เมื่อมีคดีอาญาเกิดขึ้น และผู้เสียหายได้ดำเนินการร้องทุกข์ หรือมีผู้กล่าวโทษ ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนย่อมเริ่มกระบวนการสอบสวน ด้วยการรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุ เพื่อจะพิสูจน์ ว่าผู้ต้องหา ได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ และเมื่อรวบรวมพยานเอกสาร พยานวัตถุ และสอบคำให้การพยานบุคคลต่างๆไว้แล้วก็จะรวบรวม พยานหลักฐานทั้งหมดไว้เป็น “สำนวนสอบสวน” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 131 ประกอบมาตรา 139
ถ้าพนักงานสอบสวนเห็นว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิดจริง พนักงานสอบสวน จะต้องทำความเห็นว่า “สมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา” และส่ง “สำนวนสอบสวน” ให้กับพนักงานอัยการต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 142 และ ถ้าพนักงานอัยการเห็นด้วยกับพนักงานสอบสวนจำเลยก็จะถูกฟ้องต่อศาลต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 143
เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่จากพยานหลักฐานในสำนวน ที่ฝ่ายโจทก์และจำเลยอ้างส่งศาล และ ถึงแม้สำนวนสอบสวนของพนักงานสอบสวนทั้งหมดจะอยู่ที่พนักงานอัยการ แต่ไม่ได้แปลว่าพนักงานอัยการจะส่งเอกสารในสำนวนสอบสวนทั้งหมดให้กับศาลพิจารณา แต่พนักงานอัยการ จะเลือกส่งเอกสารในสำนวนสอบสวน เฉพาะที่เป็นประโยชน์แก่รูปคดีของตน หรือเฉพาะที่เป็นโทษแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยเข้าสู่สำนวนสอบสวนเท่านั้น
ถ้าพยานหลักฐานชิ้นไหน เป็นพยานหลักฐานที่ขัดแย้งกับคำให้การของพยานในชั้นศาล เช่น ผู้เสียหายหรือพยานฝั่งของผู้เสียหายมาเบิกความขัดแย้งกับคำให้การชั้นสอบสวนของตนเองในข้อสาระสำคัญ เช่นนี้พนักงานอัยการจะไม่ส่งคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายเข้าสู่สำนวนของศาล หรือบางครั้งพยานเอกสารหลักฐานใดๆที่ อาจจะทำให้รูปคดีเสียหาย หรืออาจจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ พนักงานอัยการจะไม่ส่งเอกสารหลักฐานดังกล่าวให้ศาลพิจารณาแต่อย่างใด
ซึ่งในส่วนนี้ถ้าทนายความจำเลยไม่ทันเกมส์ และไม่มีประสบการณ์ ไม่รู้วิธีแก้ไขปัญหา สำนวนสอบสวนในส่วนที่เป็นประโยชน์แก่จำเลย ก็จะไม่ได้เข้าสู่สำนวนการสอบสวนของศาลแต่อย่างใด ทำให้ศาลได้รับข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วนในการพิจารณา และอาจจะทำให้จำเลยต้องได้รับโทษจำคุกทั้งๆที่ไม่ได้กระทำความผิด
ส่วนตัวผู้เขียนเองเคยว่าความคดีอาญามามาก หลายครั้งพบเจอพนักงานอัยการไม่ส่งเอกสารหลักฐานในสำนวนสอบสวนเข้าสู่กระบวนพิจารณา ซึ่งทุกครั้งก็พบว่าเป็นเพราะพยานเอกสารหลักฐานเหล่านั้นเป็นประโยชน์แก่รูปคดีของจำเลย
ทั้งนี้เพราะพนักงานอัยการเป็นผู้ออกคำสั่งฟ้องจำเลยมา อาจจะมีพนักงานอัยการบางท่าน เห็นว่า ถ้าศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยแล้ว เท่ากับพนักงานอัยการนั้นผิดหรือบกพร่อง ดังนั้นจึงพยายามปกปิดเอกสารหลักฐานที่จะเป็นประโยชน์แก่จำเลยไม่นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ทั้งๆที่ความจริงแล้วหลักในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในชั้นพนักงานอัยการและชั้นศาลนั้นมีความแตกต่างกัน การที่ศาลพิพากษายกฟ้องไม่ได้แปลว่าอัยการทำงานบกพร่องแต่อย่างใด แต่การที่พนักงานอัยการไม่นำเอกสารหลักฐานทั้งหมดเข้าสู่สำนวนศาลน่าจะถือเป็นข้อบกพร่องมากกว่า เพราะความเป็นจริงแล้วควรจะนำเอกสารหลักฐานทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลเพื่อให้ศาลชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานต่อไป
ซึ่งในทุกวันนี้ในคดีอาญาส่วนมากศาลมักจะกำหนดให้มีวันนัดตรวจพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 173/1อยู่แล้ว ซึ่งในวันนัดตรวจพยานหลักฐานพนักงานอัยการจะอ้างส่งพยานวัตถุและพยานเอกสารทั้งหมดที่มีอยู่ในสำนวนสอบสวนและตนเองประสงค์จะอ้างในชั้นศาล ยกเว้นแต่คำให้การชั้นสอบสวนของพยานหรือผู้กล่าวหา เพราะเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสิทธิ์ที่อัยการไม่ต้องอ้างส่งในชั้นตรวจพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 173/2
และทนายความจำเลยที่มีความละเอียดและชำนาญงาน เมื่อตรวจสอบเอกสารที่อัยการในชั้นตรวจพยานหลักฐานแล้วก็จะทราบได้ว่ามีพยานเอกสารหรือพยานวัตถุส่วนไหน ที่น่าจะมีอยู่ในสำนวนสอบสวน แต่พนักงานอัยการไม่อ้างส่งเป็นพยานหลักฐานต่อศาล ตัวอย่างเช่นการดำเนินคดีข้อหาสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จะต้องมีการขออนุมัติเลขาธิการป.ป.ส. ก่อนการดำเนินคดี ซึ่งในชั้นการขออนุมัติเลขาธิการป.ป.ส. เพื่อดำเนินคดีก็จะต้องมีการสอบคำให้การของพยาน และรวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อขออนุมัติเลขาธิการป.ป.ส. ถ้าในชั้นตรวจพยานหลักฐานพนักงานอัยการไม่อ้างส่งเอกสารหลักฐานส่วนนี้ ก็น่าเชื่อได้ว่าเอกสารหลักฐานดังกล่าวอาจจะขัดกับคำให้การชั้นสอบสวนของฝ่ายผู้กล่าวหา หรือมีข้อเท็จจริงที่เป็นคุณกับฝ่ายจำเลย
ซึ่งถ้าเกิดปัญหาในชั้นพิจารณาว่า ถ้าพนักงานอัยการไม่ยอมอ้างส่งเอกสารที่เป็นประโยชน์แก่จำเลยในสำนวนสอบสวนเข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้ว ทนายความจำเลยจะต้องทำอย่างไร ?
ทนายความจำเลยหลายท่านไม่รู้วิธีแก้ไขปัญหา แล้วใช้วิธีแก้ไขปัญหาแบบผิดๆ เช่น
ไปยื่นคำร้องขอออกหมายเรียกให้พนักงานสอบสวนส่งพยานหลักฐานดังกล่าวเข้ามา ซึ่งพนักงานสอบสวนย่อมไม่สามารถส่งเอกสารดังกล่าวดังกล่าวได้เพราะถือว่าเอกสารในสำนวนสอบสวนทั้งหมดได้ส่งให้กับพนักงานอัยการแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 142 และทางปฏิบัติศาลก็จะไม่ออกหมายเรียกให้ หรือถ้าหากศาลพลั้งเผลอออกหมายเรียกให้พนักงานสอบสวนก็จะไม่ส่งเอกสารหลักฐานให้แต่อย่างใด เพราะว่าถือได้ว่าไม่มีเอกสารหลักฐานดังกล่าวอยู่ที่พนักงานสอบสวนแล้ว เพราะสำนวนสอบสวนทั้งหมดได้ถูกส่งไปยังพนักงานอัยการแล้ว
หรือบางท่านก็ไปยื่นคำร้องขอออกหมายเรียกให้พนักงานอัยการส่งเอกสารหลักฐานดังกล่าวเข้ามาสู่สำนวนของศาล ซึ่งในทางปฏิบัติ ศาลก็จะไม่ออกหมายเรียกให้แต่อย่างใด แต่ถ้าหากศาลพลั้งเผลอหมายเรียกไป เมื่อพนักงานอัยการได้รับหมายเรียก จะไม่ส่งเอกสารหลักฐานดังกล่าวให้กับทางศาลแต่อย่างใด แต่จะทำคำแถลงชี้แจงเหตุผลว่า สำนวนสอบสวนดังกล่าวเป็นข้อความเกี่ยวกับงานของแผ่นดินซึ่งโดยสภาพต้องรักษาไว้เป็นความลับชั่วคราวหรือตลอดไป ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ โดยอาศัยสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 92 อนุมาตรา 1 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15
ทั้งนี้ทางแก้ที่ถูกต้องนั้น หากพนักงานอัยการไม่อ้างส่งเอกสารหลักฐานใดๆที่เป็นประโยชน์แก่จำเลย หากเอกสารหลักฐานนั้นเป็นคำให้การของจำเลยหรือเป็นเอกสารที่ประกอบคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวน ทนายความจำเลยย่อมมีสิทธิ์ขอคัดจากพนักงานอัยการโดยตรงได้อยู่แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 8 อนุมาตรา 6 ซึ่งทางปฏิบัติทนายความสามารถนำใบแต่งทนายความที่ศาลรับรองสำเนาถูกต้องไปยื่นคำร้องขอคัดที่สำนักงานอัยการได้โดยตรง
และหากเอกสารหลักฐานนั้นเป็นเอกสารอื่น ๆ ในสำนวนสอบสวนของพนักงานอัยการ เมื่อการสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจที่จะออกหมายเรียกสำนวนการสอบสวนทั้งสำนวนจากพนักงานอัยการเพื่อมาประกอบการพิจารณาได้โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 175 ซึ่งอำนาจดังกล่าวศาลมีคำสั่งได้เองโดยคู่ความไม่ต้องร้องขอ
แต่ทางปฏิบัติแล้ว ศาลมักไม่ค่อยใช้อำนาจในการเรียกสำนวนสอบสวนมาประกอบการพิจารณาแต่อย่างใด ถ้าหากไม่มีคู่ความฝ่ายใดร้องขอ ดังนั้นวิธีแก้ไขปัญหาของทนายความจำเลย ถ้าหากพบเห็นว่าพนักงานอัยการไม่ส่งเอกสารหลักฐานในสำนวนสอบสวนซึ่งน่าจะเป็นคุณแก่จำเลยในชั้นพิจารณา เมื่อสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว ทนายความจำเลยจะต้อง แถลงด้วยวาจาต่อศาล หรือยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกสำนวนสอบสวนมาประกอบการพิจารณา โดยจะต้องชี้ให้ศาลเห็นว่า ในสำนวนสอบสวนยังมีพยานฐานส่วนอื่นซึ่งน่าจะพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของจำเลยได้ แต่พนักงานอัยการไม่ส่งเอกสารหลักฐานดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของศาล ซึ่งอาจจะทำให้ศาลได้รับข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วนในการพิจารณา
และในทางปฏิบัติที่ผู้เขียนเคยยื่นคำร้องเช่นนี้มาทุกครั้งศาลก็จะมีคำสั่งเรียก สำนวนการสอบสวนมาจากพนักงานอัยการทุกครั้ง เพราะส่วนใหญ่ศาลท่านก็เห็นพ้องต้องกันว่า ศาลท่านต้องการเห็นเอกสารหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องก่อนจะตัดสินคดี อย่างไรก็ดีหากศาลปฏิเสธไม่เรียกสำนวนสอบสวนมาประกอบการพิจารณา ทนายความจำเลยย่อมมีสิทธิ์อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งดังกล่าวได้เมื่อมีศาลมีคำพิพากษาแล้ว
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนยังเห็นว่ามีหลายท่านยังไม่ทราบ จึงนำมาเผยแพร่ เพื่อให้เพื่อนทนายความทราบและถือปฏิบัติต่อไป เพื่อรักษาผลประโยชน์ของลูกความของท่าน และเพื่อให้ศาลได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีด้วยพยานหลักฐานที่ครบถ้วน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่กระบวนการยุติธรรมต่อไป