คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

ขอคัดถ่าย คำร้องขอออกหมายจับ และเอกสารประกอบ เพื่อใช้ในการเตรียมคดีได้หรือไม่ ?

คำร้องขอออกหมายจับ และเอกสารประกอบคำร้องฯ สามารถคัดถ่ายได้หรือไม่ มีหลักเกณฑ์อย่างไร ?

ธรรมดาแล้วในคดีอาญาที่ผู้ต้องหาถูกออกหมายจับนั้น ทนายความจะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า พนักงานสอบสวนจะต้องมีพยานหลักฐานตามสมควรในเบื้องต้นว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิด ศาลจึงได้ออกหมายจับให้ เพราะกฎหมายได้วางหลักไว้ว่า การที่ศาลจะออกหมายจับผู้ต้องหาได้นั้น จะต้องมีพยานหลักฐานตามสมควรว่า ผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดอาญา

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 บัญญัติไว้ว่า

เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้

(1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ

(2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนีหรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น

ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งหรือไม่มาตามหมายเรียก หรือตามนัด โดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี

ซึ่งการขอออกหมายจับผู้ต้องหานั้น ทางปฏิบัติแล้วเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน โดยพนักงานสอบสวนจะต้องทำคำร้องขอออกหมายจับต่อศาล พร้อมกับแนบเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้ศาลพิจารณาประกอบคำร้องขอออกหมายจับ เช่น คำให้การของผู้เสียหายหรือพยาน และเอกสารประกอบคำให้การของผู้เสียหายหรือพยาน เพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าจำเลยน่าจะกระทำความผิดอาญาจริง ซึ่งคำร้องและเอกสารประกอบดังกล่าว จะถูกรวมเข้าสู่สำนวนของศาลไว้  และทางปฏิบัติศาลก็จะซักถามด้วยวาจากับพนักงานสอบสวนเพิ่มเติม ถึงพฤติการณ์การกระทำผิดของจำเลยอีกครั้งก่อนออกหมายจับ 

โดยหากศาลเห็นว่าผู้ต้องหาน่าจะกระทำผิดจริง และเข้าเงื่อนไขข้ออื่นๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 66 เช่น จำเลยไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง จำเลยน่าจะหลบหนี หรือเป็นคดีที่มีโทษจำคุกเกิน 3 ปี ศาลก็จะออกหมายจับผู้ต้องหาให้ ตามคำขอของพนักงานสอบสวน

แต่หากศาลเห็นว่าพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนนำเสนอต่อศาล ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยน่าจะกระทำความผิด หรือยังไม่เข้าเงื่อนไขตามกฎหมาย ศาลก็จะมีคำสั่งยกคำร้อง หรือบางครั้งศาลก็จะแจ้งกับพนักงานสอบสวน ให้ไปสอบสวนหรือหาพยานหลักฐานมาเพิ่มเติม หรือสั่งให้ออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหามาให้การก่อน หากผู้ต้องหาไม่มาตามหมายเรียก ศาลจึงจะออกจึงออกหมายจับ

จะเห็นได้ว่า การออกหมายจับนั้นผ่านการกลั่นกรองของศาลมาแล้ว ดังนั้นในการที่ศาลออกหมายจับจำเลยนั้น ทนายความจำเลยจะต้องสันนิษฐานเบื้องต้นก่อนว่า พนักงานสอบสวนมีพยานหลักฐานว่าจำเลยกระทำผิด

ซึ่งเอกสารในสำนวนคำร้องขอออกหมายจับ ก็จะเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ใช้ประกอบในการเตรียมคดีของทนายความจำเลย  เพราะเอกสารในสำนวนคำร้องขอออกหมายจับ จะมีข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่าฝ่ายโจทก์มีพยานหลักฐานอย่างไรว่าจำเลยกระทำความผิด 

ดังนั้นการขอคัดถ่ายคำร้องขอออกหมายจับและเอกสารต่างๆที่ประกอบคำร้อง ก็จะเป็นประโยชน์ในการเตรียมคดีของทนายความจำเลย เพื่อที่จะทราบว่าฝ่ายโจทก์มีพยานหลักฐานอย่างไรที่ชี้ให้เห็นว่าจำเลยกระทำความผิด เพื่อใช้ในการแก้คดีให้กับจำเลยต่อไป

ทั้งนี้ าระสำคัญในการเขียนคำร้องขอออกหมายจับ นั้น ทนายความจำเลยก็ควรจะต้องบรรยายว่า ผู้ร้องขอมีฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีอย่างไร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 54 และบรรยายว่าคดีนี้มีข้อต่อสู้หรือประเด็นการต่อสู้คดีของจำเลยว่าอย่างไร และต้องการเอกสารดังกล่าวไปเพื่อใช้ทำอะไร

อย่างไรก็ดี เป็นดุลพินิจของผู้พิพากษาแต่ละคน ที่จะอนุญาตให้คัดถ่ายคำร้องขอออกหมายจับและเอกสารประกอบหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่แล้วศาลจะอนุญาตให้คัดถ่ายคำร้องขอออกหมายจับ คำสั่งศาล และตัวหมายจับอยู่แล้ว ส่วนเอกสารประกอบนั้นจะเป็นชนิดของผู้พิพากษาแต่ละคน ที่จะอนุญาตหรือไม่

และหากศาลไม่อนุญาต เราไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เนื่องจากเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวนทั้งนี้ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกา คือ

คำพิพากษาฎีกาที่ 2863/2562

ศาลชั้นต้นมีคําสั่งรับคําฟ้องไว้พิจารณาแล้ว ต่อมาผู้ต้องหาที่ 5 ยื่นคําร้องขอ คัดถ่ายเอกสารคําร้องขอออกหมายจับ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้คัดถ่ายคําร้องขอออกหมายจับ คําสั่งศาลและหมายจับเท่านั้น แต่ไม่อนุญาตให้คัดถ่ายเอกสารประกอบส่วนอื่นนั้น คําสั่งศาล ชั้นต้นดังกล่าวเป็นคําสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำไให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง ห้ามมิให้อุทธรณ์คําสั่งนั้น จนกว่าจะมีคําพิพากษาและมีอุทธรณ์คําพิพากษานั้นด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196

ดังนั้น จึงเรียกได้ว่าแทบจะเป็นดุลยพินิจเด็ดขาดของศาลชั้นต้น เพราะการอุทธรณ์คำสั่งภายหลังศาลตัดสินคดีไปแล้ว แทบจะไม่มีประโยชน์อะไร เพราะมีการสืบพยานเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนั้น เนื้อหาในการบรรยายคำร้องขอคัดถ่าย จึงจะต้องขอความเมตตาศาล และพยายามแสดงให้ศาลเห็นถึงความจำเป็นที่เราจะต้องตรวจสอบเอกสาร ซึ่งถ้าจำเลยได้ตรวจสอบเอกสารแล้วจะก่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย 

ในวันนี้ผมได้นำตัวอย่างคำร้องขอคัดถ่าย คำร้องออกหมายจับ และตัวอย่างคําร้องขอออกหมายจับและเอกสารประกอบในสำนวนคำร้องขอออกหมายจับมาให้ผู้สนใจดูเป็นตัวอย่างไว้ศึกษากัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้สนใจครับ >>>คลิกดูตัวอย่างคำร้องขอคัดถ่าย ฯคำร้องขอออกหมายจับ และเอกสารประกอบการขอออกหมายจับได้ที่นี่

โดยในคดีดังกล่าว จำเลยถูกออกหมายจับ โดยจำเลยถูกกล่าวหาว่า ได้ทำสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และต่อมาได้ร่วมกับผู้เช่าซื้อเอารถจักรยานยนต์ไปขาย ซึ่งจำเลยให้การว่าจำเลยไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวแต่อย่างใด 

ผมได้พยายามตรวจสอบว่าทำไมจำเลยถึงถูกออกหมายจับ และได้ทำคำร้องขอคัดถ่ายคำร้องขอออกหมายจับต่อศาล และหลังจากผมได้เอกสารในสำนวนคำร้องขอออกหมายจับมาแล้ว ทำให้ผมได้เห็นเอกสารคือสัญญาค้ำประกันและเอกสารประกอบสัญญาค้ำประกันทราบว่าจำเลยในคดีนี้ไม่ได้กระทำความผิด โดยจำเลยได้ถูกปลอมเอกสารไปใช้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ผมจึงได้หมายเรียกเอกสารหลักฐานต่างๆมาเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์จนกระทั่งฝ่ายโจทก์เข้าใจว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดและได้ยอมถอนฟ้องออกไปซึ่งผมจะได้นำเนื้อหาคดีอย่างละเอียดมาลงให้ในตอนหน้าครับ (เป็นคดีที่เกิดขึ้นนานแล้ว ต้องไปคัดถ่ายเอกสารจากศาลครับ)

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts