ถูกฟ้องคดีแพ่ง เช่น ถูกฟ้องว่าเป็นชู้ ถูกฟ้องคดีเงินกู้ ถูกฟ้องคดีบัตรเครดิต ถูกฟ้องคดีเช่าซื้อรถ หรือคดีแพ่งอื่นๆเราจะต้องทำอย่างไร ?
วันนี้ผมจะมาแนะนำ วิธีแก้ปัญหาและทางออกเมื่อถูกฟ้องคดีแพ่ง และกระบวนการในคดีแพ่งเมื่อคุณถูกฟ้อง ตั้งแต่เริ่มจนจบกระบวนการครับ
สิ่งที่ต้องทำเมื่อถูกฟ้องคดีแพ่ง
ตรวจสอบหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง
สิ่งที่ทำให้เรารู้ว่า ถูกฟ้องคดีแพ่ง อย่างแน่นอน ก็คือเราได้รับ หมายเรียกจากศาล ดังนั้นสิ่งแรกที่เราควรทำ ก็คือการตรวจสอบรายละเอียงเบื้องต้นในหมายเรียก
องค์ประกอบของหมายเรียก ในคดีแพ่ง
ธรรมดาแล้วในหมายเรียกจะประกอบด้วยเอกสารสำคัญ 3 ประการคือ
1.หมายเรียก
ซึ่งในหมายดังกล่าวจะมีการกำหนดไว้ว่าเราจะต้องไปศาลในวันไหนบ้าง แล้วจะระบุว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีประเภทอะไร เช่นคดีแพ่ง คดีผู้บริโภค คดีแรงงาน คดีมโนสาเร่หรือไม่มีข้อยุ่งยาก ซึ่งคดีแต่ละประเภท ก็จะมีกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การและกระบวนพิจารณาต่อสู้คดีที่แตกต่างกันไป
โดยด้านบนขวาของหมายเรียกจะมีการระบุหมายเลขคดีดำ และด้านหน้าของตัวเลข จะมีการระบุคำย่อไว้ เช่น
ประเภทของหมายศาลที่พบบ่อย
พ. หมายถึงคดีแพ่งสามัญ ซึ่งจะต้องยื่นคำให้การภายใน 15 วันนับจากวันที่รับหมาย
ผบ.หมายถึงคดีผู้บริโภค สามารถไปยื่นคำให้การภายในวันนัดได้เลย
ม.หมายถึงคดีมโนสาเร่ สามารถไปยื่นคำให้การภายในวันนัดได้เลยเช่นเดียวกัน
2สำเนาคำฟ้อง
เอกสารที่ถัดไปจากหมายเรียก คือสำเนาคำฟ้องที่โจทก์ยื่นฟ้องเราเข้ามา ในเนื้อหาสำเนาคำฟ้องจะมีการบรรยายไว้ว่าสาเหตุที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีเรา เนื่องจากเราได้ไปทำอะไรไว้ หรือมีสาเหตุอะไรเขาถึงได้ยื่นฟ้อง
นอกจากนี้จะมี เอกสารที่เรียกว่า คำขอท้ายฟ้อง ซึ่งจะระบุว่าโจทก์ต้องการเรียกร้องให้เราทำอะไร
เช่นคำขอท้ายฟ้องให้ชำระเงินจำนวนเท่าไหร่ ให้เราขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน ให้เราคืนทรัพย์สินที่พิพาทเป็นต้น
3.เอกสารท้ายฟ้อง
เป็นเอกสารที่อยู่ถัดจากคำขอท้ายฟ้อง จะเป็นเอกสารประกอบต่างๆที่ใช้ในการฟ้องร้องดำเนินคดีนี้เช่น หนังสือมอบอํานาจ สัญญา รูปถ่ายและเอกสารหลักฐานต่างๆ เป็นเอกสารที่ใช้ประกอบกับคำฟ้องเพื่อให้เราเข้าใจเรื่องราวว่าเราถูกฟ้องเรื่องอะไร
4.บัญชีพยาน
ธรรมดาในการยื่นฟ้องคดี ทนายความโจทก์จะยื่นบัญชีพยานมาพร้อมกันกับการยื่นฟ้องเลย ดังนั้นเราจะได้รับสำเนาบัญชีพยานอยู่ด้านหลังสุดในหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง
เอกสารหลักฐานและบุคคลที่อยู่ในบัญชีพยานนั้น ไม่ได้แปลว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องมาศาลด้วยตนเองจริงๆ เป็นแต่เพียงการระบุไว้เบื้องต้นของฝ่ายโจทก์ว่าประสงค์จะนำใครมาสืบบ้างเท่านั้น
เมื่อเราได้ตรวจสอบอ่านรายละเอียดในหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้ว เราก็จะทราบเบื้องต้นว่า คดีที่ฝ่ายตรงข้ามฟ้องเรานั้นมีเรื่องราวเป็นอย่างไร เป็นคดีประเภทอะไร เขาเรียกร้องอะไร เราจะต้องไปขึ้นศาลวันไหน ฝ่ายตรงข้ามมีพยานหลักฐานเบื้องต้นอย่างไรบ้าง
จากนั้นเราจะได้เตรียมตัวให้การและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปได้ถูกต้องครับ
รวบรวมข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน และเรียบเรียงเรื่องราว
หลังจากเราได้ตรวจสอบหมายเรียกสำเนาคำฟ้อง จะรู้เรื่องราวที่ถูกฟ้องแล้ว และรู้แล้วว่าเรามีกำหนดระยะเวลาเท่าไหร่ในการยื่นคำให้การต่อสู้คดี สิ่งที่ควรทำลำดับถัดไปก็คือการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อประมวลเรื่องราว
ตัวอย่างเช่นหากเราถูกฟ้องคดีกู้ยืม เราก็ต้องไปหาหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมทั้งหมด เช่นหลักฐานการชำระเงินที่ผ่านมา หลักฐานการสนทนาต่อรองเรื่องหนี้สินเรื่องนี้
เราถูกฟ้องเรื่องชู้ ก็ต้องไปหาหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ หลักฐานการคุยสนทนาผ่านโปรแกรม Line หลักฐานรูปถ่ายและข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้การหาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องควรจะรีบทำตั้งแต่เริ่มถูกฟ้อง เพราะหากปล่อยการให้เนิ่น ไปการสืบหาพยานหลักฐานอาจทำได้ยากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้การประมวลข้อเท็จจริงและเรื่องราวตั้งแต่ตอนที่เพิ่งถูกฟ้องใหม่ๆ ซึ่งเหตุการณ์ยังผ่านมาไม่นานนัก ย่อมทำให้เราจดจำเรื่องราวและรายละเอียดได้ดีกว่าไปรวบรวมข้อเท็จจริงภายหลังวันขึ้นศาลซึ่งอาจจะเป็นเวลานานจนเราลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้น
เรารวบรวมข้อเท็จจริงและเรื่องราวทั้งหมดแล้ว อาจจะทำเป็นบันทึกชี้แจงข้อเท็จจริง หรือลำดับเหตุการณ์เพื่อประโยชน์ในการป้องกันการหลงลืม แล้วเพื่อประโยชน์ในการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อทนายความและต่อศาลในภายหลังครับ
มาพบพูดคุยเพื่อปรึกษากับทนายความ
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ ความจริงแล้วขั้นตอนที่ 1 และขั้นตอนที่ 2 นั้น ถ้าคุณยังอยู่ในอาการตกใจ อาจจะยังไม่สามารถตรวจสอบหมายเรียกหรือเรียบเรียงข้อเท็จจริงได้ถูกต้อง ก็ไม่เป็นไร
คุณสามารถข้ามมาขั้นตอนที่สาม คือมาปรึกษาทนายความพร้อมกับเล่าเรื่องราวให้กับทนายความฟังเลยก็ได้
1.นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้ทนายความตรวจสอบ
เมื่อคุณมาพบทนายความแล้ว คุณจะต้องส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้กับทนายความตรวจสอบ
หรืออาจจะส่งล่วงหน้าทางไลน์หรือทางอีเมล์ให้ทนายความตรวจสอบเบื้องต้นก่อน แล้วจึงนัดหมายเข้ามาพูดคุยหรือโทรศัพท์พูดคุยกันเบื้องต้นก็ได้
ซึ่งการที่คุณส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้ทนายความตรวจสอบล่วงหน้าก่อน ก็จะเป็นประโยชน์ที่ทำให้ทนายความมีเวลาศึกษาข้อเท็จจริงอย่างละเอียดก่อนที่จะพูดคุยกับคุณ
2.เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้กับทนายความฟัง
หลังจากทนายความตรวจสอบหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้ว ทนายความก็จะทราบว่าสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาหรือฟ้องร้องดำเนินคดีกับคุณนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร
ที่นี้คุณเองก็จะต้องเล่าเรื่องราวจากฝั่งของคุณให้กับทนายความฟัง ว่าเรื่องราวจากฝั่งของคุณเป็นอย่างไร
ตัวอย่างเช่นหากคุณถูกฟ้องคดีชู้ โดยฝ่ายโจทก์กล่าวหาว่าคุณเป็นชู้กับสามีของเขา คุณก็ต้องเล่าเรื่องราวจากฝั่งของคุณไปตามความจริงว่าเป็นอย่างไร
สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการปรึกษาทนายความเพื่อหาทางออกในเรื่องคดีความนั้น ก็คือคุณจะต้อง ห้ามโกหกทนายความเด็ดขาด แล้วจะต้องเล่าความจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้กับทนายความฟังอย่างไม่ปิดบัง
ทั้งนี้โปรดสบายใจได้ว่า การเล่าเรื่องราวให้กับทนายความฟังนั้น ตามกฎหมายแล้วถือว่าเป็นความลับ
ทนายความไม่สามารถเผยแพร่ข้อเท็จจริงที่ได้รับมาจากการให้คำปรึกษาของลูกความได้ มิฉะนั้นจะมีความผิดทั้งทางอาญาและแพ่งอีก และผิดมรรยาททนายความอีกด้วย
ดังนั้นการที่คุณปรึกษาทนายความถึงแม้ภายหลังคุณจะไม่ตกลงว่าจ้างทนายความ หรือทนายความไม่รับทำงานให้ ข้อความที่คุณปรึกษาก็ถือว่าเป็นความลับที่จะไม่มีทางถูกเผยแพร่ไปอย่างแน่นอน
สาเหตุที่ผมจะต้องขอให้คุณเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดไปตามความจริง เพราะเราจะได้หาทางออกให้กับคุณได้อย่างถูกต้องครับ เพราะถ้าหากเราเข้าใจข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน ทนายความก็จะตั้งรูปคดีผิดพลาดไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตัวคุณเอง
ตัวอย่างเช่น
คุณถูกฟ้องคดีชู้ โดยฝ่ายโจทก์กล่าวหาว่าคุณไปมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีของเขา
หากคุณไม่ได้เป็นชู้ เป็นแค่เพื่อนกัน เป็นความเข้าใจผิดของโจทก์ คุณก็บอกทนายความไปตามจริงทนายความควรจะตั้งเรื่องต่อสู้ไปโดยปฏิเสธขาดไปเลยว่าไม่มีความสัมพันธ์กัน ขอให้ศาลยกฟ้อง
แต่ถ้าหากคุณมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาว กับคู่สมรสของเขาจริง เพียงแต่คุณอาจจะไม่รู้ว่าเขามีคู่สมรสอยู่แล้ว เช่นนี้คุณก็ควรบอกทนายความไปตามจริง
ทนายความจะได้สามารถตั้งรูปคดีต่อสู้ไปอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ว่าคุณไม่รู้ว่า เขามีคู่สมรสอยู่แล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาเขาปกปิดมาตลอด เพื่อให้ศาลยกฟ้องหรือกำหนดค่าทดแทนให้ต่ำลง
ถ้าคุณโกหกเพราะกลัวว่าทนายความจะไม่ช่วย หรือกลัวว่ารูปคดีจะสู้ไม่ได้ สุดท้ายเมื่อพยานหลักฐานปรากฏในศาล ก็จะไม่เป็นผลดีต่อตัวคุณเอง
เช่นคดีตามตัวอย่างข้างต้น
ถ้าคุณโกหกทนายความว่าคุณไม่มีความสัมพันธ์ทำนองชู้สาวกับคู่สมรสของโจทก์ ทนายความจึงตั้งเรื่องต่อสู้คดีแปลว่าคุณกับสามีของโจทก์ไม่มีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกัน
แต่ความในชั้นศาลโดยมีพยานหลักฐานเช่นรูปถ่ายหรือคลิปวีดีโออย่างชัดเจน ว่าคุณมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับคู่สมรสของเขา เช่นนี้ย่อมเสียหายแก่รูปคดีและอาจจะก่อให้เกิดความผิดฐานเบิกความเท็จตามมาอีก
ในทางกลับกัน หากคุณเล่าเรื่องจริงให้ทนายความฟัง และทนายความตั้งเรื่องคดีไปตาม เรื่องจริงที่เกิดขึ้น ว่าคุณไม่รู้ ว่ามีคู่สมรสอยู่แล้วจึงได้มีความสัมพันธ์เกินเลยและมีความสัมพันธ์แค่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เช่นนี้คุณอาจจะไม่ต้องรับผิดเลย รับผิดเป็นจำนวนน้อยมากก็ได้
ดังนั้นการเล่าเรื่องราวไปตามความจริงและครบถ้วนโดยไม่ปิดบังให้กับทนายความฟังก็จะเป็นประโยชน์กับตัวคุณเองที่สุดครับ
รวม13 เรื่องที่คุณต้องรู้ เมื่อถูกฟ้องคดีแพ่ง
ทางออก และแนวทางการดำเนินคดี มีแบบไหนบ้าง ?
เมื่อทนายความตรวจสอบคำฟ้อง พร้อมกับสอบข้อเท็จจริงโดยละเอียดจากคุณและตรวจสอบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ทนายความจะสรุปแนวทางหาทางออกคดีดังนี้
1.รูปคดีไม่มีทางสู้ได้เลย
ในคดีที่รูปคดีของฝ่ายโจทก์สุจริต สิ่งที่ฟ้องมาเป็นความจริงทุกประการ ไม่มีประเด็นข้อต่อสู้ได้เลย
ตัวอย่างเช่น
คดีกู้ยืม ที่มีพยานหลักฐานเป็นสัญญาอย่างชัดเจน ตัวคุณก็ได้ยืมเงินจากเขาไปจริง ได้รับเงินเต็มจำนวนไม่มีดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมาย
ในกรณีแบบนี้ ทนายความจะแนะนำว่า ควรเจรจาไกล่เกลี่ยกับทางฝ่ายโจทก์ หาทางออกร่วมกัน ที่ทั้งสองฝ่ายได้รับผลประโยชน์ทั้งคู่ เช่นการขอผ่อนชำระ การขอลดดอกเบี้ย การขอชำระเงินงวดเดียวโดยขอลดต้นเงิน เป็นต้น
2.รูปคดีมีประเด็นข้อต่อสู้ได้บางส่วน
ในกรณีที่รูปคดีของฝ่ายโจทก์ มีทั้งสิ่งที่เป็นความจริง แล้วสิ่งที่เป็นความเท็จระคนปะปนกันมา มีประเด็นข้อต่อสู้ได้บางส่วน
ตัวอย่างเช่น
คดีกู้ยืม ที่ฝ่ายเราไปกู้ยืมเงินจากฝ่ายโจทก์มาจริง ฝ่ายโจทก์หักดอกเบี้ยล่วงหน้าที่เกินกว่ากฎหมายไว้ได้รับเงินมาไม่ครบ และฝ่ายโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
ในกรณีแบบนี้ ทนายความจะแนะนำว่า ควรจะยื่นคำให้การต่อสู้คดีไปตามความเป็นจริง เช่นให้การต่อสู้คดีว่าเราได้รับต้นเงินมาไม่ครบ และ ฝ่ายโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
หลังจากนั้นในชั้นเจรจาไกล่เกลี่ย ทนายความก็จะพูดคุยขอให้ฝ่ายโจทก์ลดจำนวนเงินต้นลง พร้อมกับลดจำนวนดอกเบี้ย และขอผ่อนชำระในอัตราที่เหมาะสม ถ้าหากฝ่ายโจทก์ยอมลดจำนวนเงิน และให้โอกาสผ่อนชำระในระยะเวลาที่เหมาะสม ทั้งสองฝ่ายย่อมสามารถเจรจาตกลงกันได้
แต่หากฝ่ายโจทก์ ไม่ยอมลดราวาศอก ไม่ยอมให้โอกาสผ่อนชำระ ไม่ยอมลดดอกเบี้ยหรือต้นเงินตามสมควรให้กับฝ่ายจำเลยบ้าง เช่นนี้ทนายความจำเลยยอมแนะนำให้ต่อสู้คดีไปจนถึงคดีถึงที่สุดเลย ซึ่งสุดท้ายเราย่อมได้รับความเป็นธรรม อย่างแน่นอนครับ
ดูตัวอย่างการต่อสู้คดีประเภทนี้ได้ในบทความด้านล่างครับ
3.รูปคดีต่อสู้ได้ชนะคดีอย่างแน่นอน หรือมีโอกาสชนะคดีสูงมาก
หากปรากฏว่ารูปคดีที่โจทก์ฟ้องมานั้นโจทก์ฟ้องโดยไม่สุจริต นำมูลหนี้ที่ไม่มีอยู่จริงมาฟ้อง หรือนำมูลคดีที่ไม่เป็นความจริงมาฟ้อง
ตัวอย่างเช่น
คดีกู้ยืมเงิน จำเลยไม่ได้กู้ยืมเงินโจทก์จริง แต่โจทก์ได้นำเอกสารปลอม หรือนำเอกสารอื่นมาอ้างว่าเป็นสัญญากู้ยืมเงินทั้งๆที่ไม่ใช่สัญญากู้
เช่นนี้ทนายความจะแนะนำว่าให้ยื่นคำให้การต่อสู้คดี และต่อสู้คดีไปเลยโดยไม่ทำการเจรจาใดๆทั้งสิ้น
ดูตัวอย่างการต่อสู้คดีประเภทนี้ จากคดีความจริง ได้ในบทความด้านล่างเลยครับ
ตัวอย่างการต่อสู้คดีขับไล่ ประเด็นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ตัวอย่างการต่อสู้คดีกู้ยืม ตอน หลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือ เป็นอย่างไร?
ตัวอย่างการต่อสู้คดีที่ดิน ตอน ขายที่ดินสปก.และรับเงินไปแล้ว แต่กลับมาฟ้องขับไล่ผู้ซื้อออกจากที่ดิน
ยกเว้นบางคดีที่ตามรูปคดีแล้วจะต้องชนะอย่างแน่นอน แต่หากคุณอยากจะเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อให้จบเรื่องเราไปเพื่อเห็นแก่คุณธรรมก็อาจจะเจรจากันได้
ตัวอย่างเช่น
คดีกู้ยืมที่หนี้ขาดอายุความแล้ว หากสู้คดีจะต้องชนะอย่างแน่นอน
แต่หากคุณเห็นว่าคุณเองก็กู้ยืมเงินเขามาจริงต้องการจะใช้หนี้เขา ก็สามารถเจรจาขอลดยอดเงินหรือลดดอกเบี้ย และชำระหนี้ได้ครับ
4.รูปคดีก่ำกึ่ง มีโอกาสแพ้ชนะคดีพอๆกัน
หากปรากฎว่า รูปคดีที่โจทก์ฟ้องมานั้น ก้ำกึ่ง มีโอกาสแพ้ชนะคดีได้พอๆกัน หรือมีโอกาสชนะคดีได้ แต่ไม่แน่นอน ไม่ชัดเจนเหมือนกันข้อตาม 3.
ตัวอย่างเช่น
คดีฟ้องเปิดทางภาระจำยอม ที่ฝ่ายโจทก์กล่าวอ้างว่า ได้เดินบนทางดังกล่าวมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว โดยพยานหลักฐานในคดียังก้ำกึ่งอยู่ว่า โจทก์ได้เดินบนทางดังกล่าวมาถึง 10ปี จริงหรือไม่ และเป็นการใช้ทางโดยถือวิสาสะหรือไม่
เช่นนี้ การสู้คดีกันไป ย่อมมีความเสี่ยงต่อผลแพ้ชนะคดี เราไม่อาจยืนยันได้ว่าคดีจะชนะได้อย่างแน่นอน เพราะจะต้องดูพยานหลักฐานต่างที่ปรากฎในชั้นพิจารณา และการถามค้านพยานบุคคลเสียก่อน
ดังนั้นคดีเช่นนี้ การพูดคุยเจรจาหาทางออกร่วมกันระหว่างโจทก์และจำเลย ก็จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายมากที่สุด ยกเว้นว่าฝ่ายโจทก์จะเรียกร้องสิ่งที่ไม่สมควร สูงเกินส่วน เช่นนี้เราก็ควรสู้คดีให้ถึงที่สุดครับ
ได้รับหมายแล้วต้องยื่นคำให้การภายในกี่วัน
ธรรมดาแล้วในคดีประเภทแพ่งสามัญ หรือสังเกตุง่ายๆคือคดีที่มีคำนำหน้า หมายเลขดำว่า (พ.) เช่นคดีฟ้องชู้ ฟ้องหย่า ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ผิดสัญญาซื้อขาย นั้น
จำเลยจะต้องยื่นคำให้การภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ซึ่งจะมีการเขียนข้อความว่าอย่างชัดเจนในหมายเลขนั้นอยู่แล้วว่าเราจะต้องยื่นคำให้การภายใน 15 วัน
แต่ถ้าเป็นคดีประเภทอื่น
เช่นคดีผู้บริโภค (ผบ.) เช่นคดีเช่าซื้อ คดีบัตรเครดิต คดีสินเชื่อสถาบันการเงิน
คดีมโนสาเร่หรือคดีไม่มีข้อยุ่งยาก (ม.) คดีกู้ยืม คดีค้ำประกัน คดีฟ้องขับไล่ที่ทุนทรัพย์ไม่สูง
คดีแรงงาน (รง.) เช่นคดีเรียกค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า
คดีประเภทนี้จำเลยสามารถไปยื่นคำให้การในวันนัดขึ้นศาลนัดแรกได้เลย ซึ่งในหมายเรียกจะมีการระบุว่าให้จำเลยไปศาลเพื่อทำการ ไกล่เกลี่ย/ให้การ/สืบพยาน ในวันเดียวกัน ไม่อยู่ในกำหนดยื่นคำให้การภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหมาย
วิธีการส่งหมายเรียกของศาล มีวิธีไหนบ้าง
ธรรมดาหมายศาล ที่มาส่งให้กับเรานั้นมีวิธีการส่งด้วยกันหลักๆ 3 วิธี
1.ส่งโดยเจ้าหน้าที่ศาล ด้วยวิธีการมีผู้รับหรือรับแทน
คือเจ้าหน้าที่มาส่งแล้วพบตัวเรา จึงให้เราเซ็นรับหมายไว้ หรือไม่พบตัวเราแต่พบคนอื่นที่อยู่ในบ้าน จึงให้คนที่อยู่ในบ้านเซ็นรับหมายไว้แทน
2.ส่งด้วยวิธีปิดหมาย
เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ศาลมาแล้วไม่พบตัวเรา และไม่พบคนอยู่ในบ้าน จึงได้แปะหมายไว้ที่บริเวณหน้าบ้าน ซึ่งถือว่าเป็นการส่งหมายที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน
3.ส่งโดยเจ้าพนักงานไปรษณีย์
วิธีนี้เป็นอีกหนึ่งวิธีที่เริ่มใช้กันบ่อยขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด คือการที่ศาลส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยทางไปรษณีย์แทนการใช้เจ้าหน้าที่ศาล
พนักงานไปรษณีย์เป็นคนส่ง แทนเจ้าหน้าที่ศาล ซึ่งพนักงานไปรษณีย์อาจจะฝากคนในบ้านเราไว้ แต่ทั้งนี้พนักงานไปรษณีย์ไม่มีอำนาจทำการปิดหมายเหมือนเจ้าหน้าที่ศาลแต่อย่างใด
ทั้งนี้หากมีคนเซ็นรับหมาย หรือมีการส่งโดยเจ้าพนักงานไปรษณีย์ ก็ถือว่าเราได้รับหมายตั้งแต่วันที่เจ้าหน้าที่ส่งเอกสารเลยและหากเป็นคดีแพ่งสามัญเราจะต้องยื่นคำให้การภายใน 15 วันนับจากวันที่เราได้รับหมาย
แต่หากไม่มีคนเซ็นรับหมาย กำหนดระยะเวลายื่นคำให้การจะบวกขึ้นไปจากเดิมอีก 15 วัน เช่น คดีแพ่งสามัญ เจ้าหน้าที่ศาลมาส่งหมายแล้วไม่พบคนในบ้านจึงได้แปะหมายไว้หน้าบ้าน เช่นนี้กำหนดระยะเวลายื่นคำให้การย่อมเป็น 15 วันบวก 15 วัน เท่ากับ 30 วันนับจากวันที่ปิดหมาย
กระบวนการในศาลโดยสังเขปเป็นอย่างไร
1.กระบวนการในนัดแรก
ธรรมดาแล้วในนัดขึ้นศาลนัดแรกในคดีแพ่งนั้น ศาลมักจะไกล่เกลี่ยให้คู่ความทุกฝ่ายเจรจาตกลงกันได้ก่อน เพราะในคดีแพ่งศาลหรือว่าการเจรจาไกล่เกลี่ยกันจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
โดยหากทั้งโจทก์และจำเลยมาศาล ศาลก็มักจะเชิญให้คู่ความทุกฝ่ายมาเจรจาไกล่เกลี่ยกัน โดยอาจจะมีผู้ไกล่เกลี่ยประนีประนอม ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ศาลแต่งตั้งมาช่วยทำการไกล่เกลี่ยให้
หรือผู้พิพากษาอาจจะเป็นผู้มานั่งไกลเกลี่ยให้คู่ความตกลงกันได้ด้วยตนเองก็ได้
แต่ถ้าหากตัวจำเลยหรือตัวโจทก์ไม่มาศาล และคดีพอมีทางที่จะตกลงกันได้ ศาลก็อาจจะมีคำสั่งให้ทนายความโจทก์หรือจำเลย เชิญตัวความมาไกล่เกลี่ยที่ศาลด้วยตนเองก็ได้
2.นัดพร้อมหรือนัดชี้สองสถาน
ถ้าหากคู่ความทุกฝ่ายพยายามเจรจาไกล่เกลี่ยหาทางออกกันแล้วแต่ไม่สามารถตกลงกันได้กระบวนการขั้นตอนต่อไปศาลจะกำหนดวันนัดพร้อมหรือนัดชี้สองสถานเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยานต่อไป
ในวันนัดพร้อมนี้ศาลจะกำหนด แต่ละฝ่ายจะมีพยานมานำสืบประมาณกี่ปาก มีข้อเท็จจริงไหนที่สามารถรับกันได้ไม่ต้องใช้พยานมานำสืบ
3.นัดสืบพยาน
นัดนี้เป็นนัดสำคัญที่จะชี้ผลแพ้ชนะในคดี โดยทั้งสองฝ่ายจะมีหน้าที่ในการนำพยานบุคคลพยานเอกสารและพยานวัตถุมานำเสนอและแสดงต่อศาล
ธรรมดาแล้วนัดนี้ตัวคุณควรจะต้องมาศาลด้วยตนเอง เพราะความจริงแล้วอย่างไรคุณก็เป็นพยานที่รู้เห็นเรื่องดีที่สุด
ยกเว้นแต่เป็นคดีง่ายๆที่พยานหลักฐานชัดเจนอยู่แล้วว่าคุณต้องชนะ เช่นคดีที่ขาดอายุความแล้ว เช่นนี้ต่อคุณอาจจะไม่จำเป็นต้องมาศาลก็ได้
4.นัดฟังคำพิพากษา
เมื่อสืบพยานเสร็จสิ้นแล้วศาลจะกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษา หลังจากการสืบพยานเสร็จประมาณ 1-2 เดือนครับ
ทั้งนี้สามารถผ่านกระบวนการเรื่องการฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งแบบละเอียดได้ในบทความนี้ครับ
ถ้าตกลงกันได้จะต้องทำอย่างไร
หากทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ ธรรมดาแล้วมีวิธีดำเนินการ 2 วิธีคือ การที่โจทก์ถอนฟ้อง และการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งธรรมดาแล้วในกรณีเราเป็นจำเลยเรานิยมให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความจะเป็นผลดีมากกว่า เพราะโจทก์จะหมดสิทธิ์นำคดีมาฟ้องได้อย่างแน่นอน
การถอนฟ้องนั้นโจทก์อาจจะมายื่นฟ้องใหม่ภายในอายุความก็ได้ หรืออาจจะหาเหตุบิดเบือนมาฟ้องคดีใหม่ก็ได้
ส่วนการทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น คู่ความแต่ละฝ่ายจะได้สิทธิและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ หากใครไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวอีกฝ่ายก็สามารถบังคับคดีให้เป็นไปตามสัญญาได้ทันที
ถ้าแพ้คดีจะเป็นอย่างไร
ถ้าศาลพิพากษาให้ฝ่ายเราซึ่งเป็นจำเลยแพ้คดี ศาลจะออกคำบังคับ เพื่อให้เราปฏิบัติตามคำพิพากษา
คำบังคับคือคำสั่งของศาลให้ปฏิบัติตามคำพิพากษานั่นเอง
เช่นออกคำบังคับว่าเราจะต้องชำระเงินให้กับโจทก์ภายในกี่วัน หรือออกไปจากที่ดินพิพาทภายในกี่วัน หรือให้โอนที่ดินให้กับโจทก์ภายในกี่วัน เป็นต้น
ถ้าเราประสงค์จะสู้คดีต่อไป โดยการยื่นอุทธรณ์ เราก็จะต้องขอทุเลาการบังคับคดี พร้อมกับยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อไป
หากเราไม่ทุเลาการบังคับคดี หรือเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วเราย่อมมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาและคำบังคับของศาล มิฉะนั้นเราอาจจะถูกยึดทรัพย์บังคับคดีตามกฎหมายได้
ศาลพิพากษาแล้ว ไม่ปฏิบัติตามจะเป็นอย่างไร
ถ้าศาลพิพากษาให้คุณเป็นฝ่ายแพ้คดีแล้ว และคุณได้รับคำบังคับของศาลแล้ว ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คุณเองจะต้องถูกดำเนินการบังคับคดีตามกฎหมาย
หากเป็นคำพิพากษาให้ชำระเงิน คุณก็ต้องถูกยึดทรัพย์ เช่นบ้าน รถ ที่ดิน คอนโด หุ้น เงินฝากในบัญชี หรือคุณอาจถูกอายัดเงินเดือน หรืออายัดรายได้ที่มีสิทธิ์ได้รับต่างๆ หรืออาจจะถูกฟ้องล้มละลายในที่สุด
หากเป็นคำพิพากษาให้โอนทรัพย์สินให้กับเจ้าหนี้ เช่นพิพากษาให้โอนบ้านพร้อมที่ดินให้กับโจทก์ หากคุณไม่ปฏิบัติตามโจทก์ก็สามารถนำเอาคำพิพากษาไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ให้กับตนเองได้ทันที
แต่หากเป็นคำพิพากษาให้ขับไล่ หากคุณไม่ยอมออกจากที่ดินตามที่ศาลมีคำพิพากษา คุณเองก็อาจจะถูกหมายจับกักขังได้ อ่านเพิ่มเติมเรื่องรายละเอียดการบังคับคดีขับไล่ด้านล่าง
ดังนั้นแล้วหากศาลพิพากษาแล้วคุณไม่ปฏิบัติตาม กฎหมายเปิดช่องให้ฝ่ายโจทก์ดำเนินการบังคับคดีได้ตามกฎหมาย และหากคุณโอนทรัพย์สินหนีหนี้ไปคุณเองก็จะมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้อีกด้วย
อ่านเพิ่มเติมเรื่องโกงเจ้าหนี้ได้ในบทความข้างล่างนี้
ไปศาลประมาณกี่ครั้ง ใช้เวลานานแค่ไหน
ในคดีแพ่งนั้นสามารถตกลงกันได้ ทนายความจะต้องเดินทางไปศาลประมาณ 1 ถึง 3 ครั้ง แต่หากไม่สามารถตกลงกันได้ ทนายความจะต้องเดินทางไปฐานไม่ต่ำกว่า 3 ถึง 10 ครั้ง ยังไม่รวมกันเดินทางเพื่อขอออกหมายเรียกพยานบุคคลและพยานเอกสาร หรือการไต่สวนคำร้องสาขาต่างๆ
ในคดีแพ่ง ถ้าสามารถเจรจาตกลงกันได้จะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 ถึง 6 เดือน แต่หากไม่สามารถพูดคุยตกลงกันได้แล้วจะต้องสู้คดีกันจนถึงที่สุด อาจจะต้องใช้เวลาตั้งแต่ 6 เดือนถึง 3 ปีขึ้นไปนับแต่เริ่มคดีจนกระทั่งคดีถึงที่สุด
ต้องไปศาลด้วยตนเองไหม
ธรรมดาแล้วในคดีแพ่ง ที่คุณถูกฟ้องเป็นจำเลยนั้น ตัวคุณไม่จำเป็นจะต้องไปศาลด้วยตนเองแต่อย่างใด
โดยคุณสามารถแต่งตั้งให้ทนายความเป็นตัวแทนของคุณ ในการไปดำเนินการที่ศาลได้แทบจะทุกอย่าง ตั้งแต่การยื่นคำให้การ การไกล่เกลี่ย นัดพร้อม และนัดสืบพยาน
ยกเว้นแต่กรณีที่ศาลเชิญให้ไปไกล่เกลี่ยด้วยตนเอง หรือกรณีสืบพยานจำเลย ที่คุณควรไปเบิกความเป็นพยานที่ศาลด้วยตนเองเพราะคุณเป็นพยานที่รู้เรื่องราวดีที่สุด
แต่อย่างไรก็ตามหากคุณประสงค์จะไปเจรจาไกล่เกลี่ยที่ศาลด้วยตนเอง หรือ ต้องการไปศาลกับพร้อมกับทนายความในทุกนัดเพื่อ อยากทราบความคืบหน้าของคดีก็ย่อมสามารถทำได้ครับ
ไม่ไปศาลตามนัดคดีแพ่ง จะเป็นอย่างไร
หากคุณไม่ไปศาลในคดีแพ่ง และไม่แต่งตั้งทนายความเข้าไปดำเนินคดีแทน มีโอกาสสูงมากที่ศาลจะพิพากษาให้คุณแพ้คดี เต็มตามคำฟ้องของโจทก์
และคุณจะเสียสิทธิ์ต่างๆหลายประการ เช่น สิทธิในการยื่นคำให้การเพื่อโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานในส่วนของตนเอง สิทธิในการถามพยานเพื่อทำลายน้ำหนักพยานของฝ่ายโจทก์ สิทธิในการคัดค้านพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์
ดังนั้นการไม่ไปศาลตามนัดในคดีแพ่ง จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งครับ เพราะจะทำให้คุณเสียสิทธิ เป็นอย่างมากและมีโอกาสแพ้คดีสูง
มาทราบทีหลังว่าถูกฟ้อง และศาลพิพากษาให้แพ้คดีไปแล้วต้องทำอย่างไร
ถ้าปรากฏว่าเราเพิ่งมาทราบว่าถูกฟ้อง โดยที่ผ่านมาไม่เคยทราบมาก่อนเลย อาจจะเป็นเพราะที่อยู่ตามทะเบียนบ้านไม่ตรงกับที่อยู่จริง หรือเราได้เดินทางออกไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ หรือมีคนอื่นเป็นคนรับหมายแล้วไม่ได้แจ้งให้เราทราบ
ไม่ว่าจะเป็นเพราะสาเหตุใดก็ตาม หากคุณมาทราบภายหลังว่าถูกฟ้องคดีเมื่อเลยกำหนดยื่นคำให้การแล้ว หรือเมื่อศาลพิพากษาให้แพ้คดีไปแล้ว ก็อย่าเพิ่งตกใจครับ เรายังมีวิธีแก้ปัญหาได้หลายอย่าง
เช่น การขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ การขออนุญาตยื่นคำให้การ การขอพิจารณาคดีใหม่
ซึ่งผมได้เขียนอธิบายกระบวนการต่างๆไว้อย่างละเอียดแล้ว สามารถติดตามอ่านได้ในบทความข้างล่างเลยครับ
ขอพิจารณาคดีใหม่ ภาคปฏิบัติ – รวมข้อกฎหมายและเทคนิคครบทุกขั้นตอน พร้อมตัวอย่างจากคดี
ฟ้องกลับหรือฟ้องแย้งเข้าไปได้ไหม
ธรรมดาแล้วในคดีแพ่ง หากฝ่ายโจทก์ฟ้องขึ้นมาโดยไม่สุจริต หรือโดยรูปคดีหรือมูลคดีแล้วคุณเป็นฝ่ายถูกต้อง หรือฝ่ายโจทก์มีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ให้กับคุณ หรือจะต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้กับคุณ
ตัวอย่างเช่น คุณเป็นภรรยาที่เลี้ยงดูบุตรทั้งสองคนมาอย่างดีโดยตลอด ไม่เคยกระทำความผิดใด แต่สามีกลับมายื่นฟ้องหย่าคุณ โดยอ้างเหตุอันเป็นเท็จในการฟ้องหย่า
เช่นนี้คุณอาจจะยื่นคำให้การต่อสู้คดีพร้อมกับฟ้องแย้งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ไปพร้อมกันเลยก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปแยกฟ้องเป็นคดีใหม่ครับ
อย่างไรก็ตามคำฟ้องเดิมและคำฟ้องแย้งที่จะฟ้องเข้าไปนั้นจะต้องเกี่ยวเนื่องกันเพียงพอที่ศาลจะพิจารณารวมกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสาม ครับ
ตัวอย่างการต่อสู้คดีพร้อมฟ้องแย้ง จากประสบการณ์จริง อ่านได้ในบทความนี้ครับ
ตัวอย่างการต่อสู้คดีพร้อมฟ้องแย้ง ตอน ฟ้องเขาแต่เราเจ็บ
ค่าจ้างทนายความประมาณเท่าไหร่
ค่าจ้างทนายความในคดีแพ่งนั้น ไม่ค่อยมีกำหนดตายตัว แต่ธรรมดาแล้วมักจะขึ้นอยู่กับ รูปคดี ความยากง่าย ความซับซ้อน พยานหลักฐานที่ปรากฏในคดี ทุนทรัพย์ในคดี ระยะเวลาในการเดินทาง ความสุจริตในการสู้กัน ความรับผิดชอบในคดี เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับทางสำนักงานพิศิษฐ์ ศรีสังข์ทนายความ มีราคาค่าว่าความคดีแพ่งโดยสังเขปอยู่ในช่วงประมาณ 30,000 บาท- 100,0000 บาท ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยดังที่กล่าวข้างต้นครับ
สรุป เรื่อง ทำอย่างไรเมื่อ ถูกฟ้องคดีแพ่ง
ธรรมดาแล้วคดีแพ่งนั้นเป็นคดีที่เกี่ยวข้องด้วยกับสิทธิและทรัพย์สินต่างๆ ไม่ใช่คดีคอขาดบาดตายถึงขั้นจะต้องติดคุกกัน ดังนั้นส่วนใหญ่แล้วทุกคดีมักมีทางออกได้ไม่ยากนัก
หากเป็นหนี้หรือเป็นฝ่ายผิดจริง ก็หาทางผ่อนหนักผ่อนเบา เจรจาไกล่เกลี่ยกับทางฝ่ายโจทก์ โดยให้ทนายความเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ย หากไม่ได้เป็นหนี้จริง หรือไม่ได้เป็นฝ่ายผิดตามที่ถูกกล่าวหา ก็ให้ทนายความเตรียมการต่อสู้คดี
หากรูปคดีมีความก้ำกึ่ง ก็อาจใช้วิธีการเจรจาไกล่เกลี่ยเบื้องต้นก่อน หากสามารถตกลงกันได้ย่อมเป็นผลดีกับทุกฝ่าย แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ย่อมต้องสู้คดีไปตามพยานหลักฐาน ให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยตัดสิน
โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ คุณไม่ควรคิดเองทำเอง หรือดำเนินการโดยไม่ปรึกษาทนายความ แต่เมื่อคุณถูกฟ้องคดี คุณควรจะรีบมาปรึกษาทนายความตั้งแต่เนิ่นๆเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับคุณครับ
จำไว้ว่าเมื่อเจ็บป่วยก็ควรรีบไปหาหมอ ถ้าถูกฟ้องก็ควรรีบมาติดต่อทนายความครับ หากดื้อดึงหาวิธีแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ไม่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ สุดท้ายจะได้ไม่คุ้มเสียครับ