ความรู้เกี่ยวกับการว่าจ้างทนายความ

ฟ้องหย่า มีขั้นตอนอย่างไร เหตุหย่ามีอะไรบ้าง ฟ้องแล้วใช้เวลานานไหม ฯลฯ รวม 12 เรื่องที่คุณต้องรู้ก่อนฟ้องคดีหย่า 

ฟ้องหย่า จะต้องเริ่มต้นอย่างไร เหตุหย่ามีอะไรบ้าง หาทนายความที่ไหน ค่าใช้จ่ายจะสูงหรือเปล่า จะต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง จะต้องมีพยานไหม ต้องขึ้นศาลกี่ครั้ง ใช้เวลานานแค่ไหนถึงจะได้ใบหย่า ฯลฯ ?

สารพัดคำถามเหล่านี้ เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นกับทุกคนที่ต้องการที่จะฟ้องหย่า 

วันนี้ผมจะมาตอบคำถามทุกคำถามที่คุณอยากจะรู้ ในการฟ้องหย่า พร้อมอธิบายขั้นตอนวิธีการอย่างละเอียดครับ 


เหตุหย่ามีอะไรบ้าง ?

เหตุฟ้องหย่าตามกฎหมายของบ้านเรานั้น มีอยู่ด้วยกัน 10 ประการ คือ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์    มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

        (1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

        (2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

        (ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง

        (ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ

        (ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ

        อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

        (3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง  ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

        (4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

        (4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

        (4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

        (5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

        (6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง  ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

        (7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

        (8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

        (9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

        (10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

เหตุฟ้องหย่าแต่ละมาตรานั้น มีแนวคำพิพากษา มีหลักเกณฑ์ ข้อยกเว้นที่แตกต่างกันไป ซึ่งทนายความที่มีความชำนาญคดีประเภทนี้ จะเข้าใจข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นอย่างดี 

ดังนั้น เหตุการณ์ของคุณ จะสามารถฟ้องหย่าตามกฎหมายได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ทนายความจะต้องสอบข้อเท็จจากคุณโดยละเอียด เพื่อวินิจฉัยเข้ากับข้อกฎหมาย จึงจะได้คำตอบที่ถูกต้องชัดเจนที่สุด  


เริ่มต้นฟ้องหย่าอย่างไร 

จุดเริ่มต้นของการฟ้องร้องคดีหย่า คุณจะต้องมาพบกับทนายความ โทรศัพท์สอบถาม หรือส่งไลน์ อีเมล์ปรึกษากับทนายความ เพื่อเล่าเรื่องทั้งหมดให้กับทนายความฟัง ว่าสาเหตุที่คุณต้องการจากกับคู่สมรสนั้นเป็นเหตุเพราะอะไร

ธรรมดาแล้วหากเป็นคดีที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เช่น  คู่สมรสแยกกันอยู่เกินกว่า 3 ปีแล้ว หรือคู่สมรสละทิ้งร้าง เกินกว่า 1 ปี คู่สมรสมีชู้โดยเปิดเผย เช่นนี้ การวินิจฉัยว่าสามารถฟ้องหย่าได้หรือไม่ก็ทำได้ไม่ยาก 

แต่หาก ข้อเท็จจริงมีความซับซ้อน หรือพยานหลักฐานอาจจะยังไม่ชัดเจน ต้องหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม เช่นนี้แนะนำให้มานั่งคุยกันโดยละเอียด ถึงจะให้คำปรึกษาและวางรูปคดีได้ถูกว่าจะสามารถฟ้องหย่าได้หรือไม่ 

หลังจากสอบข้อเท็จจริงแล้ว ทนายความจะทำการวินิจฉัยข้อเท็จจริงปรับเข้ากับข้อกฎหมายว่า เรื่องราวของคุณสามารถจะเป็นเหตุฟ้องหย่าได้หรือไม่ 

หากข้อเท็จจริงสามารถฟ้องหย่าได้ตามกฎหมาย ทนายความก็จะจัดการร่างฟ้องและยื่นฟ้องคดีต่อศาลต่อไป 

หากข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอ ทนายความอาจจะแนะนำ หรือให้ความช่วยเหลือในการหาพยานหลักฐานให้ชัดเจนต่อไป 


ข้อมูลที่ต้องเตรียมมาให้ทนายความ 

อย่างที่แจ้งไว้ในข้อข้างบน การที่ทนายความจะวินิจฉัยรูปคดีและให้คำปรึกษากับคุณได้ถูกต้องนั้นทนายความจะต้องสอบข้อเท็จจริงโดยละเอียด 

ซึ่งธรรมดาแล้วข้อเท็จจริงที่ทนายความจะสอบถามและท่านจะต้องเตรียมตัวมาก็คือ 

  • ประวัติส่วนตัวของทั้งตัวคุณและคู่สมรส เช่น เป็นคนที่ไหน จบการศึกษาจากไหนมา ประกอบอาชีพอะไร พักอาศัยอยู่ที่ไหน 
  • เริ่มรู้จักคบหากับคู่สมรสตั้งแต่เมื่อไหร่ 
  • มีบุตรด้วยกันไหม 
  • ใครเป็นคนเลี้ยงดูบุตร และเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลี้ยงดูบุตร 
  • จดทะเบียนสมรสกันเมื่อไหร่ 
  • อยู่กินกันมาที่ไหนบ้าง และปัจจุบันอยู่กินด้วยกันไหม
  • มีทรัพย์สินสมรสด้วยกันหรือไม่ 
  • สาเหตุที่จะฟ้องหย่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เล่าแบบละเอียดตั้งแต่เริ่มต้นเหตุการณ์จนกระทั่งถึงปัจจุบัน 

ทั้งนี้หากคุณพอมีเวลา ถ้าจะพิมพ์เรื่องราวรายละเอียดดังกล่าวส่งให้กับทนายความมาด้วย  ทนายความก็จะชอบมาก และจะเป็นประโยชน์และรวดเร็วในการให้คำปรึกษามากขึ้นครับ 


เอกสารที่ต้องเตรียมให้ทนายความ

เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องหย่าที่ต้องใช้ในคดี และต้องเตรียมมาให้กับทนายความ มีดังนี้ 

  1. ใบสำคัญการสมรส 
  2. สูติบัตรหรือทะเบียนบ้านของลูกทุกคน ถ้าหากมีลูกด้วยกัน 
  3. ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล ทั้งของสามีภรรยาและบุตร กรณีมีการเปลี่ยนชื่อนามสกุล
  4. ทะเบียนบ้านที่ สามีภรรยาและบุตรพักอาศัยอยู่ด้วยกัน 
  5. สำเนาบัตรประชาชนหรือสำเนาพาสปอร์ตหนังสือเดินทางของตนเองและคู่สมรส (ของคู่สมรสไม่จำเป็นเท่าไหร่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร )
  6. หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเหตุที่จะฟ้องหย่า  เช่น หลักฐานการสนทนาผ่านโปรแกรม line หรือ facebook รูปถ่ายคู่สมรสกับชู้ คลิปเสียงหรือคลิปวีดีโอเหตุการณ์ต่างๆ  เป็นต้น
  7. หลักฐานเกี่ยวกับสินสมรส เช่น โฉนดที่ดิน สำเนาทะเบียนรถยนต์ สมุดบัญชีผู้ถือหุ้น สมุดบัญชีธนาคาร เป็นต้น (เฉพาะกรณีที่มีประเด็นเรื่องการแบ่งสินสมรสด้วย )
  8. หลักฐานเกี่ยวกับบุตรผู้เยาว์ เช่นหลักฐานการศึกษา การส่งเสียเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ (เฉพาะคดีที่มีประเด็นเรื่องอำนาจปกครองบุตร )

เอกสารทุกอย่างที่นำมามอบให้กับทนายความให้นำแต่สำเนามามอบให้เท่านั้น ทนายความจะไม่เก็บหรือขอตัวจริงไว้ เพราะเอกสารตัวจริงจะต้องนำไปใช้ในวันขึ้นศาลเท่านั้น 


 จะต้องมีพยานบุคคลด้วยไหม ?

คดีฟ้องหย่า จะต้องใช้พยานบุคคลประกอบด้วยหรือไม่ แบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ 

1.กรณีพยานหลักฐานที่เป็นพยานเอกสารหรือพยานวัตถุยังไม่ชัดเจน 

ตัวอย่างเช่น คดีฟ้องหย่าที่อ้างเหตุคู่สมรสมีชู้ แต่ยังไม่มีรูปถ่าย คลิปวีดีโอ ที่ปรากฏเรื่องการเป็นชู้อย่างชัดเจนมีแต่เพียงพยานบุคคลที่พบเห็นเหตุการณ์ 

กรณีเช่นนี้ย่อมจะต้องใช้พยานบุคคลมาประกอบด้วย ซึ่งท่านจะต้องนำพยานบุคคลดังกล่าวมาพบทนายความ และนำไปเบิกความในชั้นศาล 

2.กรณีพยานหลักฐานที่เป็นพยานเอกสารหรือพยานวัตถุชัดเจนแล้ว 

ตัวอย่างเช่น คดีฟ้องชู้ที่มีรูปถ่าย คลิปวีดีโอ กล้องวงจรปิด หรือมีพฤติการณ์ ปรากฏตามสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆอย่างชัดเจน 

เช่นนี้ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้พยานบุคคล มาเป็นพยานในชั้นศาลหรือมาพบทนายความแต่อย่างใด 


ฟ้องหย่า ต้องขึ้นศาลกี่ครั้ง

ในกรณีฟ้องหย่า ตัวโจทก์ซึ่งเป็นคนฟ้องหย่าจะต้องมาศาลกี่ครั้งนั้น แบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ 

1.จำเลยไม่มาศาล และไม่ต่อสู้คดี

ในคดีฟ้องหย่า อย่างน้อยตัวคุณซึ่งเป็นคนฟ้องคดีนั้นจะต้องมาศาล 1 ครั้ง  

กล่าวคือตัวคุณต้องมาศาลในนัดแรก ซึ่งธรรมดาแล้วศาลจะนัดไกล่เกลี่ย / สืบพยานโจทก์ พร้อมกันในนัดแรก 

ในนัดพิจารณาคดีครั้งแรกนั้น หากจำเลยไม่ได้มาศาล และไม่ได้ส่งทนายความมาขอเลื่อนคดี แสดงว่าจำเลยไม่ประสงค์ต่อสู้คดี 

ในกรณีที่จำเลยไม่มาศาลตามกำหนดนนัด ศาลก็จะให้คุณสาบานตัวตามกฎหมาย และเบิกความเล่าเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นต่อศาลเลยว่าสาเหตุที่ฟ้องหย่าคู่สมรส เป็นเพราะอะไร โดยทนายความจะทำหน้าที่เป็นผู้ถามคุณ พร้อมกับส่งเอกสารหลักฐานต่างๆให้ศาลตรวจสอบ 

ซึ่งก่อนวันขึ้นศาล ทนายความจะทำการซักซักการถามตอบ รวมทั้งเตรียมเอกสารหลักฐานกับคุณก่อนวันขึ้นศาลก่อนอยู่แล้ว 

เมื่อศาลฟังเรื่องเล่าจากคุณแล้วเห็นว่า เป็นสาเหตุที่จะสามารถฟ้องหย่าได้ตามกฎหมาย ศาลจะพิพากษาให้คุณและคู่สมรสหย่าขาดจากกัน 

ทางปฏิบัติแล้ว เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาแล้ว จะยังคัดคำพิพากษาวันนั้นเลยไม่ได้ แต่ต้องรออีกประมาณ 7-10 วัน เพื่อให้ศาลและผู้พิพากษาทุกคนลงลายมือชื่อให้ครบก่อน 

หลังจากศาลพิพากษาให้หย่าขาดกันแล้ว อีก 1 เดือน คุณจึงสามารถนำคำพิพากษาของศาลพร้อมหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดไปจดทะเบียนหย่าที่ว่าการอำเภอได้ 

สาเหตุที่ต้องรอ 1 เดือน เนื่องจากการนำคำพิพากษาไปจดทะเบียนหย่าขาดกันที่สำนักงานทะเบียน หรือที่ว่าการอำเภอนั้น จะต้องมี “ หนังสือรับรองคดีถึงที่สุด “ ไปพร้อมกับคำพิพากษาด้วย

ซึ่งหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดนี้ จะออกได้หลังศาลพิพากษาไปแล้วเกินกว่า 30 วันเท่านั้น 

2.จำเลยมาศาล หรือมาต่อสู้คดี 

หากจำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดี และแต่งตั้งทนายความเข้ามาในวันนัด หรือเดินทางมาศาลในวันนัด หรืออาจจะมอบให้เสมียนทนายความเลื่อนคดีนัดแรก ซึ่งเป็นสิทธิที่ฝ่ายจำเลยจะกระทำได้ 

ศาลจะจัดให้คู่ความทั้งสองฝ่าย เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความ โดยจะมีผู้ไกล่เกลี่ยและประนีประนอมคดีครอบครัว มาเป็นคนกลาง ช่วยไกล่เกลี่ยให้กับทั้งสองฝ่าย

ผู้ไกล่เกลี่ยประนีประนอมคดีครอบครัวนี้ ไม่ใช่ผู้พิพากษา ไม่ใช่ข้าราชการ แต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีคุณสมบัติตามที่ศาลคัดเลือก และมีจิตอาสาต่อสังคม มาช่วยเหลืออำนวยความยุติธรรมให้ทุกฝ่าย ด้วยการใช้ความรู้และประสบการณ์ของตน มาช่วยไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองฝ่ายตกลงกันด้วยดี 

ซึ่งธรรมดาแล้วในคดีครอบครัวประเภทเรื่องหย่านั้น ทุกฝ่ายมักเจรจาตกลงกันได้ เพราะธรรมดาแล้วหากคนไม่รักกันแล้ว เป็นการยากที่จะให้กลับไปอยู่ด้วยกันอีกและไม่เป็นประโยชน์ที่จะให้ถือทะเบียนสมรสอยู่ด้วยกัน 

ทนายความคดีครอบครัว ที่มีความชำนาญและประสบการณ์จะรู้ดีว่า การต่อสู้คดีในลักษณะนี้ ไม่ค่อยเกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย แต่การร่วมกันพูดคุยหาทางออกร่วมกัน จะเป็นประโยชน์มากที่สุดกับทุกฝ่าย

ดังนั้นธรรมดาแล้ว คดีลักษณะแบบนี้ จึงมักจะจบด้วยการเจรจาไกล่เกลี่ย และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเป็นส่วนมาก

กรณีตกลงกันได้ ต้องทำอย่างไร

ถ้าทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ ซึ่งโดยมากก็คือ ทั้งสองฝ่ายตกลงสมัครใจหย่า หรือ ฝ่ายที่เป็นฝ่ายผิดยอมหย่าให้ หรือฝ่ายที่ต้องการหย่า ยอมชดใช้เงินให้ส่วนหนึ่งเพื่อให้อีกฝ่ายยอมหย่าให้ 

ทนายความก็จะจัดการให้ทั้งสองฝ่ายทำ “สัญญาประนีประนอมยอมความ” โดยเนื้อหาของสัญญาประนีประนอมยอมความก็คือ ทั้งสองฝ่ายตกลงหย่าขาดจากกันและจะไปหย่าขาดกันภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด

ตัวอย่างเนื้อหาในสัญญาประนีประนอมยอมความ เช่น 

โจทก์และจำเลยยินยอมหย่าขาดจากกัน โดยจะไปจดทะเบียนหย่าที่ที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้ 

หลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว ผู้พิพากษาก็จะตรวจดูว่า สัญญาประนีประนอมยอมความของเรา ขัดกับกฎหมายหรือไม่ ถ้าผู้พิพากษาตรวจแล้วเห็นว่าถูกต้อง ก็จะมีคำพิพากษาให้แต่ละฝ่ายมีสิทธิและหน้าที่ตามที่ปรากฎตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

ทั้งนี้หากทั้งสองฝ่ายทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว ฝ่ายใดไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่าตามกำหนด

 อีกฝ่ายหนึ่งก็สามารถนำเอา สัญญาประนีประนอมยอมความ คำพิพากษาที่พิพากษาให้เป็นตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด ไปดำเนินการจดทะเบียนหย่าขาดที่อำเภอได้ฝ่ายเดียวเลย 

กรณีตกลงกันไม่ได้ ต้องทำอย่างไร 

หากผู้ไกล่เกลี่ยไม่สามารถเจรจาให้ทั้งสองฝ่ายตกลงประนีประนอมยอมความกันได้ ผู้ไกล่เกลี่ยก็จะส่งเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลอีกครั้งหนึ่ง 

ซึ่งผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้น ก็อาจจะทำการเจรจาไกล่เกลี่ยอีกรอบนึง ในบัลลังก์ศาล ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็อาจจะตกลงกันได้ในรอบนี้

ซึ่งหากตกลงกันได้ ก็จะเข้าสู่กระบวนการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อไป 

แต่หากทั้งสอง ฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้อีก ศาลก็จะนัดสืบพยานของทั้งสองฝ่ายอีกต่อไป 

และเมื่อสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้นแล้ว ศาลก็จะมีคำพิพากษาว่าให้หย่าหรือไม่ให้หย่าต่อไป 

ซึ่งรวมแล้ว กรณีที่จำเลยมาศาลต่อสู้คดี ตัวโจทก์จะต้องมาศาลตั้งแต่ละประมาณ 2 ถึง 5 ครั้ง แล้วแต่กรณี 


ฟ้องหย่า นานแค่ไหนถึงได้หย่า

แบ่งออกเป็น 3 กรณีด้วยกัน

1.กรณีจำเลยไม่มาศาลและไม่มาต่อสู้คดี นับแต่วันที่เริ่มฟ้องศาลมีคำพิพากษาจนได้คำพิพากษาและหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด เพื่อไปใช้จดทะเบียนหย่าประมาณ 3 เดือน 

2.กรณีจำเลยมาศาลและมาต่อสู้คดี ถ้าสามารถพูดคุยเจรจาตกลงกันได้ ใช้เวลาประมาณ 2-6 เดือน นับแต่วันยื่นฟ้อง จนได้จดทะเบียนหย่า แล้วแต่ว่าจะสามารถตกลงกันได้ช้าหรือเร็ว 

3.กรณีจำเลยมาศาล มาต่อสู้คดีและไม่สามารถตกลงกันได้ ใช้เวลาตั้งแต่เริ่มคดีจนจบในศาลชั้นต้นประมาณ 6 เดือน – 9 เดือน และชั้นอุทธรณ์ ฎีกา อีกประมาณ 1-2 ปี รวมแล้วใช้เวลา 6 เดือนถึง 2 ปี ถึงจะได้หย่า


ได้คำพิพากษาให้หย่าแล้วต้องทำอย่างไร 

เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้หย่าขาดจากกันแล้ว และคดีถึงที่สุดโดยไม่มีฝ่ายใดยื่นอุทธรณ์ หรือฎีกา

หรือในกรณีที่ทั้งสองฝ่าย สามารถตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้ และตกลงหย่าขาดจากกัน และคดีถึงที่สุดแล้ว

คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สามารถถือเอาใบสำคัญการสมรส คำพิพากษาของศาล หรือสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม และหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด ไปดำเนินการจดทะเบียนหย่าแต่ฝ่ายเดียวได้เลย

ทั้งนี้ตาม ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2541 ที่ออกตามความใน ตาม พ.ร.บ. จดทะเบียนครอบครัว2478  ที่วางหลักไว้ว่า

ข้อ ๒๒  เมื่อมีผู้ร้องขอจดทะเบียนการหย่าโดยนำสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้สามีภริยาหย่าขาดจากกัน และมีคำรับรองถูกต้องมาแสดง ให้นายทะเบียนดำเนินการดังนี้

(๑) ตรวจสอบคำร้อง หลักฐานตามข้อ ๘ ของผู้ร้อง สำเนาคำพิพากษาและคำรับรองถูกต้อง

(๒) ลงรายการของคู่หย่าในทะเบียนการหย่า (คร. ๖) และใบสำคัญการหย่า (คร.๗) ให้ครบถ้วน

(๓) บันทึกข้อความลงในช่องบันทึกของทะเบียนการหย่า (คร. ๖) ให้ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับศาล เลขที่คดี วันเดือนปีที่พิพากษา และสาระสำคัญของคำพิพากษานั้น

(๔) ดำเนินการตามข้อ ๒๐ (๓) (๔) (๕) และ (๖) สำหรับในกรณีที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องเพียงฝ่ายเดียว ให้เก็บรักษาใบสำคัญการหย่า (คร. ๗) ฉบับที่เหลือไว้ แล้วแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งมารับไป

ฟ้องหย่าเป็นคดีอะไร

ฟ้องหย่า เป็นคดีแพ่ง และยังเป็นคดีแพ่งประเภทพิเศษที่จะต้องขึ้นศาลพิเศษคือศาลเยาวชนและครอบครัว ไม่ใช่ศาลจังหวัดทั่วไป 

โดยในคดีหย่านั้น ยังกระบวนพิจารณาต่างๆยังมีความพิเศษและแตกต่างไปจากคดีแพ่งทั่วไปหลายประการ 

เพราะศาลมองว่าสถาบันครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญอีกทั้งคดีที่เกี่ยวกับครอบครัวนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนจึงสมควรจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นมาพิจารณาคดีประเภทนี้โดยเฉพาะ 

โดยกฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆไว้ใน พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553


ฟ้องหย่าที่ศาลไหน

คดีฟ้องหย่านั้้นจะต้องฟ้องที่ ” ศาลเยาวชนและครอบครัว ” โดยสถานที่นั้นสามารถฟ้องได้ 2 ที่ด้วยกันก็คือ 

1.สถานที่ที่มูลคดีเกิด 

คำว่า “มูลคดี’ หมายถึงสถานที่ที่เกิดเหตุทำให้ฟ้องหย่านั่นเอง เช่นสถานที่ที่พบเห็นหรือเกิดการกระทำเป็นชู้ สถานที่ที่คู่สมรสทำร้ายร่างกาย สถานที่ที่เริ่มแยกกันอยู่ เป็นต้น 

หากว่ามูลคดีที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องหย่าเกิดขึ้นที่ไหนเราก็สามารถฟ้องได้ที่ศาลนั้น 

เช่น พบเห็นการเป็นชู้ที่จังหวัดชลบุรี ก็สามารถฟ้องหย่าได้ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชลบุรี แม้ว่าคู่สมรสจะอยู่กินกันที่จังหวัดกรุงเทพฯก็ตาม 

2.สถานที่ที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ 

คำว่าภูมิลำเนา หมายถึงสถานที่ที่จำเลยมีที่อยู่เป็นประจำหรือที่ปรากฏตามทะเบียนบ้าน 

คำว่าจำเลยในที่นี้หมายความรวมถึงตัวคู่สมรสที่เราฟ้องหย่า รวมทั้งตัวหญิงชู้หรือชายชู้ในกรณีที่เราฟ้องชู้ด้วย 

เช่นตัวสามีมีภูมิลำเนาอยู่ที่ จังหวัดกรุงเทพฯ ส่วนตัวชู้มีภูมิลำเนาอยู่ที่พัทยา เหตุการณ์เป็นชู้เกิดขึ้นที่เชียงใหม่

เช่นนี้เราสามารถฟ้องคดีได้ทั้งที่จังหวัดกรุงเทพฯซึ่งเป็นภูมิลำเนาของสามี รวมทั้งจังหวัดชลบุรีที่เป็นภูมิลำเนาของชู้ และที่เชียงใหม่ที่เป็นสถานที่มูลคดีเกิด 

ฟ้องหย่า เรียกค่าเลี้ยงดูบุตร เรียกค่าเลี้ยงชีพ


ฟ้องหย่าลูกอยู่กับใคร 

ในกรณีที่คู่สมรสมีบุตรด้วยกัน เมื่อมีการฟ้องหย่าก็จะต้องมีการ พูดถึงหรือฟ้องเรื่องอำนาจปกครองบุตรเข้าไปด้วย

ธรรมดาแล้วฝ่ายที่ฟ้องหย่าก็มักจะต้องการนำบุตรไปเลี้ยงด้วยตนเอง 

แต่ธรรมดาแล้วในคดีประเภทฟ้องหย่าอำนาจปกครองบุตรนี้ศาลจะไม่ได้กำหนดให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรหรือเป็นผู้เลี้ยงดูบุตรแต่เพียงผู้เดียว 

แต่ศาลมักจะกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันเลี้ยงดูบุตร แบ่งกันเลี้ยงดูเพราะจะเป็นวิธีที่เกิดประโยชน์แก่บุตรผู้เยาว์มากที่สุด 

และธรรมดาแล้วในประเด็นเรื่องอำนาจปกครองบุตรหรือการแบ่งกันเลี้ยงดูบุตรนั้น การพูดคุยเจรจาตกลงกัน ว่าจะแบ่งกันเลี้ยงดูอย่างไรย่อมจะเป็นประโยชน์มากกว่าการที่ให้ศาลเป็นคนกำหนด 


ฟ้องหย่า เรียกอะไรได้อะไรบ้าง 

เรียกค่าทดแทน

ธรรมดาแล้ว หากฟ้องหย่าสามีหรือฟ้องหย่าภรรยา ด้วยสาเหตุว่าเป็นชู้หรือมีชู้ นอกจากจะสามารถฟ้องหย่าได้แล้ว 

ยังสามารถฟ้องเรียก ค่าทดแทน ได้จากตัวสามีภรรยาคู่สมรส รวมทั้งตัวหญิงชู้หรือชายชู้ที่เป็นเหตุหย่า ได้อีกด้วย 

หรือหากเรายังไม่ต้องการฟ้องหย่า ก็สามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชู้แต่เพียงอย่างเดียวได้ 

ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 

ส่วนการฟ้องจะสามารถเรียกเงินได้เท่าไหร่นั้นสามารถอ่านได้จากบทความเรื่อง ฟ้องชู้เรียกเงินเท่าไหร่ ศาลใช้อะไรเป็นหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าเสียหาย ซึ่งผมเคยได้เขียนอธิบายไว้อย่างละเอียดแล้วครับ 

เรียกค่าเลี้ยงดูบุตร 

ในเรื่องการฟ้องหย่า หากคู่สมรสมีบุตรด้วยกัน และบุตรอยู่ในความดูแลของฝ่ายที่ฟ้องหย่า 

ฝ่ายที่ฟ้องหย่าย่อมสามารถฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรตามสมควรไปพร้อมกับการฟ้องหย่าได้ด้วย

ส่วนค่าเลี้ยงดูบุตร จะเรียกร้องได้เท่าไหร่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องๆไป

เรียกค่าเลี้ยงชีพ 

ถ้าเหตุหย่านั้นเกิดจากความความผิดของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ไปมีชู้ หรือละทิ้งร้างคู่สมรสอีกฝ่ายเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี คู่สมรสฝ่ายที่ฟ้องหย่า ย่อมมีสิทธิฟ้องค่าเลี้ยงชีพได้ด้วย

ทั้งนี้สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพนั้น คู่สมรสจะต้องฟ้องหรือฟ้องแย้งเข้าไปในคดีหย่าเท่านั้น ถ้าไม่ได้ฟ้อง จะมาฟ้องหรือเรียกร้องภายหลังไม่ได้ ตามป.พ.พ. ม.1526

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526 ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ค่าเลี้ยงชีพนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับและให้นำบทบัญญัติ มาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และมาตรา 1598/41 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุด ถ้ามิได้ฟ้องหรือฟ้องแย้งในคดีหย่านั้น

ทั้งนี้หากคู่สมรสฝ่ายที่ได้รับค่าเลี้ยงชีพ จดทะเบียนสมรสใหม่ สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพจะสิ้นไปทันที ตาม ป.พ.พ.ม.1528

มาตรา 1528 ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพย่อมหมดไป

เรียกแบ่งสินสมรส 

ในคดีฟ้องหย่า คู่สมรสสามารถฟ้องแบ่งหรือเรียกร้องให้แบ่งสินสมรสไปพร้อมกันในคราวเดียวกันเลย เพียงแต่จะต้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมตามทุนทรัพย์ที่ขอแบ่ง

ซึ่งธรรมดาแล้วในทุกคดีที่มีสินสมรสด้วยกัน เราก็นิยมจะฟ้องแบ่งสินสมรสเข้าไปพร้อมคดีหย่าอยู่แล้ว


ฟ้องหย่าสามีต่างชาติ หรือฟ้องหย่าภริยาต่างชาติ มีขั้นตอน กระบวนการ อย่างไร

การฟ้องหย่าชาวต่างชาติ ในกรณีที่เรามีคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติ หรือในกรณีที่คุณเป็นคนต่างชาติและต้องการฟ้องหย่าคู่สมรสชาวไทย มีหลักเกณฑ์และขั้นตอนคล้ายกับการฟ้องหย่าคนไทยด้วยกันตามปกติ

แต่จะมีข้อกฎหมายและขั้นตอนที่จะต้องพิจารณาเพิ่มเติมมา ก็คือ 

1.กฎหมายหย่าของประเทศคู่สมรส

พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายพ.ศ.2481 ม.24 วางหลักไว้ว่า  “ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้กระทำได้ เหตุหย่าให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า “

หมายความว่าในคดีฟ้องหย่าชาวต่างชาติ หรือคดีที่ชาวต่างชาติฟ้องหย่าคนไทย หรือชาวต่างชาติฟ้องหย่ากันเอง ในศาลของประเทศไทย 

โจทก์จะต้องนำสืบว่า กฎหมายของประเทศของสัญชาติโจทก์หรือจำเลยนั้น ไม่ขัดกับกฎหมายของประเทศไทย 

กล่าวคือจะต้องนำสืบว่า ตามกฎหมายของประเทศสัญชาติโจทก์หรือจำเลยนั้น ยอมให้ทั้งสองฝ่ายสามารถฟ้องหย่า หรือหย่าขาดจากกันได้

ทั้งนี้เพราะในบางประเทศที่เคร่งศาสนามาก คู่สมรสหากจดทะเบียนสมรสกันแล้ว จะไม่สามารถหย่าขาดกันได้เลย เช่นนี้ศาลไทยก็ไม่สามารถพิพากษาให้ทั้งสองฝ่ายสามารถให้ฟ้องหย่ากันได้

แต่ส่วนใหญ่แล้ว ในปัจจุบันแทบทุกประเทศทั่วโลก ต่างผ่อนปรนความเคร่งครัดทางศาสนา และอนุญาตให้คู่สมรสหย่าขาด หรือฟ้องหย่ากันได้อยู่แล้ว ดังนั้นคุณจึงไม่ต้องกังวลข้อกฎหมายนี้แต่อย่างใด

ส่วนสาเหตุการหย่านั้น ให้พิจารณาตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ฟ้องหย่า คือตามกฎหมายแห่งประเทศไทยอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ต้องไปพิจารณาถึงเหตุฟ้องหย่าของกฎหมายต่างประเทศ 

ตัวอย่างเช่น

ตามกฎหมายของประเทศไทยหากคู่สมรสแยกกันอยู่กันเป็นเวลาเกินกว่า 3 ปีแล้วคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถฟ้องหย่าได้ 

หากเราฟ้องหย่า คู่สมรสซึ่งเป็นคนสัญชาติอังกฤษ แล้วตามกฎหมายของประเทศอังกฤษ สมมุติว่าจะต้องแยกกันอยู่เกินกว่า 10 ปี  ถึงจะฟ้องหย่าได้

เช่นนี้การพิจารณาเหตุในการฟ้องหย่า ให้พิจารณาเฉพาะตามกฎหมายไทยเท่านั้นคือหากแยกกันอยู่เกินกว่า 3 ปีก็สามารถฟ้องหย่าได้แล้วไม่ต้องรอถึง 10 ปี 

ตัวอย่างเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6499/2557 , คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6625/2549  , คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9681/2557 เป็นต้น

2.การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง 

การฟ้องหย่าคู่สมรสที่เป็นชาวต่างชาติ หากคู่สมรสนั้นยังพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย หรือมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย การฟ้องก็ไม่ต่างกับคดีทั่วไป 

กล่าวคือการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ก็สามารถขอให้ศาลส่งให้ตามภูมิลำเนาของจำเลยในประเทศไทยได้เลย 

แต่หากคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติ และเดินทางกลับประเทศของตนเองไปแล้ว ไม่ได้อยู่อาศัยในประเทศไทย และไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย

เช่นนี้อาจจะมีกระบวนการต้องส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปยังต่างประเทศ ผ่านกระบวนการของศาลเป็นวิธีพิเศษ พร้อมต้องแปลคำฟ้องเป็นภาษาตามสัญชาติของคู่สมรสด้วย 

ซึ่งกรณีนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากปกติประมาณ 5,000 บาทเป็นค่าแปลและค่าจัดส่งเอกสาร และอาจจะใช้เวลาทำการมากกว่าคดีปกติประมาณ 1-2 เดือน


ค่าธรรมเนียมศาลเท่าไหร่ 

ธรรมดาแล้วคดีฟ้องหย่าเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ เสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราเพียง 200 บาทเท่านั้น 

และนอกจากค่าธรรมเนียมศาลแล้ว ก็ยังมีค่าธรรมเนียมการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้กับจำเลยซึ่งจะอยู่ประมาณ 500 ถึง 1,000 บาท 

รวมแล้วค่าธรรมเนียมศาลในคดีฟ้องหย่าอย่างเดียวจะตกไม่เกิน 2,000 บาท 

ธรรมดาแล้วหากมีประเด็นเรื่องฟ้องหย่าอย่างเดียว ค่าธรรมเนียมศาลส่วนนี้ ทางสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความจะเหมารวมให้ในอัตราค่าทนายความอยู่แล้ว 

แต่หากมีประเด็นเรื่องการแบ่งสินสมรส เพิ่มเติมเข้ามาด้วย ค่าธรรมเนียมศาลก็จะเพิ่มขึ้นต่ำจำนวนเงินสินสมรสที่ต้องการฟ้องขอแบ่ง

ซึ่งธรรมดาแล้วหากยอดทุนทรัพย์ของสินสมรส ที่ฟ้องแบ่งไม่เกิน 300,000บาทก็จะเสียค่าธรรมเนียมศาลไม่เกิน 1,000 บาท 

ยอดทุนทรัพย์ของสมรสที่ฟ้องแบ่งเกินกว่า 3 แสนบาท ก็จะเสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราร้อยละ 2 ของจำนวนเงินที่ยื่นฟ้อง 

ทั้งนี้จำนวนเงินค่าธรรมเนียมศาลที่เสียไปนั้น หากทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจาตกลงประนีประนอมยอมความกันได้ศาลจะคืนให้เป็นจำนวน 7ใน 8 ส่วนของจำนวนเงินที่จ่ายไป 

หรือหากไม่สามารถตกลงกันได้มีการสืบพยานจนศาลตัดสินคดีไป  ก็มีโอกาสที่ศาลจะสั่งให้ฝ่ายจำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่เราเสียไปให้กับเรา 

หรือศาลอาจจะสั่งว่าค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คือให้เป็นตกไปทั้งสองฝ่ายไม่ต้องจ่ายให้กันและกัน 


ค่าทนายความเท่าไหร่ 

ธรรมดาแล้วค่าวิชาชีพทนายความนั้น ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้จ้างและผู้ว่าจ้าง ไม่มีกำหนดหลักเกณฑ์ตายตัว 

แต่อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์เรา ทางสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ มีเรทราคาปกติในการว่าจ้างฟ้องหย่าดังนี้ 

1.คดีฟ้องหย่าทั่วไปไม่มีข้อยุ่งยากซับซ้อน

กล่าวคือ คดีมีพยานหลักฐานเรื่องเหตุหย่าชัดเจน ยากที่จะโต้แย้งได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีประเด็นเรื่องอำนาจปกครองบุตร ค่าเลี้ยงชีพ แบ่งสินสมรส ด้วยหรือไม่ 

ค่าวิชาชีพทนายความจะอยู่ที่ประมาณ 40,000-50,000 บาท แล้วแต่รูปคดี

ธรรมดาแล้วทางสำนักงานจะแบ่งจ่ายเป็น 2 งวดคืองวดแรกตอนเซ็นสัญญาว่าจ้าง งวดที่ 2 เมื่องานสำเร็จสามารถจดทะเบียนหย่าได้ หรือเมื่อได้คำพิพากษาให้หย่าขาดจากกัน 

2.คดีฟ้องหย่าที่มีข้อยุ่งยากซับซ้อน

กล่าวคือ คดีที่มีพยานหลักฐานซับซ้อน มีประเด็นข้อพิพาทกันหลายประเด็น มีทุนทรัพย์ในความรับผิดชอบของทนายความเป็นจำนวนสูง 

เช่นนี้ค่าวิชาชีพทนายความทนายความจะต้องประเมินรูปคดีโดยรวมจึงจะแจ้งได้ แต่ก็จะอยู่ที่ตั้งแต่ประมาณ 50,000-100,000 บาท 

เลือกทนายอย่างไรดี 

คดีฟ้องหย่า จะหาทนายที่ไหน จะเลือกทนายอย่างไร ?

ธรรมดาแล้วคดีฟ้องหย่าแบ่งออกเป็น 2 ประเภท 

1.คดีฟ้องหย่าแบบง่ายๆ 

ไม่ซับซ้อน ไม่มีประเด็นเรื่องแบ่งสินสมรส ไม่มีประเด็นเรื่องอำนาจปกครองบุตร มีพยานหลักฐานเรื่องเหตุหย่าชัดเจนยากที่จะโต้แย้งได้ 

กรณีแบบนี้ ผมแนะนำให้เลือกใช้ทนายความที่อยู่ใกล้ตัว และคิดราคาที่เหมาะสมไม่สูงจนเกินไป จะดีที่สุดเพราะคดีแบบนี้เป็นคดีค่อนข้างง่าย ทนายความทั่วไปที่ไหนก็ทำได้ 

2.คดีฟ้องหย่าแบบซับซ้อน 

มีข้อยุ่งยาก เช่นเหตุหย่ายังไม่ค่อยชัดเจนหรือมีประเด็นต้องถกเถียงกันเป็นจำนวนมาก 

หรือมีประเด็นเรื่องแบ่งสินสมรสหรืออำนาจปกครองบุตรที่ซับซ้อน หรือมีประเด็นเรื่องการเรียกค่าทดแทนค่าเลี้ยงชีพหรือประเด็นอื่นด้วย 

กรณีแบบนี้ผมแนะนำให้ใช้ทนายความที่มีประสบการณ์และมีความสามารถเฉพาะทาง ในเรื่องการฟ้องหย่า


สรุป

การฟ้องหย่า ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงคุณมาพบและปรึกษาทนายความ เล่าเรื่องทั้งหมดให้ทนายความฟัง เตรียมข้อมูลและเอกสารหลักฐานต่างๆตามที่ทนายความร้องขอ 

หาข้อมูลหรือเหตุในการหย่าของคุณชัดเจนไปขึ้นศาลเพียงไม่กี่ครั้งก็จะสามารถได้ใบหย่าแล้ว นอกจากนี้ค่าทนายความในคดีฟ้องหย่าก็ไม่สูงมากอีกด้วย

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น