บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

ตัวอย่างการยื่นฟ้องคดีฉ้อโกง Ep.5 หลอกผู้ลงทุนเข้าสู่การค้าข้าว-น้ำตาล ตัวอย่างการศึกษาและแนวปฏิบัติในการดำเนินคดีจากประสบการณ์จริง

ตัวอย่างการฟ้อง คดีฉ้อโกง ในวันนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ การที่จำเลยหลอกให้ผู้เสียหายลงทุนในกิจการที่อ้างว่าจะมีผลตอบแทนเป็นจำนวนมาก

ซึ่งคดีประเภทนี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ที่ทนายความจะต้องเจอ และจะต้องฟ้องคดีลักษณะนี้

โดยทั่วไปคดีประเภทนี้ จะเริ่มจากผู้ต้องหาจะมาหลอกผู้เสียหายทำนองว่า มีกิจการหรือการลงทุน ซึ่งจะมีผลกำไรตอบแทนดีเป็นอย่างมาก แต่ตัวผู้ต้องหาไม่มีเงินลงทุน หรืออ้างว่าผู้ต้องหาลงทุนไปบางส่วนแล้วได้ผลกำไรตอบแทนดี จึงชวนให้ผู้เสียหายมาลงทุนและแบ่งปันผลกำไรกัน 

ในช่วงแรก ผู้ต้องหาก็จะมอบผลกำไรบางส่วนให้ผู้เสียหายตายใจและลงเงินเยอะขึ้น

และภายหลัง เมื่อผู้เสียหายลงเงินเป็นจำนวนมากแล้ว ผู้ต้องหาก็จะไม่ส่งมอบต้นเงินพร้อมกับผลกำไรให้

โดยจะอ้างเหตุผลต่างๆนานา เช่นกิจการเกิดขาดทุน คู่ค้าไม่จ่ายเงิน สินค้ามีปัญหา ฯลฯ สารพัดเหตุผลจะอ้าง


การพิจารณาว่าเป็น คดีฉ้อโกง หรือเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง

ในคดีแบบนี้การจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกง หรือจะเป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง ประเด็นมีอย่างเดียวก็คือ ผู้ต้องหาได้นำเงินของผู้เสียหายไปลงทุนในกิจการตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่ 

หากผู้ต้องหาเอาเงินของผู้เสียหายไปลงทุนจริง แต่กิจการเกิดปัญหา ทำให้ไม่สามารถนำเงินมาคืนได้ก็เป็นเพียงแต่เรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น

แต่หากผู้ต้องหาไม่ได้นำเงินของผู้เสียหายไปลงทุนจริงๆในกิจการตามที่กล่าวอ้าง ย่อมเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามกฎหมาย 

ตัวบทกฎหมาย

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 102/2533 จำเลยที่ 1 มิได้ประกอบธุรกิจค้าขายทองคำจริงดังที่บอกโจทก์ เพียงแต่ยกขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อหลอกลวงให้โจทก์หลงเชื่อและมอบเงินให้จำเลยที่ 1 เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงดังฟ้อง ที่จำเลยที่ 1นำสืบต่อสู้คดีว่ามิได้หลอกลวงโจทก์จำเลยที่ 1 นำเงินไปลงทุนซื้อทองคำและนำทองคำไปขายให้แก่ลูกค้าจริงนั้น คงมีแต่ตัวจำเลยที่ 1 อ้างตนเองเป็นพยานเพียงปากเดียว ปราศจากพยานหลักฐานอื่นใดสนับสนุน พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 จึงมีลักษณะเลื่อนลอยไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ แต่ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี ซึ่งเป็นโทษขั้นสูงสุดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 นั้น เห็นว่า หนักเกินไป เนื่องจากได้ความว่าจำเลยที่ 1 กับโจทก์มีความเกี่ยวพันกันเสมือนญาติ และโจทก์ได้รับเงินคืนจากจำเลยที่ 1 เป็นจำนวน 447,500 บาท แล้วจึงสมควรวางโทษต่ำกว่าอัตราโทษขั้นสูงสุดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1301/2547  จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำเงินที่กู้ยืมจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายไปลงทุนหรือให้บุคคลอื่นกู้ยืมในลักษณะที่จะให้ผลประโยชน์มากเพียงพอที่จะนำมาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายได้ หากแต่การจ่ายผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยในอัตราสูงให้แก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายในครั้งแรก ๆ เป็นเพียงอุบายทุจริตตั้งเรื่องขึ้นเพื่อหลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายให้หลงเชื่อและส่งมอบเงินให้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 877/2537 การที่จำเลยกับพวกชักชวนผู้เสียหายทั้งสิบคนและบุคคลอื่นให้นำเงินมาลงทุนกับบริษัท เพื่อประกอบกิจการสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าเพื่อเก็งกำไรทั้ง ๆ ที่จำเลยรู้อยู่ว่าบริษัท อ. ไม่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการดังกล่าวและการประกอบกิจการตามที่อ้างจะมีขึ้นไม่ได้แน่นอน การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบคน และบุคคลทั่ว ๆ ไปไม่จำกัดว่าเป็นใครอันเป็นการหลอกลวงประชาชนด้วยการการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งโดยเจตนาทุจริต ทำให้ผู้เสียหายทั้งสิบคน หลงเชื่อมอบเงินให้แก่จำเลยกับพวกไปจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341,343

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2901/2547 การที่จำเลยกับพวกชักชวนผู้เสียหายทั้งสิบคนและบุคคลอื่นให้นำเงินมาลงทุนกับบริษัท เพื่อประกอบกิจการสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าเพื่อเก็งกำไรทั้ง ๆ ที่จำเลยรู้อยู่ว่าบริษัท อ. ไม่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการดังกล่าวและการประกอบกิจการตามที่อ้างจะมีขึ้นไม่ได้แน่นอน การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบคน และบุคคลทั่ว ๆ ไปไม่จำกัดว่าเป็นใครอันเป็นการหลอกลวงประชาชนด้วยการการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งโดยเจตนาทุจริต ทำให้ผู้เสียหายทั้งสิบคน หลงเชื่อมอบเงินให้แก่จำเลยกับพวกไปจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343


ทั้งนี้สามารถอ่านเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าว ได้ในบทความเรื่อง กู้ยืม ร่วมลงทุน ฉ้อโกง แตกต่างกันอย่างไร ในลิ๊งด้านล่างครับ 

กู้ยืม ร่วมลงทุน หรือฉ้อโกง แตกต่างกันอย่างไร ? เรื่องต้องรู้ก่อนฟ้องเรียกเงินทุนคืน


สำหรับ คดีฉ้อโกง ตามตัวอย่างในวันนี้

เป็นคดีที่คล้ายกับเรื่องที่ผมเล่าให้ฟังก็คือ ฝ่ายจำเลยมาหลอกลวงผู้เสียหายว่าตนเองประกอบธุรกิจ ค้าน้ำตาล และข้าวสาร 

จำเลยชักชวนให้ผู้เสียหายมาลงทุน ด้วยการซื้อน้ำตาลและข้าวสาร ในราคาถูกและไปขายต่อในราคาสูงขึ้น ซึ่งจะได้ผลกำไรเป็นจำนวนมาก 

 ในช่วงแรกจำเลยก็ให้ผลกำไรตอบแทนตามที่ตกลงกัน ผู้เสียหายจึงยิ่งเชื่อใจลงเงินเยอะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นเงินหลายแสนบาท 

สุดท้ายจำเลยก็บ่ายเบี่ยงไม่ยอมจ่ายเงินลงทุนและผลกำไร อ้างเหตุผลต่างๆนานา 

ผู้เสียหายพยายามติดตามทวงถามอยู่นาน แต่ก็ไม่ได้ความคืบหน้าแต่อย่างใด มีแต่การผัดผ่อนไปเรื่อย

ผู้เสียหายจึงได้มาปรึกษาผม

ผมจึงได้ติดต่อสอบถามไปยังบริษัทค้าน้ำตาล และค้าขายข้าวสาร ที่จำเลยอ้างว่าติดต่อไปซื้อสินค้าเพื่อขายต่อ 

ปรากฏว่า คู่ค้าดังกล่าวได้แจ้งว่าจำเลยไม่เคยเข้ามาติดต่อสั่งซื้อสินค้าตามที่กำหนดให้แต่อย่างใด

แสดงว่าเรื่องที่จำเลยกล่าวอ้างว่า จะนำเงินของผู้เสียหายไปลงทุนในกิจการต่างๆ จึงล้วนแต่เป็นความเท็จทั้งสิ้น

กรณีจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามกฎหมาย 

คดีนี้ผมได้ยื่นฟ้องและบรรยายฟ้องไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

ซึ่งปรากฏว่าในวันนัดแรก จำเลยไม่มาศาลตามกำหนดนัดแต่อย่างใด ศาลจึงได้สั่งประทับรับฟ้อง เมื่อศาลประทับรับฟ้องแล้วก็ไม่เดินทางมาศาล  

ฟ้องคดีอาญา มีขั้นตอนอย่างไร? รวมทุกเรื่องที่คุณจะต้องรู้ ก่อนฟ้องคดีอาญา พร้อมอธิบายขั้นตอนการดำเนินคดีแบบละเอียดทุกประเด็น

เมื่อจำเลยไม่มาศาล ศาลจึงได้ออกหมายจับจำเลย และได้ติดตามจับกุมตัวจำเลยอยู่นานก็ยังไม่ได้ตัว

สุดท้ายผมต้องลงมือสืบจับตัวจำเลยด้วยตนเอง โดยการส่งทีมงานไปลงตามสืบหาตัวจำเลยยถึงที่จังหวัดแถวภาคอีสาน

ซึ่งปรากฎว่า มาทราบภายหลังว่าจำเลยเป็นภริยาน้อยของนายตำรวจคนหนึ่ง จึงไม่มีตำรวจติดตามจับกุมตัวให้

โดยบ้านของจำเลยก็อยู่ใกล้ๆกับโรงพักแบบเดินเข้าออกกันได้นั่นเอง

สุดท้ายเมื่อจับตัวจำเลยได้แล้ว จำเลยจึงยอมรับสารภาพและคืนเงินให้ผู้เสียหายบางส่วน และตกลงว่าจะผ่อนชำระหนี้ส่วนที่เหลือ 

หลังจากนั้นจำเลยก็ไม่ชำระเงินให้เสร็จสิ้น ผมจึงขอศาลอ่านคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไปแล้ว ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย เป็นเวลา 1 ปี 1 เดือน 10วัน

แต่ายหลังศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยแล้วจำเลยได้หาเงินมาชำระหนี้ทั้งหมด จนผู้เสียหายพอใจ

ปัจจุบันผมจึงได้ถอนฟ้องคดีนี้ไปภายแล้วครับ

ผมจึงได้นำตัวอย่างคำฟ้อง และคำพิพากษา มาให้เพื่อนๆดูเพื่อเป็นตัวอย่างในการทำงานและศึกษาครับ  

คำฟ้อง 1

คำฟ้อง 1

คำฟ้อง 2

คำฟ้อง 2

คำฟ้อง 3

คำฟ้อง 3

คำฟ้อง 4

คำฟ้อง 4

คำพิพากษา 1

คำพิพากษา 1

คำพิพากษา 2

คำพิพากษา 2

 

 

คำพิพากษา 3

คำพิพากษา 3


สำหรับเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ว่า

การลงทุนอะไรที่จะได้ผลกำไรตอบแทนง่ายๆเป็นจำนวนมาก  โดยไม่มีความเสี่ยงไม่มีอยู่จริงครับ

ถ้าฝ่ายผู้ต้องหาเขาสามารถทำกำไรได้ง่ายๆเป็นจำนวนมาก เขาจะมาเอาเงินจากเราทำไมเขาไปหากู้ธนาคารหรือหาเงินทุนจากแหล่งอื่นมาทำกำไรเป็นของเขาเองคนเดียวดีกว่า 

ไม่มีทางที่เขาจะมาให้เราแบ่งปันผลกำไรง่ายๆแบบนี้ นอกจากเขาคิดจะหลอกลวงเราครับ  

ผมหวังว่าคำฟ้องและตัวอย่างจากการทำงานจากประสบการณ์จริงนี้ จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆและผู้สนใจครับ 


อ่านตัวอย่างการฟ้องคดีฉ้อโกงตอนอื่น

1.ตัวอย่างการฟ้องคดีฉ้อโกง และเทคนิคการฟ้องคดีฉ้อโกงตอนแรก หลอกเอาเงินไปสั่งผลิตสินค้า

2. ตัวอย่างการฟ้องคดีฉ้อโกง ep2.  หลอกร่วมลงทุนประกอบกิจการ 

3.ตัวอย่างการฟ้องคดีฉ้อโกง ep3. หลอกลงทุนซื้อขายรถ 

4.ตัวอย่างการฟ้องคดีฉ้อโกง ep4. หลอกให้เช่าซื้อรถแทน 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts