บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

ตัวอย่างการสู้คดียาเสพติด ข้อหาครอบครองเพื่อจำหน่าย ตอน จับมั่ว-ตบทรัพย์-ซ้อมรับสารภาพ ศึกษาการต่อสู้คดีจากประสบการณ์จริง

ตัวอย่างการสู้คดียาเสพติด ในตอนนี้ ตัวจำเลยเป็นช่างทำเครื่องเสียงรถยนต์ มีหน้าร้านประกอบการงาน และพอมีชื่อเสียงในวงการ 

นอกจากนี้จำเลย ก็มีพฤติกรรมเป็นผู้เสพยาเสพติด ประเภทเมทแอมเฟตามีน ผมถามจำเลยแล้วว่าเสพทำไม จำเลยบอกว่าจะสามารถทำให้มีสมาธิและกำลังทำงานได้นานๆ 

วันเกิดเหตุจำเลยเข้าไปเก็บเงินค่าเครื่องเสียงจากนายป. ซึ่งเป็นผู้ค้ายาเสพติด และเป็นลูกค้าทำเครื่องเสียงของจำเลย เป็นเงินประมาณสามหมื่นกว่าบาท  (และผมเข้าใจว่า จำเลยอาจจะไปซื้อยาเสพติดจากนาย ป. เพื่อเสพด้วย)

โดยเมื่อจำเลยไปถึงสถานที่เกิดเหตุ และได้รับเงินจาก นายป. แล้วปรากฎว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจเข้ามาตรวจค้นที่เกิดเหตุพอดี 

ตัวนาย ป. ซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน ไหวตัวทัน ได้วิ่งหลบหนีออกไปทางป่ากล้วย ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถจับกุมได้ 

ส่วนตัวจำเลยไม่ได้หลบหนีเพราะไม่ทันตั้งตัว จึงถูกตำรวจจับกุม อยู่ที่หน้าบ้านที่เกิดเหตุนั่นเอง 

เมื่อตำรวจจับกุมตัวจำเลยแล้ว ก็ตรวจค้นตัวจำเลย และได้ยึดทรัพย์สิน เช่น เงินที่จำเลยรับจากนายป.เป็นค่าทำเครื่องเสียง ประมาณสามหมื่นกว่าบาท  ทองคำที่จำเลยใส่ติดตัว และโทรศัพท์มือถือของจำเลย ที่อยู่ในตัวของจำเลย

หลังจากนั้นตำรวจชุดจับกุม ก็ยึดทรัพย์สินดังกล่าว ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย โดยไม่นำส่งพนักงานสอบสวน

และหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม ก็พาจำเลยเข้าไปในบ้านของนายป. เพื่อทำการตรวจค้นหาสิ่งของผิดกฎหมาย 

เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ค้นพบยาเสพติดจำนวนหนึ่ง ที่บ้านของนายป.  ประกอบกับตรวจปัสสาวะของจำเลยแล้ว พบว่าเป็นผู้เสพยาเสพติด เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงกล่าวหาว่าจำเลยว่า เป็นเจ้าของยาเสพติดในบ้านหลังดังกล่าวทั้งหมด

และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังปั้นแต่งเรื่องราวว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยวิ่งหนีเข้าไปในบ้าน เพื่อชี้ให้เห็นว่าจำเลยเป็นเจ้าของยาเสพติดเอง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ถ่ายรูปจำเลยขณะอยู่ในบ้าน เพื่อเอาไปอ้างต่อศาลว่า จำเลยวิ่งหนีเข้าไปในบ้านจริง 

ซึ่งเป็นการขัดต่อเหตุผลอย่างยิ่ง หากจำเลยจะวิ่งหลบหนีเจ้าหน้าที่ตำรวจจริง จำเลยก็ไม่น่าจะวิ่งหลบหนีเข้าไปในบ้านหลังเล็กๆแคบๆ แต่น่าจะวิ่งหนีไปทางป่ากล้วยซึ่งยากต่อการติดตามซึ่งอยู่ใกล้ๆกัน 

รูปบ้านหลังเกิดเหตุ จะเห็นได้ว่าเป็นการขัดต่อเหตุ ที่จำเลยจะวิ่งหลบหนีเข้าไปในที่แคบๆเช่นนี้ แทนที่จะวิ่งหนีไปในที่โล่ง

ตัวอย่างการสู้คดียาเสพติด

โดยจะเห็นได้ว่านายป. ซึ่งวิ่งหลบหนีเข้าไปในป่า เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่สามารถติดตามตัวได้ จึงเป็นการขัดต่อเหตุผลที่อ้างว่าจำเลยวิ่งหลบหนีเข้าไปในบ้านหลังแคบๆ ที่มียาเสพติดเก็บอยู่

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการป้องกันตัวเอง เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม จึงได้ซ้อมทำร้าย ให้จำเลยเขียนคำรับสารภาพด้วยลายมือของตนเองในชั้นจับกุม เพื่อเป็นหลักฐาน ทั้งๆที่คำรับสารภาพดังกล่าว ไม่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ตามปวิอ ม.83 วรรคท้าย

คำรับสารภาพด้วยลายมือ ที่จำเลยถูกบังคับให้เขียน ตามคำบอกของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม

คำรับสารภาพด้วยลายมือ ที่จำเลยถูกบังคับให้เขียน ตามคำบอกของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม

โดยจากรูปคดีนี้ ปรากฏว่าทะเบียนบ้านหลังดังกล่าวก็เป็นทะเบียนบ้านของนายป. ไม่มีพยานหลักฐานใดๆเลยที่ให้เห็นว่า จำเลยพักอาศัยหรือเป็นเจ้าของบ้านหลังเกิดเหตุ 

คดีนี้ ผมรับว่าความเป็นทนายความให้กับจำเลยตั้งแต่ในศาลชั้นต้น โดยศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลาถึง 5 ปีเศษ

 โดยศาลชั้นต้นให้เหตุผลทำนองว่า “เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติการไปตามหน้าที่ ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองใดๆ กับจำเลย จึงไม่มีเหตุผลที่จะเชื่อได้ว่า เจ้าพนักงานตำรวจจะกลั่นแกล้งจำเลย “

ยังโชคดีที่ลูกความของผม ยังเชื่อมั่นในตัวผมและรูปคดี จึงให้ผมยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีต่อไป 

ในชั้นศาลอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติด พิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลย ในข้อหาครอบครองยาเสพติดไว้เพื่อจำหน่าย 

โดยศาลอุทธรณ์ให้เหตุผลว่า 

1.ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าจำเลยหลบหนีเข้าไปในบ้านหลังแคบๆ แทนที่จะวิ่งหนีเข้าไปในป่าข้างหลังบ้านเป็นการไม่สมเหตุผล

2.ผลการตรวจค้นตัวจำเลยไม่พบสิ่งของกฎหมายใด  (ความจริงเจอทั้งเงินสด ทองคำ และโทรศัพท์มือถือ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม ยักยอกเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว )

3.ไม่มีพยานโจทก์ยืนยันว่า จำเลยพักอาศัยอยู่ในที่เกิดเหตุร่วมกับนายป. เป็นประจำ

4.มีพยานมายืนยันว่าบ้านหลังดังกล่าวเป็นของนายป. และจำเลยไม่เคยพักอาศัยอยู่ในที่เกิดเหตุมาก่อน 

5.หากจำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจริง จำเลยก็ไม่น่าจะวิ่งหนีเข้าไปในบ้านที่เป็นที่เก็บยาเสพติด ที่มีของกลางวางอยู่บนโต๊ะอย่างเปิดเผย 

6.จำเลยให้การถึงรายละเอียดทันทีตั้งแต่ในชั้นสอบสวน ซึ่งเป็นเวลาใกล้เคียงกับตอนเกิดเหตุ โดยที่ยังไม่มีทนายความอยู่ด้วย เชื่อว่าน่าจะให้การไปตามความเป็นจริง 

7.การที่จำเลยเป็นผู้เสพเมทแอมเฟตามีน ไม่ได้แปลว่ายาเสพติดจะต้องเป็นของจำเลย

8.คำรับสารภาพชั้นจับกุม ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติด ไม่ได้นำมาวินิจฉัย เนื่องจากไม่สามารถรับฟังได้ ตามปวิอ.ม.83 วรรคท้าย

สรุป ข้อคิดที่ได้จาก ตัวอย่างการต่อสู้คดียาเสพติด เรื่องนี้ 

เรื่องราวอันเป็นเท็จที่เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม พยายามปั้นแต่งนั้น ทำให้เรื่องราวเหตุผลทั้งหมด เช่น การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม ยึดทรัพย์สินของจำเลยไปทั้งหมด หรือการที่อ้างว่าจำเลยวิ่งหนีเข้าไปบ้าน จึงทำให้ศาลอุทธรณ์ไม่เชื่อคำให้การของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม

ดังนั้น ในการต่อสู้คดีอาญา ทนายความจำเลยจะต้องจำให้ดีว่า หากฝ่ายโจทก์นำเรื่องราวอันเป็นเท็จมาเสนอต่อศาล อย่างไรเสีย ความเท็จนั้น จะต้องมีข้อขัดแย้งกับตัวเอง ขัดแย้งกับพยานปากอื่น และขัดแย้งกับเหตุผลความน่าจะเป็นอยู่เสมอ

ความเท็จนั้น ไม่มีทางที่จะสอดคล้องสมเหตุผลไปได้ตลอด เราจะต้องหาจุดขัดแย้งให้เจอ โดยใช้เหตุผลตามสามัญสำนึก และพยานหลักฐานในสำนวน

และเมื่อพบข้อขัดแย้งแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของ ทนายความจำเลย ที่จะต้องถามค้านและแสดงให้ศาลเห็นถึงความขัดแย้งดังกล่าว เพื่อชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่โจทก์พูดเป็นความเท็จ

คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดถือเป็นที่สุด และอัยการโจทก์ไม่ได้ขออนุญาตฎีกา ปัจจุบันคดีนี้ถึงที่สุดแล้ว

ผมจึงได้นำตัวอย่างคำพิพากษามาเผยแพร่ เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำงาน แก่เพื่อนๆและผู้สนใจทั่วไปครับ โดยผมยังมีตัวอย่างการต่อสู้คดีอาญาที่น่าสนใจเช่นนี้อีกหลายคดี และจะทยอยนำมาเผยแพร่ต่อไป

หากเห็นว่าเป็นประโยชน์ รบกวนกดไลค์ กดแชร์ และคอมเม้นท์ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมนำตัวอย่างที่น่าสนใจเช่นนี้มาเผยแพร่ต่อไปนะครับ 

 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts