บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

ตัวอย่างการต่อสู้คดียักยอกทรัพย์ จากประสบการณ์จริง ประเด็นเรื่องโจทก์ไม่ทราบวิธีขนย้ายของกลาง

คดียักยอกทรัพย์ ทนายความ

ตัวอย่างคดีอาญาที่น่าสนใจวันนี้ เป็นตัวอย่างการต่อสู้คดียักยอกทรัพย์ ซึ่งคดีนี้เป็นคดีอาญาคดีแรกๆของผู้เขียน ซึ่งได้รับว่าความมาสมัยเป็นทนายใหม่ๆ

โดยมีอาจารย์คนหนึ่งของผู้เขียน ซึ่งเป็นทนายความอยู่ที่กรุงเทพ เป็นคนมอบหมายคดีนี้ให้ เนื่องจากคดีนี้เกิดที่ชลบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่ผู้เขียนทำงานอยู่ และเห็นความตั้งใจในการทำงานของผู้เขียน ทั้งๆที่ขณะนั้นผู้เขียนมีประสบการณ์ไม่มากนัก

จำได้ว่าคดีนี้ผู้เขียนเรียกค่าว่าความต่ำมาก เมื่อเทียบกับจำนวนทุนทรัพย์และข้อหาของคดี  เพราะคดีนี้มีทรัพย์พิพาทของกลางสูงถึงประมาณ 2 ล้านบาทเศษ และมีการฟ้องว่าลูกความมีการกระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์หลายกรรม หากพลาดขึ้นมาลูกความจะต้องโทษจำคุกประมาณ 6-10 ปี

โดยคดีนี้ผู้เขียนเรียกค่าว่าความตอนรับคดีแค่ 10,000 บาท และเมื่อชนะคดีลูกความรับจะจ่ายเพิ่มให้อีก 5,000 บาท

ตอนนั้นผู้เขียนคิดว่า เราเป็นทนายมือใหม่ ประสบการณ์ยังไม่เยอะ เมื่อมีโอกาส เราควรทำงานเก็บประสบการณ์ ไม่ควรคิดมากเรื่องเงินทอง ประกอบกับลูกความค่อนข้างยากจน และผู้เขียนสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้ว เชื่อว่าลูกความไม่ได้ทำผิดจริง จึงอยากรับทำคดีนี้

เมื่อรับคดีมาแล้ว ผู้เขียนก็จัดการสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ได้ความว่าลูกความเป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย ซึ่งผู้เสียหายเป็นบริษัทผลิตเหล็ก และทำงานกันระบบแบบครอบครัว ลูกจ้างก็อยู่กันแบบครอบครัวกินนอนอยู่ในบริษัท โดยจำเลยรับเงินเดือนเพียง 8,200 บาทเท่านั้น

แต่จำเลยรับหน้าที่ทุกอย่างในโรงงาน ตั้งแต่ ควบคุมการผลิต ดูแลทรัพย์สิน ตรวจรับ ควบคุมทำบัญชีสินค้า ซ่อมเครื่องจักร และทำทุกๆอย่างรวมทั้งกินนอนในโรงงานกินนอนอยู่ที่โรงงาน  ตัวกรรมการของผู้เสียหายเอง นานๆจะเข้ามาที่บริษัทสักทีหนึ่ง

ต่อมาผู้เสียหายตรวจเอกสารทางบัญชีแล้ว พบว่าใบสั่งซื้อวัตถุดิบกับจำนวนสินค้าที่ผลิตไม่ตรงกัน มีวัตถุดิบบางส่วนหายไป หรือกล่าวง่ายๆคือ ซื้อวัตถุดิบมา 100 แต่มีสินค้าที่ผลิตได้เพียง 70  ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการเป็นผู้ทุจริตทำการยักยอกทรัพย์วัตถุดิบส่วนที่หายไป

จำเลยอ้างว่า เหล็กที่หายไปจากระบบบัญชีนั้น เป็นเหล็กที่สูญเสียไปจากกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากเครื่องจักรมีความเก่า ประกอบพนักงานมีน้อยไม่มีความชำนาญ การผลิตมีการสูญเสียได้

และเหล็กที่เสียหายจากกระบวนการผลิตนั้น บุตรชายของกรรมการบริษัท ก็จะเอาไปขายให้ร้านขายของเก่าเป็นประจำ  และเหล็กบางส่วนที่หายไปจากระบบบัญชี ก็เนื่องจากการหลบเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ (VAT) ของผู้เสียหายเอง

เนื่องจากผู้เสียหายทำการผลิตสินค้า เพื่อทำการส่งให้กับบริษัทของตนเองอีกบริษัทหนึ่ง บางครั้งเมื่อส่งสินค้าให้บริษัทลูกแล้ว ก็จะไม่ลงบัญชีว่ามีการขายเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ดังนั้นเมื่อตรวจสอบเอกสารทางบัญชีแล้วพบว่า ยอดวัตดุดิบที่สั่งซื้อไม่ตรงกับยอดสินค้าที่ผลิต

ผู้เขียนเห็นจุดที่สำคัญในคดีนี้เรื่องหนึ่งก็คือ ผู้เสียหายอ้างว่า ภายในระเวลาไม่กี่เดือน จำเลยได้ทำการยักยอกทรัพย์ของกลางซึ่งเป็นเหล็กที่มีน้ำหนักสูงถึงประมาณ 85 ตัน หรือประมาณ 85,000 กิโลกรัม ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมาก

แต่ผู่เสียหายไม่มีพยานหลักฐานใดๆเลยว่า จำเลยได้ขนย้ายทรัพย์สินไปขายด้วยวิธีใด และนำไปขายที่ใด ทั้งๆที่การขนย้ายของจำนวนหนักและมากขนาดนั้นควรต้องมีพยานรู้เห็น และการสืบหาร้านที่ทำการรับซื้อสินค้าจำนวนมากขนาดนั้นสามารถทำได้ไม่ยาก

ที่สำคัญ เมื่อทราบเรื่อง ผู้เสียหายก็แจ้งความดำเนินคดีกับพนักงานทุกคน แต่พนักงานสอบสวนเห็นว่าควรดำเนินคดีกับจำเลยคนเดียว เนื่องจากเป็นผู้จัดการโรงงาน และพักอาศัยอยู่ในโรงงาน แสดงว่าผู้เสียหายไม่มีพยานหลักฐานที่แน่ชัดว่าใครเป็นคนเอาเหล็กของกลางไปขายและด้วยวิธีใด

ซึ่งผู้เขียนได้ค้นคว้าแนวคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว พบแนวคำพิพากษาที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งคือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 153/2540 ที่วางหลักไว้ว่า

               “ ขณะสุราของโจทก์ร่วมหายไปไม่มีพยานรู้เห็นโจทก์ร่วมมาทราบว่าสุราขาดหายก็เนื่องจากมีการตรวจสอบบัญชีสุราคงเหลือและที่กล่าวหาจำเลยทั้งสองก็เพราะจำเลยทั้งสองเป็นผู้รับผิดชอบในสุราที่หายไปแต่ปรากฎว่ายังมีช. พนักงานของโจทก์ร่วมอีกคนหนึ่งเป็นผู้นำสุราไปขายให้แก่ร้านค้าและเก็บเงินจากร้านค้าซึ่งภายหลังเกิดเหตุช. ได้หลบหนีไปพยานโจทก์และโจทก์ร่วมนอกจากนี้ก็ไม่มีผู้ใดยืนยันหรือชี้ชัดได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ยักยอกสุราของโจทก์ร่วมไปมีวิธีการยักยอกและนำไปจำหน่ายอย่างไรดังนั้นการที่สุราของโจทก์ร่วมขาดหายไปจากสต๊อกอาจจะเป็นเพราะช. นำไปขายและยังเก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้ก็ได้พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่1ยักยอกสุราของโจทก์ร่วมไป”

ผู้เขียนจึงได้ตั้งประเด็นต่อสู้คดีและถามค้านในประเด็นดังกล่าว เพราะคดีนี้มีการอ้างว่าทรัพย์สินหายไปสูงถึง 85,000 กิโลกรัม แต่กลับไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่า การขนย้ายเหล็กจำนวนมากดังกล่าวได้ทำอย่างไร และเหล็กดังกล่าว ได้ถูกนำไปขายที่ไหน

ซึ่งสุดท้ายศาลชั้นต้นก็ยกฟ้องโจทก์ด้วยสาเหตุดังกล่าวโดยศาลโปรดให้เหตุผลข้อหนึ่งว่า

“การที่วัตถุดิบของโจทก์ร่วมหายไปในแต่ละเดือนเป็นจำนวนมากทุกเดือน แต่โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานที่รู้เห็นในขณะเกิดเหตุมาเบิกความยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ยักยอกวัตถุของโจทก์ร่วมไป มีวิธีการยักยอกและนำไปจำหน่ายอย่างไร ประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธตลอดมา กรณีจึงมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 227 วรรคสอง “ ซึ่งคดีนี้ทางอัยการโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ได้อุทธรณ์แต่อย่างไร คดีจึงสิ้นสุดที่ศาลชั้นต้น อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม

ต้องขอบอกตามตรงว่า ตอนแรกเริ่มรับคดีนี้ ผู้เขียนเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าลูกความไม่ได้กระทำผิด แต่ตอนสืบพยานไป ผู้เขียนเองก็มีข้อสงสัยในใจหลายประการอยู่

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อทนายความรับคดีมาแล้วก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด โดยเฉพาะเมื่ออยู่ระหว่างการสืบพยานและถามค้าน เพราะอย่างไรก็เปลี่ยนใจไม่ได้แล้ว

จากคดีตัวอย่างในเรื่องนี้ เป็นตัวอย่างเตือนใจให้กับทั้ง พนักงานสอบสวน อัยการ และทนายความ รวมทั้งผู้สนใจได้ว่า

ในคดีข้อหายักยอกทรัพย์ เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบและพิสูจน์ให้ได้ว่า จำเลยมีกระบวนการหรือขั้นตอนในการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของกลางอย่างไร มิใช่เพียงว่าทรัพย์สินของอยู่ในความครอบครองของจำเลย แล้วปรากฎว่าทรัพย์สินนั้นหายไป ก็จะสามารถลงโทษจำเลยในข้อหายักยอกทรัพย์ได้

ดังนั้นหากท่านเป็นพนักงานสอบสวน หรือทนายความผู้เสียหาย หรือพนักงานอัยการ ท่านก็ต้องทำการสอบสวนหาวิธีการขั้นตอนในการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของจำเลยให้ได้ และถ้าหากท่านเป็นทนายจำเลยท่านก็ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่า ในคดีมีการสืบสวนสอบสวนถึงวิธีการขนย้ายทรัพย์สินไว้หรือไม่ ถ้าไม่มีก็ต้องยกขึ้นมาสู้เป็นประเด็นแรก

  จากนี้ไปผู้เขียนจะนำตัวอย่างคดีที่น่าสนใจพร้อมคำพิพากษาของคดี ที่ผู้เขียนเคยทำมาเผยแพร่ให้ความรู้กับทนายความและผู้สนใจทั่วไปได้ศึกษากันในเว็บไซต์ จากเดิมที่เคยลงในเฟซบุ๊ก

แต่เนื่องจากบทความของผู้เขียนในเฟซบุ๊กชอบหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ และหายไปหลายเรื่อง ยากแก่การจะเขียนขึ้นใหม่ และการลงบทความในเฟซบุ๊กเป็นการยากต่อการจัดหมวดหมู่ จึงเปลี่ยนมาลงในเว็บไซต์นี้แทน

โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่ได้ลงในเว็บไซต์  โดยผู้เขียนจะเลือกเฉพาะคดีที่น่าสนใจซึ่งผลคดีถึงที่สุดแล้ว และการเผยแพร่เนื้อหากับผลคดีจะไม่กระทบต่อผู้ใด โดยจะปิดชื่อผู้เกี่ยวข้อง สถานที่ และข้อเท็จจริงอื่นๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 

อ่านตัวอย่างการต่อสู้คดีอาญาที่น่าสนใจเรื่องอื่นๆ

ตัวอย่างการต่อสู้คดียาเสพติด ประเด็นเรื่องมีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ

ตัวอย่างการต่อสู้คดีพยายามฆ่า ประเด็นเรื่องพยานเบิกความขัดกับคำให้การชั้นสอบสวน

ตัวอย่างการต่อสู้คดีข่มขืน เมื่อพ่อถูกกล่าวหาว่าข่มขืนลูกตัวเอง

ตัวอย่างการต่อสู้คดีฉ้อโกง ประเด็นเรื่องฉ้อโกงหรือผิดสัญญาทางแพ่ง

ตัวอย่างการต่อสู้คดีปล้นทรัพย์ ประเด็นเรื่องการเป็นตัวการร่วม

ตัวอย่างการต่อสู้คดีลักทรัพย์ ประเด็นเรื่องเป็นตัวการร่วม

ตัวอย่างการต่อสู้คดียาเสพติด ประเด็นเรื่องไม่ได้เป็นผู้ครอบครองยาเสพติด

ตัวอย่างการต่อสู้คดีพรากผู้เยาว์ ประเด็นเรื่องผู้เสียหายเบิกความขัดแย้งกันเอง

ตัวอย่างการต่อสู้คดีพยายามฆ่า ประเด็นเรื่องการชี้รูปในชั้นสอบสวน

ตัวอย่างการต่อสู้คดีลักทรัพย์ ประเด็นเรื่องเป็นตัวการร่วม

 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts