ในคดีอาญา โดยเฉพาะคดีประเภทเกี่ยวกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สิน มักจะมีประเด็นข้อต่อสู้ของฝ่ายจำเลยว่า จำเลยไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ และพยานโจทก์ไม่ได้พบเห็นและไม่สามารถจดจำตัวจำเลยได้
ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่ง ที่จะบ่งชี้ว่าพยานโจทก์ จะสามารถจดจำตัวจำเลยได้หรือไม่ ก็คือขณะที่เกิดเหตุ มีแสงสว่างเพียงพอที่จะทำให้พยานโจทก์เห็นจำเลยได้อย่างชัดเจนหรือไม่
จึงเป็นหน้าที่ของทนายความจำเลย ที่จะต้องถามค้านพยานโจทก์ เพื่อทำลายน้ำหนัก และเพื่อให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในบริเวณที่เกิดเหตุไม่น่าจะมีแสงไฟเพียงพอที่จะทำให้พยานโจทก์เห็น และจดจำจำเลยได้อย่างชัดเจน
โดยวันนี้ผมจะมาแนะนำ 7 ขั้นตอนการถามค้าน เรื่องแสงไฟในที่เกิดเหตุ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ
1.ตรวจสอบแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ
ธรรมดาแล้วในคดีอาญา พนักงานสอบสวนจะเป็นคนที่ลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุ และหลังจากนั้นจะพนักงานสอบสวนจะจัดทำสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า “แผนที่สถานที่เกิดเหตุ”
ซึ่งในการจัดทำแผนที่เกิดเหตุนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ที่จะต้อง ระบุถึงรายละเอียดต่างๆในที่เกิดเหตุ รวมถึงแสงไฟและเสาไฟในที่เกิดเหตุรวมทั้งจุดเกิดเหตุ และรายละเอียดอื่นอีกด้วย
ดังนั้นเมื่อเราตรวจแผนที่ดังกล่าวแล้ว เราก็จะพอทราบว่าบริเวณที่เกิดเหตุอยู่ตรงไหน และมีแสงไฟตรงไหนบ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการสืบหาข้อมูลในการดำเนินการตามข้อ 2. ต่อไป
ทั้งนี้ธรรมดาแล้ว ฝ่ายโจทก์มีหน้าที่จะต้องส่งแผนที่เกิดเหตุและรูปถ่ายในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน ดังนั้น หากคดีไหนไม่มีการกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐาน เราก็ควรทำคำร้องขอให้ศาลกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานครับ ดูตัวอย่าง คำร้องขอให้ศาลกำหนดวันตรวจพยานหลักฐาน
2.ลงพื้นที่เกิดเหตุ
หลังจากดูรายละเอียดเบื้องต้นจากแผนที่สังเขปในที่เกิดเหตุในข้อ 1. แล้ว เราต้องลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบถึงความสว่างของแสงไฟในบริเวณจุดเกิดเหตุ และตรวจสอบว่าบริเวณจุดเกิดเหตุมีสิ่งให้ความสว่างและแสงไฟบริเวณไหนบ้าง พร้อมทั้งดำเนินการถ่ายรูปที่เกิดเหตุ หรืออาจจะถ่ายเป็นวีดีโอด้วยก็ได้ครับ
โดยการถ่ายรูปและถ่ายวีดีโอนั้น ควรจะถ่ายจากหลายๆมุม และจะต้องมีมุมที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ เช่น พยานโจทก์อ้างว่าอยู่บริเวณไหน และเห็นจำเลยบริเวณไหน ก็ควรถ่ายรูปในลักษณะดังกล่าว พร้อมทำนำตลับเมตรไปวัดระยะห่างขณะถ่ายรูปประกอบด้วย
ซึ่งการลงพื้นที่ที่เกิดเหตุนั้น เราจะต้องเลือกในวันและเวลาที่แสงจันทร์ ในที่เกิดเหตุใกล้เคียงกับวันเกิดเหตุ จะเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ใน เทคนิคในการถ่ายที่เกิดเหตุเพื่อประกอบคดีอาญา
3.เก็บพยานหลักฐานจากแหล่งอื่น
ในประเด็นเรื่องของแสงไฟและวัตถุให้ความสว่างในที่เกิดเหตุ ตั้งอยู่บริเวณไหนบ้าง เราสามารถหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ จากโปรแกรม google earth pro เพื่อแสดงให้เห็นว่า แสงไฟและวัตถุให้ความสว่างอื่นๆในที่เกิดเหตุ มีอยู่บริเวณไหนบ้าง สภาพของหลอดไฟเป็นอย่างไร มีความสูงเท่าไหร่ ห่างจากจุดเกิดเหตุเป็นอย่างไร
เพราะระหว่างรูปถ่ายที่เราถ่ายมาเอง กับรูปถ่ายที่ได้มาจากบริษัทคนกลางที่มีความน่าเชื่อถือ รูปถ่ายที่ได้มาจากคนกลางย่อมมีความน่าเชื่อถือกว่า
อ่านเพิ่มเติมได้ใน เคล็ดลับการหาพยานหลักฐานต่อสู้คดีจากโปรแกรม google earth pro
อย่างไรก็ตามรูปถ่ายจากโปรแกรม google earth pro อาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องจะมีรูปถ่ายเฉพาะตอนกลางวันเท่านั้น ดังนั้นจึงจะใช้ประโยชน์ได้เฉพาะในประเด็นว่า แสงไฟต่างๆตั้งอยู่บริเวณไหนเท่านั้น จะไม่สามารถเห็นภาพจริงๆของแสงไฟในวันเกิดเหตุได้
4.ถามค้านพยานโจทก์ ด้วยรูปถ่ายและวีดีโอ ที่ได้เก็บหลักฐานมา
หลังจากเราได้รวบรวมรูปถ่ายและวีดีโอตามข้อ 2-3 แล้ว ในชั้นสืบพยานเราจะต้องนำรูปถ่ายและวีดีโอดังกล่าวมาใช้ถามค้านพยานโจทก์ เช่นประจักษ์พยาน และพนักงานสอบสวน ให้ยอมรับว่า รูปถ่ายและวีดีโอดังกล่าว คือรูปถ่ายและวีดีโอสถานที่เกิดเหตุ
ทั้งนี้เพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าบริเวณที่เกิดเหตุ มีความสว่างขณะเกิดเหตุปรากฏตามรูปถ่ายวีดีโอที่เราเก็บหลักฐานมาจริง โดยถ้าหากเราไม่ถามค้านพยานโจทก์ แต่เอาไปนำสืบลอยๆ ตอนนำสืบจำเลย จะไม่มีน้ำหนักเท่าการที่พยานโจทก์ยอมรับพยานหลักฐานดังกล่าวเอง
แต่ถ้าระหว่างการถามค้านหากพยานโจทก์ พยานโจทก์ไม่ยอมรับว่ารูปถ่ายที่เราถ่าย เป็นรูปถ่ายที่มาจากสถานที่เกิดเหตุจริง เราก็ต้องหาเหตุผล และวิธีการให้เขารับให้ได้ เช่น เปรียบเทียบรูปถ่ายของฝ่ายโจทก์ที่ส่งศาล ว่าใกล้เคียงกับรูปถ่ายของเรา หรือมีจุดสังเกตุอื่นๆที่เห็นชัดเจนว่าเป็นสถานที่เดียวกัน เช่น บ้านคน ป้าย หรือวัตถุต่างๆ
หรือถ้าพยานยังไม่ยอมรับปากแข็งจริงๆ เตรียมเครื่องคอมพิวเตอร์ไปเปิดโปรแกรม google earth pro ที่ศาลเพื่อไล่ดูบริเวณจุดเกิดเหตุเลยครับ ซึ่งผมเองเคยทำมาแล้ว ตอนที่เจอพยานโจทก์ที่เคี่ยวๆ จะไม่ยอมรับรูปถ่ายของผมว่าเป็นรูปถ่ายที่เกิดเหตุ
5.ถ้าพยานโจทก์เบิกความว่า มีแสงไฟบริเวณอื่นที่ไม่ปรากฏอยู่ในแผนที่สังเขป
ถ้าพยานโจทก์เบิกความทำนองว่า ยังมีแสงไฟส่วนอื่น นอกเหนือจากแสงไฟที่อยู่ในแผนที่สังเขป เราก็ต้องถามพยานโจทก์ ด้วยหลักการทำแผนที่ของพนักงานสอบสวนว่า ถ้ามีแสงไฟตรงไหน พนักงานสอบสวนก็น่าจะระบุในแผนที่ตั้งแต่แรก แล้วว่ามีแสงไฟอยู่ตรงนั้น
ดังนั้นการที่พยานโจทก์อ้างว่ามีแสงไฟบริเวณอื่น แต่ไม่ถ่ายรูปและไม่ระบุในแผนที่สังเขปมาจึงไม่น่าเชื่อถือ
ตัวอย่างตามแนวการถามข้างล่างเลยครับ
6.ถามรายละเอียดเรื่องของแสงไฟและจุดเกิดเหตุ
เมื่อพยานโจทก์ยอมรับรูปถ่ายและวีดีโอแสดงเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุแล้ว เราก็จะต้องถามต่อไปถึงลักษณะของแสงไฟประกอบกับจุดเกิดเหตุว่า จะทำให้ผู้เสียหายจดจำตัวจำเลยได้จริงหรือไม่ ตัวอย่างเช่น
- เช่นแสงไฟสถานะในที่เกิดเหตุมีความสูงเท่าไหร่ ความสูงของแสงไฟสูงจุดเกิดเหตุประมาณ 6 เมตร ใช่หรือไม่
- เมื่อความสูงของแสงไฟมาก ความสว่างในที่เกิดเหตุก็ลดลงใช่หรือไม่
- มุมของแสงไฟที่ตกมาจะอยู่บริเวณไหน อยู่ด้านหลังของจำเลยใช่หรือไม่
- เมื่อแสงไฟตกมาอยู่ที่บริเวณด้านหลัง ก็มองเห็นหน้าจำเลยไม่ชัดใช่หรือไม่
- แสงไฟอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุมากใช่หรือไม่
- แสงไฟอยู่ห่างมากจึงมองไม่ชัดใช่หรือไม่
- แสงไฟเป็นสีอะไร
- แสงไฟสีส้ม ทำให้มองเห็นไม่ชัดเจนใช่หรือไม่
7.ถามค้านเรื่องความสว่างของพระจันทร์
ธรรมดาแล้ว ในเวลากลางคืนของแต่ละคืนนั้น ดวงจันทร์จะมีความสว่างไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับ ข้างขึ้นหรือข้างแรม ซึ่งสามารถตรวจสอบได้โดยปฏิทินข้างขึ้นข้างแรม หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ข้างขึ้นข้างแรม
ซึ่งหากวันเกิดเหตุเป็นคืนเดือนมืด ที่เกิดเหตุจะมืดมากกว่าปกติ ดังนันเราจะต้องถามค้านพยานโจทก์ประกอบกับปฏิทินหรือข้อมูลจากแอพพลิเคชั่นที่น่าเชื่อถือว่า วันเกิดเหตุ ความสว่างของพระจันทร์เป็นอย่างไร
สรุป-ตัวอย่างคดีความ
สรุปแล้วในคดีอาญา หากเราสู้ว่าเราไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุและไม่ได้เป็นคนลงมือก่อเหตุ หากถามค้านในประเด็นเรื่อง แสงสว่างในที่เกิดเหตุ จนได้ความว่ามีไม่สว่างเพียงพอที่จะทำให้พยานโจทก์สามารถเห็นจำเลยได้อย่างชัดเจน ก็จะมีโอกาสสูงที่จะทำให้ศาลยกฟ้องจำเลย
โดยมีตัวอย่างคดีความที่ศาลยกฟ้องเพราะแสงไฟในที่เกิดเหตุไม่เพียงพอ ซึ่งผมเป็นทนายความจำเลยและสู้ในประเด็นดังกล่าวหลายคดี โดยวันนี้ผมขอยกตัวอย่างให้ดู สักสามคดีที่ผมเคยทำ โดยทั้งสามคดีนี้ สาเหตุหนึ่งที่ศาลนำมาเป็นเหตุยกฟ้อง ก็เพราะศาลไม่เชื่อว่าที่เกิดเหตุจะมีแสงสว่างเพียงพอที่พยานโจทก์จะจดจำคนร้ายได้
คลิกเพื่ออ่านรายละเอียดได้เลยครับ
ตัวอย่างการต่อสู้คดี “พยายามฆ่า” ใช้อาวุธปืนยิงศาลยกฟ้อง
ตัวอย่างการต่อสู้คดี “ร่วมกันฆ่า” ใช้อาวุธปืนยิง ศาลยกฟ้อง
ตัวอย่างการต่อสู้คดีพยายามฆ่า ใช้มีดฟัน ศาลฟ้อง
เพื่อนๆสามารถนำเทคนิคการถามค้าน ประเด็นเรื่องแสงไฟในที่เกิดเหตุดังกล่าวไปปรับใช้ในการทำงานได้ แล้วแต่รูปคดีแต่เรื่องไป และหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ส่วนในตอนหน้า มาต่อเรื่องการเทคนิคการถามค้านผู้เสียหายในเรื่องแสงไฟในที่เกิดเหตุครับ รอติดตามชมได้เลย
ถ้าถูกใจรบกวนคอมเม้นท์และแชร์บทความนี้ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมนำเทคนิคที่น่าสนใจเช่นนี้มาเผยแพร่อีกนะครับ และถ้าอยากให้ผมเขียนเกี่ยวกับเรื่องอะไรก็ลองคอมเม้นท์บอกกันมาได้ครับ ขอบคุณครับ