สาระน่ารู้เกี่ยวกับการว่าจ้างทนายความ ตำแหน่งการนั่งในระหว่างพิจารณาก็มีผลต่อ การทำงานของทนายความ
ถ้าดูภาพยนต์เกี่ยวกับทนายความและการว่าความของศาลในต่างประเทศ จะเห็นได้ว่า ในระหว่างการพิจารณาของศาล ทนายความจะต้องนั่งคู่กับลูกความเสมอ ถึงแม้จะเป็นคดีอาญา ที่จำเลยถูกคุมขัง ไม่ได้ประกันตัวในระหว่างพิจารณา แต่ระหว่างพิจารณา จะต้องมีการเปลี่ยนชุดให้จำเลยให้อยู่ในชุดไปรเวท ไม่ใช่ยูนิฟอร์มของนักโทษ (ป้องกันลูกขุนเกิดอคติ) และจัดให้จำเลยนั่งคู่กับทนายความเสมอ
แต่ในประเทศไทย โดยมากแล้ว ตำแหน่งที่นั่งระหว่างลูกความและทนายความมักจะอยู่ห่างกัน กล่าวคือ ทนายความจะนั่งอยู่บริเวณโต๊ะทนายความด้านหน้าของศาล ส่วนลูกความมักจะได้ที่นั่งบริเวณม้านั่งท้ายห้องพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดีที่จำเลยถูกคุมขังระหว่างพิจารณา จำเลยจะต้องนั่งอยู่ท้ายห้องพิจารณาและมีตำรวจคอยควบคุมอยู่เสมอ ไม่สามารถมานั่งด้านข้างทนายความได้ ส่วนคดีแพ่งทั่วไปหรือคดีอาญาที่จำเลยได้รับการประกันตัวในชั้นศาล ธรรมดาแล้วศาลไม่ค่อยจะห้ามให้มานั่งกับทนายความ แต่มักจะเป็นความเคยชินของทนายความ ที่จะให้ลูกความนั่งอยู่ท้ายห้อง มากกว่ามานั่งกับทนายความ
แต่เดิมผู้เขียนไม่เห็นว่าตำแหน่งการนั่งจะมีความสำคัญในการพิจารณาแต่อย่างใด จนกระทั่งผ่านประสบการณ์ในการว่าความมาสักระยะหนึ่ง จึงเห็นว่า ในคดีที่ลูกความมานั่งคู่อยู่กับทนายความ หากมีข้อเท็จจริงใดที่ปรากฎขึ้นมากระทันหัน ที่ทนายความไม่เคยรู้มาก่อน หรือมีข้อพิรุธขัดแย้งในคำพยาน ที่ทนายความไม่ทันสังเกต หรือนึกไม่ทัน ลูกความก็สามารถบอกกับทนายความให้ดำเนินการแก้ไขหรือจัดการเรื่องดังกล่าวได้ทันที ซึ่งเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นอย่างมาก ในทางกลับกัน หากระหว่างพิจารณาปรากฎข้อเท็จจริงใดที่ทนายความไม่เคยทราบมาก่อน หรือลูกความเกิดเห็นข้อพิรุธขัดแย้งอะไร ที่ทนายความไม่ทันสังเกตเห็น หากลูกความนั่งอยู่ท้ายห้อง ก็เป็นการยากกว่าจะสื่อสารกันให้เข้าใจ และจัดการกับเรื่องดังกล่าวได้
ซึ่งในกรณีนี้ ผู้เขียนเคยประสบปัญหามาแล้ว ระหว่างพิจารณาผู้เขียนเกิดข้อสงสัยในข้อเท็จจริงบางเรื่อง จึงเดินเข้าไปคุยกับลูกความ กับปรากฎว่าถูกศาลดุว่า “ทนายห้ามคุยห้ามหันไปถามกับลูกความตอนนี้” ซึ่งก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าอาศัยอำนาจตามกฎหมายอะไรมาห้าม แต่ตอนนั้นเป็นเพียงเรื่องเล็กๆน้อยๆจึงไม่ได้โต้ตอบอะไร และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ระหว่างทำการสืบพยานในคดีฆาตกรรม เมื่อทำการสืบพยานเสร็จแล้ว ลูกความก็มาบอกข้อพิรุธในคำพยานโจทก์บางอย่าง ที่ลูกความเพิ่งนึกออกให้ผู้เขียนฟัง ทำให้ผู้เขียนเกิดความเสียดายเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ถึงทนายความจะเป็นผู้รู้กฎหมาย และเชี่ยวชาญในการว่าความ และมีประสบการณ์ถามค้านพยานมากเพียงใด แต่ก็ต้องระลึกไว้ว่า ทนายความเป็นเพียงผู้รับฟังเหตุการณ์มาจากลูกความต่ออีกทอดหนึ่ง ไม่ได้รับรู้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง ดังนั้นถึงแม้จะสอบข้อเท็จจริงละเอียดเพียงใด ก็ยังไม่อาจจะเทียบเท่ากับตัวความที่เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเองได้ ประกอบกับทนายความคนหนึ่งอาจรับว่าความหลายคดีพร้อมกัน ต้องใช้สมองในการครุ่นคิดคดีความหลายๆเรื่องพร้อมกัน ต่างจากตัวความ ที่มีชีวิตและทรัพย์สินของเขาเป็นเดิมพันในคดีนั้นๆ โดยมากแล้วย่อมมีเวลาขบคิดเงื่อนปมต่างๆในคดีมากกว่าทนายความ
ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นว่าคดีความทุกคดี ระหว่างการสืบพยานในชั้นศาล ควรขออนุญาตศาล ให้ตัวความมานั่งอยู่ข้างทนายความเสมอ จะเป็นประโยชน์ในการว่าความบ้างไม่มากก็น้อย แต่ก็ต้องระมัดระวังและตกลงกับลูกความถึงแนวทางการปฏิบัติระหว่างกันโดยดี เพื่อไม่ให้เป็นการเป็นการรบกวนสมาธิของทนายความ หรือทำให้เกิดความอึกทึกต่อศาลระหว่างการพิจารณาคดี