บทความกฎหมายแพ่งและวิธีพิจารณาความแพ่ง

รู้หรือไม่ ? การฟ้องชายชู้ กับ การฟ้องหญิงชู้ มีหลักเกณฑ์แตกต่างกัน

ชู้รู้หรือไม่ ? การฟ้องชายชู้ กับ การฟ้องหญิงชู้ มีหลักเกณฑ์แตกต่างกัน

เมื่อคู่สมรสฝ่ายหนึ่งมีพฤติกรรมนอกใจ คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องหย่าได้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516 อนุมาตรา 1 ) แต่หากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งยังมีความอาลัยอาวรณ์หรือเห็นแก่ครอบครัวและบุตรยังไม่อยากฟ้องหย่า ตัวคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งย่อมมีสิทธิฟ้องหรือค่าทดแทนจากชายชู้หรือหญิงชู้ได้โดยไม่ต้องทำการหย่า แต่ตามกฎหมายไทย หลักเกณฑ์ในการฟ้องชายชู้และหญิงชู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 วรรคสอง มีข้อแตกต่างกันอยู่ ดังนี้

1.การฟ้องชายชู้นั้นกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า “สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทางชู้สาวก็ได้” (ต้นร่างภาษาอังกฤษ คือ “wrongfully taken liberties with wife”)

2.ส่วนการฟ้องหญิงชู้นั้นกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า “ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้ “ (ต้นร่างภาษาอังกฤษคือ “openly holds herself out as having affairs with husband”)

ซึ่งสามารถอธิบายโดยสรุปได้ว่า สำหรับกรณีสามีจะฟ้องชายชู้นั้น เพียงชายชู้มีพฤติกรรมล่วงเกินภริยาในทางชู้สาว ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เกิดสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทน โดยการล่วงเกินในทางชู้สาวนั้นไม่จำเป็นจะต้องถึงขั้นว่ามีเพศสัมพันธ์กัน เพียงจับต้องตัวกันทางเพศเช่น หอมแก้ม กอดจูบ หรือนอนกอดกัน ก็ถือว่าเป็นการล่วงเกินไปในทำนองชู้สาวแล้ว และยิ่งมีเพศสัมพันธ์กันก็ถือได้ว่าเป็นการล่วงเกินในทำนองชู้สาวอย่างชัดเจน ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นไปโดยเปิดเผยให้แก่บุคคลทั่วไปทราบหรือเป็นไปโดยปิดบังอย่างลับๆ สามีก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ แต่สำหรับกรณีภริยาจะฟ้องหญิงชู้หรือภริยาน้อยนั้น จะต้องเป็นกรณีที่หญิงชู้หรือภริยาน้อยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนเป็นหญิงชู้หรือภริยาน้อยของสามี เช่นมีการพาไปออกงานต่างๆ พาไปแนะนำให้ญาติพี่น้องหรือคนที่ทำงานรู้ว่าเป็นแฟนกัน หรือไปอยู่บ้านเดียวกัน หรือมีบุตรด้วยกันและให้บุตรใช้นามสกุลสามี ดังนั้นลำพังเพียงสามีแอบลักลอบไปร่วมประเวณีกับหญิงชู้หรือภริยาน้อยเป็นครั้งคราว ไม่ถือว่าภริยาน้อยหรือหญิงชู้แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนเองมีความสัมพันธ์กับสามี ภริยาจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนหญิงชู้หรือภริยาน้อยผู้นั้น

ซึ่งส่วนนี้เป็นความไม่เท่าเทียมกันของกฎหมาย และตามกฎหมายเดิม คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1505 (เดิม) ยังกำหนดไว้ให้เพียงแต่สามีมีสิทธิฟ้องชายชู้ได้เท่านั้น ภริยาไม่มีสิทธิฟ้องหญิงชู้ มีสิทธิแต่เพียงฟ้องหย่าเท่านั้น จนต่อมามีการแก้ไขกฎหมายใหม่ เป็นมาตรา 1523 ปัจจุบัน แม้จะให้สิทธิภริยาฟ้องร้องหญิงชู้หรือภริยาน้อยได้ แต่ก็ยังมีสิทธิไม่เท่าเทียมกับสามี ซึ่งจุดนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่ควรจะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้เหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน ที่หญิงและชายมีความเท่าเทียมกัน และเป็นจุดที่ทนายความควรจะต้องให้ความสนใจในการทำคดีฟ้องคดีหญิงชู้หรือชายชู้ โดยจะต้องสอบข้อเท็จจริงให้ได้ความตามเงื่อนไขของกฎหมาย และบรรยายฟ้องให้ครบหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น