บทความกฎหมายแพ่งและวิธีพิจารณาความแพ่ง

ฟ้องแบ่งสินสมรส หรือ ฟ้องแยกสินสมรส โดยไม่ต้องการหย่า และไม่ฟ้องหย่า ทำได้หรือไม่ ? มีแนวทางอย่างไร

ในกรณีที่คู่สมรสเกรงว่าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง จะจัดการสินสมรสไปในทางที่เสียหาย หรือมีพฤติการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจเกี่ยวกับการจัดการสินสมรส ตัวอย่างเช่น มีพฤติกรรมติดการพนัน หรือติดผู้หญิงอื่น หรือจะนำเงินหรือทรัพย์สินไปใช้สุรุ่ยสุร่าย หรือลงทุนในกิจการที่มีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดความเสียหาย

โดยทั่วไปแล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวมักจะร้ายแรงเพียงพอที่เป็นสาเหตุที่จะสามารถฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516 และถ้าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งต้องการย่อมสามารถฟ้องหย่าพร้อมกับการแบ่งสินสมรสก็สามารถกระทำได้ตามกฎหมาย

อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง กระบวนการและวิธีการฟ้องหย่า ในบทความเรื่อง “ฟ้องหย่ามีขั้นตอนอย่างไร”

แต่หากคู่สมรสไม่มีความประสงค์ที่จะฟ้องหย่า ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ เช่น ยังมีความรักคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ ยังไม่อยากให้ครอบครัวแตกแยกเพราะเห็นแก่บุตรผู้เยาว์ หรือเพราะเห็นว่าหากยินยอมฟ้องหย่าเท่ากับตรงตามประสงค์ของฝ่ายตรงข้ามที่ประพฤติตัวเลวร้ายเพราะอยากจะหย่าอยู่แล้ว แต่ก็ยังกังวลว่า มีทรัพย์สินสมรสที่เป็นชื่อของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอยู่

หรือเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในความครอบครองดูแลของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น โฉนดที่ดิน รถยนต์ เงินฝากในบัญชี พันธบัตร หรือหุ้น และหากไม่ฟ้องหย่าและแบ่งสินสมรส แต่ปล่อยทิ้งไว้ไม่ดำเนินการใดๆ ก็อาจจะเกิดความเสียหายต่อไปในอนาคต เพราะคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจยักย้ายถ่ายเท หรือกระทำให้เกิดความเสียหายกับสินสมรสได้นั้น

ยังมีวิธีการที่จะสามารถจัดการและรักษาสินสมรสไม่ให้เสียหายไปได้หลายวิธี โดยไม่จำเป็นต้องฟ้องหย่าและแบ่งสินสมรส เช่น

ได้แก่ 1. การขอแยกสินสมรส 2. การขอจัดการสินสมรส 3. การลงชื่อในสินสมรส

  ซึ่งการจะปรับใช้วิธีไหนนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับพฤติการณ์แต่ละรูปคดีนั้น

สำหรับการดำเนินคดีเพื่อขอ จัดการสินสมรสแต่เพียงผู้เดียว หรือ ขอแยกสินสมรส สามารถกระทำได้อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1484 โดยกฎหมายวางหลักเกณฑ์ไว้ว่า  

มาตรา 1484 ถ้าสามีหรือภริยาฝ่ายซึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรส

(1) จัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด

(2) ไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง

(3) มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือทำหนี้เกินกึ่งหนึ่งของสินสมรส

(4) ขัดขวางการจัดการสินสมรสของอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

(5) มีพฤติการณ์ปรากฏว่าจะทำความหายนะให้แก่สินสมรส

อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ผู้เดียวหรือสั่งให้แยกสินสมรสได้

ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีคำขอ ศาลอาจกำหนดวิธีคุ้มครองชั่วคราว เพื่อจัดการสินสมรสได้ตามที่เห็นสมควร และหากเป็นกรณีฉุกเฉินให้นำบทบัญญัติเรื่องคำขอในเหตุฉุกเฉินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ

ดังนั้นถ้ามีสินสมรสเป็นชื่อของคู่สมรสฝ่ายใด และปรากฎว่า คู่สมรสฝ่ายนั้นมีพฤติการณ์อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่สินสมรสตามกฎหมายดังกล่าว เช่น

 1.มีพฤติการณ์ติดสุรา ติดยาเสพติด หรือการพนัน มีพฤติกรรมนอกใจติดหญิงหรือชายอื่น มีแนวโน้มว่าจะผลาญทรัพย์สินสมรสไปกับอบายมุข เช่น  สามีมีเมียน้อยและกำลังจะยกสินสมรสให้เมียน้อยและบุตรที่เกิดกับภริยาน้อยโดยภริยาไม่ให้ความยินยอม  3890/2532  185/2492 3392/2548 

2.คู่สมรสทำลายทรัพย์สินสมรสโดยไม่มีเหตุผล

3.ไม่ให้การอุปการะเลี้ยงดูคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรแก่ฐานานุรูป 

4.ขัดขวางการจัดการสินสมรสอีกฝ่ายโดยไม่มีเหตุสมควร เช่น มีบ้านที่เป็นสินสมรสอยู่หนึ่งหลัง สามารถนำไปปล่อยเช่าได้ราคาดี โดยที่บ้านหลังดังกล่าวไม่มีผู้อาศัยอยู่แล้ว แต่คู่สมรสอีกฝ่ายกลับไม่ให้ความยินยอมในการให้เช่าโดยไม่มีเหตุผล เป็นต้น

5.คู่สมรสอีกฝ่ายปลอมลายมือชื่อตนเองเพื่อใช้ในการจัดการสินสมรส  1645/2548

คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ย่อมสิทธิดำเนินการทางกฎหมาย 2 ประการคือ

  1. ขอแยกสินสมรส ซึ่งหมายความว่าให้จัดแบ่งทรัพย์สินสมรสออกมาเป็น 2 ส่วนเลยและให้แต่ละฝ่ายมีอำนาจจัดการสินสมรสที่แบ่งมาในส่วนของแต่ละคนได้เอง  
  2. อให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเองเป็นผู้มีอำนาจจัดการสินสมรสแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งหมายความว่าให้คู่สมรสฝ่ายหนึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรสดังกล่าวได้แต่เพียงผู้เดียว คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีสิทธิใดๆในการจัดการทรัพย์สินดังกล่าวเลย 

การใช้สิทธิทางศาล ในการขอแยกสินสมรส หรือ การขอจัดการสินสมรสแต่เพียงผู้เดียว นั้นถึงแม้ตามตัวบทกฎหมายเขียนว่าเป็นการใช้คำร้องขอ แต่ทางปฏิบัติแล้วตามแนวคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยว่า  จะต้องจัดทำเป็นคำฟ้องไม่ใช่คำร้องขอ เพราะจะต้องให้โอกาสคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งต่อสู้คัดค้านป้องกันสิทธ์ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1326/2539 (อ้างอิงความเห็นของท่านอาจารย์ประสพสุข บุญเดช และอาจารย์ชาติชาย อัครวิบูรย์ ) 

ทั้งนี้หลักการเบื้องต้นในการยื่นคำฟ้องเพื่อจัดการทรัพย์สินสมรสนั้นคือ

1.จะต้องเป็นการยื่นฟ้องในขณะที่ทั้งสองฝ่ายเป็นคู่สมรสกันอยู่ และต้องไม่ได้มีการฟ้องหย่าพ่วงเข้ามาด้วย 

2.จะต้องบรรยายให้ชัดเจนว่าทรัพย์สินสมรสที่ต้องการที่จะแบ่งแยกหรือจัดการสินสมรสแต่เพียงผู้เดียวคืออะไร

3.ต้องบรรยายให้ชัดเจนว่าพฤติการณ์ของฝ่ายตรงข้ามที่เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายเป็นอย่างไร

4.บรรยายให้ชัดเจนว่าต้องการขอแบ่งแยกสินสมรสหรือขอจัดการสินสมรส และฝ่ายโจทก์มีความเหมาะสมในการเป็นผู้จัดการสินสมรสมากกว่าอย่างไร  หรือการแยกสินสมรสจะเป็นผลดีอย่างไร

นอกจากนี้ในการยื่นฟ้องขอแยกหรือขอจัดการสินสมรสแต่ผู้เดียวนั้น ฝ่ายโจทก์ผู้ฟ้องคดี หากเห็นว่าปล่อยการเนิ่นช้าไปจะเกิดความเสียหายต่อการจัดการสินสมรส ฝ่ายโจทก์ผู้ฟ้องคดีก็มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้ด้วย เช่น คู่สมรสกำลังจะเบิกถอนเงินจากธนาคารไปใช้จ่ายในทางเสียหาย หรือกำลังจะขายบ้านหรือที่ดิน ก็สามารถขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวโดยการอายัดบัญชี หรือ อายัดบ้านพร้อมที่ดินไว้ก่อนก็ได้ 

แต่ถ้าหากคู่สมรสฝ่ายที่มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินยังไม่มีพฤติการณ์เป็นที่แน่ชัดว่าจะกระทำการให้เกิดความเสียหายแก่สินสมรส หรือไม่มีพฤติการณ์อื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1484  แต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งก็ยังมีความกังวลว่า คู่สมรสอีกฝ่ายอาจจะจัดการสินสมรสไปในทำทางเสียหาย ก็สามารถใช้วิธี การขอลงชื่อร่วมในสินสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1475 เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน โดยกฎหมายวางหลักเกณฑ์ไว้ว่า 

มาตรา 1475  ถ้าสินสมรสใดเป็นจำพวกที่ระบุไว้ในมาตรา 456 แห่งประมวลกฎหมายนี้ หรือที่มีเอกสารเป็นสำคัญ สามีหรือภริยาจะร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของรวมกันในเอกสารนั้นก็ได้

ซึ่งถ้าปรากฏว่าทรัพย์สินสมรสใดที่มีเอกสารเป็นสำคัญ และมีชื่อของคู่สมรสฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ฝ่ายเดียว ถึงแม้จะไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าคู่สมรสฝ่ายที่ถือกรรมสิทธิ์นั้นจะจัดการสินสมรส ไปในทางเสียหายหรือมีวิธีการอื่นใดในทางเสียหายก็ตาม แต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของรวมในเอกสารดังกล่าวได้  ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาที่คู่สมรสฝ่ายที่มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวจะไปจัดการสินสมรสโดยลำพัง  และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งย่อมเกิดปัญหาข้อยุ่งยากในการแก้ไขภายหลัง

ตัวอย่างทรัพย์สินที่สามารถขอลงชื่อคู่สมรสแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ มีตัวอย่างบางส่วน เช่น 

1.ที่ดินที่มีโฉนด ฎ.156/2527  หรือที่ดินที่มีนส 3.ก (อ้างอิงความเห็นอาจารย์ชาติชาย อัครวิบูรย์ ประกอบ ฎีกา 3565/2538)

2.คอนโด

3.แพสัตว์พาหนะ เรือที่มีระวางเกินกว่า 5 ตันขึ้นไป 

4.รถยนต์ หรือเครื่องบิน   (โดยอ้างอิงจากความเห็นของอาจารย์ประสพสุขบุญเดชว่าสามารถร้องขอลงชื่อเป็นกรรมสิทธิ์ได้ ถึงแม้แต่เดิมมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2270’/2521 วินิจฉัยว่ารถยนต์นั้นไม่สามารถขอลงชื่อร่วมได้ เพราะทะเบียนรถยนต์ไม่ใช่หลักฐานของการตั้งสิทธิ แต่ปัจจุบันมีการแก้ไข พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2551 มาตรา 17 โดยวางหลักว่ารถยนต์ที่จดทะเบียนแล้วเป็นทรัพย์สินที่สามารถจำนองได้ตามกฎหมาย และให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อในรถยนต์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ดังนั้นปัจจุบันจึงสามารถฟ้องขอลงชื่อร่วมในรถยนต์ได้ ) 

5.เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร  พันธบัตร สลากออมสิน สลากออมทรัพย์ หรือหุ้น เป็นต้น

6.เครื่องจักรที่ต้องจดทะเบียนตาม พ.ร.บ. เครื่องจักรกร พ.ศ.2514 

ซึ่งการฟ้องขอลงชื่อร่วมในสินสมรสดังกล่าวนี้ เป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ในทุกกรณี ถึงแม้ไม่ปรากฎพฤติการณ์ที่ชัดเจนว่าคู่สมรสฝ่ายที่มีชื่อถือทรัพย์สินแต่เพียงฝ่ายเดียว จะกระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สินสมรส และจะต้องจัดทำเป็นคำฟ้องเช่นเดียวกัน ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1326/2539

โดยการฟ้องขอลงชื่อร่วมในสินสมรสนี้ คู่สมรสฝ่ายที่มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ไม่มีสิทธิปฏิบัติไม่ให้ลงชื่อร่วมได้ และศาลก็ไม่มีสิทธิใช้ดุลยพินิจจะไม่ให้ลงชื่อร่วม เพราะเป็นสิทธิโดยเด็ดขาดของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งที่จะขอลงชื่อร่วมในทรัพย์สิน ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1124/2595

นอกจากนี้การฟ้องลงชื่อร่วมในสินสมรส ยังสามารถกระทำได้ตลอดเวลาที่ทั้งสองฝ่ายยังเป็นสามีภริยากัน ไม่ว่าจะจดทะเบียนสมรสกันมานานแล้วแค่ไหน โดยไม่มีการขาดอายุความ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2013/2535

กล่าวโดยสรุปแล้ว ถ้าท่านต้องเจอเหตุการณ์ ที่คู่สมรสอีกฝ่ายนึงกำลังมีวิธีการจะผลาญสินสมรส หรือก่อให้เกิดความเสียหายกับสินสมรส ไม่ว่าจะเป็นด้วยความหลงใหลในอบายมุข หรือการติดพันหญิงหรือชายอื่น หรือเป็นการแกล้งทำตัวผลาญทรัพย์สินสมรส เพื่อต้องการทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถทนได้และต้องฟ้องหย่า  หากท่านไม่ประสงค์จะฟ้องหย่า แต่ก็ยังต้องการรักษาทรัพย์สินสมรสไว้ ก็สามารถใช้วิธียื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่เพียงผู้เดียวหรือฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอแยกสมรสได้  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1484 

 แต่หากยังไม่มีความชัดเจนว่าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง จะจัดการสินสมรสไปในทางเสียหายถึงขนาดหรือไม่มีเหตุที่จะแยกสินสมรสหรือจัดการสินสมรสแต่เพียงผู้เดียวได้ ท่านก็สามารถใช้วิธีการขอลงชื่อร่วมในสินสมรสได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1475 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหายุ่งยากขึ้นในอนาคตได้  

โดยการยื่นฟ้องคดีลักษณะเช่นนี้ จะต้องยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวที่อยู่ในเขตอำนาจ และถือเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ซึ่งเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาทเท่านั้น และส่วนใหญ่แล้วคดีลักษณะเช่นนี้มักจะจบลงที่การเจรจาไกล่เกลี่ย หาทางออกร่วมกันระหว่างสามีภริยา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคู่ความทุกฝ่ายที่สุด

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts