานโจทก์ทั้งสองกับพวกนำกำลังไปที่บ้านหลังดังกล่าวและจอดรถไว้บริเวณหน้าห้องที่ตั้งสนุกเกอร์ ตัวจำเลยทั้งสองก็น่าจะเห็นรถของเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมเข้ามาจอด และทราบว่ามีกลุ่มวัยรุ่นกลุ่มนี้ตำรวจแต่ปรากฏว่าจำเลยไม่วิ่งหลบหนี หรือพยายามทำลายของกลาง
ในทางกลับกันปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยังคงเล่นสนุกเกอร์กันอยู่โดยไม่สนใจเจ้าพนักงานตำรวจ แล้วเมื่อตรวจค้นตัวจำเลยทั้งสองก็ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใด และสภาพห้องก็เป็นห้องที่บุคคลทั่วไปสามารถเดินเข้าออกได้ไม่ใช่ห้องปิด ลำพังเพียงพบยาเสพติดในสถานที่เปิดลักษณะดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาครอบครองยาเสพติดของกลาง
ซึ่งคดีนี้พนักงานอัยการไม่ได้ขออนุญาตฎีกา คดีจึงสิ้นสุดลงในชั้นอุทธรณ์
สรุป ข้อคิดที่ได้จากการต่อสู้ คดียาเสพติด เรื่องนี้
ข้อคิดและแนวทางที่ได้จากการต่อสู้คดีดังกล่าวก็คือ ในคดีความผิดทุกประเภทที่เป็นความผิดเกี่ยวกับการครอบครองสิ่งผิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็นยาเสพติดอาวุธปืนเถื่อนไม้ผิดกฎหมาย ฯลฯ
หากไม่ได้พบสิ่งผิดกฎหมายดังกล่าวอยู่ในตัวของจำเลยหรือในทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยอย่างชัดเจนแล้ว
ก็มีประเด็นที่ต้องพิจารณาและเป็นข้อต่อสู้ของจำเลยอย่างหนึ่งก็คือ จำเลยมีเจตนาครอบครองสิ่งผิดกฎหมาย ที่พบหรือไม่
โดยจะต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งคดีโดยรวมประกอบ มิใช่แต่เพียงพิจารณาว่าพบจำเลยอยู่ใกล้เคียงกับสิ่งผิดกฎหมายแล้วจำเลยจะมีความผิดเสมอไป ดังที่ผมได้เขียนอธิบายไว้อย่างละเอียดในอุทธรณ์ข้อที่ 2.
สุดท้ายนี้ ผมหวังว่าตัวอย่างการต่อสู้คดีจากประสบการณ์จริงเช่นนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆและผู้สนใจทุกคนครับ