บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

7แนวทางต่อสู้คดียาเสพติด ประเด็นครอบครองเพื่อเสพ พร้อมตัวอย่างคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องจำนวน 32 คดี

นับแต่ประมาณปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา ได้มีการประกาศแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและกฎหมายเกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท โดยการแก้ไขเกี่ยวกับข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการครอบครองยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ ในกรณีที่ครอบครองยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์เกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด จากเดิมถือเป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาดว่าครอบครองครองเพื่อจำหน่าย โดยปัจจุบันได้แก้ไขให้เป็นข้อสันนิษฐานไม่เด็ดขาด

จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เสพยาเสพติดซึ่งครอบครองยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์เกินจำนวนที่กฎหมายกำหนดได้ต่อสู้คดี ว่าตัวเองมียาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ไม่ได้มียาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ไว้เพื่อจำหน่าย

ปลพปัจจุบันนี้ทางศาลยุติธรรมได้มีการ เผยแพร่คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีที่น่าสนใจลงในเว็บไซต์ จึงทำให้การทำงานของทนายความในปัจจุบันทำงานได้ง่ายขึ้น ผู้เขียนจึงได้รวบรวมคำพิพากษา ของศาลชั้นต้นในประเด็นการต่อสู้คดีเรื่องครอบครองยาเสพติดเพื่อเสพ เพื่อให้เพื่อนทนายความและผู้สนใจใช้สำหรับประกอบการทำงานในคดีลักษณะดังกล่าว

     ทั้งนี้การนำสืบและต่อสู้คดีข้อหาครอบครองเพื่อเสพติดตามแนวคำพิพากษาศาลชั้นต้น ปัจจุบีนมีตัวอย่างมีเผยแพร่มาประมาณ 30 คดีเศษโดยผู้เขียนได้รวบรวมไว้ดังนี้ กดคลิกเพื่ออ่านคำพิพากษา

ซึ่งจากตัวอย่างคำพิพากษาศาลช้นต้นดังกล่าว สามารถสรุปแนวทางนำสืบและถามค้านในการต่อสู้คดีได้โดยสังเขป ดังนี้

ข้อ 1. สาเหตุที่ถูกจับกุม สาเหตุที่ถูกจับกุมนั้นเป็นเพราะเหตุบังเอิญ (เช่นเจ้าหน้าที่ ตั้งด่านแล้วตรวจค้นจับกุม หรือพบเห็นพิรุธในสถานบันเทิง หรือสถานที่อื่นๆจึงเรียกตรวจค้น)  หรือเป็นเพราะตั้งใจมาจับกุม เช่น มีสายลับแจ้งหรือมีการสืบสวนว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้จำหน่ายยาเสพติด จึงได้มีการตรวจค้นจับกุม

ถ้าสาเหตุที่ผู้ต้องหาถูกจับกุมเป็นเพราะเหตุบังเอิญ ไม่ได้ถูกสายลับแจ้งข้อมูล หรือไม่ได้มีการสืบสวนทางลับ หรือไม่ได้ถูกซัดทอดว่ามีพฤติการณ์จำหน่ายยาเสพติดก่อนถูกจับกุม  ย่อมมีน้ำหนักให้เชื่อถือได้ว่า ผู้ต้องหามียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อเสพเท่านั้น อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ตำรวจบางชุด อาจจะอ้างว่า ได้ข้อมูลในทางลับ หรือมีสายลับ แจ้งมาว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์จำหน่ายยาเสพติด ถ้าหากข้อมูลดังกล่าวไม่มีพยานหลักฐานรองรับ ก็ไม่สามารถรับฟังเป็นผลร้ายกับผู้ต้องหาได้ และเป็นหน้าที่ของทนายความที่จะต้องถามค้านในประเด็นนี้ให้ชัดเจน 

ข้อ 2. ขณะถูกจับกุมและขณะให้การในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาได้ให้การว่าอย่างไร  ประเด็นเรื่องการให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนนั้น ศาลมักจะถือเป็นประเด็นสำคัญ ที่ศาลจะหยิบยกขึ้นมาเพื่อประกอบการพิจารณาทุกครั้ง โดยศาลจะถือว่าการให้การทันทีในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนซึ่งเวลาใกล้เคียงกับเวลาเกิดเหตุนั้น มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ เพราะยังไม่มีเวลาปรับแต่งคำให้การ โดยหากผู้ต้องหาให้การในชั้นจับกุม ในชั้นสอบสวนว่ามียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ก็จะทำให้น้ำหนักการต่อสู้ในชั้นพิจารณามีมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ตามประสบการณ์ของผู้เขียน ถ้าผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์ว่าผู้ต้องหามียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมหรือพนักงานสอบสวนก็มักจะแนะนำผู้ต้องหาว่าให้ให้การไปว่ามียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อเสพเท่านั้นอยู่แล้ว 

ข้อ 3.ลักษณะการเก็บยาเสพติด ถ้าลักษณะของกลางที่พบ เป็นการเก็บไว้ในที่เปิดเผย หรือไม่ได้มีการซุกซ่อนอย่างมิดชิด เช่นนี้ศาลมักจะมองว่า เป็นพฤติการณ์ของผู้เสพยาเสพติดที่ไม่ค่อยมีความระมัดระวังตัวเท่ากับผู้จำหน่ายที่จะซ่อนของกลางไว้อย่างมิดชิด และหากลักษณะการเก็บนั้นไม่ปรากฏลักษณะเป็นการเก็บในแบบที่เตรียมพร้อมจะแบ่งจำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไป เช่น มีการแบ่งบรรจุเป็นถุงๆในลักษณะพร้อมแบ่งจำหน่าย ก็จะเป็นหนึ่งในประเด็นที่จะทำให้ศาลนำมาวินิจฉัยว่าน่าจะมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อเสพเท่านั้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของทนายความที่จะต้องถามค้านในประเด็นนี้ให้ปรากฏชัดแจ้ง 

