บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

ความแตกต่างระหว่าง คำว่า “ศิลปะ” กับ คำว่า “ลามก” ตามกฎหมาย

ศิลปะ ลามก

 

 

 

 

 

 

 

 

ความแตกต่างระหว่าง คำว่า “ศิลปะ” กับ คำว่า “ลามก” ตามกฎหมาย

ความผิดทางอาญาที่เกี่ยวข้องกับรูปภาพอันมีลักษณะลามกตามกฎหมายมีอยู่หลายประการ เช่น การทำ ผลิต นำเข้า หรือเผยแพร่รูปภาพลามกเพื่อการค้า ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 287 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือ การนำรูปภาพลามกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ มีความผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาตรา 14 อนุมาตรา 4 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท ตัวอย่าง ของการกระทำผิดตามมาตรานี้ เช่น การโพสรูปลามกลงในเว็บบอร์ด หรือเฟซบุ๊ค ที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เป็นต้น

ซึ่งตามกฎหมายแล้ว มีเส้นแบ่งความแตกต่างกันอยู่ระหว่างรูปภาพอันลามก กับ รูปภาพอันเป็นศิลปะที่แสดงให้เห็นถึงความงามของทรวงทรงอวัยวะภายนอกของมนุษย์และแสดงฝีมือในการถ่ายหรือวาดภาพ ซึ่งไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย

ทั้งนี้ต้องอธิบายก่อนว่า รูปภาพอันลามกนั้น อาจแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ คือรูปภาพที่ก่อให้เกิดการยั่วยุทางกามารมณ์หรือทำให้เกิดกำหนด (pornography) และรูปภาพที่ทำให้เกิดความรู้สึกอันน่ารังเกียจทางเพศ เช่นรูปถ่ายทางเพศในลักษณะหยาบช้า เช่นรูปหรือหนังโป๊ประเภทมีเซ็กกับสัตว์เป็นต้น (obscenity) ซึ่งกล่าวโดยสรุป รูปภาพอันลามกจะทำให้วิญญูชนผู้พบเห็นมีความรู้สึกอุจาด บัดสี หยาบช้า น้อมนำไปสู่ความชั่วหรือความใคร่ทางกามารมณ์ ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นรูปของภาพเปลือยมนุษย์หรืออวัยวะเพศหญิงหรือชาย ส่วนรูปภาพศิลปะนั้น โดยหลักแล้วจะต้องการสื่อถึงความงามของสัดส่วนของมนุษย์ประกอบกับ ฝีมือในการถ่ายภาพหรือวาดภาพของศิลปิน หรืออารมณ์ของศิลปินซึ่งการหาเส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่เป็นสิ่งลามกหรือศิลปะนั้น ต้องพิจารณาจากความรู้สึกของวิญญูชน หรือบุคคลทั่วไปในสังคมนั้นๆ ซึ่งอาจมีวิวัฒนาการหรือเปลี่ยนแปลงไปได้ตามยุคสมัย และที่สำคัญการพิจารณาในมุมมองของบุคคลทั่วไปผู้มิใช่เคร่งครัดต่อจารีตประเพณีโดยไม่ยอมเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยของโลก (อ.จิตติ ติงศภัทย์ กฎหมายอาญาภาค 2 ตอน 1 คำพิพากาษาศาลฎีกาที่ 978/2492)

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่าเป็นรูปศิลปะ เช่น

1.ภาพหญิงเปลือยกายในท่าทางต่างๆ ที่ไม่เปิดเผยให้เห็นของลับอิถีลึงค์เป็นแต่แสดงให้เห็นความงามของทรวงทรงอวัยวะภายนอกและแสดงฝีมือในการถ่ายและวาดภาพ ไม่แสดงไปในทางเลวทรามต่ำช้าแล้ว ไม่เป็นของลามก

2.รูปผู้หญิงเปลือยกายเห็นเด่นชัดเฉพาะถัน (หัวนม) ส่วนโยนีถูกระบายให้ลบเลือนเห็นเพียงฐาน แสดงสุขภาพอนามัยของการอาบแดด สอนวิธีเขียนสัดส่วนความงามของร่างกาย ไม่น่าเกลียดอุจาดบัดสีที่นิยม ไม่เป็นลามกอนาจาร (ฎ.978/2492)

3.ภาพสตรีแสดงส่วนสัดความสมบูรณ์ของร่างกายที่ไม่มีสิ่งปกปิด ส่วนล่างพยายามปกปิดหรือทำเป็นเพียงเงาๆ ลบเลือนให้เป็นอวัยวะที่ราบเรียบแล้วไม่มีลักษณะน่าเกลียด น่าอุจาดบัดสี ไม่เป็นภาพลามก ( ฎ.1223/2508)

ส่วนตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่าเป็นรูปลามก เช่น

1.ภาพหญิงยืนเปลือยกายกอดชาย ภาพหญิงสวมแต่กางเกงในโปร่งตามีผู้ชายนอนกอดมือโอบบริเวณทรวงอก ภาพหญิงเปลือยกายท่อนบนใช้มือจับหูโทรศัพท์กดที่อวัยวะเพศ ภาพหญิงเปลือยกายมีแหคลุมตัวมือข้างหนึ่งกุมนมอีกข้างหนึ่งกุมอวัยวะเพศ ภาพหญิงเปิดเสื้อให้เห็นนม ล้วงมือเข้าไปในกระโปรง ภาพหญิงเปลือยอกสวมกางเกงในมือล้วงไปที่อวัยวะเพศ และภาพหญิงเปลือยอกสวมกางเกงขาสั้น มือข้างหนึ่งล้วงไปจับที่อวัยวะเพศ ภาพดังกล่าวแม้ไม่เห็นอวัยวะเพศชัดเจนแต่ก็มีลักษณะส่อไปในด้านยั่วยุ กามารมณ์ และภาพหญิงเปลือยตลอดร่างซึ่งพอเห็นอวัยวะเพศได้บ้างถือได้ว่าเป็นภาพอัน ลามก ไม่ใช่ภาพศิลปะ ที่แสดงถึงส่วนสัดความสมบูรณ์ของร่างกาย (ฎ.3510/2531)

2.ภาพพิมพ์ของกลางเป็นภาพหญิงสาวซึ่งมีบางภาพเปิดเผยเต้านมอย่างโจ่งแจ้ง ส่วนที่อวัยวะเพศแม้จะมีผ้าอาภรณ์ปกปิดไว้ แต่ก็ปกปิดไว้อย่างหมิ่นเหม่ ซึ่งนอกจากจะอยู่ในอิริยาบถที่ไม่เรียบร้อยไม่น่าดูแล้ว ยังอยู่ในอิริยาบถที่น่าเกลียดน่าบัดสีอีกด้วยกล่าวคือ มีบางภาพอยู่ในอิริยาบถนอนก็นอนหงายถ่างขาออกอย่างกว้างทำนองเจตนาเพื่ออวด อวัยวะเพศอย่างเด่นชัด ส่วนภาพที่อยู่ในอิริยาบถนั่งก็นั่งถ่างขาออกแม้จะมีผ้าปกปิดอวัยวะเพศก็ เป็นผ้าบางใส ซึ่งแสดงว่าต้องการอวดอวัยวะเพศเช่นเดียวกับภาพในอิริยาบถนอนดังกล่าว จึงเป็นภาพที่มีเจตนายั่วยุให้บังเกิดความใคร่ทางกามารมณ์โดยตรง ถือเป็นภาพลามก (ฎ. 6301/2533)

อย่างไรก็ดีคำพิพากษาเหล่านี้ล้วนเป็นคำพิพากษาเก่าเกินกว่า 20 ปี ทั้งสิ้น จึงควรอ่านศึกษาไว้แต่เพียงเป็นแนวความคิดเท่านั้น เพราะในปัจจุบันนี้แนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องศิลปะหรือเรื่องทางเพศของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก หากมีคดีขึ้นสู่ศาล แนวทางการวินิจฉัยอาจเปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมของสังคม

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น