ข้อ 4.สิ่งของอื่นๆที่เกี่ยวข้องที่พบพร้อมกับยาเสพติด ถ้าในการตรวจค้นจับกุมนั้นพบสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการเสพยาเสพติดเช่นอุปกรณ์การเสพร่วมอยู่ด้วย ก็จะเป็นหนึ่งในประเด็นที่ทำให้ศาลเห็นว่าผู้ต้องหามียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อเสพ  แต่ในทางกลับกันขณะถูกตรวจค้นจับกุม ถ้าพบอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการขายยาเสพติดเช่น ถุงแบ่งจำหน่าย ตาชั่งดิจิตอล แค่นี้ก็ทำให้ศาลเชื่อว่าน่าจะมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 

ข้อ 5.จำนวนยาเสพติดของกลาง ถึงแม้กฎหมายจะเปิดโอกาสให้การครอบครองยาเสพติดเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด มีโอกาสต่อสู้ในประเด็นว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพไม่ได้มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายก็ตาม แต่การครอบครองยาเสพติดดังกล่าวก็ต้องมีจำนวนไม่มากเกินสมควร ถ้าหากยาเสพติดดังกล่าวมีจำนวนมาก ก็จะต้องนำสืบเหตุผลอธิบายว่าเหตุใดจึงมีจำนวนมาก เช่นต้องซื้อเป็นครั้งละมากๆเพื่อที่จะได้ราคาถูกและไม่ต้องเสี่ยงออกไปซื้อหลายครั้ง หรือ วันหนึ่งจะต้องเสพจำนวนหลายมากจึงต้องซื้อกักตุนไว้ ซึ่งบางครั้งการมียาเสพติดไว้ในครอบครองประมาณ 50 เม็ด แต่มีเหตุผลอันสมควรศาลก็พอเชื่อได้อยู่ว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ (ดูตัวอย่างคำพิพากษาศาลชั้นต้น)  แต่อย่างไรก็ตามหากมีจำนวนมากเกินไปจริงๆเช่นมีหลายร้อยเม็ด ไม่แนะนำให้สู้คดี เพราะอย่างไรก็ฟังไม่ขึ้นว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ 

ข้อ6 . ระวัติ การประกอบอาชีพ การกระทำความผิดก่อนหน้า  ถ้าผู้ต้องหามีประวัติเกี่ยวข้องเป็นผู้จำหน่ายยาเสพติดมาก่อน เช่นนี้การต่อสู้คดีย่อมจะมีน้ำหนักน้อย แต่ถ้าหากผู้ต้องหาไม่เคยมีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมาก่อน หรือเคยมีประวัติเกี่ยวข้องเป็นแต่เพียงผู้เสพเท่านั้น ก็จะเป็นหนึ่งในน้ำหนักที่ศาลจะนำมาวินิจฉัยว่าผู้ต้องหาไม่ได้จะได้มียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย  นอกจากนี้การประกอบอาชีพ และรายได้ของผู้ต้องหาก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าผู้ต้องหามียาเสพติดเป็นจำนวนมากมีราคาสูงแต่ไม่ปรากฏว่าประกอบอาชีพมีรายได้ที่แน่นอน เช่นนี้อาจจะทำให้ศาลมองว่าผู้ต้องหามีรายได้จากการจำหน่ายยาเสพติด เป็นปกติวิสัย ดังนั้นการที่ผู้ต้องหาประกอบอาชีพอะไร มีประวัติการศึกษาการทำงานเป็นอย่างไรมีรายได้จากทางไหน จึงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะต้องนำสื่อเพื่อประกอบการพิจารณาของศาล 

ข้อ7.ผลการตรวจสอบการเสพยาเสพติดขณะถูกจับกุม ธรรมดาแล้วในคดียาเสพติดผู้ต้องหามักจะถูกตรวจสอบพร้อมกันด้วยว่าได้เสพยาเสพติดหรือไม่ ถ้าผลการตรวจปรากฏว่าผู้ต้องหาได้เสพยาเสพติดมาก็จะเป็นหนึ่งในประเด็นที่ศาลนำมาประกอบการวินิจฉัยใช้ว่าผู้ต้องหาเป็นผู้เสพยาเสพติดจริง แต่ถ้าผลการตรวจไม่พบว่าผู้ต้องหาเสพยาเสพติดมาก่อน ก็อาจจะเป็นประเด็นที่จะทำให้ศาลวินิจฉัยว่าผู้ต้องหาไม่ได้เป็นผู้เสพและอาจจะเป็นผู้จำหน่ายยาเสพติด

เหตุผลดังกล่าวมานี้ เป็นเหตุผลโดยสังเขปที่ศาลจะนำมาวินิจฉัยในประเด็นการสู้คดีประเด็นเรื่องมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อเสพ อย่างไรก็ตามในแต่ละคดีย่อมมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันไป ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์หรือโทษก็ได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทนายความที่ต้องถามค้านและนำสืบข้อเท็จจริงที่จะเป็นประโยชน์แก่รูปคดี เพื่อประกอบการวินิจฉัยคดีของศาลต่อไป  และต้องขอขอบคุณสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ได้พัฒนา ระบบการเผยแพร่คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประชาชนโดยทั่วไปและทนายความเป็นอย่างยิ่ง

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts